ข้ามไปเนื้อหา

โยชูวา 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โยชูวา 1
หนังสือหนังสือโยชูวา
ภาคในคัมภีร์ฮีบรูเนวีอีม
ลำดับในภาคของคัมภีร์ฮีบรู1
หมวดหมู่ผู้เผยพระวจนะยุคต้น
ภาคในคัมภีร์ไบเบิลคริสต์พันธสัญญาเดิม
ลำดับในภาคของคัมภีร์ไบเบิลคริสต์6

โยชูวา 1 (อังกฤษ: Joshua 1) เป็นบทแรกของหนังสือโยชูวาในคัมภีร์ฮีบรูหรือในพันธสัญญาเดิมของคัมภีร์ไบเบิลในศาสนาคริสต์[1] ตามธรรมเนียมในศาสนายูดาห์เชื่อว่าหนังสือเขียนขึ้นโดยโยชูวาร่วมด้วยมหาปุโรหิตเอเลอาซาร์และฟีเนหัส[2][3] แต่นักวิชาการยุคปัจจุบันมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เฉลยธรรมบัญญัติซึ่งครอบคลุมเรื่องราวตั้งแต่หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติถึงหนังสือพงศ์กษัตริย์ฉบับที่ 2 เขียนโดยผู้เขียนศาสนายาห์เวห์ผู้รักชาติและศรัทธาในสมัยของโยสิยาห์กษัตริย์ยูดาห์นักปฏิรูปในศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล[3][4] บทที่ 1 ของหนังสือโยชูวาเน้นไปที่ภารกิจของโยชูวาในฐานะผู้นำของชาวอิสราเอลหลังการเสียชีวิตของโมเสส[5] เป็นส่วนหนึ่งของตอนที่ประกอบด้วยโยชูวา 1:1–5:12 เกี่ยวกับการเข้าสู่ดินแดนคานาอัน[6]

ต้นฉบับ

[แก้]

บทนี้เดิมเขียนด้วยภาษาฮีบรู แบ่งออกเป็น 16 วรรค

พยานต้นฉบับ

[แก้]
"สำเนาต้นฉบับวอชิงตัน 1" (WI) ต้นฉบับภาษากรีกในศตวรรษที่ 5 ที่ประกอบด้วยช่วงปลายของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติและช่วงต้นของหนังสือโยชูวา

บางสำเนาต้นฉบับในยุคต้นที่มีข้อความของบทนี้เป็นภาษาฮีบรูมีลักษณะเป็นต้นฉบับเมโซเรติก (Masoretic Text) ได้แก่ ฉบับไคโร (Codex Cairensis; ค.ศ. 895), ฉบับอะเลปโป (Aleppo Codex; ศตวรรษที่ 10) และ ฉบับเลนินกราด (Leningrad Codex; ค.ศ. 1008)[7] ชิ้นส่วนที่มีข้อความบางส่วนของบทนี้ในภาษาฮีบรูถูกพบในม้วนหนังสือเดดซี ได้แก่ XJoshua (XJosh, X1; 50 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งมีวรรค 9–12 หลงเหลืออยู่[8][9][10]

ต้นฉบับโบราณที่หลงเหลืออยู่ของคำแปลเป็นภาษากรีกคอยนีที่รู้จักในชื่อเซปทัวจินต์ (ทำขึ้นในช่วงไม่กี่ศตวรรษสุดท้ายก่อนคริสตกาล) ได้แก่ ฉบับวาติกัน (Codex Vaticanus; B; B; ศตวรรษที่ 4) และฉบับอะเล็กซานเดรีย (Codex Alexandrinus; A; A; ศตวรรษที่ 5)[11][a] ชิ้นส่วนของเซปทัวจินต์ภาษากรีกที่มีบทนี้ถูกพบในต้นฉบับอย่างสำเนาต้นฉบับวอชิงตัน 1 (Washington Manuscript I; คริสต์ศตวรรษที่ 5) และพบฉบับย่อของเซปทัวจินต์ในม้วนโยชูวาที่มีภาพประกอบ[13][14]

การอ้างอิงในพันธสัญญาเดิม

[แก้]

วิเคราะห์

[แก้]

เรื่องเล่าการเข้าสู่ดินแดนคานาอันของชาวอิสราเอลประกอบด้วยวรรค 1:1 ถึง 5:12 ของหนังสือโยชูวา และมีโครงเรื่องดังต่อไปนี้:[16]

A. การเตรียมเข้าแผ่นดิน (1:1–18)
1. พระบัญชาต่อโยชูวา (1:1–9)
2. บัญชาต่อเหล่าผู้นำ (1:10–11)
3. การสนทนากับเผ่าตะวันออก (1:12–18)
B. ราหับและผู้สอดแนมในเยรีโค (2:1–24)
1. คำสั่งถึงผู้สอดแนม (2:1a)
2. การลวงกษัตริย์แห่งเยรีโค (2:1b–7)
3. คำสาบานต่อราหับ (2:8–21)
4. รายงานถึงโยชูวา (2:22–24)
C. ข้ามแม่น้ำจอร์แดน (3:1–4:24)
1. การเตรียมการในช่วงต้นเพื่อข้ามแม่น้ำ (3:1–6)
2. บัญชาในการข้ามแม่น้ำ (3:7–13)
3. การข้ามแม่น้ำอย่างอัศจรรย์: ส่วนที่ 1 (3:14–17)
4. ศิลาจารีกสิบสองก้อน: ส่วนที่ 1 (4:1–10a)
5. การข้ามแม่น้ำอย่างอัศจรรย์: ส่วนที่ 2 (4:10b–18)
6. ศิลาจารีกสิบสองก้อน: ส่วนที่ 2 (4:19–24)
D. การเข้าสุหนัตและพิธีปัสกา (5:1–12)
1. ความกลัวของชาวคานาอัน (5:1)
2. การเข้าสุหนัต (5:2–9)
3. พิธีปัสกา (5:10–12)

พระบัญชาต่อโยชูวา (1:1–9)

[แก้]

ส่วนนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านจากเรื่องเล่าการเร่ร่อนของชาวอิสราเอลในถิ่นทุรกันดารไปสู่การตั้งถิ่นฐานในดินแดนคานาอันซึ่งพระยาห์เวห์ทรงให้สัญญากับประชากรของพระองค์ (วรรคที่ 3-4; เทียบกับปฐมกาล 15:17-21; อพยพ 3:17; เฉลยธรรมบัญญัติ 1:7-8) ในฐานะบทโหมโรงของหนังสือโยชูวา[17] โมเสสนำชาวอิสราเอลมาตั้งแต่การอพยพจากอียิปต์ผ่านช่วงเวลาในถิ่นทุรกันดาร แต่ตัวโมเสสเองจะไม่ได้เข้าไปในแผ่นดินแห่งพระสัญญา ส่วนโยชูวาจะได้เข้าไป ดังนั้นพระบัญชาต่อโยชูวาในการสืบทอดตำแหน่งผู้นำถัดจากโมเสสจึงเป็นจุดเน้นของเรื่องเล่านี้โดยอ้างถึงการเสียชีวิตของโมเสสที่เชื่อมโยงกับความปิดท้ายของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ (หนังสือเล่มสุดท้ายของโทราห์)[5][17] ความสัมพันธ์ระหว่างโมเสสและโยชูวามีบันทึกไว้เป็นอย่างดีในอพยพ 17:8–16; กันดารวิถี 27:12–23 และหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ (1:37–38; 3:21–28; 31:1–23; 34:9)[17] คำกล่าวแรกของบทนี้ (วรรคที่ 2–9) คือพระบัญชาของพระเจ้าต่อโยชูวาในการข้ามแม่น้ำจอร์แดน เพื่อที่ชาวอิสราเอลจะได้เข้าครอบครองดินแดน (วรรคที่ 6) และส่งมอบเอกสิทธิ์กับหน้าที่ของโมเสสให้กับโยชูวา[5][17] องค์ประกอบของการส่งมอบนี้ได้แก่

  1. กำลังใจต่อโยชูวา (วรรคที่ 6, 7, 9)
  2. ภารกิจในการยึดครองดินแดนเพื่อประชาชน (วรรคที่ 6) โดยมีความหมายถึงการแบ่งดินแดนให้กับเผ่าต่าง ๆ (โยชูวา 13–19)
  3. คำรับรองว่าพระเจ้าสถิตอยู่กับเขา (วรรคที่ 9)

เหล่านี้เป็นการย้อนถึงบัญญัติเกี่ยวกับ 'กษัตริย์' (เฉลยธรรมบัญญัติ 17:14–20) ซึ่งหมายถึงทุกคนที่จะเป็นผู้นำในอิสราเอล[17] ตำแหน่งพิเศษของโยชูวาคือพระสัญญาของพระยาห์เวห์เรื่องการทรงสถิตอยู่เหนือโยชูวาโดยเฉพาะ (วรรคที่ 9) ในขณะที่โยชูวางตัวเองอยู่ภายใต้อำนาจแห่งบัญญัติของพระเจ้าที่ทรงประทานแก่โมเสส (วรรคที่ 7)[17]

วรรคที่ 1

[แก้]
ต่อมาหลังจากที่โมเสสผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์สิ้นชีวิตแล้ว พระยาห์เวห์ตรัสกับโยชูวาบุตรนูนผู้ช่วยโมเสสว่า[18]
  • "ผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์" (עבד יהוה, ‘e-ḇeḏ Yah-weh[19]): วลีนี้แสดงถึงทั้งความสัมพันธ์และความรับผิดชอบ และยังใช้ในความอื่น ๆ เกี่ยวกับโมเสส (อพยพ 14:31; เฉลยธรรมบัญญัติ 34:5) และที่เกี่ยวกับกษัตริย์ดาวิด (2 ซามูเอล 7:5)[17]
  • "ผู้ช่วยโมเสส": จากภาษาฮีบรู: משרת משה, mə-šā-rêṯ mō-šeh[19] "มนตรี" หรือ "ผู้ช่วย" ของโมเสส "ผู้รับใช้โมเสส"[20] นี่เป็นคำเรียกฐานะของโยชูวาที่ใช้มาอย่างต่อเนื่องในโทราห์ (อพยพ 24:13; 33:11; กันดารวิถี 11:28) เป็นบทบาทสำคัญโดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับการทรงสถิตของพระเจ้าเหนือเขา และเป็นเหตุผลสำคัญในการตั้งให้เขาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของโมเสส (ภายหลังหลังได้รับการยืนยันโดยการวางมือของโมเสสบนโยชูวา; เฉลยธรรมบัญญัติ 34:9)[20] จากฐานะที่เป็น 'รองจากโมเสส' โยชูวาจึงได้รับบัญชาให้แทนที่โมเสส[17] ซึ่งมีการกล่าวซ้ำอย่างชัดเจนอีกครั้งในวรรคที่ 5 (เปรียบเทียบกับอพยพ 3:12 สำหรับโมเสส)[5] เมื่อถึงบั้นปลายชีวิต ในที่สุดโยชูวาจึงได้รับการเรียกว่าเป็น "ผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์" (โยชูวา 24:29)[20]

วรรคที่ 2

[แก้]
"โมเสสผู้รับใช้ของเราสิ้นชีวิตแล้ว บัดนี้เจ้าและชนชาตินี้ทั้งหมดจงลุกขึ้นข้ามแม่น้ำจอร์แดนนี้ ไปยังแผ่นดินซึ่งเรายกให้พวกเขา คือประชาชนอิสราเอล"[21]
  • "โมเสสผู้รับใช้ของเราสิ้นชีวิตแล้ว": การเสียชีวิตของโมเสส (เฉลยธรรมบัญญัติ 34) เป็นสิ่งที่เตรียมไว้เพื่อการบัญชาแก่โยชูวา เพราะพระเจ้าไม่อนุญาตให้โมเสสเข้าไปในแผ่นดินแห่งพระสัญญา (เฉลยธรรมบัญญัติ 32:48–52)[5]

โยชูวารับพระบัญชา (1:10–18)

[แก้]

ในวรรคที่ 10–11 โยชูวาบัญชาครั้งแรกแก่ 'เจ้าหน้าที่ทั้งหมดของประชาชน' (สันนิษฐานว่าเป็นบทบาทเดียวกับในอพยพ 5:10-19; เลือกขึ้นมาในกันดารวิถี 1:16, เฉลยธรรมบัญญัติ 1:15.) เพื่อเตรียมแต่ละเผ่าสำหรับการทำศึก (เฉลยธรรมบัญญัติ 11:31)[17] วรรคที่ 12–15 บันทึกคำกล่าวของโยชูวาถึง 'เผ่าข้ามจอร์แดน' อันได้แก่ เผ่ารูเบน เผ่ากาด และเผ่ามนัสเสห์ครึ่งเผ่า ซึ่งตั้งอาณาเขตของตนบนฟากตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน (เปรียบเทียบกับกันดารวิถี 32; เฉลยธรรมบัญญัติ 3:12-21) ว่าพวกเขาต้องส่งคนไปรบเพื่อชนเผ่าอื่นเพื่อพิชิตดินแดนฟากตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนและจะกลับมาได้แล้วการพิชิตเสร็จสมบูรณ์เท่านั้น[22][23] เรื่องนี้ได้ถูกกล่าวถึงอีกครั้งในโยชูวา 22 โดยเป็นการสรุปส่วนหลักของหนังสือ[24] คำตอบของเผ่าเหล่านี้ในวรรคที่ 16–18 เป็นการสะท้อนถึงคำรับรองของพระเจ้าในวรรคที่ 1–9 และนำข้อสรุปมาสู่บทนี้[25]

วรรคที่ 15

[แก้]
"จนกว่าพระยาห์เวห์จะประทานที่พักแก่พี่น้องของท่านดังที่ประทานแก่ท่าน ทั้งให้เขาได้ยึดครองแผ่นดินซึ่งพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านประทานแก่เขา แล้วท่านจึงจะกลับไปยังแผ่นดินที่ท่านยึดครองและถือไว้เป็นกรรมสิทธิ์ คือแผ่นดินซึ่งโมเสสผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์ได้ให้แก่พวกท่านที่ฟากแม่น้ำจอร์แดนข้างโน้นทางทิศตะวันออก"[26] หรือ
  • "ที่พัก": เป็นแนวคิดหลักทางเทววิทยาสำหรับเป้าหมายของการพิชิต (เช่นเดียวกับในวรรค 12; เปรียบเทียบกับเฉลยธรรมบัญญัติ 12:9), 'มอบแผ่นดินที่ยึดครองมาโดยสมบูรณ์และปราบศัตรู' (โยชูวา 11:23)[24]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. หนังสือโยชูวาทั้งเล่มขาดหายไปจากฉบับซีนาย (Codex Sinaiticus) ที่หลงเหลืออยู่[12]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Halley 1965, p. 157.
  2. Talmud, Baba Bathra 14b-15a)
  3. 3.0 3.1 Gilad, Elon. Who Really Wrote the Biblical Books of Kings and the Prophets? Haaretz, June 25, 2015. Summary: The paean to King Josiah and exalted descriptions of the ancient Israelite empires beg the thought that he and his scribes lie behind the Deuteronomistic History.
  4. Coogan 2007, p. 314 Hebrew Bible.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Coogan 2007, p. 316 Hebrew Bible.
  6. McConville 2007, p. 158.
  7. Würthwein 1995, pp. 35–37.
  8. Ulrich 2010, p. 247.
  9. Dead sea scrolls - Joshua
  10. Fitzmyer 2008, p. 162.
  11. Würthwein 1995, pp. 73–74.
  12. This article incorporates text from a publication now in the public domain: Herbermann, Charles, ed. (1913). "Codex Sinaiticus". Catholic Encyclopedia. New York: Robert Appleton Company.
  13. "Discrepancies in manuscripts show how Old Testament scribes edited the Book of Joshua". University of Helsinki. January 29, 2018.
  14. Rösel, Martin (January 1, 2002). "The septuagint-version of the book of Joshua". Scandinavian Journal of the Old Testament. 16 (1): 5–23. doi:10.1080/09018320210000329. S2CID 161116376 – โดยทาง Taylor and Francis+NEJM.
  15. Joshua 1, Berean Study Bible
  16. Firth 2021, p. 27.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 17.5 17.6 17.7 17.8 McConville 2007, p. 160.
  18. โยชูวา 1:1 THSV11
  19. 19.0 19.1 Joshua 1:1 Hebrew Text Analysis. Biblehub
  20. 20.0 20.1 20.2 Firth 2021, p. 70.
  21. โยชูวา 1:2 THSV11
  22. McConville 2007, pp. 160–161.
  23. Coogan 2007, pp. 316–318 Hebrew Bible.
  24. 24.0 24.1 McConville 2007, p. 161.
  25. Coogan 2007, p. 318 Hebrew Bible.
  26. โยชูวา 1:17 THSV11

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]