ข้ามไปเนื้อหา

เตี่ยนฉวนซือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เตี่ยนฉวนซือ (จีน: 點傳師) บางตำราแปลว่าอาจารย์ถ่ายทอดเบิกธรรม[1] เป็นตำแหน่งอาจารย์อาวุโสในลัทธิอนุตตรธรรม

ประวัติ

ลัทธิอนุตตรธรรมเชื่อว่าเต๋า (ธรรมะ) เป็นสัจภาวะสูงสุดและเป็นวิถีทางที่พระเป็นเจ้าคือพระแม่องค์ธรรมได้เปิดเผยแก่มนุษย์ผ่านทางหมิงซือ (จีน: 明師) หมิงซือจึงมีอาณัติแห่งสวรรค์ สามารถถ่ายทอดเต๋าแก่บุคคลต่าง ๆ ได้ เมื่อถึงยุคของหลิว ชิงซฺวี จู่ซือรุ่นที่ 16 ของลัทธิอนุตตรธรรม เขาได้ตั้งตำแหน่งเตี่ยนฉวนซือขึ้น โดยถือว่าเป็นผู้มีอาณัติสวรรค์ สามารถถ่ายทอดเต๋าแทนจู่ซือได้[2] การตั้งเตี่ยนฉวนซือดำเนินมาจนถึงสมัยจู่ซือรุ่นที่ 18 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้าย ได้มีการตั้งเตี่ยนฉวนซืออาวุโสบางคนเป็น “เหล่าเฉียนเหริน” เพื่อให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นเตี่ยนฉวนซือได้เช่นเดียวกับจู่ซือ และต่อมาเหล่าเฉียนเหรินยังตั้งตำแหน่ง “เฉียนเหริน” ขึ้น ให้ทำหน้าที่ตั้งเตี่ยนฉวนซือได้เช่นเดียวกับเหล่าเฉียนเหรินด้วย ทำให้ปัจจุบันมีเตี่ยนฉวนซือจำนวนมากในลัทธิอนุตตรธรรม

หน้าที่

เตี่ยนฉวนซือมีหน้าที่หลักคือการถ่ายทอดไตรรัตน์ (จีน: 三宝 ซันเป่า) ให้แก่เวไนยสัตว์ในพิธีถ่ายทอดเบิกธรรม (จีน: 辦道禮節 ปั้นเต้าหลี่เจี๋ย) โดยการเปิดจุดญาณทวาร บอกสัจจคาถา และสอนการประสานมือเป็นลัญจกร การดำเนินพิธีนี้จะเป็นความลับ ไม่เปิดเผยให้คนนอกรับรู้ ผู้ที่รู้แล้วจะห้ามนำไปเปิดเผยต่อ เพราะเชื่อว่าจะถูกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษ ไตรรัตน์ ได้แก่[3][4][5]

  • จุดญาณทวาร (จีน: 玄關竅) คือตำแหน่งเหนือดั้งจมูก ตรงกลางระหว่างคิ้ว โดยเชื่อว่าจุดนี้เป็นที่สถิตของวิญญาณ วิญญาณเข้ามาในร่างกายทางจุดนี้ และเมื่อตายก็จะออกจากร่างกายทางจุดนี้เช่นกัน ถือเป็นประตูสู่นิพพาน เมื่อเตี่ยนฉวนซือเปิดจุดนี้ในพิธีรับธรรมแล้วจะทำให้ผู้นั้นบรรลุธรรมได้ง่าย
  • สัจจคาถา (จีน: 口訣) มี 5 คำ คือ "อู๋ ไท่ ฝอ หมี เล่อ" (จีน: 無太佛彌勒) ถือเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เป็นความลับของสวรรค์ ห้ามจดบันทึก ห้ามนำไปบอกต่อ เมื่อเผชิญภัยอันตรายท่องคาถานี้แล้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยให้พ้นอันตรายและวิบากกรรมต่าง ๆ ได้
  • ลัญจกร (จีน: 合同) โดยเอาปลายนิ้วโป้งขวาจรดโคนนิ้วนางขวาค้างไว้ แล้วนำปลายนิ้วโป้งซ้ายมากดที่โคนนิ้วก้อยขวา จากนั้นโอบมือเข้าหากันโดยให้มือซ้ายทับขวา เป็นท่าห่อประสานมือให้มีลักษณะเหมือนรากบัว เชื่อว่าการประสานมือแบบนี้เป็นสัญลักษณ์การไหว้ยุคพระศรีอริยเมตไตรยหรือธรรมกาลยุคขาว

ลัทธิอนุตตรธรรมเชื่อว่าตี่ยนฉวนซือ เป็นผู้ได้รับอาณัติสวรรค์จากพระแม่องค์ธรรม ทำให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ มีวาจาสิทธิ์ มีอำนาจหน้าที่ถ่ายทอดเต๋า แบกรับหนี้กรรมแทนเวไนยสัตว์ในปกครองของตนได้[6]

ตำแหน่งพิเศษ

  • เหล่าเฉียนเหริน (จีน: 老前人) หมายถึง เตี่ยนฉวนซือ ที่จู่ซือแต่งตั้งขึ้น ให้เป็นผู้นำแต่ละสาย มีอำนาจแต่งตั้งเฉียนเหรินได้ เหล่าเฉียนเหรินที่สำคัญ เช่น หัน เอินหรง ผู้นำสายฟาอี หวัง ห่าวเต๋อ ผู้นำสายหมีเล่อต้าเต้า จาง เผยเฉิง ผู้นำสายจีฉู่ เป็นต้น
  • เฉียนเหริน (จีน: 前人) หมายถึง เตี่ยนฉวนซือ ที่เหล่าเฉียนเหรินแต่งตั้งให้เป็นผู้นำสายย่อย สามารถแต่งตั้งเตี่ยนฉวนซือได้ เช่น เฉิน หงเจิน ผู้นำสายฟาอีฉงเต๋อ เป็นต้น
  • เหล่าเตี่ยนฉวนซือ (จีน: 老點傳師) หมายถึง เตี่ยนฉวนซืออาวุโส ที่ได้รับมอบหมายให้ปกครองสายธรรมแทนเฉียนเหรินซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว

อ้างอิง

  1. พุทธระเบียบพิธีการอนุตตรธรรม, นครปฐม : เทิดคุณธรรม, ม.ป.ป., หน้า 4
  2. สายทอง 3, ศุภนิมิต แปลและเรียบเรียง, กรุงเทพฯ: ส่งเสริมคุณภาพชีวิต, ม.ป.ป., หน้า 55
  3. เกษร สุทธจิต จันทร์ประภาพ, ธรรมประธานพร เล่ม ๕, เชียงใหม่: บี.เอส.ดี การพิมพ์, 2547, หน้า 185-191
  4. วิถีอนุตตรธรรม:รับธรรมะได้รับอะไร เก็บถาวร 2012-06-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกข้อมูลวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556
  5. ความเป็นมาอนุตตรธรรม: บทที่ 2...สามสิ่งวิเศษ เก็บถาวร 2012-04-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกข้อมูลวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556
  6. "ประจักษ์พระโองการ". วิถีอนุตตรธรรม. ม.ป.ป. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-22. สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)