เมืองยาง
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
เมืองยาง ᩅ᩠ᨿᨦᨾᩮᩨ᩠ᨦᨿᩣ᩠ᨦ မိူင်းယၢင်း၊ ဝဵင်း | |
---|---|
พิกัด: 21°50′45″N 99°41′11″E / 21.84583°N 99.68639°E | |
ประเทศ | ![]() |
รัฐ | ![]() |
ภูมิภาค | ฉานตะวันออก |
จังหวัด | จังหวัดเชียงตุง |
อำเภอ | อำเภอเมืองยาง |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 0.96 ตร.กม. (0.37 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2019)[1] | |
• ทั้งหมด | 4,396 คน |
• ความหนาแน่น | 4,587.3 คน/ตร.กม. (11,881 คน/ตร.ไมล์) |
เขตเวลา | UTC+6.30 (MST) |
เมืองยาง (ไทเขิน: ᩅ᩠ᨿᨦᨾᩮᩨᨦᨿᩣ᩠ᨦ; ไทใหญ่: မိူင်းယၢင်း၊ ဝဵင်း; พม่า: မိုင်းယန်းမြို့; อังกฤษ: Mong Yang town) เป็นเมืองแห่งหนึ่งในดินแดนของชาวไทขืน ตามประวัติศาสตร์แล้วส่วนใหญ่จะอยู่ในฐานะเมืองบริวารขึ้นกับเมืองเชียงตุง (ᨩ᩠ᨿᨦᨲᩩᨦ) โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ชายขอบที่ติดต่อกับดินแดนสิบสองปันนา ด้วยเหตุนี้จึงมีการรับเอาประชากรและอิทธิพลในด้านต่างๆ จากชาวไทลื้อ ชาวฮ่อ รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงต่างๆ เข้ามาผสมผสานปะปนด้วย ปัจจุบันเมืองยางมีฐานะเป็นเมือง (မြို့/Town, เทียบเท่ากับเทศบาลเมือง) ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองยาง จังหวัดเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า เป็นศูนย์กลางการปกครองของอำเภอเมืองยาง แต่ในทางปฏิบัติแล้วจะไม่รวมถึงพื้นที่ที่ถูกจัดตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของกองกำลังชนกลุ่มน้อย ตามข้อตกลงกับรัฐบาลพม่า
ชื่อ
[แก้]คำว่า “ยาง” ในชื่อเมือง มีความหมายว่า เป็นสถานที่พักพิงระหว่างเดินทาง ซึ่งตามตำนานเล่าว่า มีพี่น้องสามคนขี่ม้าต้อนควายผ่านมา และได้หยุดพักในบริเวณนี้ ต่อมาเมื่อได้มีการสถาปนาเมืองยางขึ้น ก็ใช้คำว่า "ยาง" มาตั้งเป็นชื่อเมือง[2]
สมญาเมือง
[แก้]เมืองยาง มีสมญาว่า "เมืองแห่ง 32 แคว้น, 32 กำ, 6 เวียง, 13 หนอง, 3 จอม, 4 อ่าง, 8 ป่า, 12 ยาง, 8 ม่อน, 4 กอง"[3] โดยมีที่มาจากชื่อสถานที่ที่ตั้งอยู่ภายในเขตปกครองของเมืองยางในอดีต
หกเวียง
[แก้]ประกอบด้วย
- เวียงเชียงไชย (ᩅ᩠ᨿᨦᨩ᩠ᨿᨦᨩᩱ᩠ᨿ)
- เวียงเหล็ก (ᩅ᩠ᨿᨦᩉᩮᩖᨠ)
- เวียงกลาง (ᩅ᩠ᨿᨦᨠᩣ᩠ᨦ)
- เวียงแก้ว (ᩅ᩠ᨿᨦᨠᩯ᩠᩶ᩅ)
- เวียงเมืองยาง (ᩅ᩠ᨿᨦᨾᩮᩨ᩠ᨦᨿᩣ᩠ᨦ)
- เวียงหลวง (ᩅ᩠ᨿᨦᩉᩖᩅ᩠ᨦ)
สิบสามหนอง
[แก้]ประกอบด้วย
- หนองสามหล่าย (ᩉ᩠ᨶᨦ᩠ᩋᩈᩣ᩠ᨾᩉᩖ᩵ᩣ᩠ᨿ)
- หนองซาวหาม (ᩉ᩠ᨶᨦ᩠ᩋᨪᩣ᩠ᩅᩉᩣ᩠ᨾ) — เป็นหนองน้ำตั้งอยู่ในเขตเวียงเมืองยาง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านเวียงเหล็กและหมู่บ้านเชียงหิน ชื่อของหนองน้ำแห่งนี้มีที่มาจากในสมัยก่อนเป็นหนองน้ำที่มีปลาชุกชุม ปลาที่จับได้แต่ละครั้งมีจำนวนมากจนต้องใช้คนร่วมยี่สิบคน (ซาว) หามกลับ ปัจจุบันมีการตัดถนนผ่านกลาง ทำให้หนองน้ำถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน นอกจากนี้ยังถูกบุกรุกจากเจ้าของพื้นที่รอบข้าง ทำให้พื้นที่ของหนองน้ำมีขนาดเล็กลง
- หนองลาว (ᩃ᩠ᨶᨦ᩠ᩋᩃᩣ᩠ᩅ)
- หนองโฮก (ᩉ᩠ᨶᨦ᩠ᩋᩰᩁ᩠ᨠ)
- หนองก๋อ (ᩉ᩠ᨶᨦ᩠ᩋᨠᩴ᩠ᩋ)
- หนองป๋อ (ᩉ᩠ᨶᨦ᩠ᩋᨸᩴ᩠ᩋ) — มีหมายเหตุในบันทีกว่าตั้งอยู่ในเขตแคว้นหู (ᨣᩯ᩠᩵ᩅᩁᩉᩪ)
- หนองก้าง (ᩉ᩠ᨶᨦ᩠ᩋᨣ᩶ᩤ᩠ᨦ)
- หนองหวาย (ᩉ᩠ᨶᨦ᩠ᩋᩉ᩠ᩅᩣ᩠ᨿ)
- หนองอ้อ (ᩉ᩠ᨶᨦ᩠ᩋᩋᩴ᩠ᩋ)
- หนองไชย (ᩉ᩠ᨶᨦ᩠ᩋᨩᩱ᩠ᨿ)
- หนองม้า (ᩉ᩠ᨶᨦ᩠ᩋᨾ᩶ᩣ)
- หนองคำ (ᩉ᩠ᨶᨦ᩠ᩋᨤᩴᩣ)
- หนองแปง (ᩉ᩠ᨶᨦ᩠ᩋᨻᩯ᩠ᨦ)
แปดป่า
[แก้]ประกอบด้วย
- ป่าแดง (ᨸ᩵ᩣᨯᩯ᩠ᨦ)
- ป่ากลาง (ᨸ᩵ᩣᨠᩣ᩠ᨦ)
- ป่าโนน (ᨸ᩵ᩣᨶ᩠ᩅᩁ)
- ป่าใหม่ (ᨸ᩵ᩣᩉᩱ᩠ᨾ᩵)
- ป่าสถาน (ᨸ᩵ᩣᩈᨮᩣ᩠ᨶ)
- ป่าส้าน (ᨸ᩵ᩣᩈ᩶ᩣ᩠ᨶ)
- ป่ารม (ᨸ᩵ᩣᩁᩫ᩠ᨾ)
- ป่าวัว (ᨸ᩵ᩣᩅᩫ᩠ᩅ)
สิบสองยาง
[แก้]ประกอบด้วย
- ยางจง (ᨿᩣ᩠ᨦᨧᩫ᩠ᨦ)
- ยางไฅ้ (ᨿᩣ᩠ᨦᨤᩱ᩶)
- บ้านยาง (ᨷ᩶ᩤ᩠ᨶᨿᩣ᩠ᨦ)
- ยางพร้าว (ᨿᩣ᩠ᨦᨻ᩶ᩣ᩠ᩅ)
- ยางตอง (ᨿᩣ᩠ᨦᨴ᩠ᩋᨦ)
- ยางเกี๋ยงหอม (ᨿᩣ᩠ᨦᨠ᩠ᨿᨦᩉ᩠ᩋᨾ)
- ยางฝาง (ᨿᩣ᩠ᨦᨺᩣ᩠ᨦ)
- ยางกู่ม (ᨿᩣ᩠ᨦᨠᩪ᩵ᨾ)
- ยางเกี๋ยงหมอก (ᨿᩣ᩠ᨦᨠ᩠ᨿᨦᩉ᩠ᨾᨠ᩠ᩋ)
- ยางแล (ᨿᩣ᩠ᨦᩃᩯ)
- ยางแกว้น (ᨿᩣ᩠ᨦᨣᩯ᩠᩵ᩅᩁ)
- ยางเลา (ᨿᩣ᩠ᨦᩃᩮᩢᩣ)
แปดม่อน
[แก้]ประกอบด้วย
- ม่อนแกะ (ᨾ᩠ᩋ᩵ᩁᨣᩯ)
- ม่อนอ่างกลาง (ᨾ᩠ᩋ᩵ᩁᩋᩣ᩠ᨦᨠᩣ᩠ᨦ)
- ม่อนม้าก่ำ (ᨾ᩠ᩋ᩵ᩁᨾ᩶ᩣᨠ᩵ᩴᩣ)
- ม่อนช้าง (ᨾ᩠ᩋ᩵ᩁᨩ᩶ᩣ᩠ᨦ)
- ม่อนง้า (ᨾ᩠ᩋ᩵ᩁᨦ᩶ᩣ)
- ม่อนอ่างลอง (ᨾ᩠ᩋ᩵ᩁᩋᩣ᩠ᨦᩃ᩠ᩋᨦ)
- ม่อนอ่างขาก (ᨾ᩠ᩋ᩵ᩁᩋᩣ᩠ᨦᨡᩣ᩠ᨠ)
- ม่อนอ่างขาง (ᨾ᩠ᩋ᩵ᩁᩋᩣ᩠ᨦᨡᩣ᩠ᨦ)
สี่กอง
[แก้]ประกอบด้วย
- สวนกอง (ᩈ᩠ᩅᩁᨣ᩠ᩋᨦ)
- กองแค (ᨣ᩠ᩋᨦᨣᩯ)
- กองเกื่อน (ᨣ᩠ᩋᨦᨠᩮᩨ᩠᩵ᨶ)
- กองซาง (ᨣ᩠ᩋᨦᨪᩣ᩠ᨦ)
สามจอม
[แก้]ประกอบด้วย
- จอมสนุก (ᨧ᩠ᩋᨾᩈ᩠ᨶᩩᨠ) — ตั้งอยู่ในเขตบ้านป่าโนน เวียงเมืองยาง อำเภอเมืองยาง จังหวัดเชียงตุง
- จอมศรี (ᨧ᩠ᩋᨾᩈᩕᩦ) — ตั้งอยู่ในเขตบ้านน้ำ (ᨷ᩶ᩤ᩠ᨶᨶᩣᩴ᩶) เมืองสือลื่อ (ᩈᩨᩃᩨ) เขตปกครองพิเศษหมายเลข 4 (เมืองลา)
- จอมแจ้ง (ᨧ᩠ᩋᨾᨧᩯ᩠᩶ᨦ) — ตั้งอยู่ในเขตบ้านป่าส้าน ตำบลหัวสิบ บ้านคา (ᩉᩫ᩠ᩅᩈᩥ᩠ᨷ ᨷ᩶ᩤ᩠ᨶᨤᩣ) เมืองสือลื่อ (ᩈᩨᩃᩨ) เขตปกครองพิเศษหมายเลข 4 (เมืองลา)
สี่อ่าง
[แก้]ประกอบด้วย
- อ่างกลาง (ᩋᩣ᩠ᨦᨠᩣ᩠ᨦ)
- อ่างลอง (ᩋᩣ᩠ᨦᩃ᩠ᩋᨦ)
- อ่างขาก (ᩋᩣ᩠ᨦᨡᩣ᩠ᨠ)
- อ่างขาง (ᩋᩣ᩠ᨦᨡᩣ᩠ᨦ)
ประวัติ
[แก้]ประวัติศาสตร์ช่วงแรก
[แก้]จากหนังสือประวัติเมืองยาง โดยอาจารย์ขนานใส่ยอน (ᩋᩣᨧᩣᩁ᩠᩼ᨿᨡ᩠ᨶᩣ᩠ᨶᩈᩱ᩵ᨿ᩠᩵ᩋᩁ) บ้านหัวกาด ได้กล่าว่า เมืองยางถูกก่อตั้งโดยอ้ายรุ่ง (ᩋ᩶ᩣ᩠ᨿᩁᩩ᩵ᨦ) เมื่อ พ.ศ. 1442 อย่างไรก็ตาม ในบันทึกของจีนเกี่ยวกับอาณาจักรน่านเจ้าได้กล่าวว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นอาณาจักรน่านเจ้าได้ขยายดินแดนมาถึงพม่า รวมถึงดินแดนทางตอนเหนือของประเทศไทย ลาว และเวียดนาม ในปัจจุบัน โดยที่ไม่ได้กล่าวถึงชื่อเมืองยางไว้แต่อย่างใด[4] จึงเป็นไปได้ว่าในช่วงเวลานี้เมืองยางอาจยังไม่ได้ถูกจัดตั้ง หรือยังเป็นเพียงชุมชนขนาดเล็ก
นอกจากนี้ยังมีตำนานอีกฉบับหนึ่งกล่าวถึงการสร้างเมืองยางของพี่น้องชาวไตหกคนจากเมืองข่า (မိုင်းကာမှ) ปีศักราชที่กล่าวไว้นั้นเก่าแก่กว่าเอกสารฉบับอื่น คือ พ.ศ. 1176 แต่เรื่องราวได้กล่าวว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการสถาปนาเมืองเชียงตุงแล้ว โดยกล่าวว่าเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงได้แต่งตั้งให้พี่น้องชาวไตหกคนจากเมืองข่า มาตั้งถิ่นฐาน ณ บริเวณแถบเมืองยางในปัจจุบัน ซึ่งพี่น้องชาวไตทั้งหกคนก็ได้ช่วยกันก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นหลายแห่ง แต่ต่อมาได้เกิดความขัดแย้งกับชาวว้า เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงจึงแต่งตั้งเจ้าเมืองมาดูแล มีการรวบรวมชาวเขาที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครอง แล้วจัดระเบียบการปกครองใหม่จนมีสภาพเป็นเมืองที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเพิ่มเติมว่าเมืองยางแต่เดิมนั้นตั้งอยู่บริเวณที่ตั้งของเมืองหลวย (ᨾᩮᩨ᩠ᨦᩉᩖᩅ᩠ᨿ) ในปัจจุบัน[2] ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองยางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 10 กิโลเมตร
เรื่องราวของเมืองยางที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองเชียงตุงครั้งแรกนั้น กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2062 เมืองยางได้เข้าร่วมกับเมืองแลม (ᨾᩮᩨ᩠ᨦᩃᩯ᩠ᨾ) และเมืองหลวย (ᨾᩮᩨ᩠ᨦᩉᩖᩅ᩠ᨿ) ให้การสนับสนุนเจ้าสายคอ (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᩈᩣ᩠ᨿᨤᩳ, พระญาศรีวิชัยราชา) ในการชิงเมืองเชียงตุงจากเจ้าหน่อแก้ว (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᩉᩳ᩠᩵ᨶᨠᩯ᩠᩶ᩅ, พระญาจอมศักดิ์) โดยมีการระบุถึงตัวเจ้าเมืองแลมว่า คือเจ้าฟ้าราบ (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨼ᩶ᩣᩁᩣ᩠ᨷ) แต่ไม่ได้ระบุตัวผู้ที่เป็นเจ้าเมืองยาง เมืองยางในขณะนั้นจึงต้องได้รับการจัดตั้งขึ้นแล้ว โดยน่าจะอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของเมืองเชียงตุง เป็นเมืองที่มีความสำคัญน้อยกว่าเมืองแลม ซึ่งเป็นเมืองที่มีเชื้อพระวงศ์ปกครอง[5]
ดังนี้ ในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการสถาปนาเมืองเชียงตุงขึ้น บริเวณพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของเมืองยางในปัจจุบันน่าจะยังไม่มีการสถาปนาชุมชนขึ้นเป็นเมืองอย่างถาวร แต่น่าจะมีการจัดตั้งเป็นชุมชนขนาดเล็กขึ้นแล้ว โดยเฉพาะในแนวที่มีเส้นทางการค้าที่พาดผ่าน เพราะมีหลักฐานปรากฏในตำนานว่าชุมชนในบริเวณนี้ถูกใช้เป็นที่พักของผู้ที่เดินทางที่ขี่ม้าต้อนควายผ่านมา ซึ่งการค้าขายควายก็น่าจะเป็นหนึ่งในการค้าสำคัญที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้มาอย่างยาวนาน เนื่องจากในปัจจุบันยังมีสถานที่และประเพณีที่มีความผูกพันกับควาย เช่น ถ้ำควายเขาแสง และประเพณีชนควาย ปรากฏให้เห็น
ปัจจัยที่ทำให้การสถาปนาเมืองในพื้นที่บริเวณนี้เกิดขึ้นอย่างล่าช้า อาจเป็นเพราะเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม เช่น ว้า และชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่รอบบริเวณนี้ จึงมีการสู้รบเพื่อแย่งชิงพื้นที่กันอยู่ตลอดเวลาจนไม่สามารถจัดตั้งชุมชนขนาดใหญ่ที่มั่นคงได้ จนกระทั่งเมื่อเมืองเชียงตุงได้รับการสถาปนาขึ้น จึงสามารถขยายอำนาจเข้ามาปกครองพื้นที่ในบริเวณนี้ได้อย่างค่อนข้างมั่นคง แต่กระนั้นก็ยังประสบปัญหาการเข้ามาแย่งชิงพื้นที่จากดินแดนข้างเคียงอยู่เสมอ อีกประการหนึ่งก็คือปัจจัยด้านสถานที่ที่ใช้จัดตั้งเป็นเมือง ซึ่งแต่เดิมน่าจะพัฒนาขึ้น ณ บริเวณที่ตั้งของเมืองหลวยในปัจจุบัน เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ก็มีข้อด้อยในด้านชัยภูมิสำหรับการรบ ในเวลาต่อมาจึงต้องย้ายมาตั้งที่บริเวณที่ตั้งของเมืองยางในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะมีชัยภูมิในการรบที่ดีกว่า สะท้อนได้จากการที่รัฐบาลเมียนมายังคงใช้พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของค่ายทหารอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
ถูกกระชับอำนาจจากเมืองเชียงตุง
[แก้]พ.ศ. 2066 พระญาแก้วยอดเชียงราย (ᨠᩕᨬᩣᨠᩯ᩠᩶ᩅᨿ᩠ᩋᨯᨩ᩠ᨿᨦᩁᩣ᩠ᨿ) กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ได้ยกทัพมาช่วยเจ้าสามเชียงคง (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᩈᩣ᩠ᨾᨩ᩠ᨿᨦᨣ᩠ᩋᨦ) ชิงเมืองเชียงตุงจากเจ้าใส่พรหม (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᩈᩱ᩵ᨻᩕᩫ᩠ᨾ) เจ้าใส่พรหมสู้ไม่ได้ จึงตัดสินพระทัยหนีภัยไปประทับอยู่ที่ “เมืองหลวย-ยาง” แล้วรวบรวมไพร่พลกลับมาชิงเมืองเชียงตุงคืนจากเจ้าสามเชียงคงได้สำเร็จ แต่ก็ทรงครองเมืองเชียงตุงอยู่ได้ไม่ถึงปี จากนั้นในปีถัดมา เมืองหลวยและเมืองยางก็พากันแข็งข้อต่อเจ้าฟ้าเชียงตุงพระองค์ในขณะนั้น คือท้าวคำฟู (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨤᩴᩣᨼᩪ, พระญาแก้วยอดฟ้านรินทา) แต่ไม่สำเร็จ โดยการกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไม่ได้มีการบันทึกถึงชื่อของผู้นำการกบฏไว้ ในช่วงเวลานี้เมืองยางและเมืองหลวยจึงน่าจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก ในระดับทำให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ เป็นไปในทางเดียวกัน สภาพบ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์จนใช้เป็นแหล่งสะสมไพร่พลและทรัพยากรเพื่อทำศึกสงครามได้ แต่ก็ยังไม่ใช่เมืองที่มีความสำคัญถึงขั้นที่จะแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์สำคัญมาปกครอง[6]
พ.ศ. 2102 ท้าวคำฟู (พระญาแก้วยอดฟ้านรินทา) เจ้าเมืองเชียงตุงในขณะนั้น ได้ส่งสมณทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองที่กรุงหงสาวดีเพื่อขอสวามิภักดิ์กับทางพม่า ซึ่งเมืองยางก็น่าจะตกเข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจของทางพม่าพร้อมกับเมืองเชียงตุงในคราวนี้[7]
พ.ศ. 2108 เมืองแลมได้ยกทัพมาตีเมือง “หลวย-ยาง” ชาวเมืองต้องพากันหลบหนี จากนั้นทัพเมืองแลมก็ไปตีได้เมืองแผน ก่อนที่จะยกทัพกลับบ้านเมืองตน อีกสองปีถัดมาล้านช้างได้ยกทัพมาชิงตัวนางแก้วรูปทิพย์ที่เมืองเชียงตุง เจ้าแก้วบุญนำ (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨻᩯ᩠᩶ᩅᨷᩩᨬᨶᩣᩴ, พระญารัตนภูมินรินทาเขมาธิบติราชา) เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงในขณะนั้น จำต้องหนีออกจากเมือง และรอจนทัพล้านช้างยกกลับไปแล้ว จึงเสด็จกลับเข้าเมืองได้[8]
พ.ศ. 2111 เมืองแงนแข็งข้อต่อเมืองเชียงตุง แล้วไปชักชวนเมืองแลมให้มาตีเมืองยาง โดยเจ้าเมืองยางในขณะนั้นคือบิดาของพระมเหสีของเจ้าแก้วบุญนำ (พระญารัตนภูมินรินทาเขมาธิบติราชา)[9]
ในช่วงเวลานี้ดินแดนแถบเมืองเชียงตุงและเมืองยางจึงน่าจะไม่มีความมั่นคง ตกอยู่ในการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างบ้านเมืองรายรอบที่เข้มแข็งกว่า การเมืองภายในก็ยังมีความวุ่นวายจากผู้ที่เสียผลประโยชน์อันเนื่องจากการที่เมืองเชียงตุงได้เข้าไปสวามิภักดิ์กับพม่า ด้านความสัมพันธ์ระหว่างเมืองยางและเชียงตุงนั้น ภายหลังจากที่ท้าวคำฟู (พระญาแก้วยอดฟ้านรินทา) ได้ปราบกบฏเมืองหลวย-เมืองยางในปี พ.ศ. 2067 แล้ว เมืองเชียงตุงก็เข้าควบคุมเมืองยางไว้แน่นหนาขึ้น มีการแต่งตั้งให้ผู้ที่มีความใกล้ชิดและไว้เนื้อเชื้อใจได้ไปปกครอง นอกจากนี้ การกล่าวถึงเมืองยางก็ไม่ได้กล่าวคู่กับชื่อเมืองหลวยโดยตลอดเหมือที่เคยปรากฏมาก่อนหน้านั้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ในช่วงเวลานี้พื้นที่บริเวณเมืองยางและเมืองหลวยกำลังถูกคุกคามจากศัตรู จึงมีการวางแผนรับมือโดยเลือกใช้เมืองยางเป็นที่มั่นตั้งรับการรุกรานของศัตรูเพียงจุดเดียว จึงมีการอพยพผู้คนจากเมืองหลวยให้ย้ายมาสมทบกันอยู่ที่เมืองยาง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเมืองยางให้มีเพิ่มมากขึ้น
เป็นเมืองสำคัญของเชียงตุง ในรัชสมัยของเจ้าแก้วบุญนำ และต้นรัชสมัยของเจ้าคำท้าว
[แก้]พ.ศ. 2125 มีบันทึกว่าผู้ครองเมืองยางคือเจ้าคำท้าว (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨤᩴᩣᨴ᩶ᩤ᩠ᩅ) พระโอรสของเจ้าแก้วบุญนำ (พระญารัตนภูมินรินทาเขมาธิบติราชา) เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง โดยพระองค์ทรงนำไพร่พลร่วมกับเมืองอื่น ๆ ยกไปปราบปรามเจ้าคำแรบเมืองแสนหวี ตามพระบรมราชโองการของกษัตริย์พม่า ในช่วงที่เจ้าคำท้าวปกครองเมืองยางนี้ พระองค์ได้รับมอบหมายจากพระบิดาให้นำทัพไปรบกับหัวเมืองสิบสองปันนาเมื่อ พ.ศ. 2129 เป็นผู้นำนางแก้วคำ (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨶᩣ᩠ᨦᨠᩯ᩠᩶ᩅᨤᩴᩣ, นางอิ่นแก้ว) พระขนิษฐา ไปถวายแก่กษัตริย์พม่าเมื่อ พ.ศ. 2131 และเป็นผู้นำไพร่พลไปปราบเมืองงิมเมื่อ พ.ศ. 2135 สะท้อนว่า ทรงเป็นผู้ที่มีความสามารถและได้รับความไว้วางพระทัยจากเจ้าแก้วบุญนำเป็นอย่างมาก การแต่งตั้งให้เจ้าคำท้าวครองเมืองยาง ย่อมแสดงให้เห็นว่าเมืองยางเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากในช่วงเวลานี้[9]
เมื่อเจ้าแก้วบุญนำสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2139 เจ้าคำท้าวได้ขึ้นครองเมืองเชียงตุงแทนพระบิดา ทรงพระนามว่า “พระญาสุธรรมราชา” แล้วทรงตั้งพระโอรสผู้หนึ่งให้ขึ้นครองเมืองยางแทน แสดงว่าเมืองยางยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญในช่วงต้นรัชสมัยของพระองค์ แต่หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2163 และเกิดความวุ่นวายในรัชสมัยของเจ้าเกี๋ยงคำ (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨠ᩠ᨿᨦᨤᩴᩣ, พระญาแก้วปราบนรินทรา) เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงพระองค์ต่อมา โดยหัวเมืองต่าง ๆ ได้พากันแข็งข้อ จนเกิดการสู้รบระหว่างกันเป็นเวลานาน ในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวกลับไม่ปรากฏบทบาทของเมืองยาง[10]
เรื่องราวของเมืองยางปรากฏอีกครั้งในราว พ.ศ. 2280 หลังจากที่เจ้าหม่องมิ้ว (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨾ᩠᩵ᩋᩁᨾᩴ᩠ᨿ) ที่ขึ้นครองเมืองต่อจากพระเชษฐา คือ เจ้าเมืองชื่น (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨾᩮᩨ᩠ᨦᨩᩨ᩠᩵ᨶ) แต่ไม่ได้รับการยอมรับและถูกชาวเมืองเชียงตุงขับไล่ ทางพม่าจึงได้แต่งตั้งให้เจ้าติตถนันทราชา (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨲᩦᨲ᩠ᨳᨶᨶ᩠ᨴᩁᩣᨩᩣ) ขึ้นครองเมืองเชียงตุงแทน เจ้าหม่องมิ้วจึงได้นำชาวเมืองหลวย เมืองยาง มาชิงเอาเมืองเชียงตุงคืน แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาเจ้าหม่องมิ้วเลือกที่จะสวามิภักดิ์กับทางพม่า แต่พระโอรส คือ เจ้าปิง (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨻᩦᩥᨦ) และเจ้ากาง (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨠᩣ᩠ᨦ) ไม่ยอม ได้มาตั้งมั่นสั่งสมกำลังอยู่ที่เมืองยาง และได้เข้าไปพึ่งพาอำนาจของจีน ฝ่ายพม่าและเชียงตุงพยายามปราบปราม สามารถตีเมืองยางสำเร็จแต่ก็ไม่สามารถรักษาเมืองไว้ได้ ฝ่ายเจ้าปิงและเจ้ากางเมื่อตั้งตัวได้ก็สั่งสมกำลังยกมาล้อมเมืองเชียงตุงไว้ แต่ก็ไม่สามารถตีเอาเมืองเชียงตุงได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามการสู้รบทำให้เมืองเชียงตุงทำนาเพาะปลูกข้าวไม่ได้ ส่งผลให้ประชาชนเกิดความอดยาก ไพร่พลขาดเสบียง เจ้าเมืองสาม (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨾᩮᩨ᩠ᨦᩈᩣ᩠ᨾ, พระญาจุฬามณีสิริเมฆภูมินทร์) โอรสของเจ้าติตถนันทราชา ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงในเวลานั้น จึงตัดสินพระทัยทิ้งเมืองเชียงตุงแล้วเสด็จลงไปประทับอยู่ที่กรุงอังวะใน พ.ศ. 2309[11]
บทบาทของเมืองยางในช่วงเวลานี้ นอกจากจะเป็นแหล่งสั่งสมไพร่พลและทรัพยากรเพื่อทำการสู้รบกับเมืองเชียงตุงแล้ว ยังเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวในการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างพม่าและจีน แต่ในที่สุดฝ่ายพม่าก็สามารถเข้ามามีอำนาจเหนือเมืองยาง เมื่อเจ้ากางยอมรับอำนาจของทางพม่าและได้รับการแต่งตั้งจากพม่าให้ปกครองเมืองเชียงตุงแทนเจ้าเมืองสาม
พ.ศ. 2328 พม่าได้ขึ้นไปปราบปรามหัวเมืองสิบสองพันนา โดยได้นัดร่วมไพร่พลกันที่เมืองเชียงรุ่ง ซึ่งเมืองเชียงตุงได้เลือกเส้นทางเดินทัพผ่านเมืองยาง ก่อนจะเข้าไปร่วมทัพกับทางพม่าเพื่อทำศึกต่อไป ตอกย้ำว่าเมืองยางในช่วงเวลานี้ได้กลับมาอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าและเมืองเชียงตุง[12]
เป็นเมืองสั่งสมกำลัง ในช่วงการขยายอำนาจของเมืองเชียงใหม่
[แก้]ราว พ.ศ. 2345-2348 เมืองเชียงใหม่ยกทัพมาตีเมืองเชียงตุง เจ้ากองไตย (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨠ᩠ᩋᨦᨴᩱ᩠ᨿ, ศิริชัยโชติสารัมภยะ สารกยะภูมินท์นรินทาเขมาธิปติราชา) เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงในเวลานั้นสู้ไม่ได้ จึงหนีมาประทับที่เมืองยาง ฝ่ายพม่าได้ยกทัพมาช่วยแต่ก็ถูกทัพของเชียงใหม่ตีแตกไป เจ้ากองไตยจึงตัดสินใจเข้าสวามิภักดิ์กับทางเชียงใหม่ ทางเชียงใหม่ก็ให้พระองค์กลับมาครองเมืองเชียงตุงตามเดิม แต่เมื่อทัพเชียงใหม่ยกกลับไปแล้ว ฝ่ายพม่าก็ส่งทหารขึ้นมาควบคุมเมืองเชียงตุงอีก โดยในช่วงเวลานี้ฝ่ายพม่าได้มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับเจ้ากองไตย เนื่องจากเห็นว่าพระองค์เคยหันไปเข้ากับทางเชียงใหม่มาก่อน ต่อมาเมื่อเมืองเชียงใหม่ได้ยกทัพมาตีเมืองเชียงตุงอีกครั้งและสามารถขับไล่พม่าไปได้ ก็ได้เลือกที่จะกวาดต้อนผู้คนรวมถึงเชื้อพระวงศ์กลับไปยังเมืองเขียงใหม่ ฝ่ายพระเจ้ากองไตยได้ตัดสินพระทัยยินยอมติดตามทัพเชียงใหม่ไป อย่างไรก็ตาม เจ้ามหาขนานดวงแก้ว (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨾᩉᩣᨡ᩠ᨶᩣ᩠ᨶᨯ᩠ᩅᨦᩈᩯ᩠ᨦ) พระอนุชา ไม่ยอมสวามิภักดิ์กับทางเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ได้คิดที่จะกลับไปอยู่ภายใต้อำนาจพม่า จึงได้ลี้ภัยมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองยาง สั่งสมกำลังตั้งตัวเป็นอิสระจากทั้งพม่าและเชียงใหม่อยู่ได้ระยะหนึ่ง สามารถรับมือทัพเชียงใหม่ที่ยกมาล้อมใน พ.ศ. 2355 ได้ แต่สุดท้ายก็ตัดสินพระทัยเข้าสวามิภักดิ์กับพม่า เมื่อ พ.ศ. 2357 หลังจากที่ได้เดินทางมาพบกับเจ้ากองไตย ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่เมืองเชียงแสน แล้วทราบข่าวว่าฝ่ายพม่าได้ยกทัพมาตีเมืองยางได้สำเร็จ [13][14] (พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองลำปาง เมืองลำพูนไชย, ประชุมพงศาวดาร ภาค 3 ตอน 3 บันทึกว่าเป็น พ.ศ. 2352)
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันได้เกิดความวุ่นวายที่เมืองเชียงรุ่ง มีบันทึกว่า เมื่อ พ.ศ. 2351 เจ้ามหาวัง เจ้าฟ้าเมืองเชียงรุ้ง ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายอำนาจของพม่า ได้ลอบติดต่อกับพระอินราชา ขุนนางเมืองน่าน ซึ่งขึ้นกับฝ่ายสยาม ที่เมืองยาง จากนั้นต่อมาใน พ.ศ. 2391 เมื่อความขัดแย้งภายในเมืองเชียงรุ่งทวีรุนแรงเพิ่มขึ้น มหาไชยอุปราช เชื้อพระวงศ์เมืองเชียงรุ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของสยาม ได้ยกทัพมาตั้งมั่นที่เมืองยางเพื่อจะทำสงครามสู้รบกับมหาไชยงาดำ เชื้อพระวงศ์เมืองเชียงรุ่งเชื้อสายเมืองพง ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายฮ่อ ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของจีน[15]
สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่ที่เกิดความวุ่นวายในเมืองเชียงตุงเมื่อราว พ.ศ. 2345 เป็นต้นมา พื้นที่บริเวณเมืองยางได้กลับไปมีสภาพเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวในการแย่งชิงอำนาจของฝ่ายต่างๆ อีกครั้ง โดยนอกจากฝ่ายพม่าและจีนแล้ว สยามก็พยายามเข้ามามีบทบาทในดินแดนบริเวณนี้ด้วย ส่งผลให้เมืองยางมิได้อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างชัดเจน และยังสามารถดำรงตนเป็นเมืองอิสระได้ในระยะเวลาหนึ่งด้วย
สถานะในปัจจุบัน
[แก้]อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดเมืองยางก็ได้ตกไปอยู่ภายใต้อำนาจของพม่า มีฐานะเป็นเมืองบริวารของเมืองเชียงตุง และเมื่อเมือเชียงตุงได้ตัดสินใจเข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ ภายหลังจากที่อังกฤษผนวกพม่าเข้าเป็นอาณานิคมของตนแล้ว เมืองยางก็ได้เข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษพร้อมกับเมืองเชียงตุงด้วย จากนั้นเมื่อพม่าประกาศเอกราชจากอังกฤษ เมืองยางก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่ามาจนถึงปัจจุบัน
โดยในปัจจุบัน อาณาเขตอำนาจปกครองของเมืองยางได้ถูกจัดตั้งเป็นอำเภอเมืองยาง จังหวัดเชียงตุง ส่วนตัวเมืองของเมืองยางนั้น ได้รับการจัดตั้งให้เป็นเขตปกครองระดับเมือง (မြို့/Town) ขึ้นกับอำเภอเมืองยาง จังหวัดเชียงตุง รัฐฉาน ตามคำสั่งประกาศของกระทรวงมหาดไทยและศาสนา เลขที่ 103/57/ส่วนย่อย (1) (พม่า: ၁၀၃ / ၅၇ / စိတ် ( ၁ )) ลงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2515
ผู้ปกครองเมืองยางในยุคอดีต
[แก้]ผู้ปกครองเมืองยางในยุคอดีต เท่าที่รวบรวมได้ มีดังนี้
# | ผู้ปกครองเมือง | ปีที่ครองเมือง | หมายเหตุ |
1 | พี่น้องชาวไต 6 คน จากเมืองข่า | ประมาณพุทธศตวรรษ 1100 | |
2 | เจ้าเมืองหลวงดงโฮ (ᨯᩫ᩠ᨦᩰᩌ) | ไม่ทราบ (ระหว่าง พ.ศ. 1442 – 1786) | |
3 | เจ้าพรหมจักรหลวงแคว้นหู (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨻᩕᩫ᩠ᨾᨧᩢ᩠ᨠᩉᩖᩅ᩠ᨦᨣᩯ᩠᩵ᩅᩁᩉᩪ) | ไม่ทราบ (ระหว่าง พ.ศ. 1442 – 1786) | |
4 | เจ้าคำแขกบ้านหูเหนือ (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨤᩴᩣᨡᩯ᩠ᨠᨷ᩶ᩤ᩠ᨶᩉᩪᩉᩮᩨ᩠ᨶᩋ) | ไม่ทราบ (ระหว่าง พ.ศ. 1442 – 1786) | |
5 | เจ้าคำเขียวม่อนเชียงชัย (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨤᩴᨡ᩠ᨿᩅᨾ᩠᩵ᩋᩁᨩ᩠ᨿᨦᨩᩱ᩠ᨿ) | ไม่ทราบ (ระหว่าง พ.ศ. 1442 – 1786) | |
6 | เจ้าหนองสามหล่าย (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᩉ᩠ᨶᨦ᩠ᩋᩈᩣ᩠ᨾᩉᩖ᩵ᩣ᩠ᨿ) | ไม่ทราบ (ระหว่าง พ.ศ. 1442 – 1786) | |
7 | เจ้าคำแดง (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨤᩴᩣᨯᩯ᩠ᨦ) | ไม่ทราบ (ระหว่าง พ.ศ. 1442 – 1786) | |
8 | เจ้าใส่พรหม (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᩈᩱ᩵ᨻᩕᩫ᩠ᨾ) | พ.ศ. 2066 | ลี้ภัยชั่วคราวจากเมืองเชียงตุง |
9 | บิดาของมเหสีของเจ้าแก้วบุญนำ (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨠᩯ᩠᩶ᩅᨷᩩᨬᨶᩣᩴ) | ก่อน พ.ศ. 2111 | |
10 | เจ้าคำท้าว (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨤᩴᩣᨴ᩶ᩤ᩠ᩅ) | ก่อน พ.ศ. 2125 - 2139 | |
11 | โอรสของเจ้าคำท้าว | พ.ศ. 2139 - ไม่ทราบ | |
12 | เจ้าปิง (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨻᩦ᩠ᨦ) และเจ้ากาง (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨠᩣ᩠ᨦ) | ประมาณ พ.ศ. 2280 | ร่วมกันปกครอง |
13 | เจ้ากองไท (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨠ᩠ᩋᨦᨴᩱ᩠ᨿ) | ประมาณ พ.ศ. 2345 | ลี้ภัยชั่วคราวจากเมืองเชียงตุง |
14 | เจ้ามหาขนานดวงแสง (ᨧᩮᩢ᩶ᩣᨾᩉᩣᨡ᩠ᨶᩣ᩠ᨶᨯ᩠ᩅᨦᩈᩯ᩠ᨦ) | ถึงปี พ.ศ. 2357 | ลี้ภัยชั่วคราวจากเมืองเชียงตุง |
ที่ตั้งและภูมิประเทศ
[แก้]เมืองยางตั้งอยู่ที่พิกัดประมาณ 20° 50' 45" เหนือ และ 99° 41' 11" ตะวันออก ขนาดตัวเมืองวัดจากด้านตะวันออกถึงด้านตะวันตกยาวประมาณ 2.0 กิโลเมตร วัดจากด้านเหนือถึงด้านใต้ยาวประมาณ 1.2 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 0.96 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บนระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลัษณะพื้นที่เป็นแอ่งที่ราบระหว่างภูเขาและที่ราบเชิงเขา อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในฤดูร้อนอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยในฤดูหนาวอยู่ที่ประมาณ 3 องศาเซลเซียส มีฝนตกประมาณ 90 วันต่อปี ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในฤดูฝนอยู่ที่ประมาณ 900 มิลลิเมตร[2]
ข้อมูลภูมิอากาศของเมิองยาง | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 22 (72) |
26 (79) |
30 (86) |
30 (86) |
28 (82) |
25 (77) |
24 (75) |
24 (75) |
25 (77) |
24 (75) |
23 (73) |
22 (72) |
25.3 (77.5) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 9 (48) |
10 (50) |
15 (59) |
18 (64) |
19 (66) |
19 (66) |
18 (64) |
18 (64) |
18 (64) |
16 (61) |
13 (55) |
10 (50) |
15.3 (59.5) |
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) | 6 (0.24) |
2 (0.08) |
5 (0.2) |
14 (0.55) |
26 (1.02) |
30 (1.18) |
31 (1.22) |
31 (1.22) |
30 (1.18) |
28 (1.1) |
17 (0.67) |
9 (0.35) |
229 (9.02) |
แหล่งที่มา: World Weather Online[20] |
เขตการปกครอง
[แก้]
เมืองยาง ในปัจจุบันมีสถานะเปรียบเทียบได้กับเทศบาลเมือง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 แขวง (ရပ်ကွက်/Ward)[16] แต่จะเรียกกันว่าหมู่บ้าน (ᨷ᩶ᩤ᩠ᨶ) ซึ่งประกอบด้วย
- เซตาน (ไทเขิน: ᨪᩮᨲᩣ᩠ᨶ; พม่า: ဈေးတန်း)
- ป่าใหม่ (ไทเขิน: ᨸ᩵ᩣᩉᩱ᩠᩵ᨾ; พม่า: ပါမိုင်)
- เวียงเหล็ก (ไทเขิน: ᩅ᩠ᨿᨦᩉᩮᩖᨠ; พม่า: ဝိန်းလိတ်)
- ป่าโนน (ไทเขิน: ᨸ᩵ᩣᨶ᩠ᩅᩁ; พม่า: ပါနွန်း)
- เมืองเป็ง (ไทเขิน: ᨾᩮᩨ᩠ᨦᩮᨸ᩠ᨦ; พม่า: မိုင်းပိန်း)
- เชียงหิน (ไทเขิน: ᨩ᩠ᨿᨦᩉᩦ᩠ᨶ; พม่า: ကျိုင်းဟင်)
- หัวกาด (ไทเขิน: ᩉᩫ᩠ᩅᨠᩣ᩠ᨯ; พม่า: ဟိုကပ်)
- ฮ่อใต้ (ไทเขิน: ᩌᩳ᩵ᨲᩱ᩶; พม่า: ဟော်တိုက်)
- หมอกใหม่ (ไทเขิน: ᩉ᩠ᨾᨠ᩠ᩋᩉᩱ᩠ᨾ᩵; พม่า: မောက်မိုင်)
- ฮ่อกลาง (ไทเขิน: ᩌᩳ᩵ᨠᩣ᩠ᨦ; พม่า: ဟော်ကန်)
- ม่อนแกะ (ไทเขิน: ᨾ᩠᩵ᩋᩁᨣᩯ; พม่า: မွန်ကဲ)
ข้อมูลประชากร
[แก้]จากข้อมูลที่ทำการสำรวจใน พ.ศ. 2562 ประชากรของเมืองยางมีทั้งสิ้น 4,396 คน ลดลงจากการการทำสำมะโนประชากรเมื่อ พ.ศ. 2557 จำนวน 570 คน หรือร้อยละ 11.5 มีประชากรเพศชายมากกว่าประชากรเพศหญิงเล็กน้อย ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67.4 หรือราวสองในสามของประชากรทั้งหมด ศาสนาที่มีผู้นับถือรองลงไปคือศาสนาคริสต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.5 หรือราวหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด โดยประชากรที่นับถือศาสนาคริสต์ส่วนมาก (88.3%) จะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านป่าใหม่และหมู่บ้านเวียงเหล็ก ประชากรนอกเหนือจากนั้นจะนับถือนัตและความเชื่ออื่นๆ ซึ่งรวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.1
# | แขวง (หมู่บ้าน) | ข้อมูลจากการสำรวจ เมื่อ พ.ศ. 2562 เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง[17] |
ข้อมูลจาก การสำมะโนประชากร เมื่อ พ.ศ. 2557[18] | |||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ภาษา ไทย |
ภาษาขืน | ภาษา พม่า |
ชาย | หญิง | รวม | พุทธ | คริสต์ | นัต | อื่นๆ | หลังคา เรือน |
ชาย | หญิง | รวม | |
1 | เซตาน | ᨪᩮᨲᩣ᩠ᨶ | ဈေးတန်း | 526 | 461 | 987 | 947 | 24 | - | 16 | 167 | 454 | 357 | 811 |
2 | ป่าใหม่ | ᨸ᩵ᩣᩉᩱ᩠᩵ᨾ | ပါမိုင် | 331 | 314 | 645 | 24 | 621 | - | - | 169 | 422 | 377 | 799 |
3 | เวียงเหล็ก | ᩅ᩠ᨿᨦᩉᩮᩖᨠ | ဝိန်းလိတ် | 311 | 253 | 564 | 195 | 368 | - | 1 | 109 | 313 | 216 | 529 |
4 | ป่าโนน | ᨸ᩵ᩣᨶ᩠ᩅᩁ | ပါနွန်း | 59 | 61 | 120 | 120 | - | - | - | 25 | 57 | 65 | 122 |
5 | เมืองเป็ง | ᨾᩮᩨ᩠ᨦᩮᨸ᩠ᨦ | မိုင်းပိန်း | 107 | 103 | 210 | 210 | - | - | - | 35 | 79 | 77 | 156 |
6 | เชียงหิน | ᨩ᩠ᨿᨦᩉᩦ᩠ᨶ | ကျိုင်းဟင် | 169 | 181 | 350 | 265 | 85 | - | - | 198 | 677 | 398 | 1,075 |
7 | หัวกาด | ᩉᩫ᩠ᩅᨠᩣ᩠ᨯ | ဟိုကပ် | 84 | 89 | 173 | 140 | - | 27 | 6 | 45 | 117 | 116 | 233 |
8 | ฮ่อใต้ | ᩌᩳ᩵ᨲᩱ᩶ | ဟော်တိုက် | 99 | 82 | 181 | 181 | - | - | - | 30 | 86 | 69 | 155 |
9 | หมอกใหม่ | ᩉ᩠ᨾᨠ᩠ᩋᩉᩱ᩠ᨾ᩵ | မောက်မိုင် | 85 | 84 | 169 | 155 | - | 14 | - | 36 | 87 | 84 | 171 |
10 | ฮ่อกลาง | ᩌᩳ᩵ᨠᩣ᩠ᨦ | ဟော်ကန် | 337 | 316 | 653 | 429 | 4 | 220 | - | 99 | 240 | 230 | 470 |
11 | ม่อนแกะ | ᨾ᩠᩵ᩋᩁᨣᩯ | မွန်ကဲ | 171 | 173 | 344 | 298 | 18 | 23 | 5 | 76 | 229 | 216 | 445 |
รวมทั้งสิ้น | 2,279 | 2,117 | 4,396 | 2,964 | 1,120 | 284 | 28 | 989 | 2,761 | 2,205 | 4,966 | |||
สัดส่วน | 51.8% | 48.2% | 100.0% | 67.4% | 25.5% | 6.5% | 0.6% | 55.6% | 44.4% | 100.0% |
โครงสร้างพื้นฐาน
[แก้]การคมนาคม
[แก้]
เมืองยางสามารถติดต่อกับพื้นที่อื่นด้วยเส้นทางทางบก โดยมีระยะทางจากเมืองยางถึงเมืองสำคัญข้างเคียงดังนี้[19]
# | จุดหมาย | ที่ตั้ง | ระยะทาง (กม.) |
---|---|---|---|
1 | สือลื่อ (ဆီလူး) | เขตปกครองพิเศษ 4 | 12.4 |
2 | เมืองแผน (မိုင်းဖျန်) | เขตปกครองพิเศษ 2 | 20.3 |
3 | หัวเตา (ဟိုတောင်း) | เขตปกครองพิเศษ 2 | 35.4 |
4 | เมืองขาก (မိုင်းခတ်) | อำเภอเมืองขาก จังหวัดเชียงตุง | 35.4 |
5 | เมืองลา (မိုင်းလား) | อำเภอเมืองลา จังหวัดเชียงตุง | 60.5 |
6 | เมืองป๊อก (မိုင်းပေါက်) | เขตปกครองพิเศษ 2 | 80.5 |
7 | เชียงตุง (ကျိုင်းတုံ) | อำเภอเชียงตุง จังหวัดเชียงตุง | 117.5 |
การศึกษา
[แก้]เมืองยางมีโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับมัธยมปลาย 1 แห่ง คือโรงเรียนการศึกษาพื้นฐานระดับมัธยมปลายเมืองยาง ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านม่อนแกะ[20]
การสาธารณสุข
[แก้]เมือยางมีโรงพยาบาล 1 แห่ง คือโรงพยาบาลเมืองยาง เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านเวียงเหล็ก มีขนาด 25 เตียง[21]
ประเพณีวัฒนธรรม
[แก้]ศาสนสถาน
[แก้]ศาสนาพุทธ
[แก้]- วัดราชฐานหลวงป่าแดง (ᩅᩢ᩠ᨯᩁᩣᨩᨮᩣ᩠ᩁᩉᩖᩅ᩠ᨦᨸ᩵ᩣᨯᩯ᩠ᨦ) ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านป่าโนน เป็นวัดประธานของเมือง เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพระปริยัติธรรม เชื่อว่าได้รับการสถาปนาขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษ 2000 ไล่เลี่ยกับช่วงเวลาที่ศาสนาพุทธนิกายวัดป่าแดงเผยแพร่เข้ามาที่เมืองเชียงตุง ศรัทธาวัดประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน คือ บ้านป่าโนน บ้านเมืองเป็ง บ้านเชียงหิน และบ้านหัวกาด
- วัดเซตาน (ᩅᩢ᩠ᨯᨪᩮᨲᩣ᩠ᨶ) ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านเซตาน เป็นวัดไทใหญ่
- วัดหลวงป่ากลาง (ᩅᩢ᩠ᨯᩉᩖᩅ᩠ᨦᨸ᩵ᩣᨠᩣ᩠ᨦ) ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านฮ่อใต้
- วัดราชฐานหลวงม่อนแกะ (ᩅᩢ᩠ᨯᩁᩣᨩᨮᩣ᩠ᩁᩉᩖᩅ᩠ᨦᨾ᩠᩵ᩋᩁᨣᩯ) ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านม่อนแกะ
- พระธาตุจอมสนุก (ᩅᩢ᩠ᨯᨻᩕᨵᩤ᩠ᨲᩩᨧ᩠ᩋᨾᩈ᩠ᨶᩩᨠ) ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านป่าโนน
- พระธาตุดงโฮ (ᨻᩕᨵᩤ᩠ᨲᩩᨯᩫ᩠ᨦᩰᩌ) ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านเซตาน
ศาสนาคริสต์
[แก้]- โบสถ์บ้านเวียงเหล็ก ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านเวียงเหล็ก เป็นโบสถ์นิกายโรมันคาทอลิก
- โบสถ์บ้านป่าใหม่ ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านป่าใหม่
เทศกาลประจำปี
[แก้]- ประเพณีควายชน จัดขึ้นในช่วงต้นปี ณ บริเวณสนามกีฬาเอนกประสงค์ ตรงข้ามวัดป่ากลาง โดยการจัดงานจะจัดหลังการจัดงานควายชนที่เมืองหลวย
- ประเพณีงานบุญพระธาตุจอมสนุก และงานบุญบั้งไฟ จัดขึ้นพร้อมกันในวันเพ็ญเดือน 7 (หรือเดือน 9 ในปีอธิกมาส) ตามปฏิทินไทขืน ซึ่งจะตรงกับวันวิสาขบูชา โดยงานบุญพระธาตุฯ จะถูกจัดขึ้นในช่วงเช้าถึงเที่ยง ส่วนงานบุญบั้งไฟจะเริ่มต้นด้วยการนำบั้งไฟไปร่วมแห่เวียนรอบพระธาตุฯ พร้อมกับการจัดงานบุญพระธาตุฯ เพื่อถวายบั้งไฟเป็นพุทธบูชา ซึ่งเรียกว่าการเวียนตาน (เวียนทาน) จากนั้นในช่วงบ่ายจึงนำบั้งไฟไปจุด ณ บริเวณที่ว่างใกล้หนองอ้อ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเวียงเมืองยาง และเนื่องจากชาวบ้านฝ่ายหญิงจะถูกระดมมาช่วยทำอาหารสำหรับงานบุญพระธาตุฯ จึงเรียกงานบุญพระธาตุฯ ว่าเป็นงานผู้หญิง คู่กับงานบุญบั้งไฟ ที่เรียกว่าเป็นงานผู้ชาย เพราะเป็นงานที่ชาวบ้านฝ่ายชายส่วนใหญ่จะพากันไปช่วยกันตระเตรียมงาน
- ประเพณีเลี้ยงเจ้าเมืองหลวง จัดขึ้นภายหลังจากการจัดงานบุญพระธาตุจอมสนุก (ปี พ.ศ. 2566 ตรงกับวันที่ 10 มิถุนายน) โดยในวันนี้ชาวเมืองยางจะนำดอกไม้และข้าวต้มหัวหมู (ข้าวต้มแหลม) ไปถวายเจ้าเมืองหลวง ซึ่งเชื่อว่าเป็นดวงวิญญาณของอดีตพระยาเมือง (เจ้าเมือง) ณ เรือนเก่าข้างสวนสาธารณะกลางเมือง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคุ้มพระยาเมือง จากนั้นชาวเมืองยางจะนำย่ามใส่เสบียงอาหารและร่มแขวนไว้ที่ประตูบ้าน เพื่อให้เทวดาบ้านนำติดตัวไปร่วมพิธีทำบุญที่เจ้าเมืองหลวงจัดขึ้น แล้วก็พากันออกจากบ้านไปอยู่ที่วัด เพื่อซ่อนตัวไม่ให้ขบวนแห่งานบุญของเจ้าเมืองหลวงพบเห็น
- ประเพณีทอดกฐินรวม จัดขึ้นในช่วงหนึ่งเดือนหลังวันออกพรรษา โดยกองกฐินที่ตั้งขึ้นเพื่อจะทอดในเวียงเมืองยางนั้น จะทำการทอดพร้อมกันโดยไม่มีการระบุว่าจะถูกนำไปทอดให้แก่วัดใด จากนั้นเมื่อทำการแห่ขบวนกองกฐินทั้งหมดเสร็จแล้ว ก็จะมีการจับสลากเพื่อกำหนดวัดที่กองกฐินแต่ละกองจะถูกนำไปทอดต่อไป
- ประเพณีฉลองข้าวหัวใหม่ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในกลุ่มคริสตศาสนิกชน เพื่อเฉลิมฉลองในวาระที่ทำการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นประเพณีที่อาจได้รับอิทธิพลมาจากการเฉลิมฉลองในวันขอบคุณพระเจ้าของทางตะวันตก โดยปกติจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ หมู่บ้านป่าใหม่
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ကျိုင်းတုံခရိုင်. မြို့နယ်ဆထွေထွေဆုပ်ချုပ်ရေးဦးစီးဌာန. "မိုင်းယန်းမြို့နယ် ဒေသဆိုင်ရာအချက်အလက်များ", หน้า 6. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1]
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ကျိုင်းတုံခရိုင်. မြို့နယ်ဆထွေထွေဆုပ်ချုပ်ရေးဦးစီးဌာန. "မိုင်းယန်းမြို့နယ် ဒေသဆိုင်ရာအချက်အလက်များ", หน้า 1. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [2]
- ↑ ใส่ยอด บ้านหัวกาด เมืองยาง, อาจารย์ขนาน. "ประวัติเมืองยาง." ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.
- ↑ Wang, Zhenping (2013). "Tang China in Multi-Polar Asia: A History of Diplomacy and War." University of Hawaii Press.
- ↑ ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 42. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [3]
- ↑ ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 44 และ 47. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [4]
- ↑ ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 47. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [5]
- ↑ ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 48. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [6]
- ↑ 9.0 9.1 ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 49. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [7]
- ↑ ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 51-53. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [8]
- ↑ ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 56-58. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [9]
- ↑ ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 59. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [10]
- ↑ ทวี สว่างปัญญางกูร (2533). "พงศาวดารเมืองเชียงตุง: หนังสือแจกเป็นบัตรพลีงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าแม่ทิพวรรณ ณ เชียงตุง." หน้า 60-62. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [11]
- ↑ ทวี สว่างปัญญางกูร (2527). "ตำนานเมืองยอง" หน้า 61-67. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [12] เก็บถาวร 2022-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ประชุมพงศาวดาร, ภาคที่ 9, เรื่องที่ 1. "พงศาวดารเมืองเชียงรุ้ง." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [13]
- ↑ ကျိုင်းတုံခရိုင်. မြို့နယ်ဆထွေထွေဆုပ်ချုပ်ရေးဦးစီးဌာန. "မိုင်းယန်းမြို့နယ် ဒေသဆိုင်ရာအချက်အလက်များ", หน้า 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [14]
- ↑ ကျိုင်းတုံခရိုင်. မြို့နယ်ဆထွေထွေဆုပ်ချုပ်ရေးဦးစီးဌာန. "မိုင်းယန်းမြို့နယ် ဒေသဆိုင်ရာအချက်အလက်များ", หน้า 6. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [15]
- ↑ Department of Population. Ministry of Labour, Immigration and Population. The 2014 Myanmar Population and Housing Census, Shan State, Kengtund District, Mineyan Township Report, หน้า 8. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [16]
- ↑ ကျိုင်းတုံခရိုင်. မြို့နယ်ဆထွေထွေဆုပ်ချုပ်ရေးဦးစီးဌာန. "မိုင်းယန်းမြို့နယ် ဒေသဆိုင်ရာအချက်အလက်များ", หน้า 18. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [17]
- ↑ ကျိုင်းတုံခရိုင်. မြို့နယ်ဆထွေထွေဆုပ်ချုပ်ရေးဦးစီးဌာန. "မိုင်းယန်းမြို့နယ် ဒေသဆိုင်ရာအချက်အလက်များ", หน้า 23. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [18]
- ↑ ကျိုင်းတုံခရိုင်. မြို့နယ်ဆထွေထွေဆုပ်ချုပ်ရေးဦးစီးဌာန. "မိုင်းယန်းမြို့နယ် ဒေသဆိုင်ရာအချက်အလက်များ", หน้า 29. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [19]