ซินเบ้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ซินเป๋ง)
ซินเบ้ง (ซิน ผิง)
辛評
เกิดไม่ทราบ
นครยฺหวี่โจว มณฑลเหอหนาน
เสียชีวิตไม่ทราบ
ชื่ออื่นจ้งจื้อ (仲治)
อาชีพขุนนาง
ญาติซินผี (น้องชาย)

ซินเบ้ง หรือ ซินเป๋ง[a] (มีบทบาทในช่วงทศวรรษ 190-ค.ศ. 204) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซิน ผิง (จีน: 辛評) ชื่อรอง จ้งจื้อ (จีน: 仲治) เป็นขุนนางชาวจีนที่รับใช้ขุนศึกฮันฮก อ้วนเสี้ยว และอ้วนถำในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[2]

ประวัติ[แก้]

ซินเบ้งเป็นชาวอำเภอหยางจ๋าย (陽翟縣 หยางจ๋ายเซี่ยน) เมืองเองฉวน (潁川郡 อิ่งชฺวานจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณนครยฺหวี่โจว มณฑลเหอหนาน[3] บรรพบุรุษของซินเบ้งแท้จริงแล้วเป็นชาวเมืองหลงเส (隴西郡 หล่งซีจฺวิ้น; ปัจจุบันคือบริเวณนครติ้งซี มณฑลกานซู่) แต่ย้ายถิ่นไปเมืองเองฉวนในช่วงศักราชเจี้ยนอู่ (建武; ค.ศ. 25-56) ในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นกองบู๊ (漢光武帝 ฮั่นกวังอู่ตี้) ในช่วงต้นยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[4]

ซินเบ้งเริ่มทำงานในฐานะที่ปรึกษาของขุนศึกฮันฮกผู้ปกครองมณฑลกิจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลเหอเป่ย์ในปัจจุบัน) ตั้งแต่ ค.ศ. 189 ถึง ค.ศ. 191 ในปี ค.ศ. 191 ซินเบ้งพร้อมด้วยซุนซิมและกัวเต๋าโน้มน้าวให้ฮันฮกยอมมอบอำนาจปกครองมณฑลกิจิ๋วให้อ้วนเสี้ยวที่เป็นขุนศึกอีกคน โดยกล่าวว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมกว่าในการป้องกันกิจิ๋วจากการบุกของกองซุนจ้านที่เป็นขุนศึกอริ[5] ต่อมาซินเบ้งจึงกลายเป็นขุนนางผู้รับใช้อ้วนเสี้ยว ซินเบ้งพาซินผีที่เป็นน้องชายมาเป็นขุนนางของอ้วนเสี้ยวด้วย[6]

ในปี ค.ศ. 200 อ้วนเสี้ยวรบกับโจโฉในยุทธการที่กัวต๋อ ระหว่างยุทธการ บุตรชายสองคนของสิมโพยที่ปรึกษาของอ้วนเสี้ยวถูกทัพของโจโฉจับตัวไป เมิ่ง ไต้ (孟岱) ผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งของอ้วนเสี้ยวไม่ถูกกันกับสิมโพย จึงขอให้เจียวกี๋ (蔣奇 เจี่ยง ฉี) ที่เป็นเพื่อนนายทหารนำข้อความไปส่งถึงอ้วนเสี้ยวว่า "สิมโพยมีพฤติกรรมเผด็จการและได้การสนับสนุนอย่างมากจากเครือญา่ติ บัดนี้บุตรชายสองคนของสิมโพมถูกข้าศึกจับตัวไป สิมโพยอาจจะคิดแปรพักตร์ไปเข้าด้วยข้าศึกเพื่อช่วยบุตรชาย" ซินเบ้งและกัวเต๋าที่เป็นเพื่อนขุนนางเห็นด้วยกับเมิ่ง ไต้ อ้วนเสี้ยวจึงตั้งให้เมิ่ง ไต้เป็นผู้ดูแลการทัพคนใหม่และสั่งให้ไปแทนที่สิมโพยในฐานะขุนนางผู้รักษาฐานที่มั่นในเมืองเงียบกุ๋น (ปัจจุบันคือนครหานตาน มณฑลเหอเป่ย์)[7]

ในปี ค.ศ. 202 สองปีหลังการพ่ายแพ้ยับเยินในยุทธการที่กัวต๋อ อ้วนเสี้ยวเสียชีิวตโดยไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าบุตรชายคนใดจะสืบทอดอำนาจต่อจากตน การแย่งชิงการเป็นผู้สืบทอดอำนาจจึงเกิดขึ้นระหว่างบุตรชายสองคนของอ้วนเสี้ยวคืออ้วนถำและอ้วนซง ผู้ติดตามของอ้วนเสี้ยวก็แบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งนำโดยสิมโพยและฮองกี๋สนับสนุนอ้วนซงและช่วยเหลือในการเข้าคุมอำนาจในเมืองเงียบกุ๋น อีกฝ่ายหนึ่งนำโดยซินเบ้งและกัวเต๋า สนับสนุนอ้วนถำซึ่งฐานกำลังในอำเภอเพงงวนก๋วน (平原縣 ผิงยฺเหวียนเซี่ยน) จากนั้นสองพี่น้องแซ่อ้วนก็ทำศึกรบกันเอง[8][9]

ในปี ค.ศ. 203 เมื่ออ้วนซงโจมตีอ้วนถำที่อำเภอเพงงวนก๋วน กัวเต๋าแนะนำอ้วนถำให้สงบศึกกับโจโฉและเป็นพันธมิตรกับโจโฉในการโต้ตอบอ้วนซง หลังจากที่อ้วนถำตกลงอย่างไม่เต็มใจ กัวเต๋าจึงเสนอให้ซินผีน้องชายของซินเบ้งเป็นตัวแทนของอ้วนถำไปพบกับโจโฉ[10][11] ซินผีทำภารกิจสำเร็จ สามารถโน้มน้าวให้โจโฉช่วยเหลืออ้วนถำ จากนั้นโจโฉจึงนำทัพไปยังลิหยง (黎陽 หลีหยาง; ปัจจุบันคืออำเภอซฺวิ่น มณฑลเหอหนาน)[12]

ก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างอ้วนซงและอ้วนถำเป็นครั้งแรก ซินผีน้องชายของซินเบ้งติดตามอ้วนถำไปอำเภอเพงงวนก๋วน แต่ทิ้งสมาชิกครอบครัวไว้ในฐานกำลังของอ้วนซงที่เงียบกุ๋น ภายหลังอ้วนซงมีคำสั่งให้จับกุมคนในตระกูลซินและนำตัวไปขังคุก ต่อมาในปี ค.ศ. 204[8] โจโฉนำทัพเข้าโจมตีอ้วนซงในยุทธการที่เงียบกุ๋น เมื่อทัพโจโฉฝ่าแนวป้องกันของเมืองเงียบกุ๋นมาได้ สิมโพยซึ่งรับผิดชอบป้องกันเงียบกุ๋นกล่าวโทษซินผีว่าเป็นผู้ทำให้ตระกูลอ้วนล่มจม จึงสั่งคนให้ประหารชีวิตเหล่าคนในตระกูลซินในคุก หลังเงียบกุ๋นตกเป็นของทัพโจโฉ ซินผีซึงเวลานั้นอยู่กับโจโฉรีบไปที่คุกเพื่อปลดปล่อยครอบครัวของตนแต่ไม่ทันกาลเพราะคนในครอบครัวทั้งหมดเสียชีวิตไปแล้ว[13]

ไม่ทราบแน่ชัดว่าซินเบ้งถูกประหารชีวิตพร้อมกับครอบครัวหรือไม่ และไม่มีการกล่าวถึงซินเบ้งเพิ่มเติมในบันทึกประวัติศาสตร์อีก

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 6[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. ("ฮันฮกแจ้งในหนังสืออ้วนเสี้ยวแล้วจึงปรึกษากับซุนซิมซินเป๋งว่า กองซุนจ้านจะยกมาตีเมืองเรานี้ จะคิดประการใด") "สามก๊ก ตอนที่ ๖". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ June 28, 2023.
  2. de Crespigny (2007), p. 897.
  3. (辛毗字佐治,潁川陽翟人也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 25.
  4. (其先建武中,自隴西東遷。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 25.
  5. Sima (1084), vol. 60.
  6. (毗隨兄評從袁紹。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 25.
  7. (官渡之敗,審配二子為曹操所禽。孟岱與配有隙,因蔣奇言於紹曰:「配在位專政,族大兵強,且二子在南,必懷反畔。」郭圖、辛評亦為然。紹遂以岱為監軍,代配守鄴。) โฮฺ่วฮั่นชู เล่มทืี่ 74 (บรรพ 1).
  8. 8.0 8.1 Sima (1084), vol. 64.
  9. (英雄記曰:審配任用,與紀不睦,辛評、郭圖皆比於譚。) อรรถาธิบายจากอิงสฺยงจี้ใน โฮฺ่วฮั่นชู เล่มที่ 74 (บรรพ 1).
  10. (及袁尚攻兄譚於平原,譚使毗詣太祖求和。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 25.
  11. (英雄記曰:譚、尚戰於外門,譚軍敗奔北。郭圖說譚曰:「今將軍國小兵少,糧匱勢弱,顯甫之來,久則不敵。愚以為可呼曹公來擊顯甫。曹公至,必先攻鄴,顯甫還救。將軍引兵而西,自鄴以北皆可虜得。若顯甫軍破,其兵奔亡,又可斂取以拒曹公。曹公遠僑而來,糧餉不繼,必自逃去。比此之際,趙國以北皆我之有,亦足與曹公為對矣。不然,不諧。」譚始不納,後遂從之。問圖:「誰可使?」圖荅:「辛佐治可。」譚遂遣毗詣太祖。) อรรถาธิบายจากอิงสฺยงจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 25.
  12. (太祖曰:「善。」乃許譚平,次于黎陽。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 25.
  13. (先賢行狀曰: ... 初,譚之去,皆呼辛毗、郭圖家得出,而辛評家獨被收。及配兄子開城門內兵,時配在城東南角樓上,望見太祖兵入,忿辛、郭壞敗兾州,乃遣人馳詣鄴獄,指殺仲治家。是時,辛毗在軍,聞門開,馳走詣獄,欲解其兄家,兄家已死。) อรรถาธิบายจากเซียนเสียนสิงจฺว้างในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 6.