ข้ามไปเนื้อหา

มารี อ็องตัวแน็ต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มารี อองตัวเนต)
มารี อ็องตัวแน็ต
พระสาทิสลักษณ์พระนางมารี อ็องตัวแน็ต เมื่อ ค.ศ. 1775
สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส
ระหว่าง10 พฤษภาคม ค.ศ. 1774 – 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792
พระราชสมภพ2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755(1755-11-02)
พระราชวังโฮฟบวร์ค กรุงเวียนนา
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
สวรรคต16 ตุลาคม ค.ศ. 1793(1793-10-16) (37 ปี)
ปลัสเดอลาเรวอลูว์ซียง กรุงปารีส
ประเทศฝรั่งเศส
ฝังพระศพ21 มกราคม 1815
มหาวิหารแซ็ง-เดอนี กรุงปารีส
พระราชสวามีพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
พระราชบุตรมารี-เตแรซ พระราชินีแห่งฝรั่งเศส
เจ้าชายหลุยส์-โฌแซ็ฟ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส
พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แห่งฝรั่งเศส
เจ้าหญิงโซฟี เฮเลนส์ เบียทริกซ์แห่งฝรั่งเศส
พระนามเต็ม
มารีอา อันโทนีอา โยเซฟา โยฮันนา
ราชวงศ์ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค-ลอแรน
พระราชบิดาจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1
พระราชมารดาจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา
ศาสนาโรมันคาทอลิก
ลายพระอภิไธย

มารี อ็องตัวแน็ต (ฝรั่งเศส: Marie Antoinette) หรือพระนามแรกพระราชสมภพคือ อาร์ชดัชเชสมารีอา อันโทนีอา โยเซฟา โยฮันนา (เยอรมัน: Maria Antonia Josepha Johanna) เป็นเจ้าหญิงออสเตรียจากราชวงศ์ฮาพส์บวร์คของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ได้อภิเษกสมรสเข้าสู่ราชวงศ์ฝรั่งเศสและขึ้นเป็นพระราชินีแห่งฝรั่งเศสและนาวาร์ (แคว้นบาสก์ในปัจจุบัน) พระนางถูกประหารด้วยกิโยตีนในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส

เมื่อทรงพระเยาว์

[แก้]

ที่กรุงเวียนนา

[แก้]

มารี อ็องตัวแน็ต เป็นพระราชธิดาในจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แกรนด์ดยุกแห่งตอสคานา (ราชวงศ์ลอแรน) กับจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา แห่งฮังการีและโบฮีเมีย อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย (ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 เป็นพระธิดาองค์ที่ 14 ในจำนวน 16 พระองค์ของพระบิดาและพระมารดา พระนางถูกเลี้ยงดูโดยอายาส เหล่าข้าราชบริพารของราชสำนัก (มาดาม เดอ บร็องเดส และต่อมาโดยมาดาม เดอ เลอเชนเฟลด์ ผู้เข้มงวด) ภายใต้การสอดส่องดูแลอย่างเข้มงวดของจักรพรรดินี ผู้มีแนวความคิดล้าหลังเกี่ยวกับการเลี้ยงดูโอรสและธิดาด้วยการควบคุมสุขอนามัยและกระยาหารอย่างเข้มงวด และการทรมานร่างกายด้วยกิจกรรมหนักหน่วง มารี อ็องตัวแน็ตเติบโตขึ้นที่พระราชวังโฮฟบวร์คและพระราชวังเชินบรุนในกรุงเวียนนา การศึกษาของพระนางค่อนข้างถูกปล่อยปละละเลย (หรือในอีกแง่หนึ่ง คือถูกเลี้ยงมาแบบง่าย ๆ กว่าการเลี้ยงดูราชนิกุลในราชสำนักฝรั่งเศสได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ห่างไกลจากกฎเกณฑ์ทั้งปวงของราชสำนัก เกือบจะแบบชาวบ้านธรรมดา) ทรงสามารถอ่านออกเขียนได้เมื่อมีพระชนมายุเกือบสิบพรรษา ทรงอักษรภาษาเยอรมันได้ไม่ดีนัก ตรัสภาษาฝรั่งเศสได้น้อยนิด และยิ่งถ้าเป็นภาษาอิตาลีแล้วพระนางตรัสได้น้อยมาก แม้ว่าทั้งสามภาษานั้นจะเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบรรดาราชนิกูลของออสเตรียก็ตาม จักรพรรดินีได้บังคับให้พระนางอภิเษกสมรสกับพระราชนัดดาพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ผู้มีพระชนมพรรษาใกล้เคียงกัน และในขณะเดียวกัน จักรพรรดินียังใฝ่ฝันจะจัดการอภิเษกอิซาเบล พระธิดาอีกองค์ กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ผู้ทรงชราภาพ

เมื่ออาร์ชดัชเชสมารีอา อันโทนีอา ทรงเจริญพระชนมายุได้ 13 ชันษา จักรพรรดินีที่ขณะนั้นทรงเป็นหม้าย ได้ทรงสนพระทัยเพิ่มขึ้นในด้านการศึกษาของพระโอรสธิดา เพื่อจะได้สามารถจัดการอภิเษกสมรสได้ อาร์ชดัชเชสมารีอา อันโทนีอา ได้หัดเล่นฮาร์ปซิคอร์ด กับคริสตอฟ วิลบัลด์ กลุค (คีตกวีชื่อดัง) และเรียนนาฏศิลป์ฝรั่งเศสกับโนแวร์ เมื่อพระมารดาต้องเลือกระหว่างนักแสดงสองคนเพื่อให้ทรงหัดการอ่านออกเสียงและร้องเพลง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสได้ทัดทานอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเห็นว่านักแสดงไม่มีคุณสมบัติพอ มาเรีย เทเรซา จึงได้ขอให้เขาจัดหาครูที่ราชสำนักฝรั่งเศสรับรองมาให้ ผู้ที่ถูกส่งมาคือ บิชอปแห่งแวร์มงด์ ผู้นิยมในยุคเรืองปัญญา และผู้นิยมศาสตร์แห่งการคัดตัวหนังสือ เขาจะเป็นผู้ที่แก้ไขข้อบกพร่องทางการศึกษาของมารี อ็องตัวแน็ต

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1769 มาร์กีแห่งดูร์ฟอร์ต ได้มาสู่ขออาร์ชดัชเชสมารีอา อันโทนีอาเพื่ออภิเษกกับมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศส จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา รีบตกปากรับคำ ส่วนฝ่ายฝรั่งเศสที่เคร่งศาสนาได้คัดค้านการหมั้นหมายดังกล่าวที่ดำเนินการโดย ดยุกแห่งชัวเซิล เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส เนื่องจากจะเป็นการเอื้อประโยชน์กับออสเตรีย ศัตรูตลอดกาล พวกเขาได้เรียกพระวรชายาของมกุฎราชกุมารแล้วว่า ผู้หญิงออสเตรีย

มกุฎราชกุมารี

[แก้]
มารี อ็องตัวแน็ต ราวปี 1769–1770

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1770 มารีอา อันโทนีอา ได้ทรงประกาศลาออกจากฐานันดรอาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรียอย่างเป็นทางการ และเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พระนางได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารฝรั่งเศสที่พระราชวังแวร์ซาย ในวันเดียวกันนี้เอง ได้มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้น เมื่อบรรดาเจ้าหญิงแห่งแคว้นลอแรนของฝรั่งเศส ได้อ้างสิทธิ์ในการเป็นพระญาติกับองค์มกุฎราชกุมาร เพื่อให้ได้เต้นรำกับพระองค์ก่อนบรรดาอาร์ชดัชเชสจากออสเตรียที่มาร่วมงาน ท่ามกลางความกังวลของเหล่าผู้ดีทั้งหลาย ที่ได้มีการซุบซิบนินทาต่อต้าน "ผู้หญิงออสเตรีย" กันแล้ว และในเย็นวันนั้นเอง มีประชาชน 132 คนขาดใจตายกลางท้องถนน ในระหว่างพิธีเฉลิมฉลองงานมงคลอภิเษกสมรส

มกุฎราชกุมารีผู้เยาว์พระชันษาทรงมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ในรั้วในวังของฝรั่งเศส พระสวามีของพระนางตีตนออกห่าง โดยการหนีไปออกป่าล่าสัตว์แต่เช้าตรู่ (ทั้งคู่เริ่มมีสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาอย่างแท้จริง ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1773) พระนางต้องทนทุกข์กับการปรับตัวเข้ากับพระราชพิธีและขนบประเพณีแบบฝรั่งเศส และทรงเกลียดการใช้ชีวิตกับผู้คนรอบข้าง นอกจากนั้นแล้ว พระนางยังได้รับคำปรึกษาทางไกลจากกรุงเวียนนา โดยการเขียนจดหมายโต้ตอบมากมายหลายฉบับกับพระมารดา และกับเคานต์แห่ง แมร์ซี-อาร์จองโต ผู้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำกรุงปารีส ที่ประเทศฝรั่งเศส เคานต์แห่ง แมร์ซี-อาร์จองโต เป็นผู้เดียวที่พระนางสามารถวางพระทัยได้ เนื่องจากดยุกแห่งชัวเซิลได้ถูกปลดจากตำแหน่งภายในเวลาไม่ถึงปีหลังการอภิเษกสมรส จากแผนการอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนของมาดาม ดู บาร์รี พระสนมผู้ทรงอิทธิพลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 จดหมายโต้ตอบกับเคานต์แห่งแมร์ซี-อาร์จองโต ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลชิ้นเยี่ยม ที่จะอธิบายชีวิตโดยละเอียดของ มารี อ็องตัวแน็ต ภายหลังการอภิเษกสมรสในปีค.ศ. 1770 จนกระทั่งถึงการสวรรคตของจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา พระมารดาในปีค.ศ. 1780

ขึ้นเป็นราชินี

[แก้]

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1774 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศสเสด็จสวรรคต เจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส(มุกฎราชกุมาร)ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศสและเจ้าหญิงมารี อ็องตัวแน็ต โดฟีนแห่งฝรั่งเศสได้ทรงขึ้นเป็นพระราชินีแห่งฝรั่งเศสและแห่งนาวาร์ แต่พฤติกรรมของพระนางไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1777 เป็นต้นมา กระแสต่อต้านพระนางเริ่มแพร่สะพัด พระนางถูกรายล้อมด้วยพระสหายสนิทจำนวนหนึ่ง (เจ้าหญิงแห่งลอมบาลล์ บารอนแห่งเบอซองวาล ดยุกแห่งควงยี รวมถึงโยลองด์ เดอ โปลาสตรง กับเคาน์เตสแห่งโปลินยัก) ซึ่งสร้างความอิจฉาริษยาให้แก่นางสนมคนอื่น ๆ ด้วยการจัดหาเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับจำนวนมาก จัดงานเลี้ยงหรูหราฟุ่มเฟือย และจัดเกมการละเล่นที่มีเงินเดิมพันจำนวนมหาศาล

ชีวิตในราชสำนัก

[แก้]

สมเด็จพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต พยายามมีอิทธิพลทางการเมืองเหนือพระมหากษัตริย์ ด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีเป็นว่าเล่นตามพระทัย หรือไม่ก็ด้วยคำแนะนำของพระสหายผู้จะได้รับประโยชน์ พระนางต้องเดือดร้อนจากการเข้าไปพัวพันกับคดีกีเนส (เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงลอนดอน ผู้ถูกกล่าวหาว่าวางแผนผลักดันฝรั่งเศสเข้าร่วมสงคราม) เนื่องด้วยขาดความยั้งคิด ส่งผลให้พระนางสั่งปลดตูร์โกต์ในกาลต่อมา บารอนพิชเลอร์ ราชเลขาของพระนางมาเรีย เทเรซาที่หนึ่ง ได้ให้ความเห็นโดยรวมอย่างสุภาพด้วยการบันทึกไว้ว่า :

"พระนางไม่มีความปรารถนาในการปกครอง บงการ หรือแม้แต่ชี้นำเรื่องใด ๆ ก็ตาม สิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่พระนางคิดคำนึงมาตลอดเวลาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้แล้ว พระนางไม่ค่อยคิดเรื่องอื่นเท่าไรนัก และอุปนิสัยรักอิสระของพระนางเป็นข้อพิสูจน์ที่เพียงพอแล้ว เนื่องจากพระนางจะสนพระทัยเฉพาะสิ่งบันเทิงเริงรมย์ หรือไม่ก็เรื่องไร้สาระ"

กลุ่มคนที่ต่อต้านพระนางได้รวมตัวกันตั้งแต่เมื่อพระนางขึ้นสู่ราชบัลลังก์ มีการแจกใบปลิวกล่าวหาว่าพระนางมีชายชู้ (เคานต์แห่งอาร์ตัว พระเชษฐาเขย และเคานต์ฮาน แอกเซล เดอ เฟอเสน หรือแม้กระทั่งว่าพระนางมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสตรี (โยลองด์ เดอ โปลาสตรง และเคาน์เตส เดอ โปลินยัก) มีการใช้จ่ายเงินสาธารณะอย่างสุรุ่ยสุร่ายเพื่อการบันเทิงเริงรมย์ และเป็นฝ่ายหนุนหลังออสเตรียที่ตอนนั้นถูกปกครองโดยจักรพรรดิโยเซฟที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระเชษฐาของพระนาง แต่ก็ต้องกล่าวว่า พระนางได้ทำทุกวิถีทางที่จะต่อสู้กับพวกต่อต้านออสเตรีย ด้วยการปลดดยุกแห่งเอกุยยง และแต่งตั้งดยุกแห่งชัวเซิลขึ้นแทน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ พระราชวังแวร์ซายร้างจากผู้คน พวกนางสนมที่ราชินีหวาดระแวงได้หนีหน้าหายไปเนื่องด้วยไม่สามารถสนับสนุนรายจ่ายที่เกิดจากชีวิตอันหรูหราในราชสำนักได้

ในที่สุด เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1778 สมเด็จพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ตได้มีประสูติกาลพระธิดาองค์แรก ที่มีพระนามว่า มารี-เตแรสแห่งฝรั่งเศส (1778-1851) หรือมีชื่อเล่นว่า "มาดามรัวยาล" และเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1781 ก็ถึงคราวให้กำเนิดเจ้าชายหลุยส์-โฌแซ็ฟ มกุฎราชกุมาร แต่ประสูติกาลเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลดีแก่พระนางมารี อ็องตัวแน็ต เนื่องจากมีผู้กล่าวหาว่าโอรสธิดานั้นไม่ได้มีเชื้อสายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระนางได้หันกลับมาใช้ชีวิตที่สนุกสนานเช่นเดิมอย่างรวดเร็ว และได้เฝ้าดูการก่อสร้างหมู่บ้านชนบทที่พระราชวังแวร์ซาย ให้เป็นฟาร์มขนาดเล็กที่พระนางเชื่อว่าทำให้ได้ค้นพบชีวิตชาวนาอันผาสุก ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1785 พระนางได้ให้กำเนิดพระโอรสองค์ที่สอง มีพระนามว่าเจ้าชายหลุยส์-ชาร์ล ดำรงตำแหน่งดยุกแห่งนอร์มงดี

คดีสร้อยพระศอ

[แก้]
พระฉายาสาทิสลักษณ์ของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต วาดราวปี 1791 โดยอแล็กซ็องดร์ กูชาร์สกี

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1785 ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวในคดีสร้อยพระศอของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต เมื่อนายโบห์แมร์เรียกร้องเงินจำนวน หนึ่งล้านห้าแสนปอนด์จากองค์ราชินี เป็นค่าสร้อยคอเพชรที่พระคาร์ดินัล เดอ โรออง เป็นผู้ว่าจ้างให้ทำขึ้นในนามของราชินี มารี อ็องตัวแน็ตยืนยันที่จะให้จับกุมพระคาร์ดินัล แล้วเรื่องก็แดงขึ้นมา องค์กษัตริย์ได้มอบหมายให้รัฐสภาจัดการเรื่องนี้ ที่ในที่สุดก็ทราบตัวการ คือคู่รักที่อ้างว่าเป็นเค้าท์และเค้าท์เตสมอธ ที่ไปหลอกลวงพระคาร์ดินัลโรอองผู้บริสุทธิ์อีกต่อหนึ่ง แม้ว่าสมเด็จพระราชินีจะไม่มีความผิดเช่นกัน แต่ก็เสียพระเกียรติเป็นอันมาก เมื่อพระนางขอให้พระมหากษัตริย์เบิกตัวพระคาร์ดินัลเดอ โนไอญ์ และให้ส่งตัวพระนางไปลี้ภัยในที่มุขมณฑลแห่งหนึ่งของพระคาร์ดินัลนี้

มารี อ็องตัวแน็ต ได้ทราบถึงชื่อเสียงที่เสื่อมเสียของพระนางในที่สุด และได้พยายามตัดลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าปรับปรุงพระตำหนักของพระนาง ซึ่งก่อให้เกิดเรื่องอื้อฉาวระลอกใหม่ขึ้นในพระราชวัง เมื่อพระสหายโปรดเห็นว่าพวกเขาไม่มีภาระหน้าที่อีกต่อไป พระนางทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ พระนางยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป และได้รับการขนานพระนามว่า "มาดามหนี้ท่วมหัว" และมีคนกล่าวหาพระนางว่าเป็นต้นเหตุของการต่อต้านรัฐสภาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 รวมทั้งการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีหลายคนโดยไม่มีเหตุผลสมควร อันที่จริงแล้ว ในปีค.ศ. 1788 พระนางเป็นผู้เรียกร้องให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ปลดนายโลเมนี เดอ เบรียนน์ผู้เสื่อมความนิยม และแต่งตั้งนายชัค เนคแกร์ขึ้นแทน แต่การกระทำดังกล่าวก็สายไปที่จะกอบกู้ชื่อเสียงคืนมา

การปฏิวัติฝรั่งเศส

[แก้]

เหตุการณ์ในปี 1789

[แก้]

ในปีค.ศ. 1789 สถานการณ์ขององค์ราชินีเลวร้ายลงมาก มีเสียงเล่าลือว่า คุณผู้ชาย (พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส ในอนาคต) จะยื่นเรื่องต่อสภาบุคคลชั้นสูงในปี พ.ศ. 2330 (ค.ศ. 1787) เพื่อขอพิสูจน์สายเลือดของโอรสธิดาของกษัตริย์ ข่าวลือยังอ้างด้วยว่าองค์ราชินีได้ลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองวัล-เดอ-กราซ ชานกรุงปารีส บาทหลวงซูลาวี ได้เล่าไว้ใน บันทึกประวัติศาสตร์และการเมืองในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ว่า "พระนางได้นำเอาความโชคร้ายของสาธารณชนไปกับพระนางด้วย ราชสำนักมีชีวิตชีวาขึ้นและคืนสภาพแทบจะในทันที จากการที่พระนางเสด็จแปรพระราชฐานเพียงอย่างเดียว"

4 พฤษภาคม ค.ศ. 1789 ได้มีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาของกษัตริย์ขึ้น ระหว่างพิธีมิสซาเพื่อการเปิดสภาอย่างเป็นทางการ สาธุคุณเดอ ลา ฟาร์ ผู้อยู่บนบัลลังก์ ได้กล่าวประณามมารี อ็องตัวแน็ตอย่างเปิดเผย ด้วยการตีแผ่การใช้ชีวิตในราชสำนักอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย และยังกล่าวว่าผู้ที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิตหรูหราดังกล่าวได้หลบไปหาความสำราญด้วยการ ใช้ชีวิตเลียนแบบธรรมชาติอย่างไร้เดียงสา อันเป็นคำประชดประชันแดกดันด้วยการเปรียบเปรยถึงชีวิตใน พระตำหนักเปอติ ทรีอานง บ้านไร่ในพระราชวังแวร์ซายที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สร้างขึ้นเพื่อมอบให้กับพระนางมารี อ็องตัวแน็ต (ตามที่เขียนไว้ใน บันทึกเกี่ยวกับคณะสมาชิกสภา ของ อาเดรียง ดูเกสนัว)

4 มิถุนายน มกุฎราชกุมารพระองค์น้อยได้เสด็จสวรรคตลง ได้มีการจัดพิธีพระบรมศพขึ้นที่ ชาเปลแซ็ง-เดอนี เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย กิจกรรมทางการเมืองไม่อนุญาตให้เชื้อพระวงศ์ไว้ทุกข์ได้อย่างสะดวกนัก มารี อ็องตัวแน็ต ผู้ซึ่งปั่นป่วนพระทัยจากเหตุการณ์นี้ และเสียความเชื่อมั่นจากเหตุการณ์ในที่ประชุมสภาที่ปรึกษากษัตริย์ จึงปักใจเชื่อในแนวคิดต่อต้านการปฏิวัติ ในเดือนกรกฎาคม พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้สั่งปลดนายชาก เนกแกร์ องค์ราชินีได้เผาเอกสารต่าง ๆ และรวบรวมเพชรนิลจินดาของพระนาง และกราบทูลโน้มน้าวให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เสด็จออกจากพระราชวังแวร์ซายไปหลบในปราสาทที่เป็นป้อมปราการแข็งแกร่งกว่านี้ ห่างไกลจากกรุงปารีส หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 หน้งสือต่อต้านระบอบกษัตริย์ถูกแจกจ่ายไปทั่วกรุงปารีส ผู้ใกล้ชิดพระนางถูกหมายหัว และพระเศียรของ มารี อ็องตัวแน็ต ถูกตั้งราคาไว้ มีคนกล่าวหาพระนางว่าต้องการลอบวางระเบิดรัฐสภาและต้องการส่งทหารเข้ามาในกรุงปารีส

1 ตุลาคม เกิดเรื่องอื้อฉาวครั้งใหม่ขึ้น ขณะที่มีงานเลี้ยงพระกระยาหารโต๊ะยาวโดยเหล่าราชองครักษ์จากพระตำหนักทหารขององค์กษัตริย์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่กองทหารเรือจากฟลองเดรอที่เพิ่งกลับมาถึงกรุงปารีส ได้มีการโห่ร้องถวายพระพรแก่องค์ราชินี อีกทั้งประดับประดาสถานที่ด้วยธงชัยสีขาวและธงไตรรงค์ ประชาชนในกรุงปารีสได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับงานพระราชพิธีนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการถวายช่อดอกไม้ ในขณะที่ประชาชนขาดแคลนขนมปัง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ขบวนประท้วงของเหล่าสตรีได้เดินทางมาถึงพระราชวังแวร์ซายเพื่อเรียกร้องขอขนมปัง โดยกล่าวว่าพวกเขากำลังเดินทางไปหา คนทำขนมปังชาย (พระมหากษัตริย์) และคนทำขนมปังหญิง (องค์ราชินี) รวมทั้ง บุตรชายของคนทำขนมปัง (มกุฎราชกุมาร) ในเช้าวันรุ่งขึ้น ประชาชนผู้ลุกฮือติดอาวุธด้วยหอกและมีด ได้บุกเข้าไปในพระราชวัง สังหารองครักษ์เพื่อเป็นการข่มขวัญเชื้อพระวงศ์ ทำให้บรรดาเชื้อพระวงศ์จำต้องเดินทางกลับกรุงปารีสโดยมีกองทหารของมาร์กี เดอ ลา ฟาแย็ต และเหล่าผู้ลุกฮือตามประกบ ระหว่างทางได้มีผู้ข่มขู่องค์ราชินีโดยการให้ทอดพระเนตรเชือกเส้นหนึ่ง พร้อมกับกราบทูลว่าจะใช้เสาโคมในกรุงปารีสแขวนคอพระนางด้วยเชือกเส้นนี้

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม รัฐสมัชชาแห่งชาติได้ประกาศให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย พระองค์ได้ร่วมกับพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ขอความช่วยเหลือจากราชวงศ์ต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งปรัสเซีย, พระเจ้าการ์โลสที่ 4 แห่งสเปน และจักรพรรดิโยเซฟที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ผู้เป็นเชษฐาของพระนาง แต่กษัตริย์สเปนได้ตอบกลับอย่างคลุมเครือ และเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1790 จักรพรรดิโยเซฟที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เสด็จสวรรคต นายพล เดอ ลา ฟาแย็ต ได้แนะนำอย่างเย็นชาให้ พระนางทรงหย่ากับองค์กษัตริย์ ยังมีบางกระแสได้กล่าวอย่างเปิดเผยว่าจะดำเนินคดีกับพระนางเรื่องมีชายชู้ และจับได้ว่าพระนางลอบเป็นชู้กับเคานต์อัคเซิล ฟอน แฟร์เซิล

ราวปลายปี ค.ศ. 1790 บารงเดอเบรอเตย ได้เสนอแผนการหลบหนี ด้วยการหนีออกจาพระราชวังตุยเลอรี และเข้ายึดป้อมปราการที่เมืองมงต์เมดี ให้กับชายแดน องค์ราชินีต้องอยู่ตามลำพังพระองค์เองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเดือนตุลาคม ปีค.ศ. 1790 แมร์ซี-อาร์จองโต ได้ออกจากฝรั่งเศส เพื่อไปรับตำแหน่งในสถานเอกอัครราชทูตแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ ในขณะที่จักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 2 กษัตริย์องค์ใหม่แห่งออสเตรีย พระเชษฐาอีกพระองค์ของมารี อ็องตัวแน็ต ปฏิเสธที่จะช่วยพระนาง ในวันที่ 7 มีนาคม ได้มีผู้จับได้ว่า แมร์ซี-อาร์จองโต ส่งจดหมายถึงพระนาง และได้นำเรื่องให้คณะปฏิวัติดำเนินการ จึงเกิดเป็นเรื่องอื้อฉาวขึ้นว่า นั่นเป็นหลักฐานว่าพระนางได้มีส่วนพัวพันกับ "คณะกรรมาธิการออสเตรีย" และได้เจรจาจะขายชาติให้กับประเทศออสเตรีย

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน กลุ่มก่อการปฏิวัติได้บุกกรุงปารีส ทันใดนั้นเอง ชาวกรุงปารีสก็พบว่าองค์กษัตริย์กับราชินีได้หลบหนีไปแล้ว แต่นายพลลาฟาแย็ต ได้โน้มน้าวให้กลุ่มก่อการปฏิวัติเชื่อว่ากษัตริย์ถูกกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติลักพาตัวไป พระราชวงศ์ที่หลบไปนอกกรุงปารีสไม่จำเป็นต้องซ่อนตัวอีกต่อไป แต่โชคร้ายที่ราชรถของพวกพระเจ้าหลุยส์และพระนางมารี อ็องตัวแน็ต มาถึงช้าไปกว่าสามชั่วโมง และเมื่อพวกเขามาถึงจุดนัดพบจุดแรก ที่จุดแวะพักปงต์-เดอ-ซอม-เวสเลอ กองทหารที่จะมาช่วยได้จากไปเสียแล้ว โดยคิดว่าพระมหากษัตริย์เปลี่ยนพระทัย ก่อนจะถึงเที่ยงวันเล็กน้อย ราชรถถูกจับได้ที่เมืองวาเรนน์-ออง-อาร์กอนน์ เนื่องจากเจ้าของจุดแวะพักจุดก่อนจำพระเจ้าหลุยส์ได้ เขาลังเลอยู่ครู่หนึ่ง ไม่มีใครทราบว่าจะทำอย่างไรดี และในขณะนั้นเอง ได้มีฝูงชนหลั่งไหลมาที่เมืองวาเรนน์ ท้ายที่สุด ราชวงศ์ที่กำลังถูกคุกคาม ได้ถูกนำตัวกลับไปยังกรุงปารีส ภายใต้บรรยากาศโหดร้ายอันเรียบเชียบเงียบงัน

ภายหลังเหตุการณ์ที่เมืองวาแรน

[แก้]

เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกไต่สวนโดยคณะผู้แทนของสมัชชาแห่งชาติ พระองค์ได้ตอบคำถามอย่างคลุมเครือ คำตอบที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก จนมีกระแสเรียกร้องให้ถอดถอนพระองค์จากตำแหน่งกษัตริย์ ทางด้านพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ได้พบกับอองตวน บาร์นาฟ อย่างลับ ๆ โดยต้องการโน้มน้าวให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยอมรับตำแหน่งกษัตริย์ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในที่สุด เมื่อวันที่ 13 กันยายน พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ยอมรับระบอบประชาธิปไตย และในวันที่ 30 กันยายน ได้มีการยุบสภาที่ปรึกษากษัตริย์ และตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นมาแทนที่ แต่อย่างไรก็ดี ข่าวการทำสงครามกับราชวงศ์ของประเทศเพื่อนบ้านได้แพร่สะพัดไปทั่ว ในบรรดาเชื้อพระวงศ์ของยุโรปทั้งหมด ออสเตรียทำให้ชาวฝรั่งเศสรู้สึกกดดันที่สุด ประชาชนจึงได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านมารี อ็องตัวแน็ตและเรียกพระนางว่าเป็น "นางปิศาจ" หรือไม่ก็ "มาดามผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อกฎหมาย" และยังกล่าวโทษว่าพระนางเป็นผู้ทำให้เมืองหลวงนองไปด้วยเลือด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1792 คำแถลงการณ์ของเบราน์ชไวค์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจส่วนใหญ่มาจากท่านเคานท์ ฮาน แอกเซล เดอ แฟร์ซอง ได้จุดเพลิงแค้นของประชาชนชาวฝรั่งเศสได้สำเร็จในที่สุด

ประชาชนได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ด้วยการบุกพระราชวังตุยเลอรี พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จำต้องลี้ภัยในสภาคณะปฏิวัติแห่งชาติ ที่ต่อมาได้ลงคะแนนให้ถอดถอนพระองค์ชั่วคราว และให้พระองค์เสด็จไปประทับที่คอนแวนต์ของนิกายเฟยยองต์ วันรุ่งขึ้น เชื้อพระวงศ์ก็ถูกนำตัวมาไว้ที่ห้องขังของโบสถ์ ระหว่างการสังหารหมู่เชื้อพระวงศ์ในเดือนกันยายน เจ้าหญิงแห่งลอมบาลล์ ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดเพื่อเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู และพระเศียรของเจ้าหญิงถูกเสียบไว้ที่ปลายหอกและตั้งไว้นอกหน้าต่างห้องที่ประทับของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ไม่นานต่อมา หลังจากที่สงครามได้เริ่มขึ้น สภาคณะปฏิวัติได้ประกาศให้เชื้อพระวงศ์ตกอยู่ในฐานะตัวประกัน ราวต้นเดือนธันวาคม ได้มีการค้นพบ "ตู้เหล็ก" ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ใช้ซ่อนเอกสารลับของพระองค์ จึงจำเป็นต้องจัดการไต่สวนคดีขึ้นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่ประชุมใหญ่แห่งชาติลงมติให้ประหารกษัตริย์ ส่งผลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ ได้เรียกร้องกับสภาคณะปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ให้จัดการกับราชินีอีกองค์ วันที่ 13 กรกฎาคม องค์มกุฎราชกุมารก็ถูกลักพาตัวไปจากพระมารดาและถูกมอบให้อยู่ในความดูแลของอองตวน ซิมง ช่างทำรองเท้า และในวันที่ 2 สิงหาคม ก็ถึงคราวที่พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ถูกพรากจากเหล่าเจ้าหญิงและนำตัวไปยังทัณฑสถานกรุงปารีส การไต่สวนพระนางจะเริ่มต้นในวันรุ่งขึ้น

การพิจารณาคดี

[แก้]
พระนางมารี อ็องตัวแน็ต, พระโอรส-ธิดา และมาดามเอลิซาเบท ณ เหตุการณ์ที่ฝูงชนบุกพระราชวังตุยเลอรีในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1792
การสำเร็จโทษพระนางมารี อ็องตัวแน็ต วันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1793

3 ตุลาคม ค.ศ. 1793 มารีถูกฟ้องร้องต่อศาลอาญาปฏิวัติ โจทย์ผู้ฟ้องร้องคือประชาชนชาวฝรั่งเศสผ่านทางอัยการอ็องตวน ฟูกีเย-แต็งวีล แม้ว่าการพิจารณาคดีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยังคงไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรมอยู่บ้าง แต่การพิจารณาคดีของอดีตราชินีมิได้เป็นเช่นนั้นเลย ได้มีการทำสำนวนฟ้องขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากอัยการฟูกีเย-แต็งวีลไม่สามารถหาเอกสารของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พบทุกชิ้น และเพื่อให้สามารถตั้งข้อกล่าวหาแก่มารีได้ เขามีแผนที่จะให้อดีตมกุฎราชกุมารขึ้นให้การต่อศาลในทางเป็นปฏิปักษ์ต่อพระมารดา

ต่อหน้าศาลนั้นเอง อดีตมกุฎราชกุมารองค์น้อยได้กล่าวหาพระมารดา และพระมาตุจฉาว่าเป็นผู้สอนให้พระองค์สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองและบังคับให้เล่นเกมสวาท พระนางมารีผู้เสื่อมเสียพระเกียรติได้เรียกราชเลขามาขึ้นให้การ พระนางพ้นจากการถูกรุมประชาทัณฑ์ได้อย่างเส้นยาแดงผ่าแปด แต่พระนางยังถูกตั้งข้อกล่าวหาอีกว่าสมรู้ร่วมคิดกับมหาอำนาจต่างชาติ และเมื่อพระนางยังคงยืนกรานความบริสุทธิ์ นายแอร์ม็อง ประธานศาลอาญาปฏิวัติได้กล่าวว่าพระนางเป็น "ตัวการสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการทรยศต่อหลุยส์ โอกุสต์" คดีนี้จึงกลายเป็นการพิจารณาคดีของทรราชไป บทนำของสำนวนฟ้องยังกล่าวอีกด้วยว่า:

"จากการพิจารณาเอกสารทั้งหมดที่ยื่นโดยพนักงานอัยการ เป็นที่ชัดเจนว่า ในบรรดาราชินีทั้งหลาย เป็นต้นว่า เมสซาลีน, บรูเนอโอ, เฟรเดก็องด์ และเมดีซี ที่เมื่อก่อนเรายอมรับว่าเป็นราชินีของฝรั่งเศส ผู้ซึ่งมีชื่อเสื่อมเสียไม่อาจลบล้างได้จากประวัติศาสตร์ นับได้ว่ามารี อ็องตัวแน็ต หญิงหม้ายของหลุยส์ กาเป เป็นผู้มีความละโมบเป็นที่สุด และเป็นหายนะอันใหญ่หลวงของชาวฝรั่งเศส"[1]

พวกพยานที่จัดหามาดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าที่ควร พระนางให้การตอบว่า "เราเป็นแค่แค่ภรรยาของหลุยส์เท่านั้น" และพระนางก็ทำอะไรตามพระทัยของพระนางเอง อัยการฟูกีเย-แต็งวีลเรียกร้องให้ประหารพระนางและกล่าวหาว่าพระนางเป็น "ศัตรูอย่างเปิดเผยของชาติฝรั่งเศส" ทางด้านนายทรองซง-ดือคูเดรย์ และนายโชโว-ลาการ์ด ทนายความสองคนของพระนางยังหนุ่มและขาดประสบการณ์ อีกทั้งยังไม่ได้เห็นเอกสารฟ้องก่อนขึ้นว่าความ ทำได้แค่เพียงอ่านออกเสียงบันทึกไม่กี่หน้าที่ตนได้จดเอาไว้

คณะลูกขุนต้องตอบถามคำถามสี่ข้อด้วยกัน:

  1. จริงหรือไม่ที่ได้มีการคบคิดและมีการแลกเปลี่ยนข่าวกรองกับประเทศมหาอำนาจต่างชาติ และศัตรูอื่น ๆ นอกสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยที่การคบคิดและข่าวกรองดังกล่าวนั้นมีจุดมุ่งหมายให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ให้พวกนั้นเข้ามาในดินแดนฝรั่งเศส และให้พวกนั้นพัฒนาอาวุธได้?
  2. มารี อ็องตัวแน็ต แห่งออสเตรีย (...) เราเชื่อว่านางได้มีส่วนร่วมมือกับการคบคิดและสนับสนุนการข่าวกรองดังกล่าวหรือไม่?
  3. จริงหรือที่มีแผนการสมรู้ร่วมคิดและแผนข่าวโคมลอยที่พยายามจุดชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองภายในสาธารณรัฐฝรั่งเศส?
  4. เราเชื่อว่ามารี อ็องตัวแน็ตได้มีส่วนร่วมในแผนสมรู้ร่วมคิดและข่าวโคมลอยนี้หรือไม่?

คณะลูกขุนได้ตอบว่าคำถามดังกล่าวว่าจริงและใช่ทุกข้อ มารี อ็องตัวแน็ต จึงถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อเป็นทรราชย์ขั้นร้ายแรงเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ประมาณเวลาสี่นาฬิกาของรุ่งเช้า ในวันเดียวกันนั้นเอง เมื่อเวลา 12:15 น.[2][3] พระนางถูกประหารด้วยกิโยตินและเสด็จสวรรคตหลังจากที่ได้ปฏิเสธจะสารภาพบาปกับบาทหลวงที่คณะปฏิวัติจัดหาให้ พระราชกระแสสุดท้ายของพระนางคือ "อภัยให้เราด้วย เมอซีเยอ เราไม่ได้ตั้งใจ" ("Pardonnez-moi, monsieur. Je ne l’ai pas fait exprès") เนื่องจากพระนางเผลอไปเหยียบเท้าของเจ้าพนักงานเพชฌฆาต[4] พระบรมศพของพระนางถูกฝังในหลุมฝังศพลา มาเดอเลน บนถนนอ็องฌู-ซังต์-ตอนอเร ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1815 พระบรมศพของพระนางถูกขุดขึ้นมา และถูกย้ายไปฝังไว้ที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนี เมื่อวันที่ 21 มกราคม

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 – 19 เมษายน ค.ศ. 1770: อาร์ชดัชเชสมารี อันโทเนีย แห่งออสเตรีย
  • 19 เมษายน ค.ศ. 1770 – 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1774: โดฟีนแห่งฝรั่งเศส
  • 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1774 – 1 ตุลาคม ค.ศ. 1791: สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศสและนาวาร์
  • 1 ตุลาคม ค.ศ. 1791 – 21 กันยายน ค.ศ. 1792: สมเด็จพระราชินีแห่งชาวฝรั่งเศส
  • 21 กันยายน ค.ศ. 1792 – 21 มกราคม ค.ศ. 1793: นางกาเป
  • 21 มกราคม ค.ศ. 1793 – 16 ตุลาคม ค.ศ. 1793: นางม่ายกาเป
ตราอาร์มประจำองค์ในฐานะอาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย
และพระราชินีแห่งฝรั่งเศส
ตราอักษรประจำพระองค์

อ้างอิง

[แก้]
  1. Will Bashor (2016). Marie Antoinette's Darkest Days: Prisoner No. 280 in the Conciergerie. ISBN 978-1442254992
  2. Fraser 2001, p. 440
  3. The Times 23 October 1793 เก็บถาวร 2009-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Times.
  4. "Famous Last Words". 23 May 2012.

ดูเพิ่ม

[แก้]