ข้ามไปเนื้อหา

ปราสาทบันทายศรี

พิกัด: 13°35′56″N 103°57′46″E / 13.59889°N 103.96278°E / 13.59889; 103.96278
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปราสาทบันทายศรี
ศาสนา
ศาสนาศาสนาฮินดู
จังหวัดจังหวัดเสียมราฐ
เทพพระศิวะ
ที่ตั้ง
ที่ตั้งเมืองพระนคร
ประเทศ กัมพูชา
ปราสาทบันทายศรีตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา
ปราสาทบันทายศรี
ที่ตั้งในประเทศกัมพูชา
พิกัดภูมิศาสตร์13°35′56″N 103°57′46″E / 13.59889°N 103.96278°E / 13.59889; 103.96278
สถาปัตยกรรม
ประเภทเขมรโบราณ
ผู้สร้างYajnavaraha
เสร็จสมบูรณ์967

ปราสาทบันทายศรี (เขมร: ប្រាសាទបន្ទាយស្រី ปราสาทบนฺทายศฺรี) เป็นปราสาทหินที่ถือได้ว่างดงามที่สุดในประเทศกัมพูชา มีความกลมกลืนอย่างสมบูรณ์ และเป็นปราสาทแห่งเดียวที่สร้างเสร็จแล้วกว่า 1000 ปี แต่ลวดลายก็ยังมีความคมชัด เหมือนกับสร้างเสร็จใหม่ ๆ

ปราสาทบันทายศรีหรือเรียกตามสำเนียงเขมรว่า บันเตียไสร หมายถึง ปราสาทสตรีหรือป้อมสตรี อยู่ห่างจากตัวเมืองเสียมราฐไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร ใกล้กับแม่น้ำเสียมราฐในบริเวณที่เรียกว่า อิศวรปุระ หรือเมืองของพระอิศวร

ประวัติ

[แก้]
แผนผังปราสาท

ปราสาทแห่งนี้สร้างอุทิศถวายพระอิศวรภายใต้พระนามว่า "ตรีภูวนมเหศวร" หรือ "ผู้เป็นใหญ่แห่งโลกทั้งสาม" ปราสาทมีขนาดเล็ก สร้างด้วยหินทรายสีชมพูซึ่งหายาก สร้างขึ้นเมื่อเดือนเมษายน - พฤษภาคม พ.ศ. 1510 โดยพราหมณ์ยัชญวราหะ ในตอนปลายของสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 (หรือพระเจ้า ชัยวรมันที่ 4 พ.ศ. 1487 - 1511) และเสร็จในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ. 1511-1554)

  1. ซุ้มประตูทางเข้า จำหลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณลวดลายมีความละเอียดสวยงามมาก
  2. ซุ้มทางซ้ายมือ จำหลักภาพพระอิศวรทรงโค มีพระอุมาเทวีประทับด้านซ้าย
  3. ซุ้มทางขวามือ มีรูปพระนารายณ์อวตารเป็นนรสิงห์

ผ่านประตูเข้าไปจะเห็นปราสาทองค์แรก สร้างอยู่เหนือฐานเดียวกันซึ่งสูง 90 เซนติเมตร ขนาบด้วยบรรณาลัย ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาตำราหรือวัตถุที่ใช้ในพิธีเคารพบูชา มีประตูเข้าทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซุ้มประตูหรือโคปุระนี้ ประดิษฐานปฏิมากรรมด้วยลวดลายที่งามวิจิตรอ่อนช้อย ลวดลายประดับที่ปราสาทบันทายศรี สลักเสลาอย่างวิจิตรบรรจง ไม่ว่าจะเป็นเทพธิดาหรือนางอัปสรา ก็เต็มไปด้วยความสง่างามและมีชีวิตจิตใจ

ในกรอบซุ้มปราสาทองค์แรก มีรูปพระศิวะกำลังร่ายรำ หรือที่เรียกว่า ศิวนาฏราช ท่ารำของพระองค์มีถึง 108 ท่า แต่ละท่ามีผลต่อฟ้าดิน หน้าบันของห้องสมุดทางด้านทิศใต้ สลักภาพพระอิศวรกำลังประทับนั่งอยู่เหนือเขาไกรลาศ

ที่หน้าบันห้องสมุดทางด้านทิศเหนือ แสดงภาพพระอินทร์กำลังบันดาลให้ฝนตกลงมา บนอาคารเดียวกันนี้ เหนือหน้าบันทางทิศตะวันตกแสดงภาพพระกฤษณะกำลังประหารพระยากงศ์ในพระราชวัง ภาพสลัก ณ ปราสาทบันทายศรี นอกจากความงดงามในฝีมือการสลักแล้ว ยังมีคุณค่าเกี่ยวกับมนุษย์อย่างลึกซึ้ง อันเห็นได้จากความรู้สึกที่แสดงออกมาจากภาพเหล่านั้น ซึ่งเป็นพยานหลักฐานชิ้นแรก ที่ทำให้เราทราบเกี่ยวกับชีวิตของชาวขอมในต้นพุทธศตวรรษที่ 16

นักเขียนชาวฝรั่งเศสชื่อ อองเดร มาลโรซ์ เจ้าของผลงาน เสน่ห์ตะวันออก เดินทางมาชมปราสาทนี้เมื่อ พ.ศ. 2466 ได้ใช้เลื่อยและลิ่มสกัดเอาซอกมุมรูปนางอัปสราออกไป 6 ชิ้น มาลโรซ์กับเพื่อนถูกจับบนเรือกลไฟที่พนมเปญ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้นเอง

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2467 ศาลที่พนมเปญตัดสินให้จำคุกมาลโรซ์เป็นเวลา 3 ปีและเพื่อนได้รับโทษจำคุก 8 เดือนแต่รอลงอาญาทั้งคู่ สิ่งของที่ขโมยออกไปนั้นถูกนำกลับมาไว้ที่เดิมในปี พ.ศ. 2467

หลังจากกลับไปยังปารีส เขาได้ออกหนังสือพิมพ์ชื่ออินโดจีน เผยแพร่เรื่องราวของปราสาทในกัมพูชา ด้วยผลงานที่เป็นนักศิลปะจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2502

ระเบียงภาพ

[แก้]