วัดบำเพ็ญจีนพรต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วัดบำเพ็ญจีนพรต (จีน: 永福寺) สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย เป็นปฐมสังฆารามฝ่ายมหายานจีนนิกาย (นิกายฌาณ สาขาหลินฉี) ตั้งอยู่ในตรอกวัดกันมาตุยาราม ถนนเยาวราช แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ

สภาพที่ตั้งวัดเป็นพื้นที่กลางเมือง ติดถนนเยาวราช ล้อมรอบด้วยอาคารพาณิชย์ โดยรอบส่วนใหญ่มีความสูง 3 ชั้นขึ้นไป บริเวณใกล้เคียงเป็นวัดกันมาตุยารามฝ่ายธรรมยุตินิกาย และวัดกุศลสมาครฝ่ายอนัมนิกาย (วัดญวน)

ประวัติ[แก้]

วัดบำเพ็ญจีนพรตนับเป็นสังฆารามของคณะสงฆ์จีนนิกายที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในประเทศไทย เดิมเป็นวิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ร้าง ชื่อ “ย่งฮกอำ” (จีน: 永福庵) มีป้ายชื่อลงปีรัชกาลเฉียนหลง ปีอิกเบ้า (乙卯) (ค.ศ. 1795 ) ตรงกับ พ.ศ. 2338 กล่าวกันว่าสร้างโดยชาวจีนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนสร้างวัดกุศลสมาคร ฝ่ายอนัมนิกาย (วัดญวน) ได้มีพระอนัมมาอาศัยพักอยู่ชั่วคราว เมื่อสร้างวัดเสร็จจึงย้ายไปอยู่วัดญวน

ต่อมาพระอาจารย์สกเห็ง (จีน: 續行大師) จาริกมาจากประเทศจีน ราวก่อนปี พ.ศ. 2414 และพำนักอยู่ ณ สถานที่นี้ ท่านได้ปฏิสังขรณ์วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “ย่งฮกยี่” มีป้ายชื่อลงปี พ.ศ. 2430 (รัชกาลกวงสู ปีที่ 13 ค.ศ. 1887 ) แล้วกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามวัดจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานนามวัดว่า “ วัดบำเพ็ญจีนพรต ” (ปัจจุบันยังมีป้ายพระราชทานนามวัดประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอุโบสถ) และโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ พระอาจารย์สกเห็งเป็นพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรก


ลำดับเจ้าอาวาสและรักษาการเจ้าอาวาส[แก้]

  1. พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (สกเห็ง) เจ้าอาวาส ก่อน พ.ศ. 2414-2432
  2. หลวงจีนคณาณัติจีนพรต (ไหลหรือกวยล้ง) เจ้าอาวาส พ.ศ. 2432-2455
  3. พระอาจารย์อุ่งเซี้ยม เจ้าอาวาส พ.ศ. 2455-2461
  4. หลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ (ย่วยซิว) เจ้าอาวาส พ.ศ. 2461-2484
  5. หลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ (เม่งเลี้ยว) เจ้าอาวาส พ.ศ. 2484-2497
  6. พระอาจารย์ฮกก้วย เจ้าอาวาส พ.ศ. 2497-2515
  7. หลวงจีนปลัด (เย็นสู่) ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส พ.ศ. 2515-2517
  8. หลวงจีนปลัด (เย็นจู) ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส พ.ศ. 2517-2520
  9. พระอาจารย์จีนวินยานุการ เจ้าอาวาส พ.ศ. 2521-2542
  10. หลวงจีนธรรมรักษ์จีนประจิต (เย็นอี) เจ้าอาวาส พ.ศ. 2547- ปัจจุบัน

สิ่งสำคัญภายในวัด[แก้]

วิหารพระรัตนตรัย[แก้]

เป็นวัดที่มีพุทธวิหารพระรัตนตรัยเล็กที่สุดคือ กว้าง 7.80 เมตร ยาว 10.20 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2338 เป็นอาคารโครงสร้างไม้แบบจีน ผนังก่ออิฐฉาบปูน หลังคาจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินเผากาบกล้วยแบบจีน สันหลังคาก่ออิฐปั้นปูน เป็นจั่วปั้นลมตามแบบสถาปัตยกรรมจีน ตามสกุลช่างจีนแต้จิ๋ว ภายในพุทธวิหารประดิษฐานพระประธาน 3 องค์(ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ซำป๋อฮุก ; 三寶佛祖) นั่งทุกองค์ หน้าตักกว้าง 1 เมตร สูง 2 เมตร วัสดุผ้าป่านทาบรัก (ภาษาจีนเรียกว่า โก๋ยติ๋ว-ทกซา) ลงรักปิดทองศิลปะจีน องค์ประดิษฐานอยู่ตรงกลางคือ

พระศากยมุนีพุทธเจ้า (เซกเกียโหม่วหนี่ฮุก) ทรงประทับเป็นประธานแห่งสหาโลกธาตุ คือองค์พระศาสดาแห่งโลกปัจจุบัน ที่มนุษย์และสรรพสัตว์อาศัย ทางขวาของพระศากยมุนีคือ พระอมิตาภะพุทธเจ้า (ออหมี่ถ่อฮุก) ผู้เป็นพระบรมศาสดาแห่งสุขาวดีโลกธาตุทิศตะวันตก และทางซ้ายของพระศากยมุนีคือ พระไภษัชยะคุรุพุทธเจ้า (เอี๊ยะซือฮุก) หรือรวมเป็นพระพุทธรัตนตรัยของมหายาน (ซำป้อฮุก) สองข้างพระประธานเป็นรูปพระอรหันต์ 2 องค์ ทางซ้ายคือพระมหากัสสปะเถระ (รูปภิกษุชรา) ขวาเป็นรูปพระอานนท์เถระ (รูปภิกษุหนุ่ม) วัสดุผ้าป่านทาบรัก ลงรักปิดทองศิลปะจีน

ด้านหน้าพระประธานประดิษฐาน พระจัณฑิอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (จุนที้ผู่สัก) คือปางหนึ่งของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ทรงลักษณะแห่งพุทธมารดา มี 18 กร และมีรูปพระโพธิสัตว์ธรรมบาลยืน 2 องค์ คือพระสกันทโพธิสัตว์และพระสังฆารามโพธิสัตว์ นอกจากนี้ยังมี พระพุทธรูปศิลาขาว 1 องค์ ศิลปะพม่าแบบมัณฑเลย์ พระพุทธรูปโลหะ 3 องค์ยืน จีวรเป็นลายดอก ศิลปะไทยแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พระอรหันต์ 18 องค์ นั่ง วัสดุผ้าป่านทาบรักลงรักปิดทอง ศิลปะจีน สองข้างพระประธาน มุมด้านในวิหารประดิษฐานรูปเทพท้องถิ่นของจีนที่ทำหน้าที่เป็นธรรมบาลคุ้มครองรักษาวัด คือ เทพเจ้ากลุ่มดาวเหนือ หรือเฮี่ยงเทียงเสี่ยงตี่ ;玄天上帝 ศิลปะจีน และรูปพระสังฆารามปาลโพธิสัตว์หรือเทพกวนอู (แคนำผู่สัก) ศิลปะจีน เทพสององค์นี้เป็นเทพท้องถิ่นจีนที่ชาวบ้านเลื่อมใสมาก

วิหารพระเมตไตรยโพธิสัตว์ อยู่ด้านหน้าวิหารพระรัตนตรัย ประดิษฐานพระศรีอารยเมตไตรยโพธิสัตว์ (หมี่เล็กผู่สัก) หันพระพักตร์สู่ประตูทางเข้าวัด และรูปพระสกันทะโพธิสัตว์ (อุ่ยท้อผู่สัก)ทำด้วยกระดาษ หันพระพักตร์สู่วิหารพระรัตนตรัย มุมสุดท้ายคือเทพเจ้าจี้กงและเทพเจ้าอื่นๆ