ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอไทรน้อย

พิกัด: 13°58′44″N 100°18′49″E / 13.97889°N 100.31361°E / 13.97889; 100.31361
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไทรน้อย)
อำเภอไทรน้อย
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Sai Noi
นาข้าวในอำเภอไทรน้อย
นาข้าวในอำเภอไทรน้อย
คำขวัญ: 
หลวงพ่อทองคำล้ำค่า ไร่นาสวนผสม รื่นรมย์ตลาดน้ำ อารามดูงามงด สวยสดสวนกล้วยไม้ ระบือไกลงานประเพณี
แผนที่จังหวัดนนทบุรี เน้นอำเภอไทรน้อย
แผนที่จังหวัดนนทบุรี เน้นอำเภอไทรน้อย
พิกัด: 13°58′44″N 100°18′49″E / 13.97889°N 100.31361°E / 13.97889; 100.31361
ประเทศ ไทย
จังหวัดนนทบุรี
พื้นที่[1]
 • ทั้งหมด186.017 ตร.กม. (71.822 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2566)
 • ทั้งหมด76,440 คน
 • ความหนาแน่น410.93 คน/ตร.กม. (1,064.3 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 11150
รหัสภูมิศาสตร์1205
ที่ตั้งที่ว่าการเลขที่ 85 หมู่ที่ 1 ถนนเทศบาล 2 ตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี 11150
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ไทรน้อย เป็นอำเภอที่จัดตั้งขึ้นล่าสุด รวมทั้งมีพื้นที่มากที่สุดและมีจำนวนประชากรน้อยที่สุดในจังหวัดนนทบุรี สภาพพื้นที่ทั่วไปยังคงสภาพชนบทไว้ เช่น ท้องนา ท้องไร่ บ้านเรือนแบบเรียบง่าย แต่มีระบบสาธารณูปโภคชั้นสูง เช่น โรงไฟฟ้า บ่อขยะ คลองชลประทาน และยังพบวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวนนทบุรีอีกด้วย อำเภอไทรน้อยเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างจังหวัดนนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

อำเภอไทรน้อยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัด โดยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดเป็นระยะทาง 29.01 กิโลเมตร[2] และมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พื้นที่ตอนในระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระนครยังคงเป็นป่าขนาดใหญ่ มีอาณาบริเวณครอบคลุมรอยต่อระหว่างอำเภอไทรน้อยของจังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้วของจังหวัดปทุมธานี อำเภอลาดบัวหลวงของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอบางเลนของจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน สภาพพื้นที่ของป่าเป็นที่ราบลุ่ม บางแห่งเป็นหนองน้ำ และมีสัตว์ป่า เช่น ช้าง เสือ กวาง อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก[3] ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ขึ้นปกคลุมพื้นที่แห่งนี้นอกจากจะมีต้นไทร ต้นยาง และต้นประดู่แล้ว ยังมีต้นกระทุ่มที่ขึ้นกันแน่นทึบจนแสงสว่างลอดผ่านลงพื้นดินได้น้อย ผืนป่าแห่งนี้จึงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ป่ากระทุ่มมืด[4]

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองทวีวัฒนาและคลองนราภิรมย์ระหว่าง พ.ศ. 2420–2423 จึงเริ่มมีชาวเมืองนนทบุรีและชาวบ้านจากถิ่นอื่นเข้าไปจับจองที่ดินชายป่ากระทุ่มมืดด้านใต้ตามสองฝั่งคลองนั้น[5] จากนั้นพระราชาภิมณฑ์ (เพ็ง) ได้ขุดคลองพระราชาภิมณฑ์ (ปัจจุบันเรียกว่าคลองพระพิมล) จากคลองบางบัวทองตอนปลายตรงเข้าไปในป่ากระทุ่มมืด ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2433–2442[6] ระหว่างนั้นยังคงมีราษฎรเข้าไปตั้งหลักแหล่งและบุกเบิกแผ้วถางป่าอย่างไม่ขาดสาย ป่ากระทุ่มมืดที่กว้างใหญ่ค่อย ๆ เปลี่ยนสภาพเป็นผืนนาและเกิดชุมชนชาวนากระจายอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีผลให้อาณาเขตของเมืองนนทบุรีขยายลึกเข้าไปในแขวงเมืองประทุมธานี เมืองนครปฐม และกรุงเก่าเดิมอีกด้วย[7]

เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ให้เป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล แนวป่าและทุ่งกระทุ่มมืดในแขวงเมืองนนทบุรีได้กลายเป็นท้องที่หนึ่งของ "อำเภอบ้านแหลมใหญ่และเกาะศาลากุน"[8] ไม่นานนักอำเภอดังกล่าวก็ถูกยุบเลิกไปเมื่อมีการจัดตั้งอำเภอบางบัวทองและอำเภอปากเกร็ดขึ้นแทนที่เมื่อราว พ.ศ. 2443–2444[8] นับแต่นั้นชุมชนต่าง ๆ ในหนองเพรางายและทุ่งกระทุ่มมืดซึ่งได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นตำบลหนองเพรางาย ตำบลไทรใหญ่ และตำบลหนองไทร (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นไทรน้อยเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อวัดไทรใหญ่และตำบลไทรใหญ่)[9] ก็ขึ้นอยู่กับอำเภอบางบัวทองเรื่อยมา เมื่อถึง พ.ศ. 2483 ทางราชการได้แบ่งพื้นที่การปกครองหมู่ที่ 1–6, 11–13, 18 ของตำบลไทรใหญ่ รวมกับหมู่ที่ 6–8 ตำบลละหาร จัดตั้งเป็นตำบลราษฎร์นิยม[10]

ครั้นในปี พ.ศ. 2486 ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักเพราะได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นมีมติให้ออกพระราชบัญญัติยุบจังหวัดนนทบุรีลงเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณราชการ ทำให้ท้องที่อำเภอบางบัวทองซึ่งครอบคลุมถึงบริเวณทุ่งกระทุ่มมืดไทรน้อยถูกโอนไปขึ้นกับจังหวัดธนบุรี[11] จนกระทั่งใน พ.ศ. 2489 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดนนทบุรีขึ้นมาอีกครั้ง[12] บริเวณทุ่งกระทุ่มมืดไทรน้อยจึงกลับมาอยู่ในการปกครองของทางจังหวัดนนทบุรีจนถึงทุกวันนี้

ต่อมาทางราชการพิจารณาเห็นว่าอำเภอบางบัวทองมีพื้นที่กว้างขวางและมีจำนวนราษฎรเพิ่มขึ้น หน่วยงานราชการดูแลทุกข์สุขได้ไม่ทั่วถึง ประกอบกับคลองพระพิมลซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักในสมัยนั้นยังเป็นคลองขนาดเล็ก ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งขอดคลอง ราษฎรเดินทางมาติดต่อราชการไม่สะดวก[13] โดยเฉพาะราษฎรจากท้องที่ตำบลไทรน้อย ตำบลไทรใหญ่ ตำบลราษฎร์นิยม และตำบลหนองเพรางายที่ตั้งอยู่ไกลจากตัวอำเภอมากที่สุด กระทรวงมหาดไทยจึงแบ่งท้องที่ตำบลทั้งสี่ออกมาจัดตั้งเป็น กิ่งอำเภอไทรน้อย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2490[14] เมื่อกิ่งอำเภอไทรน้อยมีประชากรหนาแน่นและมีความเจริญเพิ่มมากขึ้นจนมีสภาพเหมาะสมที่จะยกฐานะเป็นอำเภอได้ ในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2499 จึงมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกิ่งอำเภอไทรน้อยเป็น อำเภอไทรน้อย[15]

จากนั้นใน พ.ศ. 2502 ทางอำเภอได้รับโอนเอาตำบลขุนศรีจากอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม มาอยู่ในเขตการปกครองด้วย เพื่อความสะดวกในการติดต่อราชการของประชาชนและเพื่อประโยชน์ต่อการปกครอง[16] และต่อมาใน พ.ศ. 2522 จังหวัดนนทบุรีได้แบ่งพื้นที่ทางทิศใต้ของตำบลราษฎร์นิยมจัดตั้งเป็นตำบลคลองขวาง[17] และใน พ.ศ. 2523 ก็แบ่งพื้นที่ทางทิศใต้ของตำบลไทรน้อยจัดตั้งเป็นตำบลทวีวัฒนา[18] ทำให้อำเภอไทรน้อยมีเขตการปกครองย่อยรวม 7 ตำบลมาจนถึงปัจจุบัน

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]

อำเภอไทรน้อยแบ่งเขตการปกครองย่อยเป็น 7 ตำบล แต่ละตำบลแบ่งออกเป็นหมู่บ้าน รวมทั้งหมด 68 หมู่บ้าน ได้แก่

ลำดับ อักษรไทย อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน จำนวนประชากร
(ธันวาคม 2565)[19]
สี แผนที่
1. ไทรน้อย Sai Noi
11
31,359
 
2. ราษฎร์นิยม Rat Niyom
8
6,891
 
3. หนองเพรางาย Nong Phrao Ngai
12
7,852
 
4. ไทรใหญ่ Sai Yai
11
6,429
 
5. ขุนศรี Khun Si
8
5,064
 
6. คลองขวาง Khlong Khwang
10
7,678
 
7. ทวีวัฒนา Thawi Watthana
8
9,335
 

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]
สำนักงานเทศบาลตำบลไทรน้อย

ท้องที่อำเภอไทรน้อยประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลไทรน้อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไทรน้อย (เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 5) และตำบลคลองขวาง (เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 1)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลไทรน้อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไทรน้อย (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลไทรน้อย)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลราษฎร์นิยม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลราษฎร์นิยมทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเพรางาย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองเพรางายทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลไทรใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไทรใหญ่ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลขุนศรี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลขุนศรีทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลคลองขวาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองขวาง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลไทรน้อย)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลทวีวัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทวีวัฒนาทั้งตำบล

การคมนาคม

[แก้]

ถนนสายหลักจะเป็นถนนที่เชื่อมระหว่างจังหวัดนนทบุรีกับจังหวัดข้างเคียง คือ จังหวัดนครปฐม จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสุพรรณบุรี ถนนสายสำคัญของอำเภอไทรน้อยจึงมักจะเป็นถนนสายสำคัญของจังหวัดนนทบุรีด้วย ได้แก่

อ้างอิง

[แก้]
  1. รัตนา ศิริพูล. นนทบุรี. กรุงเทพมหานคร: บริษัท ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด, 2543, หน้า 59.
  2. กรมทางหลวง. "สอบถามระยะทางระหว่างจังหวัดหรืออำเภอ. เก็บถาวร 2014-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน"
  3. พิศาล บุญผูก. ภูมินามอำเภอไทรน้อย. นนทบุรี: โครงการการจัดการสารสนเทศจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนนทบุรีศึกษาเพื่อส่งเสริมบริการห้องสมุดสู่ชุมชน สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2552, หน้า 11.
  4. พิศาล บุญผูก. ภูมินามอำเภอไทรน้อย. นนทบุรี: โครงการการจัดการสารสนเทศจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนนทบุรีศึกษาเพื่อส่งเสริมบริการห้องสมุดสู่ชุมชน สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2552, หน้า 10.
  5. พิศาล บุญผูก. ภูมินามอำเภอไทรน้อย. นนทบุรี: โครงการการจัดการสารสนเทศจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนนทบุรีศึกษาเพื่อส่งเสริมบริการห้องสมุดสู่ชุมชน สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2552, หน้า 311.
  6. พิศาล บุญผูก. ภูมินามอำเภอไทรน้อย. นนทบุรี: โครงการการจัดการสารสนเทศจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนนทบุรีศึกษาเพื่อส่งเสริมบริการห้องสมุดสู่ชุมชน สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2552, หน้า 21.
  7. จังหวัดนนทบุรี. ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนนทบุรี 2525. นนทบุรี: โรงพิมพ์สถานสงเคราะห์หญิงบ้านปากเกร็ด, 2526.
  8. 8.0 8.1 พิศาล บุญผูก. ภูมินามอำเภอบางบัวทอง. นนทบุรี: โครงการบริการวิชาการแก่สังคม สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2554, หน้า 28.
  9. พิศาล บุญผูก. ภูมินามอำเภอไทรน้อย. นนทบุรี: โครงการการจัดการสารสนเทศจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนนทบุรีศึกษาเพื่อส่งเสริมบริการห้องสมุดสู่ชุมชน สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2552, หน้า 205.
  10. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตต์ตำบลในจังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57: 1871. 1 ตุลาคม 2483.
  11. "พระราชบัญญัติยุบและรวมการปกครองบางจังหวัด พุทธสักราช 2485" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 59 (77): 2447–2449. 10 ธันวาคม 2485. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2012-09-14.
  12. "พระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พุทธศักราช ๒๔๘๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 63 (29 ก): 315–317. 9 พฤษภาคม 2489. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2012-09-14.
  13. สำนักงานเกษตรอำเภอไทรน้อย. "ข้อมูลทั่วไป." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://sainoi.nonthaburi.doae.go.th/sainoi/nok.html เก็บถาวร 2009-09-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 14 กันยายน 2555.
  14. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกฐานะตำบลขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 64 (60 ง): 3188–3193. 9 ธันวาคม 2490. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2009-08-24.
  15. "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งอำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอคำชะอี อำเภอย่านตาขาว อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอหนองบัว อำเภอวัฒนานคร อำเภอแสวงหา อำเภอท่าชนะ อำเภอพระพุทธบาท อำเภอโนนสัง อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอคีรีมาศ อำเภอชนแดน อำเภอแม่แจ่ม อำเภอไทรน้อย และอำเภอบ้านแพง พ.ศ. ๒๔๙๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 73 (46 ก): 657–661. 5 มิถุนายน 2499. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-10-11. สืบค้นเมื่อ 2008-05-16.
  16. "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดนครปฐมและจังหวัดนนทบุรี พ.ศ. ๒๕๐๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 76 (49 ก พิเศษ): 1–3. 1 พฤษภาคม 2502. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-29.
  17. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 96 (135 ง พิเศษ): 11–14. 8 สิงหาคม 2522. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-16.
  18. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 97 (104 ง): 2166–2169. 8 กรกฎาคม 2523. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-16.
  19. "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2543.
  • พิศาล บุญผูก. ภูมินามอำเภอไทรน้อย. นนทบุรี: โครงการการจัดการสารสนเทศจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนนทบุรีศึกษาเพื่อส่งเสริมบริการห้องสมุดสู่ชุมชน สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2552.
  • พิศาล บุญผูก. ภูมินามอำเภอบางบัวทอง. นนทบุรี: โครงการบริการวิชาการแก่สังคม สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2554.
  • รัตนา ศิริพูล. นนทบุรี. กรุงเทพมหานคร: บริษัท ต้นอ้อ ๑๙๙๙ จำกัด, 2543.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°58′44″N 100°18′49″E / 13.97889°N 100.31361°E / 13.97889; 100.31361