กบฏเดือนกรกฎาคม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กบฏเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1934
ส่วนหนึ่งของ สมัยระหว่างสงคราม

รถตำรวจที่จัตุรัสบัลเฮาส์ปัลทซ์ใกล้ทำเนียบนายกรัฐมนตรี
ถ่ายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1934
วันที่25–30 กรกฎาคม ค.ศ. 1934
สถานที่
ผล

ฟาสซิสต์ออสเตรียชนะ

  • รัฐประหารของนาซีล้มเหลว
  • แนวร่วมปิตุภูมิยังคงอยู่ในอำนาจ
  • นายกรัฐมนตรีเอ็งเงิลแบร์ท ด็อลฟูส ถูกสังหาร
คู่สงคราม

ชุทซ์ชตัฟเฟิล (เอ็สเอ็ส)

  • ชุทซ์ชตัฟเฟิลออสเตรีย

นาซีเยอรมนี พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมออสเตรีย
สนับสนุนโดย:

 ไรช์เยอรมัน

สหพันธรัฐออสเตรีย

สนับสนุนโดย:

ราชอาณาจักรอิตาลี ราชอาณาจักรอิตาลี
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ฟรีโดลิน กลัส
อ็อทโท เว็ชเทอร์
อันโทน รินเทเลิน
เอ็งเงิลแบร์ท ด็อลฟูส 
วิลเฮ็ล์ม มิคลัส
ควร์ท ชุชนิค
แอ็นสท์ รือดีเกอร์ ชตาเริมแบร์ค
เอมีล ไฟ
กำลัง
เอ็สเอ็ส 154 นาย (ในเวียนนา)
หลักพันคน (ที่อื่น)
กองกำลังทั้งหมดจากกองทัพสหพันธรัฐ ตำรวจ ตำรวจภูธร และกองกำลังกึ่งทหารไฮม์แวร์
ความสูญเสีย
เสียชีวิต 98[1]–140 คน[2]
ถูกประหารชีวิต 13 คน[2]
ถูกจับกุม 4,000 คน[2]
เสียชีวิต 101[1]–104 คน[2]
พลเรือนเสียชีวิต 11[1]–13 คน[2]

กบฏเดือนกรกฎาคม เป็นการรัฐประหารล้มเหลวที่ดำเนินโดยพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมออสเตรียเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1934 แม้ในช่วงแรกพรรคนาซีออสเตรียจะสามารถยึดทำเนียบรัฐบาลและสังหารนายกรัฐมนตรีเอ็งเงิลแบร์ท ด็อลฟูส ได้เป็นผลสำเร็จ แต่เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากภายนอก ทำให้นาซีจำต้องยอมแพ้ การกบฏเริ่มแพร่กระจายไปทั่วประเทศในวันต่อมา แต่กองกำลังฝ่ายรัฐบาลก็สามารถปราบปรามได้อย่างรวดเร็ว จากผลลัพธ์ของเหตุการณ์ในครั้งนี้ นำไปสู่ความอ่อนแอลงอย่างมากของขบวนการชาติสังคมนิยมในออสเตรีย

แผนการแรกในการต่อต้านด็อลฟูสเกิดขึ้นในต้นฤดูร้อน ค.ศ. 1933 ด้วยเหตุที่นายกรัฐมนตรีออสเตรียส่ังระงับพรรคนาซี แต่แผนการก็ไม่บรรลุผล[3] ขบวนการชาติสังคมนิยมออสเตรียถูกกดขี่ด้วยความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้น ขาดการสนับสนุนในการเข้าถึงอำนาจ ภายในขบวนการเกิดความแตกแยก และยังได้รับแรงกดดันจากกลุ่มหัวรุนแรงที่เรียกร้องให้เข้าร่วมการต่อต้านด็อลฟูส ซึ่งจากปัจจัยเหล่านี้เอง จึงนำไปสู่ความพยายามรัฐประหารเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1934[4] ตามแผนการแล้ว การกบฏในครั้งนี้จะต้องเกิดจราจลครั้งใหญ่ทั่วประเทศ เนื่องจากนาซีออสเตรียได้รับการสนับสนุนจากทหารที่ต้องการล้มล้างรัฐบาลด็อลฟูส พร้อมทั้งยังได้ร้องขอการแทรกแซงจากทางเยอรมนีด้วย แต่ด้วยการวางแผนอย่างไร้ประสิทธิภาพ ในไม่ช้านักชาติสังคมนิยมหนึ่งร้อยห้าสิบสี่คนต้องโดดเดี่ยวภายในกรุงเวียนนา[5]

ในวันที่ 25 กรกฎาคม ผู้คิดการกบฏใช้โอกาสจากการเปลี่ยนเวรยามของทำเนียบนายกรัฐมนตรีเพื่อเข้าสู่ตัวอาคารในเวลา 12 นาฬิกา 53 นาที[6] ด็อลฟูสถูกยิงสองนัดขณะกำลังหลบหนีออกจากอาคาร[7] และถึงแก่อสัญกรรมในอีกสองชั่วโมงต่อมาจากภาวะสูญเสียเลือด[8] ในเวลาเดียวกัน กลุ่มกบฏเข้ายึดทำเนียบนายกรัฐมนตรีและสถานีวิทยุกระจายเสียง[9] ซึ่งตามแผนการนั้น กลุ่มกบฏจะประกาศถึงการลาออกของด็อลฟูสและการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ที่นำโดยอันโทน รินเทเลิน[9] เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการจราจลทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนรัฐบาลใหม่ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด[10] ในทางกลับกัน กลุ่มที่มีหน้าที่จับกุมตัวประธานาธิบดีวิลเฮ็ล์ม มิคลัส ได้ล่าถอยและล้มเหลวในปฏิบัติการนี้[11]

เหล่าผู้นำรัฐบาลและผู้บัญชาการทหารเข้าเจรจากันที่กระทรวงกลาโหม[12][13] มิคลัสที่ก่อนหน้านี้ได้ปฏิเสธข้อตกลงกับพวกกบฏ จึงแต่งตั้งควร์ท ชุชนิค เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว และออกคำสั่งให้เขาปราบปรามรัฐประหารอย่างเต็มกำลัง[14] ท้ายที่สุดแล้ว ในเวลา 17 นาฬิกา 30 นาที ชุชนิคยื่นคำขาดต่อกลุ่มกบฏให้ส่งคืนทำเนียบนายกรัฐมนตรีภายในสิบห้านาที[15] ถึงแม้ในความเป็นจริงนั้น การเจรจาระหว่างกลุ่มกบฏกับรัฐบาลจะกินเวลาไปถึงสองชั่วโมงก็ตาม[15] กองกำลังฝ่ายรัฐบาลสามารถยึดคืนทำเนียบได้อย่างสงบในเวลาประมาณสองทุ่ม[16]

เอกอัครราชทูตเยอรมันยืนยันถึงความล้มเหลวของรัฐประหารเมื่อวันที่ 25 ซึ่งฮิตเลอร์สั่งปฏิเสธการมีส่วนร่วมของเยอรมนีในปฏิบัติการทุกกรณี[17] ถึงอย่างนั้น รัฐบาลเยอรมันก็ประสบปัญหาที่ตามมาแม้จะปฏิเสธการมีส่วนร่วมไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยเพราะการแพร่กระจายของการกบฏโดยกลุ่มผู้สนับสนุนตามต่างจังหวัด ซึ่งรัฐบาลออสเตรียไม่สามารถจัดการจราจลได้อย่างสมบูรณ์จนถึงวันที่ 28[18] ในวันที่ 26 ฮิตเลอร์ได้แต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีฟรันทซ์ ฟ็อน พาเพิน เป็นเอกอัครราชทูตประจำเวียนนาคนใหม่[18] โดยหวังที่จะบรรลุเป้าหมายการผนวกประเทศโดยไม่หันไปใช้ความรุนแรงอีก[19] ช่วงบ่ายของวันที่ 25 ดูเชมุสโสลินี ซึ่งมีกำหนดการเยี่ยมเยือนด็อลฟูสในอีกสองสามวันหลังจากนั้น เมื่อได้รับการยืนยันถึงเหตุการณ์กบฏที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงของออสเตรีย เขาจึงสั่งให้กองทัพอิตาลีรุกกำลังไปยังชายแดนออสเตรีย-อิตาลีโดยทันที[20] ภายหลังการรัฐประหารที่ล้มเหลวนี้ ออสเตรียยังคงรักษาเอกราชของประเทศได้เป็นเวลาอีกสี่ปี ก่อนที่จะถูกผนวกรวมกับเยอรมนีในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1938[21]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Bauer 2003, p. 325.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Bauer 2003, p. 326.
  3. Brook-Shepherd 1961, p. 233.
  4. Pauley 1981, p. 127-128.
  5. Brook-Shepherd 1961, p. 232.
  6. Brook-Shepherd 1961, p. 253.
  7. Brook-Shepherd 1961, p. 255.
  8. Gedye 1939, p. 121.
  9. 9.0 9.1 Brook-Shepherd 1961, p. 261.
  10. Pauley 1981, p. 131.
  11. Brook-Shepherd 1961, p. 240.
  12. Brook-Shepherd 1961, p. 262.
  13. Gehl 1963, p. 98.
  14. Brook-Shepherd 1961, p. 263.
  15. 15.0 15.1 Brook-Shepherd 1961, p. 272.
  16. Brook-Shepherd 1961, p. 275.
  17. Brook-Shepherd 1961, p. 279.
  18. 18.0 18.1 Brook-Shepherd 1961, p. 281.
  19. Pauley 1981, p. 135.
  20. Brook-Shepherd 1961, p. 282.
  21. Pauley 1981, p. 136.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Bauer, Kurt (2003). Elementar-Ereignis. Die österreichischen Nationalsozialisten und der Juliputsch 1934 (ภาษาเยอรมัน). Czernin Verlag. ISBN 3-7076-0164-1.
  • Brook-Shepherd, Gordon (1961). Dollfuss (ภาษาอังกฤษ). Macmillan. p. 295. OCLC 1690703.
  • Gedye, G. E. R. (1939). Betrayal in Central Europe (ภาษาอังกฤษ). Harper & Bros. p. 499. OCLC 1101763.
  • Gehl, Jurgen (1963). Austria, Germany, and the Anschluss, 1931-1938 (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press.
  • Gulick, Charles Adams (1948). Austria from Habsburg to Hitler, volume 2 (ภาษาอังกฤษ). University of California Press. p. 1906. OCLC 312557122.
  • Pauley, Bruce F. (1981). Hitler and the Forgotten Nazis: A History of Austrian National Socialism (ภาษาอังกฤษ). University of North Carolina Press. p. 292. ISBN 9780807814567.