อิงเงอบอร์ก มักนุสด็อทเทอร์แห่งสวีเดน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อิงเงอบอร์ก มักนุสด็อทเทอร์แห่งสวีเดน
สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก
พระสาทิสลักษณ์บนหีบพระบรมศพ
สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก
ระหว่างค.ศ. 1296–1319
ก่อนหน้าอักเนสแห่งบรันเดินบวร์ค
ถัดไปยูเฟเมียแห่งพอเมอเรเนีย
พระราชสมภพค.ศ. 1277
สวีเดน
สวรรคต5 เมษายน หรือ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1319(1319-08-15) (42 ปี)
คอนแวนต์นักบุญแคลร์, รอสกิลด์
ฝังพระศพโบสถ์นักบุญเบ็นท์, ริงสเต็ด, เดนมาร์ก
คู่อภิเษกพระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก
พระราชบุตร
  • เจ้าชายวัลเดมาร์แห่งเดนมาร์ก
  • เจ้าชายอีริคแห่งเดนมาร์ก
  • เจ้าชายมักนุสแห่งเดนมาร์ก
  • เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม
พระนามเต็ม
อิงเงอร์บอร์ก มักนุสด็อทเทอร์ บเยลโบ
ราชวงศ์ราชวงศ์ยาลโบ
พระราชบิดาพระเจ้ามักนุสที่ 3 แห่งสวีเดน
พระราชมารดาเฮลวิกแห่งฮ็อลชไตน์
ศาสนาโรมันคาทอลิก

อิงเงอบอร์ก มักนุสด็อทเทอร์แห่งสวีเดน (ค.ศ. 1277 - 5 เมษายน หรือ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1319) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กจากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าอีริคที่ 6 แห่งเดนมาร์ก พระนางเป็นพระราชธิดาในพระเจ้ามักนุสที่ 3 แห่งสวีเดนกับเฮลวิกแห่งฮ็อลชไตน์

พระชนม์ชีพ[แก้]

เจ้าหญิงอิงเงอบอร์กเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ในพระเจ้ามักนุสที่ 3 แห่งสวีเดนกับเฮลวิกแห่งฮ็อลชไตน์

ในปีค.ศ. 1288 พระนางทรงเข้าพิธีหมั้นกับพระเจ้าอีริคที่ 6 เม็นเว็ดแห่งเดนมาร์ก และพระราชพิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นที่เมืองเฮลซิงบอรย์ในปีค.ศ. 1296 การอภิเษกสมรสนี้คือนโยบายความสัมพันธ์ของราชวงศ์ โดยในปีค.ศ. 1298 พระอนุชาของพระองค์คือ เจ้าชายบีร์เกอร์แห่งสวีเดน ซึ่งต่อมาเป็นกษัตริย์สวีเดนได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาร์เกรเธอ หรือ มาร์ธาแห่งเดนมาร์ก พระขนิษฐาในกษัตริย์อีริคที่ 6 ไม่ได้มีการจัดพิธีประทานพรศีลสมรสจนกระทั่งปีค.ศ. 1297 พระนางอิงเงอร์บอร์กและกษัตริย์อีริคที่ 6 ได้รับการประทานพรจากอาร์กบิชอปเจนส์ กรันด์

สมเด็จพระราชินี[แก้]

สมเด็จพระราชินีอิงเงอบอร์กทรงได้รับการบรรยายว่า ทรงมีพระสิริโฉมงดงามและอ่อนโยน มีบทเพลงบรรยายถึงการที่พระนางทรงขอให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษในวันอภิเษกสมรสของพระนาง และเพลงร่วมสมัยทั้งในเดนมาร์กและสวีเดนต่างสรรเสริญในพระเมตตาและความยุติธรรมของพระนาง[1] พระนางทรงเป็นสมเด็จพระราชินีที่ได้รับความนิยมในเดนมาร์ก พระนางมักจะทรงถูกเรียกว่า "gode Frue" (กอเดอ ฟรูเออ หรือ 'the Good Lady' แปลว่า ท่านหญิงคนดี)[1]

ไม่มีหลักฐานบันทึกว่าพระนางทรงเกี่ยวข้องใดๆ ในทางการเมืองหรือไม่ พระสวามีของพระนางเป็นพันธมิตรกับกษัตริย์บีร์เกอร์แห่งสวีเดน พระอนุชาของพระนาง และมาร์ธาแห่งเดนมาร์ก พระขนิษฐาในพระสวามี ก็ได้เป็นสมเด็จพระราชินีสวีเดนจากการเสกสมรสกับพระอนุชาของพระนาง ซึ่งช่วยเหลือกันในความขัดแย้งการช่วงชิงราชบัลลังก์สวีเดน ในเหตุการณ์กลเกมฮอตูนา กษัตริย์บีร์เกอร์และพระราชินีมาร์ธา ถูกเหล่าพระอนุชาจับกุม พระโอรสของทั้งสองพระองค์คือ เจ้าชายมักนุส บีร์เกอร์สันแห่งสวีเดนได้หลบหนีออกมาได้ในปีค.ศ. 1306 ซึ่งกษัตริย์อีริคที่ 6 และพระราชินีอิงเงอร์บอร์กจึงทรงช่วยเหลือไว้ในราชสำนักเดนมาร์ก และหลังจากนั้นกษัตริย์บีร์เกอร์และพระราชินีมาร์ธาได้เสด็จลี้ภัยจากการรัฐประหาร หลังจากพพระองค์ทรงก่อเหตุการณ์งานเลี้ยงที่นูเชอปิงในปีค.ศ. 1318 ซึ่งกษัตริย์บีร์เกอร์ทรงล้างแค้นเหล่าพระอนุชาโดยจับกุมให้อดอาหารสิ้นพระชนม์ในที่คุมขัง ฝ่ายทายาทของพระอนุชาได้ยึดอำนาจและเจ้าชายมักนุส บีร์เกอร์สันแห่งสวีเดนพยายามกลับเข้าไปชิงอำนาจคืนในสวีเดน แต่ถูกจับกุมและตัดพระเศียรในปีค.ศ. 1320 โดยกลุ่มการเมืองของเจ้าหญิงอิงเงอบอร์กแห่งนอร์เวย์

สมเด็จพระราชินีอิงเงอบอร์กทรงมีพระประสูติกาลพระโอรส 8 พระองค์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระนางทรงแท้งพระบุตร 6 ครั้ง แม้ว่าบางแหล่งข้อมูลกล่าวว่าทรงแท้งพระบุตรในช่วงระหว่าง 8 - 14 ครั้ง การทรงพระครรภ์หลายครั้งนำมาซึ่งการแท้ง หรือมีพระประสูติกาลแต่พระบุตรสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

ในปีค.ศ. 1318 สมเด็จพระราชินีอิงเงอร์บอร์ก ทรงมีประสูติกาลพระโอรส ซึ่งทรงรอดพระชนม์เมื่อวันแรกประสูติมาได้ และเป็นความปีติยินดียิ่งหลังจากทรงแท้งมาหลายครั้ง พระนางทรงนำพระโอรสออกนั่งรถเกวียนม้าเพื่อแสดงต่อหน้าสาธารณชน แต่พระนางทรงทำพระโอรสลื่นหลุดพระหัตถ์ พระโอรสจึงตกกระแทกพื้น พระศอหักสิ้นพระชนม์

บั้นปลายพระชนม์ชีพ[แก้]

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระโอรส สมเด็จพระราชินีอิงเงอบอร์กเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในคอนแวนต์นักบุญแคลร์ในรอสกิลด์ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน หลักฐานหนึ่งอ้างว่า พระนางทรงเข้าสู่ร่มศาสนาโดยสมัครใจ ไม่ว่าจะเป็นเพราะความโศกเศร้าต่อการสิ้นพระชนม์ของพระโอรส หรือทรงโศกเศร้าต่อการสิ้นพระชนม์ของเหล่าพระอนุชา คือ เจ้าชายอิริค ดยุกแห่งเซอเดร์มันลันด์และเจ้าชายวัลเดมาร์ ดยุกแห่งฟินแลนด์ พระนางสิ้นพระชนม์ในปีต่อมา

แต่อีกตำนานหนึ่งอ้างว่า พระนางทรงถูกบังคับเข้าคอนแวนต์โดยพระราชสวามี ซึ่งทรงตำหนิว่า พระราชินีเป็นสาเหตุให้พระโอรสต้องสิ้นพระชนม์ แต่อีกหลักฐานหนึ่งก็อ้างว่า พระราชสวามีทรงสั่งคุมขังพระนางเนื่องจากทรงไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองในเรื่องปัญหาของเหล่าพระอนุชาของพระนางในสวีเดน[1]

แต่ไม่ว่าจะทรงเข้าคอนแวนต์ในฐานะแขกหรือนักโทษของอาราม ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า พระนางทรงมีพระคุณต่อคอนแวนต์แห่งนี้ก่อนที่จะเข้ามาในคอนแวนต์นี้เสียอีก[1]

ในปีค.ศ. 1319 มีการอ้างว่าพระนางทรงทำนายการสิ้นพระชนม์ของพระนาง พระราชสวามี และอาร์กบิชอปได้ พระนางสิ้นพระชนม์ไม่นานหลังจากนั้น และพระราชสวามีเสด็จสวรรคตในปีเดียวกันและหลังจากพระมเหสีไม่นาน

พระศพของพระนางถูกฝังที่ริงสเต็ด โดยมีจารึกว่า

"ข้าพเจ้า อิงเงอบอร์กแห่งสวีเดน ครั้งหนึ่งคือสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก ขอการประทานอภัยจากใครก็ตามที่ข้าพเจ้าอาจทำให้ต้องเสียใจ โปรดให้อภัยแก่ข้าพเจ้าด้วยและเพื่อระลึกถึงจิตวิญญาณของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสิ้นชีวิตในปีแห่งพระเจ้าของเรา ค.ศ. 1319"[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Jorgensen, Ellen & Skovgaard, Johanne, Danske dronniger; fortaellinger og karakteristikker af Ellen Jorgensen og Johanne Skovgaard, Kobenhavn H. Hagerup, 1910
  • Dehn-Henning Nielsen: Kings och Queens i Danmark, Copenhagen 2007, ISBN 978-87-89542-71-3
  • Kay Nielsen, Ib Askholm: Danmarks kongelige familier i 1000 år, 2007, ISBN 978-87-91679-09-4 Kay Nielsen, Ib Askholm: Danmarks Kongelige familier i 1000 år, 2007, ISBN 978-87-91679-09-4
  • Rikke Agnete Olsen: Kongerækken, København 2005, ISBN 87-595-2525-8 Rikke Agnete Olsen: Kongerækken, København 2005, ISBN 87-595-2525-8
  • Salmonsens konversationsleksikon / Anden Udgave / Bind XII: Hvene—Jernbaner
  • Dansk biografisk Lexikon / VIII. Bind. Holst - Juul
ก่อนหน้า อิงเงอบอร์ก มักนุสด็อทเทอร์แห่งสวีเดน ถัดไป
อักเนสแห่งบรันเดินบวร์ค
สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก
(ราชวงศ์แอสตริดเซน)

(ค.ศ. 1296–1319)
ยูเฟเมียแห่งพอเมอเรเนีย