จาง เทียนหรัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จาง เทียนหรัน
เกิด8 สิงหาคม ค.ศ. 1889(1889-08-08)
จี่หนิง มณฑลซานตง ราชวงศ์ชิง
เสียชีวิตกันยายน 29, 1947(1947-09-29) (58 ปี)
เฉิงตู มณฑลเสฉวน
สัญชาติชาวฮั่น
ยุคสมัยสาธารณรัฐ
ตำแหน่งจู่ซือลัทธิอนุตตรธรรม
คู่สมรสนางจู
นางหลิว
และนางซุน ฮุ่ยหมิง
บิดามารดา
  • จาง อฺวี้สี่ (บิดา)
  • นางเฉียว (มารดา)

จาง เทียนหรัน (จีน: 張天然) เป็นจู่ซือรุ่นที่ 18 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายของลัทธิอนุตตรธรรม ผู้ปฏิรูปโครงสร้างองค์กรและจารีตพิธีกรรมของลัทธิ ซึ่งยังใช้อยู่จวบจนปัจจุบัน จึงถือไว้ว่าเขาเป็นศาสดาของลัทธิอนุตตรธรรมสมัยใหม่[1]

ประวัติ[แก้]

จาง เทียนหรัน มีนามเดิมว่าจาง ขุยเซิง เกิดวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1889 ที่เมืองจี่หนิง มณฑลซานตง ประเทศจีนสมัยราชวงศ์ชิง เมื่ออายุได้ 19 ปี เขาได้แต่งงานกับสตรีแซ่จู มีธิดาด้วยกัน 1 คน นางจูเสียชีวิตในปีต่อมา จางจึงแต่งงานใหม่กับสตรีแซ่หลิว และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อจาง อิงอวี้ เมื่ออายุได้ 22 ปี จาง ชุยเซิงได้เข้ารับราชการเป็นทหารที่เมืองหนานจิงและเซี่ยงไฮ้เป็นเวลาหลายปี จนเมื่อทราบข่าวว่าบิดาล้มป่วยจึงลาออกจากกองทัพ เพื่อกลับมาดูแลกิจการของครอบครัว[2]

ในปี ค.ศ. 1915 จางได้พบอาจารย์เกิ่ง ศิษย์อาจารย์ลู่ จงอี จู่ซือของลัทธิอนุตตรธรรม ด้วยความเลื่อมใส จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ ได้รับนามทางธรรมว่าเทียนหรัน และติดตามช่วยเหลืออาจารย์เกิ่งเผยแผ่ลัทธิ เมื่ออาจารย์เกิ่งเสียชีวิตในปี ค.ศ.1920 จางจึงย้ายไปติดตามรับใช้อาจารย์ลู่แทน จางเผยแผ่ลัทธิอนุตตรธรรมจนแพร่หลาย และกลายเป็น 1 ใน 7 ศิษย์อาวุโสของอาจารย์ลู่ในเวลาต่อมา

เมื่ออาจารย์ลู่ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1925 ได้เกิดความแตกแยกขึ้นภายในลัทธิเพราะศิษย์อาวุโสแต่ละคนต่างตั้งตนเป็นใหญ่เป็นอิสระต่อกัน ต่อมาลู่ จงเจี๋ย น้องสาวของอาจารย์ลู่อ้างว่าพระแม่องค์ธรรมได้มาประทับทรงประทานอาณัติสวรรค์แต่งตั้งให้ตนเป็นผู้รักษาการจู่ซือไป 12 ปี แต่มีเพียงจางคนเดียวที่ยอมรับ หลังจากรักษาการได้ 6 ปี ถึงปี ค.ศ. 1930 จงเจี๋ยจึงประกาศว่าพระแม่องค์ธรรมให้จาง ขุยเซิงและซุน ซู่เจิน รับสืบทอดอาณัติสวรรค์พร้อมกันในฐานะสามีภรรยา ร่วมกันปกครองสำนักต่อในฐานะจู่ซือรุ่นที่ 18 โดยขุยเซิงได้นามใหม่ว่ากงฉัง และซู่เจินได้นามใหม่ว่าจื่อซี่[2] แต่กงฉังยังคงเป็นผู้นำหลักของลัทธิ เขาอ้างว่าตนเองเป็นพระภาคของพระจี้กง และได้เผยแผ่ลัทธิจนแพร่ไปทั่วลุ่มแม่น้ำแยงซี ส่วนซุนแม้จะมีบทบาทน้อยกว่าในช่วงแรก แต่เธอก็ได้รับยกย่องจากกงฉังว่าเป็นพระภาคของพระจันทรปัญญาโพธิสัตว์ (จีน: 月慧菩薩)

จางได้พัฒนาลัทธิอนุตตรธรรมในหลายประการ เช่น แต่งตั้งสาวกคนสนิท 9 คน เป็นเต้าจั่ง[1](จีน: 道長) เป็นเหล่าเฉียนเหริน (จีน: 老前人) สาวกชั้นรองลงไปมีเฉียนเหริน (จีน: 前人) เตี่ยนฉวนซือ (จีน: 點傳師) เจี่ยงซือ และถันจู่ (จีน: 壇主) ตามลำดับ ในด้านพิธีกรรมนอกจากการอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประทับทรงประทานโอวาทที่กระบะทรายแล้ว ได้เริ่มใช้เด็กอายุ 12 ปีมาฝึกฝนเพื่อทำหน้าที่เป็นคนทรงโดยเฉพาะเรียกว่า "ร่างสามคุณ" (จีน: 三才 ซันไฉ) โดยจางเป็นผู้ควบคุมการฝึกเอง[3]

ในปี ค.ศ. 1935 จางตัดสินใจย้ายศูนย์กลางของลัทธิจากเมืองจี่หนาน มณฑลซานตง ไปอยู่เมืองเทียนจิน ประเทศแมนจู (รัฐหุ่นเชิดของจักรวรรดิญี่ปุ่น) เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนเข้าเป็นสมาชิกของลัทธิ และสนับสนุนลัทธิจนแพร่หลายอย่างมากในพื้นที่ที่ญี่ปุ่นยึดครอง[4] ลัทธิอนุตตรธรรมเชื่อว่าสงครามครั้งนี้จะเป็นความยากลำบากครั้งสุดท้าย และญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำสันติภาพมาสู่โลก[3] เมื่อแมนจูเรียถูกจีนยึดกลับคืนมาได้ในปี ค.ศ. 1945 ทั้งรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนจึงดำเนินการปราบปรามลัทธิอนุตตรธรรมอย่างหนัก โทษฐานที่เข้าสนับสนุนการปกครองของญี่ปุ่น

ผลจากการปราบปรามลัทธิ ทำให้จาง เทียนหรัน เริ่มมีสุขภาพย่ำแย่ลง จนถึงแก่กรรมวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1947 เวลาประมาณ 20:00 น. ในระหว่างเยือนเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน หลังจากเสียชีวิตได้ 5 วัน ซุน ฮุ่ยหมิง ได้เชิญวิญญาณของจางมาเข้าทรง จึงทราบว่าเขาต้องการให้ฟังศพที่เชิงเขาหนันผิง เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง สาวกของเขาจึงประกอบพิธีฝังตามนั้นใน 1 เดือนให้หลัง

ต่อมาพระแม่องค์ธรรมได้ประทับทรงประกาศว่าจาง เทียนหรัน ได้รับอริยฐานะเป็นเทียนหรันกู่ฝอ (จีน: 天然古佛)[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "A Study of the Yiguan Dao (Unity Sect) and its Development in the Penensular Malaysia" (PDF). The University of British Columbia. 1997. สืบค้นเมื่อ 25 March 2014.
  2. 2.0 2.1 2.2 ศุภนิมิต, พระพุทธบรรพจารย์เทียนหยาน, กรุงเทพฯ : ส่งเสริมคุณภาพชีวิต, ม.ป.ป.
  3. 3.0 3.1 Religion and Democracy in Taiwan, pg. 67-9
  4. Edward L. Davis, Yiguan Dao, Encyclopedia of contemporary Chinese culture, Routledge


ก่อนหน้า จาง เทียนหรัน ถัดไป
ลู่ จงอี จู่ซือลัทธิอนุตตรธรรม
ร่วมกับซุน ฮุ่ยหมิง

(ค.ศ. 1930 - 1947)
ไม่มี