ข้ามไปเนื้อหา

การพูดติดอ่าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การพูดติดอ่าง
Stuttering, Stammering
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10F98.5
ICD-9307.0
OMIM184450 609261
MedlinePlus001427
MeSHD013342

การพูดติดอ่าง (อังกฤษ: stuttering หรือ stammering) เป็นความผิดปกติของการพูดที่กระแสคำพูดสะดุดเพราะพูดซ้ำ (repetition) และลาก (prolongation) เสียง พยางค์ คำหรือวลีให้ยาวโดยมิได้ตั้งใจ เช่นเดียวกับการหยุดเงียบ (silent pause) หรือการติดขัด (block) ซึ่งบุคคลที่พูดติดอ่างไม่สามารถเปล่งเสียงออกมาได้ โดยมิได้ตั้งใจ[1] คำว่า "การพูดติดอ่าง" เกี่ยวข้องกับการพูดซ้ำโดยมิได้ตั้งใจมากที่สุด แต่ยังรวมถึงการลังเล (hesitation) ผิดปกติหรือหยุดก่อนพูด และการลากเสียงบางอย่าง ซึ่งปกติเป็นสระและกึ่งสระ ให้ยาวผิดปกติ สำหรับหลายคนที่พูดติดอ่าง การพูดซ้ำเป็นปัญหาหลัก การติดขัดและการลากเสียงยาวโดยมิได้ตั้งใจเป็นกลไกที่เกิดจากการเรียนรู้เพื่อซ่อนการพูดซ้ำ เพราะความกลัวการพูดซ้ำในที่สาธารณะมักเป็นสาเหตุหลักของความไม่สบายใจทางจิตวิทยา คำว่า "การพูดติดอ่าง" หมายความถึงความรุนแรงหลายระดับ มีตั้งแต่อุปสรรคที่สังเกตได้เพียงเล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรงจนไม่สามารถสื่อสารทางปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลกระทบของการพูดติดอ่างต่อการทำหน้าที่และสถานะอารมณ์ของบุคคลอาจรุนแรงได้ ซึ่งอาจรวมถึงความกลัวที่จะต้องออกเสียงสระหรือพยัญชนะบางตัว ความกลัวว่าจะถูกจับได้ว่าพูดติดอ่างในสถานการณ์ทางสังคม การแยกตัวด้วยตนเอง วิตกกังวล เครียด อับอายหรือรู้สึก "เสียการควบคุม" ระหว่างการพูด การพูดติดอ่างบางครั้งหลายคนเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล แต่แท้จริงแล้วหามีความสัมพันธ์กันไม่ การพูดติดอ่างมิได้สะท้อนสติปัญญาแต่อย่างใด[2]

การพูดติดอ่างโดยทั่วไปไม่เป็นปัญหากับการผลิตเสียงพูดทางกายภาพ หรือการเรียบเรียงความคิดเป็นคำพูด ความประหม่าและความเครียดเรื้อรังอาจกระตุ้นให้เกิดการพูดติดอ่างในบุคคลที่มีใจโน้มเอียง และการอยู่ด้วยความพิการที่ถูกตีตรา (stigmatized disability) อย่างสูงสามารถทำให้เกิดความวิตกกังวลและการรับรู้หรือเผชิญปัญหาความเครียด (allostatic stress load) สูง คือ อาการประสาทและความเครียดเรื้อรัง ที่ลดปริมาณความเครียดเฉียบพลันที่กระตุ้นให้เกิดการพูดติดอ่างในบุคคลที่พูดติดอ่าง ทำให้ปัญหาในรูประบบผลป้อนกลับทางบวกเลวลง มีการเสนอให้ใช้คำว่า "อาการพูดติดอ่าง" (Stuttered Speech Syndrome) กับสภาวะนี้[3][4] อย่างไรก็ดี ความเครียด ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง ไม่ได้สร้างความโน้มเอียงรับโรคการพูดติดอ่างแต่อย่างใด

ความผิดปกตินี้แปรผัน หมายความว่า ในสถานการณ์หนึ่ง ๆ เช่น ขณะพูดทางโทรศัพท์ การพูดติดอ่างอาจรุนแรงหรือเป็นน้อยกว่าเดิมก็ได้ ขึ้นอยู่กับระดับความวิตกกังวลที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมนั้น แม้จะยังไม่ทราบสมุฏฐานแน่ชัดหรือสาเหตุของการพูดติดอ่าง แต่คาดว่าทั้งพันธุศาสตร์และประสาทสรีรวิทยาจะมีผล มีเทคนิคการรักษาและการแก้ไขการพูดจำนวนมากซึ่งอาจช่วยเพิ่มความคล่องในบางคนที่พูดติดอ่างถึงขั้นที่หูที่ไม่ผ่านการฝึกไม่สามารถระบุปัญหาได้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาความผิดปกติถึงแก่น

อ้างอิง

[แก้]
  1. World Health Organization ICD-10 F95.8 - Stuttering.
  2. Myths about stuttering, on Stuttering Foundation's website.
  3. http://www.stutteredspeechsyndrome.com
  4. Irwin, M (2006). Au-Yeung, J; Leahy, MM (บ.ก.). Terminology – How Should Stuttering be Defined? and Why? Research, Treatment, and Self-Help in Fluency Disorders: New Horizons. The International Fluency Association. pp. 41–45. ISBN 978-0-9555700-1-8. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)