ข้ามไปเนื้อหา

ปลาสลิด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปลาสลิด
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
Actinopterygii
อันดับ: Anabantiformes
Anabantiformes
วงศ์: วงศ์ปลากัด ปลากระดี่
Osphronemidae
สกุล: ปลากระดี่
Trichopodus
Regan, 1910
สปีชีส์: Trichopodus pectoralis
ชื่อทวินาม
Trichopodus pectoralis
Regan, 1910
ชื่อพ้อง
  • Trichogaster pectoralis (Regan, 1910)

ปลาสลิด เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichogaster pectoralis ในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (Osphronemidae) มีรูปร่างคล้ายปลากระดี่หม้อ (T. trichopterus) ซึ่งเป็นปลาในสกุลเดียวกัน แต่มีลำตัวที่หนาและยาวกว่า หัวโต ครีบหลังในตัวผู้มีส่วนปลายยื่นยาวเช่นเดียวกับครีบก้น ครีบอกใหญ่ ตาโต ปากเล็กอยู่สุดปลายจะงอยปาก ครีบหางเว้าตื้นปลายมน ตัวมีสีเขียวมะกอกหรือสีน้ำตาลคล้ำ มีแถบยาวตามลำตัวตั้งแต่ข้างแก้มจนถึงกลางลำตัวสีดำ และมีแถบเฉียงสีคล้ำตลอดแนวลำตัวด้านข้างและหัว ครีบมีสีคล้ำ

ขนาดโดยเฉลี่ย 10–16 เซนติเมตร พบขนาดใหญ่สุดถึง 25 เซนติเมตร นับเป็นปลาในสกุล Trichopodus ที่ใหญ่ที่สุด

มีถิ่นอาศัยในแหล่งน้ำนิ่งที่มีพืชน้ำและหญ้ารกริมตลิ่งของภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบในประเทศรอบข้าง

พฤติกรรมในการสืบพันธุ์เริ่มขึ้นในระหว่างเดือนเมษายนถึงสิงหาคม โดยจะวางไข่โดยการก่อหวอดตามผิวน้ำติดกับพืชน้ำหรือวัสดุต่าง ๆ มักวางไข่ในช่วงกลางวันที่มีแดดรำไร หลังวางไข่เสร็จแล้วตัวพ่อปลาจะเป็นผู้ดูแลไข่จนฟักเป็นตัว ตัวเมียวางไข่ครั้งละ 4,000–10,000 ฟอง ในการเลี้ยงทางเศรษฐกิจนิยมให้เป็นการผสมพันธุ์หมู่

ปลาสลิดเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของไทย นิยมแปรรูปเป็นปลาแห้งหรีอปลาเค็ม โดยเกษตรกรจะเลี้ยงในบ่อดิน โดยฟันหญ้าให้เป็นปุ๋ยและเกิดแพลงก์ตอนเพื่อเป็นอาหารปลา โดยพื้นที่เลี้ยงปลาสลิดที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ อำเภอบางบ่อและอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่เรียกว่า "ปลาสลิดบางบ่อ" นอกจากนี้ยังมีอีกแหล่งหนึ่งที่เคยมีชื่อในอดีต คือที่ตำบลดอนกำยาน อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ปัจจุบันพื้นที่เลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร[2]

มีชื่อเรียกในภาษามลายูว่า เซอปัตซียัม ภาษาอังกฤษเรียกว่า "ปลากระดี่หนังงู" (Snakeskin gourami) และมีชื่อเรียกในราชาศัพท์อีกว่า "ปลาใบไม้" ทั้งนี้เนื่องจากคำว่า "สลิด" เพี้ยนมาจากคำว่า "จริต" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงแนะนำให้เรียกปลาสลิดในหมู่ราชบริพารว่า "ปลาใบไม้" เพราะทรงเห็นว่ามีรูปร่างเหมือนใบไม้

ปัจจุบัน ยังมีการเพาะเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เช่นเดียวกับปลากระดี่นาง ปลากระดี่หม้อ และปลากระดี่มุก

อ้างอิง

[แก้]
  1. Vidthayanon, C. (2012). "Trichopodus pectoralis". IUCN Red List of Threatened Species. 2012: e.T188087A1852593. doi:10.2305/IUCN.UK.2012-1.RLTS.T188087A1852593.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
  2. เพื่อนเกษตร, เช้าข่าว 7 สี: วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ทางช่อง 7

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]