พยอม สีนะวัฒน์
พยอม สีนะวัฒน์ | |
---|---|
เกิด | พยอม สีนะวัฒน์ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2452 จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 25 ตุลาคม พ.ศ. 2551 (99 ปี) โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร |
อาชีพ | ครู เกษตรกร |
รางวัล | ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปะงานผ้า) - พ.ศ. 2530 |
พยอม สีนะวัฒน์ (3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2452 – 25 ตุลาคม พ.ศ. 2551) ชาวจังหวัดศรีสะเกษ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปะงานผ้า) ปี พ.ศ. 2530
คุณยายพยอม สีนะวัฒน์ ได้สร้างสรรค์ศิลปะการทอผ้าในภาคอีสาน โดยมีฝีมือเป็นเลิศในด้านการทอผ้ายก และผลิตผ้ามัดหมี่ เป็นผู้ริเริ่มทอผ้ามัดหมี่ด้วยการประยุกต์ลวดลายพื้นบ้านโบราณ และย้อมให้มีสีสดใสทันสมัย ลายผ้าขิด ได้แก่ ลายดอกไม้ ลายน้ำไหล ลายนกยูง ลายเรขาคณิต นอกจากนี้ยังมีลายผ้าไหม ได้แก่ ลายเทพนม ลายสร้อยพระศอ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายดอกจัน ลายดอกพิกุล โดยได้นำมาทอไว้ในผืนเดียวกัน
คณยายพยอม ได้รับการฝึกฝนงานด้านผ้าไหมกับมารดาที่จังหวัดนครราชสีมาตั้งแต่เยาว์วัยทั้งการควบเส้นไหม ฟอก ย้อม และทอ หลังสมรสได้ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด และได้ศึกษางานผ้าเพิ่มเติมจากครอบครัวสามี จนสามารถผลิตผลงานที่หลากหลาย อาทิ ผ้าไหมขาวเม็ดพริกไทย ผ้ามัดหมี่ ผ้าหางกระรอก และทอผ้ายกดอกไหมด้วยดิ้นเงินและทองเป็นผู้ริเริ่มทอผ้ายกไหมผืนใหญ่ให้มีลวดลาย และความงดงามด้วยศิลปะงานผ้า อาทิ ลายน้ำไหล ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ จนได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวด และสร้างชื่อเสียงแก่ประเทศ และได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2530 ซึ่งในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หลายครั้งที่ทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าที่เป็นผลงานของนางพยอม
นางพยอม สีนะวัฒน์สิ้นใจอย่างสงบด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี รวมอายุ 99 ปี 8 เดือน มีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ณ ศาลา 9/2 วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งศพของนางพยอม สีนะวัฒน์ อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ 5 วัน
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ในการพระราชทานเพลิงศพ นางพยอม สีนะวัฒน์ อีกด้วย
รางวัล
[แก้]- พ.ศ. 2522 รางวัลที่ 2 กระทรวงอุตสาหกรรมและคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าไหมไทย
- พ.ศ. 2522 รางวัลที่ 1 กระทรวงอุตสาหกรรมและคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าไหมไทย
- พ.ศ. 2524 รางวัลที่ 2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- พ.ศ. 2524 ชนะเลิศการประกวดผ้ายกไหม
- พ.ศ. 2530 รางวัล ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (วิจิตรศิลป์) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
คำประกาศเกียรติคุณ
[แก้]พยอม สีนะวัฒน์ ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานช่างและศิลปะงานผ้าในภาคอีสานมาเป็นเวลาอันยาวนานถึง 60 ปี มีความเป็นเลิศในด้านการทอผ้ายกและการทำผ้ามัดหมี่ เป็นผู้ที่สามารถนำเอาลวดลายแบบประเพณีของอีสาน มาปรับปรุงให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน และสามารถรักษาแบบอย่างของเดิมไว้ได้ เป็นผู้ที่ยืนหยัดทวนกระแสการทำงานแบบปริมาณของอุตสาหกรรม โดยการยึดมั่นการทำงานแบบประเพณีอย่างปรับตัวพอสมควร ได้นำเอาวัสดุแบบใหม่เข้ามาผสมกับวัสดุดั้งเดิมจนเป็นผลสำเร็จ สร้างสรรค์ผลงานด้วยคุณภาพและคุณค่ามากกว่าปริมาณ จนเป็นที่ยกย่องของวงการศิลปะงานผ้าทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้ที่สืบต่อและอนุรักษ์ศิลปะงานผ้าแบบประเพณีที่อุทิศตน สร้างสรรค์งานช่างที่มีความเป็นศิลปะ อย่างประณีตและสวยงามดีเด่นเป็นพิเศษ มีความรู้และเชี่ยวชาญในงานสาขาของตนเป็นอย่างยิ่งมีผลงานแสดงและได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติ ได้เผยแพร่ผลงานและความรู้แก่อนุชนรุ่นหลังที่สนใจในศิลปะงานผ้า ทั้งที่ต้องการศึกษาและต้องการฝึกฝนเพื่ออาชีพ รวมทั้งให้บริการแก่สถาบันการศึกษาที่ทำการค้นคว้าวิจัยงานช่างและศิลปะงานผ้า
ในด้านการดำรงชีวิต พยอม สีนะวัฒน์ เป็นผู้อุทิศตนให้แก่ส่วนรวม มีชีวิตที่เรียบง่าย มีจริยธรรม และคุณธรรม สามารถเป็นตัวอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังได้ทั้งในเรื่องการทำงาน และการดำรงชีวิตที่ดีงาม ถึงแม้ว่าท่านจะมีอายุมากแล้วแต่ก็ยังคงสร้างสรรค์ผลงานต่อไปอย่างต่อเนื่อง จากการอุทิศตนและการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าเป็นเวลาอันยาวนาน การให้บริการแก่สังคม และการดำรงชีวิตที่ดีงาม
พยอม สีนะวัฒน์ สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปะงานผ้า) ประจำปีพุทธศักราช 2530
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2535 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๓๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๔, ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๖