วันลอยกระทง
มุมมองและกรณีตัวอย่างในบทความนี้อาจไม่ได้แสดงถึงมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง |
วันลอยกระทง | |
---|---|
เทศกาลลอยกระทงที่จังหวัดเชียงใหม่ | |
จัดขึ้นโดย | ประเทศไทย[1], ประเทศลาว (ในฐานะบุญพระธาตุหลวง), ประเทศมาเลเซียตอนบน, รัฐฉานในประเทศพม่า และสิบสองปันนาในประเทศจีน ประเทศพม่า (ในฐานะ เทศกาลตาซองได), ประเทศศรีลังกา (ในฐานะ Il Poya), ประเทศจีน (ในฐานะ เทศกาลโคมไฟ) |
ประเภท | การสะเดาะเคราะห์, การขอขมา, การบูชา |
ความสำคัญ | บูชารอยพระพุทธบาทและขอขมาพระแม่คงคา, บูชาเจดีย์พระเกศาพระพุทธเจ้าในสวรรค์[2] |
วันที่ | ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย |
ความถี่ | ทุกปี |
ส่วนเกี่ยวข้อง | เทศกาลตาซองได (พม่า) Il Poya (ศรีลังกา) เทศกาลไหว้พระจันทร์ (จีน) |
วันลอยกระทง เป็นเทศกาลของกลุ่มชาติพันธุ์ไทตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคาซึ่งเป็นเทวดาในคติฮินดู แต่เทศกาลนี้มีร่องรอยหลักฐานย้อนไปถึงจีนและอินเดียโบราณ[3][4]
ในประเทศไทยมีชื่อเรียกว่าลอยกระทง ส่วนประเทศอื่น ๆ มีชื่อเรียกแตกต่างกัน โดยประเทศพม่ามีชื่อว่า "เทศกาลตาซองได", ประเทศศรีลังกามีชื่อว่า "Il Full Moon Poya" และประเทศจีนมีชื่อว่า "เทศกาลโคมไฟ"[5][6][7][8][9]
ศัพทมูลวิทยา
[แก้]รายงานจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คำว่า ลอย หมายถึง 'อยู่บนผิวน้ำ' ส่วน กระทง มีหลายความหมาย หนึ่งในนั้นคือ 'ภาชนะเย็บด้วยใบตองหรือใบไม้ที่สามารถลอยบนน้ำในช่วงเทศกาลลอยกระทง' มากไปกว่านั้น สำนักงานราชบัณฑิตยสภารายงานคำว่า กระทง มีที่มาจากคำในภาษาจีนเก่าว่า 鐙 หรือ 燈 (/*k-tˤəŋ/) ซึ่งหมายถึงภาชนะพิธีกรรมหรือโคมไฟ[10][11][12][13][14][15]
วันลอยกระทงในปฏิทินสุริยคติ
[แก้]ปี | วันที่ | วันที่ | วันที่ |
---|---|---|---|
ปีชวด | 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 | 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 | 31 ตุลาคม พ.ศ. 2563 |
ปีฉลู | 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 | 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 | 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 |
ปีขาล | 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 | 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 | 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 |
ปีเถาะ | 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 | 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 | 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 |
ปีมะโรง | 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 | 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 | 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 |
ปีมะเส็ง | 31 ตุลาคม พ.ศ. 2544 | 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 | 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2568 |
ปีมะเมีย | 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 | 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 | 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2569 |
ปีมะแม | 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 | 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 | 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2570 |
ปีวอก | 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 | 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 | 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2571 |
ปีระกา | 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 | 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 | 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2572 |
ปีจอ | 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 | 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 | 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2573 |
ปีกุน | 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 | 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 | 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2574 |
ประวัติ
[แก้]ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีโบราณของอินเดียที่ประเทศไทยรับเข้ามาปฏิบัติ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เท่าที่ปรากฏกล่าวได้ว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีเดียวเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนามีการปล่อยโคมลอยเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา (แม่น้ำนัมมทา เป็นแม่น้ำที่คู่ขนานกับทิวเขาวินธัย ไหลลงภาคตะวันตกของอินเดียแบ่งเขตอินเดียออกเป็นภาคเหนือและภาคใต้)
ตามเรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวไว้ว่าในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่าพิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป[ต้องการอ้างอิง] หนังสือเรื่องนี้ได้อ้างพระดำรัสของพระร่วงว่า[16][17]
"จึ่งมีพระราชบริหารบำหยัดสาปสรรว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงการกำหนด นักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุทอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุทก็ปรากฏมาจนเท่าทุกวันนี้ แต่คำโลกสมมุติเปลี่ยนชื่อเรียกว่าลอยกระทงทรงประทีป เหตุดังนี้ข้าน้อยผู้ชื่อว่านพมาศก็ถึงซึ่งมีชื่อเสียงปรากฏอยู่ใน แผ่นดินได้อย่างหนึ่ง..."
— ท้าวศรีจุฬาลักษณ์, ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์
แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1 จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เปลี่ยนแปลงจากการทำจากดอกบัวเป็นต้นกล้วยเพราะดอกบัวดังกล่าวหายากและมีน้อย จึงใช้ต้นกล้วยทำแทนแล้วดูไม่สวยจึงใช้ใบตองมาพับแต่งจนสวยสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน[ต้องการอ้างอิง]
อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งเชื่อว่า ประเพณีลอยกระทง อาจมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่คนในภูมิภาคนี้นับถือศาสนาผี ที่คนไทจะนับถือผีฟ้า(แถน) ผีดิน ผีน้ำ ผีนา ผีป่า ผีบ้าน ผีเมือง ซึ่งดินแดนในแถบนี้ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดีย จึงน่าจะเปลี่ยนจากผีมาเป็นเทพ ผีฟ้าเป็นเทวดาชั้นฟ้า ผีดินเป็นพระแม่ธรณี ผีน้ำเป็นพระแม่คงคา ผีนาเป็นพระแม่โพสพ ผีป่าเป็นรุกขเทวดา ผีบ้านเป็นพระภูมิเจ้าที่ ผีเมืองเป็นพระสยามเทวาธิราช ซึ่งจะสังเกตได้ว่าทางอินเดียจะไม่มีการบูชาพระแม่คงคาแบบไท นั่นเพราะคนไทปกติก็บูชาผีน้ำกันอยู่แล้ว จึงเกิดการบูชาพระแม่คงคาขึ้น ซึ่งในวัฒนธรรมศาสนาผีแต่เดิม คนไทจะขอขมาผีดินและขอขมาผีน้ำ ที่ตนเองใช้สอยและขับถ่ายใส่ ซึ่งกระทงที่ใช้สมัยก่อนจะเป็นแค่กระทงสี่เหลี่ยมที่ใช้ใส่เครื่องเซ่นไหว้ผี และจึงเปลี่ยนมาเป็นกระทงแบบคล้ายดอกบัวแบบที่เห็นในปัจจุบันเพราะอิทธิพลพุทธศาสนาที่มีดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ เมื่ออิทธิพลจากศาสนาพุทธเข้ามา คนไทจึงเริ่มเปลี่ยนจากบูชาพระแม่คงคามาบูชารอยพระพุทธบาทตามศาสนาใหม่ที่ตนนับถือ[ต้องการอ้างอิง]
ส่วนประเพณียี่เป็งของทางล้านนา โคมไฟเป็นภูมิปัญญาของคนล้านนาในสมัยโบราณ ที่ประดิษฐ์ขึ้นในการป้องกันไฟไม่ให้ดับเมื่อโดนลมพัด ได้สร้างสรรค์จนเกิดเอกลักษณ์เฉพาะตนและรูปแบบต่างๆมากมาย ต่อมาได้กลายเป็นเครื่องบูชา ประดับประดาศาสนสถาน เช่น วัดวาอาราม เพื่อใช้บูชาพระพุทธเจ้า ซึ่งสมัยก่อนจะมีอยู่แค่ 5 สี ตามสีฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้า ที่นอกจากประดับประดาเพื่อความสวยงาม และบูชาพระรัตนตรัยหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยังเชื่อกันว่า เมื่อภูติผีปีศาจเห็น จะคิดว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นี่ จะพากันรีบหนีไป ไม่กล้ามาทำอันตรายผู้คนอีก[ต้องการอ้างอิง]
ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น
[แก้]- ภาคเหนือ นิยมทำโคมลอย เรียกว่า "ลอยโคม" หรือ "ว่าวลม" หรือ "ว่าวไฟ" ทำจากผ้าบาง ๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบัลลูนประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า ยี่เป็ง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่ (ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย) หรือโคมลอยบนน้ำรูปทรงต่าง ๆ
- จังหวัดเชียงใหม่ มีประเพณี"ยี่เป็ง"เชียงใหม่ ในทุก ๆ ปีจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา และมีการปล่อยโคมลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า
- จังหวัดลำปาง มีประเพณี"ล่องสะเปา"(สะเปาหมายถึงกระทง) ซึ่งจะมีการประกวดอยู่สองวันด้วยกัน ได้แก่วันแรก"สะเปาน้ำ"จัดขึ้นในแม่น้ำวังและวันที่สองจะมี"สะเปาบก" ซึ่งการประกวดในที่นี้ จะมีตั้งแต่ระดับกลุ่มหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมไปถึงหน่วยการของภาครัฐ แต่ละขบวนจะมีการแสดงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฟ้อนรำ ดนตรีพื้นเมือง ความสวยงามของขบวน รวมไปถึงประกวดนางนพมาส ทั้งนี้ ชาวบ้านคนเมืองลำปาง ค่อนข้างให้ความสำคัญแก่ประเพณีล่องสะเปา เนื่องจากเป็นวันที่ทุกคนจะร่วมสนุกสนานครื้นเคร้ง พบปะเพื่อนฝูงที่กลับมาจากการทำงานในต่างจังหวัด และที่สำคัญเป็นเทศกาลกลางแจ้งที่จัดขึ้นท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายในทุก ๆ ปี
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในอดีตมีการเรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เช่น
- จังหวัดร้อยเอ็ด ถือเป็นตัวแทนจัดงานลอยกระทงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีชื่องานประเพณีว่า " สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป " ตามภาษาถิ่นมีความหมายถึงการขอขมาพระแม่คงคาในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง ความพิเศษของงานมีการแสดง แสงสีเสียง ตำนานเมืองร้อยเอ็ด จัดให้มีการตกแต่งบริเวณเกาะบึงพลาญชัย (สถานที่จัดงาน) ให้เป็นเกาะสวรรค์ ตกแต่งสวยงาม ยิ่งใหญ่ มีขบวนกระทงอาเซียน มีการประกวดกระทงประทีปใหญ่ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดกระทงอนุรักษ์ธรรมชาติ การประกวดขบวนแห่กระทงประทีป 12 หัวเมือง ตามตำนานเมืองร้อยเอ็ด การประกวดรำวงสมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีป การประกวดธิดาสาเกตนคร และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย
- จังหวัดสกลนคร ในอดีตจะมีการลอยกระทงจากกาบกล้วย ลักษณะคล้ายกับการทำปราสาทผึ้งโบราณ เรียกงานนี้ว่าเทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล
- ภาคกลาง มีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด
- กรุงเทพมหานคร จะมีงานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว 7-10 วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง
- จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดแสดงแสง สี เสียง อย่างงดงามตระการตา
- จังหวัดตาก จะลอยกระทงขนาดเล็กทยอยเรียงรายไปเป็นสาย เรียกว่า "กระทงสาย"
- จังหวัดสุโขทัย มีประเพณี "เผาเทียน เล่นไฟ" โดยใช้พื้นที่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งตรงกับแหล่งโบราณที่เคยจัดกิจกรรมนี้เมื่อ 700 ปีที่แล้ว ภายในงานจะมีการแห่ขบวนแห่กระทง การเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง การแสดงแสงสีเสียง รวมถึงการเผาเทียน เล่นไฟ
- ภาคใต้ อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่น ๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ลอยกระทง" (PDF).กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
- ↑ ธนากิต. ประเพณี พิธีมงคล และวันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก, ๒๕๓๙.
- ↑ Constance Jones 2011, pp. 252–253.
- ↑ Melton, J. Gordon (2011). "Lantern Festival (China)". ใน Melton, J. Gordon (บ.ก.). Religious Celebrations: An Encyclopedia of Holidays, Festivals, Solemn Observances, and Spiritual Commemorations. ABC-CLIO. pp. 514–515. ISBN 978-1-5988-4206-7. สืบค้นเมื่อ February 15, 2014.
- ↑ The Penguin Handbook of the World's Living Religions. Penguin UK. 25 March 2010. ISBN 9780141955049 – โดยทาง Google Books.
- ↑ "Buddhist Calendar - Southeast Asian Calendars - Thai Calendar".
- ↑ "Pictures of the day: 23 October 2016". The Telegraph. 23 October 2016.
- ↑ "Il Poya". 12 September 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 November 2017. สืบค้นเมื่อ 26 December 2016.
- ↑ "Discover the full moon festival of Cambodia, Thailand and Myanmar". 1 February 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 February 2017.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Baxter-Sagart Old Chinese reconstruction" (PDF).
- ↑ Wei, L. (2010). Chinese festivals: traditions customs and rituals [L. Yue & L. Tao, trans]. Beijing: China International Press, p. 51. (Call no.: R 394.26951 WEI-[CUS]) ; Latsch, M-L. (1985).
- ↑ "放水燈". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-26. สืบค้นเมื่อ 2013-12-25.
- ↑ "施餓鬼舟". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-26. สืบค้นเมื่อ 2013-12-25.
- ↑ "施餓鬼(せがき)舟". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-26. สืบค้นเมื่อ 2013-12-25.
- ↑ Pittayaporn, Pittayawat [พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์] (2014) , “Layers of Chinese Loanwords in Proto-Southwestern Tai as Evidence for the Dating of the Spread of Southwestern Tai”, in MANUSYA: Journal of Humanities, volume 20 (special issue), Bangkok: Chulalongkorn University, ISSN 0859-9920, pages 47–68
- ↑ กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. วรรณกรรมสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2528. 320 หน้า. หน้า 298. ISBN 978-974-7925-27-2
- ↑ ศรีจุฬาลักษณ์ (นพมาศ), ท้าว. นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์. (พิมพ์ครั้งที่ 14). กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2513. 159 หน้า. หน้า 99.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Sukhothai celebrations
- Tourism Authority of Thailand (TAT) Loi Krathong Information
- Suttinee Yavaprapas; Chaleo Manilerd; Thailand. Krasūang Watthanatham. External Relations Division; Thailand. Krasūang Watthanatham. Office of the Permanent Secretary (2004). Loy Krathong Festival. Ministry of Culture, External Relations Division. ISBN 978-974-9681-22-0. สืบค้นเมื่อ 5 October 2011.
- Donald K. Swearer (1 February 2010). The Buddhist world of Southeast Asia. SUNY Press. pp. 49–. ISBN 978-1-4384-3251-9. สืบค้นเมื่อ 5 October 2011.
- Anuman Rajadhon (Phrayā) (1956). Loy krathong & Songkran festival. National Culture Institute. สืบค้นเมื่อ 5 October 2011.
- The Kingdom of the Yellow Robe. Forgotten Books. pp. 358–367. ISBN 978-1-4400-9096-7. สืบค้นเมื่อ 5 October 2011.
- ปฏิทิน100ปี