วัดพระธาตุเรณู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วัดธาตุเรณู)
วัดพระธาตุเรณู
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระธาตุเรณู, วัดธาตุเรณู, วัดกลาง
ที่ตั้งตำบลเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานพระองค์แสน
ความพิเศษพระธาตุเรณู
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระธาตุเรณู หรือ วัดธาตุเรณู เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม มีพื้นที่ประมาณ 16 ไร่เศษ

วัดพระธาตุเรณู เดิมชื่อ วัดกลาง เพราะสร้างขึ้นตรงกลางเมืองเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง แต่จะสร้างขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานแน่นอน เล่ากันมาว่าเจ้าผู้ปกครองเมืองคนแรกพร้อมด้วยอุปฮาดกรมการเมืองและราษฎรร่วมกันสร้างขึ้นแต่โบราณกาลมา ถือว่าวัดกลางเป็นวัดสำคัญของเมือง เป็นวัดสำหรับกระทำพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามประเพณีด้วย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดพระธาตุเรณู" หรือ "วัดธาตุเรณู"[1]

วัดมีองค์พระธาตุเรณูประดิษฐานอยู่โดยจำลองมาจากองค์พระธาตุพนมเดิม (องค์ก่อนกรมศิลปากรบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2483) แต่มีขนาดเล็กกว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2461 โดยพระอุปัชฌาย์อินภูมิโย แต่ยังไม่ทันจะทำการฉลองสมโภชก็ถูกฟ้าผ่าพังทลายจนหมดสิ้น ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสจึงประชุมเห็นพร้อมกันว่าต้องทำการก่อสร้างพระธาตุนี้ขึ้นอีกให้ได้ โดยก่ออิฐให้หนาขึ้น ทำการก่อสร้างอยู่ราวปีกว่าก็สำเร็จเรียบร้อย จึงได้จัดงานฉลองสมโภชในปี พ.ศ. 2463 ทางวัดจะมีงานนมัสการสมโภชเป็นงานเทศกาลประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 11 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4

พระธาตุเรณูมีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยม ซึ่งจำลองมาจากพระธาตุองค์เดิม สูง 35 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 8.37 เมตร ก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ เรียกว่า ชะทาย ทำจากปูนขาวผสมทราย ยางบงและน้ำหนังเป็นตัวประสาน มีซุ้มประตูหลอกทั้ง 4 ด้าน ส่วนเรือนธาตุมีลักษณะเช่นเดียวกับส่วนฐาน แต่ทำซ้อนลดชั้นขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำ เหนือขึ้นไปเป็นเอวขัน และส่วนยอดเป็นทรงบัวเหลี่ยม ซึ่งชาวลาวเรียกว่า หัวน้ำเต้า หรือแบบหมากปลี ซึ่งหมายถึงปลีกล้วย ภายในบรรจุพระไตรปิฎก[2]

อุโบสถประจำวัดธาตุเรณูสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2551 ภายในยังประดิษฐาน พระองค์แสน พระพุทธรูปทองคำปางสมาธิ ศิลปะแบบลาว[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดธาตุเรณู". เทศบาลตำบลเรณู.[ลิงก์เสีย]
  2. "พระธาตุเรณู". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  3. "พระธาตุเรณู". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).