ถนนเยาวราช
ถนนเยาวราช | |
---|---|
บรรยายกาศของเยาวราชยามค่ำคืนและร้านอาหารริมทาง | |
ข้อมูลของเส้นทาง | |
ประวัติ | |
มีขึ้นเมื่อ | พ.ศ. 2443–ปัจจุบัน |
ทางแยกที่สำคัญ | |
ปลายทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ | ถนนเจริญกรุง ในเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร |
| |
ปลายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ | ถนนจักรเพชร/ถนนพีระพงษ์/ถนนมหาไชย ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
ถนนเยาวราช (อักษรโรมัน: Thanon Yaowarat; จีน: 耀華力路) เป็นถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ระยะทางความยาวตลอดเส้นทางประมาณ 1,510 เมตร (1.510 กิโลเมตร) ได้รับการกล่าวขานและขนานนามว่าเป็น "ถนนมังกร" โดยมีจุดเริ่มต้นของหัวมังกรที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาบริเวณวงเวียนโอเดียน ท้องมังกรอยู่ที่บริเวณตลาดเก่าเยาวราชและสิ้นสุดปลายหางมังกรที่บริเวณปลายสุดของถนน[1] สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้ระยะเวลาในการตัดถนน 8 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2434–2443 เพื่อให้เยาวราชกลายเป็นสถานที่สำหรับส่งเสริมการค้าขาย เดิมทีชื่อ "ถนนยุพราช" และได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "ถนนเยาวราช"[2] ถนนเยาวราชประกอบไปด้วยจุดสำคัญหลายจุดเช่น วงเวียนโอเดียน, ถนนเจริญกรุง ซึ่งอยู่ในท้องที่แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของถนนเยาวราชตัดกับถนนทรงสวัสดิ์ (สี่แยกเฉลิมบุรี), ถนนราชวงศ์ (สี่แยกราชวงศ์) และถนนจักรวรรดิ (สี่แยกวัดตึก) ข้ามคลองรอบกรุง (สะพานภาณุพันธุ์) เข้าสู่ท้องที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร สิ้นสุดที่แยกถนนพีระพงษ์ตัดกับถนนมหาไชยและถนนจักรเพชร
บริเวณถนนเยาวราชเป็นแหล่งชุมชนชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก จัดเป็นย่านธุรกิจการค้า, การเงิน การธนาคาร, ร้านทอง, ภัตตาคาร ร้านอาหาร, ร้านค้า ฯลฯ รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครโดยได้รับการขนานนามว่าเป็น "ไชนาทาวน์แห่งกรุงเทพมหานคร" จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ[3] และถือว่าเป็นไชนาทาวน์หรือชุมชนชาวจีนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก[4]
ประวัติ
[แก้]ถนนเยาวราชเป็นถนนที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามโครงการถนนอำเภอสามพ็งซึ่งเป็นนโยบายสร้างถนนในท้องที่ที่เจริญแล้วเพื่อส่งเสริมการค้าขาย สำเพ็งเป็นย่านการค้าที่เจริญมากแห่งหนึ่งนอกเหนือจากบริเวณถนนเจริญกรุงแล้ว ทำให้มีพระราชดำริที่จะสร้างถนนให้มากขึ้น ถนนเยาวราชเป็น 1 ใน 18 ถนนที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ขณะดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ) เสนอให้สร้าง เช่น ถนนจักรวรรดิ, ถนนราชวงศ์, ถนนอนุวงศ์ โดยในเวลานั้นสภาพของพื้นที่ ๆ จะกลายมาเป็นถนนเยาวราช มีสภาพเป็นท้องทุ่งนาและลำคลอง[4]
ถนนเยาวราชเริ่มตั้งแต่คลองรอบกรุงตรงข้ามกับป้อมมหาไชย ตัดลงไปทางทิศใต้บรรจบกับถนนราชวงศ์ซึ่งสร้างแยกจากถนนเจริญกรุงตรงไปฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ท่าราชวงศ์) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์กราบบังคมทูลว่าจะสร้างถนนใน พ.ศ. 2434 โดยให้ชื่อถนนว่า "ถนนยุพราช" ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "ถนนเยาวราช" และในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2434 ได้มีพระบรมราชโองการให้ออกประกาศกรมโยธาธิการแจ้งให้ราษฎรทราบว่า การตัดถนนเยาวราชเนื่องจากมีพระราชประสงค์จะให้บ้านเมืองเจริญและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปเพื่อมิให้ราษฎรพากันตกใจขายที่ดินไปในราคาถูก เพราะเข้าใจว่าจะซื้อเป็นของหลวง หรือบางทีเข้าใจว่าการชิงขายเสียก่อน ถึงจะได้ราคาน้อยก็ยังดีกว่าจะสูญเปล่า และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตึกที่ยื่นล้ำเข้ามาในแนวถนนไม่เกินกว่า 1 วา ไม่ต้องรื้อถอนด้วย
ปรากฏในเอกสารของกรมโยธาธิการว่าเมื่อเจ้าพนักงานไปวัดที่ตัดถนนบริเวณตำบลตรอกเต๊านั้น ราษฎรร้องเรียนว่าเจ้าพนักงานไม่ยุติธรรม เพราะถ้าวัดปักไม้ถูกบ้านของผู้มีบรรดาศักดิ์ก็จะเลี่ยงไปปักที่ใหม่ ถูกแต่ที่ราษฎรทั้งสิ้น ทำให้แนวถนนไม่ตรง ราษฎรที่ตรอกเต๊าจึงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์จึงเสนอให้มีเงินค่าเวนคืนที่ดินหรือคำทำขวัญขึ้นเช่นเดียวกับที่คนในบังคับต่างประเทศได้รับ โดยได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเมื่อ พ.ศ. 2437 และได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าปรึกษาในที่ประชุมรัฐมนตรีสภา ซึ่งมีพระราชดำรัสว่า "ถนนสายเดียวซึ่งผู้ที่ไม่ได้ขัดขวางยอมให้ทำล่วงไปแล้วจะไม่ได้รับรางวัล จะได้แต่ผู้ที่ร้องขัดขวางเช่นนี้ก็เป็นที่น่าสงสารอยู่" แต่อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเห็นชอบในการจ่ายค่าที่ดินแก่คนไทยเช่นเดียวกับคนในบังคับต่างประเทศ เพื่อคนไทยจะได้ไม่เสียเปรียบคนต่างประเทศ
การสร้างถนนเยาวราชประสบอุปสรรคหลายประการนับแต่เริ่มกรุยทางใน พ.ศ. 2435 จนถึง พ.ศ. 2438 ก็ยังไม่เสร็จ เพราะนอกจากราษฎรจะขัดขวางแล้วยังปรากฏว่า เจ้าของที่ดินหลายรายขวนขวายที่จะขายที่ดินให้กับคนในบังคับต่างประเทศ ทำให้การก่อสร้างค่อนข้างล่าช้า เพราะกระทรวงนครบาลไม่อาจจัดการเรื่องที่ดินที่ถนนจะต้องตัดผ่านให้กับกรมโยธาธิการได้ ปรากฏว่าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการได้มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาลเกี่ยวกับการมอบที่ดินที่อยู่ในแนวถนนให้กระทรวงโยธาธิการ ขอให้กระทรวงนครบาลจัดการในกรณีที่คนในบังคับต่างประเทศจะมาทำหนังสือซื้อขายหรือจำนำที่ดินที่ได้กรุยทางสร้างถนนเยาวราชไว้โดยสั่งให้เจ้าพนักงานหรืออำเภอกำนันให้ทราบว่าเป็นที่ทำถนนอย่าให้รับทำหนังสือซื้อขาย "ขอกระทรวงเมืองได้โปรดประทานพระอนุญาตให้ราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำเนินไปโดยสดวกด้วย" แต่กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ทรงอ้างว่าต้องทรงรอคำวินิจฉัยจากที่ประชุมเสนาบดีในเรื่องที่ราษฎรร้องเรียนกันขึ้นมาว่าการตัดถนนผ่านที่ดินเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม และปรากฏหนังสือโต้ตอบกันระหว่างเสนาบดีทั้ง 2 กระทรวงนี้ เพราะกระทรวงโยธาธิการก็ต้องการสร้างถนนให้เสร็จสิ้น ขณะที่กระทรวงนครบาลพยายามที่จะให้ราษฎรได้รับเงินค่าที่ดินจากรัฐบาล จึงรอพระบรมราชโองการเกี่ยวกับเรื่องนี้ และยังไม่มอบที่ดินให้กระทรวงโยธาธิการ ถึงกับกรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิธาดาทรงระบุว่า กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ทรงพระเมตตากับราษฎรบริเวณถนนเยาวราชกว่าราษฎรในแนวถนนอื่น ๆ กรมโยธาธิการจึงต้องดำเนินการสร้างถนนส่วนที่ไม่มีปัญหาและที่ดินที่เป็นของหลวงก่อน
จนกระทั่งใน พ.ศ. 2441 ปัญหาเรื่องที่ดินซึ่งจะต้องตัดถนนผ่านก็ยังไม่ยุติ ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้กระทรวงโยธาธิการดำเนินการตัดถนนต่อไป เพราะมีพระราชดำริว่าที่ดินซึ่งถูกตัดถนนผ่านไปนั้น ย่อมทวีราคาขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายสิบเท่าเป็นประโยชน์แก่เจ้าของมาก ไม่ควรจะเสียดายที่ดินซึ่งเป็นท้องถนนแต่เพียงเล็กน้อย เพราะรัฐบาลที่ลงทุนทำถนนก็ไม่ได้เก็บเงินค่าคนหรือรถม้าที่เดินบนถนนเลย เพื่อบำรุงการค้าขายให้สะดวก เจ้าของจึงไม่ควรหวงแหน และโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์และกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดาปรึกษากันต่อหน้าพระที่นั่งว่าจะทำอย่างไรให้การตัดถนนสายนี้สำเร็จลงได้ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์จึงทรงรับที่จะออกประกาศให้เจ้าของที่ดินออกจากที่ดิน หากเจ้าของที่ดินไม่ยอมรื้อก็ให้กระทรวงโยธาธิการแจ้งไปที่กระทรวงนครบาล และให้กระทรวงนครบาลเป็นผู้ให้กรมอัยการฟ้อง ทำให้การตัดถนนเยาวราชดำเนินการต่อไปได้[5]
เมื่อแรกตัดถนนเยาวราชใหม่ ๆ นั้น มีชาวจีนอยู่อาศัยกันหนาแน่น แม้ต่อมาถนนเยาวราชก็ยังคงมีความสำคัญ เพราะเป็นย่านร้านอาหารชั้นนำ ตึกที่สร้างสูงที่สุดตึกแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ก็สร้างที่ถนนเยาวราชเป็นแห่งแรก ช่วง พ.ศ. 2500 ถนนเยาวราชรถยังวิ่งสวนทางกัน มีรถเมล์สาย 23 หรือที่เรียกกันว่า "เมล์แดง" และรถเมล์สาย 24 ที่เรียกกันว่า "ไทยประดิษฐ์" วิ่งสวนทางกัน และมีรถรางวิ่งอยู่อีกช่องทางหนึ่ง ถนนเยาวราชจะเป็นที่จัดงานประจำปีอยู่เนือง ๆ โดยจะปิดการจราจรชั่วคราว เป็น "ถนนคนเดิน" มีการขายอาหารจีนที่มีชื่อ การแสดง และออกร้านมากมายจากร้านค้าที่อยู่สองข้างทาง
รัชกาลที่ 8 เสด็จประพาส
[แก้]ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรด้วยการพระราชดำเนินที่เยาวราช สำเพ็ง ตั้งแต่เวลา 09.00 น. จนถึงเที่ยง เป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร ยังความปิติยินดีอย่างมากต่อชาวเยาวราช ซึ่งได้จัดซุ้มเฉลิมพระเกียรติถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ ในครั้งนั้นพระองค์ได้เสด็จเข้าไปเยี่ยมเยียนถึงในบ้านพักและร้านค้าของราษฎรอย่างใกล้ชิด และในเวลาเที่ยง ได้เสวยพระกระยาหารเที่ยงที่ชาวเยาวราชจัดถวาย ที่สมาคมพ่อค้าไทย-จีน ถนนสาทร
เนื่องด้วยในเวลานั้นมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างคนไทยกับคนไทยเชื้อสายจีนหรือชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านเยาวราช ถึงกับมีการทำร้ายร่างกายคนไทยที่เข้าไปในบริเวณนี้ อันเนื่องมาจากความฮึกเหิมในเชื้อชาตินิยมหลังจากการที่จีนเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจ หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรครั้งนี้นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งที่ต้องจารึกไว้ อันเป็นการสลายความขัดแย้งทั้งหมดไปได้[6]
เทศกาล
[แก้]เทศกาลตรุษจีน
[แก้]ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี เยาวราชจะมีความคึกคักเป็นอย่างมาก จนมีการปิดถนนเป็นถนนคนเดิน มีการประดับโคมไฟสีแดงจำนวนมากเพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อของจีน โดยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง เช่น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มักจะเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานเป็นประจำทุกปี ด้วยการดำเนิน[7] [8]
เทศกาลกินเจ
[แก้]ในช่วงเทศกาลกินเจ เยาวราชก็มีความคึกคักเช่นเดียวกัน โดยจะมีผู้คนออกมาจับจ่ายหาซื้ออาหารเจเป็นจำนวนมากเป็นประจำทุกปี[9][10]
อาคาร
[แก้]ตึกแถว
[แก้]ตึกแถวริมถนนเยาวราชที่พิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ปรากฏตึกแถวตั้งแต่สูง 2 ชั้น ไปจนถึงตึกแถวที่มีขนาดสูงถึง 7–9 ชั้น[11] มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมพอสังเขปดังนี้
- ตึกฝั่งซ้ายของถนนบริเวณหัวมุมถนนมหาจักรตัดกับถนนราชวงศ์ เป็นตึกก่ออิฐถือปูนผสมไม้สูง 3 ชั้น เหนือบานหน้าต่างประดับลายปูนปั้น เสาเป็นแบบคอรินเทียน บริเวณระเบียง กันสาด และช่องลม ประดับด้วยไม้ฉลุลาย
- อาคารสูง 7 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณฝั่งขวาของถนนเยาวราช ใกล้มุมที่ถนนทรงสวัสดิ์ตัดผ่าน โครงสร้างอาคารเชื่อมต่อกันทั้ง 7 ชั้น การตกแต่งอาคารมีเพียงเสาอิงแบบเรียบ แต่งผนังตอนบนเป็นร่องในแนวดิ่ง และการประดับกระจกที่ผนัง
- อาคารสูง 9 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของถนนเยาวราชก่อนถึงถนนมังกร ลวดลายประดับปรากฏเพียง 3 ชั้นล่างเท่านั้น เป็นลายพวงมาลัยและช่อดอกไม้ประกอบกับเสาซุ้มประตูทั้งเสากลมและเสาเหลี่ยมประดับลายปูนปั้น
ศาสนสถาน
[แก้]เยาวราชรวมไปถึงฝั่งถนนเจริญกรุงและถนนอื่น ๆ ใกล้เคียงเป็นแหล่งที่ตั้งของศาสนสถานมากมายหลายแห่ง ในหลากหลายความเชื่อทั้งพุทธหินยาน, มหายาน รวมถึงอนัมนิกาย[12], คริสต์ และอิสลาม[13] เช่น ศาลเจ้ากวนอูถึง 3 แห่ง (ศาลเจ้าโจวซือกง, ศาลเจ้ากวางตุ้งและตลาดเก่า), ศาลเจ้าแม่กวนอิม 3 แห่ง (มูลนิธิเทียนฟ้า, วัดกันมาตุยารามและใกล้กับท่าน้ำราชวงศ์), ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ, ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง, วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร (วัดสามจีน), วัดชัยชนะสงคราม (วัดตึก), วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร (วัดเกาะ), วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร (วัดสำเพ็ง), วัดคณิกาผล, (วัดใหม่ยายแฟง), วัดโลกานุเคราะห์ (ตื้อเต้ตื่อ), วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่), วัดชัยภูมิการาม (ตี๊หง่านตื่อ), วัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่งฮกยี่), มัสยิดหลวงโกชา อิศหาก[13], วัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) เป็นต้น[14] [15]
ธุรกิจการค้า
[แก้]เยาวราชเป็นแหล่งรวมธุรกิจการค้าต่าง ๆ หลากหลายประเภท เช่น เทปและซีดีสวดมนต์รวมไปถึงเพลงของจีน, ของเล่นเด็ก, ชุดกี่เพ้า, โคมไฟและผ้าแดงมงคล, เครื่องประดับ, ปฏิทิน, อาหารแห้ง, ห้างทอง รวมไปถึงโรงแรมที่พักต่าง ๆ
ในส่วนของห้างทอง หรือร้านขายทองนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก จนทำให้เยาวราชได้ชื่อว่าเป็น "ถนนสายทองคำ" หลายร้านมีอายุความเก่าแก่มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เฉพาะในปี พ.ศ. 2545 มีการรวบรวมจำนวนร้านขายทองทั้งหมดเฉพาะแค่ฝั่งถนนเยาวราชมีถึง 40 ร้าน และอาณาบริเวณรอบข้างอีก 132 ร้าน จนจัดได้ว่าเยาวราชเป็นถนนหรือแหล่งรวมร้านขายทองไว้มากที่สุดของประเทศไทย [4]
โดนร้านขายทองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คือ ห้างทองตั้งโต๊ะกัง ที่มีประวัติย้อนไปได้ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันก็ยังคงดำเนินกิจการอยู่ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในถนนมังกร ทางด้านซ้ายของถนนเยาวราช ตัวอาคารเป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบโบราณ 7 ชั้น ซึ่งด้านบนเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ทองคำ และยังเคยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย[16]
นอกจากนี้แล้ว เยาวราชในอดีตยังเป็นแหล่งรวบรวมความบันเทิงต่าง ๆ เช่น โรงภาพยนตร์และโรงงิ้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันได้เลิกกิจการไปหมดแล้ว[17] และยังเป็นแหล่งรวมธุรกิจที่ผิดกฎหมายหรือหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมอีกด้วย เช่น บ่อนการพนัน หรือซ่องโสเภณี โดยสถานที่ ๆ มีชื่อเสียงอย่างมาก คือ ตรอกเต๊า (ซอยเยาวราช 8 ในปัจจุบัน), ย่านสำเพ็ง [18] และตึก 7 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทยในเวลานั้น [19]
ซึ่งผลจากธุรกิจที่หลากหลายอันนี้ ทำให้ราคาซื้อขายที่ดินที่เยาวราชยังติดอันดับที่ดินราคาแพงที่สุดลำดับต้น ๆ ในประเทศไทยอีกด้วย[20]
อาหาร
[แก้]ภัตตาคารหรือร้านอาหารส่วนใหญ่ในย่านเยาวราชจะเป็นร้านอาหารจีน ที่ขึ้นชื่อและมีชื่อเสียงในระดับโลกจะเป็นอาหารริมทางรวมถึงเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ที่หลากหลาย บางร้านยังเป็นร้านที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นบีบกูร์ม็องจากมิชลินไกด์[21] และสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นยังคงจัดอันดับให้กรุงเทพมหานครเป็น “สวรรค์แห่งอาหารริมทาง” หรือเมืองที่มีอาหารริมทางดีที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน ในปี พ.ศ. 2559 และพ.ศ. 2560[22] จากนั้นทางกรุงเทพมหานครจึงได้ริเริ่มปรับปรุงย่านอาหารริมทางโดยนำร่องในพื้นที่ 2 แห่ง ได้แก่ ถนนเยาวราชและถนนข้าวสาร[23] เปิดจำหน่ายทั้งกลางวันและกลางคืน เช่น ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาและเย็นตาโฟ, ข้าวขาหมู, หมูสะเต๊ะ, หอยทอด, ผัดไทย, กวยจั๊บ, น้ำเต้าหู้, ห่านและเป็ดพะโล้, หูฉลามและกระเพาะปลา, รังนก, ข้าวหมูแดง, ข้าวราดแกงและอาหารตามสั่ง, ผลไม้, เกาลัดคั่ว, บ๊ะจ่าง, ติ่มซำ, พระรามลงสรง,[24] กาแฟโบราณ เป็นต้น[25] [26]
ตลาดเยาวราช
[แก้]ตลาดเยาวราช หรือที่นิยมเรียกว่า ตลาดเก่า หรือที่เรียกกันในภาษาแต้จิ๋วว่า "เหล่าตั๊กลัก" (老噠叻) มีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ตั้งอยู่ในซอยเยาวราช 11 เดิมเป็นที่ดินของพระศรีทรงยศ หรือเจ๊สัวเนียม คหบดีชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นสวนผักและสถานที่ปลดทุกข์ของชาวจีนที่อาศัยอยู่แถบนี้ ต่อมาเมื่อมีการสร้างเป็นตลาดขึ้นมา สินค้าในระยะแรกจึงเป็นพืชผักที่ปลูกอยู่รอบ ๆ ตลาด ก่อนจะเปลี่ยนมาขายสินค้าจากประเทศจีนและอาหารทะเล ซึ่งในเวลานั้นถือว่าเป็นตลาดขายส่งอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุด ทั้งของสดและของแห้ง เนื่องจากอยู่ใกล้กับท่าเรือทรงวาด[27] ปัจจุบันได้ซบเซาลงตามกาลเวลา แต่ก็ยังมีร้านค้าจำนวนหนึ่งที่เปิดมาแต่อดีตอยู่ เป็นแหล่งจำหน่ายอาหารแห้งและอาหารสดพร้อมรับประทานจำนานมาก ได้รับความนิยมและเป็นที่คึกคักอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงเทศกาล เช่น ตรุษจีนและกินเจ[28] อีกทั้งในฝั่งตรงกันข้าม คือ ซอยเยาวราช 6 อันเป็นที่ตั้งศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ซึ่งเชื่อมต่อกับซอยเจริญกรุง 16 ด้านฝั่งถนนเจริญกรุง ที่นี่เรียกว่า ตลาดใหม่ หรือ ตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ หรือตรอกอิสรานุภาพ ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่เป็นตลาดที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และยังที่เป็นตั้งของร้านอาหารพร้อมรับประทานอีกจำนวนมาก[29] [30]
ในวัฒนธรรมร่วมสมัย
[แก้]ได้มีการอ้างอิงถึงเยาวราชในวัฒนธรรมร่วมสมัยมากมายหลายประการทั้ง วรรณกรรม, ละครโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ อาทิ เยาวราชในพายุฝน ละครโทรทัศน์ใน พ.ศ. 2538 ทางช่อง 3, เป็นฉากในภาพยนตร์ไทยเรื่อง เด็กเสเพล ใน พ.ศ. 2539[31], 18 ฝน คนอันตราย ใน พ.ศ. 2540, อั้งยี่ ลูกผู้ชายพันธุ์มังกร ใน พ.ศ. 2543, เยาวราช ใน พ.ศ. 2546 และ อันธพาล ใน พ.ศ. 2555 รวมถึงในภาพยนตร์ฮ่องกงเรื่อง เร็วทะลุนรก ใน พ.ศ. 2542 และมิวสิกวิดีโอเพลง "ร็อกสตาร์" ของลิซ่า[32] เป็นต้น
รายชื่อทางแยก
[แก้]จังหวัด | กม.ที่ | ชื่อจุดตัด | ซ้าย | ขวา | |
---|---|---|---|---|---|
ถนนเยาวราช (วงเวียนโอเดียน–แยกเมอร์รี่คิงส์) | |||||
กรุงเทพมหานคร | 0+000 | วงเวียนโอเดียน | เชื่อมต่อจาก: ถนนมิตรภาพไทย-จีน จากถนนพระรามที่ 4 | ||
เชื่อมต่อจาก: ถนนเจริญกรุง จากแยกลำพูนไชย | |||||
เยาวราช ซอย 1 ไปถนนทรงวาด | ไม่มี | ||||
เชื่อมต่อจาก: ถนนตรีมิตร จากถนนทรงวาด | |||||
เยาวราช ซอย 3 ไปถนนทรงสวัสดิ์ | ไม่มี | ||||
เชื่อมต่อจาก: ถนนลำพูนไชย จากถนนเจริญกรุง | |||||
ถนนทรงสวัสดิ์ จากถนนทรงวาด | ถนนทรงสวัสดิ์ ไปแยกหมอมี | ||||
เฉลิมบุรี | ถนนเยาวพานิช ไปถนนทรงวาด | ไม่มี | |||
ถนนผดุงด้าว จากถนนพาดสาย | ถนนผดุงด้าว จากถนนเจริญกรุง | ||||
ไม่มี | ถนนแปลงนาม ไปถนนเจริญกรุง | ||||
ถนนเยาวพานิช ไปถนนทรงวาด | ไม่มี | ||||
ถนนมังกร ไปทรงวาด | ถนนมังกร จากเจริญกรุง | ||||
แยกราชวงศ์ | ถนนราชวงศ์ ไปท่าเรือราชวงศ์ | ถนนราชวงศ์ ไปเสือป่า | |||
แยกวัดตึก | ถนนจักรวรรดิ ไปสะพานพระปกเกล้า | ถนนจักรวรรดิ ไปแยกเอส. เอ. บี. | |||
สะพานภาณุพันธุ์ ข้ามคลองโอ่งอ่าง | |||||
แยกเมอร์รี่คิงส์ (แยกวังบูรพา) | ไม่มี | ถนนจักรเพชร ไปสามยอด | |||
ตรงไป: ถนนพีระพงษ์ ไปถนนบูรพา | |||||
สะพาน กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ถนนมังกร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-29. สืบค้นเมื่อ 2008-10-05.
- ↑ "ถนนเยาวราช ถนนเก่าแก่ในสมัย ร.5". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-29. สืบค้นเมื่อ 2008-10-05.
- ↑ Van Roy, Edward. Sampheng: Bangkok's Chinatown Inside Out. Bangkok: Asian Studies Institute of Chulalongkorn University, 2007
- ↑ 4.0 4.1 4.2 ตันมหาพราน, เจริญ. "แฟนพันธุ์แท้ ตอน เยาวราช". แฟนพันธุ์แท้ 2003.
- ↑ "ประวัติถนนเยาวราช ทำเลมังกรทองที่ซ่อนตัว ทำเลพระราชทานจากรัชกาลที่ 5". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-18. สืบค้นเมื่อ 2008-10-05.
- ↑ รักชาติ ผดุงธรรม. เบื้องหลังกรณีสวรรคต รัชกาลที่ ๘. กรุงเทพฯ : บางกอกบุ๊ค, 2550. 288 หน้า. ISBN 978-974-8130-47-7
- ↑ "ด่วน! แจ้งปิด ถนนเยาวราช 17-20ก.พ. รับเทศกาลตรุษจีน". เอ็มไทยดอตคอม. 2015-02-16. สืบค้นเมื่อ 2017-01-20.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "พระเทพฯ เสด็จเปิดงานตรุษจีนเยาวราชสานสัมพันธ์ 2 ประเทศ". ช่อง 3. 2016-02-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-27. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
- ↑ "กินเจย่านเยาวราชบรรยากาศคึกคัก". ไอเอ็นเอ็น. 2016-10-02. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "เยาวราชคึกคัก คนแห่กินเจ ไม่หวั่นแม้ราคาสูงขึ้น (คลิป)". พีพีทีวี. 2016-09-30. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
- ↑ กรมศิลปากร. "ตึกแถวริมถนนเยาวราช" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 26 กันยายน 2566. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
- ↑ "วัดโลกานุเคราะห์". อนัมนิกายแห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-15. สืบค้นเมื่อ 2018-01-21.
- ↑ 13.0 13.1 "มัสยิด หลวงโกชา อิศหาก และตระกูลสมันตรัฐ ในท่ามกลางย่านการค้าท่านํ้าราชวงศ์". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. 2017-04-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-12. สืบค้นเมื่อ 2018-01-28.
- ↑ "ยิ่งไหว้ยิ่งรวย! เที่ยวเยาวราชไหว้ 5 วัดเด็ด เอาเคล็ดเสริมมงคลตรุษจีน". ไทยรัฐ. 2015-02-10. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
- ↑ หนุ่มลูกทุ่ง (2009-01-25). "ตระเวนเยาวราช ไหว้ 8 ศาลเจ้าเอาฤกษ์ตรุษจีน". ผู้จัดการรายวัน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-17. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
- ↑ หนุ่มลูกทุ่ง (2008-02-06). "พิพิธภัณฑ์ทองคำฯตั้งโต๊ะกัง ตำนานทองคำแห่งเยาวราช". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-21. สืบค้นเมื่อ 2018-01-29.
- ↑ suchu (2010-03-25). "รายชื่อโรงภาพยนตร์ในย่านเยาวราชจนถึงวังบูรพา{แตกประเด็นจาก K9026952}". พันทิปดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
- ↑ "ย้อนตำนานซ่องไทย ธุรกิจสีเทาในเงามืด". ผู้จัดการออนไลน์. 2009-02-17. สืบค้นเมื่อ 2018-01-29.[ลิงก์เสีย]
- ↑ กิเลน ประลองเชิง (2012-04-30). "สวรรค์ชั้นเจ็ด". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2018-01-29.
- ↑ "เปิดพื้นที่ราคาที่ดินแพงสุด/ถูกสุด". ฐานเศรษฐกิจ. 2016-05-24. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
- ↑ S.Vutikorn (2017-12-07). "เปิดรายชื่อ 33 ร้าน "บิบ กูร์มองด์" ร้านอาหารสำหรับคนกระเป๋าเบา". BrandAge. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-10. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
- ↑ CNN ยก กทม.เบอร์ 1 อาหารริมทาง
- ↑ อองกุลนะ, อรรถภูมิ. "อะไรอยู่ใน Street Food". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 2018-02-24.
- ↑ "ข้าวพระรามลงสรง ซ.แปลงนาม เยาวราช". ไทยโพสต์. 2017-12-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-17. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
- ↑ "เผยโฉมเยาวราชสตรีทฟู้ด "รายงานวันจันทร์"-เมืองอาหารริมทางดีที่สุดของโลก". ไทยรัฐ. 2017-06-12. สืบค้นเมื่อ 208-01-20.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "หลากเมนูเด็ด อร่อยชวนชิมในตรอก "สำเพ็ง"". ผู้จัดการรายวัน. 2014-11-07. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
- ↑ นที (2006-10-23). "ตลาดเก่า (เล่าตั๊กลัก)". oursiam. สืบค้นเมื่อ 2018-02-11.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "บรรยากาศ'ตลาดเก่าเยาวราช' ปชช.เริ่มล้างทอง-เลือกซื้อเมนูเจ". แนวหน้า. 2016-09-30. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
- ↑ ปิ่นโตเถาเล็ก (2017-01-15). "ร้านขวัญใจชุมชนเยาวราช เจ๊พา แม่ติ๊ก ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ". มติชน. สืบค้นเมื่อ 2018-01-28.
- ↑ หนุ่มลูกทุ่ง (2008-11-18). "ท่อง 3 ตลาดเก่ากลางกรุง อดีตที่ยังมีลมหายใจ". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 2018-01-28.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "หนังสะท้อนสังคม สร้างกระแสวัยรุ่นยุค 90 "เด็กเสเพล"". trueid.net.
- ↑ ""เทพโลเคชัน" วิเคราะห์ฉาก "ลิซ่า" ยืนกลางเยาวราช ชื่นชมทีมงานไทยทำกันสุดจริง". mgronline.com. 2024-06-26.
หนังสืออ่านเพิ่ม
[แก้]- Wasana Wongsurawat. “From Yaowaraj to Plabplachai: The Thai State and the Ethnic Chinese in Thailand during the Cold War.” in Vu Tuong and Wasana Wongsurawat (eds.), Dynamics of the Cold War in Asia: Ideology, Identity, and Culture. New York, NY: Palgrave Macmillan, 2009.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ถนนเยาวราช
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
13°44′28″N 100°30′30″E / 13.741136°N 100.508305°E
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
- เฟซบุก
- ภาพชุดรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 เสด็จเยาวราช จากทีนิวส์
- เล่าขานตำนานเยาวราช : ความสัมพันธ์ 2 แผ่นดิน เก็บถาวร 2016-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากนาว 26
- เยาวราช เก็บถาวร 2019-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เยาวราช จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย