กรมหลวงโยธาเทพ
กรมหลวงโยธาเทพ | |
---|---|
เจ้าฟ้าต่างกรม | |
ภาพพิมพ์กรมหลวงโยธาเทพ คริสต์ศตวรรษที่ 17 จากหอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส | |
ประสูติ | พ.ศ. 2199 |
สวรรคต | พ.ศ. 2278 (ประมาณ 79 ปี) วัดพุทไธสวรรย์ อาณาจักรอยุธยา |
พระสวามี | สมเด็จพระเพทราชา |
พระบุตร | ตรัสน้อย |
ราชวงศ์ | ปราสาททอง (ประสูติ) บ้านพลูหลวง (อภิเษกสมรส) |
พระบิดา | สมเด็จพระนารายณ์มหาราช |
พระมารดา | พระกษัตรีย์ |
ศาสนา | เถรวาท |
กรมหลวงโยธาเทพ ภายหลังออกพระนามว่า สมเด็จพระรูปเจ้า มีพระนามเดิมว่า พระสุดาเทวี (คำให้การชาวกรุงเก่า)[1] หรือ เจ้าฟ้าสุดาวดี (พ.ศ. 2199—2278) เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งประสูติแต่พระมเหสีฝ่ายขวา พระองค์มีบทบาทด้านการค้าค่อนข้างสูงในรัชสมัยของพระราชบิดา และได้รับพระราชทานให้ดำรงพระอิสริยยศเป็น "กรมหลวงโยธาเทพ" และคงมีพระอำนาจสูงมาก โดยจดหมายเหตุลาลูแบร์กล่าวว่าพระองค์ "...ทรงพระเกียรติยศและเสด็จประทับ ณ พระมนทิราลัยเยี่ยงพระอัครมเหสี..."[2] และบางครั้งชาวตะวันตกก็เรียกแทนพระองค์ว่าเป็น "ราชินี"[3]
พระองค์มีบทบาทอย่างสูงเนื่องจากทรงมีส่วนริเริ่มการปฏิวัติผลัดแผ่นดิน ทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับแพทย์หลวงชาวฝรั่งเศสที่ชื่อดาเนียล บรูชบูรด์ ผู้ที่ถูกกล่าวโทษว่าวางยาลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์[3] แต่ท้ายที่สุดพระองค์ก็ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้เสียเองทั้งที่ไม่เต็มพระทัยนัก[4] ด้วยการเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายของสมเด็จพระเพทราชา แต่หลังสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา พระองค์และกรมหลวงโยธาทิพได้ถวายบังคมออกจากพระบรมมหาราชวังมาประทับและดำรงพระชนม์อย่างสงบด้วยการผนวชเป็นรูปชี แต่นั้นเป็นต้นมาชาววังได้ออกพระนามว่า "สมเด็จพระรูปเจ้า"[5] และดำรงพระชนม์เรื่อยมาจนกระทั่งสวรรคตในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อปี พ.ศ. 2278
พระประวัติ
[แก้]คำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า กรมหลวงโยธาเทพมีพระนามเดิมว่าพระสุดาเทวี เป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ประสูติแต่พระกษัตรีย์พระมเหสีฝ่ายขวา[1] (บางแห่งออกพระนามว่า เจ้าฟ้าสุริยงรัศมี)[6] หรือพระอัครมเหสี[7] เรื่องราวเบื้องต้นของพระองค์ปรากฏใน คู่มือทูตตอบ เขียนขึ้นโดยราชบัณฑิตไม่ปรากฏนามในสมัยกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2224 โดยในเนื้อความได้กล่าวถึงพระราชโอรส-ธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเนื้อความระบุว่า ขณะนั้นพระราชธิดามีพระชนมายุได้ 25 พรรษา[8] จึงสันนิษฐานว่าพระองค์ประสูติในปี พ.ศ. 2199 ส่วนเอกสารของบาทหลวงเดอชัวซีระบุว่า ใน พ.ศ. 2228 เจ้าฟ้าสุดาวดีมีพระชนมายุ 27 พรรษา[9] ซึ่งปีประสูติจะตรงกับ พ.ศ. 2201
พระองค์เป็นพระราชธิดาที่โปรดปรานของพระราชบิดา หากมีผู้ใดเสกสมรสด้วยกับเจ้าฟ้าพระองค์นี้ก็ย่อมได้รับสิทธิธรรมเหนือราชบัลลังก์มากขึ้นด้วย[10] และด้วยความที่เป็นพระราชธิดาที่ทรงโปรดปราน สมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดีจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าฟ้าต่างกรม เป็นพระองค์แรก ๆ พร้อมกับสมเด็จเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาทิพ พระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์[11]ที่ได้รับการจัดตั้งจากเหล่าขุนนางข้าราชการเช่นกัน ซึ่งกรมหลวงโยธาทิพเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระขนิษฐาในสมเด็จพระนารายณ์ โดยในเรื่องราวดังกล่าวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือตำนานวังหน้าเกี่ยวกับที่มาของเจ้าต่างกรม ความว่า
แต่เดิมมาขัตติยยศ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเจ้านายนั้น เป็นตำแหน่งเฉพาะพระองค์ เช่นเป็นพระราเมศวร พระบรมราชา พระอินทราชา พระอาทิตยวงศ์ ส่วนพระองค์หญิงก็มีพระนามปรากฏเป็น พระสุริโยทัย พระวิสุทรกษัตรีย์ เป็นต้น ครั้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มีเหตุเป็นอริกับพระเจ้าน้องยาเธอ จึงไม่ได้สถาปนาขัตติยยศพระองค์หนึ่งพระองค์ใด พระราชโอรสก็ไม่มี (มีจดหมายเหตุฝรั่งกล่าวว่า เมื่อพระอัครมเหสีทิวงคต สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชประสงค์จะให้ข้าราชการในพระมเหสีคงอยู่แก่เจ้าฟ้าพระราชธิดา) จึงโปรดให้รวบรวมข้าราชการจัดตั้งขึ้นเป็นกรมกรมหนึ่ง เจ้ากรมเป็นที่หลวงโยธาเทพ ให้ขึ้นอยู่ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสุดาวดีราชธิดา และให้จัดตั้งอีกกรมหนึ่ง เจ้ากรมเป็นที่หลวงโยธาทิพ ให้ขึ้นอยู่ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณอย่างเดียวกัน เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นั้นจึงปรากฏพระนามตามกรมว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพพระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพพระองค์ ๑ เป็นปฐมเหตุที่จะมีเจ้านายต่างกรมสืบมาจนทุกวันนี้[11]
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
[แก้]สมเด็จเจ้าฟ้าน้อย พระราชอนุชาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงมีน้ำพระทัยและจรรยามารยาทละมุนละไมเป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนในราชสำนักและราษฎรทั่วไป สมเด็จพระนารายณ์เองก็ทรงรักพระอนุชาองค์นี้ประดุจพระโอรส จึงมีพระราชดำริที่จะสถาปนาให้เป็นองค์รัชทายาท และยกสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ให้เป็นพระชายา จนถึงขั้นมีการเตรียมการจัดงานอภิเษกสมรส อีกทั้งเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพเองก็มีพระปรารถนาอย่างลึกซึ้ง แต่ความหวังก็พังพินาศลงในกาลต่อมา[12] เนื่องจากเจ้าฟ้าน้อยทรงลอบเป็นชู้กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระสนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ ภายหลังท้าวศรีจุฬาลักษณ์ถูกลงโทษด้วยการโยนให้เสือกิน[13] ส่วนเจ้าฟ้าน้อยได้รับโทษโบย จนเป็นอัมพาตที่พระชิวหา บ้างก็ว่าทรงแสร้งเป็นใบ้[14]
ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพระราชประสงค์ให้กรมหลวงโยธาเทพ อภิเษกสมรสกับพระปีย์ พระราชโอรสบุญธรรม แต่กรมหลวงโยธาเทพไม่ทรงยินยอมพร้อมพระทัยด้วย และพระองค์ทรงยึดมั่นในพระราชดำริเดิมที่จะอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าน้อย และทรงขัดขืนพระราชประสงค์ของพระบิดา[15] โดยปรากฏในบันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและการมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน ความว่า
ฝ่ายเจ้าฟ้าหญิงนั้น ครั้นทรงได้รับแจ้งพระราชดำริ ก็ทรงไม่ยินยอมพร้อมพระทัยด้วย ชะรอยจะทรงมีความหยิ่งในราชสมภพ ดังที่เธอทรงแสดงอยู่ให้ประจักษ์ จึงไม่อาจลดพระองค์ลงมาอภิเษกกับบุคคลในชั้นไพร่ได้ หรือชะรอยจะเป็นดังที่คนทั้งหลายเข้าใจกันอยู่ กล่าวคือเธอมีน้ำพระทัยโน้มน้าวและผูกพันในทางอภิเษกสมรสมาแต่ก่อนกับพระปิตุลา [สมเด็จเจ้าฟ้าน้อย] อยู่แล้ว ...เธอก็ยังทรงยึดมั่นในพระราชดำริดั้งเดิมของในหลวงที่จะอภิเษกเธอให้แก่เจ้าชายองค์นั้นอยู่เสมอ แต่เรื่องได้ดำเนินไปอย่างลับ ๆ ดังที่กระผมได้ยินเขาพูดกันมา ว่าแม้ในหลวงหรือ มร.ก็องสตังซ์ [เจ้าพระยาวิชาเยนทร์] ก็มิได้ล่วงรู้ระแคะระคายเลย ในหลวงทรงขัดพระทัยเป็นอันมาก ในการที่พระราชธิดาทรงขัดขืนพระราชประสงค์อย่างหนักแน่น ไม่ทรงยินยอมอภิเษกสมรสกับพระปีย์...[16]
ในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ กรมหลวงโยธาเทพมิเคยปรากฏพระองค์ให้ชาวยุโรปคนใดพบเห็นเลย จึงเชื่อว่าในช่วงเวลานั้นพระองค์ทรงถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ด้วยเช่นกันกับพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ด้วยเหตุผลทางการเมือง[17] ในช่วงปลายรัชกาลของพระบรมชนกนาถ กรมหลวงโยธาเทพมีพระราชดำรัสสั่งให้ขับไล่คริสต์ศาสนิกชนออกจากราชอาณาจักร ชาวคริสต์จึงถูกจับใส่ตรวน ซึ่งรวมไปถึงสมเด็จพระสังฆราช เดอ เมเตลโลโปลิส เว้นแต่บาทหลวงคณะเยสุอิตที่ได้รับเสรีภาพและได้รับอนุญาตให้เข้าพบและปลอบโยนผู้จองจำ[18] แต่หลังการลอบปลงพระชนม์เจ้าฟ้าน้อย กรมหลวงโยธาเทพโทมนัสนัก เพราะทรงสงวนพระองค์สำหรับอภิเษกสมรส กรมหลวงโยธาเทพทรงรู้สึกผิดหวังที่ต่อต้านฝรั่งเศส โดยนายพลเดฟาร์ฌระบุว่า "...ท้ายที่สุดก็ทรงเลือกที่จำดำรงพระชนม์อยู่ในฐานะพระมเหสีมากกว่าจะสิ้นพระชนม์อย่างไร้ความสุข พระราชพิธีอภิเษกสมรส [กับสมเด็จพระเพทราชา] ไม่ได้จัดขึ้นก่อนที่พวกเรา [นายพลเดฟาร์ฌ] จะเดินทางออกไป"[19]
หลังการผลัดแผ่นดินและปลายพระชนม์ชีพ
[แก้]หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเพทราชาได้ครองราชย์สืบมา และได้ทรงอภิเษกกรมหลวงโยธาเทพขึ้นเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายเพื่อสิทธิธรรมแห่งราชบัลลังก์ ซึ่งกรมหลวงโยธาเทพเองเป็นผู้มีส่วนริเริ่มการปฏิวัติผลัดแผ่นดิน และตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้เสียเองทั้งที่ไม่เต็มพระทัยต่อพระเพทราชานัก[4] นอกจากนี้สมเด็จพระเพทราชาได้สั่งให้ปลงพระชนม์พระอนุชาสองพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การที่ได้กรมหลวงโยธาเทพที่ทรงเป็นสมเด็จพระมเหสีฝ่ายซ้าย จึงทำให้พระเพทราชามีสิทธิธรรมในราชบัลลังก์สมบูรณ์มากขึ้น เมื่อครบถ้วนทศมาสกรมหลวงโยธาเทพก็ได้ให้พระประสูติกาลพระราชโอรสพระนามว่าตรัสน้อย โดยพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าตรงกับเวลารุ่ง เดือน 10 ปีมะเส็ง[20] จ.ศ. 1051 แต่พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ระบุว่าเป็นปีมะโรง จ.ศ. 1050 (พ.ศ. 2231)[21]
แต่เดิมพระองค์ประทับอยู่ในพระตำหนักคูหาสวรรค์หรือพระตำหนักตึกภายในพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ พระราชวังหลวงอยุธยา หลังจากสมเด็จพระเพทราชาเสด็จสวรรคต พระองค์และเจ้าฟ้าตรัสน้อยทรงย้ายไปประทับ ณ พระตำหนักใกล้วัดพุทไธศวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเชื่อว่าประทับดังกล่าวปัจจุบันคือวัดเตว็ด เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ไม่ไกลไปจากวัดพุทไธศวรรย์[22] ส่วนพระตำหนักคูหาสวรรค์ได้กลายเป็นที่ประทับของพระมเหสีองค์อื่น ๆ ของราชวงศ์บ้านพลูหลวงต่อไป[23] พระองค์ทรงดำรงพระชนมชีพอย่างสงบสุข จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2278 สิริพระชนมายุได้ 79 พรรษา ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[24]ขณะที่ผนวชเป็นรูปชี โดยจดหมายเหตุเรื่องสมเด็จพระบรมศพ ระบุว่า[5]
"วัน ๒ ๕ฯ ๖ จุลศักราช ๑๐๙๗ ปีเถาะสัพศก เพลาย่ำฆ้องค่ำแล้ว ๓ บาท สมเด็จพระรูปเจ้าเสด็จนิพพาน ณ วัดพุทไธสวรรย์ฯ [สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ] เสด็จลงไป ณ พระศพ จึงทรงฯ สั่งว่าให้เชิญสมเด็จพระบรมศพขึ้นไปไว้ ณ พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาทนั้นแล..."
การนี้สมเด็จพระเจ้าบรมโกศโปรดเกล้าฯ ให้ทำพระเมรุขนาดน้อย ขื่อ 5 วา 2 ศอก แล้วเชิญพระศพขึ้นพระมหาพิชัยราชรถแห่ไปยังพระเมรุ ถวายพระเพลิงหน้าพระศพ พระสงฆ์ 10,000 รูป สดับปกรณ์ 3 วัน[25]
พระราชกรณียกิจและพระจริยวัตร
[แก้]พระราชกรณียกิจในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ กรมหลวงโยธาเทพทรงรับผิดชอบกิจการในพระราชวังแทนพระราชมารดาที่เสด็จสวรรคต ทรงดูแลเรื่องต่าง ๆ นางสนมกำนัลขันที จนชาววังเรียกว่า "เจ้าวัง" เมื่อทรงกรมแล้วได้รับพระเกียรติยศอย่างสูงสุดคือ ได้รับพระราชทานหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา ส่วยสาอากรขนอนตลาดเลกสมในสังกัด มีพระคลังสินค้า เรือกำปั่น และเงินทุน[26] นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์อีกจำนวนมาก เรื่องราวของพระองค์ได้ปรากฏในจดหมายเหตุลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้ทำการบันทึกไว้ความว่า "...เจ้าฟ้าหญิงองค์ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่าดำรงอิสริยยศเยี่ยงพระมเหสีนั้น กำลังทรงมีเรื่องหมางพระทัยอยู่กับพระราชบิดา ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงกว้านการค้ากับต่างประเทศไว้เสียหมด"[27] ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงมีเหตุหมางพระทัยกับพระราชบิดาที่เป็นอุปสรรคทางการค้าของพระองค์ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีเรื่องบาดหมางกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เนื่องจากเขาได้เกณฑ์แรงงานสองพันคนจากที่ดินในอาณัติของพระองค์ เพื่อนำไปปฏิบัติการในเมืองเขมรช่วงปี ค.ศ. 1684 จึงเป็นเหตุให้ทรงกริ้วหนัก[28] และพระองค์ก็ทรง "ไม่สบายพระทัยนักที่พวกฝรั่งเศสเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพระราชอาณาจักรเช่นนี้"[29] ทั้งนี้ทรงตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ดังปรากฏความว่า "คุณพ่อบาทหลวงตอบพวกเราว่า หากทำตามที่เราเรียกร้องก็หมายหัว ม.ก็องสต็องซ์ไว้ได้เลย ทั่วทั้งอาณาจักรจะลุกขึ้น ตั้งกันเป็นหมู่เป็นพวก นับร้อยนับพัน จะเป็นโอกาสให้ศัตรูของเขา ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ ราชินี [พระราชธิดา — กรมหลวงโยธาเทพ] ซึ่งทรงเย่อหยิ่งและผยองในศักดิ์ศรีอย่างยิ่ง"[3]
ด้วยเหตุดังกล่าวในช่วงปี ค.ศ. 1687 มาดามลาโดแฟ็ง พระชายาในเจ้าชายหลุยส์ เลอกร็องโดแฟ็ง พระราชโอรสในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ได้ส่งทูตพิเศษนำของกำนัลมาพระราชทานให้ แต่พระองค์กลับปฏิเสธ โดยทรงอ้างว่าพระองค์ทรงมีฐานะ "ยากจน" เกินกว่าจะประทานของมีค่าที่จะเทียบกันได้เป็นการตอบแทน[30] ซึ่งในจดหมายเวเรต์ถึงมาร์กีส์เดอแซนเญอเลก็ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า "พระราชธิดาในองค์กษัตริย์สยามแสดงอาการโกรธแค้นพวกเรา เนื่องจากนางเกลียดชังเมอสิเยอร์ก็องสต็องซ์ซึ่งเคยลบหลู่ดูหมิ่นนางอยู่หลายครั้งหลายหน เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง จนกระทั่งนางไม่ประสงค์จะรับของกำนัลของมาดามลาโดฟีนที่ส่งมาถวาย นี่แสดงให้เห็นความเกลียดชังของนางที่มีต่อเรา"[31]
นอกจากนี้บาทหลวงตาชาร์ดก็ได้บันทึกเรื่องราวด้วยลายมือเขียนด้วยเช่นกัน แต่ก็แต่งเติมไปบ้าง ความว่า "ครั้งเมื่อมีผู้ไปเร่งรัดทาง (พระราชธิดา)...ให้เข้าไปยังราชสำนัก เพื่อจะได้คัดเลือกของหายากให้เป็นของกำนัลแด่พระชายาของพระโอรส เพราะจะเป็นการผิดวิสัยอย่างยิ่งที่ไม่ได้ตอบแทนน้ำใจของมาดามลาโดแฟ็ง พระนางตรัสตอบว่า ไม่ได้ทรงร่ำรวยพอที่จะส่งของกำนัลที่มีค่าเสมอกับของที่ส่งมาให้ และทรงแน่พระทัยว่า องค์พระบิดาจะได้ทรงกระทำทุกอย่างที่ทรงเห็นควรเหมาะกับพระนาง"[29]
กล่าวกันว่าพระนางทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับชาวฮอลันดาโดยผ่านแพทย์หลวงชาวฝรั่งเศสที่ชื่อดาเนียล บรูชบูรด์ (Daniel Brochebourde) ซึ่งนับถือนิกายโปรเตสแตนต์และตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อพระสันตะปาปาและพระเจ้าหลุยส์ที่ 14[32] และเป็นผู้ที่ถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้วางยาพิษลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตามคำสั่งของฮอลันดาและพระเพทราชา[3]
สถานที่อันเนื่องด้วยพระนาม
[แก้]- ซอยโยธาเทพ อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
[แก้]- ปาลิน นารดาสิริ ได้รับบทของพระองค์ ในละครพรหมลิขิต ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3
พงศาวลี
[แก้]พงศาวลีของกรมหลวงโยธาเทพ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 94
- ↑ จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, หน้า 303
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์, หน้า 205
- ↑ 4.0 4.1 เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์, หน้า 231
- ↑ 5.0 5.1 ดร. เกรียงไกร เกิดศิริ. "อันเนื่องมาแต่ "เรื่องจดหมายการพระศพสมเด็จพระรูป วัดพุทไธสวรรย์ กรุงเก่า"". งานพระเมรุ: ศิลปสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่อง. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มติชน, 2560, หน้า 107
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกแก้ว เมียขวัญ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559, หน้า 5
- ↑ ไพร่ขุนนางเจ้า แย่งชิงบัลลังก์สมัยอยุธยา, หน้า 161
- ↑ ไมเคิล ไรท์ (กุมภาพันธ์ 2548). "ภูมิประวัติศาสตร์สยาม: เอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่เปิดเผยใหม่". ศิลปวัฒนธรรม 26:4, หน้า 93.
- ↑ ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (เขียน), สมศรี เอี่ยมธรรม (แปล). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2522, หน้า 132
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549. หน้า 84
- ↑ 11.0 11.1 "สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่". จุลลดา ภักดีภูมินทร์. 14 พฤษภาคม 2545. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-08. สืบค้นเมื่อ 2010-12-29.
- ↑ บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและการมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน, หน้า 94-96
- ↑ ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง เขียน, สมศรี เอี่ยมธรรม แปล. ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุทธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2522, หน้า 76-77
- ↑ บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและการมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน, หน้า 96-100
- ↑ สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ (กันยายน 2552). "พงศาวดารกระซิบเรื่องโอรสลับพระนารายณ์". ศิลปวัฒนธรรม 30:11, หน้า 113
- ↑ บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและการมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน, หน้า 101-102
- ↑ เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์, หน้า 158
- ↑ พันตรีโบชอง (เขียน), ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). หอกข้างแคร่ : บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 22-24
- ↑ นายพลเดฟาร์จ (เขียน), ปรีดี พิศภูมิวิถี (แปล). ชิงบัลลังก์พระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561, หน้า 40
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 334
- ↑ พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน, หน้า 268
- ↑ วัดเตว็ด ประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา
- ↑ กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2559. หน้า 193
- ↑ "พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-08. สืบค้นเมื่อ 2008-12-02.
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 360
- ↑ La Loubère. Du Royaume de Siam. p. 142
- ↑ สุภัตรา ภูมิประภาส (กันยายน 2552). "นางออสุต:เมียลับผู้ทรงอิทธิพลแห่งการค้าเมืองสยาม". ศิลปวัฒนธรรม 30:11, หน้า 94
- ↑ De Choisy. Journal du Voyage de Siam. p. 372
- ↑ 29.0 29.1 เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์, หน้า 165
- ↑ เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์, หน้า 157
- ↑ Lettre de Véret à Seignelay, datée de Pondichéry le 25 févier 1689, Algemeen Rijksarchief. VOC. 4025 I et 4026
- ↑ เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์, หน้า 191
- บรรณานุกรม
- ลาลูแบร์, ซิมอน เดอ. จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548. 688 หน้า. ISBN 974-93533-2-3
- แบส, เดอะ; แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550. 256 หน้า. ISBN 978-974-8075-25-9
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง : คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม คำให้การขุนหลวงหาวัด. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 9786165080736
- พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2558. 558 หน้า. ISBN 978-616-92351-0-1 [จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔)]
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
- ภาสกร วงศ์ตาวัน. ไพร่ขุนนางเจ้า แย่งชิงบัลลังก์สมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : ยิปซี, 2553. ISBN 978-616-7071-18-3
- สปอร์แตซ, มอร์กาน; กรรณิกา จรรย์แสง แปล. เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. =267 หน้า. ISBN 978-974-02-0768-9
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Bhawan Ruangsilp. Kromluang Yothathep: King Narai’s Daughter and Ayutthaya Court Intrigue. Journal of the Siam Society 104 (2016).
- ภาวรรณ เรืองศิลป์. กรมหลวงโยธาเทพ: พระราชธิดาสมเด็จพระนารายณ์กับเล่ห์เพทุบายในราชสำนักอยุธยา (สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ, แปล). วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 42 (ส.ค. 2560-ก.ค. 2561).
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2199
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2278
- เจ้าฟ้าหญิง
- กรมหลวง
- ราชวงศ์ปราสาททอง
- ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
- เจ้านายทรงกรมสมัยกรุงศรีอยุธยา
- แม่ชี
- บุคคลในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา
- พระราชบุตรในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
- พระราชธิดาในพระมหากษัตริย์ไทย
- เจ้าหญิงกรุงศรีอยุธยา
- การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2231
- พระอัครมเหสีกรุงศรีอยุธยา