ข้ามไปเนื้อหา

หน่วยยามชายแดน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กองกำลังชายแดนโซเวียตขี่ม้าลาดตระเวนที่ด่านชายแดนโซเวียต–จีนคอร์กอส

หน่วยยามชายแดน (อังกฤษ: border guard) ของแต่ละประเทศ คือหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติที่ดำเนินงานรักษาความมั่นคงชายแดน หน่วยยามชายแดนระดับชาติบางแห่งยังปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยยามฝั่ง (เช่น ในเยอรมนี, อิตาลี หรือยูเครน) และหน่วยกู้ภัย

ชื่อและเครื่องแบบ

[แก้]

ในแต่ละประเทศ ชื่อของหน่วยยามชายแดนมีการใช้งานที่แตกต่างหลากหลาย กิจการดังกล่าวอาจจะถูกเรียกว่า "ตำรวจ", "ยาม" (guard), "กองกำลัง" (guard) หรือ "ทหารยาม" (sentinel) และชื่ออาจจะเป็นสิ่งบ่งชี้อย่างเป็นทางการของประเทศสำหรับชายแดนของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น "พรมแดน" (frontier) หรือ "ชายแดน" (border)

หน่วยามชายแดนส่วนใหญ่บนโลกใช้สีเขียวเข้มเป็นส่วนประกอบบนเครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือธง

ภาระหน้าที่

[แก้]

หน้าที่ยามสงบ

[แก้]
ป้อมของทหารรักษาชายแดนจีนบนชายฝั่งทะเลในมณฑลกวางตุ้ง

งานทั่วไปของหน่วยยามชายแดนคือ:

  • ควบคุมและเฝ้าชายแดนของประเทศ และป้องกันชายแดนของประเทศ
  • ควบคุมการผ่านแดนของบุคคล, ยานพาหนะ และเอกสารการเดินทาง
  • ป้องกันการผ่านแดนที่ผิดกฎหมายของบุคคล, ยานพาหนะ, รถสินค้า และสินค้าอื่น ๆ
  • ควบคุมการขนส่งสิ่งของต้องห้ามและสิ่งของที่จะต้องจำกัด (เช่น อาวุธ, กระสุน, สารพิษ, ยาเสพติด) ข้ามชายแดนของประเทศ
  • กำกับดูแลและควบคุมการข้ามผ่านแดนของชาวต่างชาติที่พักอาศัยให้เป็นไปตามการตรวจลงตรา (visa) กำหนด
  • ป้องกันการเคลื่อนย้ายที่ผิดกฎหมายของสินค้าและงานศิลปะอื่น ๆ ผ่านชายแดนของประเทศ โดยไม่ผ่านกระบวนการทางศุลกากร
  • สอบสวนคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อชายแดนของประเทศ
  • สังเกตการณ์พื้นที่ชายแดนของรัฐอย่างถาวรและเป็นระบบทั้งทางบก ทางทะเล หรือทางอากาศ ด้วยสายตา ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการเฝ้าระวังและป้องกันที่ทันสมัยอื่น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการตรวจจับ แจ้งเตือน และ / หรือป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในขอบเขตระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการตรวจสอบและรายงานเกี่ยวกับการปรนนิบัติบำรุงและรักษาเครื่องหมายชายแดน
  • ป้องกันอาชญากรหลบหนีออกจากเรือนจำหรือลี้ภัยจากกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศ ด้วยการหลบหนีไปยังประเทศอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศ สินค้าที่ใช้ได้สองทาง
  • แลกเปลี่ยนข้อมูลทุประเภทและร่วมมือกับหน่วยงานระดับชาติอื่น ๆ และหน่วยงานพันธมิตรในประเทศอื่น ๆ เช่นเดียวกับองค์การระหว่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านการอพยพ การควบคุมชายแดน การควบคุมศุลกากร การควบคุมสุขอนามัย การควบคุมสุขอนามัยพืช และการรักษาความปลอดภัยเพื่อช่วยในการดำเนินการต่อต้านการการค้ามนุษย์ การค้ามนุษย์ อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย การค้าอาวุธและวัตถุระเบิดอย่างผิดกฎหมาย การทุจริต การค้ายาเสพติด และการเบี่ยงเบนความสนใจที่เกิดจากจุดประสงค์ที่ผิดกฎหมาย สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (dual-use good) แและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • หน้าที่ควบคุมคนเข้าเมือง
  • หน่วยยามชายแดนอาจปฏิบัติหน้าที่ศุลกากรด้วย

หน้าที่ยามสงคราม

[แก้]

ในระหว่างสงคราม กองกำลังตามแบบทหารจำนวนมากของหน่วยยามชายแดน อาจถูกโอนไปอยู่ภายใต้การควบคุมกับกองทัพของประเทศ

หน่วยยามชายแดนแบ่งตามประเทศ

[แก้]

กานา

[แก้]

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2507 หน่วยยามชายแดน (Border Guard Unit: BGU) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นจากหน่วยตำรวจที่นำหน่วยโดยผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจ หน่วยยามชายแดนทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรในการตรวจสอบผู้โดยสาร พร้อมทั้งกระเป๋าบนเรือและอากาศยาน[1][2] หน่วยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสำนักบริหารภาษีอากรกานา (Ghana Revenue Authority) ภารกิจหลักของหน่วยยามชายแดนคือการตรวจและจับกุมบุคคลต่างด้าวที่ผิดกฎหมายและผู้ที่ลักลอบขนแรงงานต่างด้าวบริเวณพื้นที่ชายแดนหรือใกล้เคียงชายแดน[3]

เกาหลีใต้

[แก้]

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลี (Korea Immigration Service) เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันการควบคุมและบังคับใช้ชายแดน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีสามารถออกการตรวจลงตรา ควบคุมการเข้าออกของบุคคลบริเวณท่าขาเข้า (Port of entry) และด่านตรวจคนเข้าเมือง

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน รับผิดชอบเกี่ยวกับการบังคับใช้ศุลกากร เช่น ภาษีอากรขาเข้า (Tariff) และการเคลื่อนย้ายสินค้าในท่าขาเข้า

เกาหลีเหนือ

[แก้]

หน่วยบัญชาการรักษาความมั่นคงชายแดน (Border Security Command) และกองบัญชาการรักษาความมั่นคงชายฝั่ง (Coastal Security Bureau) มีหน้าที่รัรบผิดชอบร่วมกันในการจำกัดการเข้าและออกข้ามพรมแดน (ทั้งทางบกและทางทะเล) โดยไม่ได้รับอนุญาต ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 กองบัญชาการที่รับผิดชอบความมั่นคงชายแดนและชายฝั่งได้ถูกถ่ายโอนมาจากกระทรวงความมั่นคงของรัฐ (เกาหลีเหนือ) ไปยังกระทรวงกองทัพประชาชน หลักจากนั้นไม่นานกองบัญชาการรักษาความมั่นคงชายแดนได้ยกระดับกำลังขึ้นเป็นระดับกองพลน้อยและเปลี่ยนชื่อเป็นหน่วยบัญชาการรักษาความมั่นคงชายแดน ก่อนหน้านี้มีสำนักงานใหญ่อยู่ในจังหวัดชากัง ก่อนจะถูกย้ายไปยังเปียงยางในปี พ.ศ. 2545[4]

คีร์กีซสถาน

[แก้]

กองกำลังชายแดน (Frontier Forces) มีหน้าที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงชายแดนของคีร์กีซสถาน กองกำลังชายแดนได้รับคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทย แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพคีร์กีซสถานอย่างเป็นทางการ พวกเขามีความขัดแย้งด้านบทบาทหน้าที่หลายด้านกับหน่วยบริการชายแดนอุซเบกิสถาน และมีการฝึกซ้อมทางทหารกับจีนในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556

แคนาดา

[แก้]

หน่วยบริการชายแดนแคนาดา (Canada Border Services Agency: CBSA)[5] เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของกระทรวงความปลอดภัยสาธารณะและการเตรียมความพร้อมในกรณีฉุกเฉิน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2546 โดยได้รวมกิจกรรมการบังคับใช้ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐบาล 3 หน่วยที่แยกจากกัน (สำนักงานศุลกากรและสรรพากรแคนาดา สำนักงานการให้สัญชาติและอพยพแคนาดา และสำนักงานตรวจสอบอาหารแคนาดา) ตามธรรมเนียมแล้วเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะไม่ติดอาวุธ โดยการติดอาวุธของเจ้าหน้าที่บริการชายแดน เจ้าหน้าที่สืบสวน และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายภายในประเทศเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2550 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งจะพบกับเจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้ที่จุดผ่านแดนขาเข้าแคนาดา (ท่าอากาศยาน, จุดเข้าออกทางทะเล และจุดผ่านแดนทางบกกับสหรัฐอเมริกา)

เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายภายในประเทศของหน่วยบริการชายแดนแคนาดา

เซอร์เบีย

[แก้]

หน่วยชายแดน (Граничне Јединице) เป็นทหารรักษาชายแดนของเซอร์เบีย กระทั่งถูกยุบในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 หน่วยชายแดนประกอบด้วย 17 กองพัน รวมกำลังเจ้าหน้าที่ 5,500 ถึง 7,000 นาย พวกเขากระจายออกไปตามด่านชายแดนมากกว่าร้อยแห่ง ทหารเกณฑ์ที่เหมาะสมที่สุดได้รับมอบหมายให้ประจำในหน่วยชายแดน และได้รับการฝึกอบรมคล้ายกับกองกำลังพิเศษ ภายใต้กฎหมายเซอร์เบียและยูโกสลาเวีย หน่วยชายแดนเป็นกองกำลังเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติการรบในช่วงเวลาสงบ

ในช่วงสงครามคอซอวอ หน่วยชายแดนได้สกัดกั้นกองทหาร KLA และผู้ลักลอบขนอาวุธที่มาจากแอลเบเนียเป็นประจำ เนื่องจากการทัพทิ้งระเบิดของเนโทประกอบกำลังเสริมด้วยการรุกภาคพื้นดินต่อสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย โดยเฉพาะที่โคซาเรและปาสทริก กองพันชายแดนที่ 53 สามารถป้องกันชายแดนของรัฐได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังใช้ในการป้องกันการข้ามแดนของผู้ชายและวัตถุสงครามอย่างผิดกฎหมายจากมาซิโดเนียเหนือไปยังเซอร์เบียระหว่างการก่อการกำเริบในหุบเขาเพรเชวอ

ปัจจุบัน ชายแดนได้รับการป้องกันโดยหน่วยงานของกระทรวงกิจการภายใน โดยเฉพาะตำรวจชายแดน งานของหน่วยประกอบไปด้วย: การตรวจสอบชายแดนของรัฐ, การเพิ่มระดับความปลอดภัยในท่าอากาศยานและทางน้ำระหว่างประเทศในแม่น้ำดานูบ, ซาวาและทิซา, การปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน, การวิเคราะห์ความเสี่ยง, การควบคุมการเคลื่อนไหวและการอยู่อาศัยของชาวต่างชาติ, และการผ่านแดน

ทาจิกิสถาน

[แก้]

กองกำลังชายแดนทาจิกิสถานหรือที่เรียกว่าหน่วยบริการชายแดน เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพทาจิกิสถานและตอบสนองต่อกระทรวงมหาดไทย พวกเขามักจะฝึกกับตำรวจชายแดนอัฟกานิสถาน และฝึกร่วมกับกองทัพคีร์กีซสถานในปี พ.ศ. 2554

ไทย

[แก้]
ตำรวจตระเวนชายแดนไทยรับการฝึกจากนาวิกโยธินสหรัฐ ระหว่างการฝึกเบเกอร์ทอร์ชในปี พ.ศ. 2548

ตำรวจตระเวนชายแดน เป็นกองกำลังตำรวจของประเทศไทยที่รับผิดชอบในด้านความมั่นคงชายแดน การต่อต้านการก่อความไม่สงบ และทำหน้าที่เป็นหน่วยบังคับใช้กฎหมายติดอาวุธร่วมกับทหารพราน ซึ่งเป็นกำลังกึ่งทหารติดอาวุธของกองทัพบกไทย

เนเธอร์แลนด์

[แก้]

กองทัพสารวัตรทหารเนเธอร์แลนด์ (Royal Marechaussee) เป็นเหล่าที่สี่ของกองทัพ นอกเหนือจากกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ นอกจากการตรวจตราชายแดนแล้ว กองทัพสารวัตรทหารยังมีหน้าที่ของสารวัตรทหารและการปกป้องราชวงศ์เนเธอร์แลนด์ด้วย

บังกลาเทศ

[แก้]
เจ้าหน้าที่พันดาบอาวุโสของหน่วยยามชายแดนบังคลาเทศ (ซ้ายในชุดสีเหลือง/เขียว) ใช้การควบคุมความได้เปรียบทางกลไก/ควบคุมนาวิกโยธินสหรัฐฯ ในระหว่างการฝึก

หน่วยยามชายแดนบังกลาเทศเป็นกองกำลังกึ่งทหารรักษาความมั่นคงชายแดนและต่อต้านการลักลอบขนส่งสินค้าภายใต้สังกัดกระทรวงกิจการภายในบังกลาเทศ หน่วยยามชายแดนบังกลาเทศมีต้นกำเนิดที่ย้อนกลับไปในช่วงของการก่อตั้งกองพันท้องถิ่นรามครห์ (Ramgarh Local Battalion) ในปี พ.ศ. 2338 กองกำลังนี้ติดอาวุธเบาและมีหน้าที่หลักในการป้องกันชายแดน แต่ในช่วงสภาวะฉุกเฉินระดับชาติก็สามารถเรียกมาเป็นกองกำลังเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลในการปฏิบัติงานได้เช่นกัน

ปากีสถาน

[แก้]
ทหารหน่วยปากีสถานเรนเจอร์ 2 นาย ที่ชายแดนวากาห์

กองพลน้อยชายแดน (Frontier Corps: FC) (อูรดู: فرنٹیئرکور) เป็นกองกำลังกึ่งทหารของรัฐบาลกลางสี่กองกำลังที่ได้รับคัดเลือก ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ชนเผ่าและนำโดยเจ้าหน้าที่จากกองทัพบกปากีสถาน กองพลน้อยชายแดนประจำการอยู่ในแคว้นแคบาร์ปัคตูนควา และแคว้นบาโลชิสถาน มีกองกำลังที่แตกต่างกันสี่เขต เรียกว่า กองพลน้อยชายแดนแคบาร์ปัคตูนควา (เหนือ), กองพลน้อยชายแดนแคบาร์ปัคตูนควา (ใต้), กองพลน้อยชายแดนบาโลชิสถาน (เหนือ) และ กองพลน้อยชายแดนบาโลชิสถาน (ใต้) แต่ละกองกำลังดำเนินการโดย "ผู้ตรวจราชการ" ซึ่งเป็นนายทหารประจำกองทัพปากีสถานซึ่งมียศพลตรีเป็นอย่างน้อย แม้ว่ากองกำลังเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงมหาดไทยอย่างเป็นทางการก็ตาม[6]

ปากีสถานเรนเจอร์ เป็นกองกำลังกึ่งทหารคู่อีกคู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2538 ปากีสถานเรนเจอร์แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ปากีสถานเรนเจอร์ปัญจาบ มีสำนักงานใหญ่ในลาฮอร์ และปากีสถานเรนเจอร์สินธ์ มีสำนักงานใหญ่ในการาจี ปัจจุบันกองกำลังทั้งสองมีเครื่องแบบและสายการบังคับบัญชาที่แตกต่างกัน

ฝรั่งเศส

[แก้]

ในฝรั่งเศส กองอำนวยการทั่วไปกรมศุลกากรและอากรทางอ้อม (Direction générale des douanes et droits indirects, Directorate-General of Customs and Indirect Taxes) เป็นหน่วยงานพลเรือนที่บังคับใช้กฎหมาย รับผิดชอบในการจัดเก็บภาษีทางอ้อม ป้องกันการลักลอบขนของเถื่อน ตรวจตราชายแดน และตรวจสอบเงินปลอม หน่วยงานนี้ทำหน้าที่เป็นหน่วยยามชายฝั่ง หน่วยยามชายแดน องค์กรช่วยเหลือทางทะเล และหน่วยงานศุลกากร แม้ว่าจะเป็นบริการพลเรือน แต่ก็เป็นเจ้าหน้าที่ที่ติดอาวุธ ในประเทศฝรั่งเศส เรียกกันทั่วไปว่า "les douanes" ซึ่งหมายถึงศุลกากร ("la douane" คือด่านชายแดน) ส่วนเจ้าหน้าที่จะถูกเรียกว่า "ดูอาเนียร์" (douaniers) ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ศุลกากร ในมาตรฐานทางกฎหมายของฝรั่งเศส การฟ้องร้องถือเป็นภาระในการพิสูจน์เนื่องจากจำเลยถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ในกระบวนการทางศุลกากรจำเลยมีภาระในการพิสูจน์

ตำรวจชายแดนฝรั่งเศส, Police aux frontières หรือ PAF (อดีตตำรวจทางอากาศและชายแดน Police de l'air et des frontières) ก็ต้องทำหน้าที่ติดตามพื้นที่ชายแดนและปฏิบัติการตรวจสอบในบางส่วนด้วย

ฟินแลนด์

[แก้]

หน่วยยามชายแดนฟินแลนด์ (ฟินแลนด์: Rajavartiolaitos; สวีเดน: Gränsbevakningsväsendet) รวมถึงหน่วยยามฝั่ง เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุมชายแดนที่เกี่ยวข้องกับบุคคล รวมถึงการควบคุมหนังสือเดินทางและการตระเวนชายแดน หน่วยยามชายแดนเป็นหน่วยทางทหารแบบกึ่งทหาร ซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทยในด้านการบริหาร และของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของประธานาธิบดีในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด (เช่น การเลื่อนตำแหน่งเจ้าหน้าที่) ชายแดนฟินแลนด์-รัสเซียเป็นพรมแดนที่มีการควบคุม มีการตรวจตราและป้องกันเป็นประจำโดยเขตชายแดน (border zone) ที่บังคับใช้โดยหน่วยยามชายแดน พรมแดนไปยังนอร์เวย์และสวีเดนเป็นพรมแดนแบบเปิด แต่หน่วยยามชายแดนยังคงประจำการเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เนื่องจากหน้าที่ในการค้นหาและกู้ภัย (SAR) ประกอบไปด้วยสองเขตยามชายฝั่งสำหรับลาดตระเวนชายแดนทางทะเล นอกจากนี้ หน่วยรักษาชายแดนยังประจำการอยู่ที่ท่าเรือและสนามบินอีกด้วย ในยามสงบ หน่วยยามชายแดนจะฝึกกองกำลังพิเศษและทหารราบเบา และสามารถรวมเข้าในกองกำลังป้องกันฟินแลนด์ทั้งหมดหรือบางส่วนได้เมื่อจำเป็นตามความพร้อมในการป้องกันประเทศ หน่วยยามชายแดนมีอำนาจตามรูปแบบของตำรวจและอำนาจสืบสวนในเรื่องคนเข้าเมือง และสามารถตรวจสอบการละเมิดการเข้าเมืองได้อย่างอิสระ หน่วยยามชายแดนมีหน้าที่ค้นหาและกู้ภัย (SAR) ทั้งทางทะเลและทางบก หน่วยยามควบคุมเฮลิคอปเตอร์ค้นหาและกู้ภัย ซึ่งมักใช้ในเขตค้นหาและกู้ภัยภายในประเทศ โดยได้รับความช่วยเหลือจากแผนกดับเพลิงและกู้ภัยในพื้นที่ หรือหน่วยงานอื่น ๆ หน่วยยามชายแดนแบ่งหน้าที่ควบคุมชายแดนร่วมกับหน่วยศุลกากรฟินแลนด์ ซึ่งจะตรวจสอบสินค้าที่มาถึง และตำรวจฟินแลนด์ ซึ่งบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐาน

มาเก๊า

[แก้]

การตระเวนชายแดนและการควบคุมการเข้าเมืองในมาเก๊าดำเนินการโดยกำลังตำรวจความปลอดภัยสาธารณะแห่งมาเก๊าที่จุดผ่านเข้าเมืองที่เชื่อมต่อ (4) กับจีนและที่ท่าอากาศยานนานาชาติมาเก๊า การจัดเก็บภาษีศุลกากรดำเนินการโดยหน่วยงานศุลกากรมาเก๊า ทั้งเจ้าหน้าที่รักษาชายแดนและเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีหน้าที่รับผิดชอบของสำนักเลขาธิการด้านความมั่นคง

มาเลเซีย

[แก้]

สำนักงานความมั่นคงชายแดน เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานรัฐบาลมาเลเซียที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2558 เพื่อปกป้องจุดผ่านแดนเข้าและออกของประเทศจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบขนคนเข้าเมือง การอพยพอย่างผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ ก่อนการจัดตั้งหน่วยงาน ชายแดนมาเลเซียได้รับการปกป้องโดยกองทัพมาเลเซียและสำนักงานบังคับทางทะเลมาเลเซีย

เยอรมนี

[แก้]

ในเยอรมนี ตำรวจสหพันธรัฐซึ่งเป็นหน่วยงานพลเรือนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่รับผิดชอบงานควบคุมชายแดน นอกเหนือจากหน้าที่อื่นๆ จนถึงปี พ.ศ. 2548 ตำรวจสหพันธรัฐถูกเรียกว่าหน่วยยามชายแดนสหพันธ์ (Federal Border Guard) และเดิมเป็นองค์กรทหารที่ได้รับมอบอำนาจในคริสต์ทศวรรษ 1970 แต่ได้เปลี่ยนโครงสร้างยศทหารเป็นพลเรือนในคริสต์ทศวรรษ 1970 และสูญเสียสถานะกำลังรบในช่วงสงครามในคริสต์ทศวรรษ 1990

ค็อนราท ชูมัน หน่วยยามชายแดนเยอรมันตะวันออก กระโดดข้ามชายแดนในปี พ.ศ. 2504

หน่วยยามชายแดนรัฐ

[แก้]

รัฐไบเอิร์นของเยอรมนี ได้สถาปนาตำรวจชายแดนขึ้นใหม่ภายหลังวิกฤตการณ์ผู้ย้ายถิ่นยุโรปในปี พ.ศ. 2561 อีกครั้ง หลังจากถูกรวมเข้ากับตำรวจรัฐบาวาเรียในปี พ.ศ. 2541 เนื่องจากความตกลงเชงเกน

รัสเซีย

[แก้]
ด่านรักษาชายแดนในเมืองดาเกสตาน ประเทศรัสเซีย

กองกำลังพิทักษ์ชายแดนรัสเซีย (ตั้งแต่ปี 2546) เป็นหน่วยงานของหน่วยความมั่นคงกลาง กองกำลังพิทักษ์ชายแดนรัสเซียถือว่าตัวเองเป็นผู้สืบทอดโดยตรงของกองกำลังชายแดนโซเวียต (Soviet Border Troops) และมักจะเฉลิมฉลองวันครบรอบการก่อตั้งกองกำลังหลังนี้ (28 พฤษภาคม พ.ศ. 2461)[7] งานประจำปีนี้เรียกว่าวันพิทักษ์ชายแดน มีการเฉลิมฉลองทุกปีโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ประจำการตลอดจนอดีตทหารในมอสโกและทั่วประเทศ[7]

นักยิงปืนโอลิมปิก Boris Polak ทำหน้าที่เป็นหน่วยรักษาชายแดนในกองทัพแดงบนยอดเขาใกล้จีน และได้รับยศพันเอก[8]

ลัตเวีย

[แก้]

ในลัตเวีย หน่วยยามชายแดนแห่งรัฐ (State Border Guard) มีหน้าที่ในการป้องกันชายแดนของประเทศ เป็นองค์กรติดอาวุธที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย

ลิทัวเนีย

[แก้]

หน่วยบริการยามชายแดนแห่งรัฐ เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ควบคุมและบำรุงรักษาชายแดนลิทัวเนียหน่วยบริการยามชายแดนแห่งรัฐอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งดูแลและควบคุมการดำเนินการตามนโยบายการรักษาชายแดน

เวียดนาม

[แก้]

กองกำลังป้องกันชายแดนเวียดนาม[9] (Bộ đội Biên phòng Việt Nam) เป็นเหล่าหนึ่งของกองทัพประชาชนเวียดนาม และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหม (เวียดนาม) มีบทบาทสำคัญในการปกป้องอธิปไตยของเวียดนาม รักษาความมั่นคงบริเวณชายแดนทางบกและทางทะเล หน่วยยามชายแดนเวียดนามก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2502

สเปน

[แก้]

ในสเปน กำลังกึ่งทหารหน่วยพิทักษ์พลเรือน (Guardia Civil) มีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องพรมแดน นอกจากนี้ยังมีบริการพิเศษของกรมศุลกากรและภาษีพิเศษ หน่วยบริการเฝ้าระวังทางศุลกากร (Servicio de Vigilancia Aduanera) ซึ่งมีหน้าที่ทั่วไปในการรักษาชายแดน

สหรัฐ

[แก้]
เจ้าหน้าที่ตระเวนชายแดนพร้อมฮัมเมอร์ และเอเอส350 อีโครอยย์ ตระเวนเพื่อตรวจสอบการเข้าประเทศสหรัฐอย่างผิดกฎหมาย

ในสหรัฐ การควบคุมชายแดนเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ อำนาจศาลนี้มีการแบ่งส่วนโดยสำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐ (ส่วนของการตรวจสอบและการบังคับใช้เบื้องต้น) ยามฝั่งสหรัฐ (ส่วนของการห้ามปราม) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐ (ส่วนของการสอบสวน)

สำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐ (Customs and Border Protection: CBP) ประกอบด้วยหน่วยงานบังคับใช้ที่แตกต่างกัน 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานตระเวนชายแดน (Office of Border Patrol: OBP หรือที่รู้จักกันในชื่อหน่วยตระเวนชายแดนสหรัฐ) สำนักงานปฏิบัติการภาคสนาม (Office of Field Operations: OFO โดยทั่วไปเรียกตามชื่อเดิมว่า 'ศุลกากร') และสำนักงานการบินและการเดินเรือ (Office of Air and Marine: OAM) สำนักงานตระเวนชายแดนได้รับมอบหมายให้ดูแลชายแดนระหว่างประเทศระหว่างท่าขาเข้า (ports of entry: POE) และเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเคลื่อนที่ ซึ่งมีโครงสร้างและการจ้างงานเหมือนกับกรมตำรวจในเครื่องแบบอื่น ๆ ในสหรัฐ สำนักงานปฏิบัติการภาคสนามเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลกลางที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลท่าขาเข้า (ทางอากาศ ทางบก หรือทางทะเล) และมีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาอนุญาตให้บุคคลและสินค้าทั้งหมดเข้าสู่สหรัฐได้ สำนักงานการบินและการเดินเรือดำเนินการทางอากาศยานและเรือทางน้ำทั้งหมดให้กับสำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐ และประสานงานในการสกัดกั้นไปยังหน่วยตระเวนชายแดนสหรัฐ หน่วยยามฝั่ง และ/หรือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐ

ยามฝั่งสหรัฐเป็นเหล่าเดียวของกองทัพในสหรัฐอเมริกาที่ไม่อยู่ภายใต้รัฐบัญญัติ Posse Comitatus Act ปี ค.ศ. 1878 เหตุผลที่ทั้งนายทหารสัญญาบัตรและนายทหารชั้นสัญญาบัตรถือเป็นเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่มีอำนาจศุลกากรจำกัดตาม 19 USC 1401[10] หน่วยยามฝั่งมีอำนาจควบคุมในน่านน้ำทั้งในและน่านน้ำสากล

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐ มีอำนาจเช่นเดียวกับสำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐและยามฝั่งสหรัฐ ซึ่งมีเขตอำนาจเพิ่มเติมในการสืบสวนการละเมิดที่เกิดขึ้นทั้งบริเวณชายแดนและภายในประเทศสหรัฐ

สหราชอาณาจักร

[แก้]
HMC Valiant กับหน่วยงานก่อนหน้าของกองกำลังชายแดน นั่นคือหน่วยงานชายแดนสหราชอาณาจักร

หน่วยบริการรักษาชายแดน ให้บริการโดยกองกำลังชายแดน ซึ่งเป็นกองบัญชาการบังคับใช้กฎหมายภายในกระทรวงมหาดไทย[11] กองกำลังชายแดนมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการตรวจคนเข้าเมืองและการบังคับใช้ศุลกากรที่ท่าขาเข้าสหราชอาณาจักร รวมถึงในน่านน้ำของสหราชอาณาจักร กองกำลังตำรวจอาณาเขตบางแห่งบนชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ตำรวจเคนต์ และหน่วยนาวิกโยธินของตำรวจเอสเซ็กซ์ ก็ทำหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่รับผิดชอบของตนเช่นกัน

พรมแดนทางบกแห่งเดียวของสหราชอาณาจักรคือสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ไม่ได้มีการลาดตระเวนอย่างสม่ำเสมอโดยกองกำลังชายแดน แต่เป็นความรับผิดชอบของกรมตำรวจแห่งไอร์แลนด์เหนือ

สาธารณรัฐเช็ก

[แก้]

หน่วยบริการตำรวจต่างด้าว (Alien Police Service) เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญสูงของตำรวจสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจจับการอพยพอย่างผิดกฎหมาย การใช้มาตรการลงโทษชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในสาธารณรัฐเช็กโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ที่ 326/1999 คอล. เกี่ยวกับการพำนักของชาวต่างชาติในสาธารณรัฐเช็กและการแก้ไขกฎหมายบางประการรวมถึงกฎหมายที่มีการแก้ไข งานที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างประเทศและกฎหมายของประชาคมยุโรปที่บังคับใช้โดยตรง และการแก้ไขอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการข้ามพรมแดนของรัฐและอาชญากรรมข้ามพรมแดน หน่วยบริการตำรวจต่างด้าว จัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย ที่ 67/2008 โดยจัดตั้งในหน่วยงานตำรวจแห่งสาธารณรัฐเช็กทั่วประเทศ

ตำรวจต่างด้าวแห่งสาธารณรัฐเช็กแบ่งออกเป็น:

คณะกรรมการบริการตำรวจต่างด้าว - อยู่ภายในขอบเขตที่กำหนดของแผนกการจัดการ วิธีการ และการควบคุม โดยมีเขตอำนาจศาลทั่วสาธารณรัฐเช็ก และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงกับประธานตำรวจแห่งสาธารณรัฐเช็ก

สหภาพตำรวจต่างด้าว ในกองอำนวยการภูมิภาคของแต่ละภูมิภาค

  • ฝ่ายควบคุม ตรวจค้น และคุ้มกัน (Department of residence controls, search and escort)
  • ฝ่ายการอยู่อาศัย (Department of residence matters)
  • ฝ่ายเอกสารของแผนกและกิจกรรมพิเศษ (Department documents and specialized activities)
  • ฝ่ายเอกสาร (Documentation Department)
  • ฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (เฉพาะพื้นที่ชายแดน) (Department of International Relations)

สิงคโปร์

[แก้]

สิงคโปร์เป็นเกาะที่ล้อมรอบไปด้วยน้ำและไม่มีชายแดนทางบกร่วมกับประเทศอื่น ดังนั้นการรักษาความมั่นคงชายแดนจึงเป็นความรับผิดชอบของหน่วยตำรวจยามฝั่ง (Police Coast Guard) ซึ่งเป็นกองบังคับการพิเศษของกองกำลังตำรวจสิงคโปร์ที่คอยเฝ้าติดตามและบังคับใช้ชายแดนทางทะเล

ออสเตรเลีย

[แก้]

กองกำลังชายแดนออสเตรเลีย (Australian Border Force: ABF) เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรับผิดชอบด้านการบังคับใช้การควบคุมชายแดนทั้งนอกชายฝั่งและบนบก การสืบสวน การปฏิบัติตามกฎหมาย และการกักตัวในออสเตรเลีย กองกำลังชายแดนออสเตรเลียมีชื่อเล่นว่า เดอะฟอร์ซ (The Force) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 โดยการยุบรวมกรมศุลกากรและหน่วยป้องกันชายแดนของออสเตรเลียเข้ากับหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานปฏิบัติตามกฎระเบียบของกรมตรวจคนเข้าเมืองและป้องกันชายแดนในขณะนั้น

กองกำลังชายแดนออสเตรเลียเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่ดำเนินงานภายใต้บัญญัติกองกำลังชายแดนออสเตรเลีย พ.ศ. 2558 โดยมีอำนาจทางกฎหมายที่กว้างขวางมากขึ้น รวมถึงการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการสาบานตนต่อรัฐธรรมนูญหรือคัมภีร์ศาสนา (sworn officer)[12] มีการปรับใช้ครื่องแบบใหม่หลังจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธปืน[13][14]

อิตาลี

[แก้]
หน่วยกวาร์เดีย ดิ ฟินันซา เค-9 ของอิตาลีที่ท่าอากาศยานมิลาโนมัลเปนซา

ในอิตาลี หน่วยบริการตำรวจชายแดนอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกวาร์เดีย ดิ ฟินันซา (Guardia di Finanza) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอิตาลี แต่อยู่ภายใต้การควบคุมการปฏิบัติการของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย แต่ก็ยังมีสำนักงานศุลกากรอิตาลี ซึ่งเป็นหน่วยงานพลเรือนที่มีบทบาทเป็นหน่วยศุลกากร ส่วนใหญ่แล้ว กวาร์เดีย ดิ ฟินันซา (หรือ ฟิอัมเม จิอาลล์ Fiamme Gialle) จะปฏิบัติการในการต่อสู้กับการลักลอบขนยาเสพติด การค้ายาเสพติด การหนีภาษี และอาชญากรรมทางการเงินอื่น ๆ แม้กระทั่งทำงานร่วมกับสำนักงานศุลกากร นอกจากนี้ ด่านชายแดนหลายแห่งยังมีเจ้าหน้าที่ของกองทัพสารวัตรทหารอิตาลี (Carabinieri) และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและชายแดน ปฏิบัติหน้าที่ตำรวจชายแดนด้วย

อินเดีย

[แก้]

กองกำลังรักษาความปลอดภัยชายแดน (Border Security Force: BSF) เป็นหน่วยงานตระเวนชายแดนที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย และเป็นกองกำลังรักษาชายแดนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2508 หลังสงครามอินโดปากีสถานครั้งที่ 2 หลังจากกองกำลังตำรวจสำรองกลาง ตำรวจติดอาวุธราชสถาน และตำรวจติดอาวุธปัญจาบ ถูกปรับลดภารกิจออกจากหน้าที่เฝ้าชายแดนอินโด–ปากีสถานในภูมิภาคชัมมูและกัศมีร์ รัฐราชสถาน และรัฐปัญจาบตามลำดับ[15] เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังตำรวจติดอาวุธกลาง (Central Armed Police Forces: CAPF)[16] โดยทำหน้าที่ป้องกันชายแดนอินเดีย-ปากีสถานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 และชายแดนอินโด–บังกลาเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 หลังจากบังคลาเทศได้รับเอกราชหลังสงครามปลดปล่อยบังกลาเทศ[17] กองกำลังรักษาความปลอดภัยชายแดนอยู่ภายใต้การดูแลโดยกระทรวงมหาดไทยและนำโดยเจ้าหน้าที่สำนักงานตำรวจอินเดีย[18]

ตำรวจชายแดนอินโด-ทิเบต (Indo-Tibetan Border Police: ITBP) เป็นกองกำลังตระเวนชายแดนของอินเดีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการตระเวนชายแดนอินเดียติดต่อกับเขตปกครองตนเองทิเบตของจีนระยะทาง 2,115 กิโลเมตร แม้ว่าก่อนหน้านี้จะตระเวนตามชายแดนด้วยความช่วยเหลือของหน่วยอัสสัมไรเฟิล แต่ก็เป็นหน่วยงานตระเวนชายแดนเพียงแห่งเดียวสำหรับชายแดนทั้งหมดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ที่เข้าดูแลชายแดนต่อจากหน่วยอัสสัมไรเฟิล ในรัฐอรุณาจัลประเทศและสิกขิม เช่นเดียวกับกองกำลังรักษาความปลอดภัยชายแดน นอกจากนี้ยังเป็นกองกำลังตำรวจติดอาวุธกลางที่ควบคุมโดยกระทรวงมหาดไทย[19]

กองกำลังตำรวจติดอาวุธกลาง ซาชาสตรา ซีมา บัล (Sashastra Seema Bal: SSB) ทำหน้าที่ป้องกันชายแดนอินโด-เนปาล และชายแดนอินโดภูฏาน[20]

หน่วยอัสสัมไรเฟิล (Assam Rifles: AR) เป็นอีกหนึ่งกองกำลังตำรวจติดอาวุธกลางที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตระเวนชายแดน โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลชายแดนอินโดเมียนมาร์หน่วยอัสสัมไรเฟิลอยู่ภายใต้ควบคุมโดยกระทรวงมหาดไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หน่วยจะอยู่ภายใต้การควบคุมทางปฏิบัติการภายใต้กองทัพบกอินเดีย[21]

อินโดนีเซีย

[แก้]
เจ้าหน้าที่ศุลกากรอินโดนีเซียจาก "หน่วยยุทธวิธีศุลกากร" (Customs Tactical Unit: CTU)

การรักษาความปลอดภัยชายแดนอินโดนีเซียประกอบไปด้วย

  • ที่ท่าเรือ ท่าอากาศยาน และจุดผ่านแดน: เจ้าหน้าที่ศุลกากรดูแลการจราจรของสินค้าและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองดูแลการจราจรของประชาชน
  • ที่ชายแดนทางบก : เพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง และลาดตระเวนบริเวณชายแดนทางบกของอินโดนีเซียกับมาเลเซีย (ที่เกาะบอร์เนียว) ติมอร์ตะวันออก และปาปัวนิวกินี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายในป่าทึบและภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ดำเนินการโดย "กองกำลังเฉพาะกิจตระเวนชายแดน" (Satuan Tugas Pengamanan Perbatasan ย่อว่า Satgas Pamtas) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ประจำการในกองพันทหารราบของกองทัพบกอินโดนีเซีย[22]
  • ที่ชายแดนทางทะเล : การป้องกันและลาดตระเวนบริเวณชายแดนทางทะเล ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่างสำนักความมั่นคงทางทะเล กองทัพเรือ หน่วยยามฝั่ง ตำรวจทะเล หน่วยตรวจตราทรัพยากรทางทะเลและการประมง และกรมศุลกากรทางทะเล

อิสราเอล

[แก้]

ตำรวจชายแดนอิสราเอล (Israel Border Police) ทำหน้าที่เป็นฌ็องดาร์เมอรีภายใต้การดูแลของตำรวจอิสราเอล และก่อตั้งขึ้นเป็นมาครั้งแรกเป็นส่วนหนึ่งของฟรอนเทียน์คอร์ปส์ (frontier corps) ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นตำรวจชายแดน

อิหร่าน

[แก้]

กองบัญชาการยามชายแดนสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน เป็นหน่วยงานเดียวที่รับผิดชอบในการลาดตระเวนและควบคุมชายแดน โดยดำเนินการภายใต้กองกำลังบังคับใช้กฎหมาย (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอิหร่าน) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 นอกจากนี้ หน่วยงานนี้ยังมีหน้าที่เป็นหน่วยยามฝั่งในชายแดนทางทะเลอีกด้วย การควบคุมจุดเข้าสนามบินดำเนินการโดยกองพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม

เจ้าหน้าที่รักษาชายแดนอิหร่านที่ดูแลรถบรรทุกเข้าสู่ "ท่าขาเข้าชาลัมชา" ในชายแดนอิหร่าน-อิรัก

อียิปต์

[แก้]

หน่วยยามชายแดนอียิปต์อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหม (อียิปต์) หน่วยยามชายแดนเป็นหน่วยกึ่งทหารติดอาวุธเบาจำนวนประมาณ 25,000 นาย รับผิดชอบด้านการเฝ้าระวังชายแดน การรักษาสันติภาพทั่วไป การขัดขวางขบวนการค้ายาเสพติด และการป้องกันการลักลอบขนคนเข้าเมือง ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 กองทัพได้ติดตั้งเซ็นเซอร์ระยะไกล กล้องส่องทางไกลตอนกลางคืน ยานพาหนะสื่อสาร และเรือยนต์ความเร็วสูง

ฮ่องกง

[แก้]

หน่วยยามชายแดนในฮ่องกงประกอบด้วยหน่วยงานพลเรือน 2 หน่วยได้แก่

  • เจ้าหน้าที่ศุลกากรและสรรพสามิต จะเป็นผู้จัดการด้านภาษีศุลกากรบริเวณท่าเรือ ท่าอากาศยาน และจุดผ่านแดนภาคพื้นดิน
  • เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมื่อง จะเป็นผู้จัดการผู้ที่เดินทางเข้ามาทางท่าเรือ, ท่าอากาศยาน (1) และจุดผ่านแดน (6) กับจีนแผ่นดินใหญ่

เจ้าหน้าที่กองกำลังตำรวจฮ่องกงจะตระเวนชายแดนบริเวณที่ติดต่อกับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ไม่ได้ปฏิบัติงานเป็นหน่วยยามชายแดนบริเวณจุดผ่านแดน ก่อนหน้านี้บทบาทดังกล่าวเป็นของกองทัพบกสหราชอาณาจักรที่ประจำการอยู่ในฮ่องกง

ด่านตรวจของตำรวจ (บริเวณจุดข้ามแดน) จะตั้งอยู่ริมถนนและอยู่ในพื้นที่ปิดด้านนอก เจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกงในเครื่องแบบจะคอยตรวจผู้ใช้ยานพานะและแสดงเอกสารและ/หรืออนุญาตเพื่อเดินทางไปยังชายแดน เจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นหน่วยยามชายแดนในทางปฏิบัติ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วไม่มีชายแดนดังกล่าว เพราะฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ทำให้ไม่มีเขตแดนระหว่างประเทศ

หน่วยงานชายแดนทั้งสามหน่วยขึ้นตรงต่อสำนักงานความมั่นคง

ฮังการี

[แก้]

ในฮังการี การควบคุมชายแดนอยู่ในความดูแลของตำรวจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และไม่มีหน่วยงานอื่นในการปฏิบัติงานในบทบาทดังกล่าว ตำรวจที่ปฏิบัติการในพื้นที่ชายแดนจะสวมเครื่องแบบเดียวกันกับตำรวจที่ปฏิบัติงานในประเทศ โดยก่อนหน้านี้หน่วยตระเวนชายแดน (Frontier Guard หรือ Border Guard) เป็นหน่วยงานที่แยกเป็นอิสระก่อนจะร่วมเข้ากับตำรวจ

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. The Security Act (Act 202) 1963, Ghana.
  2. The Customs, Excise and Preventive Service (Management) Law 1993, PNDCL 330.
  3. "The Formative Stage of the Border Patrol Unit (BPU)". Ghanaimmigration.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 May 2014. สืบค้นเมื่อ 27 April 2016.
  4. "About this Collection - Country Studies" (PDF).
  5. "กรมศุลกากร - Thai Customs". www.customs.go.th.
  6. "Transforming Pakistan's Frontier Corps". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-04. สืบค้นเมื่อ 2010-09-09. Abbas, Hassan, "Transforming Pakistan's Frontier Corps", article in Terrorism Monitor, Volume 5, Issue 6, a publication of the Jamestown Foundation, March 29, 2007, accessed November 7, 2007
  7. 7.0 7.1 "Breaking News, Boston Weather, World and US News Stories - Get the Latest Business, Health, Entertainment, Sports". NECN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-28. สืบค้นเมื่อ 2013-10-22.
  8. "Boris Polak". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2016-08-30.
  9. "กองกำลังป้องกันชายแดนเวียดนาม-จีน-ลาวพบปะกันในสามแยกชายแดน". สถานีวิทยุเวียดนาม (ภาษาอังกฤษ). 2564-05-23.
  10. United States Coast Guard
  11. "Border Force". GOV.UK (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-02-21.
  12. "Australian Border Force Act 2015". Austlii.
  13. "Carriage of Operational Equipment by Officers of the Australian Customs and Border Protection Service – Fact" (PDF). Department of Immigration and Border Protection. Australian Customs and Border Protection. 12 March 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 7 February 2017. สืบค้นเมื่อ 6 December 2016.
  14. "Immigration and Border Protection Portfolio – Legal and Constitutional Affairs Legislation Committee". Parliament of Australia. Senate – Estimates. 19 October 2015. สืบค้นเมื่อ 6 December 2016.
  15. "Introduction Border Security Force". bsf.nic.in. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-06.
  16. "Central Armed Police Forces (CAPF) eAwas /Ministry of Home Affairs". eawas.capf.gov.in. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-07-18. สืบค้นเมื่อ 2023-07-18.
  17. "Border Security Force". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-05-05. สืบค้นเมื่อ 2024-03-16.
  18. Sentinels, India. "High time government empowers BSF cadre officers lead the force at highest level". www.indiasentinels.com. สืบค้นเมื่อ 2023-07-18.
  19. Philip, Snehesh Alex. "Baptism by fire: Raised in first week of 1962 war, how ITBP has grown in size & special role". The Print.
  20. "Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 April 2009. สืบค้นเมื่อ 2012-05-07.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  21. "MHA to explain functioning of Assam Rifles in northeastern states before Parliamentary panel". Asian News International. 25 May 2022. สืบค้นเมื่อ 1 November 2022.
  22. "1.350 Prajurit TNI Tiba di Papua untuk Pengamanan Perbatasan".

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]