การสวรรคตของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7
พระเมรุมาศ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7
พระเมรุมาศ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7
การสวรรคต
พระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7
วันสวรรคต22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 (39 ปีที่แล้ว)
สถานที่สวรรคตพระตำหนักวังศุโขทัย
ประดิษฐานพระบรมศพพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
พระโกศพระโกศทองใหญ่
ฉัตรพระสัปตปฎลเศวตฉัตร
พระเมรุพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ9 เมษายน พ.ศ. 2528 (39 ปีที่แล้ว)
ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
ประดิษฐานพระสรีรางคารพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคตเมื่อวันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เวลา 15.50 น. ณ พระตำหนักวังศุโขทัย รัฐบาลประกาศไว้ทุกข์มีกำหนด 15 วัน ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง[1]

พระอาการประชวรก่อนสวรรคต[แก้]

ก่อนเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ทรงเริ่มประชวรด้วยพระโรคความดันโลหิตสูงและเส้นพระโลหิตในสมองตีบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 และได้ทรงอยู่ในความดูแลของนายแพทย์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ในระหว่างที่ประชวรอยู่นี้ ทรงงดเสด็จพระราชดำเนินออกงานต่างๆ และทรงงดกีฬากอล์ฟซึ่งเคยทรงเป็นประจำ แต่ก็ยังคงทรงประกอบพระราชกรณียกิจบางประการ เช่น ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในโอกาสต่างๆ หรือโปรดเกล้าฯ ให้บุคคลเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่ทรงใช้เวลาพักผ่อนพระราชอิริยาบถอยู่บนพระตำหนักวังศุโขทัย เวลาเย็นจะประทับรถเข็นทอดพระเนตรต้นไม้ในบริเวณพระตำหนักเป็นเวลา 45 นาที พระราชกิจประจำวันของพระองค์เป็นไปอย่างปกติเสมอมา[2]โดยทรงปรากฏพระองค์ครั้งสุดท้าย ผ่านพระบรมฉายาลักษณ์หมู่ที่ทรงฉายร่วมกับพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และ พระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงเยี่ยมและติดตามพระอาการพระประชวรของพระองค์ ณ วังศุโขทัย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เดือนเมษายน พ.ศ. 2527

สวรรคต[แก้]

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ในตอนเช้ายังทรงพระสำราญเป็นปกติ ต่อมาทรงมีพระอาการปวดพระนาภีเล็กน้อย แพทย์ได้ถวายการตรวจรักษาและลงความเห็นว่า ถุงน้ำดีอักเสบ จึงถวายพระโอสถบำบัดพระอาการ จากนั้นเข้าที่บรรทม เมื่อตื่นบรรทมในตอนบ่ายก็มีพระอาการประชวรเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและเสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวาย (หัวใจวาย) โดยพระอาการสงบ เมื่อเวลา 15.50 น. ณ พระตำหนักวังศุโขทัย สิริรวมพระชนมายุ 79 พรรษา 5 เดือน 1 วัน[3]

ในวันเดียวกันนั้น สำนักพระราชวังได้ออกประกาศการเสด็จสวรรคตให้ประชาชนชาวไทยทราบ ดังความต่อไปนี้

สำนักพระราชวัง รับสนองพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ประชวรสวรรคตด้วยพระหทัยวาย โดยพระอาการสงบ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๗ เวลา ๑๕ นาฬิกา ๕๐ นาที ณ พระตำหนักวังศุโขทัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเศร้าสลดพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และทรงอาลัยระลึกถึงพระคุณูปการที่ทรงมีพระจริยาวัตรตั้งอยู่ในสัจธรรมและขันติธรรมอย่างมั่นคง เป็นที่เคารพสักการะอย่างยิ่งของพระองค์ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดการพระบรมศพ ถวายพระเกียรติยศตามราชประเพณี ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนักไว้ทุกข์ถวายมีกำหนด ๑๐๐ วัน ตั้งแต่วันเสด็จสวรรคตเป็นต้นไป

— สำนักพระราชวัง วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๗ [4]

เชิญพระบรมศพไปยังพระบรมมหาราชวัง[แก้]

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระนามาภิไธยในเวลานั้น) เสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ไปยังพระตำหนักวังศุโขทัย เพื่อทรงอำนวยการเชิญพระบรมศพเป็นการภายใน ไปยังพระที่นั่งพิมานรัตยา ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อประกอบพระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพตามราชประเพณี

เวลา 13.30 นาที ก่อนเชิญพระบรมศพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินขึ้นถวายน้ำพระสุคนธ์สรงพระบรมศพเป็นการภายใน เสร็จแล้วแพทย์หลวงจึงได้เชิญพระบรมศพโดยรถพยาบาล มีราชองครักษ์ พยาบาล พร้อมด้วยพระญาติผู้ใกล้ชิดติดตามในรถพยาบาล รถเชิญพระบรมศพเคลื่อนออกจากวังศุโขทัยเมื่อเวลา 13.45 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับรถยนต์พระที่นั่งตามรถเชิญพระบรมศพ และรถยนต์ของข้าราชบริพารร่วมในกระบวนเสด็จด้วย

ขบวนรถเชิญพระบรมศพออกจากวังศุโขทัยไปตามถนนสามเสน แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนศรีอยุธยา เมื่อถึงลานพระบรมรูปทรงม้าเลี้ยวขวาเข้าถนนราชดำเนินนอก ผ่านถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินใน แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนหน้าพระลาน โดยมีประชาชนเฝ้าฯ ถวายสักการะพระบรมศพอยู่ตลอดเส้นทาง ขบวนรถเชิญพระบรมศพเคลื่อนเข้าสู่พระบรมมหาราชวังทางประตูเทวาภิรมย์ด้านถนนมหาราช ผ่านประตูศรีสุนทรไปเข้าประตูพรหมโสภา ซึ่งเป็นประตูเข้าพระราชฐานฝ่ายในระหว่างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมุขตะวันตกกับพระที่นั่งราชกรัณยสภา รถพยาบาลมาถึง เทียบรถเชิญพระบรมศพที่ลานข้างพระที่นั่งพิมานรัตยา อันเป็นสถานที่ถวายน้ำสรงพระบรมศพ ตามพระราชอิสริยยศ[3]

การถวายถวายน้ำสรงและประดิษฐานพระบรมศพ[แก้]

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เวลา 15.30 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และเรืออากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศริน พระสวามีในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จากพระที่นั่งบรมพิมาน มายังพระที่นั่งพิมานรัตยา ทหารกองเกียรติยศที่หน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี รถยนต์พระที่นั่บเทียบที่ประตูกำแพงแก้วข้างพระที่นั่งราชกรัณยสภา เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระที่นั่งพิมานรัตยา แล้วเสด็จเข้าในพระฉากซึ่งพระบรมศพบรรทมอยู่บนพระแท่น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับหม้อน้ำและผอบน้ำขมิ้น น้ำพระสุคนธ์จากเจ้าพนักงานสนมพลเรือน ถวายสรงที่พระอุระพระบรมศพ แล้วทรงคม ขณะนั้น เจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตรฝรั่ง แตรงอน ปี่ กลองชนะ ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี หยุดประโคมเมื่อประดิษฐานพระโกศพระบรมศพที่พระแท่นสุวรรณเบญจดลเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับขวดพระสุคนธ์จากท้าวโสภานิเวศน์ ถวายสรงที่พระบาทพระบรมศพ แล้วทรงกราบราบที่หน้าพระแท่น เสร็จแล้ว เสด็จฯไปประทับพระราชอาสน์ที่นอกพระฉาก จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานรัฐสภา นายบัญญัติ สุชีวะ ประธานศาลฎีกา และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร พลเรือน เข้าไปถวายบังคมสรงน้ำพระบรมศพที่พระบาทตามลำดับ

เมื่อเสร็จพิธีการถวายสรงพระบรมศพแล้ว เจ้าพนักงานภูษามาลาถวายฉลองพระองค์ไหมไทยยกดอกลายไทยสีทองพื้นขาวตามพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมราชินี เสร็จแล้ว นายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ เลขาธิการพระราชวัง กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯไปทรงหวีพระเกศาขึ้นครั้งหนึ่ง หวีลงครั้งหนึ่ง แล้วหวีกลับขึ้นอีกครั้งหนึ่งด้วยพระสางวงเดือน ทำด้วยไม้จันทน์ แล้วทรงหักพระสางนั้นวางไว้ในพานซึ่งเจ้าพนักงานเชิญอยู่ เสร็จแล้วเสด็จฯไปประทับพระราชอาสน์ที่เดิม จากนั้นเจ้าพนักงานภูษามาลาถวายเครื่องพระสุกำพระบรมศพให้ทรงอยู่ในลักษณะประทับนั่งคุกพระชานุทั้งสองยกขึ้นแนบเสมอพระองค์ ประนมพระหัตถ์ ระหว่างพระหัตถ์ถวายซองพระศรีทองคำลงยาบรรจุดอกบัวตูมดอก 1 ธูปไม้ระกำ 1 เทียนเล็ก 1 เป็นเครื่องสักการะพระจุฬามณี แล้วเจ้าพนักงานภูษามาลาถวายแผ่นทองจำหลักลายดุนมีพระกรรณปิดที่พระพักตร์พระบรมศพ จากนั้นเจ้าพนักงานภูษามาลาปูผ้าขาว 3 ผืน ปูซ้อนเป็นรูปหกแฉก เชิญพระบรมศพประทับบนผ้าขาว แล้วรวบซ้าย ประชุมไว้เหนือพระเศียร ถวายสุกพด้วยด้ายดิบ ปล่อยชายไว้สำหรับสอดออกไปต่อกับพระภูษาโยง จากนั้น เจ้าพนักงานอัญเชิญพระบรมศพลงสู่พระโกศลองในโลหะเล็กหล่อปิดทอง วางพระเขนยจีบ หนุนรอบพระองค์กันเอียง เสร็จแล้ว นายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ เลขาธิการพระราชวัง กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จไปถวายพระชฎาสวดที่พระเศียรพระบรมศพแล้วเสด็จฯไปประทับพระราชอาสน์ที่เดิม เจ้าพนักงานปิดฝาพระโกศลองในแล้วถวายคลุมตาดทอง พร้อมที่จะเชิญไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท นายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ เลขาธิการพระราชวัง กราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตำรวจหลวงเข้าถวายบังคมยกเชิญลงจากพระแท่นบรรทมลงมาตั้งที่พระสุจหนี่เยียรบับ นายทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าถวายบังคมยกเชิญพระโกศพระบรมศพออกมาจากพระที่นั่งพิมานรัตยาไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทโดยตำรวจหลวงนำ ผ่านทางมุขกระสันซึ่งเชื่อมต่อพระที่นั่งทั้งสององค์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินตาม พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และเรืออากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศรินฯ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตามโดยลำดับ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเข้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว ทรงยืนที่พระราชอาสน์ เมื่อนายทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เชิญพระโกศทรงพระบรมศพขึ้นเกยบันใดที่เทียบพระแท่นสุวรรณเบญจดล แล้วตำรวจหลวงเข้าเชิญขึ้นสู่พระเบญจาทองคำ แล้วลงมาถวายบังคม เจ้าพนักงานสนมพลเรือนรับเชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นประดิษฐานในบุษบกภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร แล้วลงมาถวายบังคม เจ้าพนักงานสนมพลเรือนเข้าประกอบพระลองทองใหญ่ ดอกไม้เอว พุ่ม เฟื่อง ดอกประจำยาม ที่ริมฝาพระลองยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ ดอกไม้เทศ และตั้งแต่งเครื่องพระอภิรุมชุมสายหักทองขวาง พุ่มดอกไม้ทองเงิน เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศและเครื่องราชูปโภค

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ทรงวางพวงมาลา และเรืออากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศรินฯ วางพวงมาลาแทนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ตามลำดับ ขณะนั้น ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร ปี่ กลองชนะ แล้วพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและเครื่องทองน้อย ถวายบังคมพระบรมศพ แล้วประทับพระราชอาสน์

จากนั้น เจ้าหน้าที่กรมการศาสนานิมนต์พระสงฆ์ พระราชาคณะ พระครูสัญญาบัตรจากวัดมหาธาตุ 15 รูป วัดพระเชตุพน 15 รูป วัดสุทัศนเทพวราราม 12 รูป วัดบวรนิเวศวิหาร 10 รูป วัดราชาธิวาส 10 รูป วัดจักรวรรดิราชาวาส 10 รูป วัดราชบพิธ 7 รูป รวม 79 รูป เท่าพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ขึ้นนั่งยังอาสนสงฆ์เพื่อสดับปกรณ์ เมื่อพระสงฆ์ขึ้นเที่ยวแรกพร้อมแล้ว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระพุทธรูปที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงกราบ แล้วเสด็จฯไปประทับพระราชอาสน์ เจ้าพนักงานภูษามาลาลาดพระภูษาโยงจากที่ประดิษฐานพระบรมศพ และนำสอดเชื่อมกับพระภูษาโยงอีกสายหนึ่งบนพานพระมหากฐินข้างธรรมมาสน์เทศน์ แล้วลาดพระภูษาโยงต่อไปที่ด้านหน้าพระสงฆ์ 15 รูป เสร็จแล้ว ถวายความเคารพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯไปทรงทอดผ้าไตรพระสงฆ์ทั้ง 15 รูป พระสงฆ์สดับปกรณ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก ขณะนั้น พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ชาวพนักงานประโคม สังข์ แตรฝรั่ง แตรงอน ปี่พาทย์ จากนั้น พระสงฆ์เที่ยวต่อไปขึ้นนั่งยังอาสนสงฆ์และสดับปกรณ์จนครบ 79 รูป เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯไปทรงกราบพระพุทธรูปที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร แล้วเสด็จไปกราบถวายบังคมพระบรมศพ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ และเสด็จฯผ่านแถวข้าราชการที่มาเฝ้าฯอยู่ทางมุขเหนือ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปยังพระแท่นมณฑลสำหรับพระสวดพระอภิธรรม พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชากระบะมุกที่หน้าพระแท่นมณฑล พระพิธีธรรมเที่ยวละ 4 รูป เริ่มสวดพระอภิธรรมโดยสวดสลับกัน เสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินลงทางบันไดด้านตะวันตกของมุขเหนือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และเรืออากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศรินฯ ตามเสด็จฯไปประทับรถยนต์พระที่นั่งที่ประตูกำแพงแก้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อเวลา 17.30 น. รถยนต์พระที่นั่งผ่านหน้ากองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี[5]

การบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพ[แก้]

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 7 วัน

วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งบรมพิมาน ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

เวลา 16.30 น. เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงวางพวงมาลา แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยและเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมศพ ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธรูปที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระสงฆ์ 30 รูป สวดพระพุทธมนต์ จบ ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ที่จะถวายพระธรรมเทศนาและสวดธรรมคาถาขึ้นนั่งยังอาสนะ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม สมเด็จพระราชาคณะถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนา จบ พระ 4 รูปสวดธรรมคาถา แล้วทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์และทรงทอดผ้า พระสงฆ์ทั้งนั้นสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุดธูปเทียนที่เตียงพระสวดพระอภิธรรม เสด็จพระราชดำเนินกลับ

วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งบรมพิมาน ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

เวลา 10.30 น. เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยและเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธรูปที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระสงฆ์ 30 รูป ที่สวดพระพุทธมนต์แต่วันก่อน สวดถวายพรพระ จบ ทรงประเคนภัตตาหาร พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน เสร็จแล้ว ทรงทอดผ้า พระสงฆ์ทั้งนั้นสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ที่จะถวายพระธรรมเทศนาและสวดธรรมคาถาขึ้นนั่งยังอาสนะ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายศีลและถวายพระเทศนา จบ พระ 4 รูปสวดธรรมคาถา ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์และทรงทอดผ้า พระสงฆ์ทั้งนั้นสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา แล้วทรงทอดผ้าพระสงฆ์อีก 79 รูปเท่าพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินกลับ[5]

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 50 วัน

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ[แก้]

งานพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ

วันจันทร์ที่ 8 เมายน พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดําเพินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตําหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ผ่านหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทหหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที เสด็จพระราชดําเนินขึ้นสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและเครื่องทองน้อยถวายสักการะพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ทหารกองเกียรติยศ

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้สถานที่ราชการลดธงครึ่งเสา เนื่องในการที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ สวรรคต, เล่ม ๑๐๑, ตอน ๖๗ ง ฉบับพิเศษ, ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๗, หน้า ๓
  2. จดหมายเหตุงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗
  3. 3.0 3.1 จดหมายเหตุงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗
  4. จดหมายเหตุงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗
  5. 5.0 5.1 จดหมายเหตุงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗