กองดุริยางค์ทหารเรือ
บทความนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน มีเนื้อหา รูปแบบ หรือลักษณะการนำเสนอที่ไม่เหมาะสมสำหรับสารานุกรม |
มีข้อสงสัยว่าบทความนี้อาจละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ระบุไม่ได้ชัดเจนเพราะขาดแหล่งที่มา หรืออ้างถึงสิ่งพิมพ์ที่ยังตรวจสอบไม่ได้ หากแสดงได้ว่าบทความนี้ละเมิดลิขสิทธิ์ ให้แทนป้ายนี้ด้วย {{ละเมิดลิขสิทธิ์}} หากคุณมั่นใจว่าบทความนี้ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ ให้แสดงหลักฐานในหน้าอภิปราย โปรดอย่านำป้ายนี้ออกก่อนมีข้อสรุป |
บทความนี้ต้องการข้อความอธิบายความสำคัญที่กระชับ และสรุปเนื้อหาไว้ย่อหน้าแรกของบทความ |
ประวัติกองดุริยางค์ทหารเรือ
[แก้]กองดุริยางค์ทหารเรือ เก็บถาวร 2010-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ได้มีมาตั้งแต่ก่อนตั้งหน่วยทหารเรือเป็นกรมทหารเรือ โดยเริ่มมีขึ้นตั้งแต่การก่อตั้ง “กรมทหารแตรมะรีน” เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2421 ในสมัยที่เรือพระที่นั่งเวสาตรีเข้ามาถึงใหม่ ๆ มี ร้อยเอกฟุสโก[ลิงก์เสีย] (Captain M. Fusco) เป็นครูและเป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่สำหรับบรรเลงในงานเกียรติยศและสำหรับลงประจำเรือพระที่นั่ง เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทางทะเล ทั้งในอ่าวไทยและในต่างประเทศ เช่น เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2440 ทางราชการได้จัดให้หน่วยดุริยางค์ภายใต้บังคับบัญชาของร้อยเอกฟุสโก ลงประจำเรือพระที่นั่งมหาจักรีเดินทางไปยุโรปด้วย ซึ่งกรมทหารแตรมะรีนในขณะนั้น คือ กองดุริยางค์ทหารเรือ ฐานทัพเรือกรุงเทพในปัจจุบัน
ปี พ.ศ. 2421 ทางราชการได้สั่งซื้อเรือเวสาตรีเข้ามาเป็นเรือพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หลวงชลยุทธโยธินทร์ (Andre du Plesis de Richelieu) ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกรมแสง เป็นผู้บังคับการเรือพระที่นั่งเวสาตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง ทหารที่ลงประจำเรือพระที่นั่งเวสาตรี ก็เป็นทหารของกรมแสงทั้งหมด (กรมยุทธการทหารบก 2541:227)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ครูทหารไทยที่ได้รับการฝึกจากอย่างฝรั่งมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 ชื่อครูเลิงเชิง นัยว่าเป็นญวน (ต่อมาเป็นขุนเจนกระบวนหัด) ครูสอนทหารมหาดเล็กในพระองค์ไปเป็นครูทหารเรือ ให้คุมทหารเรือมีหน้าที่ประจำเรือพระที่นั่ง และได้เป็นผู้คุมฝึกให้เกิดเป็นทหารแตรประจำเรือพระที่นั่งต่อมา สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงคาดว่าครูเลิงเชิงเดิมมีเชื้อสายญวนหรือมอญ เมื่อย้ายไปเป็นทหารเรือ หรือสมัยนั้นเรียกว่าทหารมารีน ต้องใช้แตรวงประจำเรือโดยเฉพาะเรือพระที่นั่ง ก็มีครูแตรเป็นญวนอีกคนหนึ่งชื่อครูตั๊ง สอนได้ไม่นานก็ถึงแก่กรรม (พูนพิศ อมาตยกุล 2529 :-)
บันทึกจากสาส์นสมเด็จ ซึ่งเป็นจดหมายโต้ตอบระหว่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนริศรานุวัติวงศ์กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2484 ได้กล่าวถึงเรือรบเทนเนสซี่ของทหารเรืออเมริกัน ซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า “เรือเทนเนสซี่ที่เข้ามา มีนายพลเรือชื่อเรโนลด์ควบคุมมา ได้ยกแตรวงจากเรือรบนี้ขึ้นมาบรรเลงให้คนไทยฟังที่กรุงเทพฯ พระยาประภากรวงศ์ (ชาย บุญนาค) ขณะนั้นเป็นผู้บังคับการกรมทหารมารีนอยู่ ได้พบปะรู้จักกับครูแตรทหารอเมริกันจากเรือนี้ ชื่อ ฟุสโก (Fusco) ชอบใจจึงชวนให้มารับราชการเป็นครูแตรทหารเรือแทนครูตั้งที่ถึงแก่กรรม” ร้อยเอกฟุสโก เดิมเป็นชาวอิตาเลียน โอนสัญชาติเป็นอเมริกัน (สุกรี เจริญสุข วารสารเพลงดนตรี 2537:37)
นอกจากจะปรากฏในสานส์สมเด็จแล้ว หนังสือสารบาญบัญชีกรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2426 ก็ได้อ้างไว้เด่นชัดเช่นกันว่าเป็นกัปตันและมารับหน้าที่เป็นนายวงแตรทหารมารีน (Captain M.Fusco, Band Master Royal Siamese Navy) แสดงว่าครูฟุสโก้ผู้นี้ เข้ามาอยู่เมืองไทยก่อนปี พ.ศ. 2426 แน่นอน สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายต่อด้วยว่า ครูฟุสโกนี้เดิมเป็นชาวอิตาเลียน แล้วโอนสัญชาติเป็นอเมริกัน มาเป็นทหารเรืออเมริกัน แล้วจึงมาอยู่เมืองไทย เข้าใจว่าอยู่เมืองไทยระหว่าง พ.ศ. 2421-2445 จึงลาออกไป ตลอดเวลาได้เป็นครูแตรทหารเรือ ดังนั้นทหารเรือจึงได้ชื่อว่าเล่นเพลงฝรั่งเก่ง (พูนพิศ อมาตยกุล กองดุริยางค์ทหารบก 2529)
กองดุริยางค์ทหารเรือเริ่มมีในอัตรากำลังกองทัพเรือเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2448 มีชื่อว่า “กองแตร” ขึ้นกับกรมทหารเรือฝ่ายบก มีนายเรือโทผู้ช่วย (เรือเอก) หลวงพิมลเสนี[ลิงก์เสีย] (หลำ) เป็นผู้บังคับกอง ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ นอกจากทรงเป็นนักปกครองที่ดีเลิศแล้ว พระองค์ยังทรงนำความเจริญมาให้แก่กองทัพเรืออย่างมากมาย และเนื่องจากทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากประเทศเยอรมัน พระองค์ได้ทรงปรับปรุงกองทัพเรือไทยให้เหมาะสมกับกาลสมัย รวมทั้งกองแตรด้วย พระองค์โปรดดนตรีมากโดยเฉพาะดนตรีไทย ทรงเล่นเครื่องมือได้แทบทุกชนิด ส่วนดนตรีสากลทรงเล่นเปียโนได้และทรงเข้าพระทัยวิธีเคาะจังหวะเพลง ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือก็ทรงสนพระทัยในแตรวงทหารเรือมาก ทรงพยายามให้ “กองแตร” เจริญและพัฒนาขึ้น ทรงกำหนดหลักสูตรการศึกษาวิชาการดนตรี เรียกว่า “วิชาการแตร” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449 นับว่าแตรวงทหารเรือได้เจริญขึ้นอย่างมากสมดังพระประสงค์ของพระองค์ท่าน
ในปี พ.ศ. 2453 ขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปเมืองเพชรบุรี พระองค์ได้นำทหารแตรรุ่นหนุ่มไป 4 นาย เพื่อฝึกหัดเป่าแตรให้ชำนาญ หนึ่งในนั้นคือ ว่าที่เรือตรีสุทธิ์ ศรีชญา ภายหลังย้ายไปเป็นครูแตรทหารบก รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พันตรีหลวงประสานดุริยางค์ นอกจากนั้นยังทรงหาแผ่นเสียงจากต่างประเทศมาให้หัดฟังเป็นแบบอย่าง ทรงนิพนธ์เพลงไทยเขียนเป็นโน้ตสากลประทานให้ทหารแตรเป่าหลายเพลง เช่น เพลงแขกมอญบางขุนพรหม ซึ่งนิพนธ์ขึ้นขณะตามเสด็จประพาสเพชรบุรีในครั้งนั้น โดยมี ว่าที่เรือตรีสุทธิ์ ศรีชญา[ลิงก์เสีย] เป็นผู้เป่าแตรคอร์เน็ต (Cornet) เพื่อตรวจสอบเพลงให้ถูกต้องขณะทรงนิพนธ์ นอกจากนี้ยังมีเพลงเขมรพวง 3 ชั้น เพลงเขมรชมจันทร์ ซึ่งทรงดัดเพลงจากเพลงไทยเดิม คือเพลงบุหลันชกมวย 2 ชั้น ซึ่งเป็นเพลงทำนองเพลงเขมรเพื่อประทานให้แตรวงทหารเรือเป่านำแถวทหารในการปฏิบัติราชการต่าง ๆ เพลงสารถี 3 ชั้นทรงนิพนธ์ขึ้นเป็นทางเดี่ยวสำหรับแตรคอร์เน็ต โดยตั้งพระทัยไว้ให้เฉพาะพันตรีหลวงประสานดุริยางค์ เป่าแตรคอร์เน็ตประจำแตรวงทหารเรือ ซึ่งไม่มีผู้ใดเป่าได้ดีเท่า และยังมีอีกหลายเพลง เช่น เพลงสะบัดสะบิ้ง เพลงถอนสมอ เพลงทยอยเขมร เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นการบรรเลงของแตรวงโดยเฉพาะ
คราวใดที่ต้องทรงงานหนักหรือมีอุปสรรคในพระดำริที่ยังไม่ชัดแจ้งแล้ว ทรงแก้พระอารมณ์ขุ่นมัวโดยการเสด็จมาที่กองแตรวงเพื่อทรงฟังการฝึกซ้อมดนตรีในเวลาบ่าย และบางคราวก็ทรงฝึกด้วยพระองค์เอง ครั้งหนึ่งมีครูดนตรีชาวเยอรมันชื่อ โปรเฟสเซอร์เซลิค (Paul J. Seelig) (อนุรักษ์ บุญแจะ วงโยธวาทิตกองทัพเรือ 2539:37) มาจากชวามาเที่ยวเมืองไทยก็ทรงนำมาช่วยแนะนำและเคาะจังหวะเพลงคุมทหารแตรเวลาเป่าให้ชำนาญยิ่งขึ้น กองแตรวงทหารเรือในสมัยนั้นจึงมีชื่อเสียงมากกว่ากองแตรของที่อื่น ๆ แม้แต่กองแตรวงทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ขอนายทหารจากกองแตรวงทหารเรือไปเป็นผู้บังคับบัญชาแตรวง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ทรงพระนิพนธ์ เพลงวอลทซ์ประชุมพล เป็นโน้ตสากลให้แตรวงทหารเรือบรรเลงและตั้งพระทัยให้เป็นเพลงประจำกรมทหารเรือ ทรงดัดแปลงเพลงไทยเดิมชื่อเพลงแสนเสนาะ ให้เป็นทำนองเดี่ยว (Solo) คอร์เน็ตชื่อเพลงสุดเสนาะ โดยมีพระประสงค์ให้ตรงกับชื่อ ว่าที่เรือตรีสุทธิ์ ศรีชญา ซึ่งขณะนั้นเป็นนักเรียนแตรวงทหารเรือ ทรงดัดแปลงเพลงอกทะเลหรือทะเลบ้าและเพลงคลื่นกระทบฝั่ง 2 ชั้นเป็นเพลงมาร์ชชื่อสาครลั่นสำหรับนำแถวทหารเรือเวลาเดิน ยังมีอีกหลายเพลงที่ทรงดัดแปลงจากเพลงไทยเดิม แก้ไขเป็นโน้ตสากลสำหรับแตรวงบรรเลง เช่น เพลงนางครวญ 3 ชั้น เพลงวอลทซ์เมขลา และเพลงมณฑาทอง เป็นต้น
อนุรักษ์ บุญแจะ กล่าวไว้ใน วงโยธวาทิตกองทัพเรือ (2539:39) ว่า เมื่อ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงว่างราชการมักเสด็จไปคุมแตรวงทหารให้ฝึกซ้อมเพลงฝรั่ง วงดุริยางค์ราชนาวีนั้น ทรงเคี่ยวเข็ญมากที่สุดเป็นอันดับแรก มีนายทหารสองนายที่ทรงเคี่ยวเข็ญมากจนสามารถบรรเลงเพลงได้ดี คือ เรือตรีสุทธิ์ ศรีชญา (ต่อมาเป็น พันตรีหลวงประสานดุริยางค์) ทรงเคี่ยวให้เป่าแตรคอร์เนทจนได้ชื่อว่าเป็นนักเป่าแตรคอร์เนทที่ดีที่สุดของกองทัพเรือ อีกนายมียศจ่าชื่อเคี้ยง เป่าปี่โอโบ ทรงเคี่ยวเข็ญจนเป่าได้ชัดถ้อยชัดคำเหมือนคำพูดถึงกับได้ประทานนามสกุลให้ว่าโอบายวาท แปลว่า เป่าปี่โอโบได้ชัดเหมือนคำพูด
ประเทศไทยในสมัยนั้นมีแตรวงของทหารเรือและทหารบกเท่านั้น ของเอกชนคงมีแต่พิณพาทย์กับมโหรี แตรวงทหารเรือเก่งเพลงฝรั่งเพราะครูเป็นฝรั่ง แตรวงทหารบกเก่งเพลงไทยเพราะครูเป็นคนไทย ตอนบ่ายเวลาสี่โมงครึ่งจนถึงเวลาธงลง แตรวงทหารเรือตั้งวงบรรเลงหน้ากรมทหารเรือ แตรวงทหารบกตั้งวงบรรเลงหน้ากระทรวงกลาโหม พอถึงเวลาเลิกงาน ข้าราชการและประชาชนที่ต้องการฟังเพลงไทยก็ไปฟังแตรวงทหารบก คนที่ต้องการฟังเพลงฝรั่งก็ไปฟังแตรวงทหารเรือ เวลาบรรเลงแข่งขันกันถ้าเป็นเพลงฝรั่งทหารเรือก็ชนะ หากเป็นเพลงไทยทหารบกจะชนะเป็นอย่างนี้ทุกคราวไป
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสพักแรมที่พระราชวังบางปะอิน เจ้าหน้าที่ทุกเหล่าพร้อมทั้งแตรวงทหารบกและแตรวงทหารเรือตามเสด็จด้วย วันหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสำราญพระราชหฤทัย มีรับสั่งให้แตรวงของทหารบกและทหารเรือบรรเลงแข่งขันกัน ตั้งวงใกล้กันริมสระน้ำพระราชวังบางปะอิน บรรเลงสลับกันตั้งแต่ 4 โมงเย็นจนถึงย่ำค่ำ ถึงเพลงชิงรางวัลให้ทหารบกบรรเลงก่อน บรรเลงไปได้ระยะหนึ่ง ร้อยเอกฟุสโก้ ครูแตรวงทหารเรือก็ควักมะนาวมาจากกระเป๋าเสื้อ 1 ลูกผ่าเป็น 2 ชิ้นจิ้มเกลือคลุกน้ำตาลรับประทานต่อหน้าแตรวงทหารบก ทำปากแบบเปรี้ยวจี๊ดจ๊าด แตรวงทหารบกเห็นเข้าก็น้ำลายไหลเข้าท่อลมเสียงฟ่อดแฟ่ด ถึงคราวแตรวงทหารเรือบรรเลงก็ไพเราะชัดเจนน่าฟัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวล รับสั่งว่าทหารเรือเก่งมากให้เป็นที่ 1 พระราชทานรางวัลผ้าห่มขนหนูคนละผืนและเงินคนละ 3 ตำลึง (12 บาท)
ปี พ.ศ. 2478 กองแตรเปลี่ยนชื่อเป็น “หมวดดุริยางค์ทหารเรือ” ขึ้นการบังคับบัญชากับสถานีทหารเรือกรุงเทพ มีการขยายอัตรากำลังพลเพิ่มขึ้น แบ่งส่วนราชการออกเป็น 2 ส่วน คือ แผนกแตรวง และแผนกซอฝรั่ง จนถึงปี พ.ศ. 2486 ได้ขยายหน่วยใหญ่ขึ้นและเรียกชื่อใหม่เป็น “กองดุริยางค์ทหารเรือ” ในปี พ.ศ. 2522 กองดุริยางค์ทหารเรือได้ขึ้นการบังคับบัญชาต่อฐานทัพเรือกรุงเทพ จนถึงปัจจุบัน
กองดุริยางค์ทหารเรือได้พัฒนาปรับปรุงให้เจริญก้าวหน้าตลอดเวลาทั้งในด้านองค์บุคคลและองค์วัตถุ ได้จัดตั้งโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ เก็บถาวร 2010-11-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เพื่อรับบุคคลพลเรือนเข้ามารับการฝึกหัดเป็นนักดนตรีทหารเรือโดยรับเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาเพื่อศึกษาในแบบเรียนและฝึกประจำอยู่กับวงดนตรี ควบคู่ไปกับนักดนตรีรุ่นพี่ในวงดนตรี เรียกว่า “พลอาสาสมัคร” ยังมิได้จัดขึ้นเรียนเหมือนโรงเรียนในปัจจุบัน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2502 เรือเอกสำเร็จ นิยมเดช ได้จัดหลักสูตรการศึกษา แบ่งการศึกษาออกเป็นชั้นเรียน และได้รับอนุมัติหลักสูตรสำหรับการฝึกและการศึกษาของนักเรียนดุริยางค์ เก็บถาวร 2009-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เริ่มรับบุคคลพลเรือนเข้ามาเป็นนักเรียนดุริยางค์ในปีการศึกษา 2504 ปัจจุบันผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตร 6 ปี จะได้รับวุฒิการศึกษาเทียบเท่าประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
กิจการดนตรีของกองดุริยางค์ทหารเรือ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมาเป็นเวลานาน เป็นที่กล่าวถึงอรรถรส ความไพเราะด้านการบรรเลง ความสวยงามในการแต่งกาย จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นดนตรีบรรเลงในงานพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีการต่าง ๆ เช่น งานเลี้ยงรับรองพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว งานของสถานทูตประเทศต่าง ๆ งานพระราชทานเพลิงศพ และมีการบรรเลงเพื่อประชาชนในการปฏิบัติการจิตวิทยาและกล่อมขวัญทหารทั่วประเทศ
วงดุริยางค์ราชนาวี เก็บถาวร 2010-06-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ซึ่งถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 มีการพัฒนาการเล่นดนตรีในแบบเพลงคลาสสิก หรือวง “ออร์เคสตร้า” ในสมัย นาวาเอกสำเร็จ นิยมเดช เป็นหัวหน้ากองดุริยางค์ทหารเรือ ได้นำวงดุริยางค์ราชนาวีเปิดการแสดงคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2502 ใช้ชื่อว่า “ออร์เคสตร้า คอนเสิร์ต” ครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2503 ใช้ชื่อว่า “ราชนาวีคอนเสิร์ต” ได้จัดอีกครั้งในปีเดียวกันเพื่อหารายได้สมทบทุน “มูลนิธิอนันทมหิดล เก็บถาวร 2010-11-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน” และในปี พ.ศ. 2504 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีประราชปรารภกับผู้บัญชาการทหารเรือ ให้จัดแสดงดนตรีเพื่อหารายได้บำรุงสภากาชาดไทย เก็บถาวร 2010-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กองทัพเรือได้จัดแสดงตามพระราชประสงค์เรียกว่า “กาชาดคอนเสิร์ต เก็บถาวร 2011-08-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน” ตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน
วงดุริยางค์ทหารเรือ เป็นผู้นำในการพัฒนาเพลงไทยสากลและเป็นผู้ให้กำเนิดเพลงไทยสากลหลายเพลง ได้นำเพลงไทยมาบรรเลงด้วยวงดนตรีสากล และใช้โน้ตสากลในการบรรเลงเป็นวงแรก ต่อมาได้แปลงเป็นเพลงในแบบ “สังคีตประยุกต์” และได้พัฒนาเป็นเพลง “สังคีตสัมพันธ์” หรือการนำเครื่องดนตรีไทยมาบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีสากล ในสมัย พลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร เป็นอธิบดีกรมโฆษณาการ นอกจากเป็นผู้นำในการบรรเลงเพลงไทยสากลแล้ว ยังเป็นวงดนตรีที่บรรเลงเพลงมาร์ชของไทยด้วย เช่น เพลงมาร์ชบริพัตร เดินหน้า และดอกประดู่ เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2475 วงดุริยางค์ทหารเรือ เป็นผู้บรรเลงเพลงชาติไทยเป็นครั้งแรก ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม และในปี พ.ศ. 2533 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติได้มอบหมายให้วงดุริยางค์ทหารเรือบรรเลงเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อเผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ
วงดุริยางค์ราชนาวีได้เข้าถวายการบรรเลงเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2537 พระราชดำรัสตอนหนึ่งของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีต่อพสกนิกร ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน และประชาชนที่เข้าเฝ้าถวายพระพร ซึ่งเป็นความภูมิใจและเป็นเกียรติภูมิที่วงดุริยางค์ราชนาวีรับเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ความว่า
“ขอแถมอีกนิดหนึ่ง วงดนตรีทหารเรือเล่นเพลงสรรเสริญฯ เพราะเหลือเกิน แล้วก็ขอแถมว่า เสด็จฯ ไปไหนทั่วโลก สมัยเมื่อ 20 ปีมาแล้วก็มีเพลงสรรเสริญพระบารมีโดยต่างชาติเล่น ทุกแห่งทุกคนบอกเพลงสรรเสริญพระบารมีของไทยนี่เพราะเหลือเกิน เราไม่ได้ไปถามเลย เขาบอกว่า แหม! เพลงสรรเสริญฯ ของเมืองไทยนี่เพราะเหลือเกิน เศร้า ๆ แต่มีความสง่า เยือกเย็น เขาว่าอย่างนั้น ก็เลยมาคุยต่อ ขอบคุณค่ะ”
สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจอีกประการ คือ การที่ข้าราชการของกองดุริยางค์ทหารเรือ ผู้ที่มีผลงานร่วมกับกองดุริยางค์ทหารเรือและวงดุริยางค์ราชนาวีได้รับการคัดเลือกเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” คือ
1.นาวาตรีพยงค์ มุกดา[ลิงก์เสีย] สาขาศิลปะการแสดง (เพลงลูกทุ่ง - เพลงไทยสากล) ในปีพ.ศ. 2534
2.พลเรือตรี หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน องคมนตรี สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ในปี พ.ศ. 2537
3.นาวาตรีปิยะพันธ์ สนิทวงศ์ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สาขาศิลปะการแสดง (นักดนตรีสากล) ในปี พ.ศ. 2541
4.พลเรือตรีวีระพันธ์ วอกลาง เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สาขา (ดนตรีสากล) ในปี พ.ศ. 2551
กองดุริยางค์ทหารเรือ ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนอิสรภาพ แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700 โทรศัพท์ 0-2475-5633
กองดุริยางค์ทหารเรือ มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับกิจการดุริยางค์ การศึกษา และฝึกอบรมแก่ทหารเหล่าดุริยางค์ เหล่าสัญญาณแตรเดี่ยว และนักเรียนดุริยางค์ ตลอดจนกำกับดูแลเกี่ยวกับการดุริยางค์ โดยมีผู้บังคับกองดุริยางค์ทหารเรือเป็นผู้รับผิดชอบ
กองดุริยางค์ทหารเรือ เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อฐานทัพเรือกรุงเทพ แบ่งส่วนราชการออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้
1.แผนกธุรการ มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการธุรการ การสารบรรณ การกำลังพล และการเงิน
2.แผนกวิชาการ มีหน้าที่ดำเนินการประพันธ์เพลง เรียบเรียง ปรับปรุง และรวบรวม ตลอดจนเก็บรักษาโน้ตเพลงที่ใช้ในการบรรเลง วิจัยและพัฒนากิจการดุริยางค์ ประมวล ปรับปรุง ผลิตตำรา คู่มือ โน้ตเพลงที่ใช้ในการศึกษาและฝึกอบรม ตลอดจนกิจการห้องสมุดที่เกี่ยวกับวิชาการดนตรี
3.แผนกดนตรี มีหน้าที่ในการบรรเลงดนตรีในงานต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย จัดทำสถิติ และปรับปรุงการบรรเลงให้ได้ระดับมาตรฐาน
4.แผนกสนับสนุน มีหน้าที่ให้การสนับสนุนในด้านกิจการพลาธิการ และการดนตรี
5.โรงเรียนดุริยางค์ มีหน้าที่ให้การศึกษา และฝึกอบรมแก่ทหารเหล่าดุริยางค์ เหล่าสัญญาณแตรเดี่ยว และนักเรียนดุริยางค์
ข้อมูลจาก 126 ปี ดุริยางค์ทหารเรือ สืบสานตำนานดนตรีแห่งราชนาวีไทย
ข้อมูลจาก ประวัติกองทัพเรือ กองโรงพิมพ์ กรมสารบรรณทหารเรือ 2541