ยูลีอาเนอ มารีอา แห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล
ยูลีอาเนอ มารีอา แห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล | |
---|---|
สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ | |
ระหว่าง | 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1752 – 14 มกราคม ค.ศ. 1766 |
ราชาภิเษก | 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1752 |
พระราชสมภพ | 4 กันยายน พ.ศ. 2272 ณ วอฟเฟนบุตเทล |
สวรรคต | 10 ตุลาคม พ.ศ. 2339 ณ พระราชวังฟรานเดนสเบิร์ก, ประเทศเดนมาร์ก (พระชนมายุ 67 พรรษา) |
พระราชสวามี | พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 5 แห่งเดนมาร์ก |
พระราชบุตร | เจ้าชายเฟรเดอริก รัชทายาทแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์เวลฟ์ อ็อลเดินบวร์ค (โดยการสมรส) |
พระราชบิดา | แฟร์ดีนันด์ อัลเบร็คท์ที่ 2 ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล |
พระราชมารดา | ดัสเชสอังตัวเน็ตแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล |
ยูลีอาเนอ มารีอาแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล (4 กันยายน พ.ศ. 2272 - 10 ตุลาคม พ.ศ. 2339) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ ระหว่างพ.ศ. 2295 ถึง พ.ศ. 2309 เป็นพระมเหสีพระองค์ที่ 2 ใน พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 5 แห่งเดนมาร์ก เป็นพระมารดาในเจ้าชายเฟรเดอริก รัชทายาทแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ และพระนางทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ ในรัชสมัยของพระเจ้าคริสเตียนที่ 7 แห่งเดนมาร์ก ซึ่งเป็นพระโอรสเลี้ยง พระนางทรงปกครองเดนมาร์กและนอร์เวย์โดยพฤตินัยระหว่างพ.ศ. 2315 ถึงพ.ศ. 2327 จากการที่ทรงปกครองประเทศอย่างเผด็จการและทรงพยายามนำประเทศกลับไปสู่ระบอบขุนนางในอดีต ทำให้พระนางทรงเป็นสมเด็จพระราชินีที่ประชาชนชาวเดนมาร์กและนอร์เวย์เกลียดชังมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์เดนมาร์ก[1]
ช่วงต้นพระชนม์ชีพ
[แก้]พระนางประสูติในฐานะราชธิดา ในจำนวนบุตรทั้งหมด 12 พระองค์ของแฟร์ดีนันด์ อัลเบร็คท์ที่ 2 ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล กับดัสเชสอังตัวเน็ตแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล พระองค์ประสูติในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2272 ที่เมืองวอฟเฟนบุตเทล ในแซกโซนี พระนางเป็นพระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ คริสทีเนอแห่งปรัสเซียซึ่งเป็นพระมเหสีในพระเจ้าฟรีดริชมหาราชแห่งปรัสเซียและพระนางเป็นพระมาตุจฉาในสมเด็จพระเจ้าซาร์อีวานที่ 6 แห่งรัสเซีย ซึ่งเป็นพระโอรสในดยุคแอนโทนี อุลริชแห่งบรันสวิคพระเชษฐา
สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก
[แก้]หลังจากสมเด็จพระราชินีหลุยส์แห่งเดนมาร์ก พระมเหสีพระองค์แรกในพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 5 แห่งเดนมาร์ก สวรรคตในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2294 ยูลีอาเนอ มารีอาแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิลทรงได้รับเลือกให้เป็นพระมเหสีพระองค์ที่ 2 ในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2295 ณ พระราชวังเฟรเดอริคเบอร์ก การอภิเษกสมรสได้จัดขึ้นเพื่อให้ดัสเชสมีเสกียรภาพในการดำรงพระอิสริยยศ ในวันอภิเษกสมรส พระองค์ทรงมีบุคลิกเหมือนเด็ก ทรงตื่นเต้นมากจนตรัสตะกุกตะกัก การอภิเษกสมรสได้จัดขึ้นโดย เคานท์อดัม ก็อตธ็อบ โมลท์เก พระสหายของพระเจ้าเฟรเดอริก ซึ่งเป็นผู้คิดว่าการที่พระมหากษัตริย์อภิเษกสมรสอีกครั้งเป็นสิ่งที่จำเป็น พระเจ้าเฟรเดอริกทรงมิได้ตั้งพระทัยในการอภิเษกสมรสครั้งใหม่แต่พระองค์ก็ตกลงอภิเษกสมรสหลังจากทอดพระเนตรพระฉายาลักษณ์ของดัสเชส ดัสเชสยูลีอาเนอ มารีอาทรงอภิเษกสมรสในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2295 และทรงสวมมงกุฎเป็นสมเด็จพระราชินีในวันเดียวกัน การอภิเษกสมรสครั้งนี้ไม่เป็นที่พอใจแก่ประชาชนเพราะประชาชนเห็นว่าอยู่ในช่วงไว้ทุกข์แก่อดีตสมเด็จพระราชินีหลุยส์ซึ่งทรงเป็นที่รักยิ่งของชาวเดนมาร์ก จากเหตุการณ์ครั้งนี้พระนางทรงพยายามประพฤติตนให้เป็นที่รักของชาวเดนมาร์ก โดยทรงแต่งตั้ง เจ.สไชด์เดอรับ สนีดอร์ฟ และกัลด์เบิร์กเพื่อให้การอบรมพระโอรสของพระนาง ทำให้พระโอรสของพระนางเป็นเจ้าชายเดนมาร์กรุ่นแรกที่ภาษาแรกคือ ภาษาเดนมาร์ก พระนางยูลีอาเนอทรงพยายามหัดตรัสและเขียนเป็นภาษาเดนมาร์กแต่ก็เป็นไปได้ไม่ค่อยดี แต่ก็ไม่เคยทำให้พระนางเป็นราชินีที่เป็นที่นิยม พระนางทรงระมัดระวังในการแสดงความจงรักภักดีที่มีต่อพระสวามี ซึ่งพระสวามีของพระนางทรงมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับสตรีอื่นบ่อยๆ ซึ่งทำให้พระนางทรงได้รับการเห็นใจบ้าง ในฐานะของสมเด็จพระราชินี พระนางทรงไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมือง พระเจ้าฟรีดริชมหาราชแห่งปรัสเซียทรงคาดว่าในฐานะที่พระนางเป็นเจ้าหญิงเยอรมันและเป็นพระขนิษฐาในพระมเหสีของพระองค์ พระนางจะเป็นตัวแทนพระองค์ในราชสำนักเดนมาร์กในการปลดเคานท์โยฮันน์ ฮาร์ตวิก เอิร์นส์ ฟาน เบิร์นสตอฟ ศัตรูของพระองค์ออกจากตำแหน่ง แต่พระนางไม่เคยทำเช่นนั้น
ในฐานะของสมเด็จพระราชินี พระนางทรงใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบและทรงมีอิทธิพลไม่มาก จุดประสงค์หลักของพระนางคือ การหาทางให้พระโอรสของพระนางที่เป็นสายพระโลหิตของพระนางได้เป็นผู้สำเร็จราชการ พระนางทรงเลี้ยงดูพระโอรสเพียงพระองค์เดียวอย่างเข้มงวดมาก และมันเป็นการยากที่พระนางจะมาแทนที่อดีตสมเด็จพระราชินีหลุยส์ที่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวเดนมาร์ก และพระนางทรงไม่ใส่พระทัยในพระโอรสและพระธิดาเลี้ยงอันประสูติแต่สมเด็จพระราชินีหลุยส์เลย พระนางทรงชิงชังพระโอรสและพระธิดาเลี้ยงมากถึงขนาดเคยทรงใส่ยาพิษลงในพระกระยาหารเช้าของเจ้าชายคริสเตียนซึ่งยังทรงพระเยาว์ แต่มีนางข้าหลวงที่จงรักภักดีเห็นพระนางใส่บางอย่างลงในพระกระยาหารจึงแอบเททิ้งแล้วไปกราบทูลพระเจ้าเฟรเดอริค พระเจ้าเฟรเดอริคทรงกริ้วมาก พระนางยูลีอาเนอทรงปฏิเสธว่าเป็นข้อกล่าวหาแต่ก็มีการเฝ้าระวังพระกระยาหารของเจ้าชายคริสเตียนจะเสวยตั้งแต่นั้นมา
สมเด็จพระพันปีหลวงและบทบาทด้านการเมือง
[แก้]หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 5 แห่งเดนมาร์ก ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2309 ทำให้พระนางกลายเป็นสมเด็จพระพันปีหลวงและทรงเริ่มก้าวก่ายในราชกิจทางการเมืองในรัชสมัยของพระเจ้าคริสเตียนที่ 7 แห่งเดนมาร์ก พระโอรสเลี้ยง ในระหว่างทรงปกครองประเทศทางพฤตินัยแบบเผด็จการนี้ทำให้ทรงถูกเกลียดชังอย่างมาก
รัฐประหาร พ.ศ. 2315 การขจัดอำนาจของสตรูเอนซีและราชินีแคโรไลน์ มาทิลดา
[แก้]ในปีพ.ศ. 2311 สมเด็จพระพันปียูลีอาเนอมีพระบัญชาให้จับกุม สตอฟเล็ท-แคทลีน พระสนมในพระเจ้าคริสเตียน และเนรเทศออกจากเดนมาร์ก เนื่องจากทรงเชื่อว่านางแคทลีนมีอิทธิพลเหนือกษัตริย์และพยายามท้าทายพระราชอำนาจของพระนาง ในปีพ.ศ. 2313 พระเจ้าคริสเตียนทรงเริ่มมีพระสติวิปลาส แต่พระองค์ก็ทรงมอบอำนาจการปกครองให้แก่ เจ้าหญิงแคโรไลน์ มาทิลดาแห่งเวลส์ พระมเหสีผู้ครองพระยศสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กในขณะนั้นกับ โจฮันน์ ฟรีดิช สตรูเอนซีชู้รักของพระนางแคโรไลน์ มาทิลดา ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการในขณะนั้น พระนางมาทิลดาและสตรูเอนซีได้ดำเนินนโยบายที่พยายามปรับปรุงประเทศเดนมาร์กให้หลุดพ้นจากแนวคิดการปกครองและวัฒนธรรมประเพณีรูปแบบเก่าตั้งแต่สมัยยุคกลาง ซึ่งพยายามทำให้เดนมาร์กที่ยังล้าหลังกว่าประเทศอื่นในยุโรปก้าวขึ้นสู่สมัยใหม่ สตรูเอนซีเน้นแนวทางเสรีนิยมซึ่งเป็นประโยชน์แก่ชนชั้นล่าง เช่น ได้ประกาศลดภาษีเกลือซึ่งเป็นภาระหนักแก่ประชาชนและลดราคาข้าวสาลีลงครึ่งหนึ่ง และนำเงินทุนมาสร้างโรงพยาบาล โรงเรียนแก่ชนชั้นล่าง และได้ประกาศเปิดสวนในพระราชวังให้ประชาชนสามารถเข้าไปได้ อีกทั้งเขายังริเริ่มกฎหมายกำหนดหมายเลขบ้านและทำความสะอาดถนน ซึ่งทำให้คนชนชั้นล่างสำนึกในคุณของเขาและพระนางมาทิลดา แต่นโยบายเขากลับสร้างความไม่พอใจแก่คนชนชั้นสูงซึ่งสูญเสียประโยชน์รวมทั้งพระพันปียูลีอาเนอด้วยและพยามยามปฏิวัติยึดอำนาจกลับมา [2]
พระนางยูลีอาเนอทรงพยายามอย่างหนักเพื่อหาหลักฐานทุกอย่างในการคบชู้ของพระราชินีมาทิลดา ผุ้เป็นพระสุนิสา ทรงจ้างนางพระกำนัลสี่คนของพระนางมทิลดาเพื่อทำหน้าที่สายลับ เมื่อหลักฐานครบถ้วน พระนางทรงวางแผนเชิญชวนคนชั้นสูงมาร่วมก่อการ หนึ่งในนั้นคือ เคานท์ซัค คาร์ล แรนต์เซา สหายของสตรูเอนซี ซึ่งโกรธแค้นเขาเนื่องจากถูกมองข้ามความสำคัญ โดยกำหนดเอาเช้าตรู่วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2315 เป็นวันก่อการ [3]
ในคืนวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2315 เป็นวันจัดงานเต้นรำสวมหน้ากากในราชสำนัก เมื่อพระเจ้าคริสเตียนกลับเข้าสู่ห้องบรรทมแล้ว ส่วนพระนางมาทิลดาและสตรูเอนซีเต้นรำจนถึงตีสาม พระนางมาทิลดาก็เสด็จกลับห้องพระนาง ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 17 มกราคม พระนางยูลีอาเนอทรงรีบสาวพระบาทไปยังห้องบรรทมของพระเจ้าคริสเตียน พระนางแจ้งว่าจะเกิดการปฏิวัติและให้พระองค์ลงพระปรมาภิไธยในคำสั่งจับกุมพระราชินีมาทิลดาและสตรูเอนซี แม้พระเจ้าคริสเตียนทรงไม่ยินยอมแต่พระนางยูลีอาเนอได้บีบบังคับให้ทรงลงพระปรมาภิไธยได้ พระนางได้กุมตัวกษัตริย์ซึ่งถือว่าทรงได้อำนาจมาไว้ในพระหัตถ์แล้ว ทหารได้บุกเข้าไปจับกุมตัวสตรูเอนซีในห้องและล่ามโซ่เขาในคุก[4]. และในเวลา 04.30 นาฬิกา เคานต์แรนต์เซาได้นำทหารไปเชิญพระราชินีมาทิลดาเพื่อไปจองจำ พระนางมาทิลดาทรงต่อต้านอย่างหนัก ทำให้ทรงถูกพาตัวไป พระนางยูลีอาเนอทรงอนุญาตให้นำ เจ้าหญิงหลุยส์ ออกุสตาตามพระมารดาไปในคุกด้วยเนื่องจากทรงยังไม่หย่านม พระนางมาทิลดาทรงถูกนำไปคุมขังที่ปราสาทโครนเบอร์ก พระนางยูลีอาเนอทรงจัดให้พระนางมาทิลดาประทับในห้องบนสุดที่ไม่มีเตาผิงและสกปรก ต่อมาด้วยความกลัวจักรวรรดิอังกฤษ ยกทัพมาเดนมาร์ก จึงจัดให้ประทับที่ห้องชุดที่ดีกว่าเดิม
พระเจ้าคริสเตียนทรงขัดเคืองพระทัยกับการอบรมชี้แนะของพระมารดาเลี้ยง ทรงแข็งข้อต่อพระนางขึ้นเรื่อยๆ มีรับสั่งถามพระนางยูลีอาเนอเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพระนางมาทิลดา ทำให้ยูลีอาเนอทรงรำคาญพระทัยมากแต่พระนางก็ทรงไม่บอก ครั้งหนึ่งพระเจ้าคริสเตียนทรงลงพระปรมาภิไธยในเอกสารทรงเขียนว่า "คริสเตียนที่ 7 กษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ข้ารับใช้ของพระเป็นเจ้า ร่วมกับ ยูลีอาเนอ มารีอา ข้ารับใช้ของปีศาจ"[5]
สตรูเอนซีถูกตัดสินประหารชีวิตพร้อมกับเคานท์เอเนอโวลด์ แบรนดท์ ผู้ให้การสนับสนุนสตรูเอนซี ด้วยความผิดฐานกบฏ การประหารชีวิตกำหนดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2315 ในวันนั้นพระนางยูลีอาเนอบังคับให้พระเจ้าคริสเตียนและพระบรมวงศานุวงศ์ไปชมละครโอเปราและงานเลี้ยง แท่นประหารถูกสร้างให้สูงจากพื้น 27 ฟุต เพื่อให้พระนางยูลีอาเนอทอดพระเนตรด้วยกล้องส่องทางไกลได้สะดวกจากหอสูงของพระราชวังคริสเตียนเบอร์ก พระนางทรงมีรับสั่งกับนางกำนัลว่า "ข้าชอบห้องพวกนี้มาก ชอบยิ่งกว่าห้องชุดหรูหราของข้าเสียอีก เพราะจากหน้าต่างแห่งนี้ ข้าเคยได้เห็นซากที่เหลือของศัตรูที่ข้าเกลียดชังที่สุดอย่างถนัดตา"[6]
สตรูเอนซีเดินขึ้นลานประหาร หลังจากการประหารแบรนดท์แล้ว "ทีนี้ถึงศัตรูรายสำคัญแล้ว" พระนางตรัสกับนางกำนัลอย่างปิติ[7] สตรูเอนซีคุกเข่าลงบนกองเลือดแล้ววางมือด้านขวาที่นำความแปดเปื้อนมาสู่ราชินี เพชรฆาตสับมือข้างนั้นขาดกระเด็น สตรูเอนซีลุกขึ้นบิดตัวเร่า เลือดพุ่งกระฉูดออกจากข้อมือที่กุด ผู้ช่วนเพชรฆาตจำเป็นต้องกดศีรษะเขาแนบกับขอนไม้และในที่สึดดาบฟันลงมา ศีรษะสตรูเอนซีขาดกระเด็น พระนางยูลีอาเนอร้องอย่างปิติ จากนั้นทรงบอกกับพระสหายว่า เรื่องเดียวที่ทรงเสียพระทัยที่สุดคือเรื่องที่ทรงไม่ได้เห็นพระนางมาทิลดา ผู้เป็นพระสุนิสาไม่ได้ขึ้นแท่นประหารแบบคนอื่น และพระนางไม่ได้เห็นพระหัตถ์และพระเศียรมาทิลดาหลุดออกจากร่าง ไม่ได้เห็นซากศพราชินีแห่งเดนมาร์กถูกกรีดจากพระศอจนถึงพระอุรุ ไม่ได้เห็นอวัยวะภายในถูกล้วงออกมาตอกติดกับล้อรถ ไม่ได้เห็นแขนขาถูกตัดออกมาตอกกับอวัยวะภายใน ไม่ได้เห็นพระเศียรถูกเสียบปลายไม้ทิ้งให้เน่าเปื่อยกลางทุ่งท้ายเมือง ตรัสต่อไปว่า ภาพเหล่านั้นจะทำให้พระนางมีความสุขที่สุดในพระชนม์ชีพ"[8]
เมื่อศีรษะสตรูเอนซีหลุดออกจากบ่า เขาได้กลายเป็นนักบุญผู้พลีชีพในสายตาชาวเดนมาร์ก ส่วนสมเด็จพระพันปีหลวงกลับกลายเป็นจอมเผด็จการที่ชาวเดนมาร์กเกลียดชัง พระนางได้ยกเลิกกฎหมายที่สตรูเอนซีบัญญัติขึ้น ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในถนนหลายสายของโคเปนเฮเกน พระนางยูลีอาเนอจำต้องนำกฎหมายบางอย่างของสตรูเอนซีกลับมาใช้อีกครั้ง เมื่อพระเจ้าคริสเตียนทรงทราบการประหารพระองค์ทรงเศร้าโศกมากและตรัสขอพบพระนางมาทิลดา เนื่องจากยังเป็นพระมเหสีอยู่ เมื่อพระนางมาทิลดาทราบข่าวการประหารพระองค์ทรงเป็นลมล้มฟุบทันที มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนตามถนนต้องการให้ พระนางมาทิลดาขึ้นสำเร็จราชการแทนพระนางยูลีอาเนอจนเป็นการจลาจลอีกครั้ง พระนางยูลีอาเนอจึงเนรเทศพระสุนิสาออกจากแผ่นดินเดนมาร์กเสีย
การก้าวขึ้นสู่พระราชอำนาจ
[แก้]หลังจากสมเด็จพระพันปีหลวงยูลีอาเนอทรงขจัดพระราชอำนาจของพระราชินีมาทิลดา พระสุณิสาและสตรูเอนซีได้แล้ว พระนางได้แต่งตั้ง เจ้าชายเฟรเดอริค รัชทายาทแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ พระราชโอรสของพระนางขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแห่งเดนมาร์ก แต่ตามทางความเป็นจริงแล้ว พระนางทรงตั้งพระโอรสเพื่อเป็นเพียงหุ่นเชิดและพระนางก็จะปกครองโดยพฤตินัย โดยมี โอฟว์ ฮอกห์-กูลด์เบิร์ก พระอาจารย์ของเจ้าชายเฟรเดอริค ช่วยงานราชการแผ่นดินและดำรงเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งเดนมาร์กในทางพฤตินัยเช่นเดียวกับพระพันปีหลวง ในช่วงการปฏิวัติครั้งนี้ ทำให้พระนางทรงได้รับการสรรเสริญเยินยอจากผู้สนับสนุนว่า ทรงเทียบเท่ากับ ราชินีเอสเทอร์ ฮามาน ราชินีชาวยิวซึ่งเป็นพระมเหสีในจักรพรรดิเซอร์ซีสมหาราชแห่งเปอร์เซีย,พระนางเดบอราและจูดิธ ผู้ตัดหัวโฮโรเฟอร์เนส รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยพระนางมีแนวคิดอนุรักษนิยมอย่างสุดโต่ง พระนางทรงคืนที่ดินต่างๆให้ชนชั้นสูงที่ถูกริบทรัพย์สินในสมัยของสตรูเอนซีและพระนางมาทิลดา ทำให้ทรงได้รับความจงรักภักดีและทรงกลายเป็นวีรสตรีของพวกขุนนางชั้นสูง แต่ฝ่ายต่อต้านพระนางได้กล่าวว่าทรงเป็นปีศาจร้ายซึ่งสร้างความหายนะแก่ประเทศเดนมาร์ก พระนางมีพระราชกรณียกิจที่เป็นที่ยอมรับคือ การจัดตั้งโรงงานผลิตเครื่องลายครามแห่งแรกที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐในปีพ.ศ. 2322 พระนางทรงมักเขียนจดหมายถึงพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชแห่งปรัสเซียเป็นประจำ ซึ่งพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชได้ให้การสนับสนุนพระนางและทรงพอพระทัยที่พระนางได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการในทางพฤตินัย
พระพันปีหลวงยูลีอาเนอต้องทรงรับผิดชอบในการดูแลมกุฎราชกุมารเฟรเดอริก พระโอรสของพระเจ้าคริสเตียนที่ 7 กับพระนางแคโรไลน์ มาทิลดา มกุฎราชกุมารทรงชิงชังสมเด็จพระพันปีซึ่งเป็นพระอัยยิกามาก เนื่องจากพระนางทรงปฏิบัติไม่ดีต่อพระบิดาและพระมารดา และพระนางพยายามควบคุมพระองค์ให้อยู่ในความปกครองซึ่งกำหนดให้เมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ 14 ชันษาถึงจะมีสิทธิในการเป็นผู้สำเร็จราชการ และพระนางทรงพยายามไม่ให้พระองค์ได้พบปะกับเจ้าหญิงหลุยส์ ออกุสตา พระขนิษฐา ซึ่งพระองค์สนิทมากที่สุด ในปีพ.ศ. 2324 พระพันปีหลวงยูลีอาเนอทรงตอบรับข้อเสนอของพระเจ้าเฟรเดอริกมหาราชที่จะให้มกุฎราชกุมารสมรสกับเจ้าหญิงเยอรมันเพื่อกระชับสัมพันธ์เดนมาร์ก-ปรัสเซีย
ความสัมพันธ์กับจักรวรรดิรัสเซีย
[แก้]ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2323 พระพันปีหลวงยูลีอาเนอทรงให้ที่ลี้ภัยแก่พระโอรสและพระธิดาของดยุคแอนโทนี อุลริชแห่งบรันสวิคพระเชษฐา กับแกรนด์ดัสเชสแอนนา ลีโอโพลดินาแห่งรัสเซีย ผู้สำเร็จราชการแห่งรัสเซีย ผู้เป็นพระชายา พระโอรสธิดาซึ่งเป็นพระขนิษฐาและพระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าซาร์อีวานที่ 6 แห่งรัสเซีย เมื่อทรงได้รับการปล่อยจากคุกในรัสเซีย โดยพระพันปีทรงกระทำข้อตกลงกับสมเด็จพระจักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 แห่งรัสเซีย ซึ่งพระนางสามารถรับ แกรนด์ดัสเชสแคทเทอรีน(พ.ศ. 2284 - พ.ศ. 2350),แกรนดดัสเชสเอลิซาเบธ(พ.ศ. 2286 - พ.ศ. 2325),แกรนด์ดยุคปีเตอร์(พ.ศ. 2288 - พ.ศ. 2341) และแกรนด์ดยุคอเล็กเซ(พ.ศ. 2289 - พ.ศ. 2330) ซึ่งทั้งหมดประสูติในระหว่างที่แกรนด์ดัสเชสแอนนาถูกคุมขัง พระนัดดาของพระพันปียูลีอาเนอทั้งหมดได้พำนักอย่างสะดวกสบายขึ้นที่ที่กักกันในเมืองฮอร์เซน ทรงภาคตะวันออกของคาบสมุทรจัตแลนด์ พระนัดดาทั้งหมดทรงไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าสู่สังคม และทรงได้พำนักในพระตำหนักเล็กซึ่งมีคนเพียง 40/50 คน ซึ่งเป็นชาวเดนมาร์กทั้งหมดยกเว้นพวกพระ พระนัดดาทุกพระองค์อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของพระพันปียูลีอาเนอและทั้งหมดจะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากพระจักรพรรดินีนาถแคทเธอรีน
สิ้นสุดพระราชอำนาจ
[แก้]ในปีพ.ศ. 2327 มกุฎราชกุมารเฟรเดอริกทรงได้รับสิทธิตามกฎหมายโดยพระองค์มีพระชนมายุครบ 16 พรรษา ซึ่งเลยกำหนดที่พระพันปีหลวงยูลีอาเนอจะมอบพระราชอำนาจคืนถึง 2 ปี พระนางทรงพยายามชักจูงให้พระนัดดาทรงมอบพระราชอำนาจให้พระนางไปก่อน หรือไม่ก็อาศัยคำแนะนำของพระนางในด้านต่างๆ และพระนางทรงบังคับให้พระเจ้าคริสเตียนทรงลงนามในพระราชกฤษฎีกาดยกำหนดให้ มกุฎราชกุมารต้องยินยอมในคำแนะนำปรึกษาตั้งแต่ทรงเริ่มดำรงพระยศจนถึงปัจจุบัน โดยทรงต้องรับฟังบุคคล 3 คน ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดี,เจ้าชาย เฟรเดอริค ผู้สำเร็จราชการและสมเด็จพระพันปีหลวงยูลีอาเนอ[9]. อย่างไรก็ตามมกุฎราชกุมารทรงพยายามขจัดอำนาจของพระนางยูลีอาเนอ พระอัยยิกาและพระโอรสของพระนาง และในการร่วมสภาครั้งแรกของพระองค์ พระองค์ทรงไล่คณะรัฐบาลหลวงโดยที่ไม่ได้แจ้งแก่พระนางยูลีอาเนอ และทรงแต่งตั้งคนของพระองค์เข้ารับตำแหน่ง อีกทั้งมกุฎราชกุมารทรงบังคับให้พระบิดาซึ่งมีพระจริตฟั่นเฟือนลงนามในเอกสารแต่งตั้งพระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างผู้สนับสนุนมกุฎราชกุมารปับผู้สนับสนุนพระพันปีหลวงยูลีอาเนอ พระนางทรงพยายามแย่งชิงกษัตริย์จากพระหัตถ์ของพระนัดดา แต่ฝ่ายที่ไก้รับชัยชนะคือ มกุฎราชกุมารเฟรเดอริค ซึ่งนับเป็นจุดจบในระบอบเก่าสมัยยุคกลางของเดนมาร์ก รัชกาลที่ปกครองโดยพระพันปียูลีอาเนอและพระโอรสของพระนางสิ้นสุดลง ซึ่งถือเป็นการรัฐประหารในพ.ศ. 2327 โดยชาวเดนมาร์กต่างยินดีกันทั่งหน้าซึ่งจบสิ้นยุคสมัยของพระพันปีหลวง แต่พระเจ้ากุสตาฟที่ 3 แห่งสวีเดนทรงสนับสนุนให้พระนางก่อรัฐประหารอีกครั้งโดยสวีเดนจะให้การสนับสนุน แต่พระนางทรงประกาศวางมือจากราชสำนักและการเมือง และทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างปกติ
สวรรคต
[แก้]พระนางสวรรคตในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2339 ณ พระราชวังฟรีเดนเบอร์ก พระบรมศพถูกฝังที่มหาวิหารร็อคสไลด์ สิริพระชนมายุ 67 พรรษา พระบรมศพของพระนางถูกผู้มาเยือนชาวเดนมาร์กถ่มน้ำลายรดหลุมศพนานหลายปี ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดเผด็จการสตรีที่มีอำนาจที่สุดในแถบสแกนดิเนเวีย ในปีพ.ศ. 2351 พระเจ้าคริสเตียนเสด็จสวรรคต มกุฎราชกุมารได้ครองราชย์เป็น พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 6 แห่งเดนมาร์ก ทรงเป็นที่รักใคร่และนับถือในปวงประชาชนชาวเดนมาร์ก
พระโอรส
[แก้]พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | คู่สมรส (ประสูติและสิ้นพระชนม์) และพระโอรส-ธิดา | |
เจ้าชายเฟรเดอริก รัชทายาทแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ | พ.ศ. 2296 |
11 ตุลาคมพ.ศ. 2348 |
7 ธันวาคมอภิเษกสมรส 21 ตุลาคม พ.ศ. 2317 ดัสเชสโซเฟีย เฟรเดอริกาแห่งเม็คเคลนบวร์ก-ชเวรีน (พ.ศ. 2301–2337) พระราชโอรส 2 พระองค์และพระราชธิดา 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงยูลีอาเนอ มารีอา สมเด็จพระเจ้าคริสเตียนที่ 8 แห่งเดนมาร์ก เจ้าหญิงจูเลียน โซฟีแห่งเฮสส์-ฟิลิปสตัล-บราชเฟลด์ เจ้าหญิงหลุยส์ ชาร์ล็อตแห่งเดนมาร์ก เจ้าชายเฟอร์ดินานด์ รัชทายาทแห่งเดนมาร์ก |
เครื่องราชอิศริยาภรณ์
[แก้]-
พระนางยูลีอาเนอ มารีอาทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น Ordre de l'Union Parfaite
พระราชตระกูล
[แก้]พระอิสริยยศ
[แก้]ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระราชินียูลีอาเนอ มารีอา | |
---|---|
ตราประจำพระอิสริยยศ | |
ตราประจำพระองค์ | |
การทูล | Hendes Majestæt (ใต้ฝ่าละอองพระบาท) |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | Deres Majestæt (พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ) |
- ดัสเชสยูลีอาเนอ มารีอาแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล (4 กันยายน พ.ศ. 2272 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2295)
- สมเด็จพระราชินียูลีอาเนอ มารีอาแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ (8 กรกฎาคม พ.ศ. 2295 - 14 มกราคม พ.ศ. 2309)
- สมเด็จพระพันปีหลวงแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ (14 มกราคม พ.ศ. 2309 - 10 ตุลาคม พ.ศ. 2339)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Eleanor Herman.เร้นรักราชินี(Sex with the Queen).2553 หน้า 349
- ↑ Eleanor Herman.เร้นรักราชินี(Sex with the Queen).2553 หน้า 332 - 333
- ↑ Eleanor Herman.เร้นรักราชินี(Sex with the Queen).2553 หน้า 338
- ↑ Chapman หน้า 137
- ↑ Wilkins,A Queen of Tears,vol. II หน้า 270
- ↑ Chapman หน้า 169
- ↑ Chapman หน้า 169
- ↑ Chapman หน้า 169
- ↑ Alf Henrikson: Dansk historia (Danish history) 1989 (in Swedish)
- Danske dronninger i tusind år, Steffen Heiberg, 2000
- Gyldendal og Politikens Danmarkshistorie bind 9 (Den lange fred), 1990
- http://www.kvinfo.dk/side/597/bio/1019/origin/170/
- Marie Tetzlaff : Katarina den stora (1998)
- http://runeberg.org/dbl/8/0613.html (in Danish)
ก่อนหน้า | ยูลีอาเนอ มารีอา แห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เจ้าหญิงหลุยส์แห่งสหราชอาณาจักร | สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก (ราชวงศ์โอลเดนบวร์ก) (8 กรกฎาคม พ.ศ. 2295 – 14 มกราคม พ.ศ. 2309) |
เจ้าหญิงแคโรไลน์ มาทิลดาแห่งเวลส์ | ||
เจ้าหญิงหลุยส์แห่งสหราชอาณาจักร | สมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ (ราชวงศ์โอลเดนบวร์ก) (8 กรกฎาคม พ.ศ. 2295 – 14 มกราคม พ.ศ. 2309) |
เจ้าหญิงแคโรไลน์ มาทิลดาแห่งเวลส์ |