ข้ามไปเนื้อหา

พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน
Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei
ฟือเรอร์อันโทน เดร็คส์เลอร์ (1920–1921)
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (1921–1945)
มาร์ติน บอร์มันน์ (1945)
ผู้ก่อตั้งอันโทน เดร็คส์เลอร์
คำขวัญ"Ein Volk, ein Reich, ein Führer" ("หนึ่งชน, หนึ่งไรช์, หนึ่งฟือเรอร์") (ไม่เป็นทางการ)
ก่อตั้ง24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920 (1920-02-24)
ถูกยุบ10 ตุลาคม ค.ศ. 1945 (1945-10)
ก่อนหน้าพรรคกรรมกรเยอรมัน
ที่ทำการทำเนียบน้ำตาล มิวนิก เยอรมนี
หนังสือพิมพ์เฟิลคีเชอร์เบโอบัคเทอร์
ฝ่ายนักเรียนนักศึกษาสันนิบาตนักเรียนชาติสังคมนิยมเยอรมัน
ฝ่ายเยาวชนยุวชนฮิตเลอร์
ฝ่ายทหารชตวร์มอัพไทลุง
ชุทซ์ชตัฟเฟิล
ส่วนกีฬาสันนิบาติชาติสังคมนิยมแห่งไรซ์สำหรับการออกกำลังทางกายภาพ
ฝ่ายสตรีสันนิบาตสตรีชาติสังคมนิยม
สมาชิกภาพน้อยกว่า 60 คน (1920)
8.5 ล้านคน (1945)
อุดมการณ์นาซี
จุดยืนขวาจัด
สีสีดำ, สีขาว, สีแดง[1]
สีน้ำตาล
เพลง
"ฮอสท์-เว็สเซิล-ลีท"
"เพลงฮอสท์เว็สเซิลลีท"
ธงประจำพรรค
Parteiflagge
การเมืองเยอรมนี
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

พรรคนาซี (อังกฤษ: Nazi Party) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน[2] (เยอรมัน: Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei, ย่อ: NSDAP) เป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด[3][4] ซึ่งดำรงคงอยู่ในประเทศเยอรมนี ระหว่างปี ค.ศ. 1920 และ ค.ศ. 1945 ซึ่งได้สร้างและให้การสนับสนุนอุดมการณ์ชาติสังคมนิยม เดิมคือพรรคกรรมกรเยอรมัน ซึ่งดำรงคงอยู่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1919 ถึง 1920 พรรคนาซีเกิดขึ้นมาจากชาวเยอรมันที่เป็นนักชาติสังคมนิยม ผู้เหยียดเชื้อชาติ และวัฒนธรรมจากกองกำลังกึ่งทหารไฟรคอร์ที่เป็นประชานิยม ซึ่งได้ต่อสู้กับการก่อการกำเริบของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเยอรมนี ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[5] พรรคนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อดึงพวกกรรมกรออกจากลัทธิคอมมิวนิสต์และเข้าสู่ลัทธิชาตินิยมแบบ völkisch[6] ในช่วงแรก กลยุทธ์ทางการเมืองของนาซีได้มุ่งเป้าไปที่การต่อต้านธุรกิจขนาดใหญ่ ต่อต้านชนชั้นกลาง และวาทศิลป์ต่อต้านทุนนิยม แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะถูกมองข้ามไปในภายหลังเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำทางธุรกิจ และในปี ค.ศ. 1930 จุดสนใจหลักของพรรคได้เปลี่ยนไปเป็นการต่อต้านชาวยิว และต่อต้านลัทธิมาร์กซิสต์[7]

ทฤษฏีการเหยียดเชื้อชาติอันเป็นศูนย์กลางของลัทธิชาติสังคมนิยม ถูกแสดงออกผ่านแนวคิดที่ชื่อว่า "ประชาชุมชน" (Volksgemeinschaft)[8] พรรคได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมชาวเยอรมันที่"เป็นที่พึงปรารถนาทางเชื้อชาติ" เป็นสหายร่วมชาติ ในขณะที่มีการยกเว้นผู้ที่ถูกพิจารณาว่า เป็นผู้คัดค้านทางการเมือง ผู้บกพร่องทางร่างกายหรือสติปัญญา หรือเชื้อสายต่างชาติ (Fremdvölkische)[9] นาซีได้พยายามที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวเจอร์แมนิก ซึ่งเป็น"ชาวอารยันที่เป็นชนชาติปกครอง" ผ่านทางความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติและสุพันธุศาสตร์ โครงการสวัสดิการทางสังคมในวงกว้าง และการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยรวมของสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งสามารถเสียสละเพื่อประโยชน์ของรัฐในนามของประชาชน เพื่อปกป้องความบริสุทธิ์และความแข็งแกร่งของเชื้อสายอารยัน นาซีได้พยายามกำจัดชาวยิว ชาวโรมานี ชาวโปล และชาวสลาฟอื่น ๆ เป็นส่วนใหญ่ พร้อมกับผู้พิการทางร่างกายและทางจิตใจ พวกเขาได้ระงับสิทธิและแบ่งแยกพวกรักร่วมเพศ ชาวแอฟริกัน พยานพระยะโฮวา และฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง[10] การประหัตประหารได้มาถึงจุดสูงสุด เมื่อรัฐเยอรมันที่ถูกควบคุมโดยพรรคได้กำหนดแนวทางมาตรการสุดท้าย - ระบบอุตสาหกรรมของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งสามารถสังหารชาวยิวได้ราว 6 ล้านคน และเหยื่อเป้าหมายอื่น ๆ อีกนับล้าน ซึ่งในสิ่งที่เรียกกันว่า ฮอโลคอสต์[11]

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรค ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีโดยประธานาธิบดีเพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค เมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์ได้จัดตั้งระบอบเผด็จการขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งถูกเรียกว่า ไรช์ที่สาม[12][13][14][15] ภายหลังความปราชัยของไรช์ที่สามในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป พรรคนี้ได้ถูก"ประกาศว่าผิดกฎหมาย" โดยฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ได้ดำเนินการขจัดนาซีในช่วงปีหลังสงคราม ทั้งในเยอรมนีและดินแดนที่ถูกยึดครองโดยเยอรมนี การใช้สัญลักษณ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพรรค ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งเยอรมนีและออสเตรีย

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]

คำว่า "นาซี" เป็นคำที่ถูกกร่อนเสียงมาจากชื่อในภาษาเยอรมันของพรรค นาซีโอนาลโซซีอาลิสท์ (Nationalsozialist "ชาติสังคมนิยม") [16] คำย่อนี้ถูกใช้ก่อนการเถลิงอำนาจของพรรค ซึ่งในภาษาพูดไปพ้องเสียงกับคำว่า "นาซี" ที่มีความหมายในเชิงเสื่อมเสียสำหรับชาวชนบทที่ล้าหลังหรือมีความหมายว่าเงอะงะ[17][18] และนั่นเองทำให้ฮิตเลอร์ไม่ชอบชื่อนาซีเอาซะเลย[18][19] แต่ฝ่ายตรงข้ามกับฮิตเลอร์ก็ยังคงใช้คำว่านาซีเพื่อเป็นการก่อกวนอยู่เรื่อยๆ

ในปี ค.ศ. 1933 เมื่อฮิตเลอร์เถลิงอำนาจ การใช้คำว่า "นาซี" ได้เบาบางลงมากในเยอรมนี ประชาชนเยอรมันกล่าวถึงพรรคจะใช้คำเต็มว่า นาซีโอนาลโซซีอาลิสท์ แต่ฝ่ายต่อต้านในออสเตรียยังคงใช้คำว่านาซีนี้เป็นการดูถูก คำว่า "นาซีเยอรมนี" และ "ระบอบนาซี" กลายเป็นนิยมโดยฝ่ายต่อต้านนาซีและชาวเยอรมันที่ลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังจากนั้น คำนี้ได้แพร่กระจายไปยังภาษาอื่นๆและในที่สุดก็ได้ถูกนำกลับมาใช้ในเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง[19]

ประวัติ

[แก้]

หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สิ้งสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายมหาอำนาจกลาง ประเทศเยอรมนีก็เต็มไปด้วยความแตกแยก ผู้คนต่างออกมาแย่งชิงอำนาจของประเทศ แต่พวกเขาเหล่านั้นก็มีความคิดเห็นแบบเดียวกันนั่นก็คือที่ว่า เยอรมนียังไม่ได้พ่ายแพ้สงคราม ชาวเยอรมันส่วนมากมองสนธิสัญญาแวร์ซายเป็นสัญญาแห่งความหลอกลวงจากคนในประเทศเดียวกันเอง และ จากศัตรูอย่างฝรั่งเศส ในช่วงแรกของการพัฒนาอุดมการณ์ในแบบของพรรคนาซีนั้น ได้มีกลุ่มรหัสยศาสตร์ที่มีชื่อว่า ทูเล่อ (Thule-Gesellschaft) ที่สมาชิกหลัก ๆ เป็นทหารผ่านศึก และ กลุ่มชนชั้นสูงในเมืองมิวนิก อ้างความเป็นมาของชาวเยอรมันที่มีเลือดบริสุทธิ์ที่เรียกว่า ชาวอารยัน เพื่อตอบสนองความต้องการของชาวเยอรมันในช่วงหลังสงครามที่ตกต่ำอย่างหนัก กลุ่มทูเล่อมีผู้ติดตามประมาณ 250 คนในเมืองมิวนิก และ อีกประมาณพันกว่าคนในส่วนอื่นของบาวาเรีย สมาชิกของกลุ่มจะมาพบปะกันในโรงเบียร์สาธารณะเพื่อแสดงจุดยืนทางความคิดของพวกเขา

อุดมการณ์และนโยบาย

[แก้]

อุดมการณ์นาซีหลัก ประกอบไปด้วยความเป็นชาติหนึ่งเดียวของชาวเยอรมันทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (collectivism, nationalism), ความเป็นยอดของมนุษย์ชาวอารยันซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งในเชื้อสายเยอรมันตามความเชื่อดาร์วินิสต์ทางสังคมหรือเผ่าพันธุ์นิยม, การต่อต้านชาวยิว และต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคนาซีได้ใช้กองทัพเวร์มัคท์ในการทำฮอโลคอสต์คือการสังหารหมู่ชาวยิวและพวกอื่น ๆ อันไม่พึงประสงค์ต่อนาซี เช่น ชาวยิปซี ชาวสลาฟ กลุ่มรักร่วมเพศ เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีตั้งแต่นายทหารชั้นสัญญาบัตรจนถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูง และ ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม และ การสังหารหมู่ชาวยิว และ อื่น ๆ ในเขตยึดครองซึ่งถือว่าเป็นอาชญากรรมสงครามต่อมวลมนุษยชาติ

สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของพรรค

[แก้]

สัญลักษณ์สวัสติกะของพรรคนาซี เป็นสวัสติกะเวียนขวาสีดำ เอียง 45 องศา อยู่บนพื้นกลมสีขาว พื้นหลังสีแดง

จุดสิ้นสุด

[แก้]

ต่อมาในภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นาซีเยอรมนีพ่ายแพ้สงครามและล่มสลาย พรรคนาซีกลายเป็นพรรคผิดกฎหมายในประเทศเยอรมนี โดยอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญของเยอรมันตะวันออก และ เยอรมันตะวันตก

อ้างอิง

[แก้]
  1. German Imperial colours
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. 17 ส.ค. 2544
  3. Fritzsche, Peter, 1959- (1998). Germans into Nazis. Mazal Holocaust Collection. Cambridge, Mass.: Harvard University Press. ISBN 0-674-35091-X. OCLC 37157352.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  4. Eatwell, Roger (1997). Fascism : a history. New York: Penguin Books. pp. xvii–xxiv, 21, 26–31, 114–40, 352. ISBN 0-14-025700-4. OCLC 37930848.
  5. Grant 2004, pp. 30–34, 44.
  6. Mitchell 2008, p. 47.
  7. McDonough 2003, p. 64.
  8. Majer 2013, p. 39.
  9. Wildt 2012, pp. 96–97.
  10. Gigliotti & Lang 2005, p. 14.
  11. Evans 2008, p. 318.
  12. Arendt 1951, p. 306.
  13. Curtis 1979, p. 36.
  14. Burch 1964, p. 58.
  15. Maier 2004, p. 32.
  16. Hitler, Adolf (1936). Die Reden des Führers am Parteitag der Ehre, 1936 (ภาษาเยอรมัน). Munich: Zentralverlag der NSDAP. p. 10. "Parteigenossen! Parteigenossinnen! Nationalsozialisten!
  17. Gottlieb, Henrik; Morgensen, Jens Erik, บ.ก. (2007). Dictionary Visions, Research and Practice: Selected Papers from the 12th International Symposium on Lexicography, Copenhagen, 2004 (illustrated ed.). Amsterdam: J. Benjamins Pub. Co. p. 247. ISBN 9789027223340. สืบค้นเมื่อ 22 October 2014.
  18. 18.0 18.1 Harper, Douglas. "Nazi". etymonline.com. Online Etymology Dictionary. สืบค้นเมื่อ 22 October 2014.
  19. 19.0 19.1 Rabinbach, Anson; Gilman, Sander, บ.ก. (2013). The Third Reich Sourcebook. Berkeley, Calif.: California University Press. p. 4. ISBN 9780520955141.