ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน
คติพจน์"สิกฺขา วิรุฬหิ สมฺปตฺตา"
การศึกษา คือ ความเจริญงอกงาม
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
สถาปนาพ.ศ. 2496 (แผนกฝึกหัดครูมัธยม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา)
พ.ศ. 2498 (วิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน)
29 มิถุนายน พ.ศ. 2517 (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน)
อธิการบดีหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล (คนแรก)
ชมพันธุ์ กุญชร ณ อยุธยา (คนสุดท้าย)
ที่ตั้ง
2 ถนนอังรีดูนังต์ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน หรือ มศว ปทุมวัน เป็นอดีตสถาบันอุดมศึกษาและเป็นหนึ่งในอดีตวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พัฒนาจากแผนกฝึกหัดครูมัธยม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาซึ่งขึ้นอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2496 ก่อนจะได้รับการเปลี่ยนสถานะเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวันในปี พ.ศ. 2498 และเป็นวิทยาเขตที่สองของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในปี พ.ศ. 2517 ตามลำดับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวันถูกยุบรวมวิทยาเขตเข้ากับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2536 รวมระยะเวลาการดำเนินงาน 40 ปี

พื้นที่ในปัจจุบันของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวันและกลุ่มอาคารศิลปกรรมและอาคารจุฬาวิชช์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติการก่อตั้ง

[แก้]

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ถือกำเนิดมาจากเดิมเป็นแผนกฝึกหัดครูมัธยม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายยกเลิกชั้นเตรียมมหาวิทยาลัย จึงโอนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดตั้งแผนกฝึกหัดครูมัธยมขึ้นในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเพื่อผลิตครูผู้มีคุณวุฒิสูง เป็นการขยายการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อผลิตครูให้แก่โรงเรียนมัธยมศึกษาในส่วนภูมิภาค

กระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่ง ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2490 ให้เปิดชั้นฝึกหัดครูมัธยมขึ้นในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยให้มีคณะกรรมการอำนวยการฝึกหัดครูมัธยมทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และควบคุมการดำเนินงาน ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ให้โอนแผนกฝึกหัดครูมัธยมของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และหน่วยสาธิตโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนกเตรียมอุดมศึกษาของโรงเรียนรัฐบาล กรมวิสามัญศึกษา ไปสังกัดสำนักงานเลขานุการกรมการฝึกหัดครู

ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว เป็นผลให้แผนกฝึกหัดครูมัธยมเปลี่ยนทั้งสังกัดและฐานะ คือจากแผนกในสังกัดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มาเป็นหน่วยงานอิสระอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษา พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งเพิ่งบังคับมาได้ ๙ เดือน (พระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษา พ.ศ. ๒๔๙๗ ตราเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๗ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๗) เป็นสาขาของวิทยาลัยวิชาการศึกษา เรียกว่าวิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน มีรองอธิการเป็นผู้บังคับบัญชา ขึ้นตรงต่ออธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา หลักสูตรเดิม ๓ ปี ได้เปลี่ยนเป็น ๔ ปี ตามหลักสูตรของวิทยาลัยวิชาการศึกษา ปทุมวัน เปิดเฉพาะสาขามัธยมศึกษา แบ่งเป็น ๓ คณะวิชา คือ คณะวิชาการศึกษา คณะมนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจะได้รับวุฒิปริญญาตรีวิชาการศึกษา (กศ.บ.) สาขามัธยมศึกษา, วิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) และศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)

ต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร มีมติให้แยกคณะมนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ ออกเป็นคณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ คณะวิชาของวิทยาเขตปทุมวันจึงแยกออกเป็น 2 คณะเช่นเดียวกัน

ทำเนียบผู้บริหารของวิทยาเขต

[แก้]
แผนกฝึกหัดครูมัธยม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
รายนามประธานกรรมการอำนวยการฝึกหัดครูมัธยม
วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล พ.ศ. 2490 - พ.ศ. 2498
รายนามหัวหน้าแผนกฝึกหัดฯ วาระการดำรงตำแหน่ง
2. หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร พ.ศ. 2490
3. คุณหญิง ดร.อัมพร มีศุข พ.ศ. 2490 - พ.ศ. 2498
วิทยาลัยวิชาการศึกษา วิทยาเขตปทุมวัน
รายนามรองอธิการประจำวิทยาเขต วาระการดำรงตำแหน่ง
4. ศาสตราจารย์ คุณหญิงอุบล หุวะนันทน์ พ.ศ. 2498 - พ.ศ. 2514
5. ศาสตราจารย์ ดร.ลัดดา วงศ์สายัณห์ พ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2517
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน
รายนามรองอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
5. ศาสตราจารย์ ดร.ลัดดา วงศ์สายัณห์ พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2518
6. ศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา เภาพิจิตร พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2520
7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเอิญ มิลินทสูต พ.ศ. 2520 - พ.ศ. 2524
8. รองศาสตราจารย์ คุณหญิงสมจิตต์ ศรีธัญรัตน์ พ.ศ. 2524 - พ.ศ. 2530
9. รองศาสตราจารย์ ดร.ชมพันธุ์ กุญชร ณ อยุธยา พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2536

การยุบรวมวิทยาเขต

[แก้]

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีนโยบายรวมวิทยาเขตในกรุงเทพมหานครซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 4 แห่งให้เป็นวิทยาเขตเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อขจัดความซ้ำซ้อนในการเปิดคณะวิชาต่างๆ เพื่อลดงบประมาณรายจ่ายและเพื่อผนึกกำลังทางวิชาการให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ในขั้นแรกมีโครงการที่จะพัฒนาวิทยาเขตกลางขึ้นใหม่ โดยมีที่ตั้งที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในสมัยที่ศาสตราจารย์ ดร.สุดใจ เหล่าสุนทร เป็นอธิการบดีในระหว่างปี พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2522 แต่ต่อมามีปัญหาเรื่องงบประมาณ เมื่อศาสตราจารย์ ดร. นิพนธ์ ศศิธร ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิการบดี ระหว่างปี พ.ศ. 2522 - พ.ศ. 2526 จึงได้นำเรียนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโครงการรวมวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2522 ให้รวมวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในกรุงเทพมหานคร โดยมีจุดศูนย์กลางที่วิทยาเขตประสานมิตร และได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงบประมาณร่วมกันพิจารณาโครงการดังกล่าวโดยรีบด่วน เพื่อให้ทันดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ 2523

แต่ทว่า คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พิจารณารายละเอียดและความเหมาะสมของโครงการนี้แล้ว มีความเห็นว่า ในหลักการเห็นชอบด้วยกับการรวมวิทยาเขตไว้ในที่เดียวกัน แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้รวมวิทยาเขตไว้ที่วิทยาเขตประสานมิตร และขยายการผลิตนิสิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะสถานที่ตั้งของวิทยาเขตประสานมิตรคับแคบ ไม่เหมาะสมที่จะขยายทั้งทางด้านตัวอาคารและจำนวนนิสิตเพิ่มขึ้น และหากเพิ่มจำนวนนิสิตทั้งภาคปกติและภาคสมทบให้มีจำนวนมากตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 20,000 คน จะเป็นการสร้างปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมและการจราจรขึ้นในบริเวณดังกล่าวให้เลวร้ายยิ่งขึ้น คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจึงได้เสนอว่า สถานที่ที่จะรวมวิทยาเขตไว้ด้วยกันนั้น เห็นควรรวมไว้ที่บางแสน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายทางด้านการศึกษาแห่งชาติ ที่จะขยายการศึกษาโดยจัดตั้งสถาบันขึ้นในส่วนภูมิภาค เพื่อเป็นการสร้างความเสมอภาคในการศึกษา อีกทั้งสาขาวิชาที่ทางมหาวิทยาลัยจะขยายและเปิดขึ้นใหม่นั้นเป็นสาขาทางด้านสังคมแทบทั้งสิ้น ซึ่งจาการสำรวจบัณฑิตที่จบจากด้านสังคมกำลังมีปัญหาด้านการว่างงานค่อนข้างสูงแล้ว

อย่างไรก็ตามเมื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว ได้มีมติเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๒๓ ดังนี้

  1. ให้รวมวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒทั้งหมดที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร (วิทยาเขตประสานมิตร ปทุมวัน พลศึกษา และบางเขน) ไปไว้ในที่เดียวกันที่วิทยาเขตประสานมิตร โดยมีหลักการมิให้ขยายการผลิตนิสิตเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสงค์จะขยายการผลิตนิสิตเพิ่มขึ้น ให้พิจารณาขยายที่วิทยาเขตบางแสน การขยายดังกล่าวให้เน้นหนักทางด้านสาขาวิทยาศาสตร์
  2. การย้ายวิทยาเขตตามข้อ ๑ ให้ดำเนินการไปตามกำลังเงินงบประมาณ

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจึงได้ดำเนินการรวมวิทยาเขตเป็นลำดับมา ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากสภาคณาจารย์ อาจารย์และนิสิตของวิทยาเขตที่จะถูกรวมให้ทบทวนมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แต่ทบวงมหาวิทยาลัยได้ยืนยันให้ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี

สำหรับวิทยาเขตปทุมวันนั้น ในปีการศึกษา พ.ศ. 2530 คณะวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ถูกยุบไปรวมกับคณะวิชาเดียวกันที่วิทยาเขตประสานมิตร ในระหว่างนั้นเองได้มีการลดจำนวนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่เข้าใหม่ในแต่ละปี จนกระทั่งมหาวิทยาลัยได้ให้งดรับนิสิตชั้นปีที่ 1 ตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา แม้ว่าคณะต่างๆ ของวิทยาเขตปทุมวันจะพยายามชี้แจงเหตุผลในการขอรับนิสิตชั้นปีที่ ๑ ในคณะมนุษยศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์ต่อไป เพื่อผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาที่ไม่ซ้ำซ้อนกับวิทยาเขตประสานมิตรและวิทยาเขตอื่นๆ อาทิ สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และประวัติศาสตร์เน้นการท่องเที่ยว ทั้งนี้เพื่อให้มีการผลิตบัณฑิตที่ต่อเนื่องโดยเฉพาะทางด้านภาษาต่างประเทศ ซึ่งวิทยาเขตปทุมวันเป็นวิทยาเขตเดียวที่เปิดสอนภาษาต่างประเทศถึง ๕ ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น อีกทั้งคณะสังคมศาสตร์ก็ได้เปิดวิชาเอกประวัติศาสตร์โดยเน้นการท่องเที่ยว ซึ่งสาขาวิชาต่างๆ ที่เปิดสอนทั้งหมดที่วิทยาเขตปทุมวัน ล้วนแต่เป็นสาขาที่เป็นที่ต้องการของประเทศชาติ อันจะนำไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIC) และสอดคล้องกับโลกแห่งยุคข้อมูลข่าวสาร ซึ่งความรู้ความสามารในด้านภาษาที่ใช้สื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศนับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบัณฑิตในอนาคต

ในระยะเวลาตั้งแต่ปีการศึกษา 2533 เป็นต้นมา คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน จึงต้องสอนนิสิตทั้งที่วิทยาเขตปทุมวัน และวิทยาเขตประสานมิตร จนกระทั่งปีการศึกษา 2534 นิสิตรุ่นสุดท้ายของวิทยาเขตปทุมวันกำลังจะจบเป็นบัณฑิต ดังนั้นหลังจากเดือนมีนาคม พ.ศ. 2536 วิทยาเขตปทุมวันจะไม่มีนิสิตของตนเองอีกต่อไป ในช่วงระยะเวลานับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2535 จนถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2536 จึงเป็นช่วงที่บุคลากรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน จะต้องวางแผนและดำเนินการเคลื่อนย้ายพัสดุครุภัณฑ์ ตลอดจนการดำเนินการต่างๆ ทั้งในด้านวิชาการและธุรการ เพื่อให้การรวมวิทยาเขตและการเคลื่อนย้ายบุคลากรดำเนินไปด้วยความราบรื่นและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ในด้านอาคารสถานที่นั้น โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน จะยังคงตั้งอยู่ ณ ที่เดิม โดยจะเป็นโรงเรียนสาธิตของวิทยาเขตกลาง แต่อาจจะยังคงใช้ชื่อเดิมต่อไปได้ ทั้งนี้เนื่องจากโรงเรียนสาธิตฯ เป็นโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงและเป็นโรงเรียนในเมือง มีนักเรียนเป็นจำนวนมาก หากต้องเคลื่อนย้ายไปตั้งที่อื่นก็จะไม่สะดวกต่อครูบาอาจารย์นักเรียนและผู้ปกครอง ทั้งนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินก็ได้อนุญาตให้โรงเรียนสาธิตฯ ตั้งอยู่ ณ ที่เดิมไปก่อน จนกว่าโรงเรียนจะสามารถหาทางขยับขยายไปยังที่อื่นได้ สำหรับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน นั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีนโยบายที่จะเข้ามาซ่อมแซมอาคารเรียนทั้งหมด และจะให้นิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้ามาใช้อาคารเรียนในปีการศึกษา 2536

สิ่งที่เหลือเป็นอนุสรณ์ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน นอกจากโรงเรียนสาธิตฯ แล้ว ก็คือหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส และสาขาวิชาภาษาเยอรมัน ซึ่งเป็นสาขาที่เปิดสอนเพียงวิทยาเขตเดียวของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยปัจจุบันเปิดเป็นหลักสูตรของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]