สถานีนำร่อง (ประเทศไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถานีนำร่อง
แผนที่
ที่ตั้งปากแม่น้ำเจ้าพระยาต่อเนื่องอ่าวไทย
พิกัด13°22′44.34″N 100°35′45.92″E / 13.3789833°N 100.5960889°E / 13.3789833; 100.5960889
หอคอย
รากฐานตอม่อ 4 ต้นบนสันดอนดิน
การก่อสร้างคอนกรีต
ความสูง38 เมตร (125 ฟุต)
รูปร่างกระโจมหอคอย
เครื่องหมายทาสีแดงและขาวสลับกันแนวนอน
ผู้ดำเนินการกรมเจ้าท่า
กระโจมเรดาร์O
แสงไฟ
เริ่มใช้งาน17 กรกฎาคม พ.ศ. 2521; 45 ปีก่อน (2521-07-17)
พิสัย20 ไมล์ทะเล (37 กิโลเมตร)
ลักษณะวับเดี่ยว สีขาว ทุก ๆ 10 วินาที
สว่าง 2 วินาที มืด 8 วินาที
รหัสประเทศไทยPAT L-00 F2939

สถานีนำร่อง (อังกฤษ: Pilot station light) เป็นประภาคารควบคุมการเดินเรือบริเวณทางเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อผ่านร่องน้ำสันดอน และเป็นที่ทำการของพนักงานนำร่อง กรมเจ้าท่า[1]

ประวัติ[แก้]

สถานีนำร่อง เป็นประภาคารควบคุมการเดินเรือที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแทนที่ประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นประภาคารหลังแรกของประเทศไทยในการนำร่องเรือเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างปี พ.ศ. 2417 จนถึงปี 2472 ซึ่งในระหว่างนั้นก็มีการนำเรือทุ่นไฟมาใช้งานเพื่อเตรียมเลิกใช้ประภาคารสันดอนปากแม่น้ำเพจ้าพระยา แต่ก็ต้องล้มเลิกความคิดเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง[2]

จากนั้นได้มีการสร้างประภาคารขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2497[2] และเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 ได้มีการเปิดใช้งานประภาคารสันดอนที่สร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และได้สร้างเครื่องหมายทางเรือเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่งเพื่อให้เพียงพอต่อการนำร่องเรือรบในราชการเข้าออกจากแม่น้ำ กระทั้งมีการก่อสร้างท่าเรือกรุงเทพ จึงได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมเจ้าท่า กองเรือยุทธการ กรมอุทกศาสตร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับการวางระบบเครื่องหมายทางเรือให้สมบูรณ์ในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 ผลการหารือคือกองทัพเรือจะถ่ายโอนเครื่องหมายทางเรือให้กับการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแลต่อหลังจากได้ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำและดำเนินการโครงการเครื่องหมายทางเรือเสร็จสิ้น เว้นไว้แค่ประภาคารสันดอนไว้ที่กองทัพเรือจะขอดูแลเองสำหรับเป็นสถานีตรวจวัดน้ำขึ้นลง ซึ่งได้มีการมอบเครื่องหมายทางเรือให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยดูแลชุดแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2496 กองทัพเรือเหลือไว้เพียงกระโจมไฟนำ 2 คู่และประภาคารสันดอน

ต่อมาในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2502 กองทัพเรือได้หารือไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อขอส่งมอบกระโจมไฟนำและประภาคารสันดอนที่ขณะนั้นทรุดโทรมมากให้กับการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล เนื่องจากกองทัพเรือขาดงบประมาณในการดูแลและหมดความจำเป็นทีจะสงวนไว้ใช้งานเอง จึงได้มีการรับมอบเครื่องหมายทางเรือบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนที่เหลือตั้งแต่สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงท่าเรือกรุงเทพไปดูแลในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา[3] โดยได้ทำการรื้อถอนประภาคารที่ได้รับมอบมา[2] และก่อสร้างสถานีนำร่องขึ้นมาใหม่ในอีกพื้นที่ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 ปีครึ่ง วงเงินงบประมาณ 28 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2521[4] ภายใต้ความดูแลของกรมเจ้าท่าและใช้สถานีนำร่องเป็นหลักมาจนถึงปัจจุบัน[5]

โครงสร้าง[แก้]

สถานีนำร่องในส่วนของฐาน เป็นอาคารคอนกรีตเสริมแรงความสูง 3 ชั้น รูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส มีความกว้างด้านละ 24 เมตร ตัวอาคารทาสีขาวสลับกับสีแดง ตั้งอยู่บนตอม่อขนาดใหญ่จำนวน 4 ต้น ซึ่งฝังลึกลงไปในดินประมาณ 12 เมตร เหนือชั้น 3 ขึ้นไปเป็นประภาคารความสูง 16.36 เมตร บนยอดหอคอยติดตั้งสัญญาณไฟที่ให้ความสว่างรอบทิศทาง[6]

สถานีนำร่องแต่ละส่วน[6] ประกอบไปด้วย

  • ชั้นฐานเหนือตอม่อ เป็นที่ตั้งของบ่อเก็บน้ำจืด[4] และเครื่องผลิตไฟฟ้า
  • อาคารชั้นที่ 1 เป็นที่ตั้งของห้องพักของนายท้ายเรือยนต์และกะลาสี ที่คอยรับส่งเจ้าพนักงานนำร่องระหว่างสถานีนำร่องและเรือสินค้าที่รับการนำร่องทั้งขาเข้าและขาออกจากร่องน้ำเจ้าพระยา
  • อาคารชั้นที่ 2 เป็นที่ตั้งของห้องวิทยุสื่อสาร ห้องปฏิบัติงานด้านอุตุนิยมวิทยาและเครื่องมือตรวจวัด ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว และห้องพักของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในชั้นที่ 2 คือเจ้าหน้าที่สื่อสาร เจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยา พนักงานบริการ และคนครัว
  • อาคารชั้นที่ 3 เป็นที่ตั้งของห้องนั่งเล่นและส่วนของห้องพักเจ้าพนักงานนำร่อง จำนวน 15 ห้อง
  • ชั้นดาดฟ้า เป็นที่ตั้งของกระโจมหอคอยของประภาคาร และที่ติดตั้งสายอากาศวิทยุพร้อมกับเครื่องมือตรวจวัดทางอุตุนิยมวิทยา
  • ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 1 ลาน เป็นลานแยกออกไปจากตัวอาคาร[5][4]

รายละเอียด[แก้]

สถานีนำร่อง ตามทำเนียบไฟและทุ่นในน่านน้ำประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ละติจูดที่ 13 องศา 22 ลิปดา 44.34 ฟิลิปดาเหนือ ลองติจูดที่ 100 องศา 35 ลิปดา 45.92 ฟิลิปดาตะวันออก ลักษณะไฟเป็นไฟวับเดี่ยวสีขาว ทุก ๆ 10 วินาที โดยจะสว่าง 2 วินาที และมืด 8 วินาที[1] ส่งสัญญาณผ่านกระโจมเรดาร์เป็นรหัสมอร์สอักษร โอ (O)[7] ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า

ภารกิจ[แก้]

เนื่องจากสถานีนำร่องเป็นทั้งประภาคารและสถานีนำร่องสำหรับเรือที่จะเดินทางเข้าไปขนส่งสินค้ายังท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเรืออื่น ๆ ภายในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นระบบนิเวศแบบแม่น้ำ ทำให้เกิดการพัดพาตะกอนจากบนแผ่นดินใหญ่ออกมากลายเป็นสันดอนบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งโดยปกติจะไม่สามารถใช้เรือขนาดใหญ่สัญจรไปมาได้ ทำให้ต้องขุดร่องน้ำลึกสำหรับเดินเรือและมีการวางทุ่นตลอดแนวร่องน้ำจนเข้าไปถึงส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นส่วนที่เดินเรือโดยยากลำบากเช่นกัน ทำให้ต้องใช้เจ้าหน้าที่นำร่องท้องถิ่น[6]

สำหรับประเทศไทยผู้ได้รับอนุญาตมีเพียงเจ้าพนักงานนำร่อง ของกรมเจ้าท่า ในการนำร่องเรือเข้าสู่ร่องน้ำและคอยจัดการควบคุมการเดินเรือรวมถึงประสานงานกับเจ้าพนักงานนำร่องบนเรือลำอื่น ๆ ที่สัญจรสวนกัน[6] เนื่องจากทั้งสภาพการไหลเวียนของน้ำและสภาพของแม่น้ำทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้งระหว่างการนำร่อง[8][9] เจ้าพนักงานนำร่องจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเจ้าพนักงานนำร่องจะใช้สถานีนำร่องในการเป็นจุดพักหลังจากนำร่องเรือออกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา และออกจากสถานีนำร่องเพื่อนำเรือลำใหม่เข้าสู่แม่นำเจ้าพระยาไปยังท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเทียบเรือเอกชนอื่น ๆ ต่อไป[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ทำเนียบไฟและทุ่นในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2556 (PDF). กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ. 2556.
  2. 2.0 2.1 2.2 "ตามรอยประภาคารแห่งแรกของไทย". bangkokbiznews. 2017-05-03.
  3. ที่ระลึกวันคล้ายวันสถาปนากรมอุทกศาสตร์ ครบรอบ 84 ปี วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2548 (PDF). กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ. 2548. pp. 15–16.
  4. 4.0 4.1 4.2 "วันหนึ่ง ณ สถานีนำร่อง อ่าวไทย ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ ตอน ๒/๔ สถานีนำร่อง | OK NATION". www.oknation.net (ภาษาอังกฤษ).
  5. 5.0 5.1 แผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2555 (แผนกลยุทธ์) (PDF). กรมเจ้าท่า, กระทรวมคมนาคม. 2555. p. 149.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 "เจ้าพนักงานนำร่อง "ผู้นำทาง" ของเรือเดินสมุทร". www.sarakadee.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "Thailand - Bangkok Bar Pilot Station Lighthouse - World of Lighthouses". www.lightphotos.net.
  8. admin (2022-10-11). "ศรชล.ภาค 1 ร่วมกรมเจ้าท่า กู้วิกฤตเรือ "มหานคร 2" ล่มกลางร่องน้ำเจ้าพระยา บริเวณโค้งบางปู สมุทรปราการ". ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-09. สืบค้นเมื่อ 2023-10-09.
  9. Jenkarn, Surangrat. ""เจ้าท่า" เร่งตรวจสอบเรือโดนกันร่องน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา "สมุทรปราการ"". เดลินิวส์.