ข้ามไปเนื้อหา

สิทธิในชีวิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การประท้วงในประเทศเวเนซุเอลา พ.ศ. 2557 (2014 Venezuelan protests) ป้ายเขียนว่า "สันติภาพ; เสรีภาพ; ยุติธรรม; สิทธิในชีวิต" ในภาษาสเปน

สิทธิในชีวิต เป็นความเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตมีสิทธิในการมีชีวิต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะไม่ถูกฆ่าโดยตนอื่น ซึ่งรวมถึงรัฐบาลด้วย แนวคิดของสิทธิในชีวิตเกิดขึ้นมาในการโต้วาทีเกี่ยวกับประเด็น อาทิ โทษประหารชีวิตซึ่งคนบางกลุ่มมองว่าผิดศีลธรรม สงครามซึ่งคนบางกลุ่มมองว่าเป็นการกระทำที่ผิดและน่าสลดใจ การแท้งซึ่งคนบางกลุ่มคิดว่าชีวิตที่ยังไม่คลอดไม่ควรถูกปลิดไปก่อนกำหนด การุณยฆาตซึ่งคนบางกลุ่มมองว่าการปลิดชีวิตของบุคคลสูงอายุนอกเหนือจากวิธีการทางธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความรุนแรงของตำรวจ (Police brutality) ซึ่งคนบางกลุ่มมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการมีขีวิตของบุคคล การฆ่าคนโดยไม่ผิดกฎหมาย (Justifiable homicide) ซึ่งคนบางกลุ่มเชื่อว่าไม่มีฆาตกรรมในกรณีใดที่สมเหตุสมผล และสิทธิของสัตว์ (Animal rights) ซึ่งคนบางกลุ่มมองว่าชีวิตสัตว์มีค่าที่จะต้องปกป้องพอกันกับของมนุษย์ บุคคลหลากหลายอาจไม่เห็นพ้องต้องกันในประเด็นเหล่านี้ว่าเข้าข่ายหลักการสิทธิในชีวิตหรือไม่

การแท้ง

[แก้]
แผนภาพแสดงการทำแท้งด้วยศัลยกรรม

คำว่า "สิทธิในชีวิต" ถูกใช้ในการโต้แย้งเรื่องการแท้ง (abortion debate) โดยกลุ่มคนที่ต้องการยุติการทำแท้ง หรืออย่างน้อยก็ลดความถี่ของการกระทำนี้[1] และในบริบทของการตั้งครรภ์ คำว่า สิทธิในชีวิต ถูกผลักดันโดยสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 ในสารสันตะปาปา ค.ศ. 1951:

มนุษย์ทุกคน แม้แต่เด็กในครรภ์ ก็มีสิทธิในชีวิตโดยตรงจากพระเจ้า และไม่ใช่จากพ่อแม่ของเขา ไม่ใช่จากสังคมหรืออำนาจมนุษย์ใด ดังนั้น จึงไม่มีมนุษย์คนใด สังคมใด อำนาจมนุษย์ใด วิทยาศาสตร์ใด หรือ "สิ่งชี้บอก" ใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นทางการแพทย์ ทางสุพันธุกรรม ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ หรือทางศีลธรรม ที่จะสามารถมอบตำแหน่งทางกฎหมายที่สมเหตุสมผลให้กับการกำจัดซึ่งชีวิตของมนุษย์ไร้เดียงสาตนหนึ่งโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยตรง

— สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12, Address to Midwives on the Nature of Their Profession สารสันตะปาปา, 29 ตุลาคม ค.ศ. 1951[2]
ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน พบกับตัวแทนของขบวนการสิทธิในชีวิต พ.ศ. 2524

คุณพ่อ เจมส์ ที. แม็กฮิว เป็นผู้นำการต่อต้านการทำแท้ง และเป็น "บิดาแห่งขบวนการเพื่อชีวิต" (pro-life) ในสหรัฐอเมริกา[3] คณะกรรมการสิทธิในชีวิตแห่งชาติ (National Right to Life Committee, NRLC) ถูกก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1967 เป็นสันนิบาตสิทธิในชีวิต (Right to Life League) เพื่อประสานงานรณรงค์ระดับรัฐภายใต้การอุปถัมภ์ของ NRLC และในนช่วงต้น ค.ศ. 1973 NRLC ถูกแยกออกจากการดูแลโดยตรงของสภาประมุขบาทหลวงเพื่อเจาะฐานกลุ่มคนที่กว้างขึ้น และให้กลายเป็นขบวนการที่เป็นอิสระไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด[4][5]

จริยศาสตร์กับสิทธิในชีวิต

[แก้]
ปีเตอร์ ซิงเงอร์ ที่เวทีประชุมครอฟอร์ด พ.ศ. 2560

นักจริยศาสตร์ (ethicist) ประโยชน์นิยมบางคนกล่าวว่า "สิทธิในชีวิต" ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแค่ว่าเป็นสมาชิกตนหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์หรือไม่ นักปราชญ์ ปีเตอร์ ซิงเงอร์ (Peter Singer) เป็นผู้สนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้ที่โดดเด่นคนหนึ่ง สำหรับเขาแล้ว สิทธิในชีวิตอยู่บนฐานของความสามารถที่จะวางแผนและคาดหมายอนาคตของตนเอง นี่จะขยายแนวคิดนี้ไปครอบคลุมสัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วย เช่นเอปประเภทอื่น ๆ แต่ในเมื่อทารกในครรภ์ นอกครรภ์ และบุคคลพิการอย่างรุนแรงนั้นขาดสิ่งนี้ไป เขากล่าวว่าการแท้ง การฆ่าทารกอย่างไม่เจ็บปวด และการุณยฆาตสามารถเป็นสิ่งที่ "สมเหตุสมผล" (แต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็น) ในกรณีจำเพาะกรณีหนึ่ง เช่นในกรณีของทารกพิการที่จะมีชีวิตซึ่งทุกข์ทรมาน[6]

นักชีวจริยศาสตร์ (Bioethics) ที่เกี่ยวข้องกับประชาคมสิทธิคนพิการ (Disability Rights) และทุพลภาพศึกษา (Disability Studies) ได้โต้ว่าญาณวิทยาของซิงเงอร์นั้นอยู่บนฐานของแนวคิดเกี่ยวกับความพิการที่กีดกันในเรื่องสภาพร่างกาย (Ableism)[7]

โทษประหารชีวิต

[แก้]
การประท้วงแกล้งตายในปารีส วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ผู้ต่อต้านโทษประหารชีวิตกล่าวว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิต ในขณะที่ผู้สนับสนุนกล่าวว่าโทษประหารชีวิตนั้นไม่ใช่การละเมิดสิทธิในชีวิต เพราะสิทธิในชีวิตควรถูกนำมาใช้ในแง่ของความยุติธรรมทางอาญา (Criminal justice) ผู้ต่อต้านเชื่อว่าโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายที่สุด เพราะสิทธิในชีวิตเป็นอันที่สำคัญที่สุด และโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดมันโดยไม่จำเป็น และเป็นการลงโทษผู้ถูกกล่าวโทษ (Death row) ด้วยการทรมานทางจิตวิทยา (Psychological torture) ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (Human rights activists) ต่อต้านโทษประหารชีวิตโดยเรียกมันว่าเป็น "การลงโทษที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และเสื่อมทราม" และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ถือว่ามันเป็น "การปฏิเสธซึ่งสิทธิมนุษยชนที่ผันกลับไม่ได้ขั้นสูงสุด"[8]

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติใน พ.ศ. 2550, 2551, 2553, 2555 2558 และ 2560[9] เป็นมติไม่ผูกพันเรียกร้องการหยุดพักการใช้โทษประหารชีวิตด้วยมุมมองที่จะยกเลิกไปในที่สุด[10]

การฆ่าคนโดยการบังคับใช้กฎหมาย

[แก้]

มาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศสำหรับการบังคับใช้กฎหมายได้สร้างระบบซึ่งยอมรับในผลผูกพันของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเหนือตัวแสดงที่เป็นรัฐทั้งหมด และซึ่งกล่าวว่าตัวแสดงที่เป็นรัฐทั้งหมดจะต้องรู้และสามารถนำมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศไปใช้ได้ สิทธิในชีวิตนั้นในกรณีส่วนใหญ่เป็นสิทธิซึ่งแยกออกจากบุคคลมิได้ที่มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้มี ทว่าก็มีสถานการณ์บางประการซึ่งตัวแสดงที่เป็นรัฐจำต้องกระทำการที่รุนแรง ซึ่งสามารถส่งผลให้พลเมืองถูกฆ่า (Deadly force )โดยผู้บังคับใช้กฎหมาย (law enforcement)[11]

การฆาตกรรมโดยการบังคับใช้กฎหมายที่เหมาสมถูกวางกรอบไว้อย่างชัดเจนโดยมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศสำหรับการบังคับใช้กฎหมาย การกระทำการถึงตายใดก็ตามที่ทำโดยผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องกระทำตามกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งที่เขียนไว้ในส่วน 'Use of Force' (การใช้กำลัง) ในหนังสือฉบับกระเป๋าเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนสำหรับตำรวจ[11] หลักการสำคัญของหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับการใช้กำลังถึงตาย[11] คือควรใช้วิธีการซึ่งไม่รุนแรงก่อนทุกวิธี ตามมาด้วยการใช้กำลังที่เหมาสมอย่างสมสัดส่วน การใช้กำลังที่เหมาะสมอย่างสมสัดส่วนนี้ ในบางพฤติการณ์ก็อาจหมายถึงการใช้กำลังถึงตายหากผู้บังคับใช้กฎหมายเชื่ออย่างแท้จริงว่าการจบชีวิตของพลเมืองคนหนึ่งจะเป็นการรักษาชีวิตของตัวเขาไว้ หรือชีวิตของเหล่าพลเมือง ตามที่ตีกรอบไว้ในส่วน 'Permissible Circumstances for the Use of Firearms' (พฤติการณ์ที่อนุญาติให้ใช้อาวุธปืน) ของหนังสือเล่มนี้[11] นอกจากนี้ยังได้ระบุไว้ในส่วน 'Accountability for the Use of Force and Firearms' (ภาระรับผิดชอบต่อการใช้กำลังและอาวุธปืน) ว่ามีมาตรการภาระรับผิดชอบที่เข้มงวดเพื่อรักษาบูรณภาพภายในหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐ เกี่ยวกับสิทธิของในการใช้กำลังถึงตายของมัน[11]

การประท้วงที่เฟอร์กูสันวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

องค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ได้ระบุว่าผู้บังคับใช้กฎหมายจะใช้กำลังถึงตายได้เมื่อไหร่และที่ไหน สมาคมผู้บัญชาการตำรวจระหว่างประเทศ (International Association of Chiefs of Police) มี 'นโยบายแบบอย่าง' ซึ่งรวมเอาข้อมูลหลายชิ้นจากแหล่งชั้นนำต่าง ๆ เข้าด้วยกัน[12] หนึ่งในนโยบายดังกล่าวกล่าวว่าผู้บังคับใช้กฎหมายจะใช้กำลังเท่าที่จำเป็นอย่างสมเหตุสมผลเพื่อยุติเหตุการณ์หนึ่งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตนและพลเมืองคนอื่น ๆ โดยเฉพาะ เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะมีอำนาจพิเศษในการใช้วิธีการที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานเพื่อยุติเหตุการณ์หนึ่งอย่างปลอดภัย และสามารถใช้อุปกรณ์ที่ได้รับแจกจ่ายมาเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ในเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องปกป้องตนเองหรือคนอื่น ๆ จากความเสียหาย เพื่อควบคุมบุคคลที่ขัดขืน หรือเพื่อยุติเหตุการณ์ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างปลอดภัย โดยไม่มีการกล่าวถึงว่าควรตีความคำว่า "ที่จำเป็นอย่างสมเหตุสมผล" (reasonably necessary) อย่างไร แต่มีการอ้างอิงถึงวิธีการวิญญูชน (Reasonable person) ซึ่งใช้ระบุว่าควรมีแนวทางอย่างไรต่อสถานการณ์หนึ่ง[13] อย่างไรก็ตาม มีการชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่นเหตุยิงไมเคิล บราวน์ (Shooting of Michael Brown) โดย ดาร์เรน วิลสัน ในเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี (Ferguson, Missouri)[14] ซึ่งส่งผลให้เกิดการประท้วงในเฟอร์กูสัน (Ferguson unrest) ว่ามีความสับสนและการถกเถียงกันเกี่ยวกับการใช้กำลังถึงตายและอาวุธปืน ส่วน 'Procedure for the Use of Firearms' ของหนังสือระบุถึงกระบวนการซึ่งผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องดำเนินการเมื่อใช้อาวุธปืน โดยกล่าวว่าจะต้องระบุตนเองว่าเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย กล่าวคำเตือนออกมาอย่างชัดเจน และให้เวลาเพื่อใช้ตอบที่นานเพียงพอ (หากว่าในเวลานั้นไม่น่าจะสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บังคับใช้กฎหมายหรือพลเมืองคนอื่น ๆ ได้) ก่อนที่จะสามารถใช้กำลังถึงตายภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศได้

ในขณะที่หนังสือฉบับกระเป๋าเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนสำหรับตำรวจได้วางกรอบพฤติการณ์ทางวิชาการต่าง ๆ ซึ่งผู้บังคับใช้กฎหมายอาจใช้กำลังถึงตายได้ เหตุการณ์จริงที่ฆาตกรรมโดยตำรวจเกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ริชาร์ด โรเซนเฟลด์ กล่าวว่ามีงานวิชาการจำนวนมากพอสมควรที่เป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าเงื่อนไขทางสังคมก็เป็นส่วนหนึ่งในวิธีการที่การฆ่าคนผ่านการบังคับใช้กฎหมายสามารถเกิดขึ้นได้ และกล่าวว่ามีงานศึกษาจำนวนหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงการใช้กำลังถึงตายของผู้บังคับใช้กฎหมายเข้ากับอัตราอาชญากรรมรุนแรงของบริเวณนั้น ขนาดของประชากรซึ่งไม่ใช่คนพื้นเมือง และตำแหน่งทางเศรษฐกิจสังคมของประชาคมที่กำลังพิจารณา[15] การใช้คำอธิบายอย่างกว้าง ๆ เกี่ยวกับวิธีการที่ฆาตกรรมโดยตำรวจสามารถเกิดขึ้นได้นั้นเป็นสิ่งที่ยากลำบาก เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างอย่างมากระหว่างแต่ละรัฐ

จิตรกรรมฝาผนัง จอร์จ ฟลอยด์ ที่สวนสาธารณะเมาเออร์ เบอรลิน เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563

มีบทความวิชาการที่พูดถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา (Police brutality in the United States) ซึ่งสร้างปฏิกิริยาและถูกบันทึกไว้อย่างกว้างขวาง นั่นคือการใช้กำลังถึงตายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจคนขาวต่อพลเมืองชายคนดำซึ่งไม่ติดอาวุธ ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่มีอำนาจพิเศษทางกฎหมายใดที่ทำให้สามารถใช้กำลังถึงตายได้เพียงเพราะเชื้อชาติของบุคคลที่เผชิญอยู่ มีเฉพาะอำนาจพิเศษทางกฎหมายที่จะใช้กำลังถึงตายได้ก็ต่อเมื่อมีความวิตกอย่างสมเหตุสมผลต่อชีวิตของตนหรือผู้อื่นเท่านั้น[16] อย่างไรก็ตาม มีงานวิเคราะห์ข้อมูลระดับสหพันธรัฐเกี่ยวกับเหตุยิงถึงตายโดยตำรวจในสหรัฐ (List of killings by law enforcement officers in the United States) ระหว่าง ค.ศ. 2010 และ 2012 ซึ่งบ่งชี้ว่าพลเมืองสหรัฐเยาวชนชายคนดำนั้นมีโอกาสถูกฆ่าโดยตำรวจมากกว่าพลเมืองสหรัฐเยาวชนชายคนขาวถึง 21 เท่าตัว[17] การใช้กำลังถึงตายโดยผู้บังคับใช้กฎหมายในสหรัฐก่อให้เกิดความรู้สึกท่ามกลางพลเมืองสหรัฐว่าตำรวจไม่ได้ปกป้องพวกเขา ระบบยุติธรรมพบว่าผู้กระทำเหล่านี้ได้กระทำการภายในขอบเขตของกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ เพราะการกระทำของผู้คนที่ถูกยิงนั้นถูกตัดสินว่ามีคุณลักษณะที่น่าสงสัยเพียงพอที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะกลัวเป็นอันตรายต่อชีวิตของตนเองหรือผู้อื่น ทนายความ จอร์จ คอปโปโล (George Coppolo) ได้ตรวจสอบกฎหมายรัฐคอนเนทิคัต (Law of Connecticut) และรายงานว่าการใช้กำลังถึงตายจะต้องตามมาด้วยรายงานที่พิจารณาว่ากำลังถึงตายของผู้บังคับใช้กฎหมายนั้นมีความจำเป็นที่สมสัดส่วนในพฤติการณ์นั้นหรือไม่ เขายังกล่าวว่าการตอบโต้อย่างถึงตายที่สมเหตุสมผลนั้นจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเชื่อได้อย่างสมเหตุสมผลว่าข้อเท็จจริงที่อยู่ตรงหน้านั้นจะสามารถส่งผลให้มีโอกาสถึงตายหรือบาดเจ็บสาหัสที่สมจริงหรือไม่[18]

ในคดีระหว่างแกรแฮมกับคอนเนอร์ (Graham v. Connor) ผู้เป็นเบาหวานซึ่งกำลังประสบกับภาวะน้ำตาลในเลือดอย่างหนึ่งถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งสังเกตเห็นเหตุการณ์นั้นและทำให้เกิดความสงสัยในตัวแกรแฮม การควบคุมตัวครั้งนี้ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อแกรแฮม ซึ่งได้ดำเนินการฟ้องร้องตำรวจข้อหาใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ศาลสูงสุดสหรัฐไม่ได้พบว่าภาวะเบาหวานนี้เป็นสิ่งที่อาจคุกคามต่อผู้บังคับใช้กฎหมายได้ด้วยตัวมันเอง หากแต่พบว่าพฤติการณ์โดยรวม ณ เวลาที่เกิดเหตุนั้นจะต้องถูกนำมาพิจารณาเมื่อตัดสินเจ้าหน้าที่ แทนที่จะพิจารณาเหตุการณ์นั้นด้วยการมองย้อนกลับไปอย่างรอบคอบ ซึ่งในกรณีของแกรแฮมนั้นถูกตัดสินว่าพฤติกรรมที่เกิดจากอาการเบาหวานนั้นเมื่อมองต่อหน้าอาจถูกถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อผู้บังคับใช้กฎหมายหรือพลเมืองคนอื่น ๆ ได้ นี่ทำให้ยากที่จะแน่ใจว่าอะไรถือว่าเป็นคำอธิบายสภาวการณ์ที่การใช้กำลังถึงตายโดยผู้บังคับใช้กฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล[19] ในคดีระหว่างรัฐเทนเนสซีกับการ์เนอร์ (Tennessee v. Garner) เจ้าหน้าที่ตำรวจ เอลตัน ไฮมอน ได้ตอบสนองต่อสายแจ้งเหตุลักทรัพย์ เมื่อเขาเข้าไปที่สนามหลังบ้านดังกล่าว ไฮมอนพบกับบุคคลที่กำลังหนี และได้สั่งให้ผู้ต้องหาคนนั้นหยุด ซึ่งในภายหลังระบุตัวตนได้เป็นเด็กชายอายุ 15 ปีนามว่า เอ็ดเวิร์ด การ์เนอร์ การ์เนอร์เริ่มปีนข้ามรั้ว และไฮมอนได้ดำเนินการยิงเขาถึงตายที่ด้านหลังของศีรษะ ศาลสูงสุดสหรัฐยืนยันตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่สี่ของสหรัฐอเมริกา (Fourth Amendment to the United States Constitution) ว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายซึ่งกำลังไล่ตามบุคคลหนึ่งนั้นจะไม่สามารถใช้กำลังถึงตายเพื่อยุติการไล่ตามได้เว้นแต่เจ้าหน้าที่มีความเชื่อที่สมเหตุสมผลพอว่าบุคคลนั้นมีภัยคุกคามอย่างมีนัยสำคัญต่อเจ้าหน้าที่หรือผู้อื่น[20] ในสหรัฐที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่สอง (Second Amendment to the United States Constitution) ได้ให้สิทธิต่อพลเมืองที่จะพกพาอาวุธ (Right to keep and bear arms) บุคคลใด ๆ ล้วนสามารถเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจและของพลเมืองคนอื่นได้ เหตุเพราะว่าใครก็ตามอาจกำลังพกซ่อน (Concealed carry in the United States) อาวุธปืนไว้[21]

ในประเทศนิวซีแลนด์ รายงานการประพฤติของตำรวจประจำปีพบว่าภายในหนึ่งทศวรรษ ตำรวจนิวซีแลนด์ได้ยิงและฆ่าคนไปเจ็ดคน หนึ่งในนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ และในทุกกรณีตำรวจได้ถูกตัดสินว่าได้กระทำการภายในขอบเขตสิทธิทางกฎหมายของพวกเขา ประเทศนิวซีแลนด์มีกระบวนการที่เคร่งครัดซึ่งพลเมืองคนใดที่ต้องการใช้อาวุธปืนอย่างถูกกฎหมายจะต้องผ่าน นี่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่พลเรือนทั่วไปไม่ได้มีภัยอันตรายอยู่โดยพื้นฐานต่อชีวิตของผู้บังคับใช้กฎหมายหรือของผู้อื่น[22]

มาตรฐานซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศล้วนหวังให้รัฐกระทำตามนั้นคล้ายกัน นั่นคือกำลังถึงตายจะถูกนำมาใช้โดยผู้บังคับใช้กฎหมายได้นั้นก็ต่อเมื่อมีภัยอันตรายจริงต่อผู้บังคับใช้กฎหมายหรือพลเมืองคนอื่น แต่ความเป็นจริงแล้ว แต่ละรัฐก็มีนิยามของสถานการณ์ที่ใช้กำลังถึงตายได้อย่างเหมาะสมสำหรับผู้ใช้กฎหมายในแบบของตัวเอง เนื่องมาจากสภาพแวดล้อม กฎหมาย วัฒนธรรม และประชากรที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละรัฐทั่วโลก

การุณยฆาต

[แก้]
เครื่องการุณยฆาต ประเทศออสเตรเลีย

ผู้ที่เชื่อว่าบุคคลสมควรที่จะสามารถตัดสินใจปลิดชีพตัวเองผ่านการุณยฆาตได้อ้างว่าบุคคลมี สิทธิที่จะเลือก[23] ในขณะที่ผู้ที่ต่อต้านการทำให้การุณยฆาตถูกกฎหมายอ้างว่าบุคคลทั้งหมดล้วนมีสิทธิในชีวิต คนกลุ่มนี้มักถูกเรียกในภาษาอังกฤษว่า right-to-lifers (นักสิทธิในชีวิต)[24]

แถลงการณ์ทางกฎหมาย

[แก้]
  • ใน ค.ศ. 1989 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติรับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
  • รัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Basic Law for the Federal Republic of Germany) ยึดหลักการของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้สูงสุด เหนือกว่าแม้แต่สิทธิในชีวิต
  • ศาสนจักรคาทอลิกได้ตรา กฎบัตรสิทธิของครอบครัว (Charter of the Rights of the Family) ขึ้นมา[27] ซึ่งกล่าวว่าสิทธิในชีวิตนั้นเป็นผลโดยตรงจากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  • ข้อ 21 ของรัฐธรรมนูญอินเดีย (Constitution of India) ค.ศ. 1950 รับประกันสิทธิในชีวิตให้แก่คนทุกคนภายในอาณาเขตของประเทศอินเดีย และกล่าวว่า "ไม่มีบุคคลใดจะถูกพรากไปจากสิทธิในชีวิตของเขา และเสรีภาพส่วนตัวของเขา เว้นแต่เป็นไปตามกระบวนการที่สถาปนาไว้ตามกฎหมาย" ข้อที่ 21 มอบสิทธิขั้นพื้นฐานในชีวิตและเสรีภาพส่วนตัวให้แก่บุคคลทุกคน ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งของสิทธิอื่น ๆ อีกมากมาย[28]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Solomon, Martha (4–7 เมษายน 1978), The Rhetoric of Right to Life: Beyond the Court's Decision., แอตแลนตา รัฐจอร์เจีย, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 มิถุนายน 2021{{citation}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  2. สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 (29 ตุลาคม 1951), Address to Midwives on the Nature of Their Profession, Every human being, even the child in the womb, has the right to life directly from God and not from his parents, not from any society or human authority. Therefore, there is no man, no society, no human authority, no science, no 'indication' at all whether it be medical, eugenic, social, economic, or moral that may offer or give a valid judicial title for a direct deliberate disposal of an innocent human life
  3. "Bishop James T. McHugh". Diocese of Camden. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2021.
  4. Cassidy, K. M. (1990). "Right to Life". ใน Reid, Daniel G. (บ.ก.). Dictionary of Christianity in America. Downers Grove, Illinois: InterVarsity Press. pp. 1017, 1018.
  5. Williams, Daniel K. (2010). God's Own Party The Making of the Religious Right. Oxford University Press. pp. 113-116. ISBN 9780195340846.
  6. Singer, Peter (1993). Practical ethics (2nd revised ed.). Cambridge University Press. ISBN 052143971X.
  7. Singer, Peter (2001). "An Interview". Writings on an Ethical Life. pp. 319–329. ISBN 978-1841155500.
  8. "Abolish the death penalty". Amnesty International. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 สิงหาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2010.
  9. "117 countries vote for a global moratorium on executions". World Coalition Against the Death Penalty. 19 ธันวาคม 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 เมษายน 2015.
  10. "moratorium on the death penalty". United Nations. 15 พฤศจิกายน 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 มกราคม 2011. สืบค้นเมื่อ 23 August 2010.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 "International Human Rights Standards for Law Enforcement" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 28 สิงหาคม 2017.
  12. "IACP Law Enforcement Policy Center". www.theiacp.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 กันยายน 2017. สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2017.
  13. Alpert & Smith. "How Reasonable Is the Reasonable Man: Police and Excessive Force". Journal of Criminal Law and Criminology. 85 (2): 487.
  14. "Michael Brown's Shooting and Its Immediate Aftermath in Ferguson". เดอะนิวยอร์กไทมส์. 25 สิงหาคม 2014.
  15. Rosenfeld, Richard. "Ferguson and Police Use of Deadly Force". Missouri Law Review: 1087.
  16. Hall, Hall & Perry (2016). "Black and Blue: Exploring Racial Bias and Law Enforcement Killings of Unarmed Black Male Civilians". American Psychologist. 71 (3, 2016): 175–186. doi:10.1037/a0040109. hdl:1813/71445. PMID 27042881.
  17. Gabrielson, Sagara & Jones (10 ตุลาคม 2014). "Deadly Force in Black and White: A ProPublica analysis of killings by police shows outsize risk for young black males". ProPublica.
  18. Coppolo, George (1 กุมภาพันธ์ 2008). "Use of Deadly Force by Law Enforcement Officers". OLR Research Report.
  19. Graham v. Connor, 490 U.S. 386 (1989).
  20. Tennessee v. Garner, 471 U.S. 1 (1985).
  21. Strasser, Mr. Ryan (1 กรกฎาคม 2008). "Second Amendment". LII / Legal Information Institute (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 กันยายน 2017. สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2017.
  22. Independent Police Conduct Authority Annual Report, 2011-2012, New Zealand.
  23. Scherer, Jennifer M.; Simon, Rita J. (1999). Euthanasia and the Right to Die: A Comparative View. p. 27. ISBN 9780847691678.
  24. Fischer, Roswitha (1998). Lexical Change in Present-day English. p. 126. ISBN 9783823349402.
  25. Marušić, Juraj (1992). Sumpetarski kartular i poljička seljačka republika (1st ed.). Split, Croatia: Književni Krug Split. p. 129. ISBN 9788673970769.
  26. "The Statute of Poljica". สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2022. 59b. Notwithstanding, if it is established in the correct and proper manner that some land on which a dwelling or courtyard stands was properly inherited, correctly and honourably, even if this does not go back a long time, in such a case the fact that each man must live must in some way be taken into consideration. As there is nothing that has existed for all time.
  27. "The Family and Human Rights". สันตะสำนัก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 มีนาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2011.
  28. Maneka Gandhi v. Union of India AIR 1978 SC 597

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]