ข้ามไปเนื้อหา

หัวใจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Heart)
หัวใจ
ภาพวาดหัวใจมนุษย์
รายละเอียด
ระบบไหลเวียน
หลอดเลือดแดงหลอดเลือดแดงเลี้ยงหัวใจขวา, หลอดเลือดแดงเลี้ยงหัวใจซ้าย, หลอดเลือดแดงระหว่างหัวใจห้องล่างหน้า
หลอดเลือดดำท่อเลือดดำบน, ท่อเลือดดำล่าง, หลอดเลือดดำปอดขวา, หลอดเลือดดำปอดซ้าย
ประสาทเส้นประสาทแอ็กเซละแรนส์, ประสาทเวกัส
ตัวระบุ
ภาษาละตินcor
ภาษากรีกkardía (καρδία)
MeSHD006321
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

หัวใจ เป็นอวัยวะกล้ามเนื้อซึ่งสูบเลือดทั่วหลอดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายโดยการหดตัวเป็นจังหวะซ้ำ ๆ พบในสัตว์ทุกชนิดที่มีระบบไหลเวียน ซึ่งรวมสัตว์มีกระดูกสันหลังด้วย

หัวใจสัตว์มีกระดูกสันหลังนั้นประกอบด้วยกล้ามเนื้อหัวใจและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเป็นหลัก กล้ามเนื้อหัวใจเป็นกล้ามเนื้อลายที่อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ พบเฉพาะที่หัวใจ และทำให้หัวใจสามารถสูบเลือดได้

หัวใจมนุษย์ปกติเต้น 72 ครั้งต่อนาที ซึ่งจะเต้นประมาณ 2,500 ล้านครั้งในช่วงอายุเฉลี่ย 66 ปี และสูบเลือดประมาณ 4.7-5.7 ลิตรต่อนาที หนักประมาณ 250 ถึง 300 กรัมในหญิง และ 300 ถึง 350 กรัมในชาย

คำคุณศัพท์ cardiac มาจาก kardia ในภาษากรีก ซึ่งหมายถึงหัวใจ หทัยวิทยาเป็นแขนงแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับโรคและความผิดปกติของหัวใจ

โครงสร้าง

[แก้]

ในมนุษย์ หัวใจอยู่ในช่องอกเยื้องไปทางซ้ายเล็กน้อย หัวใจมีน้ำหนักประมาณ 250-350 กรัม และมีขนาดประมาณสามในสี่ของกำปั้น[ต้องการอ้างอิง]

บนผิวของหัวใจมีร่องหัวใจ (cardiac groove) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการวางตัวของหลอดเลือดหัวใจ ร่องหัวใจที่สำคัญได้แก่

  • ร่องโคโรนารี (Coronary grooves) หรือร่องเอตริโอเวนตริคิวลาร์ (atrioventricular groove) เป็นร่องที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องบน (atria) และหัวใจห้องล่าง (ventricle) ร่องนี้จะเป็นที่วางตัวของแอ่งเลือดโคโรนารี (coronary sinus) ทางพื้นผิวด้านหลังของหัวใจ
  • ร่องอินเตอร์เวนตริคิวลาร์ด้านหน้า (Anterior interventricular groove) เป็นร่องที่แบ่งระหว่างหัวใจห้องซ้ายและหัวใจห้องขวาทางด้านหน้า และจะมีแขนงใหญ่ของหลอดเลือดแดงโคโรนารีด้านซ้าย (left coronary artery) วางอยู่
  • ร่องอินเตอร์เวนตริคิวลาร์ด้านหลัง (Posterior interventricular groove) เป็นร่องที่แบ่งหัวใจระหว่างห้องซ้ายและห้องขวาทางด้านหลัง ส่วนใหญ่จะพบว่ามีแขนงของหลอดเลือดแดงโคโรนารีด้านขวา (right coronary artery) วางอยู่

ผนังหัวใจ

[แก้]

ผนังของหัวใจประกอบด้วยเนื้อเยื่อสามชั้น ได้แก่

  • เยื่อหุ้มหัวใจชั้นใน (Epicardium) เป็นชั้นที่ติดกับเยื่อหุ้มหัวใจด้านที่ติดกับหัวใจ (Visceral layer of pericardium) ประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เหนียวและแข็งแรง
  • กล้ามเนื้อหัวใจ (Myocardium) เป็นชั้นที่หนาที่สุด ประกอบด้วยกล้ามเนื้อหัวใจเกือบทั้งหมด
  • เยื่อบุหัวใจ (Endocardium) เป็นชั้นบาง ๆ ที่เจริญมาจากเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด

ห้องหัวใจ

[แก้]

หัวใจจะถูกแบ่งออกเป็นสี่ห้อง (heart chambers) และทิศทางการไหลของเลือดเข้าสู่แต่ละห้องจะถูกควบคุมโดยลิ้นหัวใจ (cardiac valves) ทำให้เลือดไม่ไหลย้อนเมื่อมีการบีบตัวและคลายตัว ในที่นี้จะกล่าวถึงห้องของหัวใจตามลำดับของการไหลของเลือดภายในหัวใจ

หัวใจห้องบนขวา

[แก้]

หัวใจห้องบนขวา (Right atrium) มีหน้าที่รับเลือดที่มาจากท่อเลือดดำบน (superior vena cava) ซึ่งรับเลือดมาจากร่างกายส่วนบน และท่อเลือดดำล่าง (Inferior vena cava) รับเลือดมาจากร่างกายช่วงล่าง ผนังของหัวใจห้องนี้ค่อนข้างบาง โดยเฉพาะทางด้านที่ติดกับหัวใจห้องบนซ้าย จะมีรอยบุ๋มที่เรียกว่า ฟอซซา โอวาเล (ละติน: Fossa ovale) ซึ่งเป็นทางเชื่อมระหว่างหัวใจห้องบนสองห้องระหว่างที่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์ เลือดจากหัวใจห้องบนขวาจะไหลเข้าสู่หัวใจห้องล่างขวา ผ่านทางลิ้นหัวใจไทรคัสปิด (Tricuspid valve)

หัวใจห้องล่างขวา

[แก้]

หัวใจห้องล่างขวา (Right ventricle) จะอยู่ทางด้านหน้าสุดของหัวใจ และพื้นผิวทางด้านหลังของหัวใจห้องนี้จะติดกับกะบังลม หัวใจห้องล่างขวาทำหน้าที่รับเลือดจากหัวใจห้องบนขวา แล้วส่งออกไปยังปอด ผ่านลิ้นหัวใจพัลโมนารี (pulmonary valve) และหลอดเลือดแดงปอด (pulmonary arteries) ที่ผนังของหัวใจห้องที่จะมีแนวของกล้ามเนื้อหัวใจที่สานต่อกัน และมีเอ็นเล็ก ๆ ที่ควบคุมลิ้นหัวใจไทรคัสปิด ซึ่งเรียกว่า คอร์ดี เท็นดินี (chordae tendinae) ซึ่งทำหน้าที่ยึดลิ้นหัวใจไทรคัสปิดไม่ให้ตลบขึ้นไปทางหัวใจห้องบนขวาระหว่างการบีบตัวของหัวใจห้องล่าง ดังนั้นจึงป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ

หัวใจห้องบนซ้าย

[แก้]

หัวใจห้องบนซ้าย (Left atrium) มีขนาดเล็กที่สุดในห้องหัวใจทั้งสี่ห้อง และวางตัวอยู่ทางด้านหลังสุด โดยหัวใจห้องนี้จะรับเลือดที่ได้รับออกซิเจนจากปอดผ่านทางหลอดเลือดดำปอด (pulmonary veins) และจึงส่งผ่านให้หัวใจห้องล่างซ้ายทางลิ้นหัวใจไมทรัล (Mitral valve)

หัวใจห้องล่างซ้าย

[แก้]

หัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricle) จัดว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดและมีผนังหนาที่สุด ทำหน้าที่หลักในการสูบฉีดเลือดไปยังทั่วทั้งร่างกายผ่านทางลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic valve) และหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (Aorta)

สรีรวิทยา

[แก้]

การไหลเวียนเลือด

[แก้]
Blood flow through the valves
Blood flow through the heart from the Khan academy

หน้าที่หลักของหัวใจคือการสูบฉีดเลือดผ่านระบบไหลเวียนเพื่อไปเลี้ยงร่างกายทั้งร่าง การไหลเวียนนี้แบ่งออกเป็นการไหลเวียนเลี้ยงกายที่ส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายและรับเลือดที่ใช้แล้วกลับ และการไหลเวียนผ่านปอด ซึ่งส่งเลือดไปฟอกที่ปอดและรับเลือดกลับจากปอดมาหัวใจเพื่อเตรียมสูบฉีดต่อไปยังร่างกาย ขณะที่เลือดไหลเวียนผ่านปอดจะมีการแลกเปลี่ยนก๊าซ รับเอาออกซิเจนเข้ามาในเลือด และส่งคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปยังปอดผ่านการหายใจ หลังจากนั้นระบบไหลเวียนกายจะส่งเลือดแดงที่มีออกซิเจนมากไปยังร่างกาย และรับเลือดดำที่มีคาร์บอนไดออกไซด์มากและมีออกซิเจนน้อยกลับมายังปอด[1]

รอบหัวใจเต้น

[แก้]

รอบหัวใจเต้น (cardiac cycle) หมายถึงรอบที่สมบูรณ์ของการเต้นของหัวใจ ทั้งการบีบตัว การคลายตัว และการหยุดพักหัวใจปกติจะเต้นอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความเร็วที่เปลี่ยนไปตามกิจกรรมของร่างกาย โดยในขณะพักหัวใจจะเต้นประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที ในขณะเดินหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาทีและมากกว่า 120 ครั้งต่อนาทีในขณะวิ่ง อย่างไรก็ตามนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังเป็นประจำ อาจมีชีพจรในขณะพักระหว่าง 50-60 ครั้งต่อนาที

ปริมาตรเลือดส่งออก

[แก้]

ปริมาตรเลือดส่งออกจากหัวใจต่อนาที (cardiac output) คือปริมาตรของเลือดที่ถูกสูบฉีดออกจากหัวใจห้องล่างซ้ายหรือห้องล่างขวาในระยะเวลาหนึ่งนาที อาจวัดผลได้หลายหน่วย เช่น ลูกบาศก์เดซิเมตรต่อนาที นอกจากนี้ยังคำนวณได้จากสูตร Cardiac output = Stroke volume (ปริมาตรเลือดที่ถูกสูบฉีดออกจากหัวใจในการบีบตัวหนึ่งครั้ง) × อัตราการเต้นของหัวใจในหนึ่งนาที[3] ค่า CO มีหน่วยเป็นปริมาตรต่อเวลา นิยมใช้เป็นลิตรต่อนาที (L/min) สำหรับคนทั่วไปที่มีน้ำหนัก 70 กิโลกรัม ค่าเฉลี่ยของ CO ขณะพัก จะอยู่ที่ประมาณ 5 ลิตรต่อนาที (โดยมีอัตราการการเต้นของหัวใจ 70 ครั้งต่อนาที และปริมาตรเลือดที่หัวใจบีบออกแต่ละครั้ง ประมาณ 70 ซีซี)

การนำไฟฟ้า

[แก้]

การนำไฟฟ้าหัวใจที่ปกติทำให้พลังผลักดัน (impulse) ที่สร้างจากปุ่มไซนัสหัวใจห้องบน (Sinaoatrial node) หรือเอสเอโนด (SA node) ของหัวใจแผ่ไปยัง (และกระตุ้น) กล้ามเนื้อหัวใจ ผลของการกระตุ้นทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหดตัว การกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจอย่างเป็นระเบียบนี้ทำให้หัวใจหดตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย

อัตราหัวใจเต้น

[แก้]

อัตราการเต้นของหัวใจที่ปกติ ขณะพักจะอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที กรณีที่หัวใจเต้นเร็วคือ สูงกว่า 100 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป

สิ่งที่ส่งผลต่ออัตราหัวใจเต้น

[แก้]

เสียง

[แก้]

รอบหัวใจเต้น

[แก้]

รอบหัวใจเต้น (cardiac cycle) หมายถึงรอบที่สมบูรณ์ของการเต้นของหัวใจ ทั้งการบีบตัว การคลายตัว และการหยุดพัก

ปริมาตรเลือดส่งออก

[แก้]

ปริมาตรเลือดส่งออกจากหัวใจต่อนาที (cardiac output)

หน้าที่

[แก้]
ภาพวาดแสดงเอวีโนด และแนวของบันเดิล ออฟ ฮิส

คุณสมบัติประการหนึ่งที่น่าสนใจของหัวใจนั้น คือการที่กล้ามเนื้อหัวใจสามารถกระตุ้นการทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยอาศัยระบบนำไฟฟ้า (conduction system) ภายในผนังของหัวใจ โครงสร้างที่สำคัญของระบบนำไฟฟ้าของหัวใจได้แก่

  • ไซโนเอเตรียลโนด (Sinaoatrial node) หรือเอสเอโนด (SA node) เป็นกลุ่มของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่มีการเปลี่ยนรูปไปเป็นเซลล์ของระบบนำไฟฟ้า โดยอยู่ในผนังของหัวใจห้องบนขวา เอสเอโนดทำหน้าที่เป็นตัวเริ่มต้นในการส่งกระแสไฟฟ้าไปตามกล้ามเนื้อหัวใจห้องบน ด้วยความถี่ประมาณ 60-70 ครั้งต่อนาที
  • เอตริโอเวนตริคิวลาร์โนด (Atrioventricular node) หรือเอวีโนด (AV node) อยู่ระหว่างหัวใจห้องบนและห้องล่าง โดยจะรับกระแสไฟฟ้าที่ส่งมาตามหัวใจห้องบน แล้วจึงนำกระแสไฟฟ้าส่งลงไปยังหัวใจห้องล่าง ผ่านทางเส้นใยนำไฟฟ้าที่อยู่ในผนังกั้นหัวใจห้องล่างขวาและล่างซ้าย ซึ่งเรียกว่า บันเดิล ออฟ ฮิส (Bundle of His) และนำกระแสไฟฟ้าเข้าสู่หัวใจห้องล่างทางเส้นใยปัวคินเจ (Purkinje fiber) นอกจากนี้ในกรณีที่เอสเอโนดไม่สามารถกระตุ้นหัวใจได้ เอวีโนดจะทำหน้าที่เป็นตัวเริ่มต้นแทน

อ้างอิง

[แก้]
  1. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ CNX2014
  • Gray's anatomy for students. Drake, RL., Vogl, W. and Mitchell, AWM.
  • Clinically Oriented Anatomy, 4th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]