ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
ชื่ออื่นภาวะซึมเศร้าหลังให้กำเนิด, โรคซึมเศร้าหลังคลอด
Postpartum Depression Venus, a representation of the loss and emptiness felt after childbirth that makes some women feel as if they are useless.
สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์
อาการมีอารมณ์เศร้าอย่างรุนแรง, อ่อนเพลีย, วิตกกังวล, การกินและการนอนผิดปกติ, ร้องไห้บ่อย, หงุดงิด[1]
การตั้งต้น1 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน หลังคลอด[1]
สาเหตุไม่ชัดเจน[1]
ปัจจัยเสี่ยงเคยเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมาก่อน, โรคอารมณ์สองขั้ว, ประวัติครอบครัวมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า, ความเครียดทางจิตใจ, ภาวะแทรกซ้อนของการคลอด, การขาดคนช่วยเหลือ, การใช้ยาเสพติด[1]
วิธีวินิจฉัยวินิจฉัยจากอาการ[2]
โรคอื่นที่คล้ายกันBaby blues[1]
การรักษาCounselling, medications[2]
ความชุก~15% of births[1]

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (อังกฤษ: postpartum depression), ภาวะซึมเศร้าหลังให้กำเนิด (อังกฤษ: postnatal depression) หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอด เป็นโรคทางอารมณ์อย่างหนึ่งที่สัมพันธ์กับการคลอดบุตร ซึ่งอาจพบได้ทั้งในฝ่ายชายและฝ่ายหญิง[1][3] อาการสำคัญเช่น มีอารมณ์เศร้าอย่างมาก รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง วิตกกังวล ร้องไห้บ่อย หงุดหงิด การนอนผิดปกติ (เช่น นอนไม่หลับ หรือนอนมากผิดปกติ) การกินผิดปกติ (เช่น กินไม่ลง หรือกินไม่หยุด) เป็นต้น[1] ส่วนใหญ่มักพบที่เวลา 1 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน หลังคลอด[1] ภาวะนี้อาจส่งผลเสียต่อทารกได้[2]

สาเหตุที่แน่ชัดของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน ปัจจุบันเชื่อกันว่าเป็นผลของปัจจัยหลายด้านทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ[1] เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงหลังคลอดบุตร การอดนอน เป็นต้น[1] ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะนี้ได้แก่ การเคยเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตรคนก่อน โรคอารมณ์สองขั้ว ประวัติโรคซึมเศร้าในครอบครัว ความเครียดทางจิตใจ การมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอด การขาดคนช่วยเหลือดูแล หรือการใช้สารเสพติด[1] การวินิจฉัยทำได้โดยดูจากอาการ[2] แม้สตรีหลังคลอดส่วนใหญ่จะมีช่วงเวลาของความเศร้าและความกังวลหลังคลอด แต่หากอาการเหล่านี้ยังคงเป็นอยู่นานเกิน 2 สัปดาห์หรือเป็นรุนแรง จำเป็นจะต้องสงสัยว่าอาจมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดร่วมด้วย[1]

ในผู้คลอดที่มีปัจจัยเสี่ยง การมีผู้ช่วยเหลือด้านจิตใจอาจเป็นปัจจัยบวกที่ช่วงป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้[4] การรักษาอาจใช้การทำจิตบำบัดร่วมกับการใช้ยา[2] รูปแบบการทำจิตบำบัดที่ได้ผลได้แก่ จิตบําบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (IPT), การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) และ จิตบำบัดแบบจิตพลวัต (psychodynamic therapy)[2] ปัจจุบันหลักฐานส่วนใหญ่สนับสนุนว่าการใช้ยาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม SSRI จะได้ผล[2]

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดพบได้ในหญิงช่วงคลอดประมาณ 15%[1][2] และยังพบในฝ่ายชายได้ราว 1-26% แล้วแต่การศึกษา[3] โรคจิตหลังคลอดซึ่งเป็นภาวะทางจิตเวชที่พบได้ในช่วงคลอดเช่นกันแต่มีความรุนแรงกว่ามากจะพบได้ในหญิงหลังคลอด 0.1-0.2%[5] ซึ่งภาวะนี้เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของการฆ่าทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี ซึ่งพบได้ในอัตรา 8 ใน 100,000 การเกิดมีชีพในสหรัฐอเมริกา[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 "Postpartum Depression Facts". NIMH (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 June 2017. สืบค้นเมื่อ 11 June 2017.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 Pearlstein, T; Howard, M; Salisbury, A; Zlotnick, C (April 2009). "Postpartum depression". American Journal of Obstetrics and Gynecology. 200 (4): 357–64. PMID 19318144.
  3. 3.0 3.1 Paulson, James F. (2010). "Focusing on depression in expectant and new fathers: prenatal and postpartum depression not limited to mothers". Psychiatry Times. 27 (2). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-05.
  4. "Perinatal Depression: Prevalence, Screening Accuracy, and Screening Outcomes". Agency for Health Care Research and Quality. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-11.
  5. Seyfried, LS; Marcus, SM (August 2003). "Postpartum mood disorders". International review of psychiatry (Abingdon, England). 15 (3): 231–42. PMID 15276962.
  6. Spinelli, MG (September 2004). "Maternal infanticide associated with mental illness: prevention and the promise of saved lives". The American Journal of Psychiatry. 161 (9): 1548–57. doi:10.1176/appi.ajp.161.9.1548. PMID 15337641.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก