นิกายในศาสนาคริสต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นิกายของศาสนาคริสต์)


นิกายในศาสนาคริสต์ (อังกฤษ: Christian denominations) คือการแบ่งสาขาของศาสนาคริสต์ตามแนวปรัชญาและหลักการปฏิบัติ ในแต่ละนิกาย (denomination) ก็แบ่งย่อยเป็นคริสตจักร (church) รายการข้างล่างนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ข้อสังเกต: รายนามนิกายหรือคริสตจักรในบทความนี้เป็นรายการที่ไม่สมบูรณ์แต่เป็นรายนามที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยวางพื้นฐานกว้างถึงความสัมพันธ์ของนิกายหรือคริสตจักรหลักๆ ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ประมาณกันว่านิกายหรือคริสตจักรในศาสนาคริสต์มีด้วยกันกว่า 41,000 นิกาย[1] นิกายหลายนิกายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความสำคัญว่าเป็นนิกายที่เป็นเอกลักษณ์ รายนามบนหน้านี้เป็นรายนามที่มีบทความในวิกิประกอบ (ในวิกิภาษาอังกฤษและอื่นๆ) เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าเป็นนิกายที่มีความสำคัญพอที่จะกล่าวถึง
ข้อสังเกต: ระหว่างนิกายหรือคริสตจักรต่างๆ เทววิทยาคริสเตียน และศาสนาเปรียบเทียบก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันกันว่ากลุ่มไหนที่ควรจะถือว่าเป็นกลุ่มคริสเตียนที่แท้จริง โดยเฉพาะความแตกต่างทางปรัชญาระหว่างแต่ละกลุ่ม ความเข้าใจของแต่ละกลุ่มจึงขึ้นอยู่กับข้อเขียนเกี่ยวกับนิกายหรือลัทธิแต่ละนิกายที่ปรากฏในวิกิ
(ไม่ได้แสดงนิกายที่มิใช่ไนซีน, ไม่ถือตรีเอกานุภาพ, และนิกายฟื้นฟูบางนิกาย)

ความแตกต่างระหว่างโรมันคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์[แก้]

1. การนับถือแม่พระและนักบุญ

คริสตจักรโรมันคาทอลิกนับถือทั้งพระเยซูและพระนางมารีย์พรหมจารี โดยเชื่อว่าพระแม่มารีย์พระมารดาพระเยซูเป็นพรหมจารีเสมอ และให้เกียรติพระนางมารีย์เป็นพิเศษ โดยเรียกว่า "แม่พระ" หมายถึงพระมารดาพระเจ้า นอกจากนี้ยังมีการยกย่องนักบุญ คือวีรบุรุษและวีรสตรีทางศาสนา หรือบุคคลที่ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างพระเยซูอย่างดีมากจนเชื่อว่าได้ไปสวรรค์และเป็นผู้คุ้มครองผู้คน อาจเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายว่า พระเยซูเสมือนพระมหากษัตริย์ แม่พระเสมือนพระราชชนนี และเหล่านักบุญเสมือนขุนนางองครักษ์

ต่างจากนิกายโปรเตสแตนต์ซึ่งนับถือแต่พระเยซู โปรเตสแตนต์เชื่อว่านางมารีย์ เป็นหญิงพรหมจรรย์ ที่พระเยซูทรงปฏิสนธิ์โดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์ และนับถือที่นางเป็นพระมารดาของพระเยซู ส่วนนักบุญในโปรเตสแตนต์เรียกว่า "ธรรมิกชน" ซึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดาทั่วไปที่เป็นผู้เชื่อ จึงไม่ได้ให้ความสำคัญให้เป็นพระแม่หรือนักบุญ เพราะมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน

2. ความรอด

คริสตจักรโรมันคาทอลิกเชื่อว่าเมื่อผู้เชื่อล่วงหลับไปแล้วนั้น การได้ไปสวรรค์หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ความเชื่อเพียงอย่างเดียว แต่ต้องบวกกับการกระทำด้วย เพราะคาทอลิกมีคำสอนว่า ถ้าเชื่อรักและศรัทธาในพระเจ้า การกระทำที่แสดงออกถึงความศรัทธาและตามคำสอนของพระเจ้าสำคัญกว่า เพราะถ้าศรัทธาในพระเจ้าก็ต้องปฏิบัติตามหลักคำสอนด้วย เปรียบดั่งบุตรรักบิดามารดาของตน บุตรย่อมปฏิบัติตามคำสั่งสอนของบิดามารดาของตน หากเป็นคนดีพร้อมสามารถเข้าสู่สวรรค์ได้ แต่หากเป็นผู้เชื่อที่ยังมีบาปอยู่นั้น จะไปอยู่ "แดนชำระ" ก่อนเพื่อให้ได้ทำความดีหรือสารภาพบาปเรียบร้อยก่อนจึงได้ไปสวรรค์

นิกายโปรเตสแตนต์เชื่อว่าพระโลหิตของพระคริสต์มีอำนาจล้างบาปทั้งหมดแล้ว เรียกว่า สำเร็จแล้วโดยพระคุณ ดังนั้นความรอดไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำอีกต่อไป แต่อยู่ที่ความเชื่อและวางใจในพระคริสต์ โปรเตสแตนต์จึงไม่เชื่อเรื่องแดนชำระ

3. คัมภีร์ไบเบิล

คัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมของนิกายโรมันคาทอลิก มี 46 เล่ม[2] ขณะที่ของนิกายโปรเตสแตนต์ มี 39 เล่ม[3] คัมภีร์ 7 เล่มที่ฝ่ายโปรเตสแตนต์ไม่ยอมรับเข้าในสารบบนั้นเรียกว่าคัมภีร์อธิกธรรม (Deutero-Canonical Scripture)[4]

4. พิธีศักดิ์สิทธิ์

นิกายโรมันคาทอลิก มีศีลศักดิ์สิทธิ์อยู่ 7 ศีล ได้แก่ 1. ศีลล้างบาป 2. ศีลกำลัง 3. ศีลมหาสนิท 4. ศีลอนุกรม 5. ศีลสมรส 6. ศีลอภัยบาป และ 7. ศีลเจิมผู้ป่วย

ต่างจากนิกายโปรเตสแตนต์ถือเพียง 2 พิธีศักดิ์สิทธิ์ คือ พิธีบัพติศมาและพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ ส่วนศีลสมรส โปรเตสแตนต์เรียกว่าพิธีสมรส ไม่ใช่ศีล และพิธีกรรมนอกนั้นก็ไม่นับเป็นศีล

5 ประมุขสูงสุด

คริสตจักรโรมันคาทอลิกมีพระสันตะปาปาเป็นพระประมุขสูงสุด มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่สันตะสำนักในนครรัฐวาติกัน กรุงโรม ตำแหน่งพระสันตปาปาสืบทอดมาตั้งแต่สมัยอัครทูต โดยถือว่านักบุญเปโตรเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกและสืบทอดเรื่อยมาถึงปัจจุบัน โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเป็นพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน ถือเป็นองค์ที่ 266

6 วันสำคัญ

นิกายโรมันคาทอลิกโดยสำนักวาติกัน มีการกำหนดวันฉลองมากกว่านิกายอื่น (มักเกี่ยวกับพระแม่มารีย์และนักบุญ) ซึ่งถูกบรรจุไว้ในปฏิทินโรมันทั่วไป

รายละเอียด วันสำคัญทางคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก ดูที่บทความหลัก ปีพิธีกรรม

นิกายโปรเตสแตนต์ มีวันสำคัญอยู่ 2 วัน ได้แก่ วันคริสต์มาส และ วันอีสเตอร์

7 คำเรียกคริสต์ศาสนิกชน (ในภาษาไทย)

ในภาษาอังกฤษเรียกคริสต์ศาสนาทุกนิกายเหมือนกันว่า "คริสเตียน" ซึ่งแปลตรงตัวว่า "คริสต์ศาสนิกชน" แต่ในประเทศไทย มักเรียกคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกว่า "คริสตัง" และเรียกนิกายโปรเตสแตนต์ว่า "คริสเตียน" เนื่องจากนิกายโรมันคาทอลิก เข้ามาเผยแพร่ตั้งแต่ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยบาทหลวงชาวโปรตุเกส ซึ่งในภาษาโปรตุเกสคำว่าคริสต์ศาสนิกชนออกเสียงว่า "คริสตัง" ชาวไทยจึงติดปากเรียกผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกว่า "คริสตัง"

ขณะที่นิกายโปรเตสแตนต์ เข้ามาเผยแพร่ภายหลัง คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยคณะมิชชันนารีสมัยเดียวกับหมอบรัดเลย์ ชาวอเมริกัน ซึ่งเรียกตัวเองว่า "คริสเตียน" ตามภาษาอังกฤษ

คำเรียกนี้เช่นเดียวกับพระนาม "พระเยซู" ซึ่งมาจากภาษาโปรตุเกส รวมถึงคำเรียกต่างๆ ในคัมภีร์ไบเบิลและศาสนพิธีคาทอลิก (เช่น "พิธีมิสซา") แต่ว่าอย่างไรก็ตาม ยังคงใช้ทับศัพท์ตามภาษาโปรตุเกสเรื่อยมา เพราะคนไทยคุ้นปากเสียแล้ว

ความแตกต่างระหว่างออร์ทอดอกซ์กับโรมันคาทอลิก[แก้]

1.พระแม่มารีย์

ทางโรมันคาทอลิกจะถือว่าแม่พระปฏิสนธินิรมล แต่ทางศาสนจักรออร์ทอดอกซ์ปฏิเสธหลักข้อเชื่อนี้เพราะถือว่าพระนางทรงเป็นมนุษย์อย่างเช่นคนอื่น ๆ และตามที่พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์กล่าวไว้ว่ามนุษย์ทุกคนนั้นมีบาป โดยทางศาสนจักรออร์ทอดอกซ์ถือว่าพระนางนั้นทรง "ปราศจากบาปทางโลก" เพราะพระอานุภาพของพระเจ้าสถิตกับพระนาง พระนางจึงไม่ทำบาปอีกเลย

2.หลักข้อเชื่อและพระจิตเจ้า (พระวิญญาณบริสุทธิ์) [5]

ทางโรมันคาทอลิกนั้นได้เปลี่ยนแปลงหลักข้อเชื่อไนซีนในเรื่องการบังเกิดของพระจิตเจ้า ว่า "ทรงเนื่องมาจากพระบิดาและพระบุตร" ซึ่งทางศาสนจักรออร์ทอดอกซ์มองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะตามข้อตกลงในสภาสังคายนาเอเฟซัสครั้งที่หนึ่ง (สภาสังคายนาสากลครั้งที่ 3 ซึ่ง

สภาสังคายนาสากลมี 7 ครั้ง) นั้นห้ามไม่ให้มีผู้ใดเปลี่ยนแปลงหลักข้อเชื่ออีก แต่ทางโรมันคาทอลิกได้เปลี่ยนหลักข้อเชื่อ ซึ่งเรียกเป็นภาษาลาตินว่า "Filioque" ทางศาสนจักรออร์ทอดอกซ์จึงประณามเรื่องนี้

สรุป ได้ว่าทางศาสนจักรออร์ทอดอกซ์นั้นเชื่อว่าพระจิตเจ้าทรงบังเกิดจากพระบิดาเท่านั้น แต่ทางโรมันคาทอลิกเชื่อว่าบังเกิดจากพระบิดาและพระบุตร

3.แดนชำระ

คริสเตียนออร์ทอดอกซ์ส่วนใหญ่นั้นไม่เชื่อในการมีอยู่ของแดนชำระ เพราะไม่ได้มีกล่าวโดยตรงในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ถึงแม้ทางศาสนจักรออร์ทอดอกซ์จะไม่ได้มีข้อห้ามหรือมีการขัดขว้างสำหรับคนที่จะเชื่อในเรื่องนี้ แต่คริสเตียนออร์ทอดอกซ์ส่วนใหญ่ก็ปฏิเสธที่เชื่อในเรื่องนี้

4.คัมภีร์ไบเบิล

คัมภีร์ไบเบิลในภาคพัธสัญญาเดิมของนิกายออร์ทอดอกซ์นั้น มี 50 เล่ม ซึ่งมากกว่าทางโรมันคาทอลิก 4 เล่ม

5.อำนาจสูงสุด (ประมุข)

สำหรับออร์ทอด็อกซ์ แต่ละเขตสังฆมณฑลจะมีประมุขหรือผู้นำสูงสุดคืออัครบิดรหรือสมเด็จพระอัครบิดร (Patriach) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของมุขนายก แต่อัครบิดรนั้นไม่สามารถชี้ขาดหลักต่าง ๆ ของศาสนจักรได้ อำนาจสูงสุดที่จะชี้ขาดได้นั้นเป็นของสภาเท่านั้น ซึ่งการประชุมสภาจะมีการเรียกอัครบิดรของแต่ละศาสนจักรในศาสนจักรอิสเทิร์นออร์ทอดอกซ์มาประชุมกัน อัครบิดรของศาสนจักรใดศาสนจักรหนึ่งไม่สามารถชี้ขาดอะไรได้ทั้งสิ้น โดยให้เกียรติอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิล เป็นบุคคลอันดับหนึ่งในบรรดาประมุขทั้งหมด แต่ไม่ใช่เป็นประมุขสูงสุด เดิมทีศาสนจักรออร์ทอด็อกซ์มีศูนย์กลางสันตะสำนักที่มีคริสตชนออร์ธอด็อกซ์มากที่สุด อยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล โดยถือว่านักบุญอันดูรว์เป็นอัครบิดรองค์แรก และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน แต่หลังจากการยึดครองดินแดนของมุสลิม ทำให้ศูนย์กลางออร์ธอด็อกซ์ย้ายไปอยู่ในฝั่งตะวันออกแทน มาจนถึงปัจจุบัน โดยสมเด็จพระอัครบิดรบาร์โธโลมิวที่ 1 แห่งคอนสแตนติโนเปิล เป็นพระอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิลในปัจจุบัน

สำหรับคาทอลิก ประมุขสูงสุดของคริสตจักรโรมันคาทอลิกอยู่ที่ สมเด็จพระสันตะปาปา (Pope) ศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่สันตะสำนักในนครรัฐวาติกัน กรุงโรม ตำแหน่งพระสันตปาปาสืบทอดมาตั้งแต่สมัยอัครทูต โดยถือว่านักบุญเปโตรเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกและสืบทอดเรื่อยมาถึงปัจจุบัน โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเป็นพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน ถือเป็นองค์ที่ 266

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. Mary Fairchild (16 เมษายน 2020). "How Many Christians Are In the World Today?". LearnReligions.
  2. คัมภีร์ฮีบรู (24 เล่ม) หรือ (แบ่งใหม่ 39 เล่ม) + คัมภีร์อธิกธรรม (7 เล่ม) = พันธสัญญาเดิมโรมันคาทอลิก (46 เล่ม)
  3. ภายหลังการแยกนิกายจึงตัดคัมภีร์อธิกธรรม (7 เล่ม) ออก เพื่อให้เนื้อความตามต้นฉบับคัมภีร์ฮีบรู ; พันธสัญญาเดิมโรมันคาทอลิก (46 เล่ม) - คัมภีร์อธิกธรรม (7 เล่ม) = พันธสัญญาเดิมโปรเตสแตนต์ (39 เล่ม) = คัมภีร์ฮีบรู (24 เล่ม)
  4. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 49
  5. ประวัติศาสตร์คริสตศาสนจักรออร์โธด็อกซ์, หน้า 78