ข้ามไปเนื้อหา

นาคารชุนะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระนาคารชุนะ)
พระนาคารชุนะ
รูปปั้นของพระนาคารชุนะ ในวัดพุทธแบบทิเบตแห่งหนี่งในสหราชอาณาจักร

นาคารชุนะ (नागार्जुन; ละติน: Nāgārjuna; เตลูกู: నాగార్జునా; จีน: 龍樹; มีชีวิตในช่วงประมาณ พ.ศ. 700 - 800) เป็นนักพุทธปรัชญาชาวอินเดียที่มีอิทธิพลสูงสุดรองจากพระโคตมพุทธเจ้า ท่านก่อตั้งสำนักมัธยมกะ ซึ่งเป็นนิกายในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน เป็นที่ศรัทธาและกล่าวถึงในหมู่นักศึกษาพุทธศาสนาชาวยุโรปมาโดยตลอด ที่มีผลงานโดดเด่นในด้านภววิทยาและตรรกศาสตร์ ผลงานสำคัญของท่านคือคัมภีร์มูลมัธยมกการิกา อันเป็นพื้นฐานสำคัญของแนวคิดศูนยวาท ประกอบด้วยการิกา 400 การิกา ใน 27 ปริเฉท หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องตลอดมา ศาสนิกชนมหายานทุกนิกายยกย่องท่านในฐานะคุรุผู้ยิ่งใหญ่เสมอ อย่างไรก็ตาม ประวัติของท่านกลับไม่ชัดเจนเท่าที่ควร

ประวัติ

[แก้]

ตามประวัติที่แปลเป็นภาษาจีนโดยพระกุมารชีวะเมื่อประมาณ ค.ศ. 405 ได้กล่าวว่า พระนาคารชุนะเป็นชาวอินเดียใต้ เกิดในสกุลพราหมณ์ แต่ข้อมูลที่บันทึกโดยพระถังซำจั๋งระบุว่า ท่านเกิดในแคว้นโกศลภาคใต้, ท่านเป็นพระสหายที่มีอายุไล่เลี่ยกับพระเจ้ายัชญศรีเคาตมีบุตร (ค.ศ. 166-196) ประวัติในตอนต้นไม่แน่ชัด หลักฐานของทิเบตกล่าวว่าท่านออกบวชตั้งแต่วัยเด็กเนื่องจากมีผู้ทำนายว่าจะอายุสั้น บ้างก็ว่าในวัยเด็กมารดาของท่านได้รับคำทำนายว่าท่านนาคารชุนะจะไม่อาจมีบุตร ทางแก้คือต้องจัดพิธีเลี้ยงพราหมณ์ 100 คน ครอบครัวของท่านจึงต้องจัดพิธีดังกล่าว แต่หลังจากนั้นพราหมณ์ก็ยังทำนายว่าต้องจัดพิธีเช่นนี้อีกเนื่องจากยังไม่สิ้นเคราะห์ กระทั่งหลังจากที่มารดาทำพิธีเลี้ยงพราหมณ์เป็นครั้งที่สาม มารดาจึงตัดสินใจให้ท่านออกบวชขณะอายุยังไม่ครบ 7 ปี และให้ท่านออกจาริกแสวงบุญเพื่อแสวงหาผู้ที่สามารถช่วยชีวิตท่านให้รอดพ้นจากความตาย ท่านจาริกมาจนถึงนาลันทา ท่านได้พบกับท่านราหุลภัทระและได้รับการศึกษาที่นั่น

แต่อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่าท่านออกบวชในวัยหนุ่ม เหตุเนื่องจากท่านกับสหายใช้เวทมนตร์ลักลอบเข้าไปในพระราชวังและถูกจับได้ สหายท่านถูกจับประหารชีวิต เนื่องจากตัวท่านอธิษฐานว่าหากรอดพ้นจากการจับกุมในครั้งนี้จะออกบวชในพระพุทธศาสนา หลังจากอุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระไตรปิฎกเจนจบภายใน 90 วัน มีความรอบรู้ในไตรเพทและศิลปศาสตร์นานาชนิด ประวัติท่านปรากฏเป็นตำนานเชิงอภินิหารในพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ จนยากจะหาข้อสรุป ตำนานเล่าว่าท่านได้ลงไปยังเมืองบาดาลเพื่ออัญเชิญคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาขึ้นมาจากนาคมนเทียร และเป็นผู้เปิดกรุพระธรรมเร้นลับของมนตรยานซึ่งพระวัชรสัตว์บรรจุใส่สถูปเหล็กไว้ ได้มีการอ้างว่าท่านพำนักอยู่ในสถานที่หลายแห่งของอินเดีย เช่น ศรีบรรพตในอินเดียภาคใต้ ในคัมภีร์ทิเบตกล่าวว่าท่านใช้เวลาช่วงหนึ่งอยู่ที่นาลันทาด้วย

สำหรับนามว่า "นาคารชุนะ" นั้น มีที่มาจากคำว่า นาคะ กับ อรชุนะ โดยที่อรชุนเป็นชื่อของต้นไม้ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่กำเนิดของท่าน บ้างก็อธิบายต่างไปว่า นาคะหมายถึงปัญญาญาณ แสดงถึงสมรรถภาพทางสติปัญญาของผู้ที่สามารถเอาชนะกิเลสาสวะลงได้ ดังนั้นชื่อของพระนาคารชุนะจึงอาจเป็นชื่อจริงหรือนามฉายาที่มีบุคคลยกย่องขึ้นในภายหลังก็ได้ และมีข้อสันนิษฐานมากมายเกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่า นักปราชญ์ที่มีนามว่านาคารชุนะนั้น อาจมีอยู่หลายคน ทำให้บุคคลในชั้นหลังเกิดความสับสนและเข้าใจผิดว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน ทำให้มีตำนานเรื่องราวปรากฏต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม ในทางปรัชญาย่อมถือเอาคุรุนาคารชุนะผู้รจนาคัมภีร์มาธยมิกศาสตร์เป็นสำคัญ

งานเขียนของนาคารชุนะนั้น ถือเป็นพื้นฐานการกำเนิดสำนักมัธยมกะ ซึ่งมีการถ่ายทอดไปยังจีน โดยเรียกว่า สำนักสามคัมภีร์ (ซานลุ่น: 三論) ท่านได้รับการยกย่องนับถือในฐานะผู้สถาปนาแนวคิดปรัชญาปารมิตา และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยนาลันทา คัมภีร์สำคัญของท่านนาคารชุนะที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันได้แก่ มูลมัธยมกการิกา (มาธยมิกศาสตร์), ศูนยตาสัปตติ, ยุกติษัษฏิกา, วิครหวยาวรตนี, สุหฤลเลขะ, รัตนาวลี, ไวทัลยปรกรณะ ซึ่งล้วนเป็นการอรรถาธิบายพุทธพจน์ด้วยตรรกวิทยาอันเฉียบคม และหลักปรัชญาศูนยตวาท นอกจากนี้ยังมีงานเขียนอีกจำนวนมากที่อ้างว่าเป็นผลงานของท่านเพื่อให้งานนั้น ๆ มีความน่าเชื่อถือ ผลงานหลายเล่มยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นผลงานที่แท้จริงของท่านหรือไม่.

แนวคิดทางปรัชญา

[แก้]
ทังการูปพระนาคารชุนะและ 84 มหาสิทธาจารย์ในศาสนาพุทธวัชรยาน ศิลปะทิเบต

พระนาคารชุนะอธิบายหลักพุทธพจน์บนพื้นฐานของปรัชญาศูนยตวาท ซึ่งกล่าวไว้อย่างชัดเจนในงานเขียนของท่านคือ "มาธยมิกศาสตร์" คำว่ามาธยมิกะหมายถึงทางสายกลาง เพราะฉะนั้นแนวคิดของมาธยมิกะก็คือปรัชญาสายกลางระหว่างสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่ามีอยู่อย่างเที่ยงแท้) และอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญ) ตามที่พุทธปรัชญาอธิบายว่าสรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกันเกิดขึ้น ไม่มีสิ่งใดมีสวภาวะที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง จึงเรียกว่าสูญยตา ทว่าก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นความว่างเปล่าหรือขาดสูญแบบอุจเฉททิฏฐิ หากหมายถึง ไม่มีสาระในตัวเอง แต่เป็นเพราะเหตุปัจจัยอิงอาศัยกันเกิดขึ้นแบบปัจจยาการ สรรพสิ่งในโลกจึงล้วนเป็นความสัมพันธ์ เช่นความสั้นและความยาวเกิดขึ้นเพราะมีการเปรียบเทียบกับอีกสิ่งหนึ่งเสมอ เพราะฉะนั้นสาระอันแท้จริงของความสั้นและความยาวจึงไม่มี จึงเป็นศูนยตา และทุกสิ่งโดยสภาพปรมัตถ์แล้วล้วนเป็นศูนยตา ปราศจากแก่นสารให้ยึดมั่นถือมั่นได้ แนวคิดของมาธยมิกะเป็นพัฒนาการทางตรรกวิทยาอันสุขุมลุ่มลึกของมหายาน เพื่อใช้เหตุผลทางตรรกะคัดค้านความเชื่อในความมีอยู่ของอัตตา รวมทั้งปรมาตมัน ซึ่งพราหมณ์และลัทธินอกพระพุทธศาสนาอื่น ๆ เชื่อถือว่า เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่โดยตัวเอง ไม่อิงอาศัยสิ่งใด และเป็นแก่นสารของสรรพสิ่ง แต่หลักปรัชญาของพระพุทธศาสนาย่อมสอนให้เข้าถึงความดับรอบโดยแท้จริง แม้ทั้งตัวผู้รู้และสิ่งที่รู้ย่อมดับทั้งสิ้น กล่าวคือโดยปรมัตถ์แล้วทั้งพระนิพพานและผู้บรรลุนิพพานย่อมเป็นศูนย์นั่นเอง เพราะเมื่อธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เกิดจากเหตุปัจจัยจึงปราศจากตัวตน เมื่อปราศจากแก่นสารตัวตน แล้วอะไรเล่าที่เป็นผู้ดับกิเลสและบรรลุพระนิพพาน เราจะเห็นได้ว่าว่างเปล่าทั้งสิ้น ไม่มีสัตว์บุคคลมาตั้งแต่แรก เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาเท่านั้น สังสารวัฏล้วนเป็นมายา โดยแท้แล้วหาได้มีสภาวะใดเกิดขึ้นหรือดับไป เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่าตัวตนผู้บรรลุนิพพานไม่มีเสียแล้ว พระนิพพานอันผู้นั้นจะบรรลุจึงพลอยไม่มีไปด้วย

ตัวอย่างในเรื่องนี้ปรัชญามาธยมิกได้ใช้อุปมาว่า เปรียบเหมือนมายาบุรุษคนหนึ่งประหารมายาบุรุษอีกคนหนึ่ง การประหารของมายาบุรุษทั้งสองย่อมเป็นมายาไปด้วยฉันใด ทั้งผู้บรรลุนิพพานและสภาวะแห่งนิพพานย่อมเป็นศูนย์ไปด้วยฉันนั้น หรือเปรียบกิ่งฟ้าซึ่งไม่มีอยู่จริง สิ่งที่แขวนอยู่บนกิ่งฟ้าก็ย่อมจะมีไม่ได้ แล้วเช่นนี้จะมีอะไรอีกสำหรับปัญหาการบรรลุและไม่บรรลุ กล่าวให้ชัดขึ้นอีกคือ เมื่อตัวตน อัตตา อาตมัน เป็นสิ่งว่างเปล่าไม่มีแก่นสารอยู่จริง เป็นสักแต่คำพูด เป็นสมมติโวหารเท่านั้นแล้ว การประหารกิเลสของสิ่งที่ไม่มีจริงนั้นจะเป็นจริงได้อย่างไร อนึ่ง อุปมาว่ามายาบุรุษผู้ถูกประหารอันเปรียบด้วยกิเลสทั้งหลาย ก็ไม่มีอยู่จริงเช่นนี้แล้ว ถ้าเกิดความเข้าใจผิดว่า มีสิ่งอันตนประหาร หรือมีสิ่งอันตนได้บรรลุถึง (มรรค ผล นิพพาน) แล้วไซร้ จะหลีกเลี่ยงส่วนสุดทั้งสองข้าง (เที่ยงแท้-ขาดสูญ) ได้อย่างไร มาธยมิกะแสดงหลักว่าทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรมมีสภาพเท่ากันคือเป็นสูญยตา เพราะการมีอยู่แห่งสังขตะจึงมีอสังขตะ หากสังขตธรรมเป็นมายาหามีอยู่จริงไม่โดยปรมัตถ์แล้ว อสังขตธรรมอันเป็นคู่ตรงข้ามก็ย่อมไม่มีไปด้วย อุปมาดั่งดอกฟ้ากับเขากระต่าย หรือนางหินมีครรภ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีในโลก เช่นนั้นแล้วบุตรอันเกิดจากนางหินมีครรภ์จะมีอย่างไรได้ แม้แต่ความสูญเองก็เป็นมายาด้วยเช่นกัน แต่กระนั้น ปรัชญาศูนยวาทก็ยังยืนยันในเรื่องนิพพานและบุญบาปว่าเป็นสิ่งมีอยู่ เพียงแต่คัดค้านสิ่งที่ดำรงอยู่ด้วยตัวของมันเองเท่านั้น เพราะสรรพสิ่งเป็นศูนยตานั่นเอง คนทำกรรมดีย่อมได้ดี ทำกรรมชั่วย่อมได้ชั่ว ปุถุชนจึงบรรลุเป็นพระอริยะได้ หาไม่หากสรรพสิ่งเที่ยงแท้อยู่โดยตัวของมันเองแล้วย่อมไม่แปรผัน เมื่อนั้นมรรคผลนิพพานก็จะมีไม่ได้ด้วย

อ้างอิง

[แก้]
  • ภรัต ซิงห์ อุปัธยายะ.นักปราชญ์พุทธ.กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2542.
  • สุชิน ทองหยวก.ปรัชญามาธยมิก.กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2509.
  • เสถียร โพธินันทะ.ปรัชญามหายาน.กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2541.
  • ________.วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2540.
  • Kalupahana David J. Nagarjuna:The Philosophy of the Middle Way. State University of New York Press, 1986.