ข้ามไปเนื้อหา

คุยหลัทธิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คุยหลัทธิ[ก] (อังกฤษ: Esotericism/Esoterism) หมายถึง แนวคิดหรือความรู้แบบหนึ่งที่ถูกสงวนไว้ให้รับรู้หรือเปิดเผยได้กับคนเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิกหรือผู้สนใจเป็นพิเศษ

ขบวนการทางศาสนาที่มีแนวคิดแบบคุยหลัทธิ เช่น ลัทธิการเล่นแร่แปรธาตุ โหราศาสตร์ ไญยนิยม วัชรยาน ไสยศาสตร์ ลัทธิเซียนเทียนเต้า ลัทธิอนุตตรธรรม เจตนิยม เป็นต้น

ศัพทมูล

[แก้]

คำว่า คุยฺห ในภาษาบาลี และคำว่า ἐσωτερικός (เอโซเตริกอส) ในภาษากรีก แปลว่า เรื่องภายใน ลี้ลับ เชิงรหัสยะ ส่วนตัว ดังนั้น คุยหลัทธิ หรือ Esotericism จึงหมายถึง การยึดถือความเชื่อลี้ลับ ที่เปิดเผยเฉพาะในกลุ่มของตน

ศาสนาพุทธ

[แก้]

ศาสนาพุทธลัทธิคุยหยาน[1] (อังกฤษ: Esoteric Buddhism) หรือวัชรยาน แต่เดิมเป็นแนวการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งในนิกายมหายาน จนพุทธศตวรรษที่ 10 จึงแยกตัวออกมาเป็นนิกายใหม่ แต่ยังคงพื้นฐานแนวคิดแบบมหายานไว้ การเรียกว่าคุยหยาน ก็ด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ

  1. เป็นความลับที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ แต่มิได้เปิดเผยแก่สาวกทั่วไป ทรงถ่ายทอดเฉพาะแก่คนที่มีสติปัญญาแก่กล้า
  2. ถ้อยคำต่าง ๆ ในโลกเป็นวจนะของพระไวโรจนพุทธะ แต่สัตวโลกมีอวิชชาจึงไม่เข้าใจธรรมชาตินั้น จึงกลายเป็นความลับ
  3. พระพุทธวจนะมีเนื้อความละเอียดลึกซึ้ง ยึดตามตัวอักษรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาด้วยปัญญา
  4. การบรรลุธรรมจะอาศัยกำลังของตนไม่พอ ต้องพึ่งพาอำนาจของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ด้วย

เชิงอรรถ

[แก้]

บัญญัติโดยเทียบจากพจนานุกรมภาษาสันสกฤต Esoteric แปลว่า คุยฺห (บาลี: guyha) / คูฑ (สันสกฤต: gūḍa)[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. เสถียร โพธินันทะ, ปรัชญามหายาน, พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 172-200
  2. Monier Monier-Williams, A Dictionary English and Sanskrit, Delhi: Motilal Banarsidass, 237 p.

ดูเพิ่ม

[แก้]