ธีรนัยน์ ณ หนองคาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธีรนัยน์ ณ หนองคาย
ชื่อเกิดธีรนัยน์ ณ หนองคาย
เกิด23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 (47 ปี)
แนวเพลงป็อป, แจ็ส, โซล, อาร์แอนด์บี, มิวสิกัล
อาชีพนักร้อง นางแบบ นักแสดง ครูสอนร้องเพลง พิธีกร
ช่วงปีพ.ศ. 2534-ปัจจุบัน
ค่ายเพลงMedia Music Group

ธีรนัยน์ ณ หนองคาย (ชื่อเล่น: น้ำมนต์) เกิดวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 เป็นนักร้อง, นักแสดงและพิธีกรหญิงชาวไทย

ด้านดนตรี[แก้]

เนื่องจากบิดา (ธีระ ณ หนองคาย) เป็นนักเปียโน ส่วนมารดา (นัยนา ปุงคานนท์) เป็นนักร้อง จึงทำให้ธีรนัยน์ชอบร้องเพลงและชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ครอบครัวของธีรนัยน์ได้สนับสนุนให้เธอเริ่มเรียนเปียโน ขณะกำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาในช่วงสุดสัปดาห์ มารดาก็ได้พาเธอมาเรียนดนตรีในกรุงเทพมหานคร[1] เธอชนะเลิศการแข่งขันเปียโนระดับประเทศของโรงเรียนดนตรีสยามกลการ ในงานยามาฮ่าเปียโนเฟสติวัล 1991 รุ่นกลางในขณะที่อายุได้ 15 ปี และสอบเทียบระดับเกรด 7 จาก Trinity College of Music, ลอนดอน

เสียงร้องเพลงของธีรนัยน์จัดอยู่ในกลุ่มเมซโซ โซปราโน[2] เธอนำพื้นฐานเทคนิคทางการร้องเพลงแบบคลาสสิกมาประยุกต์ใช้ในการร้องเพลงแบบทั่วไป ทำให้มีเสียงร้องเพลงที่มีพลังและสามารถควบคุมการออกเสียงได้ดี[3] จนเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดเฉพาะตัว เธอเริ่มเรียนร้องเพลงอย่างจริงจังกับอาจารย์อนุชิต นันทขว้าง เมื่ออายุได้ 15 ปี สอบเทียบวัดระดับเกรด 8 ด้านการร้องเพลงคลาสสิกจากสถาบัน Guildhall School of Music and Drama, ลอนดอน และเกรด 5 ด้านวิชาทฤษฎีดนตรีจาก Trinity College of Music, ลอนดอน[4] ได้เมื่ออายุ 18 ปี จากนั้นได้เริ่มเปลี่ยนจากแนวการร้องเพลงแบบคลาสสิกมาเป็นเพลงจากภาพยนตร์หรือละครเพลง จนกลายเป็นแนวทางการร้องเพลงหลักของเธอในปัจจุบัน

หลังจากเริ่มทำงานด้านการสอนร้องเพลงที่สถาบันดนตรีมีฟ้าก็ได้เรียนเพิ่มเติมกับ อาจารย์ Beth Ellen[4] และอาจารย์สุชีรา อังคไพโรจน์ เพิ่มเติมเป็นระยะๆ[5]

ธีรนัยน์สามารถร้องเพลงได้ในหลายรูปแบบ เช่น คลาสสิก ป๊อป แจ๊ส ไทยลูกกรุง เพลงจากภาพยนตร์และละครเพลงต่าง ๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ เธอได้ร่วมร้องเพลงในงานดนตรีที่สำคัญของประเทศและได้แสดงต่อหน้าที่ประทับ เช่น เป็นนักร้องประจำในงานกาชาดคอนเสิร์ตร่วมกับวงดุริยางค์ราชนาวีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 และได้ร่วมงานกับวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ เธอได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนนักร้องไทยโดยกระทรวงต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ในงานเฉลิมฉลองการสถาปนา สาธารณรัฐประชาชนจีนครบ 50 ปี และที่ประเทศโมร็อกโก ในปี 2542 และ 2543[6] ได้ขับร้องเพลงดิอาเซียนเวย์ ในพิธีเปิดและพิธีปิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 15 ณ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ในเดือนตุลาคม 2552[7] และเพลงดวงแก้วจากฟ้า เพื่อถวายความอาลัยในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีในเดือนเมษายน 2555 [8]

ในปี 2542 เธอมีอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองชื่อ "รักเธอที่ใจ" และมีผลงานร้องเพลงประกอบภาพยนตร์และละครทีวีอีกจำนวนหนึ่ง ผลงานล่าสุดคือเพลงประกอบภาพยนตร์ดิสนีย์เรื่อง "มหัศจรรย์รักข้ามภพ" (Enchanted) และเพลงประกอบละครทีวีเรื่อง “สาปภูษา” "บ่วง" "มงกุฎดอกส้ม" และ "มัจจุราชสีน้ำผึ้ง" ได้เป็นนักแสดงรับบท “อังศุมาลิน” ในละครเวทีเรื่อง คู่กรรม เดอะมิวสิคัล[5] บทบาทของ “แม่นาค” ในละครเวทีเรื่อง แม่นาค เดอะมิวสิคัล (พ.ศ. 2552) และบทบาทของ Ms. Greta Belle ในละครเวทีเรื่อง “Fame The Musical” ภาคภาษาไทย (พ.ศ. 2554)

ธีรนัยน์ได้รับรางวัล คมชัดลึก อวอร์ด ประจำปี 2554 ประเภทเพลงไทยสากล สาขาศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม [9] จากการบันทึกเสียงในอัลบั้ม “บีเอสโอบรรเลงสุนทราภรณ์” [10] ในปี 2545 เธอได้รับตำแหน่งนางงามบุคลิกภาพจากการประกวดนางสาวไทย[1] และในปี 2549 เธอรับหน้าที่เป็น Acting Trainer ในรายการเรียลลิตีโชว์ "ยูบีซี อะคาเดมี แฟนเทเชีย 3"

ธีรนัยน์ได้เข้าทำงานด้านการสอนร้องเพลงที่สถาบันดนตรีมีฟ้า ระหว่าง พ.ศ. 2543 และ 2552 อาชีพหลักของเธอ คือ การสอนร้องเพลงส่วนบุคคล ทั้งในการสอนส่วนตัวแบบอิสระและสอนที่โรงเรียนดนตรีสยามเพชรเก้า[11]

ด้านวงการบันเทิง[แก้]

การร้องเพลงในยุคเริ่มต้น (2534-2536)[แก้]

ธีรนัยน์เริ่มต้นการเรียนร้องเพลงอย่างจริงจังกับอาจารย์อนุชิต นันทขว้าง ในเพลงประเภทคลาสสิกและเพลงจากละครเพลง ตั้งแต่ปี 2534 และเริ่มออกแสดงผลงานการร้องเพลงสู่สาธารณะเป็นครั้งแรกในคอนเสิร์ตเพลงประเภทคลาสสิก ในงานแสดงผลงานนักเรียนของ อนุชิตมิวสิกสตูดิโอ ที่สถาบันเกอเธ่ (Thai German Cultural Foundation Auditorium) ในเพลง “O Mio Babbino Caro” ต่อมาในปี 2536 ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดขับร้องเพลงภาษาอังกฤษของโรงเรียนชลกันยานุกูล[12] จากเพลง “Wind Beneath My Wings” จากนั้นได้เข้าร่วมแสดงการร้องเพลงคลาสสิกของ อนุชิตมิวสิกสตูดิโอ ที่หอประชุมสถาบันเกอเธ่ อีกหลายครั้ง เช่น คอนเสิร์ต “The Three Soprano” ร่วมกับนักเรียนของอาจารย์อนุชิต คือ คุณโมนิค คล่องตรวจโรคและคุณยูกิ คูชิดะ และคอนเสิร์ต “Opera Night” ในปี 2536 เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้เข้าร่วมแสดงบัลเล่ต์ ในฐานะนักแสดงจากโรงเรียนอารีย์นาฏยศิลป์ในการแสดงการกุศลรายการ “Fairy Tales ครั้งที่ 1” ที่จัดขึ้นโดย บริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)

ช่วงเริ่มออกแสดงผลงานแก่สาธารณะ (2537-2541)[แก้]

การแสดงการขับร้องเพลง[แก้]

หลังจากที่ธีรนัยน์เข้าศึกษาด้านปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ในปี 2537 เธอได้สอบวัดระดับเกรด 8 ด้านการร้องเพลงคลาสสิกจากสถาบัน Guildhall School of Music and Drama, ลอนดอน ในปี 2538 เธอได้มีโอกาสขึ้นเวทีที่สำคัญคือ การนักร้องรับเชิญของวงดุริยางค์ราชนาวี ในงานกาชาดคอนเสิร์ตครั้งที่ 24 เป็นครั้งแรก ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ขับร้องเพลงหน้าที่ประทับ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี[13] ในเพลง “O Divine Redeemer” และเพลง "All I Ask of You" ร่วมกับอาจารย์อนุชิต นันทขว้าง[14] ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นนักร้องรับเชิญในกาชาดคอนเสิร์ตในเวลาต่อมา ในปีเดียวกันนั้น ได้เข้าร่วมการแสดงการกุศลที่จัดขึ้นโดย บริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ในบทบาท “Tiger Lilly” ในละครเวทีเรื่อง “ปีเตอร์แพน & เดอะแก๊ง” และได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทเพลงสากล ในการประกวดขับร้องเพลงของวงดนตรีสากลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU Band) จากเพลง “Saving All My Love for You[1]

ในเดือนเมษายน ปี 2539 ได้ขับร้องหน้าที่ประทับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในงานแสดงแสงเสียงประกอบจินตภาพ ซึ่งจัดขึ้นโดย กองทัพเรือ สมาคมภริยาทหารเรือ และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ณ พระราชวังเดิม ต่อมาในปี 2540 ได้เป็นนักร้องรับเชิญของวงดุริยางค์ราชนาวี ในงานกาชาดคอนเสิร์ต ครั้งที่ 25 หน้าที่ประทับ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกครั้งหนึ่ง และในเดือนสิงหาคมปี 2541 ได้ร่วมงานคอนเสิร์ต “วัฒนธรรมไทยสู้ภัยเศรษฐกิจ ครั้งที่ ๒” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และเดือนธันวาคม ปี 2541 แสดงการขับร้องเพลงในคอนเสิร์ต “Voices for Tomorrow” ของ บริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เพื่อองค์การ UNICEF หน้าที่ประทับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ผลงานการบันทึกเสียง[แก้]

ธีรนัยน์บันทึกเสียงครั้งแรกเป็นผู้ให้เสียงการร้องเพลงภาคภาษาไทยในภาพยนตร์การ์ตูนของ Warner Brothers เรื่อง The Pebble and the Penguin ในปี 2538 และผลงานเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นเมื่อเธอให้เสียงร้องเพลงเป็นเสียงของ Pocahontas ในเพลง สีสันแห่งสายลม (Colors of the Wind) และ “ปล่อยใจไปตามสายชล” (Just Around The River Bend) จากภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Pocahontas เธอกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ว่า เป็นการร้องเพลงที่ได้เงินมาด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก[12] ต่อมาในปี 2539 เธอขับร้องเพลง “ลมหนาว” ในอัลบั้มบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์” ซึ่งจัดทำโดยโรงเรียนจิตรลดา เพื่อเฉลิมฉลองแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี 2540 ร้องเพลง “สื่อเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” และ “Media for Better Life” ในอัลบั้ม “Golden Records” ของเอ็มสแควร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์” และได้บันทึกเสียงเพลง “รักคืออะไร” ซึ่งเป็นเพลงเอกประกอบละครทีวีเรื่องร้อยรสบทละคร ตอนรักคืออะไร และเพลง "นางเอก" กับเพลง “ดวงชีวิต” จากละครทีวีเรื่องนางเอก ในปี 2541 บันทึกเสียงเพลง “Beauty and the Beast” ลงในอัลบั้ม “Sila-on Bros., Family and Friends” ของบริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และ ให้เสียงร้องเพลงภาคภาษาไทยแก่ Pocahontas ในเพลง “Where Do I Go from Here” และ “What a Day in London” จากภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Pocahontas II: Journey to a New World

ช่วงเริ่มงานอาชีพด้านการร้องเพลง (2542 – ต้นปี 2546)[แก้]

การขับร้องเพลงในงานสาธารณะ[แก้]

หลังจากที่เริ่มมีผลงานออกสู่สาธารณะที่หลากหลาย ความสามารถของธีรนัยน์ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการที่กว้างขึ้น เธอเป็นนักร้องรับเชิญในงานกาชาดคอนเสิร์ต ครั้งที่ 27 ในปี 2542 การแสดงหน้าที่ประทับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในครั้งที่ 28 และครั้งที่ 29 ในปี 2543 และ 2544 ตามลำดับ และร่วมร้องเพลงออกรายการทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 กับวงดุริยางค์กองทัพเรือ เนื่องในวันกองทัพเรือในเดือนพฤศจิกายน 2544 และแสดงหน้าที่ประทับ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานกาชาดคอนเสิร์ต ครั้งที่ 31 ในปี 2546

ธีรนัยน์ได้ให้ข้อมูลในสูจิบัตรงานแสดงการขับร้องเพลงต่างๆในช่วงหลังว่า ผลงานที่เธอมีความภาคภูมิใจ คือการได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนนักร้องไทยโดยกระทรวงต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ในงานเฉลิมฉลองการสถาปนา สาธารณรัฐประชาชนจีน ครบ 50 ปีในปี 2542 และที่ประเทศโมร็อกโก ในปี 2543 [15] และในช่วงดังกล่าว เธอเริ่มได้รับเชิญให้เป็นนักร้องประจำในรายการดนตรีในสวน ของวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพซึ่งจัดแสดงในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ณ ศาลาภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี และเป็นนักร้องนำในคอนเสิร์ตต่างๆของวง เช่น เดือนพฤษภาคม 2544 เป็นนักร้องนำในคอนเสิร์ต “Music of The Brave” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2545 ร้องเพลงในคอนเสิร์ต "50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ" พร้อมกับวงดุริยางค์สามเหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน้าที่ประทับ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ (ขณะนั้นทรงพระนามว่า หม่อมเจ้าหญิงสิริวัณณวรี มหิดล) ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2545 ร่วมร้องเพลงในงานฉลองครบรอบ 20 ปี วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ กรุงเทพฯ เดือนธันวาคม 2545 ร่วมในคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ณ บริเวณสะพานพระราม ๘ ด้านฝั่งธนบุรี และคอนเสิร์ต "The Joy of Christmas" ณ ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด (ถนนวิทยุ)

นอกจากนั้น เธอยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมร้องเพลงในงานคอนเสิร์ตประเภทเพลงคลาสสิก และเพลงจากละครเพลงและภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง ของผู้จัดอื่นๆ ตามลำดับเวลาดังนี้

เดือนสิงหาคม 2542 ได้ร่วมในคอนเสิร์ต "Hollywood Love Songs" ณ โรงแรมสยามซิตี้ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ ถัดมาปลายปี 2542 ได้ร่วมในคอนเสิร์ต “The Sound of Christmas” ของบริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เพื่อมูลนิธิสวนหลวง ร.๙ ณ สวนหลวง ร.9 ต่อมาในเดือนมกราคม 2544 เป็นนักร้องนำในคอนเสิร์ต “Winter Evening with Schubert”, Lieder & Chamber Music ณ ห้องประชุมสถาบันเกอเธ่ (Thai German Cultural Foundation Auditorium) จัดโดย Bangkok Music Society & AMA Studio ในเดือนเมษายน 2544 เข้าร่วมงานแสดงการกุศลหน้าที่ประทับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ของบริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ในการแสดงชุด “101 Dalmatians” คอนเสิร์ต “Fairy Tales II” เดือนมิถุนายน 2545 เป็นนักร้องนำร่วมกับคณะนักร้องประสานเสียงชาวเยอรมัน "German Speaking Combined Choir Bangkok" ในคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิกของ Johann Sebastian Bach ณ โบสถ์อัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพฯ ต่อมาในเดือนกันยายน 2545 ร่วมแสดงในคอนเสิร์ต "ชรินทร์ in concert" ร่วมกับคุณชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในเดือนเมษายน 2546 ได้ร้องเพลงออกอากาศในรายการทีวีรายการพิเศษฉลองพระเกียรติในโอกาส “๑๕๐ ปี ร.๕ และ ๑๑๕ ปี ร.พ.ศิริราช” ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เพื่อนำรายได้สมทบทุน “อาคารเฉลิมพระเกียรติ” ในการจัดซื้อครุภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์แก่ผู้ป่วย ร.พ.ศิริราช และในเดือนพฤษภาคม 2546 มีงานร้องเพลงครั้งสำคัญถึง 4 งานคือ ได้รับเชิญไปขับร้องเพลง "นางสาวไทย" ในงานประกวดประกวดนางสาวไทยประจำปี 2546 ที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี ต่อมาได้เข้าร่วมคอนเสิร์ต “๑๐๐ ปี หลวงสุขุมนัยประดิษฐ” ณ ศาลาเฉลิมกรุง และเป็นนักร้องนำในคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิกร่วมกับ "German Speaking Combined Choir Bangkok" เป็นครั้งที่สอง ขับร้องเพลงของ Franz Schubert ณ โบสถ์อัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพฯ และร้องเพลงในคอนเสิร์ตเพื่อสมทบทุน กองทุนสวัสดิการดุริยางค์สากล กรมศิลปากร ร่วมกับศิลปินจากกรมศิลปากร ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก)

ผลงานการบันทึกเสียง[แก้]

หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ในปี 2542 ธีรนัยน์ได้บันทึกเสียงลงอัลบั้นเดี่ยวชุดแรกและชุดเดียวของตัวเองชื่อ อัลบั้ม "รักเธอที่ใจ" ของบริษัทมีเดีย มิวสิก กรุ๊ป จำกัด อย่างไรก็ดี เธอกล่าวถึงงานครั้งนี้ในการให้สัมภาษณ์ในช่วงหลังว่า เธอไม่ถึงกับชอบงานครั้งนี้ของตัวเองมากนัก [1] และงานดังกล่าวก็ไม่ประสพผลสำเร็จในด้านการขายเนื่องจากความไม่พร้อมในหลายๆด้าน จากนั้นในปีเดียวกันนั้นเอง ก็บันทึกเสียงเพลงภาคภาษาไทยของเพลง "Deliver Us" จากภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Prince of Egypt และยังมีเพลงเดี่ยวในอัลบั้มต่างๆต่อเนื่องมา คือ ปี 2543 บันทึกเสียงเพลง “สวรรค์สวิง” ในอัลบั้ม “Eclextic Suntaraporn” ผลิตโดยบริษัท วอร์นเนอร์แช็ปเปิล มิงสิค (ประเทศไทย) จำกัดในปลายปี 2544 บันทึกเสียง เพลง ดาวหลงฟ้า ภูผาสีเงิน ซึ่งเป็นเพลงประกอบละคร ดาวหลงฟ้า ภูผาสีเงิน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ซึ่งผลิตโดย กันตนา ในปี 2545 มีผลงาน 4 ชุดคือ บันทึกเสียงเพลง “เมื่อไหร่จะให้พบ” ในอัลบั้ม “เพลงชุดร่วมสมัย ๑๐๐ ปี หลวงสุขุมนัยประดิษฐ” และบันทึกเสียงเพลง "อย่าท้อแท้" "รักแผ่นดิน" "วัฒนธรรมไทยไม่เคยแล้ง" และ "ใช้ของไทยดีกว่า" อัลบั้ม "เพลินเพลงวัฒนธรรม" โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ต่อมาในปี 2546 บันทึกเสียงร้องเพลง “กังวานไพร” “หากรู้สักนิด” และ “สุดชีวิต” ในอัลบั้ม “ร้อยพัน” ผลงานเพลง ม.ล. ประพันธ์ สนิทวงศ์ และขับร้องเพลง "Where Do I Go from Here" "I Want to Spend My Lifetime Loving You" และ "รวมเพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพฯ" ใน CD อัลบั้มบันทึกการแสดงสดกาชาดคอนเสิร์ต ครั้งที่ 31 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546

ด้านสื่อวิดีโอบันทึกการแสดง ธีรนัยน์ร่วมแสดงและขับร้องเพลง "สามรัก" "รักเธอเสมอ" และ "สุดฟากฟ้า" ใน VCD บันทึกการแสดงสด "ชรินทร์ in concert 2545" ร่วมกับคุณชรินทร์ นันทนาคร ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในเดือนกันยายน 2545

เหตุการณ์สำคัญอื่นๆ[แก้]

ก่อนเรียนจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2542 ธีรนัยน์ได้เริ่มเข้าทำงานเป็นครูสอนร้องเพลงที่สถาบันดนตรีมีฟ้า ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนดนตรีในเครือ GMM Grammy เธอสอนอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้จนถึงปี 2552 นักเรียนที่มีชื่อเสียงที่สุดของเธอก็คือ ด.ช. จุฑาภัทร เหล่าธรรมทัศน์ หรือ “น้องพลับ” ของค่ายเพลง GMM Grammy[1]

ต่อมาในช่วงต้นปี 2545 ธีรนัยน์ได้เข้าร่วมการประกวดนางสาวไทย และในการประกวดรอบตัดสินในวันที่ 11 พฤษภาคม 2545 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เธอได้เข้ารอบสุดท้ายและได้รับตำแหน่งนางงามบุคลิกภาพในปีดังกล่าว

ช่วงก้าวเข้าสู่งานด้านละครเวที ( ปลายปี 2546-ปัจจุบัน)[แก้]

งานแสดงละครเวที[แก้]

แม้ว่าธีรนัยน์จะมีผลงานด้านการร้องเพลงที่ในงานสำคัญต่างๆเป็นจำนวนมาก แต่ชื่อเสียงของเธอก็เป็นที่รู้จักกันในวงการที่ไม่กว้างขวางมากนัก จนได้มีโอกาสเล่นละครเวที "คู่กรรม เดอะมิวสิกัล" กับค่ายละครดรีมบอกซ์ เธอได้เล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ในเรื่องนี้ไว้ในบทสัมภาษณ์ว่า ช่วงประมาณปี 2542 เธอได้รับการติดต่อจากคุณสุวรรณดี จักราวรวุธ ผู้กำกับละครสังกัดค่ายละครดรีมบอกซ์ เพื่อคัดเลือกเข้าร่วมเล่นละครเวทีเรื่อง "คู่กรรม เดอะมิวสิกัล" จากนั้นทางดรีมบอกซ์ก็ได้ใช้เวลาอีกนานถึง 3 ปี เพื่อดำเนินการด้านลิขสิทธิ์และบทละครจากคุณทมยันตี ผู้แต่งนวนิยายเรื่อง “คู่กรรม” จนกระทั่งในปี 2546 ทางค่ายละครก็ได้ติดต่อกลับมาให้ไปทดสอบเสียงและการแสดงเพิ่มเติม และในที่สุดในรอบสุดท้ายเธอก็ได้รับเลือกให้เล่นในบทบาทของ “อังศุมาลิน” แม้ว่าจะไม่มีประสบการณ์ในด้านการแสดงมาก่อน เนื่องจากจากความสามารถด้านการร้องเพลงเป็นหลัก เพราะละครเรื่องนี้เป็นละครเพลงทั้งเรื่องและบทของ “อังศุมาลิน” นั้นเป็นผู้เดินเรื่องหลักที่แทบจะไม่ได้ออกจากเวทีเลย[1][16]

ละครเวทีเรื่อง คู่กรรม เดอะมิวสิคัล[แก้]

ละครเวทีเรื่อง "คู่กรรม เดอะมิวสิคัล" จัดแสดงเป็นครั้งแรกในระหว่างวันที่ 23 ตุลาคม-16 พฤศจิกายน 2546 จำนวน 24 รอบ ณ โรงละครกรุงเทพ ถนนเพชรบุรี ในช่วงแรกละครเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักเนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์ในสื่อวงกว้าง แต่งานนี้ก็เป็นที่ชื่นชอบของนักวิจารณ์และผู้ที่ได้เข้าชมทั่วไปในด้านบทละคร เพลง รวมทั้งความไพเราะของน้ำเสียงการร้องเพลงของธีรนัยน์ในบทบาทผู้แสดงนำฝ่ายหญิง เช่น คุณธันว์ จากนิตยสารทีวีพูลได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในหนังสือฉบับลงวันที่ 29 ตุลาคม 2546 ว่า

“น้ำมนต์ อาศัยน้ำเสียงอันทรงพลัง ทำให้ อังศุมาลิน กลับมาโลดเล่นอีกครั้งได้อย่างสง่างาม เสียงร้องอันไพเราะ มีพลังของเธอ ทำให้ทุกฉากที่ อังศุมาลิน ปรากฏตัวสามารถตรึงอารมณ์คนดูได้อย่างอยู่หมัด ทำให้คู่กรรมฉบับนี้แตกต่างจากที่เคยทำกันมา เป็นฉบับที่ดีที่สุดอีกฉบับหนึ่ง”[17]

ผู้ชมหลายท่านได้แบ่งปันความรู้สึกว่ารู้สึก “ขนลุก” “ตะลึง” หรือ “ต้องมนต์สะกด” ตั้งแต่ได้ยินเสียงร้องจากประโยคแรกของเธอ[18][19] อย่างไรก็ดี เนื่องจากละครเรื่องนี้นับเป็นการแสดงในบทเด่นของเธอเป็นครั้งแรก[1] ในส่วนของการแสดงของนั้นจึงไม่โดดเด่นมากนัก เช่น คุณปวิตร มหาสารินันทน์ ได้ให้ความเห็นในหนังสือพิมพ์ The Nation ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2546 ว่า

“From the show’s opening number, “A Promise Under the Lampoo Tree”, to the finale, “The Last Song”, Teeranai Na Nhongkai’s voice was a rare musical gem and a true achievement to celebrate. However, Teeranai was too concerned with her singing and less careful about her acting – to be precise, the character’s interpretation of lyrics and her interaction with other characters.” [20]

ต่อมาด้วยกระแสการบอกเล่าแบบปากต่อปากได้ทำให้สื่อมวลชนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นและละครได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนทางคณะต้องนำไปแสดงเพิ่มเติมที่ โรงละครกาดเธียเตอร์ เชียงใหม่ จำนวน 4 รอบ ในวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2547 และนำกลับมาเล่นใหม่ถึงสองครั้งในปีถัดมา จำนวน 12 รอบ ที่โรงละครกรุงเทพ และ โรงละครกาดเธียเตอร์ ในวันที่ 18-28 มีนาคม และ 2-4 เมษายน 2547 ตามลำดับ และในงานอำลาและปิดกิจการของโรงละครกรุงเทพ จำนวน 5 รอบ ในวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2547 ตามลำดับ และธีรนัยน์ ก็ได้พัฒนาความสามารถในการแสดงดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น คุณ Alongkorn Parivudhiphongs ได้ให้ความเห็นในบทความ 'Ku Kam' makes a return ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ในวันที่ 24 มีนาคม 2547 ว่า

“Singer-actress Teeranai Na Nongkai looked comfortable with the role of arrogant Angsumalin. While shining during solo parts, the soprano vocalist blended in better this time around when she did duets with other cast members. Most impressively, her acting skill is budding, making her a better Angsumalin than veteran actress…”[21]

ละครเวทีเรื่อง "คู่กรรม เดอะมิวสิคัล" ได้กลับมาแสดงเป็นครั้งที่ 4 จำนวน 10 รอบ ในวันที่ 24 สิงหาคม-2 กันยายน 2550 ณ โรงละครกรุงเทพ เมโทรโปลิส (EGV Metropolis) ถนนราชดำริ และด้วยวัยวุฒิและประสบการณ์ที่มากขึ้น เสียงวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องการแสดงของธีรนัยน์ก็เปลี่ยนไปในทางบวกอย่างมาก เช่น คุณ Pannasri Chuarayapratib ได้ให้ความเห็นไว้ในบทวิจารณ์ละครเรื่องนี้ ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม 2550 ตอนหนึ่งว่า

“A special treat for the audience is singer-cum-actress Theeranai Na Nhongkai, who brings her exceptional vocal talents to the role of the headstrong Angsumalin. A Professional voice coach, Theeranai knows how to project the character’s complex emotions with her powerful voice.”[3]

และคุณปวิตร มหาสารินันทน์ซึ่งเคยวิจารณ์การแสดงครั้งแรกของเธอไว้ ได้เขียนถึงการแสดงในละครเรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์ The Nation ฉบับวันที่ 1 กันยายน 2550 อีกครั้งหนึ่ง ความตอนหนึ่งว่า

“In the very first scene, friends and would-be lovers Vanas and Angsumalin sang "A Promise Under the Lampoo Tree". I was hooked straight away by their heartfelt and endearingly intimate performances. ”[22]

ละครเวทีเรื่อง แม่นาค เดอะมิวสิคัล[แก้]

ในช่วงที่ละครเพลงเรื่องคู่กรรมถูกนำมาเล่นใหม่ในกลางปี 2550 นั้น ค่ายละครดรีมบอกซ์ก็ได้ให้ข่าวประชาสัมพันธ์งานละครเพลงชิ้นต่อไปของค่ายว่าจะทำเรื่อง “แม่นาค เดอะมิวสิคัล” โดยให้ธีรนัยน์ เป็นนักแสดงนำอีกครั้งในบทของ “แม่นาค” อย่างไรก็ดี ต่อมาในช่วงต้นปี 2551 ละครดังกล่าวเลื่อนกำหนดการแสดงออกไปเป็นปี 2552 เนื่องจากธีรนัยน์ ตั้งครรภ์และทางค่ายละครตกลงใจที่จะรอเธอโดยไม่เปลี่ยนตัวแสดงนำ[23][24][25]

ละครเวทีเรื่อง “แม่นาค เดอะมิวสิคัล” จัดแสดง ณ เอ็มเธียเตอร์ (M-Theater ซึ่งเดิมคือโรงละครกรุงเทพ) ถนนเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 3-19 กรกฎาคม 2552 จำนวน 12 รอบ ธีรนัยน์ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากทั้งในความสามารถในการร้องเพลงและการแสดงอันโดดเด่นของเธอ เช่น คุณปวิตร มหาสารินันทน์ ได้ให้ความเห็นส่วนหนึ่งในหนังสือพิมพ์ The Nation ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2552 ว่า

“Dreambox’s musical shows that there are many professional singers in this country who can perfectly balance singing and acting and hence deliver a flawless performance in a musical theatre production. In the title role, Teeranai Na Nongkhai effortlessly tackles the highly demanding scores and dramatic moments. We now realise why this production was postponed for two years to wait for this new mother to be ready.”[26]

และมีความเห็นในลักษณะเดียวกันจาก คุณณัฐพงษ์ โอฆะพนม ในหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก เวทีสาระบันเทิง หน้า 20 วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2552 ในบทความ “แม่นาคเดอะมิวสิคัล ตำนานไม่มีวันตายความรักไม่มีวันสลาย”[27] จากคุณณัฐพัชญ์ วงศ์เหรียญทอง นักวิจารณ์จากนิตยสาร a day ได้เขียนไว้ใน Web Site รวบรวมบทวิจารณ์งานแสดงต่างๆ[28]

ละครเรื่อง แม่นาค เดอะมิวสิคัล ได้ถูกปรับปรุงให้มีเนื้อเรื่องที่กระชับขึ้น และกลับมาแสดงอีกเป็นครั้งที่สอง ณ โรงละครเอ็มเธียเตอร์ ในระหว่างวันที่ 4-13 ธันวาคม 2552 จำนวน 6 รอบ

ละครเวทีเรื่อง Fame The Musical[แก้]

ในปี 2554 ธีรนัยน์ได้ร่วมงานแสดงกับค่ายละครดรีมบอกซ์ โดยรับบทเป็นครูสอนบัลเลต์ชื่อ Ms. Greta Belle ในละครเพลงเรื่อง “Fame The Musical” ภาคภาษาไทย จัดแสดงที่ โรงละครเอ็มเธียเตอร์ ในระหว่างวันที่ 9-25 กันยายน 2554 [29]

งานละครเวทีอื่นๆ[แก้]

ในช่วงปี 2547-2550 ธีรนัยน์ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานละครเพลงสั้นๆอื่นๆ เช่น เป็นนักแสดงรับเชิญ ในบทบาทของ “Maria” ในการแสดงบางส่วนจากละครเพลงเรื่อง “The Sound of Music” งานฉลองครบรอบ 130 ปีของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แสดงวันที่ 21-24 กรกฎาคม 2547 และบทบาทของ “Ms. Eliza Doolittle” ในการแสดงบางส่วนจากละครเพลงเรื่อง “My Fair Lady” งาน “Royal Ascot” ฉลองครบรอบ 72 ปี สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ หน้าที่ประทับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ณ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี แสดงวันที่ 12 กันยายน 2549

งานอื่นๆที่เธอได้ร่วมกับค่ายละครดรีมบอกซ์อีกคือ แสดงเป็น “พระราชินี” ในการแสดงแสงเสียงและสื่อผสมในละครเวทีเรื่อง “มหาบุรุษแห่งความดี (The Great King of Virtue)” ในงาน “60 ปี ใต้ร่มพระบารมี” แสดง ณ เวทีกลางน้ำ สวนลุมพินี แสดงวันที่ 27-28 ธันวาคม 2548 และบทบาทของ “แก้วเจ้าจอม” ในการแสดงแสงเสียงและสื่อผสมในละครเวทีเรื่อง “กลิ่นแก้วเจ้าจอม” ในงานฉลองครบรอบ 70 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา หน้าที่ประทับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ณ อาคารสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา แสดงวันที่ 8-12 พฤศจิกายน 2549 นอกจากนั้น ในช่วงต้นปี 2550 ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานดรีมบอกซ์ ทำงานเบื้องหลังในฐานะผู้ฝึกสอนด้านการขับร้องเพลงให้กับละครเวทีของบริษัท ทรู แฟนตาเซีย จำกัด ในเรื่อง “เงิน เงิน เงิน เดอะ มิวสิกัล” ซึ่งจัดแสดงที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 8 เมษายน 2550[30]

ผลงานการบันทึกเสียง[แก้]

ปี 2544 บันทึกเสียงเพลง “ดาวหลงฟ้าภูผาสีเงิน” ประกอบละครทีวีเรื่อง “ดาวหลงฟ้าภูผาสีเงิน" ซึ่งนำแสดงโดย คุณพลอยไพลิน เจนเซน ปี 2546 บันทึกเสียงเพลง “กษัตริยา” เพลงเอกในละครโทรทัศน์เรื่อง "กษัตริยา" ซึ่งนำแสดงโดย ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ต่อมาในปี 2547 ในงานคอนเสิร์ตประสานใจรัก "THE VOICELINE” เพื่อมูลนิธิโรคตับเพื่อฉลองสิริอายุ 6 รอบคุณหญิงมาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวช ครูผู้สร้างสรรค์การประสานเสียงไทย ณ โรงละครแห่งชาติ ในเดือนพฤศจิกายน 2547 มีการจัดทำอัลบั้มรวมบทเพลงประสานเสียง "THE VOICELINE" มีเพลงที่เธอขับร้องคือเพลงพระราชนิพนธ์ "ลมหนาว" ต่อมา ปี 2549 บันทึกเสียงเพลง “คือรักไม่มีที่สิ้นสุด” ประกอบละครทีวีเรื่อง “อมฤตาลัย" และเพลง “ขวัญใจเจ้าทุย” ในอัลบั้ม “More Than Words” ชุดที่ 4 ของเทวัญ ทรัพย์แสนยากร และในปีเดียวกันนั้น เธอบันทึกเสียงภาคภาษาไทยของเพลง “There is Life” เพื่อประกอบจากภาพยนตร์การ์ตูนดิสนีย์เรื่อง Bambi II ปี 2550 บันทึกเสียงเพลง “จันทร์ของเธอ” เพลงเอกจากละครทีวีเรื่อง "แรมพิศวาส" และเป็นหนึ่งในศิลปินนักร้อง 80 ท่านที่ร่วมกันบันทึกเสียงขับร้องบทเพลงเฉลิมพระเกียรติ “พ่อแห่งแผ่นดิน” เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ต่อมาในปี 2551 บันทึกเสียงร้องเพลงภาคภาษาไทยนางเอกที่ชื่อ Giselle จากภาพยนตร์ดิสนีย์เรื่อง มหัศจรรย์รักข้ามภพ (Enchanted) เพลง “True Love's Kiss (จุมพิตจากรักจริง)” , “Happy Working Song (ทำงานสุขสันต์)” และ “That's How You Know (อย่างไรจึงรู้)” ปี 2552 บันทึกเสียงเพลง “สาป” เพลงนำจากละครทีวีเรื่อง “สาปภูษา" ปี 2553 เพลง “เสียงสะท้อน” และ "Chinese Lullaby" จากละครทีวีเรื่องมงกุฎดอกส้ม ปี 2554 เพลง "คนดีไม่มีวันตาย" จากภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง "ขุนรองปลัดชู" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในรายการ "วีรชนคนถูกลืม" เพลง "ความเศร้าแห่งสงคราม" จากภาพยนตร์เรื่อง "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง" และ เพลง "เสียงกระซิบจากเกลียวคลื่น" "ถึงเธอ" และ "กระซิบสวาท" จากอัลบั้ม "บีเอสโอบรรเลงสุนทราภรณ์" โดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ปี 2555 เพลง “บ่วงรัก” จากละครทีวีเรื่องบ่วง และเพลง "ดวงแก้วจากฟ้า" เพื่อถวายความอาลัยแด่ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ต่อมาในปี 2556 เพลง “คนที่ร้ายคนที่รัก” จากละครทีวีเรื่องมัจจุราชสีน้ำผึ้ง

สื่อวิดีโอบันทึกการแสดงประกอบไปด้วย VCD บันทึกการแสดงสดการแสดงกาชาดคอนเสิร์ต ครั้งที่ 32 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในเดือนกรกฎาคม 2547 เธอขับร้องเพลง "Tonight" "นี่หรือความรัก" "กษัตริยา" และ "แม่ฟ้ามหาราชินี" ถัดมาเป็น DVD การแสดงสดเป็นที่ระลึกของงาน คอนเสิร์ตประสานใจรัก "THE VOICELINE” เพื่อมูลนิธิโรคตับเพื่อฉลองสิริอายุ 6 รอบคุณหญิงมาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวช ซึ่งเธอขับร้องเพลง "สวนในฝัน" และ "Together (Wherever We Go)" จากนั้นในเดือนเมษายน 2551 เป็น DVD บันทึกการแสดงสด ที่ระลึกงานประกาศเกียรติคุณวิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่น ครั้งที่ 1 และวิศวจุฬาดีเด่น ครั้งที่ 10 สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพลง "The Sound of Music" "All I Ask of You" "I Still Believe" "I'd Give My Life for You" และ "Show Me (My Fair Lady)" ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ กรุงเทพฯ) เดือนพฤษภาคม 2551 ต่อมาในปี 2552 ใน DVD ที่ระลึกงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 64 เพลง "Medley โดมในดวงใจและจามจุรีประดับใจ" ณ สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการร้องเพลง "พระหน่อนาถ" เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในวโรกาสที่ทรงพระชนมายุครบ 7 รอบพรรษา บันทึกภาพและเสียง ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ พระราชวังพญาไท และออกอากาศทางช่อง 9 อสมท. ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ต่อมาในปี 2553 การร้องเพลงพระราชนิพนธ์ "เทวาพาคู่ฝัน" ร่วมกับนักร้องหมู่ 4 เหล่า บรรเลงเพลงโดยวงดุริยางค์ราชนาวี ในรายการวันสายใจไทย วารมหามงคล 60 ปี บรมราชาภิเษกและราชาภิเษกสมรส ออกอากาศทาง ททบ. 5 ในวันที่ 1 เมษายน 2553 และใน DVD บันทึกการแสดงสด "ชรินทร์อินคอนเสิร์ตครั้งที่ 11" ในช่วง "สงครามชีวิต The Musical" ผลิตโดย GMM Grammy ต่อมาในปี 2555 ได้บันทึกเสียงเพลง ดวงแก้วจากฟ้า ซึ่งเป็นเพลงประกอบสารคดีเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ต่างๆในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ระหว่างวันที่ 8-12 เมษายน พ.ศ. 2555 ใน DVD บันทึกการแสดงสดคอนเสิร์ต "บ้านเมืองสวยด้วยเสียงเพลง" ผลิตโดย Ocean Media เพลง "ลมหวน" "เพลินภูพิงค์" "จำเลยรัก" และ "เดือนดารา" และใน DVD บันทึกการแสดงสดคอนเสิร์ต ASEAN Music for the Queen เพลง "แสงเดือน" และ "คนดีไม่มีวันตาย" ล่าสุดในปี 2556 ใน DVD บันทึกการแสดงสดคอนเสิร์ตผลงานเพลงคุณสุรพล โทณะวณิก "บอกดินฟ้าว่า...รักไม่รู้ดับ" ผลิตโดย Ocean Media เพลง "ฟ้ามิอาจกั้น" และ "ใครหนอ" ในบันทึกภาพการร้องเพลง "แสงส่องไทย" และ "Les Miserables Medley" ในรายการวันสายใจไทย ออกอากาศทาง ททบ. 5 ในวันที่ 1 เมษายน 2556 และบันทึกการแสดงสดคอนเสิร์ต The Twogether, Pod & the Orchestra เพลง "แค่คืบ" และ "เพราะเธอสำคัญ" ออกอากาศทาง Majung TV ในวันที่ 29 มิถุนายน 2556

รางวัล[แก้]

  • ชนะเลิศการแข่งขันเปียโนทั่วประเทศของโรงเรียนดนตรีสยามกลการ (Yamaha Piano Festival 1991) รุ่นกลาง (2534)
  • ชนะเลิศการประกวดขับร้องเพลงภาษาอังกฤษของโรงเรียนชลกันยานุกูล เพลง “Wind Beneath My Wings” (2536)[12]
  • ชนะเลิศการประกวดขับร้องเพลงสากลของวง TU Band เพลง “Saving All My Love for You” (2538)[1]
  • ตำแหน่งนางงามบุคลิกภาพ จากการประกวดนางสาวไทย (2545)[1]
  • รางวัลศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม " คมชัดลึกอวอร์ด 2554 "

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ปฐมวัย[แก้]

ธีรนัยน์ ณ หนองคาย เกิดในปี พ.ศ. 2519 ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นบุตรีคนเดียวของนายธีระ ณ หนองคาย และนางนัยนา ปุงคานนท์ (เสียชีวิตแล้วในปี 2546) ต่อมาครอบครัวย้ายมาตั้งหลักแหล่งถาวรอยู่ที่จังหวัดชลบุรีและทำกิจการโรงเรียนดนตรีสยามกลการ ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนดนตรียามาฮ่า ชลบุรี

การศึกษา[แก้]

ธีรนัยน์ได้รับการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนชลกันยานุกูล จังหวัดชลบุรี เธอผ่านการคัดเลือกตามโครงการช้างเผือก ให้เข้ารับการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างปี 2537- 2540 และศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาภาษาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหิดล จบการศึกษา เมื่อปีการศึกษา 2543[1]

ครอบครัว[แก้]

ธีรนัยน์ สมรสกับ นายธีรนันท์ ศรีหงส์ นักธุรกิจชาวไทยด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ มีบุตรธิดา 2 คน ชื่อ ด.ญ.สลิล ศรีหงส์และ ด.ญ. อริยา ศรีหงส์ [12]

ผลงาน[แก้]

ละครเวที[แก้]

  • บทบาทของ “อังศุมาลิน” ในละครเพลงเรื่อง "คู่กรรม เดอะมิวสิคัล" (2546, 2547, 2550)
  • เป็นนักแสดงรับเชิญ ในบทบาทของ “Maria” ในการแสดงบางส่วนจากละครเพลงเรื่อง “The Sound of Music” งานฉลองครบรอบ 130 ปีของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (21-24 กรกฎาคม 2547)[31]
  • บทบาทของ “Ms. Eliza Doolittle” ในการแสดงบางส่วนจากละครเพลงเรื่อง “My Fair Lady” งาน “Royal Ascot[32] (2549)
  • บทบาทของ “แม่นาค” ในละครเพลงเรื่อง “แม่นาค เดอะมิวสิคัล[33](2552) และ (2562)
  • บทบาทของ Ms. Greta Belle ในละครเพลงเรื่อง “Fame The Musical” ภาคภาษาไทย (2554)
  • บทบาทของ "ซูจิน" (งูขาว) ในละครเพลงเรื่อง "นางพญางูขาว เดอะมิวสิคัล" (2556)
  • บทบาทของ "นายผู้หญิง" ในละครเพลงเรื่อง "มอม เดอะมิวสิคัล" (2559)
  • บทบาทของ "ชมนาด" ใน "ซ้อน A New Musical" (2561)
  • บทบาทของ "หญิงวิกลจริต" ใน "พินิยกรรมของของหญิงวิกลจริต A One-Woman Musical" (2565)

ละครโทรทัศน์[แก้]

ปี เรื่อง บทบาท ออกอากาศ
2557 หัวใจใกล้รุ่ง ดารกา ตังอัครวงศ์ ช่อง 3 เอชดี
2562 คืนฝันลวง ฟารีดา ช่องวัน 31

อัลบั้มเพลง[แก้]

  • อัลบั้ม “ปีเตอร์แพน & เดอะแก๊ง”
  • อัลบั้มเดี่ยว “รักเธอที่ใจ”(2542)

เพลง[แก้]

เพลงประกอบภาพยนตร์ / ภาพยนตร์การ์ตูน (ภาคภาษาไทย)[แก้]

เพลงประกอบละคร[แก้]

พิธีกรและกรรมการ[แก้]

โฆษณา[แก้]

  • บรีส (2543)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 "นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2591 ปีที่ 50 ประจำวัน อังคาร ที่ 15 มิถุนายน 2547". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-07. สืบค้นเมื่อ 2009-09-21.
  2. "โรงเรียนดนตรีสยามเพชรเก้า หัวข้อ ขับร้อง Vocal Course". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-22. สืบค้นเมื่อ 2009-09-21.
  3. 3.0 3.1 "Review Dreambox's 'Khu Kham: The Musical', Bangkok Post, Outlook Section, August 30, 2007". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2009-09-21.
  4. 4.0 4.1 การสอนวิชาขับร้องสากล : กรณีศึกษาโรงเรียนดนตรีมีฟ้า ภาคผนวก หน้าที่ 122-123[ลิงก์เสีย]
  5. 5.0 5.1 “จากเวทีนางงาม ถึงเวทีละครเพลง” นิตยสาร Image "STAR EXCLUSIVE" Vol 22 No. 6 June 2009, pp 74-79[ลิงก์เสีย]
  6. สูจิบัตรงานกาชาดคอนเสิร์ตครั้งที่ 31
  7. พิธีเปิด 15th ASEAN Summit
  8. เพลงดวงแก้วจากฟ้า
  9. ผลรางวัลคมชัดลึกอวอร์ด 2554
  10. อัลบั้มบีเอสโอบรรเลงสุนทราภรณ์
  11. "Siam Petch 9 Music School - Instructor". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-05. สืบค้นเมื่อ 2009-08-13.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 นิตยสารแม่และเด็ก ฉบับที่ 446 ปีที่ 32 เมษายน 2552[ลิงก์เสีย]
  13. บันทึกสำนักราชเลขาธิการ วันอังคารที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๓๘[ลิงก์เสีย]
  14. ข้อมูลจากสื่อวิดีโอบันทึกการแสดง
  15. สูจิบัตรงาน The Golden Memory of Christmas, Hearts Full of Love, Journey Through Musical และกาชาดคอนเสิร์ตครั้งที่ 32
  16. สูจิบัตรละครเวที “คู่กรรม เดอะมิวสิกัล” สิงหาคม -กันยายน 2550
  17. จากบทวิจารณ์ในนิตยสารทีวีพูล ฉบับวันที่ 29 ตุลาคม 2546
  18. "Surviorx's Blog: It's my world คู่กรรม เดอะ มิวสิกคัล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2009-09-21.
  19. แม่นาค เดอะมิวสิกัล 6 ปีหลังจากคู่กรรม
  20. "The Nation, Entertainment & Leisure, November 9, 2003 : Love story set to music". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2009-09-21.
  21. หนังสือพิมพ์ Bangkok Post, Outlook Section, 24 March 2004
  22. "The Nation, Entertainment & Leisure, September 1, 2007 : Love without borders". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2009-09-21.
  23. ตำนานแม่นาคพระโขนง
  24. แม่นาค เดอะมิวสิคัล ธีรนัยน์ ณ หนองคาย
  25. แม่นาค เดอะมิวสิกัล (Dreambox) - นักแสดง จาก pantip.com
  26. "MAE NAK war has been won by SCRIPT and ACTING". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-19. สืบค้นเมื่อ 2009-09-14.
  27. คม ชัด ลึก เวทีสาระบันเทิง วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2552 “แม่นาคเดอะมิวสิกัล ตำนานไม่มีวันตายความรักไม่มีวันสลาย”
  28. "แม่นาค เดอะมิวสิกคัล นี่สิของดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-01. สืบค้นเมื่อ 2010-03-27.
  29. FAME the musical สรุปเรื่องย่อพอกรุบกริบ ไปดู Fame กันนะคะ กันยายนนี้ [ลิงก์เสีย]
  30. "ภาพจากละครเพลง เงิน เงิน เงิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2009-09-21.
  31. 130 ปี วัฒนา สู่วิทยาลัย
  32. "งานกาล่าดินเนอร์การกุศล "Royal Ascot"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-31. สืบค้นเมื่อ 2009-08-04.
  33. ดรีมบอกซ์ เปิดตัวละครเวทีวัยรุ่น FAME the Musical[ลิงก์เสีย]
  34. "ข้อมูลอัลบั้มบีเอสโอบรรเลงสุนทราภรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-12. สืบค้นเมื่อ 2013-06-25.
  35. ประวัตินักแสดง กาชาดคอนเสิร์ตครั้งที่ ๓๔
  36. จากปกแผ่นเพลงภาคภาษาไทยของภาพยนตร์
  37. นักร้องรับเชิญ กาชาดคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติ ปี 2550
  38. "เนื้อเพลงจากการตูนฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-03-28. สืบค้นเมื่อ 2009-09-23.
  39. เพลงความเศร้าแห่งสงคราม