ข้ามไปเนื้อหา

แห่นางดาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พิธีแห่นางดาน คำว่านางดาน หรือนางกระดาน หมายถึงแผ่นไม้กระดานขนาดกว้างหนึ่งศอกสูงสี่ศอก ที่วาดหรือแกะสลักรูปเทพบริวารในคติพราหมณ์ จำนวน 3 องค์ แผ่นแรก คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ แผ่นที่สองคือแม่พระธรณี แผ่นที่สามคือพระแม่คงคา เพื่อใช้ในขบวนแห่เพื่อรอรับเสด็จพระอิศวรที่เสด็จมาเยี่ยมมนุษย์โลก ณ เสาชิงช้า

เชื่อกันว่าการเสด็จมาเยี่ยมมนุษย์โลกเพื่อประสาทพรให้เกิดความสงบสุข ให้เกิดน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ และช่วยคุ้มครองมนุษย์โลกให้ปลอดภัย ซึ่งตามความเชื่อการเสด็จลงมาของพระอิศวรจะต้องเสด็จลงมาในเดือนอ้าย ซึ่งเป็นปีใหม่ของชาวพราหมณ์ฮินดู เพื่อให้ประเพณีแห่นางดานเป็นที่รู้จักและคงไว้ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของเมืองนครศรีธรรมราชและกำเนิดขึ้นเป็นแห่งแรกในเมืองไทย

ปัจจุบัน ประเพณีแห่นางดาน จัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี โดยแต่ก่อนมีขบวนแห่นางดานจากสนามหน้าเมืองมายังหอพระอิศวร ปัจจุบันมีขบวนแห่นางดานจากฐานพระสยมมายังสวนสาธารณะพระศรีธรรมาโศกราช การแสดงแสง สี เสียง ตำนานนางดานและเทพเจ้าที่เกี่ยวข้อง การจำลองพิธีแห่นางดาน และการโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นการโล้ชิงช้านอกเขตเมืองหลวงแห่งเดียวของไทยในปัจจุบัน โดยเทศบาลนครนครศรีธรรมราชเป็นผู้รับผิดชอบ และถือเป็นกิจกรรมสำคัญในปฏิทินการท่องเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอีกด้วย