ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ประเทศไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ประเทศไทย)
ข้อมูลทั่วไป
ผู้ตราสภาผู้แทนราษฎรไทย
ผู้ลงนามคณะผู้สำเร็จราชการแทนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (อนุวัตรจาตุรนต์, อาทิตย์ทิพอาภา และ เจ้าพระยายมราช)
วันลงนาม5 มิถุนายน 2478
ผู้ลงนามรับรองพระยาพหลพลพยุหเสนา (นายกรัฐมนตรี)
วันประกาศ10 มิถุนายน 2478
(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52/หน้า 598/10 มิถุนายน 2478)
วันเริ่มใช้1 ตุลาคม 2478
ท้องที่ใช้ไทย ทั่วประเทศไทย
ผู้รักษาการประธานศาลฎีกา
นายกรัฐมนตรี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
การแก้ไขเพิ่มเติม
ดูในบทความ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พระราชบัญญัติลักษณะพยาน รัตนโกสินทรศก 113
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความมีโทษสำหรับใช้ไปพลางก่อน
รัตนโกสินทร์ศก 115
เว็บไซต์
ดูเบื้องล่าง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแห่งประเทศไทย (ย่อ: ป.วิ.อ.) เป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ (อังกฤษ: procedural law) ของประเทศไทย เป็นหนึ่งในบรรดาประมวลกฎหมายที่รัฐบาลไทย (แต่ครั้งที่ยังเรียกชื่อประเทศว่า "สยาม") เร่งผลิตใช้ เพื่อริเริ่มขอยกเลิกบรรดาสนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำไว้กับต่างประเทศ อันมีผลให้สยามต้องเสียเปรียบในด้านสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและเอกราชทางการศาล[1]

ในการร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยนั้น คณะกรรมการยกร่างบันทึกว่า ได้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแห่งสหภาพแอฟริกาใต้ (อังกฤษ: South African Code of Criminal Procedure) ซึ่งอยู่ใน รัฐบัญญัติฉบับที่ 51 ค.ศ. 1977 (อังกฤษ: Act 51 of 1977) ของสหภาพแอฟริกาใต้ (ยุคอาณานิคมในพระองค์ของจักรวรรดิบริติช และ สมัยการถือผิว) เป็นแม่แบบ[2] อย่างไรก็ดี เมื่อพิเคราะห์แล้ว กลับพบว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยมีบทบัญญัติเหมือนกับ "เคะอิจิโซะโชโฮ" (ญี่ปุ่น: 刑事訴訟法; โรมะจิ: Keiji Soshō Hō) หรือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศญี่ปุ่น ถึงร้อยละเก้าสิบ[3]

โครงการร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น เริ่มใน พ.ศ. 2477 ภายหลังประกาศใช้บรรพสุดท้ายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในปีนั้น ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร แล้วเสร็จในปีเดียวกัน และประกาศใช้โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปีรุ่งขึ้น ให้แทนที่บรรดาพระราชบัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความอาญาที่ประกาศใช้เป็นการชั่วคราวก่อนหน้านี้ ตราบปัจจุบัน[4]

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีโครงสร้างแบ่งเป็นเจ็ดภาค คือ ภาค 1 ข้อความเบื้องต้น, ภาค 2 สอบสวน, ภาค 3 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น, ภาค 4 อุทธรณ์ และฎีกา, ภาค 5 พยานหลักฐาน, ภาค 6 การบังคับตามคำพิพากษา และค่าธรรมเนียม และภาค 7 อภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา และลดโทษ ตามลำดับ โดยตั้งแต่เริ่มมีผลใช้บังคับใน พ.ศ. 2478 จวบจนบัดนี้ ประมวลกฎหมายดังกล่าวมีอายุเกือบหนึ่งศตวรรษแล้ว

ประวัติ[แก้]

มูลเหตุแห่งการจัดทำประมวลกฎหมายบ้านเมือง[แก้]

กลางพุทธศตวรรษที่ 24 ไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ประเทศสยามต้องผจญอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกทั้งในด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม จนที่สุดหลาย ๆ ประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน รวมถึงสยามเองก็จำต้องยอมรับนับถือเอาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ของตะวันตกเข้ามาใช้ในประเทศตน โดยเฉพาะด้านการเมืองการปกครองของสยามนั้น ชาวตะวันตกต่างดูถูกดูแคลนว่าพระราชกำหนดบทพระอัยการกฎหมายตราสามดวงมีความล้าหลัง ป่าเถื่อน ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงไม่ยอมให้ใช้กฎหมายเหล่านั้นแก่ตนเป็นอันขาด เป็นเหตุให้สยามจำต้องทำสนธิสัญญาเสียเปรียบกับชาติตะวันตกหลายประเทศยอมยกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้ชาวต่างชาติ[1]

ประเทศสยามจึงเริ่มรับหลักกฎหมายในระบบคอมมอนลอว์ของประเทศอังกฤษเข้ามาใช้ในการวินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดีในกรณีที่กฎหมายตราสามดวงไม่ครอบคลุมหรือไม่เหมาะสม กับทั้งมีการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายที่สอนกฎหมายระบบคอมมอนลอว์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งวิวัฒนามาเป็นคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ครั้งนั้นกฎหมายตรามสามดวงก็ยังคงเป็นระบิลเมืองอยู่[5]

พระบรมรูปทรงม้า พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ ที่ลานพระราชวังดุสิต

และเพื่อให้มีกฎหมายที่ใหม่และทันสมัยสำหรับเป็นเงื่อนไขสำคัญให้สยามหลุดพ้นจากความเสียเปรียบในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยให้มีการจัดทำประมวลกฎหมายบ้านเมืองดุจชาติตะวันตกทั้งหลาย ดังพระราชปรารภว่า[6]

"...ในระหว่างตั้งแต่จุลศักราช 1217 ปีเถาะ สัปตศก รัตนโกสินทรศก 74 ประเทศไทยได้ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ และหนังสือสัญญาทั้งปวงนั้นได้ทำตามแบบหนังสือสัญญาที่ฝรั่งได้ทำกับประเทศทางตะวันออก คือ ประเทศเตอรกี ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น มีข้อความอย่างเดียวกันที่ยอมให้กงสุลมีอำนาจตั้งศาลพิจารณาและพิพากษาคดีตามกฎหมายของเขา ในเมื่อคนในบังคับของชาตินั้น ๆ ที่เข้ามาอยู่ในประเทศทางตะวันออกเป็นความกันขึ้นเองหรือเป็นจำเลยของคนในบังคับของบ้านเมือง ลักษณการอย่างนี้ แม้จะมีประโยชน์ที่บรรเทาความรับผิดชอบแห่งเจ้าของประเทศได้อยู่บ้างในสมัยเมื่อแรกทำหนังสือสัญญา เวลายังมีชาวต่างประเทศพึ่งเข้ามาค้าขาย แต่ต่อมาเมื่อการค้าขายคบหากับนานาประเทศเจริญแพร่หลาย มีชาวต่างประเทศมาตั้งประกอบการค้าขายในพระราชอาณาจักรมากขึ้น ความลำบากในเรื่องคดีที่เกี่ยวข้องกับคนในบังคับต่างประเทศก็ยิ่งปรากฏเกิดมีทวีมากขึ้นทุกที เพราะเหตุที่คนทั้งหลายอันประกอบการสมาคมค้าขายอยู่ในประเทศบ้านเมืองอันเดียวกันต้องอยู่ในอำนาจศาลและในอำนาจกฎหมายต่าง ๆ กันตามชาติของบุคคล กระทำให้เป็นความลำบากขัดข้องทั้งในการปกครองบ้านเมืองและกีดกันประโยชน์ของคนทั้งหลายตลอดจนชนชาติต่างประเทศนั้น ๆ เองอยู่เป็นอันมาก ความลำบากด้วยเรื่องอำนาจศาลกงสุลเช่นว่ามานี้ย่อมมีทุกประเทศที่ได้ทำสัญญาโดยแบบอย่างอันเดียวกัน และต่างมีความประสงค์อย่างเดียวกันที่จะหาอุบายเลิกล้างวิธีศาลกงสุลต่างประเทศ ให้คนทั้งหลายไม่ว่าชาติใด ๆ บรรดาอยู่ในประเทศนั้น ๆ ได้รับประโยชน์อยู่ในอำนาจกฎหมายและอำนาจศาลสำหรับบ้านเมืองแต่อย่างเดียวทั่วกัน..."

สมยศ เชื้อไทย รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่รัฐบาลสยามตัดสินใจจัดทำประมวลกฎหมายบ้านเมืองในครั้งนั้นว่า เป็นการพลิกระบบกฎหมายที่ใช้อยู่ในครั้งนั้นจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว เพราะเป็นการเปลี่ยนจากระบบคอมมอนลอว์ที่กฎหมายมาจากบรรทัดฐานที่ศาลกำหนด ไปเป็นระบบซีวิลลอว์ ที่กฎหมายมาจากกระบวนการนิติบัญญัติ โดยกล่าวว่า[7]

"...การตัดสินใจทำประมวลกฎหมายครั้งนี้นับว่ามีความหมายในทางประวัติศาสตร์กฎหมายของไทยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนระบบกฎหมายจากการรับกฎหมายอังกฤษเข้ามาใช้ ซึ่งได้ปฏิบัติกันมาเป็นเวลาครึ่งศตวรรษ...มีความหมายว่าประเทศไทยหันเหจากการรับระบบคอมมอนลอว์ของอังกฤษมาใช้ เปลี่ยนไปรับระบบซีวิลลอว์ซึ่งเป็นระบบกฎหมายของภาคพื้นยุโรปที่มีนิติวิธีที่แตกต่างและตรงกันข้ามกับระบบคอมมอนลอว์ การที่ประเทศไทยประกาศใช้ประมวลกฎหมายจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบบกฎหมายหนึ่งไปอีกระบบหนึ่งทีเดียว..."

เมื่อเล็งเห็นว่า การร่างประมวลกฎหมายดังตั้งความประสงค์ไว้นี้ จักต้องใช้ระยะเวลาอันยาวนาน เพื่อจัดการกับสถานการณ์ระหว่างนั้น รัฐบาลสยามก็ตรากฎหมายเป็นเรื่อง ๆ เพื่อใช้แทนกฎหมายตราสามดวงในส่วนที่ไม่เหมาะสม จนกว่างานจัดทำประมวลกฎหมายจะแล้วสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับกฎหมายวิธีสบัญญัติ ในกฎหมายตราสามดวงนั้น ได้ถูกแทนที่โดย พระราชบัญญัติลักษณะพยาน รัตนโกสินทรศก 113, พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความมีโทษสำหรับใช้ไปพลางก่อน รัตนโกสินทร์ศก 115, พระราชบัญญัติกระบวนพิจารณาความแพ่ง รัตนโกสินทรศก 115 และ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พุทธศักราช 2477 ตามลำดับ[8]

การเริ่มจัดทำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา[แก้]

พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 2 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ (พ.ศ. 2468)

หลังจากรัฐบาลสยามตัดสินใจจัดทำประมวลกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ใน ร.ศ. 127 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2451 ก็ได้กฎหมายลักษณะอาญาเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของประเทศและประกาศใช้ในปีนั้นเอง ครั้นแล้ว ก็เริ่มร่างและประกาศใช้ประมวลกฎหมายฉบับที่สอง คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยบริบูรณ์ใน พ.ศ. 2477 อันเป็นช่วงหลังปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 แล้ว กินระยะเวลาตั้งแต่เริ่มร่างกฎหมายลักษณะอาญาจนถึงใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้พร้อมมูล มากกว่าสามสิบปี[9]

หลังจากประกาศใช้ประมวลกฎหมายทั้งสอง อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติ (substantive law) ได้ครบทุกส่วนใน พ.ศ. 2477 แล้ว ปีนั้น รัฐบาลอันมี พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เร่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อประมวลกฎหมายกฎหมายวิธีสบัญญัติต่อ โดยตั้งใจให้ปรากฏตัวในรูปประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แทนที่พระราชบัญญัติทั้งหลายอันประกาศใช้ก่อนหน้านี้เป็นการชั่วคราว[10]

สำหรับคณะกรรมการยกร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น มี เรอเน กียง (René Guyon) นักกฎหมายชาวฝรั่งเศส อดีตกรรมการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นหัวเรือ โดยคณะกรรมการได้พยายามจัดระเบียบวิธีดำเนินคดีอาญาตามแนวปฏิบัติของศาลสยามในขณะนั้น แล้วนำหลักกฎหมายของสากลมาประกอบ เรอเน กียง ได้บันทึกไว้ว่า ทีแรกเขาคาดเดาเอาว่า กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของสยามแต่เดิมในกฎหมายตราสามดวง คงจะคล้ายคลึงกับระบบกฎหมายในภาคพื้นยุโรป แต่เมื่อพิเคราะห์โดยถ้วนถี่แล้ว กลับพบว่าต่างกันอย่างสิ้นเชิง คณะกรรมการยกร่างจึงใช้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแอฟริกาใต้ (South African Code of Criminal Procedure) ซึ่งอยู่ใน รัฐบัญญัติฉบับที่ 51 ค.ศ. 1977 (Act 51 of 1977) ของแอฟริกาใต้ เป็นแม่แบบการร่างของสยาม[2]

พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา)

พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) หนึ่งในกรรมการยกร่าง ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการใช้กฎหมายของแอฟริกาใต้ มาดัดแปลงเป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของสยาม ไว้ว่า[11]

"...ที่เซ้าท์แอฟริกา [ประเทศแอฟริกาใต้] เขาใช้โค๊ด [ประมวลกฎหมาย] ของฮอลแลนด์ แล้วก็เอามาแปลง ฮอลแลนด์แปลงจนคนอังกฤษเข้าใจ คนฮอลแลนด์ก็เข้าใจ ของเราก็ต้องการให้คนอังกฤษเข้าใจ เพราะเขาเป็นคนมีอำนาจอยู่ในเวลานั้น..."

นอกจากนี้ สำหรับการซึ่งคณะกรรมการได้ชี้ขาดข้อสำคัญบางประการเกี่ยวกับกระบวนยุติธรรมทางอาญานั้น เรอเน กียง บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า[12]

"...ในอดีตนั้น ศาลเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนเบื้องต้นด้วย ซึ่งมีผลเป็นการเสียเวลาอย่างมหาศาล เพราะเท่ากับเป็นการสอบสวนซ้ำซ้อนนั่นเอง คณะกรรมการระดับสูง อันประกอบด้วยเจ้านาย จึงได้มีมติกำหนดให้กระบวนพิจารณาส่วนนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน และเพื่อให้การนี้เป็นไปอย่างถูกต้อง ก็ได้กำหนดให้มีการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้หลักประกันแก่ผู้ต้องหาอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักเกณฑ์ในเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว จะโดยมีหลักประการหรือไม่ก็ตาม...

ได้มีการชี้ขาดในปัญหาเรื่องหลักเกณฑ์การรับฟังพยานหลักฐาน ด้วยการรับเอาระบบที่เรียกว่า la preuve morale [การใช้พยานหลักฐานที่ได้มาโดยสุจริต] มาใช้ อันเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติกันอยู่ในสยาม หลักเกณฑ์ในระบบพยานหลักฐานตามกฎหมาย (la preuve légale) ซึ่งมีการแยกระหว่างพยานที่รับฟังได้และพยานที่รับฟังไม่ได้นั้น เป็นอันว่าถูกตัดไป ไม่นำมาใช้ ดังนั้น ก็เท่ากับว่า ในระบบของสยามนั้น การแสดงความจริงให้ปรากฏแก่ศาลนั้น อาจทำได้โดยทุกวิถีทางที่สามารถให้ความกระจ่างแก่ศาล โดยมีข้อแม้อยู่ว่า พยานหลักฐานนั้น จะต้องมิใช่ได้มาโดยวิธีที่ต้องห้ามตามกฎหมาย..."

อย่างไรก็ดี แม้เรอเน กียง จะบันทึกว่า เขาใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแห่งอัฟริกาใต้ในการร่าง แต่เมื่อพิเคราะห์แล้ว กลับพบว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยมีบทบัญญัติเหมือนกับ "เคะอิจิโซะโชโฮ" (ญี่ปุ่น: 刑事訴訟法; โรมะจิ: Keiji Soshō Hō) หรือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศญี่ปุ่น ถึงร้อยละเก้าสิบ[3]

การประกาศใช้ และสถานการณ์ภายหลัง[แก้]

จอมพลแปลก พิบูลสงคราม

การร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เริ่มโครงการใน พ.ศ. 2477 แล้วก็สำเร็จในปีนั้นเอง สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบใน "ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477" แล้ว ปีรุ่งขึ้น ก็นำให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (ภายหลังได้รับเฉลิมพระปรมาภิไธยเป็น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร) ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งไว้ตาม ประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 7 มีนาคม 2477 ประกอบด้วย พันเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์, พลโท พลเรือโท พลอากาศโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ตามลำดับ[13] ลงนามประกาศใช้

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชุดข้างต้นพิจารณาแล้ว ได้ลงนามแทนพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2478 ตรา "พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477" ขึ้น โดยประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 598 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2478[4] ให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งแนบท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2478[14] และมีผลเป็นอันยกเลิก พระราชบัญญัติลักษณะพยาน รัตนโกสินทรศก 113 กับทั้งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความมีโทษสำหรับใช้ไปพลางก่อน รัตนโกสินทร์ศก 115 โดยสิ้นเชิง[15] สืบมาตราบปัจจุบันนี้

หลังจากที่สยามได้ประมวลกฎหมายถึงสามฉบับแล้ว รัฐบาลได้จัดให้มีการประมวลกฎหมายบ้านเมืองฉบับสำคัญสืบต่อมาอีก ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กับทั้งได้พยายามใช้การมีกฎหมายอันทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศนี้เจรจาขอยกเลิกบรรดาสนธิสัญญาเสียเปรียบทั้งหลายเสมอมา ซึ่งการเจรจาก็มิใช่เรื่องง่ายเลย ต้องขอบคุณสหรัฐอเมริกาที่มีน้ำใจกว้างขวางช่วยเหลือสยามในการนี้ทุกเมื่อ และยังได้ส่ง เอดเวิร์ด เฮนรี สตรอเบิล (Edward Henry Strobel) นักการทูตและนักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เข้ามาเป็นกำลังสำคัญให้ไทย ทว่า ฝรั่งเศสนั้นได้พยายามใช้ชั้นเชิงทางการทูตบ่ายเบี่ยงเลี่ยงหลีกการยกเลิกสนธิสัญญากับสยาม ส่วนประเทศอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) นั้นก็ไม่ใคร่จะให้มีการยกเลิกเช่นกัน แต่ใช้ชั้นเชิงที่แนบเนียนกว่าฝรั่งเศส ทำให้รัฐบาลสยามต้องสู้รบปรบมือทางด้านนโยบายกับสองประเทศนี้เป็นเวลานาน[16] ในที่สุด สยามก็ได้รับเอกราชทางการศาลคืนมาและยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาวต่างชาติเป็นผลสำเร็จใน พ.ศ. 2481 ภายใต้รัฐบาลของ จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศแปลก พิบูลสงคราม[17]

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการจัดทำประมวลกฎหมายจะทำให้ประเทศสยามต้องเปลี่ยนระบบกฎหมายที่รับเข้ามาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากระบบคอมมอนลอว์ (Common Law System) อันกฎหมายเกิดจากบรรทัดฐานที่ศาลพิพากษากำหนดไว้ หรือที่สมัยนั้นเรียก "วิธีกฎหมายจารีตธรรม" เป็นระบบซีวิลลอว์ (Civil Law System) อันกฎหมายเกิดจากกระบวนการนิติบัญญัติ หรือที่ในสมัยนั้นเรียก "วิธีกฎหมายประมวลธรรม" (Code System) แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา นักกฎหมายไทยยังติดอยู่กับนิติวิธีทางระบบคอมมอนลอว์อยู่มาก ซึ่งบรรดาผู้ยกร่างประมวลเคยตระหนักถึงและแสดงความห่วงใยประเด็นนี้ไว้อยู่แล้ว ดังที่ ชอร์ช ปาดู (Georges Padoux) มีหนังสือถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และพระองค์ก็ทรงเห็นด้วย กับทั้งได้มีลายพระหัตถ์ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2456 กราบบังทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า[18]

"ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานนำหนังสือความเห็นของมองสิเออปาดูซ์ว่าด้วยวิธีจัดการศึกษากฎหมายขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

แลเค้าความเห็นอันนี้ มองซิเออปาดูซ์ได้เขียนยื่นแก่เสนาบดียุติธรรมไว้แล้วแต่รัตนโกสินทรศก 129 แต่หามีผลสำเร็จประการใดไม่ ข้าพระพุทธเจ้าได้ความสันนิษฐานเข้าใจเอาเองว่าจะเป็นด้วยประชุมแห่งเหตุหลายประการ จะรับพระราชทานสาธกแต่เหตุสำคัญอันหนึ่งว่า จำเดิมแต่รัฐบาลได้ปรารภร่างประมวลอาญาจนถึงได้ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงราชบุรีผู้ทรงตำแหน่งเสนาบดีในกาลนั้นไม่ทรงเห็นชอบด้วยวิธีกฎหมายประมวลธรรม (Code System) ซึ่งใช้อยู่ในคอนติเนนต์ยุโรป ฝ่ายเธอเป็นเนติบัณฑิตสำนักอังกฤษซึ่งใช้วิธีกฎหมายจารีตธรรม (Common Law System) ความปรากฏในครั้งนั้นอยู่บ้างว่า เธอเอาพระองค์ออกห่างจากการตรวจสอบแก้ไขประมวลอาญา แลได้กราบบังคมทูลพระกรุณาคัดค้านต้นร่างนั้น ถึงแก่ขอให้เลิกกรรมการฝรั่งเศสซึ่งร่างประมวลกฎหมายนั้นเสีย แลอาสาว่าจะควบคุมตั้งกรรมการขึ้นใหม่เพื่อร่างประมวลกฎหมายแพ่งอาญาให้ลงกับทำนองวิธีจารีตธรรม (base on Common Law) ข้าพระพุทธเจ้ายอมรับอยู่ว่า การที่เธอทรงคัดค้านดังนี้นั้นเป็นความจริงใจด้วยมุ่งหมายความเจริญแก่พระนคร การอันนี้ถ้าทำได้สำเร็จจะเป็นอัศจรรย์มิใช่น้อย เพราะว่าการที่จะเอาจารีตธรรมอันเป็นพื้นประเพณีบ้านเมืองมาทำประมวลเป็นบทเป็นหมวดลงได้นั้นมิใช่ง่าย นิติบัณฑิตในสำนักอังกฤษและอเมริกาเองก็ยังแก่งแย่งกัน ยังมิอาจเห็นปรองดองลงกันได้ มิพักต้องกล่าวถึงว่าจะเป็นผลสำเร็จทันตาเห็น...

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ผู้ทรงพระปัญญาญาณหยั่งเห็นกาลใกล้ไกล ทรงพระราชดำริชั่งได้ชั่งเสียในวิธีกฎหมายทั้ง 2 นั้นแล้ว พระราชทานพระราชวินิจฉัยไว้เป็นเด็ดขาดว่า พระราชกำหนดกฎหมายแก่งประเทศเราอันโบราณกระษัตราธิราชเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้สืบ ๆ มา มีบทมาตราเป็นลักษณะหมวดหมู่เป็นทำนองเดียวกันกับวิธีกฎหมายประมวลธรรม (System of Codified Law) ซึ่งใช้อยู่ในคอนติเนนต์นั้น ถ้าจะคุมเข้ากันแลผ่อนผันแก้ไขก็จะลงกันได้โดยสะดวก...

ครั้นเมื่อข้าพระพุทธเจ้ากับกรรมการมีชื่อรับพระราชทานประชุมปรึกษาตรวจสอบแก้ร่างประมวลแพ่งจนจะสำเร็จลงในเดือนธันวาคมนั้น มองสิเออปาดูซ์จึงได้ร้องขอให้ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาพิเคราะห์ถึงวิธีศึกษาวิชากฎหมายว่า บัดนี้ถึงเวลาจำเป็นแล้วที่จะพึงดำริจัดการให้เข้าทำนองวิธีสั่งสอนฝ่ายคอนติเนนต์ คือ กฎหมายประมวลธรรม สำแดงเหตุว่าวิธีทั้ง 2 ผิดกันหลายประการ แลรัฐบาลจะออกประกาศให้ใช้กฎหมายวิธีประมวลธรรมนี้ แต่ผู้พิพากษาตุลาการจะไม่ชำนาญในวิธีนั้นจะบังคับอรรถคดีให้ถูกต้องโดยทำนองมิได้ ย่อมจะบังเกิดเป็นความลำบากใหญ่แก่ราชการศาลสถิตยุติธรรม ข้าพระพุทธเจ้าได้สนทนาปรึกษาด้วยมองสิเออปาดูซ์กับพระยาจักรปาณีเป็นต้น เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ถึงกาลจำเป็นจะทิ้งรารอไว้ดังนี้มิได้ ควรจะตระเตรียมดัดแปลงการโรงเรียนให้ลงร่องลงรอยกลมกลืนกับทำนองนี้จึงจะทันท่วงที ข้าพระพุทธเจ้าจึงสั่งให้มองสิเออปาดูซ์รวบรวมความเห็นที่ได้เขียนไว้เดิม ตกเติมเพิ่มข้อความลงให้กระจ่างเป็นฉบับเดียวกันมายื่น เพื่อได้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานเรียนพระราชปฏิบัติ..."

แม้บรรดากรรมการร่างกฎหมายจะแสดงความเป็นห่วงเพียงนั้น แต่อิทธิพลของระบบคอมมอนลอว์ยังส่งผลต่อประเทศไทยมาก ทำให้การใช้กฎหมายไทยเป็นสันเป็นดอนตลอดมา ดังที่ แสวง บุญเฉลิมวิภาศ ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า[19]

"...ตลอดเวลาที่ผ่านมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ก็ยังคงมีปัญหาในการทำความเข้าใจหลักกฎหมายที่ปรากฏอยู่เบื้องหลังตัวบท การนำหลักกฎหมายคอมมอนลอว์มาตีความประมวลกฎหมายยังปรากฏอยู่ในคำสอนทางตำราและในแนวคำพิพากษาของศาล ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในหลาย ๆ เรื่องส่งผลโดยตรงให้นักกฎหมายไทยส่วนหนึ่งใช้ประมวลกฎหมายอย่างขาดความเข้าใจที่แท้จริง

ในอีกมุมหนึ่ง การรับกฎหมายสมัยใหม่จากตะวันตกและละเลยคุณค่าที่มีอยู่ในกฎหมายไทยเดิม โดยเฉพาะความคิดที่ว่ากฎหมายคือธรรม แล้วหันมายึดถือความคิดแบบ legal positivism ที่ถือว่า กฎหมายคือคำสั่งของผู้ปกครองแผ่นดิน ยิ่งส่งผลโดยตรงให้นักกฎหมายกลายเป็นคนคับแคบ เดินตามผู้มีอำนาจ ตีความตามตัวอักษร คำตอบที่ออกมาในหลายเรื่องจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคม หนักไปกว่านั้นก็คือ การแยกว่ากฎหมายกับความยุติธรรมเป็นคนละเรื่องกัน

โครงสร้าง[แก้]

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ประกอบด้วยบทบัญญัติทั้งหมด เจ็ดภาค สิบสองลักษณะ และยี่สิบเอ็ดหมวด ดังต่อไปนี้

  • ภาค 1 ข้อความเบื้องต้น
    • ลักษณะ 1 หลักทั่วไป
    • ลักษณะ 2 อำนาจพนักงานสอบสวนและศาล
      • หมวด 1 หลักทั่วไป
      • หมวด 2 อำนาจสืบสวนและสอบสวน
      • หมวด 3 อำนาจศาล
    • ลักษณะ 3 การฟ้องคดีอาญา และคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
      • หมวด 1 การฟ้องคดีอาญา
      • หมวด 2 การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
    • ลักษณะ 4 หมายเรียก และหมายอาญา
      • หมวด 1 หมายเรียก
      • หมวด 2 หมายอาญา
        • ส่วนที่ 1 หลักทั่วไป
        • ส่วนที่ 2 หมายจับ
        • ส่วนที่ 3 หมายค้น
        • ส่วนที่ 4 หมายขัง หมายจำคุก หมายปล่อย
    • ลักษณะ 5 จับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อยชั่วคราว
      • หมวด 1 จับ ขัง จำคุก
      • หมวด 2 ค้น
      • หมวด 3 ปล่อยชั่วคราว
  • ภาค 2 สอบสวน
    • ลักษณะ 1 หลักทั่วไป
    • ลักษณะ 2 การสอบสวน
      • หมวด 1 การสอบสวนสามัญ
      • หมวด 2 การชันสูตรพลิกศพ
  • ภาค 3 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น
    • ลักษณะ 1 ฟ้องคดีอาญา และไต่สวนมูลฟ้อง
    • ลักษณะ 2 การพิจารณา
    • ลักษณะ 3 คำพิพากษา และคำสั่ง
  • ภาค 4 อุทธรณ์ และฎีกา
    • ลักษณะ 1 อุทธรณ์
      • หมวด 1 หลักทั่วไป
      • หมวด 2 การพิจารณา คำพิพากษา และคำสั่งชั้นอุทธรณ์
    • ลักษณะ 2 ฎีกา
      • หมวด 1 หลักทั่วไป
      • หมวด 2 การพิจารณา คำพิพากษา และคำสั่งชั้นฎีกา
  • ภาค 5 พยานหลักฐาน
    • หมวด 1 หลักทั่วไป
    • หมวด 2 พยานบุคคล
    • หมวด 3 พยานเอกสาร
    • หมวด 4 พยานวัตถุ
    • หมวด 5 ผู้เชี่ยวชาญ
  • ภาค 6 การบังคับตามคำพิพากษา และค่าธรรมเนียม
    • หมวด 1 การบังคับตามคำพิพากษา
    • หมวด 2 ค่าธรรมเนียม
  • ภาค 7 อภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา และลดโทษ

การแก้ไขเพิ่มเติม[แก้]

นับแต่เริ่มมีผลใช้บังคับครั้งแรกใน พ.ศ. 2477 จวบจนถึงบัดนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมแล้วสามสิบสองครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2551


เชิงอรรถ[แก้]

  1. 1.0 1.1 แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552: 204.
  2. 2.0 2.1 แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 239-240.
  3. 3.0 3.1 Japanese Code of Criminal Procedure, 2009 : Online.
  4. 4.0 4.1 ราชกิจจานุเบกษา; 2478, 10 มิถุนายน : ออนไลน์.
  5. สมยศ เชื้อไทย, 2551 : 11.
  6. ราชกิจจานุเบกษา; 2451, 1 มิถุนายน : ออนไลน์.
  7. สมยศ เชื้อไทย, 2551 : 11-12.
  8. แสวง บุญเฉลิมวิภาส, 2552 : 238-239.
  9. แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 228-229.
  10. แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 239.
  11. ภาควิชานิติศึกษาทางสังคม ปรัชญา และประวัติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2523, 12 กันยายน : 37.
  12. แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 240-241.
  13. ราชกิจจานุเบกษา; 2477, 7 มีนาคม : ออนไลน์.
  14. พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง

    "ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามที่ตราไว้ต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2478 เป็นต้นไป"

  15. พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 มาตรา 4

    "ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 3 ตั้งแต่วันใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานี้สืบไป ให้ยกเลิกมาตรา 14, 16 และมาตรา 87 ถึง 96 ในกฎหมายลักษณะอาญา พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความมีโทษสำหรับใช้ไปพลางก่อน ร.ศ. 115 และบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายนี้"

  16. แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 242.
  17. ธานินทร์ กรัยวิเชียร, 2517 : 6.
  18. แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 243-244.
  19. แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 244-245.

อ้างอิง[แก้]

  • ธานินทร์ กรัยวิเชียร. (2517). "อิทธิพลของกฎหมายอังกฤษในระบบกฎหมายไทย". วารสารนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, (ปีที่ 11, ฉบับที่ 2).
  • ภาควิชานิติศึกษาทางสังคม ปรัชญา และประวัติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2523, 12 กันยายน). บันทึกคำสัมภาษณ์พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา). (เอกสารในห้องสมุดสัญญาธรรมศักดิ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร).
  • ราชกิจจานุเบกษา.
    • (2451, 1 มิถุนายน). กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 8 พฤศจิกายน 2553).
    • (2477, 7 มีนาคม). ประกาศ ตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์ เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 8 พฤศจิกายน 2553).
    • (2478, 10 มิถุนายน). พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 8 พฤศจิกายน 2553).
  • ราชบัณฑิตยสถาน.
  • สมยศ เชื้อไทย. (2551). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับใช้เรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9789742886370.
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2551, 11 กุมภาพันธ์). ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2010-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 8 พฤศจิกายน 2553).
  • แสวง บุญเฉลิมวิภาส. (2552). ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9789742886257.
  • Japanese Code of Criminal Procedure. (2009). [Online]. Available: <link เก็บถาวร 2011-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (Accessed: 19 January 2011).

ดูเพิ่ม[แก้]