ข้ามไปเนื้อหา

ลัทธิอนุตตรธรรม

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อักษร หมู่ หมายถึง "พระแม่องค์ธรรม" พระเป็นเจ้าตามความเชื่อของลัทธิบัวขาว ลัทธิเซียนเทียนเต้า และลัทธิอื่น ๆ ที่แตกแขนงมาภายหลัง รวมทั้งลัทธิอนุตตรธรรม

ลัทธิอนุตตรธรรม (จีนตัวเต็ม: 一貫道; จีนตัวย่อ: 一贯道; พินอิน: Yīguàn Dào; เวด-ไจลส์: I1-Kuan4 Tao4, อีก้วนเต้า) หรือเรียกตนเองว่า วิถีอนุตตรธรรม[1] เป็นศาสนา[2]ที่หวัง เจฺว๋อี ก่อตั้งขึ้นในประเทศจีนสมัยราชวงศ์ชิงเมื่อปี ค.ศ. 1877[3] คำสอนเป็นการผสานความเชื่อระหว่างลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า และศาสนาพุทธแบบจีน ทั้งยังยอมรับขนบที่มาจากต่างประเทศ เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามด้วย

ลัทธิอนุตตรธรรมเกิดขึ้นและแพร่หลายที่จีนแผ่นดินใหญ่ ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ลัทธิอนุตตรธรรมถูกรัฐบาลกวาดล้างอย่างหนัก จึงย้ายไปเผยแผ่ที่ประเทศไต้หวันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946[3] ในปัจจุบันถือเป็นศาสนาที่มีศาสนิกชนมากที่สุดเป็นอันดับสามในไต้หวัน (รองจากศาสนาพุทธและศาสนาเต๋า)[2] ในประเทศจีนลัทธินี้ยังไม่ได้รับการยอมรับ ส่วนไต้หวันได้รับรองในปี ค.ศ. 1987

ปัจจุบันลัทธิอนุตตรธรรมมีศาสนิกชนมากกว่า 10 ล้านคน ใน 86 ประเทศทั่วโลก[3]

ประวัติ

แม้ผู้นับถือลัทธิอนุตตรธรรมจะเชื่อว่าธรรมะของตนสืบมาจากศาสนาพุทธนิกายเซน แต่ในทางวิชาการประวัติศาสตร์ถือว่าลัทธิอนุตตรธรรมแยกตัวมาจากลัทธิเซียนเทียนเต้า ซึ่งลัทธิเซียนเทียนเต้าสืบคำสอนมาจากลัทธิบัวขาวและลัทธิหลัว

ลัทธิบัวขาวเกิดขึ้นสมัยราชวงศ์หยวน ต่อมาถูกทางการกล่าวหาว่าบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ จึงถูกกวาดล้างอย่างหนักจนต้องปฏิบัติการเป็นองค์กรใต้ดิน ต่อมาหวง เต๋อฮุย ได้ตั้งลัทธิเซียนเทียนเต้าโดยการผสานความเชื่อของลัทธิบัวขาวกับลัทธิหลัวเข้าด้วยกัน[4] และประกาศตนเป็นธรรมาจารย์รุ่นที่ 9 โดยสืบมาจากนิกายเซน เน้นวัตรปฏิบัติเน้นเรื่องการกินเจ การถือพรต[5]

ต่อมาหวัง เจฺว๋อี สาวกลัทธิเซียนเทียนเต้า ได้แยกออกไปตั้งสำนักใหม่ที่เมืองชิงโจวบ้านเกิดของตน ชื่อสำนักตงเจิ้น (จีน: 東震堂) ปี ค.ศ. 1877 หวัง เจว๋อีอ้างว่าได้รับอาณัติแห่งสวรรค์จากพระแม่องค์ธรรมแต่งตั้งให้เป็นธรรมาจารย์รุ่นที่ 15 เขาเน้นคำสอนของลัทธิขงจื๊อเป็นหลัก สำนักของหวังเริ่มเป็นที่แพร่หลาย ทำให้ทางการราชวงศ์ชิงระแวงว่าจะก่อกบฏ จึงดำเนินการปราบปรามสำนักนี้อย่างหนัก เมื่อหวัง เจว๋อี ถึงแก่กรรมแล้ว หลิว ชิงซฺวีศิษย์ของเขาได้ปกครองสำนักต่อแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการปราบปรามทางการ เขาจึงเปลี่ยนชื่อสำนักเป็นอีก้วนเต้า ในปี ค.ศ. 1882[6] (ในประเทศไทยเรียกว่าวิถีอนุตตรธรรม)

ตำแหน่งธรรมาจารย์ได้สืบทอดมาจนถึงสมัยของจาง เทียนหรัน ธรรมาจารย์รุ่นที่ 18 เขาได้ย้ายศูนย์กลางของลัทธิไปที่เมืองเทียนจินในปี ค.ศ. 1935 เมื่อญี่ปุ่นเข้ารุกรานจีน สาวกหลายคนของลัทธิได้เข้าสนับสนุนญี่ปุ่น จึงทำให้ลัทธินี้รุ่งเรืองมากขึ้นในพื้นที่ที่ญี่ปุ่นยึดครอง[7] กองทัพจีนของพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งร่วมกันต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น จึงปราบปรามลัทธิอนุตตรธรรมด้วย จางเปลี่ยนชื่อลัทธิกลับไปเป็น "เทียนเต้า" เมื่อปี ค.ศ. 1940 และได้ใช้ทั้งสองชื่อสืบมาจนปัจจุบัน[8] เมื่อเทียนหรันถึงแก่กรรมแล้วซุน ฮุ่ยหมิง ธรรมาจารย์รุ่นที่ 18 อีกคนหนึ่งก็ปกครองสำนักต่อมา แต่ลัทธิยังคงถูกปราบปรามอย่างหนักจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 ส่งผลให้ลัทธิอนุตตรธรรมหมดไปจากประเทศจีนโดยสิ้นเชิงในปลายทศวรรษนั้น[7] ลัทธิอนุตตรธรรมจึงต้องย้ายไปเผยแผ่ที่ประเทศไต้หวัน ต่อมาจึงแพร่หลายในชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศต่าง ๆ และประชาชนพื้นเมืองในประเทศนั้นจนปัจจุบัน

ความเชื่อ

สิ่งศักดิ์สิทธิสำคัญ

สิ่งศักดิ์สิทธิ์หลัก 5 องค์ผู้โปรดสามโลกตามความเชื่อของลัทธิอนุตตรธรรม

ลัทธิอนุตตรธรรมนับถือสิ่งศักดิ์หลายองค์โดยมีพระเป็นเจ้าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญตามความเชื่อของลัทธิอนุตตรธรรมได้แก่

ไตรรัตน์

ลัทธิอนุตตรธรรมเชื่อว่า อนุตตรธรรม คือ สิ่งวิเศษสุด 3 อย่าง เรียกว่า ไตรรัตน์ ซึ่งไม่ใช่พระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา แต่หมายถึง[9][10][11]

  • จุดญาณทวาร (จีน: 玄關竅) คือตำแหน่งเหนือดั้งจมูก ตรงกลางระหว่างคิ้ว โดยเชื่อว่าจุดนี้เป็นที่สถิตของวิญญาณ วิญญาณเข้ามาในร่างกายทางจุดนี้ และเมื่อตายก็จะออกจากร่างกายทางจุดนี้เช่นกัน ถือเป็นประตูสู่นิพพาน เมื่อเตี่ยนฉวนซือเปิดจุดนี้ในพิธีรับธรรมแล้วจะทำให้ผู้นั้นบรรลุธรรมได้ง่าย
  • สัจจคาถา (จีน: 口訣) มี 5 คำ คือ "อู๋ ไท่ ฝอ หมี เล่อ" (จีน: 無太佛彌勒) ถือเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เป็นความลับของสวรรค์ ห้ามจดบันทึก ห้ามนำไปบอกต่อ เมื่อเผชิญภัยอันตรายท่องคาถานี้แล้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยให้พ้นอันตรายและวิบากกรรมต่าง ๆ ได้
  • ลัญจกร (จีน: 合同) โดยเอาปลายนิ้วโป้งขวาจรดโคนนิ้วนางขวาค้างไว้ แล้วนำปลายนิ้วโป้งซ้ายมากดที่โคนนิ้วก้อยขวา จากนั้นโอบมือเข้าหากันโดยให้มือซ้ายทับขวา เป็นท่าห่อประสานมือให้มีลักษณะเหมือนรากบัว เชื่อว่าการประสานมือแบบนี้เป็นสัญลักษณ์การไหว้ยุคพระศรีอริยเมตไตรยหรือธรรมกาลยุคขาว

ไตรรัตน์ข้างต้นนี้จะเปิดเผยได้โดยผู้ที่ได้รับอาณัติสวรรค์จากพระแม่องค์ธรรมเท่านั้น และจะถ่ายทอดให้เฉพาะบุคคลที่รับอนุตตรธรรมในพิธีถ่ายทอดเบิกธรรม (จีน: 辦道禮節 ปั้นเต้าหลี่เจี๋ย) ซึ่งจะดำเนินพิธีเป็นความลับ ไม่เปิดเผยให้คนนอกรับรู้ ผู้ที่รู้แล้วจะห้ามนำไปเปิดเผยต่อ เพราะเชื่อว่าจะถูกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษ

พงศาธรรม

พระธรรมาจารย์ในพงศาธรรมของลัทธิอนุตตรธรรม มีด้วยกันทั้งหมด 64 รุ่น ซึ่งสอดคล้องกับอัฏฐลักษณ์ (ปากั้ว) ที่พระเจ้าฝูซีได้ทำกำหนดไว้ และพระเจ้าโจวเหวินได้ค้นพบ[12]

ผู้นับถืออนุตรธรรมเชื่อว่าวิถีอนุตตรธรรมสืบสายชีพจรธรรมมาจากสามศาสนาหลัก คือศาสนาพุทธ ศาสนาขงจื๊อ และศาสนาเต๋า มีการสืบสายบรรพจารย์ตั้งแต่พระอริยเจ้าฝูซี ท่านเสินหนง พระเจ้าเหยา พระเจ้าซุ่น เล่าจื๊อ ขงจื๊อ เม่งจื๊อ ตลอดจนพระมหากัสสปะ พระโพธิธรรม ฮุ่ยเหนิง ซึ่งเป็นสังฆปรินายกของนิกายเซน[13] อย่างไรก็ตามความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้สอดคล้องกับพระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนา[14]

ลัทธิอนุตตรธรรมได้แบ่งพงศาธรรมออกเป็นสามยุคตามความเชื่อที่มีมาตั้งแต่ลัทธิบัวขาว ดังนี้[15]

ธรรมกาลยุคเขียว ธรรมะถ่ายทอดสู่กษัตริย์ (พระทีปังกรพุทธเจ้าปกครองธรรมกาล)

ธรรมาจารย์ 18 รุ่น ก่อน พ.ศ. 2189 ปี กษัตริย์ 11 รุ่น เจ้าเมือง 7 รุ่น

สิ้นสุดการสืบทอดวิถีธรรมในแผ่นดินจีน ธรรมะแอบแฝงซ่อนเร้นในประเทศจีน เริ่มต้นยุคแดงในประเทศอินเดีย

ธรรมกาลยุคแดง ธรรมะถ่ายทอดสู่พระนักบวชและปัญญาชน (พระศากยมุนีพุทธเจ้าปกครองธรรมกาล)

ในอินเดีย 28 รุ่น ก่อน พ.ศ. 45 ปี ลัทธิอนุตตรธรรมนำแนวคิดนี้มาจากสายสังฆปริณายกในนิกายเซน[16] สังฆปริณายกนิกายเซนในอินเดียทั้ง 28 รุ่น มีดังนี้

สิ้นสุดการสืบทอดวิถีธรรมในประเทศอินเดีย การสืบทอดพงศาธรรมกลับสู่แผ่นดินจีนอีกครั้ง พระโพธิธรรม (ตั๊กม้อ) เดินทางสู่แผ่นดินจีนเพื่อสืบทอดพงศาธรรม

ธรรมกาลยุคแดง ตะวันตกตอนสอง ธรรมะถ่ายทอดสู่พระนักบวชและปัญญาชน (พระศากยมุนีพุทธเจ้าปกครองธรรมกาล)

ธรรมะกลับสู่แผ่นดินจีน 16 รุ่น พ.ศ. 1050 พระภิกษุ 6 รุ่น ฆราวาส 10 รุ่น ลัทธิอนุตตรธรรมผสมสายสังฆปริณายกของนิกายเซนในประเทศจีนกับสายธรรมาจารย์ของลัทธิเซียนเทียนเต้า ดังนี้

สิ้นสุดการสืบทอดธรรมะในยุคแดง เกณฑ์วาระแห่งธรรมได้เข้าสู่ธรรมกาลยุคขาว วิถีธรรมเริ่มต้นปรกโปรดอย่างกว้างขวาง

จาง เทียนหรัน จู่ซือรุ่นสุดท้ายในลัทธิอนุตตรธรรม

ธรรมกาลยุคขาว ธรรมะถ่ายทอดสู่สามัญชนทั่วไป (พระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้าปกครองธรรมกาล) ยุคขาว ตะวันออก สุดท้าย ทั่วโลก 2 รุ่น พ.ศ. 2473 เป็นต้นมา เป็นการปรกโปรด 3 โลกครั้งยิ่งใหญ่ 63. พระบรรพจารย์ลู่ จงอี 64. พระบรรพจารย์จาง เทียนหรัน และบรรพจารย์ซุน ฮุ่ยหมิง

  • พระธรรมาจารย์สมัยที่สิบแปดจาง เทียนหรัน ชาวมณฑลซานตง รับช่วงธรรมจักรวาลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1915 จนปี 1947
  • พระธรรมจารย์สมัยที่สิบแปดซุน ฮุ่ยหมิง (ซู่เจิน) ชาวซานตง ศึกษาธรรมคู่กับท่านจาง ขุยเซิน จนถึงปี 1975 ตราบสิ้นชีวิต ได้มีศิษย์เช่น เหล่าเฉียนเหริน เฉียนเหริน จนแพร่อนุตตรธรรมสมบูรณ์ ไปทั่วโลก
  • ที่สำคัญพระธรรมาจารย์นั้นสิ้นสุดลงเพียงรุ่นที่หกสิบสี่เพียงสองพระองค์เท่านั้น ไม่มีรุ่นที่หกสิบห้าหรือผู้รักษาการใด ๆ อีกต่อไป นับแต่พระธรรมจารย์ซุน ซู่เจิน สิ้นชีวิตลง งานธรรมกิจก็ดำเนินแยกไปตามแต่ละสายงานธรรมภายใต้การปกครองของท่านธรรมปริณายก เหล่าเฉียนเหริน เฉียนเหริน เตี่ยนฉวนซือ โดยไม่มีพระธรรมาจารย์อีกต่อไป แต่ได้มีคำทำนายไว้แล้วว่าภายหลังสิ้นพระธรรมจารย์ซุน ซู่เจิน แล้ว จะมีพระธรรมาจารย์ และพระบรรพจารย์ปลอมเกิดขึ้นอีกมากมาย[ต้องการอ้างอิง]

ความแตกต่างระหว่างพระพุทธศาสนากับลัทธิอนุตตรธรรม

แม้ว่าลัทธิอนุตตรธรรมจะนำหลักธรรมและความเชื่อหลายอย่างมาจากศาสนาพุทธ แต่ทั้งสองก็ยังมีความเชื่อต่างกันหลายประการ เช่น

ลัทธิอนุตตรธรรม ศาสนาพุทธ
"พระอนุตตรธรรมมารดา" หรือ "พระแม่องค์ธรรม" คือพระเป็นเจ้า[17] ไม่มีพระเจ้า พระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่และประเสริฐที่สุดในโลกทั้งปวง[18][19]
พระแม่องค์ธรรมเป็นผู้เปิดเผยธรรมะแก่ศาสดาทั้งหลาย[17] พระพุทธเจ้าตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง[20]
ธรรมกาลของพระศากยมุนีพุทธเจ้ามีอายุ 3,114 ปี และสิ้นสุดไปแล้วเมื่อเริ่มปีหมินกั๋ว (ค.ศ. 1912)[21] ศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้ามีอายุ 5,000 ปี[22]
ธรรมาจารย์ลู่ จงอี คือพระภาคหนึ่งของพระศรีอริยเมตไตรย[23] พระศรีอริยเมตไตรยตรัสรู้หลังศาสนาพุทธสิ้นสุด และขณะนั้นมนุษย์มีอายุขัย 80,000 ปี[24]
ปฏิบัติในวิถีอนุตตรธรรมเป็นบุญใหญ่กว่าและเป็นหนทางตรงเข้าถึงนิพพานได้ง่ายกว่าการเจริญสติปัฏฐาน 4[9] สติปัฏฐานเป็นทางเดียวเพื่อความดับทุกข์[25]
ผู้ที่รับวิถีอนุตตรธรรม จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบกรับหนี้กรรมให้ มีบุญกุศลส่งถึงบรรพบุรุษ 7 ชั่วรุ่น ถึงลูกหลานอีก 9 ชั่วรุ่น ให้พ้นทุกข์ได้[9] สัตวโลกล้วนมีกรรมเป็นของตน ทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น[26]
ผู้ปฏิบัติในวิถีอนุตตรธรรมควรกินเจ[27] พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้กินเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ 3 อย่าง[28] ส่วนนิกายมหายานเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้กล่าวว่าเนื้อสัตว์ทุกชนิดเป็นสิ่งที่ควรปฏิเสธ[29]
โอวาทและคำสอนของอนุตตรธรรมส่วนใหญ่มาจากการเข้าทรง[30] การเข้าทรงเป็นติรัจฉานวิชา[31]

อ้างอิง

  1. วิถีอนุตตรธรรม, เรียกข้อมูลวันที่ 23 เม.ย. 2556
  2. 2.0 2.1 "Taiwan Yearbook 2006". Government of Information Office. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กรกฎาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2007.
  3. 3.0 3.1 3.2 Unity Sect (Yiguan Dao) เก็บถาวร 5 มีนาคม 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Encyclopedia of Taiwan, เรียกข้อมูลวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556
  4. Tian Dao Hui 天道會 เก็บถาวร 19 เมษายน 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,
  5. Wang Chienchuan (บ.ก.). Prior Heaven School (ภาษาอังกฤษ). Encyclopedia of Taiwan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2013.
  6. I Kuan Dao เก็บถาวร 5 ตุลาคม 2013 ที่ archive.today, เรียกข้อมูลวันที่ 5 ตุลาคม 2013
  7. 7.0 7.1 Edward L. Davis, Yiguan Dao, Encyclopedia of contemporary Chinese culture, Routledge
  8. "ประวัติของวิถีอนุตตรธรรม". สังคมธรรมะออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 สิงหาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013.
  9. 9.0 9.1 9.2 เกษร สุทธจิต จันทร์ประภาพ, ธรรมประธานพร เล่ม ๕, เชียงใหม่: บี.เอส.ดี การพิมพ์, 2547, หน้า 185–191
  10. วิถีอนุตตรธรรม:รับธรรมะได้รับอะไร เก็บถาวร 20 มิถุนายน 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกข้อมูลวันที่ 4 มีนาคม 2013
  11. ความเป็นมาอนุตตรธรรม: บทที่ 2...สามสิ่งวิเศษ เก็บถาวร 5 เมษายน 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกข้อมูลวันที่ 4 มีนาคม 2013
  12. "ลำดับอนุกรมของเหวินหวัง". ชุมชนคนศึกษาอี้จิงแห่งประเทศไทย. 16 พฤษภาคม 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2013. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2015.
  13. พงศาธรรมทั้ง 64 รุ่น[ลิงก์เสีย]
  14. การสืบสายพระพุทธศาสนาตามพระไตรปิฎกปรากฏใน พุทธวงศ์ ขุททกนิกาย อปทาน สุตตันตปิฎก
  15. "Inspiration: The Organization and Ideology of White Lotus Sects" (PDF). Yale University Press. 1976. สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2013. หน้า 9–13
  16. สุมาลี มหาณรงค์ชัย, พุทธศาสนามหายาน, 2546, หน้า 309
  17. 17.0 17.1 ธรรมะคืออะไร[ลิงก์เสีย]. วิถีอนุตตรธรรม: สายทองแห่งธรรมมหาเทพจิ้นเต๋อต้าเซียน.
  18. ปัจเจกพุทธาปทานที่ ๒. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
  19. อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
  20. ธชัคคสูตร สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ 865
  21. สายทอง (พงศาธรรม ๑), ศุภนิมิต ผู้แปล, กรุงเทพฯ: ส่งเสริมคุณภาพชีวิต, ม.ป.ป., หน้า 30
  22. อรรถกถามหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์
  23. ประวัติพระบรรพจารย์[ลิงก์เสีย]
  24. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค จักกวัตติสูตร ท่อน ๔๘ ย่อหน้า ๔
  25. มหาสติปัฏฐานสูตร. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
  26. ฐานสูตร.พระไตรปิฎก เล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
  27. ลลิตา ธัญญาลาภสกุล (2015). อนุตตรธรรม : ขบวนการใหม่ทางศาสนาของไต้หวัน (PDF) (Report). สาขาวิชาเอเชียศึกษา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-11-28. สืบค้นเมื่อ 2022-11-28.
  28. พระวินัยปิฎก เล่มที่ 1 มหาวิภังค์ ภาคที่ 1 ช้อ 591
  29. ลังกาวตารสูตร ภาคภาษาไทย แปลโดยพุทธทาสภิกขุ
  30. โอวาทและคำสอนของอนุตตรธรรมส่วนใหญ่มาจากการเข้าทรง
  31. พรหมชาลสูตร, พระไตรปิฎก เล่มที่ 9 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 1 ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค