อาณัติแห่งสวรรค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผังงานย่อที่อธิบายถึงการถ่ายโอนอาณัติแห่งสวรรค์ในการเปลี่ยนแปลงของวงจรราชวงศ์

อาณัติแห่งสวรรค์[1] (จีน: 天命; พินอิน: tiānmìng; อังกฤษ: mandate of heaven) คือความชอบธรรมที่สวรรค์มอบให้แก่มนุษย์คนหนึ่ง ให้มีอำนาจในการปกครองประชาชน มีลักษณะใกล้เคียงกับแนวคิดเทวสิทธิราชย์ในปรัชญาการเมืองตะวันตก

ประวัติ[แก้]

ปลายราชวงศ์ซาง พระเจ้าโจ้วไม่ปกครองแผ่นดินอย่างสุจริต ทรงใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ผู้นำชนเผ่าโจวจึงร่วมกับผู้นำเผ่าอื่น ๆ โค่นล้มราชวงศ์ซางลง จีฟาหัวหน้าเผ่าโจวจึงก่อตั้งราชวงศ์ขึ้น สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าโจวอู่ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โจว แต่เนื่องจากพระเจ้าโจวอู่มาจากต่างเผ่า ทำให้ประชาชนในภาคกลางไม่ยอมรับความชอบธรรมของพระองค์

พระเจ้าโจวอู่ต้องการยืนยันความชอบธรรมในการปกครองแผ่นดิน จึงได้บัญญัติศัพท์ชุดหนึ่ง คือ “อาณัติแห่งสวรรค์” และ “โอรสแห่งสวรรค์” อาณัติแห่งสวรรค์ หมายถึงการที่สวรรค์ได้มอบหมายให้บุคคลหนึ่งมีสิทธิอำนาจในการปกครองแผ่นดิน ผู้ได้รับอาณัติสวรรค์ จึงมีสถานะเป็น “โอรสแห่งสวรรค์” เป็นสื่อกลางระหว่างสวรรค์กับประชาชนบนแผ่นดินโลก ผู้ที่จะได้รับอาณัตสวรรค์จะต้องมีคุณธรรม ปกครองราษฎรให้เป็นสุข[2]

แนวคิดนี้เป็นที่ยอมรับอย่างมากในหมู่ประชาชน แม้สิ้นราชวงศ์โจวไปแล้ว พระมหากษัตริย์และจักรพรรดิจีนสมัยหลัง ๆ ยังคงอ้างความชอบธรรมจากอาณัติสวรรค์นี้สืบมา

การใช้[แก้]

การเมือง[แก้]

ลักษณะสำคัญของอาณัติสวรรค์อยู่ที่ผู้ได้รับจะต้องมีคุณธรรม เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน และสามารถปกครองแผ่นดินให้เป็นสุข ผู้มีอาณัติสวรรค์อาจเป็นชายหรือหญิงก็ได้ อาจเป็นชาวต่างชาติ เป็นเด็ก คนสูงอายุ มาจากชนชั้นสูงหรือชนชั้นล่างก็ได้ เมื่อได้รับอาณัติสวรรค์แล้วย่อมเป็นที่ยอมรับนับถือและเชื่อฟังจากผู้อยู่ใต้การปกครอง

ชนชั้นล่างอย่างชาวนาที่อ้างการได้รับอาณัติสวรรค์จนสามารถปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิได้ เช่น จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์ฮั่น จักรพรรดิหมิงไท่จู่ ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หมิง เป็นต้น ชาวต่างชาติอย่างชาวมองโกลและชาวแมนจู แม้จะถูกชาวฮั่นมองว่าเป็นชนป่าเถื่อน แต่เมื่อชนเหล่านี้พิชิตจักรวรรดิจีนได้ ก็สามารถใช้อ้างอาณัติสวรรค์จนปกครองจักรวรรดิจีนได้เป็นเวลาหลายร้อยปี

นอกจากนี้ยังมีสตรีอ้างอาณัติสวรรค์ด้วย คือ จักรพรรดินีบูเช็กเทียน เดิมเป็นพระสนมในจักรพรรดิถังไท่จง ต่อมาขึ้นเป็นพระสนมเอกในจักรพรรดิถังเกาจง ได้ว่าราชการหลังม่าน จนที่สุดปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์แรก และพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีน

ศาสนา[แก้]

นอกจากทางการเมืองแล้ว ทฤษฎีอาณัติสวรรค์ยังถูกใช้เพื่อเสริมสร้างความชอบธรรมในการเป็นผู้นำของบางศาสนาในประเทศจีนด้วย

ลัทธิอนุตตรธรรมเชื่อว่า “อาณัติสวรรค์” คือ อำนาจหน้าที่ที่พระแม่องค์ธรรมประทานแก่มนุษย์บางคน เพื่อให้ผู้นั้นมีสามารถถ่ายทอดเต๋าซึ่งเป็นวิถีนำพาเวไนยสัตว์กลับสู่สวรรค์เดิมได้ ในช่วงแรกผู้ได้รับอาณัติสวรรค์มีเพียงคนเดียว ได้รับยกย่องเป็น “ธรรมาจารย์” ของสำนัก และต้องอุทิศตนแบกรับกรรมแทนสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ตนเองปกครอง[3]

เมื่อถึงยุคของหลิว ชิงซวี พระธรรมาจารย์รุ่นที่ 16 เขาได้ตั้งตำแหน่งเตี่ยนฉวนซือขึ้น โดยถือว่าเป็นผู้มีอาณัติสวรรค์ สามารถถ่ายทอดเต๋าแทนพระธรรมาจารย์ได้[4] การตั้งเตี่ยนฉวนซือดำเนินมาจนถึงพระธรรมาจารย์รุ่นที่ 18 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้าย พระธรรมาจารย์ได้ตั้งเตี่ยนฉวนซืออาวุโสบางคนเป็น “เหล่าเฉียนเหริน” เพื่อให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นเตี่ยนฉวนซือแทนธรรมาจารย์ได้ และเหล่าเฉียนเหรินยังตั้งตำแหน่ง “เฉียนเหริน” ขึ้น ให้ทำหน้าที่ตั้งเตี่ยนฉวนซือแทนเหล่าเฉียนเหรินได้ด้วย ทำให้ปัจจุบันมีเตี่ยนฉวนซือหลายคนในลัทธิอนุตตรธรรม

ลัทธิอนุตตรธรรมเชื่อว่าทั้งธรรมาจารย์ เหล่าเฉียนเหริน เฉียนเหริน และเตี่ยนฉวนซือ เป็นผู้ได้รับอาณัติสวรรค์จากพระแม่องค์ธรรม ทำให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ มีวาจาสิทธิ์ มีอำนาจหน้าที่ถ่ายทอดเต๋า แบกรับหนี้กรรมแทนเวไนยสัตว์ในปกครองของตนได้

อ้างอิง[แก้]

  1. ศัพท์รัฐศาสตร์ เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ราชบัณฑิตยสถาน
  2. "Mandate of Heaven". International Specialist Eye Centre. สืบค้นเมื่อ 8 May 2013.
  3. "ประจักษ์พระโองการ". วิถีอนุตตรธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-22. สืบค้นเมื่อ 30 April 2013.
  4. สายทอง 3, ศุภนิมิต แปลและเรียบเรียง, กรุงเทพฯ: ส่งเสริมคุณภาพชีวิต, ม.ป.ป., หน้า 55