สาธารณรัฐออสเตรียที่ 1
สาธารณรัฐออสเตรีย Republik Österreich (เยอรมัน) | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1919–1934 | |||||||||
เพลงชาติ: ด็อยท์เชิสแตร์ไรช์ ดูแฮร์ลีแชส์ลันท์ "เยอรมัน-ออสเตรีย คือประเทศที่สวยงาม" (ค.ศ. 1920–1929) ไซเกอเซกเนอท์ โอเนอเอ็นเดอ ("เป็นความสุขที่ไม่มีสิ้นสุด") (ค.ศ. 1929–1934) | |||||||||
สาธารณรัฐออสเตรียที่ 1 ใน ค.ศ. 1930 | |||||||||
เมืองหลวง | เวียนนา | ||||||||
ภาษาทั่วไป | เยอรมัน (ภาษาเยอรมันออสเตรีย) | ||||||||
ศาสนา | คริสต์ (โรมันคาทอลิก, อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์, โปรเตสแตนต์), ยูดาห์ | ||||||||
การปกครอง | สหพันธ์สาธารณรัฐระบบรัฐสภา | ||||||||
ประธานาธิบดี | |||||||||
• 1919–1920 | คาร์ล ไซทซ์ | ||||||||
• 1920–1928 | ไมเคิล ไฮนิช | ||||||||
• 1928–1934 | วิลเฮ็ล์ม มิคลัส | ||||||||
นายกรัฐมนตรี | |||||||||
• 1919–1920 (คนแรก) | คาร์ล เร็นเนอร์ | ||||||||
• 1932–1934 (คนสุดท้าย) | เอ็งเงิลแบร์ท ด็อลฟูส | ||||||||
สภานิติบัญญัติ | รัฐสภา | ||||||||
• สภาสูง | สภาสหพันธรัฐ | ||||||||
• สภาล่าง | สภาแห่งชาติ | ||||||||
ยุคประวัติศาสตร์ | ระหว่างสงคราม | ||||||||
10 กันยายน 1919 | |||||||||
15 กรกฎาคม 1927 | |||||||||
12 กุมภาพันธ์ 1934 | |||||||||
1 พฤษภาคม 1934 | |||||||||
สกุลเงิน | โครนออสเตรีย (1919–1924) ชิลลิงออสเตรีย (1924–1938) | ||||||||
| |||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ออสเตรีย |
สาธารณรัฐออสเตรียที่หนึ่ง หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐออสเตรีย เป็นสาธารณรัฐที่ก่อตั้งขึ้นภายหลังการล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในช่วงแรกสาธารณรัฐมีความพยายามที่จะรวมสหภาพกับเยอรมนี (สาธารณรัฐเยอรมันออสเตรีย) แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกและมหาอำนาจในเวลานั้นอย่างฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรไม่เห็นด้วย[1] สาธารณรัฐดำรงอยู่จนถึง ค.ศ. 1934 และแทนที่โดยสหพันธรัฐออสเตรีย ในท้ายที่สุดออสเตรียก็ผนวกกับนาซีเยอรมนีได้สำเร็จใน ค.ศ. 1938
ฝ่ายสังคมนิยมได้ครอบงำรัฐบาลสาธารณรัฐจนกระทั่งเดือนตุลาคม ค.ศ. 1920 เมื่ออำนาจถูกเปลี่ยนผ่านโดยพรรคสังคมคริสเตียน[2] ในช่วงสองปีแรกของการครอบงำทางการเมืองโดยฝ่ายสังคมนิยม มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับใหม่และมาตรการทางสังคมต่าง ๆ ได้รับการอนุมัติ[3] หลังจากนั้นพรรคสังคมคริสเตียนได้สร้างพันธมิตรของชนชั้นกระฎุมพีขึ้น เพื่อควบคุมรัฐบาลและกำจัดอิทธิพลของสังคมนิยม ด้วยพันธมิตรที่เข้มแข็งนี้ ทำให้พรรคสังคมคริสเตียนสามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้ตลอดช่วงทศวรรษ 1920[4] อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งในรัฐสภาของฝ่ายสังคมนิยมและความต้องการเสียงข้างมากในการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญและกฎหมายสำคัญอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ทำให้ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายของพันธมิตรสังคมคริสเตียนไม่ประสบผลสำเร็จ[4] ใน ค.ศ. 1922 ค่าเงินเริ่มมีเสถียรภาพและเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นบางส่วน[2]
ฝ่ายที่ได้รับชัยชนะในสงครามโลกได้กำหนดให้ออสเตรียเป็นเอกราช แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศจะปรารถนารวมสหภาพกับสาธารณรัฐไวมาร์ใหม่ก็ตาม[1] อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาในการรวมชาติยังคงมีอยู่และปรากฏขึ้นเป็นระยะ ๆ ดังเช่นใน ค.ศ. 1931 เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ จึงมีการเสนอรวมสหภาพศุลกากรออสเตรีย–เยอรมนี ซึ่งสุดท้ายก็ไม่สำเร็จเพราะมหาอำนาจตะวันตกคัดค้าน[1] การถือกำเนิดขึ้นของรัฐบาลชาติสังคมนิยมในเยอรมนีเมื่อ ค.ศ. 1933 ส่งผลให้การสนับสนุนของประชาชนต่อสหภาพแรงงานลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักสังคมนิยม การลอบสังหารนายกรัฐมนตรีออสเตรียโดยพวกนาซีออสเตรียที่ได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนีระหว่างรัฐประหารล้มเหลวใน ค.ศ. 1934 ได้ปลุกเร้าการปฏิเสธพรรคสังคมคริสเตียนและสนับสนุนการรักษาเอกราช[1] หลังจากสองปีของการเป็นปรปักษ์ ในที่สุดรัฐบาลจึงได้บรรลุซึ่งข้อตกลง โดยยินยอมให้พวกชาติสังคมนิยมหรือนาซีมีส่วนร่วมในการบริหารประ แต่ความขัดแย้งก็ไม่ได้ยุติลง[1]
รัฐธรรมนูญออสเตรียมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1920 และแก้ไขเพิ่มเติม ใน ค.ศ. 1929 เมื่อฟาสซิสต์ออสเตรียขึ้นสู่อำนาจ จึงมีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน ค.ศ. 1934 โดยเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศจากสาธารณรัฐออสเตรียเป็นสหพันธรัฐ ด้วยเหตุนี้ นักประวัติศาสตร์บางคนจึงถือว่าสาธารณรัฐที่หนึ่งยุติลงใน ค.ศ. 1934
ตั้งแต่ ค.ศ. 1920 รัฐบาลออสเตรียถูกครอบงำโดยพรรคสังคมคริสเตียน ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคริสตจักรโรมันคาทอลิก นายกรัฐมนตรีคนแรกของพรรคอิกนัทซ์ ไซเพิล พยายามสร้างพันธมิตรทางการเมืองระหว่างนักอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยกับคริสตจักรโรมันคาทอลิก แม้ว่าประเทศจะมีพรรคการเมืองที่มั่นคงครองอำนาจอยู่ แต่การเมืองภายในประเทศนั้นกลับมีความแตกแยกและรุนแรง โดยมีฝ่ายประชาธิปไตยสังคมนิยม (เยอรมัน: Republikanischer Schutzbund) และกองกำลังกึ่งทหารฝ่ายขวาจัด (เยอรมัน: Heimwehr) ที่ขัดแย้งกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ฝ่ายอนุรักษนิยมได้ดำเนินการทำให้พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมพ่ายแพ้ในรัฐสภาตลอดทศวรรษ แม้ว่าคะแนนเสียงจะเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ มาก็ตาม[5] มาตรการแบ่งเขตการปกครองออกจากเวียนนาและเสริมอำนาจของเสียงข้างน้อยในรัฐสภาทำให้เกิดการต่อต้านฝ่ายอนุรักษนิยมเสียเอง พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมสามารถควบคุมเมืองหลวงได้ ซึ่งพรรคได้พัฒนานโยบายทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการเก็บภาษีที่สูงซึ่งพวกอนุรักษนิยมวิพากษ์วิจารณ์[6][7]
ในเวลายี่สิบปีของการมีเอกราช ออสเตรียต้องพึ่งพาการเงินจากต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา[8] ใน ค.ศ. 1922 เมื่อเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประเทศจึงร้องขอเงินกู้จากสันนิบาตชาติ ซึ่งแลกกับการยอมรับเงื่อนไขทางการเมืองบางประการ รวมถึงการรักษาอธิปไตยของชาติที่ต่อต้านการรวมสหภาพของเยอรมนีด้วย[9][10] เศรษฐกิจของประเทศยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของต่างประเทศกระทั่ง ค.ศ. 1926[8] แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตขึ้นมาเล็กน้อยหลังจากนั้น แต่ไม่นานก็หยุดลงพร้อมกับการมาถึงของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อประเทศอย่างยิ่ง[11]
การก่อตั้ง
[แก้]ในเดือนกันยายน 1919 รัฐตกค้างแห่งเยอรมัน-ออสเตรียได้รับการลดพรมแดนตามสนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็ง โดยต้องมอบดินแดนที่มีประชากรชาวเยอรมันอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ในซูเดเทินลันท์ให้แก่เชโกสโลวาเกีย ดินแดนเซาท์ทีโรลให้แก่อิตาลี และดินแดนบางส่วนของจังหวัดอัลไพน์ให้แก่ราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (Kraljevina Srba, Hrvata i Slovenaca (SHS) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ยูโกสลาเวีย") แม้จะมีการคัดค้านจากออสเตรีย แต่สนธิสัญญาฉบับนี้ได้ช่วยยับยั้ง อันชลุส หรือ การรวมสหภาพออสเตรียกับเยอรมนี โดยไม่ได้รับความยินยอมจากสันนิบาตชาติ ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่เห็นด้วยที่จะยอมให้เยอรมนีที่พ่ายแพ้ขยายอาณาเขตโดยการผนวกดินแดนที่หลงเหลืออยู่ของออสเตรีย ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ประเทศเยอรมัน-ออสเตรียต้องเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเป็น สาธารณรัฐออสเตรีย
สาธารณรัฐใหม่นี้ได้กีดกั้นการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนทั้งสองครั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน ครั้งแรกคือดินแดนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของคารินเทีย ซึ่งมีชาวสโลวีนอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ ราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีนได้เข้าขัดขวางอำนาจของออสเตรียเหนือดินแดนนี้โดยผ่านการลงประชามติของชาวคารินเทียเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 1920 ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะอยู่กับออสเตรียต่อไป ครั้งที่สองคือการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนบัวร์เกินลันท์ของฮังการี ภายใต้ชื่อ "เวสเทิร์นฮังการี" (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฮังการีมาตั้งแต่ปี 907[12] โดยมีประชากรที่พูดภาษาเยอรมันเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีประชากรส่วนน้อยที่พูดภาษาโครเอเชียและฮังการีด้วย) ผ่านการลงนามในสนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็งจนดินแดนบัวร์เกินลันท์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐออสเตรียโดยสมบูรณ์ในปี 1921 อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการลงประชามติซึ่งยังคงพิพาทโดยออสเตรีย เมืองหลักของจังหวัดโชโปรน (เยอรมันเออเดินบูร์ก) ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของฮังการี
สนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็งได้สร้างความไม่พอใจแก่ประชากรชาวเยอรมันในออสเตรีย โดยได้อ้างถึงการละเมิดหลักการสิบสี่ข้อของประธานาธิบดีสหรัฐ วูดโรว์ วิลสัน วางเอาไว้ระหว่างการเจรจาสันติภาพ โดยเฉพาะสิทธิในการ "กำหนดตนเอง" ของทุกประเทศ ผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าการสูญเสียอาณาเขตของจักรวรรดิก่อนสงครามถึง 60% นั้น จะทำให้ออสเตรียไม่สามารถควบคุมดูแลทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองได้อีกต่อไปในฐานะรัฐที่แยกขาดจากกัน โดยปราศจากการรวมตัวกับเยอรมนี ออสเตรียในขณะนี้มีขนาดเล็กมาก กลายเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ซึ่งมีประชากรประมาณ 6.5 ล้านคน กรุงเวียนนาซึ่งมีประชากรเกือบ 2 ล้านคน ถูกทอดทิ้งให้อยู่ในเมืองหลวงอย่างอดอยาก ออสเตรียในสมัยนี้มีพื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกเพียง 17.8 เปอร์เซนต์เท่านั้น เนื่องจากพื้นที่ทำกินส่วนใหญ่ในอดีตของจักรวรรดิออสเตรีย กลายเป็นส่วนหนึ่งของเชโกสโลวาเกียและยูโกสลาเวีย
รัฐบาลและสถานการณ์ทางการเมืองในปี 1920–1934
[แก้]รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้สร้างสภานิติบัญญัติแบบสองสภาขึ้น โดยมีสภาสูงหรือสภาสหพันธรัฐ (Bundesrat) ซึ่งประกอบด้วยเหล่าผู้แทนจากรัฐต่าง ๆ ในสหพันธรัฐ และสภาล่างหรือสภาแห่งชาติ (Nationalrat) ซึ่งจะมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งระดับสากล ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐได้รับเลือกเป็นระยะเวลาสี่ปีในการประชุมใหญ่ของทั้งสองสภา ในขณะที่นายกรัฐมนตรีได้รับเลือกจากสภาแห่งชาติ เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา ออสเตรียจึงถูกปกครองโดยกลุ่มพันธมิตรของพรรคสังคมคริสเตียน และพรรคมหาชนเยอรมัน หรือ ลันด์บุนด์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาที่เอนเอียงไปฝั่งอนุรักษนิยมมากกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยสังคมนิยมชุดแรกของ คาร์ล เร็นเนอร์ ซึ่งได้จัดตั้งกฎหมายด้านเศรษฐกิจและสังคมและแรงงานที่ก้าวหน้าขึ้นจำนวนหนึ่ง
หลังจากปี 1920 รัฐบาลออสเตรียถูกควบคุมโดยพรรคสังคมคริสเตียนซึ่งต่อต้านแนวคิดอันชลุส[13] โดยพรรคได้มีความสัมพันธ์กับคริสตจักรโรมันคาทอลิกอย่างใกล้ชิด นายกรัฐมนตรีคนแรกของพรรค อิกนาซ ไซเพิล ขึ้นสู่อำนาจในเดือนพฤษภาคม 1922 และพยายามสร้างพันธมิตรทางการเมืองระหว่างนักอุตสาหกรรมผู้มั่งคั่งและคริสตจักรโรมันคาทอลิก
ภายหลังจากการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในวันที่ 17 ตุลาคม 1920 พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมได้พ่ายแพ้ในรัฐสภาและยังคงเป็นฝ่ายค้านจนกระทั่งปี 1934 เมื่อด็อลฟูสได้ออกคำสั่งห้ามมีฝ่ายค้าน พรรคสังคมคริสเตียนชนะพรรคประชาธิปไตยด้วยคะแนนเสียง 85 ต่อ 69 พรรคมหาชนเยอรมันได้ 20 คะแนนเสียง และสหภาพชาวนา 8 คะแนนเสียง ไมเคิล ไฮนิช ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี ภายหลังจากการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 1923 อิกนาซ ไซเพิล ได้ขึ้นสู่อำนาจและประกาศลาออกในเดือนพฤศจิกายน 1924 เมื่อสืบต่อตำแหน่งโดย รูดอล์ฟ ราเมค
ในเดือนธันวาคม 1928 วิลเฮ็ล์ม มิคลัส จากพรรคสังคมคริสเตียน ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐ และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1929 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม โดยให้มีการลดสิทธิของรัฐสภา ทำให้ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐได้รับเลือกจากการลงคะแนนเสียงของประชาชนโดยตรง และประธานาธิบดีมีสิทธิในการแต่งตั้งรัฐบาลกลางและสามารถออกพระราชกำหนดฉุกเฉินได้
ภายหลังจากการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในปี 1930 พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมกลายเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งในรัฐสภามากที่สุด คือ 72 ที่นั่ง แต่ออทโท เอ็นเดอร์ นายกรัฐมนตรีของพรรคสังคมคริสเตียน ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมโดยไม่มีสมาชิกพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมเลยแม้แต่น้อย
ความขัดแย้งฝ่ายซ้าย–ฝ่ายขวา
[แก้]แม้ว่าประเทศจะมีพรรคการเมืองที่มั่นคงครองอำนาจอยู่ แต่การเมืองภายในประเทศนั้นกลับมีความแตกแยกและความรุนแรง โดยทั้งฝ่ายประชาธิปไตยสังคมนิยม (Republikanischer Schutzbund) และกองกำลังกึ่งทหารฝ่ายขวา (Heimwehr) เริ่มมีความขัดแย้งกัน ประเทศจึงถูกแบ่งแยกกันระหว่างประชากรในชนบทหัวโบราณและฝ่ายเวียนนาแดงที่ควบคุมโดยฝ่ายประชาธิปไตยสังคมนิยม
ในปี 1927 ระหว่างการปะทะกันทางการเมืองในแถบบัวร์เกินลันท์ มีชายชราและเด็กถูกยิงโดยกองกำลังฝ่ายขวา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1927 มือปืนได้รับการปล่อยตัวและผู้สนับสนุนฝ่ายซ้ายได้เริ่มประท้วงครั้งใหญ่ในระหว่างที่อาคารสำนักงานกระทรวงยุติธรรมถูกวางเพลิง เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อย ทางตำรวจและกองทัพจึงสั่งยิงประชาชน โดยมีผู้ถูกสังหารจำนวน 89 คน และบาดเจ็บอีก 600 คน การประท้วงครั้งใหญ่นี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "การก่อการกำเริบเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1927" ฝ่ายประชาธิปไตยสังคมนิยมเรียกร้องให้มีการปะทะกันซึ่งกินเวลานานถึงสี่วัน
ภายหลังจากเหตุการณ์ในปี 1927 ฝ่ายอนุรักษนิยมเริ่มแข็งแกร่งขึ้น และความรุนแรงในออสเตรียยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 เมื่อ เอ็งเงิลแบร์ท ด็อลฟูส ขึ้นสู่อำนาจ
เศรษฐกิจ
[แก้]อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐใหม่นี้ควบคุมได้ยาก เนื่องจากพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจักรวรรดิในอดีต ส่วนใหญ่ถูกพรากไปจากการก่อตั้งรัฐชาติใหม่ และจะยิ่งยุ่งเหยิงขึ้นไปอีก ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐชาติใหม่เหล่านี้จำนวนหนึ่งยังคงต้องพึ่งพาธนาคารกลางของเวียนนา แต่กลับถูกกีดกันโดยพรมแดนและภาษีที่แตกต่างกัน
ดินแดนออสเตรียที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลแทบจะไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้และขาดพื้นฐานทางอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว นอกจากนี้ เชโกสโลวาเกีย, ฮังการี, ยูโกสลาเวีย, และอิตาลี ได้กำหนดการปิดล้อมทางการค้าและปฏิเสธที่จะขายทรัพยากรและถ่านหินให้กับออสเตรีย ซึ่งท้ายที่สุดออสเตรียก็ได้รับการช่วยเหลือและการสนับสนุนจากพันธมิตรตะวันตก ภายในปี 1922 หนึ่งดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่าเท่ากับ 19,000 โครน และครึ่งหนึ่งของประชากรภายในประเทศตกงาน[14]
ในเดือนธันวาคม 1921 สนธิสัญญาลานาที่ลงนามกันระหว่างออสเตรียและเชโกสโลวาเกีย โดยออสเตรียยอมรับพรมแดนของรัฐใหม่และยกเลิกการอ้างสิทธิ์ตัวแทนของชาติพันธุ์เยอรมันที่อาศัยอยู่ในดินแดนของเชโกสโลวาเกียที่สร้างขึ้นใหม่ ในทางกลับกัน เชโกสโลวาเกียได้ให้เงินกู้จำนวน 500 ล้านโครน แก่ออสเตรีย[15]
ในปี 1922 ในความพยายามที่จะจัดการกับภาวะเงินเฟ้อภายหลังสงคราม นายกรัฐมนตรี อิกนาซ ไซเพิล ได้ทำเรื่องขอเงินกู้จากต่างประเทศและเสนอนโยบายประหยัดอย่างเข้มงวด ในเดือนตุลาคม 1922 สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, อิตาลี และเชโกสโลวาเกีย ได้ให้เงินกู้จำนวน 650 ล้านโครน หลังจากที่ไซเพิลสัญญาว่าจะไม่พยายามอันชลุสในอีก 20 ปีข้างหน้า และอนุญาตให้สันนิบาตชาติควบคุมเศรษฐกิจของออสเตรีย ในเดือนมีนาคม 1926 งบประมาณของรัฐมีเสถียรภาพและการควบคุมดูแลด้านการเงินระหว่างประเทศสิ้นสุดลง ธนาคารกลางออสเตรีย (Oesterreichische Nationalbank) ได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 1923 ได้มีการประกาศใช้ภาษีการค้าในปี 1923 และในเดือนธันวาคม 1924 สกุลเงินชิลลิงออสเตรียได้เข้ามาแทนที่สกุลโครนออสเตรียเดิม
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่กระทบออสเตรียอย่างหนัก และในเดือนพฤษภาคม 1931 ธนาคารใหญ่ในออสเตรียอย่างเครดิทันส์ทัลท์ล่ม[16] เพื่อทำการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ ออสเตรียจึงต้องการรวมสหภาพศุลการกรกับเยอรมนี แต่ในปี 1931 ฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศภาคีน้อยไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้
ฟาสซิสต์ออสเตรีย
[แก้]นายกรัฐมนตรีแห่งพรรคสังคมคริสเตียน เอ็งเงิลแบร์ท ด็อลฟูส ขึ้นสู่อำนาจเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 1932 และเปลี่ยนออสเตรียจากระบบพรรคการเมืองไปสู่ระบอบเผด็จการรวมศูนย์หรือระบอบฟาสซิสต์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฟาสซิสต์อิตาลีเป็นพันธมิตรระหว่างประเทศที่เข้มแข็งที่สุดในการต่อต้านเยอรมนี ในเดือนมีนาคม 1933 ด็อลฟูสได้ประกาศระงับรัฐสภา ซึ่งทำให้ตัวเขามีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการได้โดยไม่มีรัฐสภา ในเดือนพฤษภาคม 1933 เขาได้ก่อตั้งแนวร่วมปิตุภูมิ ซึ่งต่อต้านแนวคิดเสรีนิยมและสังคมนิยมเพื่อสนับสนุนลัทธิบรรษัทนิยม
รัฐบาลพยายามชิงดีชิงเด่นกันกับพรรคนาซีออสเตรีย ซึ่งต้องการให้ออสเตรียเข้าร่วมกับเยอรมนี ระบอบฟาสซิสต์ออสเตรียของด็อลฟูสได้เชื่อมโยงอัตลักษณ์ของออสเตรียเข้ากับคริสตจักรโรมันคาทอลิก เพื่อต่อต้านสหภาพออสเตรียและโปรเตสแตนต์เยอรมนีที่มีอำนาจเหนือกว่า
จากความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองออสเตรียในเดือนกุมภาพันธ์ 1934 ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างฝ่ายนาซีกับฝ่ายประชาธิปไตยสังคมนิยมและกองกำลังฝ่ายรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 1934 ด็อลฟูสได้เปลี่ยนออสเตรียให้เป็นรัฐพรรคการเมืองเดียว โดยมีพรรคแนวร่วมปิตุภูมิ (เยอรมัน: Vaterländische Front) เป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว พร้อมกับประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญเดือนพฤษภาคม" ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ อีกทั้งยังเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศจาก "สาธารณรัฐออสเตรีย" เป็น "สหพันธรัฐออสเตรีย" และยังเปลี่ยนธงชาติ ตราแผ่นดิน และเพลงชาติอีกด้วย
ระบอบสหพันธรัฐและการควบคุมอำนาจของสภาสหพันธรัฐถูกลดทอนลง ในขณะที่การเลือกตั้งสภาแห่งชาติถูกยกเลิก สมาชิกที่ได้รับการเสนอชื่อโดยสภาบรรษัททั้งสี่ (สภาแห่งรัฐ (Staatsrat), สภาวัฒนธรรมสหพันธ์ (Bundeskulturrat), สภาเศรษฐกิจสหพันธ์ (Bundeswirtschaftsrat) และสภาประจำรัฐ (Länderrat)) ตามสมมติแล้วพวกเขาจะเป็นความเห็นที่ดีที่สุดในแต่ละด้าน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การออกกฎหมายและการแต่งตั้งทั้งหมดมาจากคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐ
รัฐได้เข้าควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างอย่างสมบูรณ์ และเริ่มปราบปรามผู้ที่สนับสนุนนาซีและผู้สนับสนุนการรวมชาติเยอรมัน พวกนาซีจึงตอบโต้กลับด้วยการลอบสังหารด็อลฟูสระหว่างการกบฏเดือนกรกฎาคมเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 1934[17] (ดูเพิ่มเติมที่ Maiverfassung 1934)
การลอบสังหารโดยนาซีออสเตรียในครั้งนี้ ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของออสเตรียไม่พึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง ฟาสซิสต์อิตาลีภายใต้การนำของผู้นำเผด็จการเบนิโต มุสโสลินี ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับออสเตรียภายใต้การนำของด็อลฟูส ได้ให้สัญญาว่าหากเยอรมนีจะบุกออสเตรีย อิตาลีก็สนับสนุนทางด้านการทหารอย่างเต็มกำลัง เนื่องจากพวกนาซีได้อ้างสิทธิ์ในดินแดนทีโรลที่ปกครองโดยอิตาลี การสนับสนุนจากอิตาลีได้ช่วยให้ออสเตรียรอดพ้นจากการผนวกรวมที่อาจเกิดขึ้นในปี 1934
คูร์ท ชุชนิกก์ ได้ดำรงตำแหน่งต่อจากด็อลฟูส เขาได้สั่งห้ามการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของพวกนาซี แต่ก็ยังสั่งห้ามให้มีกองกำลังกึ่งทหารแห่งชาติออสเตรีย (Heimwehr) ด้วย
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Schmitt 1959, p. 291.
- ↑ 2.0 2.1 Pauley 1979, p. 276.
- ↑ Biles 1979, p. 2.
- ↑ 4.0 4.1 Biles 1979, p. 3.
- ↑ Graham 1930, p. 145.
- ↑ Macartney 1929, p. 622.
- ↑ Macartney 1928, p. 298.
- ↑ 8.0 8.1 Bischof, Pelinka & Lassner 2003, p. 73.
- ↑ Gehl 1963, p. 3.
- ↑ Von Klemperer 1972, p. 151-152.
- ↑ Bischof, Pelinka & Lassner 2003, p. 93.
- ↑ Vares, Mari (2008). The question of Western Hungary / Burgenland 1918-1923: a territorial question in the context of national and international policy (PDF). Jyväskylä: University of Jyväskylä. p. 25. ISBN 978-951-39-3074-5.
- ↑ DIVIDE ON GERMAN AUSTRIA. - Centrists Favor Union, but Strong Influences Oppose It., The New York Times, January 17, 1919 (PDF)
- ↑ Building an Unwanted Nation. ISBN 9780549324867.
- ↑ Jelavich, Barbara (September 25, 1987). Modern Austria: Empire and Republic, 1815-1986. Cambridge University Press. ISBN 9780521316255 – โดยทาง Google Books.
- ↑ "1931". 11 March 2009.
- ↑ "1934 to 1938: Ständestaat in the Name of "God, the Almighty"". www.wien.gv.at.
บรรณานุกรม
[แก้]- Bennett, Edward W (1962). Germany and the diplomacy of the financial crisis, 1931 (ภาษาอังกฤษ). Harvard University Press. p. 342. ISBN 9780674352506.
- Berend, Ivan; Ránki, György (1969). "Economic Problems of the Danube Region after the Break-Up of the Austro-Hungarian Monarchy". Journal of Contemporary History. 4 (3): 169-185.
- Berend, Ivan (2000). "The Failure of Economic Nationalism: Central and Eastern Europe before World War II". Revue économique. 51 (2): 315-322.
- Biles, Gloria C. (1979). "Johann Schober's solutions for Austria's domestic problems, (September 26, 1929-September 25, 1930)" (pdf) (ภาษาอังกฤษ). Rice University. OCLC 7881123.
- Bischof, Günter J.; Pelinka, Anton; Lassner, Alexander (2003). The Dollfuss/Schuschnigg Era in Austria: A Reassessment (ภาษาอังกฤษ). Transaction Publishers. p. 321. ISBN 9781412821896.
- Coyne, Edward J. (1929). "The Crisis in Austria and Monsignor Seipel". Studies: An Irish Quarterly Review. 18 (72): 607-618.
- Diamant, Alfred (1957). "Austrian Catholics and the First Republic, 1918-1934: A Study in Anti-Democratic Thought". The Western Political Quarterly. 10 (3): 603-633.
- Gehl, Jurgen (1963). Austria, Germany, and the Anschluss, 1931-1938 (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press.
- Gould, S. W. (1950). "Austrian Attitudes toward Anschluss: October 1918-September 1919". The Journal of Modern History. 22 (3): 220-231.
- Graham, Malbone W. (1930). "Foreign Governments and Politics: The Constitutional Crisis in Austria". The American Political Science Review. 24 (1): 144-157.
- Gulick, Charles Adams (1948). Austria from Habsburg to Hitler, volume 1 (ภาษาอังกฤษ). University of California Press. p. 771. OCLC 312153572.
- Gulick, Charles Adams (1948). Austria from Habsburg to Hitler, volume 2 (ภาษาอังกฤษ). University of California Press. p. 1906. OCLC 312557122.
- Kirk, D. (1969). Europe's Population In The Interwar Years (ภาษาอังกฤษ). Taylor & Francis. p. 309. ISBN 9780677015606.
- Kleinfeld, Gerald Robert (1961). Stabilization and reconstruction in Austria: Schober and Seipel, 1921-1922 (ภาษาอังกฤษ). New York University. OCLC 55111432.
- Von Klemperer, Klemens (1972). Ignaz Seipel: Christian statesman in a time of crisis (ภาษาอังกฤษ). Princeton University Press. p. 468. ISBN 9780691051970.
- Leser, Norbert (1981). "Austria between the Wars. An Essay". Austrian History Yearbook. 17: 127-142.
- Macartney, C. A. (1929). "The Armed Formations in Austria". Journal of the Royal Institute of International Affairs. 8 (6): 617-632.
- Macartney, C. A. (1928). "Austria since 1928". The Slavonic and East European Review. 7 (20): 288-303.
- McElroy, David Brian (1955). "The domestic and foreign policy of Austria and her relations with Germany and Italy, 1932-1938" (pdf) (ภาษาอังกฤษ). Rice University. OCLC 1031095536.
- Miller, James William (1985). Engelbert Dollfuss and Austrian Agriculture : An authoritarian Democrat and his policies (ภาษาอังกฤษ). University of Minnesota. OCLC 638323462.
- Miller, James William (1992). "Agrarian Politics in Interwar Austria". Working Papers. 42: 26.
- Pauley, Bruce F. (1979). "Fascism and the Führerprinzip: The Austrian Example". Central European History. 12 (3): 272-296.
- Ránki, György (1981). "The Great Powers and the Economic Reorganization of the Danube Valley after World War I". Acta Historica Academiae Scientiarum Hungaricae. 27 (1–2): 63-97.
- Rath, R. John (1996). "The Deterioration of Democracy in Austria, 1927–1932". Austrian History Yearbook. 26: 213-259.
- Schmidt, Peter Edwin (1977). The relief of Austria, 1919-1922 (ภาษาอังกฤษ). Case Western Reserve University. OCLC 846271572.
- Schmitt, Hans A. (1959). "The End of the First Republic of Austria". The Southwestern Social Science Quarterly. 39 (4): 291-306.
- Seton-Watson, Hugh (1945). Eastern Europe between the wars, 1918-1941 (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. p. 445. OCLC 490515193.
- Thorpe, Julie (2010). "Austrofascism: Revisiting the 'Authoritarian State' 40 Years On". Journal of Contemporary History. 45 (2): 315-343.
- Wicker, Elmus (1986). "Terminating Hyperinflation in the Dismembered Habsburg Monarchy". The American Economic Review. 76 (3): 350-364.
- Zuber, Frederick R. (1975). "The watch on the Brenner : a study of Italian involvement in Austrian foreign and domestic affairs : 1928-1938" (pdf) (ภาษาอังกฤษ). Rice University. OCLC 18458416.