จ้วง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ชาวจ้วง)
จ้วง
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
จีนประเทศจีนประมาณ 18 ล้านคน[1]
ภาษา
ภาษาจ้วง และภาษาจีน
ศาสนา
การบูชาบรรพบุรุษ, ลัทธิซือกง, ลัทธิเต๋า และศาสนาคริสต์
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ปู้อี, นุง, ไทดำ

จ้วง หรือ ปู้จ้วง (จ้วง: Bouчcueŋь/Bouxcuengh ผู่ชูง; จีนตัวย่อ: 壮族; จีนตัวเต็ม: 壯族; พินอิน: Zhuàngzú; เวด-ไจลส์: Chuang4-tsu2) เป็นกลุ่มชนในกลุ่มชาติพันธุ์ขร้า-ไท มีประชากรมากที่สุด ราว 18 ล้านคน แต่พวกเขาเพิ่งยอมรับคำว่า จ้วง เป็นชื่อชนชาติ เมื่อทางการจีนใช้คำเขียนใหม่ที่มีความหมายในทางที่ดีขึ้น เพราะในสมัยราชวงศ์ซ้อง คำว่า จ้วง (僮) ใช้เรียกทหารที่เป็นจ้วง สมัยราชวงศ์หยวน ใช้ตัวอักษรจีน ที่แปลว่า ปะทะ สมัยราชวงศ์หมิง ราชวงศ์ชิง จนถึงสมัยก๊กมินตั๋ง เปลี่ยนอักษรตัวแรกเป็นความหมายว่า "สัตว์" (獞) จนถึง พ.ศ. 2508 จึงเปลี่ยนเป็นตัวที่มีความหมายว่า เติบโต และแข็งแรง (壯/壮) [2]

ประวัติ[แก้]

ชาวจ้วงมีความเป็นมาค่อนข้างชัดเจน นับย้อนไปได้ไม่ต่ำ 5,000 ปี นอกจากในถิ่นที่อยู่จะพบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย เช่น ภาพเขียนโบราณที่ผาลาย กลองสัมฤทธิ์ที่เรียกว่า กลองมโหระทึก ในปี พ.ศ. 2536 ยังขุดพบซากมนุษย์ยุคหินเก่าด้วยที่มีอายุประมาณ 50,000 ปี มีโครงกระดูกคล้ายกับชาวจ้วงในปัจจุบันด้วย ทั้งในบันทึกประวัติศาสตร์จีน ก็มีคนชื่อ ซีโอว และหลั้วเยว่ ถวายเครื่องบรรณาการให้ราชวงศ์โจว (เจา) ตั้งแต่ราว 3,000 ปีก่อน แสดงว่า จ้วงเป็นกลุ่มชนที่มีรัฐ และกษัตริย์แล้ว ก่อนยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ ชื่อคนซีโอว และหลั้วเยว่ ค่อย ๆ หายไปจากประวัติศาสตร์จีน เพราะจีนเปลี่ยนชื่อเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงสมัยอู่หู บรรพบุรุษของชาวจ้วงถูกเรียกว่า "หลี่" สมัยสามก๊กก็ถูกเรียกว่า "เหลียว" สมัยราชวงศ์จิ้น ก็เรียกทั้งหลี่ และเหลียว

การแบ่งกลุ่มชาวจ้วง[แก้]

ปัจจุบันชาวจ้วงจะแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้สองกลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มจ้วงเหนือ และจ้วงใต้ จ้วงเหนืออยู่ที่เหนือของเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง เป็นกลุ่มที่ใหญ่ ส่วนจ้วงใต้อยู่ทางใต้เป็นกลุ่มเล็กกว่า

ชาวจ้วงที่อยู่บนเขาเรียกว่า ชาวจ้วงเสื้อดำ ซึ่งกระจายอยู่ในอำเภอน่าโพ มีประมาณ 6 หมื่นคน ชาวจ้วงเสื้อดำเห็นว่าสีดำเป็นสีที่สวยงาม สีดำจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของชนชาติ [3]

ภาษา[แก้]

สืบดิบผู้จ่อง
อักษรที่ดัดแปลงจากละติน

ภาษาจ้วงแบ่งเป็นกลุ่มหลักได้สองสำเนียงคือ ภาษาจ้วงเหนือ และจ้วงใต้[4] ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ทำให้เสียงและคำศัพท์ของภาษาจ้วงในแต่ละท้องที่ มีความแตกต่างกัน นอกจากสำเนียงหลักสองสำเนียงแล้ว ยังมีสำเนียงท้องถิ่นอีก 13 สำเนียง[4] แต่ด้านไวยากรณ์แทบไม่มีความแตกต่างกัน สำเนียงจ้วงเหนือมีผู้ใช้จำนวนร้อยละ 80 ของประชากร และหากเปรียบเทียบคำศัพท์ระหว่างจ้วงเหนือและจ้วงใต้ก็จะพบคำศัพท์ที่ใช้เหมือนกันถึงร้อยละ 60[4]

เดิมภาษาจ้วงมีอักษรของตนเองที่สร้างตามแบบอักษรฮั่นที่เริ่มตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1[4] เรียกว่า สือดิบผู้จ่อง () แต่ได้มีการประดิษฐ์อักษรจ้วงขึ้นใหม่ที่พื้นฐานมาจากอักษรละตินในช่วงตอนกลางทศวรรษที่ 1950 และต่อมาได้กำหนดให้อักษรดังกล่าวเป็นอักษรของชนชาติจ้วงตามกฎหมาย[4] ด้วยเหตุที่มีผู้ใช้ภาษาจ้วงเหนือมากกว่าจ้วงใต้ จึงใช้ภาษาจ้วงเหนือเป็นภาษาพื้นฐาน และถือสำเนียงจ้วงเหนือที่อำเภออู่หมิงเป็นสำเนียงมาตรฐานมาใช้สร้างตัวหนังสือจ้วง[5]

จ้วงเหนือ (อู่หมิง) จ้วงใต้ (เต๋อป่าว-จิ้งซี) จ้วงใต้ (ต้าซิน) ภาษาไทย (กรุงเทพฯ)
1 ปอ ปอ โพ พ่อ
2 แม่ แม่ เม่ (หรือ เม) แม่
3 หร่าน หรู่ง เหรื่อน บ้านเรือน
4 หว่าย หว่าย หว่าย ควาย
5 ด๊าด ดู๊ด เดือด (หรือ ลอน) ร้อน
6 ตั๋งหง่อน ทาหวัน หาหวั่น ตะวัน
7 ล่อง, เดื๋อน ห้าย (เบื้อน/เดื้อน) หาย (เบือน) เดือน
8 ฟ้า บ๋นฟ้า ฟ้า (หน้าฟ้า) ฟ้า
9 ตา ตา ท่า (เหมือง) แม่น้ำ
10 ไจ๋หน่า ไถหน่า ไถหน่า ไถนา

แม้ว่าภาษาจ้วงจะจัดอยู่ในตระกูลภาษาขร้า-ไท แต่ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากภาษาจีนถิ่นตะวันตกเฉียงใต้[6] ชาวจ้วงเองซึ่งอยู่ต่างพื้นที่กัน มักใช้ภาษาจีนกลาง หรือจีนกวางตุ้งเป็นภาษากลางเพื่อสื่อสารกันระหว่างกลุ่ม[7] จากการสำรวจในปี ค.ศ. 1980 พบว่าชาวจ้วงร้อยละ 42 ยังคงใช้ภาษาจ้วงเป็นภาษาแม่ ขณะเดียวกันก็มีชาวจ้วงที่ใช้สองภาษา คือ จีนและจ้วง มีถึงร้อยละ 55 ขณะที่การศึกษาภาคบังคับของชาวจ้วงในเขตปกครองตนเองกว่างซี เป็นแบบสองภาษา คือ จีนกลาง และจ้วง โดยมุ่งเน้นการอ่านออกเขียนได้ในภาษาจ้วงขั้นต้นเท่านั้น[6]

วัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา[แก้]

ชาวจ้วงไม่มีศาสนาหรือองค์กรทางศาสนาที่จัดตั้งเป็นเอกภาพ สิ่งที่ชาวจ้วงนับถือจึงเป็นสภาวะ "กึ่งบุพกาล" ที่สำคัญคือ ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าจำนวนหลายองค์, ลัทธิเต๋า, ไสยศาสตร์ และลัทธิซือกง (ลัทธิที่ดัดแปลงโดยชาวจ้วง)[8]

ชาวจ้วงนับถือเทพหลายองค์ และไม่ได้นับถือศาสนาหรือเทพเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ ชาวจ้วงถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างมี "วิญญาณ"[8] ชาวจ้วงนับถือธรรมชาติ บรรพบุรุษ และภาพสัญลักษณ์[8] เช่น หากจะจับปลาจับกุ้งก็จะต้องไหว้เทพเจ้าแม่น้ำก่อนทอดแห หรือหากจะตัดต้นไม้ต้องไหว้เทพเจ้าภูเขาหรือต้นไม้เสียก่อน เป็นต้น หากมนุษย์ทำการล่วงละเมิด เทพเจ้าก็จะแสดงอิทธิฤทธิ์ทันที[9] ทำให้มนุษย์เกรงกลัวเทพเจ้า หากไปล่วงละเมิดต่อเทพเจ้าองค์ใดมา ก็ต้องรีบยกข้าวปลาอาหารและเหล้า เงินกระดาษและธูปไปไหว้ทันที เพื่ออ้อนวอนให้ยกโทษและคุ้มครองตน[9]

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือการนับถือบรรพบุรุษ ชาวจ้วงเชื่อว่าคนมีวิญญาณ คนตายไปแล้วแต่วิญญาณยังไม่ตาย[10] เมื่อมีคนตายแล้วถ้ามีพ่อหมอมาสวดให้วิญญาณพ้นทุกข์ วิญญาณก็จะผ่านสะพานไน่ฮ้อไปยังเมืองผีที่อยู่ดีกินดีและเป็นผีบรรพบุรุษที่คุ้มครองลูกหลาน ตรงกันข้ามถ้าหากไม่มีพ่อหมอมาสวดหรือตายนอกบ้าน วิญญาณจะผ่านสะพานไน่ฮ้อหรือไปปรโลกไม่ได้ ก็จะกลายเป็นผีเร่ร่อนทำร้ายลูกหลานของตนแทน[10] ดังนั้นบ้านของชาวจ้วงทุกครอบครัวจึงมีแท่นบูชาบรรพบุรุษในห้องโถง กลางแท่นจะมีกระดาษสีแดงเขียนชื่อบรรพบุรุษทุกยุคทุกสมัยและตั้งป้ายเอาไว้ ข้างล่างวางกระถางธูปคอยเซ่นไหว้เสมอ ยามซื้อของดี ๆ, ฆ่าสัตว์, กลั่นเหล้าหรือทำข้าวต้มมัด ก็จะต้องจุดธูปบูชาเสียก่อนจึงจะกินได้[10]

ส่วนลัทธิซือกง เป็นลัทธิที่เกิดขึ้นจากจารีตของชาวจ้วงเอง และมีระเบียบของบังคับที่ค่อนข้างมั่นคง แต่ไม่มีองค์กรหรือศาลเจ้าที่เป็นเอกภาพ[11] หน่วยจัดตั้งของลัทธิดังกล่าวเป็นกลุ่มกระจายเป็นหน่วยย่อย ๆ เรียกว่า ซือถาน แต่ละถานจะมีอาจารย์ผู้ปกครองถานเป็นผู้ควบคุมการไหว้ และการประกอบพิธีต่าง ๆ[11] ผู้ที่เข้ารับนับถือซือกงต้องผ่านการไหว้ครูและรับศีล ท่องคัมภีร์ซือกง หัดรำและศิลปะกายกรรมครึ่งปีขึ้นไป เมื่อสำเร็จก็จะเป็นซือกงอย่างเป็นทางการ[12] มีสถานที่ชุมนุมเรียกว่า หอซือ มีบ้านเฉพาะและมีนาให้เช่า ซึ่งเงินค่าเช่านาที่ได้จะนำมาใช้จ่ายของหอซือ ในลัทธิจะมีเทพเจ้าใหญ่ ๆ 36 องค์ เทพเจ้าน้อย 72 องค์ แต่ทางปฏิบัติจะมีมากกว่า 200 องค์[12] เทพสำคัญคือ พระไตรสรณคมน์, พระตรีภพนาถ, พระภูมิเจ้าที่ นอกจากนี้ยังยืมเทพจากลัทธิเต๋าคือ เทพซานชิง และเล่าจื๊อ ส่วนศาสนาพุทธคือ พระศากยมุนี, พระโพธิสัตว์กวนอิม, พระอรหันต์ และเทพพื้นเมืองทั่วไป เป็นต้น คัมภีร์ทางลัทธิมีกว่า 120 เล่ม บ้างเป็นนิทานวีรบุรุษ บ้างเป็นกลอนธรรมจริยา บ้างเป็นเพลงรัก ส่วนมากเป็นเพลงพื้นเมืองที่เขียนด้วยอักษรจ้วงเก่า[12]

ปัจจุบันแม้ว่าจะมีศาสนาอื่นเผยแผ่เข้ามาในเขตชาวจ้วงบ้าง แต่ก็มิได้มีผลมากมายนัก ชาวจ้วงได้นำหลักการบางอย่างของทุกศาสนามาผสมผสานกับลัทธิเต๋า ไสยศาสตร์ และลัทธิซือกง ดังนั้นในเขตชาวจ้วงจึงไม่ค่อยปรากฏศาสนสถานเท่าใด[13]

อ้างอิง[แก้]

  1. Joshua Project
  2. รายการ World Beyond เดินทางสร้างชาติ โดย นิติภูมิ นวรัตน์ ทางช่อง 3 : วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553
  3. ชีวิตบนภูเขาของชาวจ้วงเสื้อดำและวัฒนธรรมเพลงชาวเขา
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 ชาวจ้วง. หน้า 103
  5. ชาวจ้วง. หน้า 104
  6. 6.0 6.1 Li, Xulian; Huang, Quanxi (2004). "The Introduction and Development of the Zhuang Writing System". ใน Zhou, Minglang; Sun, Hongkai (บ.ก.). Language Policy in the People's Republic of China: Theory and Practice Since 1949. Springer. p. 240.
  7. Muysken, Pieter (2008). From Linguistic Areas to Areal Linguistics. John Benjamins Publishing. pp. 226, 247.
  8. 8.0 8.1 8.2 ชาวจ้วง. หน้า 203
  9. 9.0 9.1 ชาวจ้วง. หน้า 204
  10. 10.0 10.1 10.2 ชาวจ้วง. หน้า 205
  11. 11.0 11.1 ชาวจ้วง. หน้า 209
  12. 12.0 12.1 12.2 ชาวจ้วง. หน้า 210
  13. ชาวจ้วง. หน้า 211

บรรณานุกรม[แก้]

  • หลี่ฟู่เชิน, ฉินเซียนอาน, พานชิชือ (เขียน). เหลียงหยวนหลิง (แปล). ชาวจ้วง. เชียงใหม่:ตรัสวิน, 2539 ISBN 974-7100-25-8

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]