ตำรวจแห่งชาติอาเซียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำรวจแห่งชาติอาเซียน
Asean National Police
ชื่อทางการอาเซียนาโพล
อักษรย่อAseanapol
คำขวัญTogether We Keep This Region Safe
เราร่วมกันรักษาภูมิภาคนี้ให้ปลอดภัย
ข้อมูลองค์กร
ก่อตั้งตุลาคม พ.ศ. 2524; 42 ปีที่แล้ว (2524-10)
โครงสร้างเขตอำนาจ
หน่วยงานระหว่างประเทศ
ประเทศ10 รัฐสมาชิก
แผนที่สีน้ำเงินแสดงรัฐสมาชิกของตำรวจอาเซียน
ส่วนปกครองสำนักเลขาธิการตำรวจอาเซียน
บัญญัติตราสาร
  • กฎบัตรอาเซียน
  • ข้อกำหนดการดำเนินงานการจัดตั้งสำนักเลขาธิการตำรวจอาเซียน
สำนักงานใหญ่กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย

ผู้บริหารหน่วยงาน
  • ฟิลิปปินส์ พันตำรวจเอก เดวิด มาร์ติเนซ วินลวน[1], ผู้อำนวยการบริหาร
  • มาเลเซีย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจ ดร. บาครี ไซนัล อาบีดิน, ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการตำรวจ
  • เวียดนาม พันตำรวจโทอาวุโส เหงียน หู ง็อก, ผู้อำนวยการฝ่ายแผนและโครงการ
เว็บไซต์
aseanapol.org แก้ไขสิ่งนี้ที่วิกิสนเทศ

ตำรวจแห่งชาติอาเซียน (อังกฤษ: ASEAN National Police: Aseanapol[2]) หรือ ตำรวจอาเซียน[3] เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2524[4] ในรูปแบบการประชุม ปัจจุบันมีสำนักงานเลขาธิการตำรวจอาเซียนอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ตำรวจอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเป็นมืออาชีพของตำรวจ เสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในด้านของตำรวจ ส่งเสริมมิตรภาพที่ยั่งยืนระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจของประเทศสมาชิก[5]

ประวัติ[แก้]

การก่อตั้งตำรวจอาเซียน[แก้]

ตำรวจอาเซียนมีจุดเริ่มต้นมาจากการประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียนครั้งแรกระหว่างวันที่ 21-24 ตุลาคม พ.ศ. 2524[6] ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีประเทศร่วมประชุมและก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย[4] ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 ได้มีการรับรองแบบตราของตำรวจอาเซียนในการประชุมที่เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย[7]

กองกำลังตำรวจบรูไนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกับตำรวจอาเซียนพร้อมทั้งเข้าร่วมการประชุมที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียในปี พ.ศ. 2527 ตำรวจเวียดนามเข้าร่วมตำรวจอาเซียนในปี พ.ศ. 2539 ในการประชุมที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ตำรวจลาวและพม่าเข้าร่วมตำรวจอาเซียนในปี พ.ศ. 2541 ณ การประชุมที่ประเทศบรูไน และตำรวจกัมพูชาเข้าร่วมเป็นชาติสุดท้ายในการประชุม ณ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่าในปี พ.ศ. 2543[7]

ก่อตั้งสำนักเลขาธิการ[แก้]

ระหว่างการประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียน ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซียในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสำนักเลขาธิการถาวรของตำรวจอาเซียน และมีมติของสำนักเลขาธิการอาเซียนเป็นเอกฉันท์ในปี พ.ศ. 2551 ในสมัยประชุมที่ประเทศบรูไน เลือกกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการถาวรของตำรวจอาเซียน และมีการรับรองข้อกำหนดการดำเนินงาน (Terms of Reference: TOR) การจัดตั้งสำนักเลขาธิการตำรวจอาเซียนในการประชุมเมื่อปี พ.ศ. 2552 ณ เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม

สำนักเลขาธิการตำรวจอาเซียน เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553[8]

สมาชิกและผู้สังเกตการณ์[แก้]

รัฐสมาชิก[แก้]

หน่วยงานสมาชิกของตำรวจอาเซียน คือหน่วยงานตำรวจของชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศ[7][3] ประกอบไปด้วย

ผู้สังเกตการณ์[แก้]

รัฐและองค์การผู้สังเกตการณ์ของตำรวจอาเซียน[9] ประกอบไปด้วย

กิจกรรมและปฏิบัติการร่วม[แก้]

การประชุม[แก้]

การประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียนจะจัดขึ้นหมุนเวียนเป็นประจำทุกปีระหว่างประเทศสมาชิก โดยแต่ละประเทศสมาชิกจะส่งหัวหน้าตำรวจระดับสูงของชาติตนเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือกันในประเด็นความมั่นคงและอาชญากรรมข้ามชาติร่วมกัน [10]

คณะกรรมการบริหารตำรวจอาเซียน[แก้]

คณะกรรมการบริหารจะประกอบด้วยรองหัวหน้าคณะผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมใหญ่ประจำปี คณะกรรมการบริหารจะประชุมกันเป็นประจำทุกปีก่อนการประชุมใหญ่ ผู้อำนวยการบริหารของสำนักเลขาธิการตำรวจอาเซียนจะนำเสนอรายงานกิจกรรมต่าง ๆ ของตน รวมถึงประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับผลการดำเนินงานทางการเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง การบริการ และการควบคุมและการจัดการสัญญา ต่อคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการบริหารจะจัดทำรายงานสรุปกิจกรรมของสำนักเลขาธิการต่อหัวหน้าคณะผู้แทนในการประชุมและในการประชุมใหญ่[10]

เอกสารเผยแพร่[แก้]

ตำรวจอาเซียนได้เผยแพร่เอกสารเผยแพร่ชื่อว่า ASEANAPOL Bulletin ซึ่งจัดทำและเผยแพร่โดยสำนักเลขาธิการตำรวจอาเซียนซึ่งตั้งอยู่ในมาเลเซีย[11]

เครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจอาเซียน[แก้]

เครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจอาเซียนได้รับการเสนอให้จัดตั้งในการประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียนครั้งที่ 33 ณ เมืองพัทยา ประเทศไทย โดยที่ประชุมได้มีมติให้ประเทศไทยโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเจ้าภาพในการประชุมคณะทำงาน และประชุม "คณะทำงานนิติวิทยาศาสตร์อาเซียน ครั้งที่ 1” (1st ASEANAPOL Working Group meeting on the Need) ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 26-27 มีนาคม พ.ศ. 2557 และมีการสร้าง “เครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจอาเซียน” (ASEAN Police Forensic Science Network: APFSN) และมีมติรับรองในการประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียนครั้งที่ 34 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์[12]

ระบบศูนย์ข้อมูลตำรวจอาเซียน[แก้]

ระบบศูนย์ข้อมูลตำรวจอาเซียน (Electronic-ASEANAPOL Database System (e-ADS)[13] เป็นระบบสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างหน่วยงานตำรวจที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งรุ่นแรกเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 และได้พัฒนาเพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพและใช้ชื่อว่า e-ADS 2.0 ในรุ่นต่อมา พัฒนาโดยบริษัท ST Electronics ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่ารุ่นแรก และมีเมนูใช้งานที่เพิ่มขึ้นสำหรับการสืบค้นและประสานงานระหว่างกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด การก่อการร้าย และอาชญากรรมไซเบอร์[2]

สำนักเลขาธิการตำรวจอาเซียน[แก้]

สำนักเลขาธิการตำรวจอาเซียน (ASEANAPOL Secretariat) มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย บริหารงานโดยผู้แทนจากประเทศสมาชิกหมุนเวียนกันมาปฏิบัติหน้าที่ ประกอบไปด้วย ผู้อำนวยการบริหาร 1 ตำแหน่ง มีวาระคราวละ 2 ปี และผู้อำนวยการ 2 ตำแหน่ง มีวาระคราวละ 3 ปี โดยสำนักเลขาธิการตำรวจอาเซียนเริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553[8]

กรรมการสำนักเลขาธิการตำรวจอาเซียน[แก้]

กรรมการสำนักเลขาธิการตำรวจอาเซียนจะได้รับการแต่งตั้งในการประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียน โดยไการเสนอชื่อแบบหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษร มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ผู้อำนวยการบริหารสำนักเลขาธิการจะต้องเป็นข้าราชการตำรวจอาวุโสตั้งแต่ระดับพลตำรวจจัตวาขึ้นไปหรือเทียบเท่า ผู้อำนวยการบริหารจะได้รับความช่วยเหลือจากผู้อำนวยการฝ่ายกิจการตำรวจ และผู้อำนวยการฝ่ายแผนและโครงการ ซึ่งจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโสที่มียศพันตำรวจเอกขึ้นไปหรือเทียบเท่า[10]

การประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียน[แก้]

การประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียน
ASEANAPOL Conference
สถานะดำเนินการ
ประเภทการประชุมทางกิจการตำรวจ
ความถี่ประจำปี
ที่ตั้งหมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพในประเทศสมาชิกอาเซียน
ประเดิมพ.ศ. 2524 (อายุ 43 ปี)
เจ้าภาพครั้งแรก ตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์
ล่าสุด41st ASEANAPOL Conference (ลาว)
16–20 ตุลาคม 2566
เหตุการณ์ก่อนหน้า40th ASEANAPOL Conference (กัมพูชา)
1–5 มีนาคม 2565
เหตุการณ์ถัดไป42nd ASEANAPOL Conference (พม่า)
ผู้เข้าร่วม
จัดโดย

การประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียน (ASEANAPOL Conference) เป็นกิจกรรมการประชุมในกิจการตำรวจของประเทศสมาชิกอาเซียน เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นในระดับพหุภาคี และประเทศซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์ของตำรวจอาเซียน และประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้หารือเกี่ยวกับการร่วมมือป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติต่าง ๆ ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูล วิธีการ และขั้นตอนปฏิบัติ[14]

โครงสร้างการประชุม[แก้]

การประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียน แบ่งออกเป็นหลายส่วน[13] ได้แก่

  • การประชุมระดับระหว่างหัวหน้าคณะหัวหน้าตำรวจอาเซียน
  • การประชุมระดับระหว่างหัวหน้าคณะหัวหน้าตำรวจอาเซียน และหัวหน้าตำรวจประเทศคู่เจรจากับอาเซียน (จีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์)
  • การประชุมกลุ่มย่อย เอ - ซี (Commission A - C) ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
    • กลุ่มย่อยเอ ในประเด็นปัญหาอาชญากรรมหลักส่วนของยาเสพติด การก่อการร้าย การค้าอาวุธผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมทางทะเล
    • กล่มย่อยบี ในประเด็นปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เกี่ยวกับธนาคาร อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ การปลอมแปลงบัตรเครดิต หนังสือเดินทาง และการฉ้อโกงระหว่างประเทศ
    • กลุ่มย่อยซี ในประเด็นการดำเนินงานด้านเครือข่ายอื่น ๆ เช่น ระบบศูนย์ข้อมูลตำรวจอาเซียน ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญา การแลกเปลี่ยนบุคลากรตำรวจ และการออกแถลงการร่วม
  • การประชุมคณะทำงานต่าง ๆ[8]
  • กิจกรรมร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ เช่น การแข่งขันยิงปืน กีฬากอล์ฟ[8]

ประเทศเจ้าภาพ[แก้]

การประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียน ประกอบไปด้วยประเทศเจ้าภาพ[10] ดังนี้

ระหว่างวันที่ ค.ศ. (พ.ศ.) เมือง ประเทศ หมายเหตุ
1 21 - 23 ตุลาคม 1981 (2524) มะนิลา ฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์
2 18 - 20 มิถุนายน 1982 (2525) พัทยา ไทย ไทย
3 16 - 19 พฤศจิกายน 1983 (2526) จาการ์ตา อินโดนีเซีย อินโดนีเซีย
4 21 - 24 พฤศจิกายน 1984 (2527) กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย มาเลเซีย
5 7 - 9 พฤศจิกายน 1985 (2528) สิงคโปร์ สิงคโปร์ สิงคโปร์
6 11 - 13 พฤศจิกายน 1986 (2529) บันดาร์เซอรีเบอกาวัน บรูไน บรูไน
7 11 - 18 กันยายน 1987 (2530) มะนิลา ฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์
8 14 - 16 พฤศจิกายน 1988 (2531) เชียงใหม่ ไทย ไทย
9 1 - 6 พฤศจิกายน 1989 (2532) บาหลี อินโดนีเซีย อินโดนีเซีย
10 25 - 28 กรกฎาคม 1990 (2533) กัวลาลัมเปอร์ กัมพูชา กัมพูชา
11 5 - 9 พฤษภาคม 1991 (2534) สิงคโปร์ สิงคโปร์ สิงคโปร์
12 3 - 5 สิงหาคม 1992 (2535) บรูไน บรูไน บรูไน
13 19 - 21 เมษายน 1993 (2536) มะนิลา ฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์
14 1 - 5 พฤษภาคม 1994 (2537) ภูเก็ต ไทย ไทย
15 21 - 25 พฤษภาคม 1995 (2538) จาการ์ตา อินโดนีเซีย อินโดนีเซีย
16 26 - 30 พฤษภาคม 1996 (2539) กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย มาเลเซีย
17 1 - 5 มิถุนายน 1997 (2540) สิงคโปร์ สิงคโปร์ สิงคโปร์
18 24 - 27 พฤษภาคม 1998 (2541) บรูไน บรูไน บรูไน
19 26 - 28 เมษายน 1999 (2542) ฮานอย เวียดนาม เวียดนาม
20 8 - 10 พฤษภาคม 2000 (2543) ย่างกุ้ง ประเทศพม่า พม่า
21 23 - 25 พฤษภาคม 2001 (2544) เวียงจันทน์ ลาว ลาว
22 28 - 30 พฤษภาคม 2002 (2545) พนมเปญ กัมพูชา กัมพูชา
23 8 - 12 กันยายน 2003 (2546) มะนิลา ฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์
24 7 - 11 มิถุนายน 2004 (2547) เชียงใหม่ ไทย ไทย
25 16 - 20 พฤษภาคม 2005 (2548) บาหลี อินโดนีเซีย อินโดนีเซีย
26 22 - 26 พฤษภาคม 2006 (2549) กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย มาเลเซีย
27 2 - 7 มิถุนายน 2007 (2550) สิงคโปร์ สิงคโปร์ สิงคโปร์
28 25 - 29 พฤษภาคม 2008 (2551) บันดาร์เซอรีเบอกาวัน บรูไน บรูไน
29 12 - 16 พฤษภาคม 2009 (2552) ฮานอย เวียดนาม เวียดนาม
30 24 - 28 พฤษภาคม 2010 (2553) พนมเปญ กัมพูชา กัมพูชา
31 31 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2011 (2554) เวียงจันทน์ ลาว ลาว
32 22 - 24 พฤษภาคม 2012 (2555) เนปยีดอ ประเทศพม่า พม่า
33 21 - 23 กุมภาพันธ์ 2013 (2556) พัทยา, ชลบุรี ไทย ไทย
34 12 - 16 พฤษภาคม 2014 (2557) มะนิลา ฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์
35 3 - 7 สิงหาคม 2015 (2558) จาการ์ตา อินโดนีเซีย อินโดนีเซีย
36 24 - 29 กรกฎาคม 2016 (2559) กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย มาเลเซีย
37 12 - 14 กันยายน 2017 (2560) สิงค์โปร์ สิงคโปร์ สิงคโปร์
38 3 - 5 กันยายน 2018 (2561) บรูไน บรูไน บรูไน
39 14 - 16 กันยายน 2019 (2562) ฮานอย เวียดนาม เวียดนาม
40 1 - 5 มีนาคม 2022 (2565) พนมเปญ กัมพูชา กัมพูชา [14]
41 16 - 20 ตุลาคม 2023 (2566) เวียงจันทน์ ลาว ลาว [15]
42 2024 (2567) ประเทศพม่า พม่า [15]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Filipino Police Officer is New ASEANAPOL Executive Director". dfa.gov.ph.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 "อาเซียนป้องภัยด้วยไฮเทค - ศูนย์การเรียนรู้อาเซียน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น". asean.dla.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. 3.0 3.1 Sukahnont, Jeerawat. ""จตช." นำทีมประชุม "ตร.อาเซียน" 10 ประเทศ แลกเปลี่ยนข้อมูลอาชญากรรมข้ามชาติ". เดลินิวส์.
  4. 4.0 4.1 "การประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียน". www.aseancommunity.police.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "Objectives and Functions". web.archive.org. 2023-12-03.
  6. "Permanent Secretariat". web.archive.org. 2023-09-22.
  7. 7.0 7.1 7.2 "Chronology". web.archive.org. 2023-12-06.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 "การประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียน หน้าที่ 3". www.aseancommunity.police.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "Observers". web.archive.org. 2023-12-06.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 "Governance". web.archive.org. 2023-12-06.
  11. "ISSN 2289-4993 (Print) | ASEANAPOL Bulletin | The ISSN Portal". portal.issn.org.
  12. "'นิติวิทยาศาสตร์อาเซียน' เครือข่ายเออีซีไขคดีอาชญากรรม". komchadluek. 2014-12-14.
  13. 13.0 13.1 "การประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียน หน้าที่ 2". www.aseancommunity.police.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. 14.0 14.1 "จตร. นำผู้แทนตร.ไทย ร่วม ประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียน ครั้งที่ 40 ที่กัมพูชา". ข่าวสด.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  15. 15.0 15.1 "Myanmar attends 41th ASEANAPOL Conference held in Vientiane, Laos | Ministry Of Information". www.moi.gov.mm (ภาษาอังกฤษ).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]