บังทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บังทอง (ผาง ถ่ง)
龐統
ภาพวาดบังทองสมัยราชวงศ์ชิง
ขุนพลที่ปรึกษาการทหารภายในสำนัก
(軍師中郎將)
(ภายใต้เล่าปี่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 214 (214)
ดำรงตำแหน่งร่วมกับ จูกัดเหลียง
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยสำนักส่วนกลาง
(治中從事)
(ภายใต้เล่าปี่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 210 (210) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
เจ้าหน้าที่ผู้ช่วย (從事)
(ภายใต้ซุนกวน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 210 (210)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
นายอำเภอลอยเอี๋ยง (耒陽令)
(ภายใต้ซุนกวน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 210 (210)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 179[a]
เมืองเซียงหยาง มณฑลหูเป่ย์
เสียชีวิตค.ศ. 214 (อายุ 35 ปี)[a]
เมืองกวั่งฮั่น มณฑลเสฉวน
ที่ไว้ศพศาลและสุสานบังทอง
บุตรผาง หง
ญาติ
  • ผาง หลิน (น้องชาย)
  • บังเต๊กก๋ง (อาชาย)
  • ผาง ชานหมิน (ลูกพี่ลูกน้องชาย)
  • ผาง ฮฺว่าน (หลานชาย)
อาชีพนักการเมือง
ชื่อรองชื่อ-ยฺเหวียน (士元)
สมัญญานามจิ้งโหว (靖侯)
ฉายา"ฮองซู"
(鳳雛)
บังทอง (ผาง ถ่ง)
อักษรจีนตัวเต็ม龐統
อักษรจีนตัวย่อ庞统
ชื่อ-ยฺเหวียน
(ชื่อรอง)
ภาษาจีน士元

บังทอง (ค.ศ. 179 – 214)[a] หรือชื่อในภาษาจีนกลางว่า ผาง ถ่ง (เกี่ยวกับเสียงนี้ การออกเสียง ; จีนตัวย่อ: 庞统; จีนตัวเต็ม: 龐統; พินอิน: Páng Tǒng) มีชื่อรองว่า ชื่อ-ยฺเหวียน (จีน: 士元; พินอิน: Shìyuán) เป็นนักการเมืองชาวจีน เป็นที่ปรึกษาของขุนศึกเล่าปี่ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน บังทองในวัยเยาว์มักถูกผู้อื่นมองข้ามเพราะมีรูปร่างหน้าตาธรรมดา แต่สุมาเต๊กโชนับถือบังทองอย่างมากเรียกบังทองว่าเป็น "มงกุฎของบัณฑิตแห่งแดนใต้" บังทองเรียนตำรากับสุมาเต๊กโชพร้อมกับจูกัดเหลียง ชีซีและเอี่ยงลอง แล้วได้รับฉายาว่า "ฮองซู" (鳯雛 เฟิ่งฉู) แปลว่า "หงส์ดรุณ" ด้วยความที่บังทองมีท่าทีเป็นมิตรจึงได้รับราชการเป็นนักประเมินบุคคลในเมืองลำกุ๋น เมื่อพิจารณาบุคคลใด ๆ จะความสำคัญกับคุณธรรมมากกว่าความสามารถและส่งเสริมให้พวกเขาช่วยเหลือผู้อื่น

บังทองรับราชการกับจิวยี่เป็นเวลาสั้น ๆ ได้ผูกมิตรเป็นเพื่อนกับลกเจ๊ก, กู้ เช่า และจวนจ๋อง ก่อนจะเข้าร่วมกับเล่าปี่ในปี ค.ศ. 209 หลังจากที่เล่าปี่ได้ขึ้นเป็นเจ้ามณฑลเกงจิ๋ว เล่าปี่ตั้งให้บังทองมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยตามคำแนะนำของโลซกและจูกัดเหลียง และเลื่อนขึ้นเป็นที่ปรึกษาการทหารขุนพลองครักษ์ บังทองแนะนำเล่าปี่ให้ยึดมณฑลเอ๊กจิ๋ว แล้วได้ติดตามเล่าปี่ไปร่วมการศึกที่เอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) รบกับขุนศึกเล่าเจี้ยง แต่บังทองถูกสังหารโดยเกาทัณฑ์ลูกหลงระหว่างการรบที่อำเภอลกเสีย (ปัจจุบันอยู่ทางเหนือของเมืองกวั่งฮั่น มณฑลเสฉวน) ในปี ค.ศ. 214[2]

ชีวประวัติช่วงต้น[แก้]

บังทองเป็นชาวเมืองซงหยง (襄陽 เซียงหยาง) มณฑลเกงจิ๋ว ในวัยเยาว์บังทองเป็นคนที่ดูธรรมดาและเรียบง่าย ไม่เป็นที่สนใจมากนัก เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ (เมื่ออายุราว 19 ปี) ได้ไปเยี่ยมสุมาเต๊กโช (ซือหม่า ฮุย ชื่อรอง เต๋อเชา) ผู้มีชื่อเสียงในการแนะนำผู้มีความสามารถ ทั้งคู่มาที่ต้นหม่อน สุมาเต๊กโชปีนขึ้นไปเก็บผลหม่อน ส่วนบังทองนั่งอยู่ด้านล่าง ทั้งคู่สนทนากันตลอดทั้งวันจนย่ำค่ำ สุมาเต๊กโชเห็นว่าบังทองเป็นบุคคลไม่ธรรมดาจึงเรียกบังทองว่าเป็น "มงกุฎของบัณฑิตแห่งแดนใต้" (南州士之冠冕 หนานโจวชื่อจือกวันเหมี่ยน) ตั้งแต่นั้นมาบังทองก็เริ่มมีชื่อเสียงในหมู่บัณฑิต[ซานกั๋วจื้อ 2] บังทองได้รับการตั้งฉายานามว่า "ฮองซู" (鳳雛 เฟิ่งฉู; มีความหมายว่า "หงส์ดรุณ") จากบังเต๊กก๋ง (龐德公 ผาง เต๋อกง) ผู้เป็นอา เช่นเดียวกับจูกัดเหลียงที่มีฉายานามว่า "ฮกหลง" (臥龍 วั่วหลง; มีความหมายว่า "มังกรหลับ") และสุมาเต๊กโชที่มีฉายานามว่า "ฉุ่ยจิ้ง" (水鏡; มีความหมายว่า "กระจกน้ำ")[ซานกั๋วจื้อจู้ 1]

บังเต๊กก๋งอาของบังทองเป็นชาวเมืองซงหยงเช่นกัน บังเต๊กก๋งรู้จักกันกับจูกัดเหลียง จูกัดเหลียงมักคำนับบังเต๊กก๋งด้วยความเคารพอย่างสูงเมื่อไปเยี่ยมที่บ้าน ครั้งหนึ่งบังเต๊กก๋งข้ามแม่น้ำไกซุย (沔水 เหมียนสุ่ย) เพื่อไปไหว้สักการะสุสานบรรพบุรุษ สุมาเต๊กโชไปเยี่ยมที่บ้านของบังเต๊กก๋ง จึงเรียกภรรยาและลูก ๆ ของบังเต๊กก๋งและบอกให้เตรียมอาหารสำหรับแขกคนสำคัญที่มีเพียงชีซีที่รู้จัก ซึ่งจะมาพบเขาและบังเต๊กก๋ง ภรรยาและลูก ๆ ของบังเต๊กก๋งทำตามคำของสุมาเต๊กโชด้วยความเคารพ ต่อมาไม่นานบังเต๊กก๋งกลับมาและยืนต้อนรับแขกแม้ไม่รู้ว่าแขกที่มานี้เป็นใคร ให้ความสนิทใกล้ชิดเหมือนเป็นครอบครัวและไม่มีการแบ่งแยกระหว่างแขกและเจ้าบ้าน สุมาเต๊กโชมีอายุน้อยกว่าบังเต๊กก๋งสิบปี จึงปฏิบัติต่อบังเต๊กก๋งเหมือนเป็นพี่ชาย เรียกบังเต๊กก๋งด้วยความนับถือว่าบังก๋ง (龐公 ผางกง) จนทำให้ผู้คนคิดว่าชื่อ "บังก๋ง" เป็นชื่อรองของบังเต๊กก๋ง แต่ความจริงไม่ใช่[ซานกั๋วจื้อจู้ 2]

บุตรชายของบังเต๊กก๋งชื่อว่า ผาง ชานหมิน (龐山民) ก็เป็นผู้มีชื่อเสียงเช่นกัน และได้แต่งงานกับพี่สาวคนรองของจูกัดเหลียง ภายหลังได้รับราชการในตำแหน่งหฺวังเหมินลี่ (黃門吏) แต่เสียชีวิตขณะยังหนุ่ม บุตรชายของผาง ชานหมินชื่อผาง ฮฺว่าน (龐渙) ชื่อรอง ชื่อเหวิน (世文) มีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองจังเกอ (牂牁太守 จังเกอไท่โฉฺ่ว) ระหว่างปี ค.ศ. 280 ถึง 289

เมื่อบังทองอยู่ในวัยเยาว์ยังไม่มีใครให้ความสนใจบังทอง มีเพียงบังเต๊กก๋งที่ประเมินบังทองไว้สูง เมื่อบังทองอายุสิบแปดปี บังทองถูกส่งมาพบสุมาเต๊กโช หลังจากสุมาเต๊กโชสนทนากับบังทองก็ถอนใจพูดว่า “บังเต๊กก๋งมองคนออกจริง ๆ เด็กผู้นี้คือผู้มีคุณธรรมสูงส่งอย่างแท้จริง”[ซานกั๋วจื้อจู้ 3]

รับราชการเป็นนักประเมินบุคคล[แก้]

ภายหลังบังทองเข้ารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ปกครอง (功曹 กงเฉา) ในเมืองลำกุ๋น (南郡 หนานจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณอำเภอเจียงหลิง มณฑลหูเป่ย์) บังทองเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี ชอบช่วยเหลือและให้คำปรึกษา จึงได้รับการเสนอชื่อให้มาทำหน้าที่เป็นนักประเมินบุคคล เมื่อบังทองประเมินผู้คน จะให้ความสำคัญกับเรื่องคุณธรรมประจำตนมากกว่าเรื่องความสามารถ บังทองชอบบทเรียนด้านจริยธรรมและพยายามรักษามาตรฐานทางศีลธรรมให้สูงอยู่เสมอ เมื่อถูกขอให้ประเมินบุคคลก็มักจะยกย่องเกินจริง[ซานกั๋วจื้อ 3]

เวลานั้นผู้คนไม่เข้าใจจึงถามบังทองว่าทำไมจึงยกย่องผู้คนเกินจริง บังทองตอบว่า:

“บัดนี้แผ่นดินกำลังโกลาหล ธรรมเนียมและหลักการมักถูกลืม คนดีถูกคนชั่วครอบงำ ข้าอยากจะเปลี่ยนบรรทัดฐานทางสังคมและรื้อฟื้นธรรมเนียมดีงามเพื่อส่งเสริมคนดี และทำให้มีชื่อเสียงที่ดียิ่งกว่า (ยกย่องเกินจริง) เพื่อให้คนหมู่มากชื่นชมและถือแบบอย่างที่ดีให้ผู้อื่น สมมติว่าข้ายกย่องเกินจริงสิบส่วน แม้จะผิดไปห้าส่วน แต่ก็ยังเหลืออีกครึ่งหนึ่งเพื่อเป็นแบบอย่างอันสูงส่งเพื่อสอนใจคนในยุคนี้ ทำให้ผู้คนมุ่งมั่นจะทำความดี เรื่องนี้จะยอมรับไม่ได้เลยหรือ”[ซานกั๋วจื้อ 4]

รับใช้จิวยี่[แก้]

ในปี ค.ศ. 209 จิวยี่ ขุนพลของขุนศึกซุนกวน เข้ายึดเมืองลำกุ๋นหลังชนะในยุทธการที่กังเหลง หลังจิวยี่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองลำกุ๋น บังทองได้เข้ารับราชการกับจิวยี่ เมื่อจิวยี่เสียชีวิตในปี ค.ศ. 210 บังทองร่วมในขบวนคุ้มกันโลงศพกลับไปกังตั๋งและเข้าร่วมในพิธีศพ ขุนนางหลายคนของกังตั๋งได้ยินชื่อเสียงของบังทอง เมื่อบังทองกำลังจะออกเดินทางกลับเกงจิ๋ว เหล่าขุนนางจึงมารวมตัวพบบังทองที่ประตูตะวันตก (昌門 ชางเหมิน) ในขุนนางเหล่านั้น บังทองได้พบและเป็นเพื่อนกับลกเจ๊ก กู้ เช่า (บุตรชายของโกะหยง) และจวนจ๋อง บังทองยังประเมินแต่ละคนแยกกัน โดยประเมินลกเจ๊กไว้ว่าเป็น "ม้าที่วิ่งไม่เร็วแต่มีขวัญกำลังใจแข็งแกร่ง" ประเมินกู้ เช่าว่าเป็น "โคที่ร่างกายอ่อนแอ แต่แบกสัมภาระไปได้ไกล"[ซานกั๋วจื้อ 5] จากนั้นจึงเปรียบจวนจ๋องว่าเป็นดั่งฟ่าน จื่อเจา (樊子昭) แห่งเมืองยีหลำ (หรู่หนัน) กล่าวว่าเป็นคนใจกว้างผู้ชื่นชมบุรุษที่น่านับถือ[ซานกั๋วจื้อ 6] พวกเขาต่างพึงพอใจต่อการประเมินของบังทอง

มีบางคนถามบังทองว่า "นั่นหมายความว่าลกเจ๊กดีกว่ากู้ เช่าหรือ" บังทองตอบว่า "แม้ว่าม้าจะวิ่งเร็ว แต่รับน้ำหนักได้เพียงคนหนึ่งคน โคสามารถเดินทางได้ 300 ลี้ต่อวัน สามารถรับน้ำหนักได้มากกว่าคนหนึ่งคน!" ภายหลังกู้ เช่าถามบังทองว่า "ท่านมีชื่อเสียงในฐานะผู้เก่งในการประเมินบุคคล ระหว่างเราสองคนท่านคิดว่าใครดีกว่ากัน" บังทองตอบว่า "ข้าไม่ดีเท่าท่านในเรื่องการคบหาสมาคมกับผู้คนและการประเมินคนเหล่านั้น แต่เมื่อเป็นเรื่องการเมืองและกลยุทธ์ ดูเหมือนข้าจะนำหน้าท่านไปหนึ่งวัน" กู้ เช่าเห็นด้วยกับบังทองก็ยิ่งสนิทกับบังทองมากขึ้น[ซานกั๋วจื้อจู้ 4] ก่อนที่บังทองจะจากไป ลกเจ๊กและกู้ เช่าบอกเขาว่า "เมื่อแผ่นดินกลับมาสงบสุข เราอยากจะสนทนากับท่านเกี่ยวกับผู้มีชื่อเสียง" ทั้งคู่กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกับบังทอง[ซานกั๋วจื้อ 7]

รับใช้เล่าปี่ที่เกงจิ๋ว[แก้]

ภาพวาดของบังทอง ชีซี และจูกัดเหลียง (จากซ้ายไปขวา)

บังทองกลายมาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเล่าปี่ หลังจากเล่าปี่ได้ขึ้นเป็นเจ้ามณฑลของมณฑลเกงจิ๋วในปี ค.ศ. 210 เริ่มแรกบังทองรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย (從事 ฉงชื่อ) และนายอำเภอ (縣令 เซี่ยนลิ่ง) ของอำเภอลอยเอี๋ยง (耒陽 เหล่ยหยาง) แต่ภายหลังถูกปลดจากตำแหน่งเพราะทำงานได้ไม่ดี โลซกขุนพลของซุนกวนเขียนหนังสือถึงเล่าปี่ แนะนำว่าบังทองเป็นผู้มีความสามารถยอดเยี่ยม ควรช่วงใช้ในภารกิจที่สำคัญ ไม่ควรให้มาจัดการพื้นที่เล็ก ๆ จูกัดเหลียง นักยุทธศาสตร์ของเล่าปี่ก็แนะนำบังทองเช่นกัน เล่าปี่จึงไปพบกับบังทอง ก็รู้สึกประทับใจในความสามารถและวางใจมอบหมายในเรื่องสำคัญ เล่าปี่รับบังทองมาทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยสำนักส่วนกลาง (治中從事 จื้อจงฉงชื่อ) เล่าปี่ปฏิบัติต่อบังทองอย่างให้เกียรติรองลงมาจากจูกัดเหลียง ภายหลังแต่งตั้งทั้งบังทองและจูกัดเหลีงเป็นที่ปรึกษาการทหารขุนพลองครักษ์ (軍師中郎將 จวินชือจงหลางเจี้ยง)[ซานกั๋วจื้อ 8]

ขณะร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ เล่าปี่ถามบังทองว่า "ครั้งหนึ่งท่านทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองของโจฺว กงจิ่น[b] ก่อนหน้านี้เมื่อข้าไปยังแดนง่อ ข้าได้ยินว่าเขาลอบยุจ้งโหมว[c] ให้กักตัวข้า นี่เป็นเรื่องจริงหรือ ผู้ใดอยู่ด้วยนายย่อมต้องซื่อสัตย์ต่อนายอย่างถึงที่สุด" บังทองยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง เล่าปี่จึงถอนใจพูดว่า "เวลานั้นข้าตกอยู่ในอันตรายและพวกเขาได้ช่วยข้าไว้ ข้าจึงไม่อาจปฏิเสธคำเชิญและเกือบหนีไม่พ้นเงื้อมมือของจิวยี่! ผู้มีสติปัญญาความสามารถในแผ่นดินนี้สามารถมองทะลุอุบายของอีกคนออก ก่อนที่ข้าจะไป ขงเบ้ง[d]มองอุบายนี้ออกจึงคัดค้านสุดใจ แต่ข้าไม่ฟังเพราะข้าเห็นว่าข้าเป็นแนวป้องกันทางทิศเหนือของจ้งโหมว เขาจึงต้องการความช่วยเหลือของข้า ข้าไม่ได้สงสัยเขาเลย นี่เป็นการเข้าถ้ำเสือโดยแท้ เป็นแผนที่เสี่ยงมาก"[ซานกั๋วจื้อจู้ 5]

ช่วยเหลือเล่าปี่ในการยึดครองเอ๊กจิ๋ว[แก้]

ราวปี ค.ศ. 210 บังทองโน้มน้าวเล่าปี่ให้เข้ายึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) อาศัยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของเอ๊กจิ๋วในการช่วงชิงอำนาจกับโจโฉ บังทองกล่าวว่า:

“เกงจิ๋วรกร้างและถูกทำลายด้วยความขัดแย้งต่อเนื่องยาวนาน ราษฎรเหนื่อยยาก มีซุนกวนอยู่ทางตะวันออกและโจโฉทางเหนือ ดังนั้นสมดุลแห่งอำนาจสามขั้วยากจะดำรง บัดนี้เอ๊กจิ๋วมั่งคั่งราษฎรแข็งแกร่ง ประชากรนับร้อยหมื่นพร้อมด้วยทหารและม้าจำนวนมากทั่วภูมิภาค ทั้งหมดนี้ท่านสามารถถือครองและจากนั้นไปจะกลายเป็นรากฐานของอนาคต บัดนี้ท่านสามารถเข้าคว้าเพื่อสำเร็จการใหญ่"[ซานกั๋วจื้อจู้ 6]

เล่าปี่ตอบว่า:

“ยามนี้ศัตรูของข้าคือโจโฉ ทั้งข้าและเขาเป็นขั้วตรงข้ามดั่งน้ำกับไฟ เขาเข้มงวดส่วนข้าผ่อนปรน เขาโหดร้ายส่วนข้ามีเมตตา เขาคิดคดส่วนข้าสัตย์ซื่อ หากข้ายังคงทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับเขาเช่นนี้ แผนเราจะต้องสำเร็จ บัดนี้เพื่อผลประโยชน์เล็กน้อย จะทำให้ข้าเสียศรัทธาและความเชื่อมั่นของคนทั้งปวงในแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้ข้าจึงไม่อาจกระทำการเช่นนั้นได้”[ซานกั๋วจื้อจู้ 7]

บังทองตอบว่า:

“ยามนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เราต้องมีความยืดหยุ่นและไม่อาจยึดมั่นหลักการเดียว สยบผู้อ่อนแอขณะโจมตีในทางลับเป็นหนทางของห้าอธิราช ยุติการกบฏขณะปกป้องผู้ภักดี ปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเคารพและซื่อตรงขณะที่ให้รางวัลอย่างยุติธรรมหลังความขัดแย้งสิ้นสุด จะไม่เป็นการกลับไปสู่ความชอบธรรมหรอกหรือ พึงตระหนักว่าหากไม่รับเอามาในวันนี้ ท้ายที่สุดมันจะตกไปเป็นของผู้อื่น”

เล่าปี่จึงปฏิบัติตามคำแนะนำของบังทอง[ซานกั๋วจื้อจู้ 8]

ในปี ค.ศ. 211 เล่าปี่นำทัพจากเกงจิ๋วไปยังเอ๊กจิ๋ว อ้างว่าเพื่อช่วยเล่าเจี้ยงเจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋วในการต้านกับบุกของขุนศึกเตียวฬ่อแห่งเมืองฮันต๋ง (漢中 ฮั่นจง) จูกัดเหลียงยังคงอยู่รักษาเกงจิ๋วด้านหลังในขณะที่บังทองติดตามเล่าปี่ไปเอ๊กจิ๋ว[ซานกั๋วจื้อ 9] เล่าเจี้ยงต้อนรับเล่าปี่ที่อำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน; ปัจจุบันคือเมืองเหมียนหยาง มณฑลเสฉวน) บังทองโน้มน้าวเล่าปี่ให้ใช้โอกาสนี้จับตัวเล่าเจี้ยงและบังคับให้ยกมณฑลเอ๊กจิ๋วให้ แต่เล่าปี่ปฏิเสธเพราะตนเพิ่งเข้ามาเอ๊กจิ๋วใหม่ ๆ ยังไม่ได้สร้างรากฐานที่มั่นคง ภายหลังเล่าเจี้ยงเดินทางกลับไปยังเซงโต๋ (成都 เฉิงตู) เมืองเอกของมณฑลเอ๊กจิ๋ว[ซานกั๋วจื้อ 10]

แนะนำเล่าปี่รบกับเล่าเจี้ยง[แก้]

บังทองเสนอแผนสามข้อให้เล่าปี่เลือก:

  • แผนขั้นสูง: เลือกทหารชั้นดีเพื่อก่อตั้งกองกำลังชั้นยอดและรุกเข้าเซงโต๋อย่างรวดเร็ว บังคับให้เล่าเจี้ยงยอมจำนนและมอบมณฑลเอ๊กจิ๋ว บังทองยังเชื่อว่าเล่าเจี้ยงไม่มีความสามารถในด้านการทหารและย่อมไม่ได้เตรียมการรับมือ ดังนั้นโอกาสสำเร็จจึงมีสูง บังทองถือว่านี่เป็นแผนที่ดีที่สุด
  • แผนขั้นกลาง: เนื่องจากทราบว่าเอียวหวย (楊懷 หยาง ไหฺว) และโกภาย (高沛 เกา เพ่ย์) เป็นขุนพลมีชื่อเสียงผู้นำกองกำลังที่แข็งแกร่งในการป้องกันกวนโถวและก่อนหน้านี้ทั้งคู่เคยแนะนำเล่าเจี้ยงให้ส่งเล่าปี่กลับเกงจิ๋ว ดังนั้นก่อนจะนำทัพรุกคืบ ให้แพร่ข่าวลือว่าเล่าปี่กำลังจะกลับเกงจิ๋วโดยอ้างว่าเกงจิ๋วตกอยู่ในอันตราย เล่าปี่จึงต้องการไปช่วย ให้ทำทีว่าจะนำทหารถอยกลับไป ด้วยชื่อเสียงของเล่าปี่ประกอบกับเอียวหวยและโกภายก็อยากให้เล่าปี่กลับไปอยู่แล้ว ทั้งคู่จะต้องออกมาส่งเล่าปี่พร้อมทหารม้าจำนวนน้อยห่างจากด่านบนภูเขาที่พวกเขารักษาอยู่ ให้จัดการสังหารทั้งคู่และเข้าคุมตำแหน่งกับกองกำลังของพวกเขา สุดท้ายจึงรุกเข้าเซงโต๋
  • แผนขั้นต่ำ: ถอยไปเป๊กเต้เสีย (ไป๋ตี้เฉิง) และรอโอกาสอื่นเข้าโจมตี บังทองถือว่านี่เป็นแผนที่แย่ที่สุด

บังทองบอกเล่าปี่ว่าถ้าใช้เวลาตัดสินใจนานเกินไปและไม่ทำอะไรสักอย่างจะตกอยู่ในอันตรายและไม่อาจรอดได้ [ซานกั๋วจื้อ 11] เล่าปี่ตัดสินใจเลือกปฏิบัติตามแผนขั้นกลาง สังหารเอียวหวยและโกภาย นำกองกำลังมุ่งไปยังเซงโต๋ พิชิตได้ดินแดนหลายแห่งของเล่าเจี้ยงไปตลอดทาง[ซานกั๋วจื้อ 12]

ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของเล่าปี่ระหว่างการศึก[แก้]

เมื่อเล่าปี่แสดงออกซึ่งความยินดีระหว่างงานเลี้ยงที่อำเภอโปยเสียเพื่อฉลองความสำเร็จ ได้กล่าวว่าวันนี้ควรเป็นวันรื่นเริง บังทองตำหนิว่า "เฉลิมฉลองระหว่างการรุกรานดินแดนของคนอื่นไม่เป็นสิ่งที่ผู้ทรงคุณธรรมควรทำเลย" เล่าปี่กำลังเมาสุราก็โต้กลับด้วยความโกรธว่า "จิวบูอ๋อง (โจวอู่หวัง) ก็ชื่นชมยินดีหลังชัยชนะเหนือติวอ๋อง (โจ้วหวัง) นี่ไม่ใช่แบบอย่างของผู้ทรงคุณธรรมหรอกหรือ ท่านกล่าวผิดไปแล้ว ออกไปเดี๋ยวนี้!"[ซานกั๋วจื้อ 13] หลังบังทองออกไป เล่าปี่กลับมารู้สึกเสียใจกับสิ่งที่พูดออกไปจึงให้เชิญบังทองกลับมา บังทองกลับมายังที่นั่งและไม่พูดอะไร ทำตัวเหมือนปกติ เล่าปี่ถามว่า "ที่ทุ่มเถียงกันเมื่อครู่ ท่านคิดว่าใครเป็นฝ่ายผิด" บังทองตอบว่า "ทั้งท่านและข้าต่างก็ผิดกันทั้งคู่" เล่าปี่หัวเราะ แล้วงานเลี้ยงก็ดำเนินต่อไป[ซานกั๋วจื้อ 14]

สี จั้วฉื่อวิจารณ์เหตุการณ์นี้ว่า:

“ผู้ที่เป็นขุนศึกจะต้องดำรงไว้ซึ่งมนุษยธรรมและความชอบธรรมในแต่ละการกระทำของตน โดยถือเอาความซื่อสัตย์และความยุติธรรมเป็นแบบอย่าง หากขาดการยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป นั่นไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง บัดนี้เล่าปี่โจมตีและยึดดินแดนของเล่าเจี้ยง ใช้กำลังเพื่อการใหญ่ของตนและหันหลังให้การความซื่อสัตย์และความเชื่อถือของผู้อื่น ละเมิดคุณธรรมและความชอบธรรมระหว่างกระบวนการ แม้ว่าด้วยทางเลือกนี้จะทำให้ประสบผลสำเร็จ แต่ก็ต้องรู้สึกผิดต่อข้าศึกที่พ่ายแพ้อย่างมาก เหมือนหักมือเพื่อรักษาร่างกาย จะรู้สึกเป็นสุขได้อย่างไร บังทองเกรงว่าบทสนทนานี้จะรั่วไหลและเจ้านายตนจะรู้ตนว่าเป็นผู้ผิด บังทองจึงแก้ไขข้อผิดพลาดของเล่าปี่ต่อหน้าทุกคน และไม่ได้ใช้ท่าทีสุภาพอ่อนน้อมตามปกติในการแก้ไขข้อผิดพลาดของเจ้านายแต่ยังคงความซื่อสัตย์จงรักภักดี ผู้นำใดที่ทำผิดแต่แก้ไขได้จะมีผู้ติดตาม ผู้ใดมีผู้ติดตามจำนวนมาก ผู้นั้นก็สามารถบรรลุการใหญ่ได้ ผู้ใดยอมรับเหตุผลผู้นั้นสามารถบรรลุเป้าหมาย ด้วยคำพูดเดียวคุณธรรมสามประการก็กระจ่าง ความชอบธรรมติดตามไปร้อยชั่วอายุคน เหล่านี้สามารถใช้เป็นแบบอย่างได้ หากยึดติดความผิดพลาดเล็กน้อยและละทิ้งประโยชน์ใหญ่ รู้สึกผิดจากคำเกินจริง ถูกตัดขาดจากคำแนะนำสัตย์ซื่อ บุคคลเช่นนี้ที่จะสำเร็จการใหญ่ได้นั้นไม่เคยมีมาก่อน”[ซานกั๋วจื้อจู้ 9]

เผย์ ซงจือเสริมว่า :

“แม้ว่าแผนการโจมตีเล่าเจี้ยงจะมาจากบังทอง แต่ก็เป็นการละเมิดคุณธรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ เดิมทีจึงเป็นหนทางแห่งการฉ้อโกง ในใจของบังทองจึงรู้สึกผิดและยับยั้งตนเองไม่ให้รู้สึกเป็นสุข ดังนั้นเมื่อบังทองได้ยินเล่าปี่พูดว่าตนรู้สึกรื่นเริง บังทองจึงแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่รู้ตัวและตอบเช่นนั้นออกไป เล่าปี่ดื่มสุรามากเกินไปในงานเลี้ยงและรู้สึกมีความสุขบนความโชคร้ายของคนอื่นจึงเปรียบตัวเองกับจิวบูอ๋องโดยไม่ละอายใจ นี่เป็นความผิดของเล่าปี่ไม่ใช่ความผิดของบังทอง คำพูดของบังทองว่าผิดกันทั้งคู่นั้นก็เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ในคำวิจารณ์ของท่านสีนี้แม้ประเด็นหลักจะไม่ผิด แต่ความหมายโดยนัยของคำกล่าวเหล่านี้นั้นผิดเพี้ยนไป”[ซานกั๋วจื้อจู้ 10]

เสียชีวิต[แก้]

ศาลและสุสานบังทองที่อำเภอหลัวเจียง

ภายหลังบังทองเข้าร่วมในศึกรบกับกองกำลังของเล่าเจี้ยงที่อำเภอลกเสีย (雒縣 ลั่วเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางเหนือของนครกวั่งฮั่น มณฑลเสฉวน) บังทองเสียชีวิตหลังถูกยิงด้วยเกาทัณฑ์ลูกหลงในระหว่างการรบขณะอายุ 36 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) เล่าปี่เสียใจอย่างสุดซึ้งกับการเสียชีวิตของบังทองและจะร้องไห้ทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงบังทอง บังทองได้รับบรรดาศักดิ์ย้อนหลังระดับกวานเน่ย์โหว (關內侯) หลังเล่าปี่ขึ้นเป็นจักรพรรดิและสถาปนารัฐจ๊กก๊กในปี ค.ศ. 221[ซานกั๋วจื้อ 15] ในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ค.ศ. 260 พระเจ้าเล่าเสี้ยนโอรสของพระเจ้าเล่าปี่ แต่งตั้งย้อนหลังให้บังทองเป็น "จิ้งโหว" (靖侯)[ซานกั๋วจื้อ 16]

เล่าปี่ให้สร้างศาลและสุสานอุทิศแก่บังทองใกล้อำเภอลกเสีย ศาลและสุสานนี้ปัจจุบันตั้งอยู่เขตเมืองไป่หม่ากวัน (白馬關鎮) อำเภอหลัวเจียง มณฑลเสฉวน ในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 ศาลและสุสานกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ได้รับความคุ้มครองในระดับชาติ[3]

ถัง เกิงกล่าวถึงการเสียชีวิตของบังทอง[แก้]

ในงานเขียนของถัง เกิง (唐庚) บัณฑิตในยุคราชวงศ์ซ่ง ที่ชื่อว่า "กรณีเบ็ดเตล็ดสามก๊ก" (三國雜事 ซานกั๋วจ๋าชื่อ) มีการเขียนแสดงความอาลัยต่อการเสียชีวิตของบังทองขณะอายุยังไม่มาก รำลึกว่าขณะที่จูกัดเหลียงและบังทองเป็นเพื่อนร่วมสำนัก จูกัดเหลียงเสียชีวิตขณะอายุค่อนข้างน้อยที่ 53 ปี ส่วนบังทองเสียชีวิตไปก่อนแล้วตั้งแต่ 20 ปีก่อน จากนั้นจึงให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่าในปี ค.ศ. 219 เมื่อเล่าปี่ได้รับตำแหน่งเป็น "ฮันต๋งอ๋อง" นั้นยังเป็นปีเดียวกันกับที่กวนอูเสียชีวิต[e] ปีถัดมา ค.ศ. 220 ฮองตงและหวดเจ้งเสียชีวิต ปีถัดมาอีก ค.ศ. 221 เตียวหุยเสียชีวิต[f] ปีถัดมาอีก ค.ศ. 222 ม้าเฉียวและม้าเลี้ยงเสียชีวิต[g][4]

ก่อนที่รากฐานจะสมบูรณ์ ผู้กล้าก็หายไปทีละคนราวกับว่าพวกเขาถูกลักพาตัวไป ปีถัดมา ค.ศ. 223 เมื่อเล่าเสี้ยนขึ้นครองบัลลังก์ ในหมู่ผู้กล้าเหลือเพียงจูกัดเหลียงและจูล่งที่ยังอยู่ เจ็ดปีต่อมา ค.ศ. 229 จูล่งเสียชีวิต ส่วนจูกัดเหลียงชีวิตในอีก 5 ปีถัดมา ค.ศ. 234 ในเวลานี้ ผู้สร้างความสำเร็จในอดีต (勳舊 ซฺวินจิ้ว) ล้วนจากไปแล้ว[5]

หวดเจ้งเพิ่งจะอายุ 44 ปี ม้าเฉียว 46 ปี และม้าเลี้ยง 34 ปี เตียวหุยกล่าวกันว่าอายุน้อยกว่าทั้งเล่าปี่และกวนอู เนื่องจากกวนอูอายุมากกว่าเตียวหุยหลายปี น่าจะอายุราวห้าสิบปีขึ้นไปขณะเสียชีวิต ฮักจุ้นเสียชีวิตขณะอายุเพียง 39 ปี[6]

บุคคลที่โดดเด่นเหล่านี้ล้วนเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ที่ยอดเยี่ยมแต่มีชีวิตที่สั้น ในขณะที่เจียวจิ๋ว[h] มีอายุมากว่าเจ็ดสิบปี ด้วยเหตุนี้เป็นที่กระจ่างว่าสวรรค์ไม่โปรดราชวงศ์ฮั่นอีกต่อไป[7]

ครอบครัวและทายาท[แก้]

รูปปั้นบังทองในศาลจูกัดเหลียงที่นครเฉิงตู

หลังการเสียชีวิตของบังทอง เล่าปี่ตั้งให้บิดาของบังทอง (ซึ่งไม่มีการบันทึกชื่อในประวัติศาสตร์) ให้เป็นขุนนางที่ปรึกษา (議郎 อี้หลาง) และภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นขุนนางที่ปรึกษาผู้เสนอคำค้าน (諫議大夫 เจี้ยนอี้ต้าฟู) จูกัดเหลียงปฏิบัติต่อบิดาของบังทองด้วยความเคารพอย่างสูง[ซานกั๋วจื้อ 17]

บังทองมีน้องชายชื่อ ผาง หลิน (龐林) รับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยในที่ว่าการมณฑลเกงจิ๋ว (荊州治中從事 จิงโจฺวจื้อจงฉงชื่อ) เข้าร่วมในยุทธการที่อิเหลงในปี ค.ศ. 221–222 ร่วมกับขุนพลอุยก๋วนรับผิดชอบป้องกันฝั่งเหนือของแม่น้ำจากการโจมตีที่อาจจะมีโดยวุยก๊กรัฐศัตรูของจ๊กก๊ก หลังเล่าปี่พ่ายแพ้ต่อลกซุนขุนพลของซุนกวนในยุทธการที่อิเหลง ผาง หลินและอุยก๋วนถูกแยกโดดเดี่ยวจากทัพที่เหลือของเล่าปี่และไม่สามารถกลับจ๊กก๊กได้ จึงจำต้องนำกองกำลังของตนยอมสวามิภักดิ์ต่อวุยก๊ก ผาง หลินรับราชการเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉฺ่ว) ของเมืองกิลกกุ๋น (鉅鹿郡 จวี้ลู่จวิ้น) ในวุยก๊ก และได้รับบรรดาศักดิ์โหว[ซานกั๋วจื้อ 18]

ภรรยาของผาง หลินเป็นน้องสาวของสี เจิน ในปี ค.ศ. 208 ภรรยาของผาง หลินถูกแยกจากผาง หลิน เมื่อขุนศึกโจโฉนำทัพรุกรานเกงจิ๋วและยึดซงหยง ก่อนจะกลับมาอยู่ร่วมกับผาง หลินอีกครั้งในปี ค.ศ. 222 เมื่อผาง หลินและอุยก๋วนเข้าด้วยวุยก๊กหลังยุทธการที่อิเหลง ในช่วงเวลา 14 ปีที่อยู่แยกกัน ภรรยาของผาง หลินยังค่อซื่อสัตย์ต่อสามีและเลี้ยงดูลูกสาวด้วยตนเอง จักรพรรดิวุยก๊กโจผียกย่องคุณธรรมของภรรยาผาง หลิน และพระราชทานของขวัญให้[ซานกั๋วจื้อจู้ 11]

บังทองมีบุตรชายชื่อ ผาง หง (龐宏) ชื่อรอง จวี้ชื่อ (巨師) ผาง หงรับราชการในราชสำนักจ๊กก๊ก มีชื่อเสียงเรื่องความมัธยัสถ์และการพูดตรงไปตรงมา ผาง หงมีเรื่องขัดแย้งกับเฉิน ตี (陳袛) ขุนนางตำแหน่งหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) เฉิน ตีวิพากย์วิจารณ์ผาง หง และขัดขวางผาง หงไม่ให้ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ผาง หงเสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉฺ่ว) ของเมืองฝูหลิง (涪陵郡 ฝูหลิงจวิ้น)[ซานกั๋วจื้อ 19]

คำวิจารณ์[แก้]

ตันซิ่ว (เฉิน โชฺ่ว) ผู้เขียนชีวประวัติบังทองในจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) วิจารณ์บังทองไว้ดังนี้: "บังทองเป็นผู้มีเสน่ห์และเก่งในการคบหากับผู้อื่น หมั่นศึกษาคัมภีร์ซึ่งทำให้เขาเชี่ยวชาญในการวางแผนการ ในช่วงเวลานั้นชาวมณฑลเกงจิ๋วและเอ๊กจิ๋วต่างเห็นว่าเขามีพรสวรรค์พิเศษ เมื่อเทียบกับขุนนางจากวุยก๊กแล้ว บังทองคล้ายคลึงกับซุนฮกและซุนฮิว ส่วนหวดเจ้งเทียบได้กับเทีย (หยก) และกุย (แก)[ซานกั๋วจื้อ 20]

หยาง ซี่เขียนวิจารณ์บังทองไว้ดังนี้: "ที่ปรึกษาการทหารที่แสดงออกอย่างกระจ่างแจ้งทั้งความสง่าและคุณธรรม อุทิศชีวิตเพื่อถางเส้นทางให้เจ้านาย ในใจมีความภักดีและเสนอความคิดเห็นอยู่เสมอ แต่จากการกระทำอันชอบธรรมทั้งหมดนั้น กลับได้รับความตายสนองตอบคุณธรรม"[ซานกั๋วจื้อ 21]

ในนิยายสามก๊ก[แก้]

ภาพวาดเหตุการณ์บังทองเสนอกลห่วงโซ่กับโจโฉวาดโดยโจฺว เยฺวเซี่ยวในหนังสือซานกั๋วจื้อทงสูเหยี่ยนอี้ (三國志通民演義)

บังทองปรากฏในฐานะตัวละครในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก ในนิยาย บังทองมีบทบาทเป็นนักยุทธศาสตร์การทหารที่เก่งกาจเทียบเท่ากับจูกัดเหลียง สุมาเต๊กโชแนะนำบังทองและจูกัดเหลียงในฐานะผู้มีความสามารถในการช่วยเล่าปี่โดยพูดว่า "อันฮกหลง (มังกรหลับ) กับฮองซู (หงส์ดรุณ) สองคนนี้ถ้าได้มาเปนที่ปรึกษาด้วยแต่ผู้ใดผู้หนึ่ง ก็อาจสามารถจะคิดอ่านปราบปรามศัตรูแผ่นดินให้สงบได้"[8][9]

ในตอนที่ 47[i] ก่อนยุทธการที่เซ็กเพ็ก เจียวก้านแนะนำบังทองให้โจโฉ บังทองเสนอ "กลห่วงโซ่" (連環計 เหลียนหฺวันจี้) ให้กับโจโฉ แผนนี้คือการเชื่อมโยงเรือรบของโจโฉเข้าด้วยกันด้วยโซ่เหล็กที่แข็งแรง เพื่อทำให้ลำเรือมั่นคงมากขึ้นเวลาแล่น รวมถึงลดการเมาเรือของทหารโจโฉเพราะเรือโคลงเคลง แผนนี้ทำให้โจโฉพ่ายแพ้ในยุทธนาวีเพราะไม่สามารถแยกเรือออกจากกันได้ทันกาลขณะถูกโจมตีด้วยไฟ เมื่อเรือลำหนึ่งถูกจุดไฟ เรือลำอื่น ๆ ที่เชื่องโยงกันก็จะไหม้ไฟเช่นกัน[11][10][12]

การเสียชีวิตของบังทองระหว่างการศึกระหว่างเล่าปี่และเล่าเจี้ยงถูกดัดแปลงเสริมแต่งอย่างมากในตอนที่ 63[j] ในช่วงเริ่มต้นของยุทธการที่อำเภอลกเสีย ก่อนที่เล่าปี่และบังทองจะแยกกองกำลังเข้าโจมตีแบบสองทาง ม้าของบังทองเกิดพยศและสะบัดบังทองตกจากหลัง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ดูเป็นลางร้าย เล่าปี่จึงให้บังทองยืมม้ามีชื่อเสียงของตนที่ชื่อเต๊กเลา (的盧 ตี้หลู) แต่เต๊กเลานั้นเป็นม้าที่เชื่อกันว่านำโชคร้ายมาสู่ผู้ขี่ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยช่วยชีวิตเล่าปี่มาก่อนก็ตาม เตียวหยิมขุนพลของเล่าเจี้ยงผู้วางแผนซุ่มโจมตีใกล้อำเภอลกเสียสังเกตเห็นม้าเต๊กเลาแล้วเข้าใจผิดว่าผู้ขี่คือเล่าปี่ จึงสั่งทหารเกาทัณฑ์ให้ยิงไปที่ผู้ขี่ม้าเต๊กเลา บังทองถูกเกาทัณฑ์หลายดอกยิงเสียบร่างและเสียชีวิตในที่นั้น สถานที่ที่บังทองเสียชีวิตเรียกว่า "ลกห้องโห" (落鳳坡 ลั่วเฟิ่งพัว) หรือ"เนินหงส์ร่วง"[14][13]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

บังทองปรากฏเป็นตัวละครที่สามารถเล่นได้ในซีรีส์วิดีโอเกมของโคเอ ได้แก่ ไดนาสตีวอริเออส์, วอริเออส์โอโรจิ และ ไดนาสตีแทกติกส์

บังทองเป็นลูกศิษย์อัจฉริยะลำดับที่ 6 จากทั้งหมด 8 คนของอาจารย์คันฉ่องวารี (สุมาเต๊กโช) ในการ์ตูนจีน หงสาจอมราชันย์

หมายเหตุ[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 ชีวประวัติบังทองในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าบังทองเสียชีวิตขณะอายุ 36 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ระหว่างการล้อมอำเภอลกเสียซึ่งกินเวลาหนึ่งปีตั้งแต่ฤดูร้อน ค.ศ. 213 ถึง 214[ซานกั๋วจื้อ 1] แต่ในบันทึกประวัติศาสตร์ตามลำดับเหตุการณ์ในศตวรรษที่ 11 จือจื้อทงเจี้ยน ซือหม่า กวังระบุว่าบังทองเสียชีวิตในปี ค.ศ. 214[1] เมื่อคำนวณแล้วปีเกิดของบังทองจึงควรเป็นราว ค.ศ. 179
  2. "กงจิ่น" เป็นชื่อรองของจิวยี่ (โจฺว ยฺหวี)
  3. "จ้งโหมว" เป็นชื่อรองของซุนกวน
  4. "ขงเบ้ง" (ข่งหมิง) เป็นชื่อรองของจูกัดเหลียง
  5. ตามปฏิทินจันทรคติของจีน กวนอูเสียชีวิตในศักราชเจี้ยนอันปีที่ 24 โดยเสียชีวิตในเดือน 12 ของปีนั้น เทียบได้กับช่วงระหว่างวันที่ 23 มกราคมถึง 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 220 ในปฏิทินจูเลียน
  6. ตั๋งโหเสียชีวิตในปีนี้เช่นกัน
  7. เคาเจ้งและเล่าป๋าเสียชีวิตในปีนี้เช่นกัน
  8. เจียวจิ๋วเสื่อมเสียชื่อเสียงเพราะสนับสนุนเล่าเสี้ยนให้ยอมจำนนต่อวุยก๊กในปี ค.ศ. 263 ในช่วงที่วุยก๊กยกทัพบุกจ๊กก๊ก
  9. ตรงกับสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 41[10]
  10. ตรงกับสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 51[13]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

อ้างอิงจากจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ)[แก้]

  1. (為流矢所中,卒,時年三十六。) จดหมายเหตุวามก๊ก เล่มที่ 37.
  2. (...襄陽人也。少時樸鈍,未有識者。潁川司馬徽清雅有知人鑒,統弱冠往見徽,徽採桑於樹上,坐統在樹下,共語自晝至夜。徽甚異之,稱統當為南州士之冠冕,由是漸顯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  3. (性好人倫,勤於長養。每所稱述,多過其才,) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  4. (時人怪而問之,統答曰:「當今天下大亂,雅道陵遲,善人少而惡人多。方欲興風俗,長道業,不美其譚即聲名不足慕企,不足慕企而為善者少矣。今拔十失五,猶得其半,而可以崇邁世教,使有志者自勵,不亦可乎?」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  5. (吳將周瑜助先主取荊州,因領南郡太守。瑜卒,統送喪至吳,吳人多聞其名。及當西還,並會昌門,陸勣、顧劭、全琮皆往。統曰:「陸子可謂駑馬有逸足之力,顧子可謂駑牛能負重致遠也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  6. (謂全琮曰:「卿好施慕名,有似汝南樊子昭。雖智力不多,亦一時之佳也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  7. (績、劭謂統曰:「使天下太平,當與卿共料四海之士。」深與統相結而還。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  8. (先主領荊州,統以從事守耒陽令,在縣不治,免官。吳將魯肅遺先主書曰:「龐士元非百里才也,使處治中、別駕之任,始當展其驥足耳。」諸葛亮亦言之於先主,先主見與善譚,大器之,以為治中從事。親待亞於諸葛亮,遂與亮並為軍師中郎將。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  9. (亮留鎮荊州。統隨從入蜀。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  10. (益州牧劉璋與先主會涪,統進策曰:「今因此會,便可執之,則將軍無用兵之勞,而坐定一州也。」先主曰:「初入他國,恩信未著,此不可也。」璋旣還成都,先主當為璋北征漢中,...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  11. (璋既還成都,先主當為璋北征漢中,統復說曰:「陰選精兵,晝夜兼道,徑襲成都;璋既不武,又素無預備,大軍卒至,一舉便定,此上計也。楊懷、高沛,璋之名將,各仗彊兵,據守關頭,聞數有牋諫璋,使發遣將軍還荊州。將軍未至,遣與相聞,說荊州有急,欲還救之,並使裝束,外作歸形;此二子既服將軍英名,又喜將軍之去,計必乘輕騎來見,將軍因此執之,進取其兵,乃向成都,此中計也。退還白帝,連引荊州,徐還圖之,此下計也。若沈吟不去,將致大因,不可久矣。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  12. (先主然其中計,即斬懷、沛,還向成都,所過輒克) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  13. (先主然其中計,即斬懷、沛,還向成都,所過輒克。於涪大會,置酒作樂,謂統曰:「今日之會,可謂樂矣。」統曰:「伐人之國而以為歡,非仁者之兵也。」先主醉,怒曰:「武王伐紂,前歌後舞,非仁者邪?卿言不當,宜速起出!」於是統逡巡引退。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  14. (先主尋悔,請還。統復故位,初不顧謝,飲食自若。先主謂曰:「向者之論,阿誰為失?」統對曰:「君臣俱失。」先主大笑,宴樂如初) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  15. (進圍雒縣,統率衆攻城,為流矢所中,卒,時年三十六。先主痛惜,言則流涕。 ... 追賜統爵關內侯,謚曰靖侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  16. ([景耀]三年秋九月,追謚故將軍關羽、張飛、馬超、龐統、黃忠。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 33.
  17. (拜統父議郎,遷諫議大夫,諸葛亮親為之拜。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  18. (統弟林,以荊州治中從事參鎮北將軍黃權征吳,值軍敗,隨權入魏,魏封列侯,至鉅鹿太守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  19. (統子宏,字巨師,剛簡有臧否,輕傲尚書令陳袛,為袛所抑,卒於涪陵太守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  20. (評曰:龐統雅好人流,經學思謀,于時荊﹑楚謂之高俊....儗之魏臣,統其荀彧之仲叔,正其程﹑郭之儔儷邪?) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  21. (軍師美至,雅氣曄曄。致命明主,忠情發臆。惟此義宗,亡身報德。〈贊龐士元〉) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.

อ้างอิงจากอรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้)[แก้]

  1. (襄陽記曰:諸葛孔明為卧龍,龐士元為鳳雛,司馬德操為水鏡,皆龐德公語也。) อรรถาธิบายจากเซียยงหยางจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  2. (德公,襄陽人。孔明每至其家,獨拜床下,德公初不令止。德操嘗造德公,值其渡沔,上祀先人墓,德操徑入其室,呼德公妻子,使速作黍,「徐元直向云有客當來就我與龐公譚。」其妻子皆羅列拜於堂下,奔走供設。須臾,德公還,直入相就,不知何者是客也。德操年小德公十歲,兄事之,呼作龐公,故世人遂謂龐公是德公名,非也。) อรรถาธิบายจากเซียงหยางจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  3. (德公子山民,亦有令名,娶諸葛孔明小姊,為魏黃門吏部郎,早卒。子渙,字世文,晉太康中為牂牁太守。統,德公從子也,少未有識者,惟德公重之,年十八,使往見德操。德操與語,既而歎曰:「德公誠知人,此實盛德也。」) อรรถาธิบายจากเซียยงหยางจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  4. (張勃吳錄曰:或問統曰:「如所目,陸子為勝乎?」統曰:「駑馬雖精,所致一人耳。駑牛一日行三百里,所致豈一人之重哉!」劭就統宿,語,因問:「卿名知人,吾與卿孰愈?」統曰:「陶冶世俗,甄綜人物,吾不及卿;論帝王之秘策,攬倚伏之要最,吾似有一日之長。」劭安其言而親之。) อรรถาธิบายจากอู๋ลู่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  5. (江表傳曰:先主與統從容宴語,問曰:「卿為周公瑾功曹,孤到吳,聞此人密有白事,勸仲謀相留,有之乎?在君為君,卿其無隱。」統對曰:「有之。」備歎息曰:「孤時危急,當有所求,故不得不往,殆不免周瑜之手!天下智謀之士,所見略同耳。時孔明諫孤莫行,其意獨篤,亦慮此也。孤以仲謀所防在北,當賴孤為援,故決意不疑。此誠出於險塗,非萬全之計也。」) อรรถาธิบายจากเจียงเปี่ยวจวั้น ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  6. (九州春秋曰:統說備曰:「荊州荒殘,人物殫盡,東有吳孫,北有曹氏,鼎足之計,難以得志。今益州國富民彊,戶口百萬,四部兵馬,所出必具,寶貨無求於外,今可權借以定大事。」) อรรถาธิบายจากจิ่วโจวชุนชิว ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  7. (備曰:「今指與吾為水火者,曹操也,操以急,吾以寬;操以暴,吾以仁;操以譎,吾以忠;每與操反,事乃可成耳。今以小故而失信義於天下者,吾所不取也。」) อรรถาธิบายจากจิ่วโจวชุนชิว ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  8. (統曰:「權變之時,固非一道所能定也。兼弱攻昧,五伯之事。逆取順守,報之以義,事定之後,封以大國,何負於信?今日不取,終為人利耳。」備遂行。) อรรถาธิบายจากจิ่วโจวชุนชิว ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  9. (習鑿齒曰:夫霸王者,必體仁義以為本,仗信順以為宗,一物不具,則其道乖矣。今劉備襲奪璋土,權以濟業,負信違情,德義俱愆,雖功由是隆,宜大傷其敗,譬斷手全軀,何樂之有?龐統懼斯言之泄宣,知其君之必悟,故眾中匡其失,而不脩常謙之道,矯然太當,盡其蹇諤之風。夫上失而能正,是有臣也,納勝而無執,是從理也;有臣則陛隆堂高,從理則群策畢舉;一言而三善兼明,暫諫而義彰百代,可謂達乎大體矣。若惜其小失而廢其大益,矜此過言,自絕遠讜,能成業濟務者,未之有也。) อรรถาธิบายของสี จั้วฉื่อในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  10. (臣松之以為謀襲劉璋,計雖出於統,然違義成功,本由詭道,心既內疚,則歡情自戢,故聞備稱樂之言,不覺率爾而對也。備宴酣失時,事同樂禍,自比武王,曾無愧色,此備有非而統無失,其云「君臣俱失」,蓋分謗之言耳。習氏所論,雖大旨無乖,然推演之辭,近為流宕也。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  11. (襄陽記云:[龐]林婦,同郡習禎姉。禎事在楊戲輔臣贊。曹公之破荊州,林婦與林分隔,守養弱女十有餘年,後林隨黃權降魏,始復集聚。魏文帝聞而賢之,賜牀帳衣服,以顯其義節。) อรรถาธิบายจากเซียงหยางจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.

รายการอ้างอิงอื่น ๆ[แก้]

  1. Sima (1084), vol. 67.
  2. de Crespigny (2007), p. 689.
  3. 昭化古城001 [Zhaohua Gucheng 001] (4 June 2014). "庞统祠墓 [Pang Tong Shrine and Tomb]". zhjmg.com (ภาษาจีน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2015. สืบค้นเมื่อ 1 January 2015.
  4. (龐德公以孔明為臥龍,以士元為鳳雛,則士元之齒當少於孔明。孔明卒時年五十四,而士元先卒二十有二年,則士元物故,尚未三十也,豈不惜哉!建安二十四年,先主始王漢中,是歲關羽卒,明年黃忠、法正卒,又明年張飛卒,又明年馬超、馬良卒。) กรณีเบ็ดเตล็ดสามก๊ก
  5. (基業未就,而一時功臣相繼淪謝,如有物奪之者。明年,後主踐祚,而舊人獨有孔明、趙雲。後七年,雲卒,又五年,孔明卒,而勳舊於是乎盡。) กรณีเบ็ดเตล็ดสามก๊ก
  6. (正卒時四十五,超四十七,良三十五,自餘不著其年。飛傳稱少與羽俱事先主,羽年長數歲,飛兄事之,則飛卒年才五十許。霍峻年四十。) กรณีเบ็ดเตล็ดสามก๊ก
  7. (此數傑者,皆以高才早世,而譙周至七十餘而終,天不祚漢,明矣。) กรณีเบ็ดเตล็ดสามก๊ก
  8. สามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ตอนที่ 35.
  9. "สามก๊ก ตอนที่ ๓๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 27, 2023.
  10. 10.0 10.1 "สามก๊ก ตอนที่ ๔๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 27, 2023.
  11. สามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ตอนที่ 47-50.
  12. "สามก๊ก ตอนที่ ๔๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 27, 2023.
  13. 13.0 13.1 "สามก๊ก ตอนที่ ๕๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 27, 2023.
  14. สามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ตอนที่ 63.

บรรณานุกรม[แก้]