โรคชอบหยิบฉวย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โรคชอบขโมย)
โรคชอบหยิบฉวย
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10F63.2
ICD-9312.32
MeSHD007174

โรคชอบหยิบฉวย หรือ โรคชอบขโมย (อังกฤษ: kleptomania หรือ pathological stealing) เป็นโรคทางจิตเวช ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถยับยั้งใจต่อแรงกระตุ้นที่จะลักขโมยได้[1] ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะลักขโมยสิ่งของที่ไม่มีประโยชน์ต่อตนเอง

โรค kleptomania เป็นโรคทางจิตเวชที่อยู่ในกลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ (Impulse Control Disorders) โดยกลุ่มโรคดังกล่าว ประกอบด้วยโรคต่าง ๆ หลายโรค เช่น โรคชอบจุดไฟ (Pyromania) โรคติดการพนัน (Pathological gambling) โรคซึมเศร้า โรคตื่นตระหนก (Panic Disorder) และโรคอารมณ์สองขั้ว

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

Kleptomania เป็นคำที่มาจากภาษากรีกโบราณ โดยคำว่า klepto มาจาก κλέπτω แปลว่า ขโมย ฉกฉวย และคำว่า mania มาจาก μανία แปลว่า ความปรารถนาที่บ้าคลั่ง, การบังคับ ดังนั้นอาจให้ความหมาย Kleptomania ได้ว่า ความปรารถนาที่จะขโมย

อาการแสดง[แก้]

มักจะขโมยสิ่งของที่ตัวเองไม่มีความจำเป็นต้องใช้ หรือสิ่งของที่ไม่มีราคา ก่อนลงมือ ผู้ป่วยจะมีความเครียดเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากลงมือขโมยของแล้วจะรู้สึกสบายใจและผ่อนคลาย เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ผู้ป่วยบางรายอาจจะกลับมารู้สึกผิด เสียใจ เพราะลึก ๆ แล้วผู้ป่วยรู้ว่าการขโมยของเป็นเรื่องผิดต่อศีลธรรมและกฎหมาย แต่ก็มีบางรายที่อาจไม่รู้สึกอะไรเลยจากพฤติกรรมนั้น ผู้ป่วยที่ขโมยของมาแล้วอาจนำของไปเก็บไว้ ทิ้งไป หรือเอาไปคืนที่เดิม โรค kleptpmania เกิดจากความผิดปกติทางชีวภาพ ทำให้สมองหลั่งสารเซโรโทนินน้อยลง เช่นเดียวกับโรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์สองขั้ว แต่อาจมีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ความเครียดความกดดันในวัยเด็ก ความไม่พอใจพ่อแม่หรือบุคคลที่มีอำนาจในชีวิต หรือพันธุกรรม ผลักดันให้มีนิสัยชอบขโมยของเพื่อรู้สึกผ่อนคลาย สร้างความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง หรือสร้างความอับอายให้กับบุคคลที่มีอำนาจในชีวิต

การรักษา[แก้]

อาการของผู้ป่วยโรค kleptpmania สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา ร่วมกับวิธีจิตบำบัดโดยแพทย์หรือนักจิตวิทยา ซึ่งวิธีการทำจิตบำบัด แบ่งออกเป็น 2 วิธี

  1. จิตบำบัดแบบรู้แจ้ง ใช้กับผู้ป่วยที่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี โดยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะสร้างประเด็นที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวว่าแสดงพฤติกรรมดังกล่าวแล้วจะส่งผลที่ไม่ดีต่อตนเอง
  2. จิตบำบัดความคิด จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะใช้วิธีการอธิบายผลเสียของการแสดงพฤติกรรมลักขโมย จนผู้ป่วยตระหนักถึงผลเสีย และสามารถนำความคิดนั้นมาควบคุมพฤติกรรมดังกล่าวได้

อ้างอิง[แก้]