เจ้าจอมมารดาเลื่อน ในรัชกาลที่ 5

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าจอมมารดา

เลื่อน ในรัชกาลที่ 5
เกิดเลื่อน นิยะวานนท์
8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2418
เสียชีวิต12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 (72 ปี)
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บุตร
บิดามารดาพระนรินทราภรณ์ (ลอย นิยะวานนท์)
ปริก นิยะวานนท์

เจ้าจอมมารดาเลื่อน ในรัชกาลที่ 5 (สกุลเดิม นิยะวานนท์; 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2418 – 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490) เป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระชนนีของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลวาดวรองค์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ท่านมีหน้าที่อ่านหนังสือถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนเข้าบรรทม เพราะมีเสียงไพเราะ แม้อ่านมายาวนานก็ยังเพราะไม่แหบแห้ง จึงได้รับพระกรุณาอยู่เสมอ

ประวัติ[แก้]

เจ้าจอมมารดาเลื่อน เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2418 ที่บ้านบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร เป็นบุตรีของพระนรินทราภรณ์ (ลอย นิยะวานนท์) กับปริก โดยปู่ของท่านคือพระอินท์อากร (มุ่ย ไกรฤกษ์) เป็นน้องชายของเจ้าจอมมารดาอำพา ในรัชกาลที่ 2 (พระมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ ต้นราชสกุลกปิตถา และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ต้นราชสกุลปราโมช)

เมื่อท่านอายุได้ 9 ปี ได้เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง กับ เจ้าจอมมิ ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นลูกของป้าท่าน แล้วจึงถวายตัวแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แล้วได้เป็นละครหลวง ต่อมาทรงพระกรุณาให้เป็นเป็นเจ้าจอม ประสูติพระเจ้าลูกเธอรวม 2 พระองค์ คือ

ในส่วนของเจ้าจอมมารดาเลื่อนนั้น ท่านจะมีหน้าที่ประจำ คือ การอ่านหนังสือถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาเข้าที่บรรทมเป็นนิจ เพราะพระองค์ทรงพระบรรทมยาก ท่านเจ้าจอมมารดาท่านมีเสียงที่ไพเราะ อ่านได้นาน ๆ ไม่แหบแห้ง ทั้งเป็นผู้ถูกอัธยาศัย ทรงพระกรุณามาก เมื่อต่อมาพระราชโอรสทรงได้รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ก็เป็นเหตุให้ทรงยกย่องเจ้าจอมมารดาเลื่อนยิ่งขึ้น ถึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และเหรียญรัตนาภรณ์ ในรัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 2 ครั้นพระองค์เจ้าอุรุพงษ์สิ้นพระชนม์แล้ว ปลายรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมมารดาเลื่อนจึงถวายคืนพระมรดกของพระองค์เจ้าอุรุพงษ์ฯ ทั้งหมด

ถึงรัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชเงินปีเลี้ยงชีพเป็นพิเศษอีกปีละ 30,000 บาท นอกเหนือไปจากอัตราปกติของเจ้าจอมมารดาพระสนมเอก และได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 2 อีกด้วย

ในเวลาต่อมา เจ้าจอมมารดาเลื่อน ได้กราบถวายบังคมทูลลาออกไปอยู่นอกวัง ที่บ้านถนนพระราม 5 ( ปัจจุบันกำลังปรับปรุงอาคารให้เป็นหอประวัติราชบัณฑิตยสภา เพื่อเป็นหอประวัติศาสตร์พร้อมสำหรับการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองควบคู่ไปกับการจัดประชุม เบื้องต้นคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 ปี ) และดำรงชีพอยู่โดยสัมมาปฏิบัติ ต่อมาท่านได้ย้ายไปสร้างบ้านใหม่ที่ถนนเพชรบุรี ใกล้ประตูน้ำปทุมวัน แต่มีโรคเบียดเบียนในวัยชราอยู่หลายปี จนในที่สุดก็ถึงแก่อสัญกรรมลงที่บ้านถนนเพชรบุรีนี้ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

เจ้าจอมมารดาเลื่อน เป็นบุคคลที่มีใจเป็นบุญ ทำการบริจาคทานอยู่เสมอ ๆ เช่น สร้างศาลาอุรุพงษ์ เป็นการเปรียญใหม่ ที่วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร และปฏิสังขรณ์ พระประธานองค์ใหญ่ ประดิษฐานไว้ในศาลานั้น สิ้นเงินในการนี่ 25,000 บาท และตั้งทุนช่วยวัด ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ได้บริจาคเงิน 800 บาท ซ่อมศาลาที่บรรจุพระอังคารพระองค์อุรุพงษ์ฯ เปลี่ยนเป็นศาลาจตุรมุข ผูกเหล็กหล่อคอนกรีตทั้งหลังบริจาคสมทบทุนพยาบาลภิกษุสามเณรอาพาธในวัดเบญจมบพิตรอีกถึง 2,000 บาท และบริจาคทรัพย์อีก 2,500 บาท สำหรับเขียนภาพบรรจุช่องว่างในพระอุโบสถช่อง 1 เป็นภาพพระมหาธาตุเมืองศรีสัชนาลัย ด้วยกันกับเจ้านายและบาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 5 และบริจาคเงินบำรุงพระภิกษุในวัดนั้นตลอดมา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าฝ่ายใน, เล่ม ๒๐ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๖๑๖, ๒๙ พฤศจิกายน ๑๒๒
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน, เล่ม ๒๕ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๑๐๑๕, ๒๙ พฤศจิกายน ๑๒๗
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๗๓๑, ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๓