วัดเตว็ด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเตว็ด
แผนที่
ที่ตั้งตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัดร้าง
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเตว็ด โบราณสถานประเภทวัดร้างที่ตั้งอยู่ริมคลองปทาคูจาม ในตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเหลือตัวอาคารมีเพียงผนังสกัดหน้า เหลืออยู่เพียงด้านเดียว ลักษณะเป็นอาคารสองชั้นก่ออิฐถือปูน ยกพื้นมีใต้ถุนสูง เจาะช่องประตูเป็นรูปวงโค้ง ใช้ระบบผนังรับน้ำหนักหลังคา[1]

วัดเตว็ดถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นอยุธยาในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหรือหลังจากนั้น เพราะอุโบสถของวัดเตว็ดถูกสร้างในรูปแบบคล้าย ๆ กับโบสถ์คริสต์ตามสไตล์ตะวันตก มีหน้าบันที่ประดับปูนปั้นลายพรรณพฤกษา ลายก้านขดอิทธิพลศิลปะตะวันตกและรูปหน้าชาวตะวันตก ขนาดอาคารประมาณกว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร นอกจากนั้นยังได้พบฐานใบเสมาหนึ่งแห่ง ขนาดอุโบสถกว้าง 17 เมตร ยาว 32 เมตร เคยผ่านการบูรณะหลายสมัย[2]

กรมศิลปากรดำเนินการทางโบราณคดี ได้มีการขุดค้นและขุดแต่งโบราณสถานในบริเวณวัด ได้แก่ เจดีย์ อุโบสถ มณฑปและวิหาร มีการแบ่งเขตสังฆาวาสและพุทธาวาส ต่อมาได้พบแนวอิฐที่ถูกเรียงในลักษณะเป็นทางเดินจากอาคารของวัดมุ่งสู่ คลองคูจาม ซึ่งปัจจุบันมีถนนที่ถูกสร้างขึ้นเลียบคลองในภายหลังคั่นอยู่[3]

ชื่อของวัดปรากฏอยู่ในพงศาวดาร รวมถึงแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ก็ระบุตำแหน่งวัดแห่งนี้ไว้ วัดเตว็ดอยู่ใกล้ชิดติดกับตำหนักของกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและพระอัครมเหสีฝ่ายขวานสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งได้เสด็จมาผนวชเป็นแม่ชี พร้อมกับตรัสน้อยผู้เป็นพระราชโอรสที่เสด็จมาบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดแห่งนี้

วัดเตว็ดแห่งนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดท่าหอย ที่เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอริยวงษญาณ (สุก ญาณสังวร) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

อ้างอิง[แก้]

  1. "หน้าบันสมัยพระณารายณ์ วัดเตว็ด".
  2. "โบราณสถานวัดเตว็ด วัดท่าหอย และวัดถนนจีน". โพสต์ทูเดย์.
  3. "ทึ่ง! นักโบราณคดีพบ "ทางเดินลงท่าน้ำ" สมัยอยุธยา เผยปริศนาระดับน้ำคลองคูจามในอดีต".