ข้ามไปเนื้อหา

นิทานของบีเดิลยอดกวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นิทานของบีเดิลยอดกวี
ภาพปกหนังสือฉบับภาษาอังกฤษ
ผู้ประพันธ์เจ. เค. โรว์ลิ่ง
ชื่อเรื่องต้นฉบับThe Tales of Beedle the Bard
ผู้แปลสุมาลี บำรุงสุข
ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์
สำนักพิมพ์สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์
วันที่พิมพ์8 ธันวาคม พ.ศ. 2551
พิมพ์ในภาษาอังกฤษ
4 ธันวาคม พ.ศ. 2551
หน้า157[1]

นิทานของบีเดิลยอดกวี (อังกฤษ: The Tales of Beedle the Bard) เป็นหนังสือนิทานเด็ก ที่แต่งโดย เจ. เค. โรว์ลิ่ง เพื่อเป็นหนังสือประกอบสำหรับนิยายในชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ โดยหนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือสมมติที่ถูกอ้างถึงใน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ซึ่งเป็นนิยายเล่มสุดท้ายในชุดอีกด้วย

เดิมที เจ. เค. โรว์ลิ่ง ผู้เขียนได้จัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นด้วยมือเพียง 7 เล่มในโลกเท่านั้น โดยหกเล่มนั้นเธอนำไปบริจาคให้กับ 6 สถานที่ที่ช่วยให้เธอประสบความสำเร็จ และอีกหนึ่งเล่มเธอนำไปประมูลขาย โดยก็มีผู้ร่วมประมูลมากมาย แต่ในที่สุดเว็บไซต์ Amazon.com ก็ได้ไปในราคาถึง 1.95 ล้านปอนด์ ซึ่งถือว่าเป็นการประมูลต้นฉบับงานเขียนยุคใหม่ที่ราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

หลังจากนั้น หนังสือฉบับพิมพ์ปกติก็ได้เริ่มวางขายให้แก่คนทั่วไปในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 2551 สำหรับฉบับภาษาไทยนั้นจัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์[2] เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551[3]

สำหรับประวัติในโลกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ต้นฉบับของหนังสือบีเดิลยอดกวีเป็นหนังสือที่เก่าแก่มาก ฉบับพิมพ์ปัจจุบัน (ในโลกของแฮร์รี่ พอตเตอร์) นั้นพิมพ์หลังจากเหตุการณ์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ผู้เรียบเรียงคือเฮอร์ไมโอนี่ ซึ่งได้มาจากพินัยกรรมของดัมเบิลดอร์

นิทานของบีเดิลยอดกวีมีนิทานทั้งหมด 5 เรื่องด้วยกัน เรื่องที่ไม่เคยถูกกล่าวถึงในนิยายชุดหลักของแฮร์รี่ พอตเตอร์คือเรื่อง หัวใจขึ้นขนของผู้วิเศษ เพียงเรื่องเดียว

เนื้อเรื่อง

[แก้]

พ่อมดกับหม้อกระโดดได้

[แก้]

เป็นเรื่องของชายชราผู้หนึ่งที่มีจิตใจดีงาม เขาได้ใช้หม้อของเขาปรุงยาสารพัดชนิดเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเขา หากแต่ว่าเมื่อชายชราผู้นี้ได้เสียชีวิตลง ทรัพย์สินทุกๆ อย่างจึงตกเป็นของลูกชายคนเดียวของเขา ที่ไร้ซึ่งคุณสมบัติของบิดาทุกประการ เมื่อบิดาเสียชีวิตแล้ว ลูกชายโกรธแค้นชายชรามากมายที่ทิ้งเพียงแค่หม้อใบเดียวไว้ให้กับเขา จึงได้ปฏิเสธทุกๆ คนที่ร้องขอความช่วยเหลือ

คนแรกที่ได้มาขอความช่วยเหลือก็คือหญิงชราคนหนึ่ง หลานสาวของเธอเป็นโรคหูดอาการรุนแรง หลังจากที่ปิดประตูขับไล่หญิงชราแล้ว เขาก็ได้ยินเสียงแปลกๆ ในห้องครัวและเมื่อเข้าไปก็พบว่าเจ้าหม้อที่บิดามอบให้นั้นมีเท้าที่เต็มไปด้วยหูดงอกออกมา

คนต่อไปที่ได้มาขอความช่วยเหลือจากเขาก็คือชายชราท่านหนึ่ง ลาของเขาหายและตอนนี้หิวมากด้วยเจ้าลูกชายก็ได้ปิดประตูขับไล่ชายชราผู้นี้อีกเช่นกัน และเจ้าหม้อนั้นก็เริ่มส่งเสียงร้องเหมือนลา

เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ จนเขาทนไม่ไหว เขาจึงไปตระเวนหาเพื่อนบ้านเพื่อที่จะช่วยเหลือพวกเขา และเมื่อปัญหาของแต่ละคนสิ้นหายไป อาการของเจ้าหม้อก็ดีขึ้นไปตามกันจนในที่สุดรองเท้าแตะปรากฏขึ้นในหม้ออีกครั้ง รองเท้าแตะที่เท้าของหม้อใส่ได้พอดิบพอดีและทั้งเจ้าลูกชายกับหม้อก็เดินลับตาไปกับแสงยามสนธยา

น้ำพุแห่งโชคดีทีเดียว

[แก้]

เป็นที่รู้กันดีว่า ผู้คนมากมายซึ่งรวมไปถึงพ่อมดแม่มดและเหล่าผู้ที่ไม่มีเวทมนตร์ พยายามจะมายังที่น้ำพุแห่งนี้เพื่อที่จะขอคำตอบแก่ปัญหาของตน ที่นี่ยังเป็นที่นัดพบของแม่มดสามคนที่พยายามจะเข้าไปในสวนที่น้ำพุนั้นตั้งอยู่

แม่มดคนแรกมีนามว่า แอชา ซึ่งกำลังป่วยด้วยโรคที่ไม่มีผู้บำบัดคนใดจะสามารถรักษาได้ แม่มดคนที่สองมีนามว่า อัลเทดา ซึ่งถูกพ่อมดปล้นและทำให้ขายหน้า หล่อนหวังว่าน้ำพุนี้จะช่วยรักษาความรู้สึกไร้ค่าและความจนของเธอได้ แม่มดคนที่สามมีนามว่า อมตา ซึ่งถูกทอดทิ้งโดยคนรักของหล่อนและหวังว่าน้ำพุจะสามารถรักษาอาการโศกเศร้าและความโหยหาของหล่อนได้

ทั้งสามตัดสินใจว่าจะลองพยายามที่จะไปน้ำพุแห่งนี้ด้วยกัน มีอัศวินคนหนึ่งที่เสื้อของอมตาไปเกี่ยวกับโล่จึง ได้มาร่วมเดินทางไปกับพวกเธอ ในตอนแรกนั้น แม่มดอีกสองคนนั้นไม่เห็นด้วย เพราะว่ามีเพียงแค่คนเดียวเท่านั้นที่จะสามารถอาบน้ำพุแห่งโชคดีจอมปลอมได้

ในที่สุดทั้งสี่ก็เดินทางไปด้วยกันระว่างทางนั้นพวกเขาก็พบด่านสามด่าน ด่านแรกคือหนอนยักษ์ตาบอดตัวอ้วนป่องที่สั่งให้พวกเขาพิสูจน์ความทุกข์ทรมาน หลังจากที่พยายามจะปราบเจ้าหนอนยักษ์ด้วยเวทมนตร์ซึ่งไร้ผล น้ำตาของ แอชา ก็เป็นที่พึงพอใจต่อเจ้าสัตว์ดังกล่าว หลังจากนั้นพวกเขาได้พบกับทางลาดลึกและถูกสั่งให้มอบ ‘ของที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง เป็นราคาค่าทางผ่าน

เมื่อผ่านด่านที่สองมาแล้วทั้งหมดก็ได้พบกับแม่น้ำ และข้อแลกกับทางผ่านก็คือ ‘สิ่งที่ล้ำค่าที่สุดในอดีตของท่าน’ อมตา ใช้ไม้กายสิทธิ์ของนางดึงความทรงจำเกี่ยวกับของคนรักออกมาแล้วปล่อยมันทิ้งลงไปในน้ำและก้อนหินหลายก้อนก็โผล่ขึ้นมาเป็นทางข้ามแด่ผู้เดินทางทั้งสี่

เมื่อมาถึงน้ำพุ พวกเขาต้องตัดสินใจว่าใครที่จะเป็นคนอาบน้ำพุนี้ แอชา เป็นลมล้มไปด้วยความเหนื่อยเจียนตาย อัลเทดา ปรุงยาเพื่อที่จะรักษาเธอ ยาตัวนี้ไม่เพียงแค่ทำให้ แอชา ลุกขึ้นยืนบนเท้าทั้งสองข้างได้อีกครั้ง แต่ก็สามารถรักษาโรคของหล่อนอีกด้วยดังนั้น แอชา จึงไม่ต้องการน้ำพุอีกต่อไป

“อัลเทดา รู้ว่าเธอมีอำนาจที่จะช่วยรักษาผู้อื่นและพบหนทางที่จะหาเงิน ดังนั้น หล่อนเองก็ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำพุอีก แม่มดคนที่สามซึ่งก็คือ อมตา นั้นก็รับรู้เช่นกันว่า หลังจากที่หล่อนทิ้งความทรงจำไปในแม่น้ำ หล่อนก็สามารถมองเห็นคนรักเก่าของเธอในอย่างที่เขาเป็น ซึ่งก็คือโหดร้ายและไร้ซึ่งความเลื่อมใส ทำให้หล่อนเองก็ไม่ต้องการน้ำพุ หล่อนจึงมอบโอกาสนี้ให้กับอัศวิน

อัศวินซึ่งแปลกใจกับความโชคดีของเขาได้อาบน้ำพุ และจากเสื้อเกราะที่ขึ้นสนิมของเขา อัศวินอ้อนวอนขอ ‘มือและหัวใจของ อมตา ซึ่งพบว่าในที่สุดก็ได้เจอชายที่มีค่าพอสำหรับเธอ เมื่อแต่ละคนได้สมหวังกับความฝันแล้ว ก็เป็นอันว่าแท้จริงแล้วนั้นน้ำพุดังกล่าวไม่ได้มีเวทมนตร์อะไรเลย

หัวใจขึ้นขนของผู้วิเศษ

[แก้]

เรื่องที่สามนี้เป็นเรื่องเดียวที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงใน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต

เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของผู้วิเศษหนุ่มหล่อเหลาคนหนึ่ง ซึ่งตัดสินใจว่าเขาจะไม่มีวันยอมตกหลุมรักใครเด็ดขาด เขาใช้ศาสตร์มืดเพื่อป้องกันตนเองจากการตกหลุมรัก ตระกูลของเขาไม่ได้ทำอะไรเพื่อยับยั้งการกระทำครั้งนี้ เพราะมั่นใจว่าสักวันจะมีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาเปลี่ยนความคิดของเขา หากแต่เวลาผ่านไป ญาติพี่น้องของชายหนุ่มได้แต่งงานพร้อมๆ กับที่ความโง่เขลาของเขาได้เพียงแค่เพิ่มขึ้นเท่านั้น

ต่อมาในวันหนึ่ง ชายหนุ่มแอบได้ยินคนรับใช้สองคนพูดถึงการที่เขาไม่มีคู่ครอง ชายหนุ่มจึงตัดสินใจว่าจะหาผู้หญิงที่เก่ง ร่ำรวยและสวยงามมาแต่งงานกับเขาเพื่อที่ทุกคนจะได้พากันอิจฉา

นับว่าโชคดีนักที่ชายหนุ่มได้พบกับหญิงสาวดังกล่าวในวันต่อมา แม้ว่าหญิงสาวนั้นทั้งทึ่งและรังเกียจเขา ชายหนุ่มก็สามารถชี้ชวนให้เธอมาร่วมทานเลี้ยงมื้อค่ำที่ปราสาทของเขาจนได้ ระหว่างทานเลี้ยง หญิงสาวบอกเขาว่าเธอจะเชื่อมั่นในตัวเขาก็ต่อเมื่อเธอรู้ว่าเขานั้นมีหัวใจ ผู้วิเศษจึงพาเธอไปยังคุกใต้ดินและชี้ให้เธอดู หัวใจขนรุงรังที่กำลังเต้นอยู่ในกล่องแก้วคริสตัล แม่มดสาวนั้นหวาดกลัวมากและขอร้องให้เขานำมันไปเก็บเสีย เมื่อผู้วิเศษทำตามที่นางขอ หญิงสาวก็กอดเขาไว้และชายหนุ่มก็รู้สึกตื่นเต้นดีใจที่สามารถรู้สึกถึงความรัก หากแต่เพราะว่าหัวใจนั้นได้ห่างจากร่างกายของเขามานาน ความสวยงามและรอยกลิ่นหอมของแม่มดสาวได้แทงทะลุมันเสียสิ้น

ต่อมาแขกทั้งหลายก็ได้มาพบแม่มดสาวกับผู้วิเศษนอนสิ้นใจอยู่ในคุกใต้ดินและเห็นมือข้างหนึ่งที่ในมือของผู้วิเศษมีหัวใจของแม่มดสาวอยู่ส่วนมืออีกข้างก็ถือไม้กายสิทธิ์

แบ๊บบิตตี้ แร๊บบิตตี้ กับตอไม้หัวเราะได้

[แก้]

มีพระราชาพระองค์หนึ่งเป็นพระราชาที่โง่เขลาและมีพระประสงค์ต้องการเก็บเวทมนตร์ทั้งหมดไว้กับพระองค์เอง และสั่งกองทัพล่าแม่มดหากแต่ว่าการนี้จะสำเร็จก็ต่อเมื่อพระองค์สามารถแก้ปัญหาสองประการได้เสียก่อน

ประการแรกก็คือ พระองค์ต้องรวบรวมเหล่าแม่มดทุกคนในอาณาจักรและประการที่สองพระองค์ก็จะต้องทรงเรียนรู้การใช้เวทมนตร์ และระหว่างที่พระองค์ทรงรวมกำลังกองพันทหารเพื่อออกตามล่าเหล่าแม่มดนั้นพระองค์ก็ได้รับสั่งหาผู้สอนเวทมนตร์อีกด้วย แต่ไม่มีใครตอบรับเป็นผู้สอนให้แก่พระองค์เพราะในระหว่างนั้นเหล่าแม่มดกำลังหลบหนีจากกองทหารนอกจาก ‘นักต้มตุ๋น’ ผู้ซึ่งไร้อำนาจเวทมนตร์ใดๆ ทำได้เพียงแค่เล่นกลธรรมดา และขอเงินขอทองพร้อมๆ กับทูลพระองค์ว่า ทั้งหมดนั้นจำเป็นในการร่ายคาถา

‘แบ๊บบิตตี้’ หญิงรับจ้างปักเสื้อผ้าของพระราชาเริ่มส่งเสียงหัวเราะระหว่างที่ดูพระราชากับนักต้มตุ๋นพยายามร่ายเวทมนตร์คาถาจากกระท่อมของเธอ ซึ่งทำให้พระองค์ทรงกริ้วเป็นหนักหนา ดังนั้นจึงมีรับสั่งว่าทั้งสองจะแสดงเวทมนตร์ต่อหน้าผู้คนในวันรุ่งขึ้นและหากผู้ใดบังอาจกล้าหัวเราะเยาะพระองค์เสียล่ะก็ นักต้มตุ๋นจะถูกตัดหัวทิ้งทันที

นักต้มตุ๋นไปที่กระท่อมของแบ๊บบิตตี้ และไปแอบเห็นเธอร่ายเวทมนตร์เข้า เขาจึงขอความช่วยเหลือจากเธอ ไม่อย่างนั้นเขาจะนำตัวเธอส่งพวกทหาร นักต้มตุ๋นบอกว่าระหว่างการแสดงกลของพระราชานั้นให้เธอไปหลบซ่อนอยู่ในพุ่มไม้แล้วร่ายเวทมนตร์ให้พระราชา และนางก็ตอบตกลง วันต่อมาเมื่อทุกอย่างกำลังไปได้ด้วยดีนั้นกัปตันของเหล่าทหารก็เข้ามาพร้อมกับสุนัขที่ตายแล้วตัวหนึ่งและบอกให้พระราชาทำให้สุนัขตัวนี้ฟื้นกลับคืนชีพมาให้ได้ แบ๊บบิตตี้ ที่รู้ดีว่าแม้กระทั่งเวทมนตร์ก็ไม่สามารถพาอะไรกลับมาจากความตายได้ทั้งสิ้น จึงไม่พยายามที่จะช่วยเหลือพระราชา และเป็นเหตุให้เหล่าฝูงชนหัวเราะเยาะพระองค์เพราะพากันคิดว่าเวทมนตร์คาถาที่พระองค์ร่ายในตอนเริ่มแรกนั้นเป็นเพียงแค่กลอุบาย

นักต้มตุ๋นที่ตื่นกลัวก็รีบชี้ไปที่ที่ แบ๊บบิตตี้ ซ่อนตัวอยู่และบอกว่านังแม่มดนั่นกำลังกลั่นแกล้งพระองค์โดยเสกมนต์กันจึงทำให้คาถาไม่ทำงานแบ๊บบิตตี้ จึงวิ่งหนีจากพุ่มไม้แล้วหายตัวไปในป่าตรงใต้ตอต้นไม้แก่ๆ นักต้มตุ๋นที่กำลังจนตรอกเต็มทีร้องบอกว่านังแม่มดได้กลายร่างเป็นต้นไม้และสั่งให้ตัดต้นไม้นี้ทิ้งเสียนางจะได้ตาย

เมื่อผู้คนเริ่มพากันกลับบ้าน ตอไม้ก็ส่งเสียงหัวเราะก่อนจะจัดการทำให้นักต้มตุ๋นยอมรับความจริงทุกสิ่งว่าแท้แล้วเขานั้นไม่มีเวทมนตร์เลย ตอไม้ส่งเสียงอีกครั้งและสั่งให้พระราชาห้ามทำร้ายผู้มีเวทมนตร์อีกเป็นอันขาดและให้พระองค์สร้างรูปปั้นของแบ๊บบิตตี้บนตอไม้นี้เพื่อที่จะได้ย้ำเตือนความโง่เขลาของพระองค์

เพราะความกลัวพระราชาจึงยอมปฏิบัติตามคำสั่งของตอไม้ และเดินทางกลับพระราชวัง โดยไม่มีใครทันสังเกตเห็น กระต่ายแก่ตัวป้อมๆ ที่กระโดดออกจากโพรงใต้ตอไม้แล้วเดินทางออกจากอาณาจักรไป

นิทานสามพี่น้อง

[แก้]

ชายสามพี่น้อง กำลังเดินทางไปตามถนนที่คดเคี้ยวและเปล่าเปลี่ยวในยามเที่ยงคืน สามพี่น้องได้มาถึงแม่น้ำซึ่งลึกเกินกว่าจะเดินลุยข้าม และเชี่ยวกรากเกินกว่าจะว่ายข้ามไป แต่พี่น้องทั้งสามคนได้เล่าเรียนเวทมนตร์ศาสตร์ พวกเขาจึงแค่โบกไม้กายสิทธิ์และเสกสะพานขึ้นมา แต่พอข้ามไปถึงกึ่งกลางสะพาน ยมทูตได้ปรากฏตัวต่อหน้าพวกเขา

ยมทูตโกรธมากที่ไม่ได้วิญญาณกลับไป เพราะนักเดินทางส่วนมากจะตกน้ำแต่ด้วยความเจ้าเล่แสนกล เขาแสร้งทำเป็นยินดีกับสามพี่น้อง และบอกว่าทั้งสามควรได้รับรางวัล ในฐานะที่ฉลาดพอจะหลบเลี่ยงยมทูตได้ พี่ชายคนโตเป็นคนชอบต่อสู้ ขอไม้กายสิทธิ์ที่มีอำนาจเหนือกว่าไม้ใดๆ ในโลก ยมทูตจึงข้ามไปเด็ดกิ่งต้นเอลเดอร์ซึ่งขึ้นอยู่ริมตลิ่งออกมาทำไม้กายสิทธิ์ให้พี่ชายคนโต

พี่คนรองเป็นคนหยิ่งยโสอยากทำให้ยมทูตอับอายขายหน้ามากขึ้นอีก จึงขออำนาจที่จะเรียกใครก็ได้กลับมาจากความตาย ยมทูตจึงหยิบหินก้อนหนึ่งขึ้นมาจากริมฝั่ง และมอบให้พี่ชายคนรอง บอกเขาว่าหินก้อนนี้มีอำนาจนำคนตายกลับมาได้

น้องคนสุดท้องเป็นคนถ่อมตัวที่สุด และฉลาดที่สุดในบรรดาพี่น้องสามคน เขาไม่เชื่อใจยมทูตจึงขออะไรก็ได้ที่จะทำให้ยมทูตไม่สามารถติดตามเขาไปได้ ยมทูตจึงมอบผ้าคลุมล่องหนของตนให้ด้วยความไม่เต็มใจอย่างยิ่ง จากนั้นยมทูตก็หลีกทาง ปล่อยให้สามพี่น้องเดินต่อไป พวกเขาพูดคุยถึงการผจญภัยอันแสนมหัศจรรย์และชื่นชมของขวัญจากยมทูต แล้วสามพี่น้องก็แยกทางกัน

พี่คนโตเดินทางไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เขาท้าประลองกับพ่อมดที่เคยมีเรื่องวิวาทด้วย และเอาชนะมาได้อย่างง่ายดายและทิ้งศัตรูให้นอนตายอยุ่บนพื้น เขาเดินไปยังโรงเตี๊ยมแห่งหนึ่ง แล้วคุยโวโอ้อวดเรื่องไม้กายสิทธิ์อันนั้น ในคืนนั้นจึงมีพ่อมดมาขโมยไม้กายสิทธิ์ไป แถมยังเชือดคอพี่ชายคนโต ยมทูตจึงได้พี่ชายคนโตไป

น้องคนรองเดินทางกลับบ้านของตนเอง เขาหมุนหินชุบวิญญาณในมือสามครั้ง แล้วร่างของหญิงสาวผู้หนึ่งก็โผล่ออกมา เธอจนคนรักของน้องรอง และกำลังจะได้แต่งงานแต่ต้องมาตายเสียก่อน แต่เธอกลับห่างเหินและเย็นชา ทำให้น้องคนรองกลายเป็นบ้าและฆ่าตัวตาย ยมทูตจึงได้น้องคนรองไป

ส่วนน้องคนที่สาม ได้สวมผ้าคลุมล่องหนตลอดเวลา ทำให้ยมทูตซึ่งแม้จะพยายามตามหาเขาสักเท่าไรก็หาไม่เจอ ในที่สุดเมื่อผู้เป็นน้องชรามากแล้ว เขาจึงมอบผ้าคลุมให้ลูกชาย และเดินทางไปกับยมทูตอย่างเสมอกัน

คำวิจารณ์ของดัมเบิลดอร์

[แก้]

ในตอนท้ายของแต่ละเรื่อง อัลบัส ดัมเบิลดอร์ได้เขียนคำวิจารณ์เอาไว้และให้เก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุฮอกวอตส์ โดยเขาได้เขียนบทวิจารณ์ฉบับนี้ก่อนการเสียชีวิตของเขา 18 เดือน (ตรงกับปี 5 ของแฮร์รี่)

คำวิจารณ์เรื่องพ่อมดกับหม้อกระโดดได้

[แก้]

เขาเล่าถึงข้อคิดที่พ่อมดผู้ชราได้สั่งสอนลูกชายให้รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนบ้าน ทำให้นิทานเรื่องนี้ได้รับการต่อต้านจากพ่อมดแม่มด ว่าเป็นการสอนให้พ่อมดแม่มดเป็นมิตรกับพวกมักเกิ้ล ซึ่งเหมือนกับการนำตนเองไปสู่เรื่องเดือดร้อน ดัมเบิลดอร์ได้กล่าวถึงถ้อยคำวิจารณ์พวกมักเกิ้ลของ "บรูตัส มัลฟอย" ผู้ก่อตั้งนิตยสาร ผู้วิเศษทำศึก และคุณนายเบียทริกซ์ บล็อกซัม ได้ดัดแปลงเรื่องนี้ลงในนิทานของเธอ ซึ่งมีเนื้อหาหวานแหววเกินไปสำหรับเด็กๆ จนเด็กๆ ขอให้เอานิทานเล่มนั้นบดเป็นปุ๋ยไปเสีย

คำวิจารณ์เรื่องน้ำพุแห่งโชคดีทีเดียว

[แก้]

ท่านได้กล่าวถึงตอนที่ท่านเป็นอาจารย์สอนวิชาแปลงร่างใหม่ๆ ศาสตราจารย์เฮอร์เบิร์ต เบียรี อาจารย์สอนวิชาสมุนไพรศาสตร์ในสมัยนั้นอยากจะจัดการแสดงละครใบ้วันคริสต์มาสเพื่อเป็นของขวัญให้เด็กๆ และคณาจารย์ เขาได้ขอให้ดัมเบิลดอร์และศาสตราจารย์เคทเทิ่ลเบิร์นช่วย ซึ่งดัมเบิลดอร์ก็ทำได้ดี แต่กลับเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เมื่อหนอนยักษ์ ซึ่งเคทเทิ่ลเบิร์นได้เอาตัวแอชวินเดอร์ สัตว์มหัศจรรย์ที่เกิดจากไฟเวทมนตร์ มาเสกให้ใหญ่ขึ้น เกิดระเบิด ส่งผลให้ห้องโถงใหญ่ไฟไหม้ และยังเกิดการต่อสู้ของตัวละคร ที่หลงรักกัน ทำให้เขาถูกลงโทษทางวินัย และศาสตราจารย์เบียรีก็ย้ายไปอยู่ที่วิทยาลัยศิลปะของผู้วิเศษ

พ่อมดแม่มดเห็นว่านิทานเรื่องนี้แย่กว่าเรื่องที่แล้วอีก เพราะมันสอนให้พ่อมดแม่มดแต่งงานกับพวกมักเกิ้ล ดัมเบิลดอร์เองก็ได้คำวิจารณ์จากลูเซียส มัลฟอย ที่ขอให้เอานิทานของบีเดิลยอดกวีออกจากห้องสมุดโรงเรียนเสีย เพราะกลัวว่าลูกชายของเขาจะหลงผิดคิดรักพวกมักเกิ้ล แต่ดัมเบิลดอร์ก็ได้อ้างเหตุผลที่น่าเชื่อถือว่า "ประชากรผู้วิเศษมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้ก็เพราะพวกเขาแต่งงานพวกกับมักเกิ้ล"

คำวิจารณ์เรื่องหัวใจขึ้นขนของผู้วิเศษ

[แก้]

ดัมเบิลดอร์ได้บอกว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากที่สุด ขนาดคุณนายบล็อกซัมยังถึงกับประสาทเสียไปหลายสัปดาห์เมื่อแอบได้ยินญาติผู้ใหญ่ของเธอเล่าเรื่องนี้ ผู้ปกครองควรคิดให้ดีว่าลูกของพวกเขาโตพอหรือยังที่จะเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง หลังจากนั้นเขาเขียนว่าไม่มีผู้ใดหลบเลี่ยงความเจ็บปวดทางใดๆ ได้ เหมือนกับการมีชีวิตอยู่ ผู้วิเศษในเรื่องได้ทำการแบ่งแยกร่างกายและจิตใจของเขาออกจากกัน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเขาให้ตกต่ำลงสู่อมนุษย์ ทำให้หัวใจของเขาขึ้นขนเหมือนสัตว์ร้าย ในที่สุดเมื่อเขาต้องการหัวใจกลับคืนมาก็ยากที่จะฟื้นฟู ท้ายสุด นิทานเรื่องนี้มีอิทธิพลให้เกิดสำนวน "หัวใจขึ้นขน" ในหมู่ผู้วิเศษ ซึ่งหมายความว่าพ่อมดที่ไม่ชอบการผูกมัด หรือเย็นชา

คำวิจารณ์เรื่องแบ็บบิตตี้ แร็บบิตตี้ กับตอไม้หัวเราะได้

[แก้]

เขาได้กล่าวว่านิทานเรื่องนี้มีความสมจริงมากที่สุด อันแรก เรื่องของความตายที่ไม่มีเวทมนตร์ไหนเอาชนะได้ จนพ่อมดแม่มดคิดประดิษฐ์สิ่งที่จะแทนคนรักได้ อย่างเช่นรูปภาพที่เคลื่อนไหวได้ เรื่องที่สอง เรื่องของแอนิเมะจัส แต่เขาคาดว่าบีเดิลคงได้ยินเรื่องนี้มา จึงไม่รู้ว่าผู้ที่เป็นแอนิเมะจัสไม่สามารถพูดได้ในร่างสัตว์ เขาคาดว่าบีเดิลได้นำเอาเหตุการณ์ประหารลีแซต เดอลาแปง แม่มดชาวฝรั่งเศสที่ถูกจับได้ว่าเป็นแม่มด แต่ก็หนีออกมาได้ เรื่องที่สามกล่าวถึงการที่พระราชาคิดว่าจะเรียนเวทมนตร์ได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ จึงหลงเชื่อนักต้มตุ๋นและแม่มดแบ๊บบิตตี้ เรื่องที่สี่ เรื่องที่ไม่ควรตัดต้นไม้ที่ใช้ทำไม้กายสิทธิ์ หากไม่อยากเจ็บตัวจากตัวโบวทรักเคิล เรื่องสุดท้ายก็คือคำสาปกรีดแทง ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับคาถาที่แบ๊บบิตตี้ขู่พระราชาไม่มีผิด

คำวิจารณ์เรื่องนิทานสามพี่น้อง

[แก้]

เขากล่าวว่าเป็นเรื่องที่เขาขอให้แม่เล่าบ่อยที่สุด มีบางคนบอกไว้ว่าบีเดิลบอกรหัสให้รู้ว่าของขวัญทั้งสามของยมทูต มีอยู่จริง และได้ชื่อว่าเป็น 3 สิ่งที่ทำให้ผู้ครอบครองเอาชนะความตายได้ ซึ่งดัมเบิลดอร์ได้กล่าวไว้ว่าเป็นความหวังที่สิ้นหวัง เพราะไม่มีใครเอาชนะความตายได้ เรื่องความฉลาดของน้องคนสุดท้อง ที่รู้ว่าจะเอาวิธีชนะความตาย อย่างถูกต้อง ได้อย่างไร ดัมเบิลดอร์เล่าประวัติของการครอบครองไม้ที่มีชื่อเสียงนี้เพิ่มเติม และกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ผู้คนส่วนใหญ่มักเมินวิธีของน้องคนสุดท้อง ที่ใช้ผ้าคลุมล่องหน และหันไปหาวิธีเอาชนะความตาย หรือเอาคนตายกลับมา ซึ่งแม้แต่ตัวเขาเองก็ยังโง่เขลาที่ปฏิเสธของที่เอาชนะความตายได้ อย่างแท้จริง

ข้อมูลอื่นๆ

[แก้]
  • ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต ผู้แปลได้แปลชื่อของนิทานเรื่อง The Fountain of Fair Fortune ไว้ว่า 'น้ำพุแห่งโชคดีจอมปลอม' แต่ในการตีพิมพ์นิทานบีเดิลยอดกวีนั้น ผู้แปลได้เปลี่ยนชื่อเป็น 'น้ำพุแห่งโชคดีทีเดียว'

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "J.K. Rowling's The Tales of Beedle the Bard". Amazon.com.
  2. [1]|ลิขสิทธิ์บีเดิลภาษาไทยสำเร็จ
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-14. สืบค้นเมื่อ 2008-11-13.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]