ข้ามไปเนื้อหา

ปราสาทนาคพันธ์

พิกัด: 13°44′2″N 104°26′38″E / 13.73389°N 104.44389°E / 13.73389; 104.44389
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สระน้ำตรงกลางของปราสาทนาคพันธ์
ถนนไปที่วัด

ปราสาทนาคพันธ์ (เขมร: ប្រាសាទនាគព័ន្ធ บฺราสาทนาคพันฺธ; อักษรโรมัน: Neak Pean / Neak Poan) [1] เป็นปราสาทขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนฐานกลมที่มีลักษณะซ้อนลดหลั่นกันลงไปเป็นชั้น ๆ ชั้นสุดท้ายเป็นรูปพญานาค 7 เศียร 2 ตัว โอบล้อมฐานของปราสาทโดยหันส่วนหัวไปทางทิศตะวันออก และส่วนหาง วนอ้อมฐานมาบรรจบกันทางทิศตะวันตก ที่ฐานของปราสาทจำหลักรูปดอกบัวรองรับตัวปราสาท และมีรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรประดิษฐานอยู่ที่ปราสาททั้ง 4 ทิศ

ปราสาทนาคพันธ์ สร้างอยู่กลางสระสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดใหญ่ มีบ่อน้ำขนาดเล็กตั้งอยู่โดยรอบทั้ง 4 ทิศ แต่ละบ่อมีส่วนที่เชื่อมต่อกับสระใหญ่ตรงกลางเพื่อให้น้ำจากสระใหญ่สามารถไหลไปสู่บ่อเล็กได้ การก่อสร้างปราสาทนาคพันธ์น่าจะเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อทางศาสนา ผังของปราสาทเป็นลักษณะการจำลองของสระอโนดาต [2] สระอโนดาตเป็นสระน้ำบนสวรรค์มีน้ำที่ใสสะอาดและเต็มเปี่ยมอยู่ตลอดเวลา มีท่าน้ำอยู่ 4 ท่า น้ำในสระอโนดาตจะไหลออกตามช่องภูเขาที่ตั้งอยู่ทั้ง 4 ทิศของสระ ซึ่งปากช่องของภูเขาแต่ละลูกจะเป็นรูปหน้าของสัตว์ 4 ชนิด คือ สิงห์ ช้าง ม้า และวัว [3]

ใน "ย้อนรอยอารยะเมืองพระนคร" ซึ่งเขียนโดย ชากส์ คูมาร์เชย์ และแปลโดยอาจารย์วีระ ธีรภัทร ได้กล่าวถึงรูปจำหลักในทิศทั้ง 4 ของปราสาทนาคพันธ์ว่า ที่สระน้ำทางทิศตะวันตกมีหินสลักเป็นรูปหัวมนุษย์ สระน้ำทางทิศเหนือมีหินสลักเป็นรูปหัวช้าง สระน้ำทางทิศตะวันออกมีหินสลักเป็นรูปหัวม้า และสระน้ำทางทิศใต้มีหินสลักเป็นรูปหัวสิงห์ [4] จะเห็นว่าช่างขอมจำหลักรูปหน้าสัตว์ประจำทิศในแต่ละทิศตามคติความเชื่อเรื่องสระอโนดาต แต่ในทิศตะวันตกกลับจำหลักรูปหน้าคนแทนหน้าวัว

คติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการสร้างปราสาทนาคพันธ์มีทั้งความเชื่อทางพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูปะปนกัน ตัวปราสาทกลางสระสร้างตามความเชื่อทางศาสนาพุทธ แต่ไม่ปรากฏรูปพระพุทธเจ้ากลับมีรูปสลักของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแทน [5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "แอบชมลายขอม" > เสนีย์ เกษมวัฒนากุล, บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2539, หน้า 78
  2. "ชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรกัมพูชา", วรรณวิภา สุเนต์ตา, สำนักพิมพ์มติชน, 2548, หน้า 66,68
  3. "ประวัติวรรณคดี", รศ.ประจักษ์ ประภาพิทยากร
  4. "ย้อนรอยอารยะเมืองพระนคร", ชากส์ คูมาร์เชย์ (เขียน) วีระ ธีรภัทร (แปล), สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548, หน้า 75
  5. "แอบชมลายขอม" > เสนีย์ เกษมวัฒนากุล, บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2539, หน้า 80

13°44′2″N 104°26′38″E / 13.73389°N 104.44389°E / 13.73389; 104.44389