ข้ามไปเนื้อหา

กุนน์ฮิลด์ สเวนสด็อททีร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กุนน์ฮิลด์ สเวนสด็อททีร์
สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน
สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก
สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน
ครองราชย์ราว ค.ศ. 1022–1052
ก่อนหน้าแอสตริดแห่งโอบอทริเทส
ถัดไปอัสตริด นียัลสด็อทเทอร์
สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก
ครองราชย์ค.ศ. 1050–1052
ก่อนหน้าเจ้าหญิงกูดาแห่งสวีเดน
ถัดไปมาร์กาเรธา ฮัสยอร์นสแด็ทเทอร์
ประสูติไม่ปรากฏหลักฐาน
นอร์เวย์
สวรรคตราว ค.ศ. 1060
คู่อภิเษกพระเจ้าอานุนด์ ยาค็อบแห่งสวีเดน
พระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
พระราชบุตรประสูติแต่กษัตริย์อานุนด์

ประสูติแต่กษัตริย์สเวนที่ 2

พระนามเต็ม
กุนน์ฮิลด์ สเวนสด็อททีร์
ราชวงศ์ตระกูลฮลาเวิช
พระราชบิดาสเวน โฮกุนนาร์สัน
พระราชมารดาเจ้าหญิงโฮล์มฟริดแห่งสวีเดน
ศาสนาโรมันคาทอลิก

กุนน์ฮิลด์ สเวนสด็อททีร์ หรือ กุนน์ฮิลด์ ฮารัลด์สด็อททีร์ หรือ กูดา (สิ้นพระชนม์ที่ กุดเฮม, เวสเตร์เยิตลันด์, สวีเดน ราวค.ศ. 1060) จากพงศาวดารระบุว่าพระนางเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนจากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าอานุนด์ ยาค็อบแห่งสวีเดน และเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กจากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของพระนางมีความคลุมเครือมากจนนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่หลายคน ยืนยันว่า มีพระราชินีสองพระองค์ที่มีพระนามเดียวกัน ในสวีเดนและเดนมาร์ก[1] บางครั้งพระนางทรงถูกเรียกพระนามว่า กูเดอ หรือ กูริดเย แต่อาจเป็นการเรียกเพื่อไม่ให้สับสนกับ กูดาแห่งสวีเดน พระราชธิดา หรืออาจเป็นพระราชธิดาเลี้ยงของพระนาง ดังนั้นจึงมีการรู้จักในพระนามว่า กุนน์ฮิลด์[2]

ภูมิหลัง

[แก้]

ตามพงศาวดารเฮมสกริงลา ของสนอร์รี สตูร์ลูสัน (ราว ค.ศ. 1230) และพงศาวดารนีทลิงกา (ทศวรรษที่ 1250) ระบุว่า กุนน์ฮิลด์เป็นธิดาในยาร์ลชาวนอร์เวย์ ชื่อ สเวน โฮกุนนาร์สัน และเจ้าหญิงโฮล์มฟริดแห่งสวีเดน พระธิดาที่เกิดแต่พระสนมของพระเจ้าโอลอฟ สเคิตโคนุงแห่งสวีเดน และเจ้าหญิงโฮล์มฟริดเป็นพระขนิษฐาในพระเจ้าเอมุนด์ ผู้อาวุโสแห่งสวีเดน ซิกริด พี่สาวของกุนน์ฮิบด์ได้แต่งงานกับขุนนางชื่อ อัสลัคส์ เออลิงส์สันในแยเรน[3]

สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน

[แก้]

สเวน โฮกุนนาร์สันครองที่ดินบางส่วนของนอร์เวย์แต่เป็นศักดินาภายใต้กษัตริย์โอลอฟ สเคิตโคนุงแห่งสวีเดน ในค.ศ. 1015 สเวนพ่ายแพ้ในการรบกับผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ คือ พระเจ้าโอลาฟที่ 2 แห่งนอร์เวย์ และเขาพร้อมครอบครัวจำต้องหลบหนีมายังสวีเดน จากพงศาวดารที่ใกล้เคียงยุคร่วมสมัยของอดัมแห่งเบรเมินระบุว่า กุนน์ฮิลด์ได้อภิเษกสมรสกับพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระราชินีและเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ของกษัตริย์โอลอฟ สเคิตโคนุง คือ พระเจ้าอานุนด์ ยาค็อบแห่งสวีเดน (ค.ศ. 1022 - ราว ค.ศ. 1050) กษัตริย์อานุนด์มีศักดิ์เป็นสมเด็จอาฝ่ายแม่ของกุนน์ฮิลด์ การอภิเษกสมรสไม่มีวันที่ระบุชัดเจน ข้อมูลดังกล่าวพบในงานเขียนแบบ สคอเลียน ระบุว่า "กุนน์ฮิลด์ พระมเหสีม่ายในอานุนด์ ไม่ใช่คนเดียวกันกับกูดาที่ถูกสังหารโดยทอรา"[4] สคอเลียน อ้างถึงข้อความหลักในงานของอดัมแห่งเบรเมิน ซึ่งบรรยายว่า กุนน์ฮิลด์ประทับอยู่ในสวีเดน ราว ค.ศ. 1056 หลังจากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ต้องสิ้นสุดลง[5] โดยพื้นฐานของสคอเลียน เป็นเรื่องปกติในการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ยุคเก่าที่ระบุตัวตนสมเด็จพระราชินีกุนน์ฮิลด์แห่งสวีเดนและเดนมาร์กเป็นคนละคนกัน สิ่งนี้ถูกปฏิเสธโดยนักประวัติศาสตร์ สตูเร บอลิน ซึ่งเขาได้พินิจพิเคราะห์งานของอดัมอย่างใกล้ชิด โดยเขาระบุว่ากุนน์ฮิลด์เป็นบุคคลสองคนที่ไม่ใช่คนเดียวกัน ซึ่งคนที่เป็นสมเด็จพระราชินีเดนมาร์กนั้นเป็นธิดาของสเวน โฮกุนสัน[6] นักวิชาการอีกสองคนต่อมาคือ ทอเร นูแบร์กและคาร์ล ฮัลเลนครูทซ์ ได้บรรยายว่า ที่จริงแล้วกุนน์ฮิลด์อาจจะอภิเษกสมรสกับทั้งกษัตริย์อานุนด์และกษัตริย์สเวนที่ 2[7]

แหล่งข้อมูลร่วมสมัยไม่ได้บันทึกว่ากษัตริย์อานุนด์และพระราชินีกุนน์ฮิลด์ทรงมีพระโอรสธิดาร่วมกัน แต่นักประวัติศาสตร์เดนมาร์กในยุคหลังอย่าง แซ็กโซ แกรมมาติคัสและพงศาวดารไอซ์แลนด์ กล่าวว่า "กษัตริย์สวีเดน" โดยนัยอาจหมายถึง กษัตริย์อานุนด์ ยาค็อบ ทรงมีพระราชธิดาหนึ่งพระองค์คือ เจ้าหญิงกูดา ซึ่งบางครั้งเรียกว่า กูดา หรือ กุนด์ฮิลด์[8] มีความเป็นไปได้ที่เจ้าหญิงกูดาเป็นพระราชธิดาในกษัตริย์อานุนด์ที่ประสูติแต่สตรีนางอื่น และพระราชินีกุนน์ฮิลด์เป็นพระมารดาเลี้ยง แต่ทั้งพงศาวดารของแซ็กโซและของไอซ์แลนด์เป็นแหล่งข้อมูลที่เกิดขึ้นในยุคหลังแล้ว และข้อมูลเกี่ยวกับพระชนกและพระชนนีของเจ้าหญิงกูดาท้ายที่สุดอาจจะตีกลับไปสู่การตีความเอกสารของอดัมแห่งเบรเมินที่ผิดพลาด ตามเอกสารของอดัมระบุว่าเจ้าหญิงกูดา อภิเษกสมรสกับกษัตริย์สเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ซึ่งอภิเษกสมรสในช่วงที่กษัตริย์ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในสวีเดนในราว ค.ศ. 1047 แต่พระราชินีกูดาแห่งเดนมาร์กก็สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1048/49 โดยมีการอ้างว่าพระนางถูกวางยาพิษลอบปลงพระชนม์โดยพระสนมของกษัตริย์สเวนที่ชื่อว่า ทอรา[9]

สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก

[แก้]

กษัตริย์อานุนด์ ยาค็อบเสด็จสวรรคต ราว ค.ศ. 1050 ถ้าหากว่ากุนน์ฮิลด์ทั้งสองคนเป็นคนๆ คนเดียวกัน ก็จะแสดงว่า สมเด็จพระพันปีหลวงได้เสด็จไปยังเดนมาร์กและอภิเษกสมรสกับพระสวามีม่ายของพระธิดา (หรือพระธิดาเลี้ยง) และเป็นอดีตพระราชบุตรเขย คือ พระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ตามพงศาวดารลุนเดนซิส ระบุว่าการอภิเษกสมรสครั้งนี้ยุติลงใน ค.ศ. 1052[10] ตามคำอ้างของอดัมแห่งเบรเมินว่า "เมื่อทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดีสำหรับพระองค์ ในไม่ช้าพระองค์ก็หลงลืมพระเจ้าและทรงไปนำพระญาติจากสวีเดนมาเป็นพระมเหสี อาร์กบิชอป (แห่งฮัมบูร์ก-เบรเมิน)ไม่พอใจอย่างมากกับเรื่องนี้"[11] ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสร่วมกันคือ เจ้าชายสเวน[12] แต่การอภิเษกสมรสครั้งนี้ก็ไม่นานนัก ศาสนจักรเห็นว่าการอภิเษกสมรสครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันเกินไป อาจเป็นเพราะทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องกันหรือเพราะกษัตริย์สเวนเคยอภิเษกสมรสกับพระธิดาของพระนาง และทั้งสองพระองค์ทรงถูกขู่ตัดขาดจากศาสนา ถ้าหากว่ายังไม่แยกจากกัน ในตอนแรก กษัตริย์สเวนทรงพิโรธอย่างมากและทรงขู่จะทำลายสังฆมณฑลเบรเมิน แต่อาร์คบิชอปยังคงยืนกรานในข้อเรียกร้องของเขา ในที่สุดสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 9 ทรงมีคำขอต่อกษัตริย์มาเป็นลายลักษณ์อักษร กษัตริย์สเวนจึงทรงยอมจำนนต่อสมเด็จพระสันตะปาปาและยอมหย่าขาดจากพระราชินีของพระองค์[13] ดังนั้นอดีตพระราชินีกุนน์ฮิลด์ทรงถูกบังคับให้เสด็จกลับสวีเดน ราว ค.ศ. 1051/52 เรื่องของพระนางกุนน์ฮิลด์และการอภิเษกสมรสของพระธิดาของพระนางกับกษัตริย์สเวนได้สร้างความสับสนต่อประวัติศาสตร์นิพนธ์ในภายหลัง[14]

บั้นปลายพระชนม์ชีพ

[แก้]

หลังจากที่ต้องหย่าร้างอย่างไม่เต็มพระทัย อดีตพระราชินีกุนน์ฮิลด์แห่งเดนมาร์ก พระพันปีหลวงแห่งสวีเดนเสด็จกลับไปยังที่ดินของพระนางที่เวสเตร์เกิตลันด์ อดัมแห่งเบรเมินเรียกพระนางว่า แซงทิสซิมาและบรรยายถึงความเอื้อเฟื้อของพระนางต่อบิชอปอาดัลวาร์ด มิชชันนารี ผู้ซึ่งถูกกีดกันจากทิง หรือ สภาขุนนาง โดยพระเจ้าเอมุนด์ ผู้อาวุโสแห่งสวีเดน ผู้เป็นสมเด็จลุงของพระนางกุนน์ฮิลด์ อดัมบรรยายว่า อาดัลวาร์ดถูกพาไปยังที่ประทับของสมเด็จพระพันปีหลวงบนภูมิประเทศที่เป็นภูเขา นำโดยญาติของกษัตริย์ คือ สเตนคิล ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่หุบเขาแมลาเรนในเวสเตร์เกิตลันด์ พระนางอุทิศตนให้กับ "ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และงานทางศาสนาอื่นๆ"[15]

ไม่มีสิ่งอื่นใดบันทึกถึงพระนางกุนน์ฮิลด์อีกในเอกสารร่วมสมัย ตามพงศาวดารที่ไม่น่าเชื่อถือในศตวรรษที่ 16 ของโยฮันเนส มักนุส ระบุว่า พระนางใช้เวลาที่เหลือในการกลับตัวกลับใจจากบาปและดำเนินกิจกรรมทางศาสนา พงศาวดารรายงานว่าพระนางได้จัดตั้งโรงผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกายทางศาสนา ผลงานที่เป็นที่รู้จักของพระนางที่สุดก็คือ เครื่องแต่งกายของกลุ่มนักร้องประสานเสียงที่อาสนวิหารมหาวิหารรอสคิลด์ จากพงศาวดารของโยฮันเนส มักนุสระบุว่าพระนางทรงก่อตั้งคอนแวนต์โบสถ์กุดเฮมในกลางศตวรรษที่ 11[16] แต่ในความเป็นจริง โบสถ์ถูกก่อตั้งในเวลาร้อยปีหลังจากนั้น (ค.ศ. 1152)[17] ตำนานของคอนแวนต์อาจเกิดขึ้นเพราะพระนางและเหล่าสตรีของพระนางต้องใช้ชีวิตในร่มศาสนาอย่างโดดเดี่ยวโดยจัดทำเครื่องแต่งกายของสมณเพศในพื้นที่ของพระนาง ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็นที่กุดเฮม ตามพงศาวดารระบุว่า พระนางอาจสิ้นพระชนม์ที่กุดเฮม ซึ่งพระนางได้ "แสดงคุณธรรมมากมาย" ในระหว่างที่ทรงพ่ายแพ้ในการสมรส และพระศพถูกฝังไว้ในหลุมพระศพที่มีความคล้ายคลึงตัวตนของพระนาง

ปีที่ประสูติและสิ้นพระชนม์นั้นไม่เป็นที่รับรู้แน่ชัด แต่พระนางทรงมีพระชนม์ชีพยืนยาวกว่าพระสวามีองค์แรก (สิ้นพระชนม์ราว ค.ศ. 1050) และมีพระชนม์ชีพในช่วงรัชกาลของกษัตริย์เอมันด์ ผู้อาวุโส (ครองราชย์ราว ค.ศ. 1050-ราว ค.ศ. 1060) พระนางสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1060 หรือหลังจากนั้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. Hans Gillingstam, "Gunhild", Svenskt biografiskt lexikon
  2. Sven Axelson (1955), Sverige i utländsk annalistik 900-1400. Stockholm: Appelbergs, p. 34, 55.
  3. Snorre Sturluson (1993), Nordiska kungasagor. III. Magnus den gode till Magnus Erlingsson. Stockholm: Fabel, p. 100 (Harald Sigurdssons saga, Chapter 41); Knýtlinga saga, Chapter 23 [1].
  4. Adam av Bremen (1984), Historien om Hamburgstiftet och dess biskopar. Stockholm: Proprius, p. 189 (Book III, Scholion 66).
  5. Adam av Bremen (1984), p. 140 (Book III, Chapter 15).
  6. Sture Bolin (1932), "Kring Mäster Adams text", Scandia 4, p. 230-8.
  7. Adam av Bremen (1984), p. 189.
  8. Saxo Grammaticus, Gesta danorum [2]; Sven Axelson (1955), p. 34, 55-6.
  9. Adam av Bremen (1984), p. 192 (Book III, Scholion 72).
  10. Sven Axelson (1955), p. 55.
  11. Adam av Bremen (1984), p. 137 (Book III, Chapter 12).
  12. Knýtlinga saga, Chapter 23 [3]
  13. Adam av Bremen (1984), p. 137 (Book III, Chapter 12).
  14. Sven Axelson (1955), p. 55-6.
  15. Adam av Bremen (1984), p. 140 (Book III, Chapter 15).
  16. Johannes Magnus (1620), Swea och Götha Crönika. Stockholm: Ignatium Meurer, p. 515.
  17. Markus Hagberg (ed.) (2009), Gudhems kloster. Skara stiftshistoriska sällskaps skriftserie, 44. Skara: Skara stiftshistoriska sällskap.

วรรณกรรม

[แก้]
  • Adam av Bremen (1984), Historien om Hamburgstiftet och dess biskopar. Stockholm: Proprius. Libris 7604979. ISBN 91-7118-447-3
  • Blomberg, Assar (1916), Några anteckningar om Gudhems Församling i Västergötland (Some notes of the congregation of Gudhem in Västergötland). A J Lindgrens Boktryckeri.
  • Gillingstam, Hans, ”Gunhild”, Svenskt biografiskt lexikon [4] Accessed 27 November 2012.
  • Henrikson, Alf (1989), Dansk historia (Danish history). Stockholm: Bonnier.


ก่อนหน้า กุนน์ฮิลด์ สเวนสด็อททีร์ ถัดไป
แอสตริดแห่งโอบอทริเทส
สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน
(ราว ค.ศ. 1022–1050)
อัสตริด นียัลสด็อทเทอร์
กูดาแห่งสวีเดน
สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก
(ค.ศ. 1050–1052)
มาร์กาเรธา ฮัสยอร์นสแด็ทเทอร์