เจ้าจอมอิ่มย่าหรัน ในรัชกาลที่ 3

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าจอมอิ่มย่าหรัน ในรัชกาลที่ 3
อาชีพนางละคร
คู่สมรสสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
บิดามารดาพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์)
คุณหญิงนก
ญาติเจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 5 (หลานสาว)

เจ้าจอมอิ่มย่าหรัน ในรัชกาลที่ 3 เป็นนางละครและบาทบริจาริกาชาวไทย เข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามลำดับ ภายหลังได้เป็นครูละครในคณะเจ้าคุณจอมมารดาเอม ด้วยมีความสามารถด้านการแสดงละครเป็นที่ประจักษ์[1]

ประวัติ[แก้]

ชีวิตตอนต้นและการถวายตัว[แก้]

เจ้าจอมอิ่มย่าหรัน มีนามเดิมว่า อิ่ม เป็นธิดาเพียงคนเดียวของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) ที่เกิดกับคุณหญิงนก ภรรยาเอก[2] เมื่อจำเริญวัยขึ้น บิดาได้นำไปถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งพระราชวังบวรสถานมงคลในขณะนั้น ครั้นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์เสวยทิวงคตแล้ว ก็ถูกโอนเป็นหม่อมละครขึ้นเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[2] โดยเข้าสู่สำนักของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในเบื้องต้น[3]

ก่อนหน้านี้เจ้าจอมมารดาอัมพา ซึ่งเป็นญาติของท่าน และเจ้าจอมยี่สุ่น ซึ่งเป็นอา ถวายตัวเข้าเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไปแล้วก่อนหน้า[4] และยังมีลูกพี่ลูกน้อง คือ เจ้าจอมอรุณ ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[5]

นางละครและนางข้าหลวง[แก้]

เจ้าจอมอิ่มนี้มีชื่อเสียงว่าเป็นนางละครที่มีรูปร่างหน้าตางดงามมาก[2] ด้วยมีผิวขาวสวย[6] แต่งกายดีนุ่งจีบห่มแพรอยู่เป็นนิจ[7] มีความสามารถทั้งการร้อง การรำ[6] บริบูรณ์ด้วยชื่อเสียงและทรัพย์สิน[7] ทั้งยังเป็นนักแสดงที่มีฝีมือหาตัวจับยาก โดยเฉพาะในบท ย่าหรัน จากบทละคร อิเหนา และปรกติจะเล่นตัวพระเอกเป็นหลัก จนได้รับสมญาว่า คุณอิ่มย่าหรัน[2][6] ในหนังสือ ประชุมพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 4 ภาคปกิณณกะภาค 1 เรื่องช้างเผือกกับนางงาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวถึงเจ้าจอมอิ่มไว้ตอนหนึ่งว่า

"...ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงอิเหนาในทอดแรก โปรดให้แย้ม บุตรพระยานครสวรรค์ (ทองดี) เป็นพระเอก เป็นตัวอิเหนา เพราะได้หัดมาแต่เดิมทำบททำบาทรำเต้นดี แต่คนทั้งปวงไม่เล่าลือนับถือว่ารูปพรรณดี นางเอกนั้นคือ เอี่ยมบุษบา เป็นนางเล็กค้างมาแต่แผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นบุตรสาวบิดาไม่มีบรรดาศักดิ์ แต่นางเอกนี้เล่าลือมากเห็นพร้อมกันว่าดีไม่มีตัวสู้ ตัวยืนเครื่องนั้นคนทั้งปวงเล่าลือนับถือ อิ่ม มาลัย เป็นข้าในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เมื่อเล่นลครครั้งนั้นผลัดกันเป็นย่าหรัน ภายหลังโปรดให้เป็นอิเหนาบ้าง ทั้งสองคนนี้เล่าลือมากว่าดี ทั้ง ๔ ที่ที่เรียกชื่อออกมานี้เดี๋ยวนี้ยังมีตัวอยู่หมด ถ้าจะเรียกตัวออกมาให้คนดูเมื่ออายุย่างเข้า ๗๐ อยู่แล้ว บัดนี้คนเป็นอันมากก็จะคิดว่าคำให้การที่ว่ามาข้างต้นนี้จริง..."[3]

หลังถวายตัวได้ราวเจ็ดปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็เสด็จสวรรคต เจ้าจอมอิ่มที่ยังคงสวยสดงดงามอยู่ ได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[3] ก่อนจะเข้าสู่ตำหนักของสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร[8] ซึ่งเจ้านายพระองค์นี้เป็นพระปิตุจฉาของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เมื่อเจริญพระชนมพรรษาล่วงมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีก็ได้สนองพระเดชพระคุณรับราชการเป็นฝ่ายในของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติการพระราชบุตรสี่พระองค์ แต่ทว่าสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีสวรรคตไปเสีย กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูรจึงทรงชุบเลี้ยงพระราชบุตรเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง และทรงเลือกกุลสตรีผู้ใหญ่ผู้มีมารยาทดี แต่งกายดี วางตัวดี และชาติตระกูลดี คือ เจ้าจอมอิ่มย่าหรัน ซึ่งสืบเชื้อสายจากพระยาไกรโกษา (เริก) ต้นสกุลไกรฤกษ์ มาช่วยดูแลเจ้าฟ้าชายที่เหลืออยู่สามพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช[8] โดยมีความสนิทสนมอันดีกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์เป็นพิเศษ[6] สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงเขียนเรื่อง ราชินีกุลในรัชกาลที่ 5 โดยกล่าวถึงเจ้าจอมอิ่มย่าหรันไว้ ความว่า

"...ท่านอิ่มย่าหรัน เป็นธิดาของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) และคุณหญิงนกเรียกว่า "คุณอิ่ม ย่าหรัน" เพราะเดิมเป็นลครหลวงในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเรียกกันว่าหม่อมลคร เป็นตัวย่าหรันในเรื่องอิเหนา ชื่อนี้จึงติดตัวมาไม่มีสูญ ท่านอิ่มย่าหรันผู้นี้คล้ายเศรษฐินี เพราะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติและชื่อเสียง เป็นผู้หนึ่งที่ฝักใฝ่ตัวอยู่กับสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรมาเก่าแก่ช้านาน ภายหลังถึงกับเป็นผู้อุปการะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิ์พงศ์ด้วย สมเด็จกรมพระยาสุดารัตน์ฯ โปรดปรานอย่างสนิทสนม ทรงนับถือว่าเป็นผู้ดีเก่าอันมีมรรยาทดี ท่วงทีก็จริง ผู้เขียนได้คุ้นเคยกันดีและได้เคยเห็นแต่นุ่งจีบห่มแพรอยู่เสมอ จนถึงชั้นหลัง ๆ ก็ไม่ยอมเลิกจนสิ้นชีวิต..."[7]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมอิ่มย่าหรันได้เข้าเป็นครูละครในคณะเจ้าคุณจอมมารดาเอม ซึ่งเป็นละครของพระราชวังบวรสถานมงคล[1]

บั้นปลายและถึงแก่อนิจกรรม[แก้]

เจ้าจอมอิ่มย่าหรันเป็นสตรีอายุยืน เพราะยังมีชีวิตอยู่มาจนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[3] พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) หลานชายของท่าน เคยไปเยี่ยมเจ้าจอมอิ่มที่เรือนไม้ฝากระดานหมู่ใหญ่อย่างไทยโบราณข้างวัดโสมนัสวิหาร ซึ่งขณะนั้นท่านมีอาการป่วย[7] ครั้นเจ้าจอมอิ่มย่าหรันถึงแก่อนิจกรรมลง ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายมรดกส่วนใหญ่แก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ต้นราชสกุลจักรพันธุ์ เพราะท่านถวายการอภิบาลมาตั้งแต่ประสูติ ส่วนที่เหลือได้แบ่งปันแก่หลาน ๆ ที่เป็นข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น ที่ดินกว่าร้อยไร่ที่ตำบลหัวหมาก ยกให้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) และพระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม ไกรฤกษ์) สะพานปลาที่มีผู้เช่าดำเนินกิจการอยู่ ท่านก็ให้ขายเสีย แล้วนำเงินที่ได้จากการขายสะพานปลามาจัดตั้งกองทุนเจ้าจอมอิ่ม ที่วัดโสมนัสวิหารมาจนถึงปัจจุบัน[9] ส่วนที่ดินและหมู่เรือนไม้หลังใหญ่ข้างวัดโสมนัสวิหาร ท่านก็ได้ถวายเป็นสมบัติของวัดโสมนัสวิหาร[7] และมอบมรดกเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 5 ผู้เป็นหลานสาวไว้ดูต่างหน้า คือหีบหมากหินทรายขลิบทอง ซึ่งปัจจุบันยังตกทอดเป็นมรดกของสายสกุลไกรฤกษ์[10]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. 1.0 1.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. "ตำนานละครอิเหนา". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 เรื่องของเจ้าพระยามหิธร, หน้า 12
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 เรื่องของเจ้าพระยามหิธร, หน้า 13
  4. เรื่องของเจ้าพระยามหิธร, หน้า 6
  5. เรื่องของเจ้าพระยามหิธร, หน้า 15
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 แลวังหลังตำหนัก, หน้า 9
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 เรื่องของเจ้าพระยามหิธร, หน้า 14
  8. 8.0 8.1 แลวังหลังตำหนัก, หน้า 5
  9. แลวังหลังตำหนัก, หน้า 11
  10. แลวังหลังตำหนัก, หน้า 12

บรรณานุกรม[แก้]