เหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่อำเภอแก่งกระจาน พ.ศ. 2554
![]() หุบเขาในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน | |
สรุปอุบัติเหตุ | |
---|---|
วันที่ | 16–24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 |
สรุป | สภาพอากาศปิด การหลงสภาพการบิน และการสูญเสียการควบคุมเครื่อง |
จุดเกิดเหตุ | ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย 12°54′27″N 99°38′53″E / 12.90750°N 99.64806°E |
เสียชีวิต | 17 |
บาดเจ็บ | 1 |
อากาศยานลำแรก | |
![]() เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ 1 (ฮ.ท.1) หรือ "ฮิวอี้" | |
ประเภท | เบลล์ UH-1 Iroquois |
ดําเนินการโดย | กองทัพบกไทย |
ต้นทาง | ใกล้ฐานทหารรักษาความสงบชายแดนไทย-พม่า ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย |
ปลายทาง | ไม่ทราบ |
จำนวนคน | 5 |
ผู้โดยสาร | 0 |
ลูกเรือ | 5 |
เสียชีวิต | 5 |
บาดเจ็บ | 0 |
สูญหาย | 0 |
รอดชีวิต | 0 |
อากาศยานลำที่สอง | |
![]() เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป (ฮ.ท.60) หรือ "แบล็กฮอว์ก" | |
ประเภท | ซิคอร์สกี UH-60 Black Hawk |
ดำเนินการโดย | กองทัพบกไทย |
ต้นทาง | บ้านเขาไม้แดง ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย |
ปลายทาง | ใกล้ฐานทหารรักษาความสงบชายแดนไทย-พม่า ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย |
จำนวนคน | 9 |
ผู้โดยสาร | 3 |
ลูกเรือ | 6 |
เสียชีวิต | 9 |
บาดเจ็บ | 0 |
สูญหาย | 0 |
รอดชีวิต | 0 |
อากาศยานลำที่สาม | |
![]() เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ 212 (ฮ.ท.212) หรือ "เบลล์ 212" | |
ประเภท | เบลล์ 212 |
ดำเนินการโดย | กองทัพบกไทย |
ต้นทาง | บ้านหนองเกต ตำบลแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย |
ปลายทาง | ใกล้ฐานทหารรักษาความสงบชายแดนไทย-พม่า ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย |
จำนวนคน | 4 |
ผู้โดยสาร | 0 |
ลูกเรือ | 4 |
เสียชีวิต | 3 |
บาดเจ็บ | 1 |
สูญหาย | 0 |
รอดชีวิต | 1 |
เหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่อำเภอแก่งกระจาน พ.ศ. 2554 เป็นอุบัติเหตุครั้งสำคัญของประเทศไทย ที่
เฮลิคอปเตอร์ตก 3 ลำต่อเนื่องกันในอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต และนำมาซึ่งความโศกเศร้าของบุคคลในครอบครัว[1]
เหตุการณ์
[แก้]ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ได้มีรายงานถึงอุบัติเหตุ ที่เฮลิคอปเตอร์แบบฮิวอี้ปฏิบัติหน้าที่จับกุมผู้บุกรุกป่าไม้ เนื่องด้วยสภาพอากาศปิด ได้ส่งผลให้เฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวตกลงไปในบริเวณตะเข็บชายแดน ในวันที่ 17 กรกฎาคม มีรายงานการพบศพผู้เสียชีวิต 5 นาย ซึ่งต่อมา ในวันที่ 18 กรกฎาคม ทางกองทัพบกไทยได้ส่งทีมช่วยเหลือไปรับศพโดยใช้เฮลิคอปเตอร์แบบแบล็กฮอว์กเป็นพาหนะ และเนื่องด้วยสภาพอากาศปิด จึงเลื่อนภารกิจดังกล่าวออกไปหนึ่งวัน จนมาถึงในวันที่ 19 กรกฎาคม ได้มีการส่งทหาร 8 นายและนักข่าว 1 นายเดินทางไปรับศพ ผลปรากฏว่าเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กได้ตกลงไปในป่า การกระแทกกับพื้นส่งผลให้เฮลิคอปเตอร์แตกกระจาย และผู้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวเสียชีวิตทั้ง 9 ราย[2] ในเบื้องต้น ได้มีการลำเลียงศพมาบางส่วน และในวันที่ 24 กรกฎาคม ทางหน่วยได้ส่งทีมไปรับศพผู้สูญเสียเจ็ดรายที่เหลือ โดยได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบ 212 (ฮ.ท.212) (เบลล์ 212) จำนวน 3 ลำ ปรากฏว่าลำสุดท้ายได้ตกลงไปในป่า และเพลิงลุกไหม้[3] มีรายงานผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าวสามราย และรอดชีวิตหนึ่งราย ซึ่งทีมช่วยเหลือได้ประสานงานโดยการนำรถไปรับศพมาเพื่อทำพิธีทางศาสนาที่จังหวัดกาญจนบุรีอย่างสมเกียรติ[4]
ผู้เสียชีวิต
[แก้]เฮลิคอปเตอร์ลำที่ 1
[แก้]- เฮลิคอปเตอร์ : ยูเอช-1 ไอโรควอยส์ (ฮิวอี้)
- วันที่เกิดเหตุ : 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 (พิกัด NQ 254/127[5])
- พันตรีเกียรติศักดิ์ จันเอี่ยม นักบินสังกัดกองบินปีกหมุนที่ 2 (นักบิน 1)
- ร้อยโทปรัชญา นวลศรี นักบินสังกัดกองบินปีกหมุนที่ 2 (นักบิน 2)
- จ่าสิบเอกรังสรรค์ พลสายบัว ช่างเครื่องปีกหมุน สังกัดกองบินปีกหมุนที่ 2 (ช่างเครื่อง)
- จ่าสิบเอกณรงค์เดช พงษ์นุ่มกูล ตำแหน่งช่างปีกหมุน สังกัดกองบินปีกหมุนที่ 2 (ช่างเครื่อง)
- พันตรีกิติภูมิ เอกพันธ์ รองผู้บังคับการกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 19 (นายทหารยุทธการหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ)[2][6]
เฮลิคอปเตอร์ลำที่ 2
[แก้]- เฮลิคอปเตอร์ : ยูเอช-60 แบล็กฮอว์ก
- วันที่เกิดเหตุ : 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 (พิกัด NQ 243118[5])
- พันตรีประพันธ์ เจียมสูงเนิน (นักบิน 1 - ผู้บังคับหมวดบริการและซ่อมบำรุง กองบินปีกหมุนที่ 9 ผสม)
- พันตรีชูพันธ์ พลวรรณ (นักบิน 2 - นักบินกองบินปีกหมุนที่ 9 ผสม)
- จ่าสิบเอกสมคิด วงษ์ตาแสง (ช่างเครื่อง - ช่างบินปีกหมุน กองบินปีกหมุนที่ 9 ผสม)
- สิบเอกอร่าม วงศ์สิงห์ (ช่างซ่อมเครื่องบินปีกหมุนโจมตี ตอนซ่อมบำรุงเครื่องบิน หมวดบริการและซ่อมบำรุง กองบินปีกหมุนที่ 9)
- พลตรีตะวัน เรืองศรี (ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9)
- ร้อยเอกเจษ สุขใจ (รองผู้บังคับการร้อยลาดตระเวณระยะไกล ที่ 9)
- ร้อยเอกจักรพันธ์ บำรุงพืช (นายทหารยุทธการ ฝ่ายยุทธการและการข่าว ร้อยลาดตระเวณระยะไกล ที่ 9)
- สิบตรีอิทธิศักดิ์ หิณะสุทธิ์ (พลทหารโทรเลข ร้อยลาดตระเวณระยะไกล ที่ 9)
- ศรวิชัย คงตันนิกูล (ช่างภาพสายการเมืองสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 - อดีตช่างภาพสายการเมืองสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย)[2][7]
เฮลิคอปเตอร์ลำที่ 3
[แก้]- พันตรีฐิระรัตน์ แก้วกระมล ผู้บังคับอากาศยาน ตอนขนส่งทางอากาศ หมวดขนส่งกำเนิด สังกัดกองบินปีกหมุนที่ 2 ศูนย์การบินทหารบก (นักบิน 1)
- ร้อยโทปูรณะ หวานใจ ตอนขนส่งทางอากาศ หมวดขนส่งทางอากาศ สังกัดกองบินปีกหมุนที่ 2 (นักบิน 2)
- จ่าสิบเอกวิเชียร จันทร์พัฒน์ ช่างซ่อมบินปีกหมุน หมวดบริการและซ่อมบำรุงเครื่องบิน (ช่างเครื่อง)
ในลำที่ 3 นี้ มีผู้รอดชีวิต 1 นายคือ สิบเอกพัฒนพร ต้นจันทร์ (ช่างเครื่อง)[8][9]
สาเหตุ และการสืบสวน
[แก้]ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ได้มีรายงานความคืบหน้าในการกู้ซากแบล็กฮอว์ก ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สูนย์ประสานงาน ได้รับรายงานว่ามีการพบ ELT 96 สีส้ม หรือกล่องดำ ที่บันทึกการบินของเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กที่ประสบอุบัติเหตุแล้ว[10] โดยสันนิษฐานว่า จากสภาพของแบล็กฮอว์กที่ตกจนชิ้นส่วนแตกกระจายแต่ล้อยางไม่แตกนั้น อาจเกิดจากการที่เฮลิคอปเตอร์ตกลงไปแบบหงายท้องเนื่องด้วยหลงสภาพการบิน[5] ส่วนในวันที่ 24 กรกฎาคม ได้มีการชี้แจงว่าเฮลิคอปเตอร์เบลล์ 212 ไม่ได้ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากปัญหาสภาพอากาศเหมือนเฮลิคอปเตอร์ที่ตก 2 ลำแรก หากแต่เกิดจากการที่เฮลิคอปเตอร์เบลล์ 212 เสียการทรงตัว และเกิดการสูญเสียการบังคับ เฮลิคอปเตอร์เบลล์ 212 จึงตกลงมา[11]
สิ่งสืบเนื่อง
[แก้]นายทหารทุกนาย ต่างได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ[4] และได้รับการเลื่อนยศจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการปูนบำเหน็จพิเศษ 8 ขั้น แยกเป็น 7 ขั้นที่เกิดจากการปฏิบัติภารกิจการบินทางอากาศ และทุกนายได้ถูกบรรจุกำลังในศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ตลอดจนปฏิบัติงานในศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ทั้งออกสนามมากกว่า 6 เดือน จึงได้รับเพิ่มอีก 1 ขั้น รวมเป็น 8 ขั้น รวมถึงครอบครัวต่างได้รับการช่วยเหลือทางสวัสดิการประมาณรายละกว่า 2 ล้านบาท และครอบครัวของช่างภาพผู้สูญเสียชีวิตนั้นได้รับการช่วยเหลือจากทางการในระดับเดียวกัน[12] และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งมีดังนี้:
เฮลิคอปเตอร์ : ฮิวอี้
[แก้]- พันตรีกิติศักดิ์ จีนเอี่ยม (นักบิน 1) ได้เลื่อนยศเป็น พลตรี และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริตาภรณ์ช้างเผือก
- ร้อยโทปรัชญา นวลศรี (นักบิน 2) ได้เลื่อนยศเป็น พันเอก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
- จ่าสิบเอกรังสรรค์ พลสายบัว (ช่างเครื่อง) ได้เลื่อนยศเป็น พันเอก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
- จ่าสิบเอกณรงค์เดช พงษ์นุ่มกูล (ช่างเครื่อง) ได้เลื่อนยศเป็น พันเอก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
- พันตรีกิติภูมิ เอกพันธ์ (นายทหารยุทธการหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ) ได้เลื่อนยศเป็น พลตรี และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย
เฮลิคอปเตอร์ : แบล็กฮอว์ก
[แก้]- พันตรีประพันธ์ เจียมสูงเนิน (นักบิน 1) ได้เลื่อนยศเป็น พลโท พร้อมค่าสินไหมทดแทน ค่าประกันชีวิต ประมาณกว่า 2 ล้านบาท และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย
- พันตรีชูพันธ์ พลวรรณ (นักบิน 2) ได้เลื่อนยศเป็น พลตรี พร้อมค่าสินไหมทดแทน ค่าประกันชีวิต ประมาณกว่า 2 ล้านบาท และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย
- จ่าสิบเอกสมคิด วงษ์ตาแสง (ช่างเครื่อง) ได้เลื่อนยศเป็น พันโท พร้อมค่าสินไหมทดแทน ค่าประกันชีวิต ประมาณกว่า 2 ล้านบาท และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
- สิบเอกอร่าม พงษ์สิงห์ ได้เลื่อนยศเป็น ร้อยเอก พร้อมค่าสินไหมทดแทน ค่าประกันชีวิต ประมาณกว่า 2 ล้านบาท และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย
- พลตรีตะวัน เรืองศรี (ผู้บัญชากองพลทหารราบที่ 9) ได้เลื่อนยศเป็น พลเอก พร้อมค่าสินไหมทดแทน ค่าประกันชีวิต ประมาณกว่า 2 ล้านบาท และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฎ
- ร้อยเอกเจษ สุขใจ ได้เลื่อนยศเป็น พันเอก พร้อมค่าสินไหมทดแทน ค่าประกันชีวิต ประมาณกว่า 2 ล้านบาท และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริตาภรณ์ช้างเผือก
- ร้อยเอกจักรพันธ์ บำรุงพืช ได้เลื่อนยศเป็น พันโท พร้อมค่าสินไหมทดแทน ค่าประกันชีวิต ประมาณกว่า 2 ล้านบาท และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
- สิบตรีอิทธิศักดิ์ หิณะสุทธิ์ ได้เลื่อนยศเป็น ร้อยโท พร้อมค่าสินไหมทดแทน ค่าประกันชีวิต ประมาณกว่า 2 ล้านบาท และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย
- ศรวิชัย คงตันนิกูล (ช่างภาพสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5)[2] โดยกองทัพบกจะให้เงินช่วยเหลือใกล้เคียงกับกำลังพลของกองทัพบก
นอกจากนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาการนายกรัฐมนตรี ยังได้ร่วมแข่งขันฟุตบอลการกุศลของชมรมผู้สื่อข่าวการเมือง ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวช่างภาพประจำสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 นี้เช่นกัน[13]
เฮลิคอปเตอร์ : เบลล์ 212
[แก้]- พันตรีฐิระรัตน์ แก้วกมล (นักบิน 1) ได้เลื่อนยศเป็น พลโท และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริตาภรณ์ช้างเผือก
- ร้อยโทบูรณา หวานใจ (นักบิน 2) ได้เลื่อนยศเป็น พันโท และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย
- จ่าสิบเอกวิเชียร จันทร์พัฒน์ ได้เลื่อนยศเป็น พลตรี และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย
- สิบเอกพัฒนพร ต้นจันทร์ ได้เงินบำรุงขวัญและค่ารักษาพยาบาล นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช[14] พระราชทานดอกไม้เยี่ยมไข้ โดยให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ในการนี้ด้วย และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาการนายกรัฐมนตรีได้เข้าเยี่ยมด้วยตนเอง
ความเชื่อ
[แก้]ในเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้มีความเชื่อว่า ที่เฮลิคอปเตอร์ตกถึง 3 ครั้งติดต่อกัน ผู้เสียชีวิตมากมายนั้น เป็นเพราะแรงอาถรรพ์หรือคำสาปของชาวกะเหรี่ยงที่เป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในผืนป่าแห่งนั้น โดยชาวกะเหรี่ยงอาวุโสที่มีอายุกว่า 103 ปี ที่มีชื่อเรียกกันในท้องถิ่นว่า ปู่คออี๋ ซึ่งเป็นผู้นำจิตวิญญาณและเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องคาถาอาคม กล่าวว่าเป็นเพราะแรงคำสาปของชาวกะเหรี่ยงที่เจ็บแค้นที่ถูกทหารไทยขับไล่ที่อยู่อาศัยจนมีผู้บาดเจ็บและล้มตาย เมื่อปี พ.ศ. 2538 อีกทั้งมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 17 ศพ ซึ่งเลข 7 เป็นเลขอาถรรพ์ตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง เนื่องจากเลข 7 เมื่อเขียนกลับหัวแล้วจะคล้ายกับคำว่าตายในภาษากะเหรี่ยงโบราณ[15]
อีกทั้ง ในเหตุการณ์อุบัติเหตุครั้งแรก เมื่อพบศพผู้เสียชีวิตแล้วทั้งหมด 5 ศพ แต่ไม่พบชิ้นส่วนศีรษะที่ขาดหายไป และเมื่อจะนำศพขนกลับ ไม่สามารถกระทำได้เพราะมีฝนตกลงมา เชื่อว่าเป็นเพราะยังหาชิ้นส่วนของร่างกายไม่ครบ นอกจากนี้แล้ว ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุครั้งที่ 2 เมื่อ พล.ต.ตะวัน เรืองศรี หัวหน้าหน่วยที่ค้นหาเหตุอุบัติเหตุครั้งแรก ก่อนขึ้นเครื่องเริ่มปฏิบัติการณ์ได้เอ่ยประโยคที่เสมือนเป็นลางบอกเหตุว่า "เดินทางไปด้วยตัวเองเพื่อนำน้อง ๆ ทั้ง 5 กลับมาให้ได้ในวันนี้ (19 ก.ค.) เพราะญาติ ๆ ของพวกเขารออยู่" และเมื่อสื่อมวลชนได้พยายามติดตามขอเข้าไปทำข่าวในพื้นที่ด้วย ปรากฏว่า พล.ต.ตะวัน ได้กล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า "อย่าไปเลย เดี๋ยวก็ตกกันหมด"[16]
ทางด้านนักโหราศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเรื่องฮวงจุ้ย มีความเห็นว่าบริเวณพื้นที่ป่าแก่งกระจานนั้น มีลักษณะฮวงจุ้ยคล้ายกับสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา[17] นอกจากนี้แล้ว ยังมีภาพถ่ายของอุบัติเหตุครั้งที่ 3 ที่เมื่อเผยแพร่ออกมาแล้ว มีรูปของสิ่งที่ดูคล้ายคน 2 คน นั่งอยู่ในจุดเกิดเหตุท่ามกลางเปลวไฟ อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพบกได้ปฏิเสธเรื่องนี้ แต่ยอมรับว่าเหตุการณ์นี้ทำให้กำลังพลของกองทัพเสียขวัญ เพื่อเรียกขวัญกำลังใจได้มีการทำพิธีทำบุญครั้งใหญ่[18]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ครอบครัวโศกเศร้า รับศพ 5 นายทหาร ฮ.ตก
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 "สรุปเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตก 2 ลำ 14 ศพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-02. สืบค้นเมื่อ 2011-07-24.
- ↑ "ด่วน! เฮลิคอปเตอร์ตกในป่าแก่งกระจานลำที่ 3". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-02. สืบค้นเมื่อ 2011-07-24.
- ↑ 4.0 4.1 กองทัพจัดพิธีศพนายทหารทั้ง 5 นายอย่างสมเกียรติ[ลิงก์เสีย]
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 ทีมข่าวความมั่นคง. คมชัดลึก. ปีที่ 10 ฉบับที่ 3615. วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554. ISSN 16851390. หน้า 3
- ↑ ร่วมไว้อาลัยทหาร - ช่างภาพช่อง 5 เหยื่อ ฮ.ตก
- ↑ "ประวัติผู้เสียชีวิตเครื่องแบล็กฮอว์กตก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-25. สืบค้นเมื่อ 2011-08-27.
- ↑ "เฮลิคอปเตอร์ตกซ้ำลำ 3 ที่แก่งกระจาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-10. สืบค้นเมื่อ 2011-07-24.
- ↑ องคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์อัญเชิญน้ำหลวงอาบศพ[ลิงก์เสีย]
- ↑ พบกล่องดำแบล็กฮอว์กแล้ว-ลำเลียง 2 ศพถึงเนิน 800[ลิงก์เสีย]
- ↑ กู้สำเร็จ 4 ศพสุดท้าย แบล๊กฮอว์ก ส่งถึงศูนย์ฝึกรบพิเศษแก่งกระจานแล้ว
- ↑ ผบ.ทบ.เสียใจกับเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กตก ย้ำดูแลครอบครัว[ลิงก์เสีย]
- ↑ Thiti Wannamonta. Bangkok Post. Thursday, 28 July, 2011. ISSN 1686-4271. Page 1 (อังกฤษ)
- ↑ “ในหลวง-ราชินี” พระราชทานกระเช้าดอกไม้ให้ “ส.อ.พัฒนพร”[ลิงก์เสีย]
- ↑ แก่งกระจานอาถรรพณ์ ฮ.ร่วงซ้ำลำที่ 3 โหม่งพื้นไฟท่วมพลีชีพ 3 เจ็บ 1 จากเดลินิวส์
- ↑ คำพูดสุดท้าย พล.ต.ตะวัน จะนำศพน้อง ๆ กลับบ้าน จากสนุกดอตคอม
- ↑ แกะรอย 'อาถรรพ์' แก่งกระจาน 'โศกนาฏกรรม' เฮลิคอปเตอร์-แบล็กฮอว์กตก!!!
- ↑ กองทัพแจงเหตุ ฮ หม่งโลก -เตรียมทำบุญใหญ่สร้างขวัญกำลังพลเก็บถาวร 2011-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากผู้จัดการออนไลน์