โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ
โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ | |
---|---|
กำกับ | ฮิโรชิ ฟูกูโตมิ |
เขียนบท | ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ |
อำนวยการสร้าง | ซังกิชิโร คูซูเบะ โซอิจิ เบซโช |
นักแสดงนำ | โนบูโยะ โอยามะ โนริโกะ โอฮาระ มิชิโกะ โนมูระ กาเนตะ คิโมสึกิ คาซูยะ ทาเทกาเบะ |
กำกับภาพ | คัตสึจิ มิซาวะ |
ตัดต่อ | คาซูโอะ อิโนอูเอะ เซจิ โมริตะ |
ดนตรีประกอบ | ชุนซูเกะ คิกูจิ |
ผู้จัดจำหน่าย | โตโฮ |
วันฉาย | 15 มีนาคม ค.ศ. 1980 (ญี่ปุ่น) |
ความยาว | 92 นาที |
ประเทศ | ญี่ปุ่น |
ภาษา | ญี่ปุ่น |
ทำเงิน | 1.55 พันล้านเยน[1] |
โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ (ญี่ปุ่น: ドラえもん のび太の恐竜; โรมาจิ: Doraemon Nobita no Kyōryū) เป็นโดราเอมอนฉบับภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องยาว ผลงานของ ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ มีความยาวทั้งสิ้น 92 นาที ภาพยนตร์ชุดนี้ถือเป็นตอนแรกของโดราเอมอนฉบับภาพยนตร์ ออกฉายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1980 และเข้าฉายในประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) โดยใช้ชื่อตอนว่า "โดเรม่อนผจญไดโนเสาร์" (สะกดตามต้นฉบับ)[2] โดยผู้นำเข้ามาฉาย คือ สมโพธิ แสงเดือนฉาย โดยเข้าฉายใน 2 โรงภาพยนตร์ คือ เมโทร และ สามย่าน นับเป็นโดราเอมอนฉบับภาพยนตร์เรื่องยาวที่เข้ามาฉายในประเทศไทยเป็นเรื่องแรก ได้รับความนิยมมากเมื่อเข้าฉาย ด้วยการทำรายได้มากถึง 2 ล้านบาท [3] และในส่วนฉบับหนังสือการ์ตูน ได้ลิขสิทธิ์จัดพิมพ์โดยเนชั่นเอ็ดดูเทนเมนท์
ประวัติ
[แก้]ในปี 1975 ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ ได้วาด "โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ" เป็นการ์ตูนเรื่องสั้น ความยาว 25 หน้า ลงในนิตยสารโชเน็งซันเดย์ ฉบับพิเศษ และในภายหลังก็ได้ลงตีพิมพ์ใน โดราเอมอน ฉบับรวมเล่มของเทงโทมุชิคอมิกส์ ฉบับที่ 10 ด้วย[4] ซึ่ง ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ เขียนโดราเอมอนตอนนี้ขึ้นมาโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่อง "Born Free" ที่เป็นผลงานการประพันธ์ของจอย อดัมสัน[4] ต่อมาในเดือนตุลาคม ปี 1979 นิตยสารโคโรโคโรคอมิกก็ลงประกาศในเล่มว่า โดราเอมอนตอนนี้ จะได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องยาว จากนั้นในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ ก็เขียนโดราเอมอนตอนนี้เป็นแบบเรื่องยาว ลงในนิตยสารโคโรโคโรคอมิกรายเดือน โดยแบ่งเป็น 3 ตอนใหญ่ ๆ ลงตีพิมพ์เดือนละตอน เป็นเวลา 3 เดือนด้วยกัน
"โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ" ฉบับภาพยนตร์การ์ตูนที่สร้างโดยชินเอโดงะกับโชงะกุกัง ออกฉายในโรงภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ปี 1980 ทำรายได้ไป 15.5 ร้อยล้านเยน[5] โดยฉายควบกับภาพยนตร์เรื่อง "มอธรา ปะทะ กอตซิล่า"[5] หลังจากนั้นในปี 1994 โดราเอมอนภาคนี้ก็ถูกนำไปดัดแปลงเป็นละครเพลง และได้ไปแสดงที่ประเทศฮ่องกงกับมาเลเซียด้วย
ในปี 1983 "โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ" แบบเรื่องยาวที่ได้รับการปรับปรุงเนื้อหาใหม่ ก็ออกวางจำหน่ายในรูปแบบหนังสือการ์ตูนฉบับรวมเล่มของเทงโทมุชิคอมิกส์ ในเครือสำนักพิมพ์โชงะกุกัง และจากนั้นอีก 23 ปีให้หลัง "โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ" ก็ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนเพื่อออกฉายในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง โดยใช้ชื่อตอนว่า "โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ เดอะมูฟวี่" ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงลายเส้นการวาดให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับเดิมของ ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ มากขึ้น และเปลี่ยนตัวนักพากย์ผู้ให้เสียงตัวละครทั้งหมด
เรื่องย่อ
[แก้]โนบิตะรู้สึกเจ็บใจที่ซึเนะโอะไม่ยอมให้ตนเองได้ดูฟอสซิลเล็บไดโนเสาร์แบบชัดๆ เลยเผลอหลุดปากประกาศต่อหน้าพวกซึเนะโอะว่า จะขุดฟอสซิลไดโนเสาร์มาให้ดูเป็นขวัญตา ทว่าเมื่อนำเรื่องนี้ไปบอกโดราเอมอน ก็กลับถูกโดราเอมอนต่อว่าเสียยกใหญ่ ดังนั้นโนบิตะจึงตั้งใจที่จะพึ่งพากำลังของตนเอง ด้วยการไปขุดหาฟอสซิลไดโนเสาร์ตามที่ต่างๆ และในระหว่างนั้น เขาก็ขุดพบหินประหลาดโดยเชื่อว่าเป็นไข่ของไดโนเสาร์ เมื่อนำกลับไปบ้าน โดราเอมอนก็เอาผ้าคลุมกาลเวลาออกมาให้ใช้ เพื่อย้อนเวลาให้สภาพของไข่ใบนั้นกลับคืนเหมือนในอดีต แล้วไข่ก็ฟักออกมาเป็นตัวไดโนเสาร์พันธุ์ฟุตาบะซึซึกิ โนบิตะตั้งชื่อให้ไดโนเสาร์ตัวนั้นว่า "พีสุเกะ"
แม้จะได้ไดโนเสาร์ตัวจริงมาสมใจอยาก แต่โนบิตะก็ยังไม่ยอมเอาพีสุเกะไปอวดพวกซึเนะโอะ เพราะอยากเลี้ยงให้ตัวโตมากๆ เสียก่อน ทว่าเมื่อเลี้ยงไปเรื่อยๆ พีสุเกะก็ตัวใหญ่มากขึ้นจนไม่สามารถเลี้ยงในบ้านได้อีกต่อไป โนบิตะจึงต้องพาพีสุเกะไปแอบซ่อนตัวอยู่ในสระน้ำของสวนสาธารณะแทน แต่ความลับไม่มีในโลก เมื่อเกิดข่าวลือว่า มีคนพบสัตว์ประหลาดในสระน้ำของสวนสาธารณะ และจะมีการส่งนักประดาน้ำลงไปสำรวจในสระนั้น ทำให้โนบิตะกลุ้มใจอย่างหนัก เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เรื่องของพีสุเกะถูกเปิดเผย ในขณะนั้นเอง บุรุษชุดดำก็ได้ปรากฏตัวขึ้น เขาบอกกับโนบิตะว่าอยากจะขอซื้อตัวพีสุเกะ แต่โนบิตะยืนกรานว่าไม่ยอมขาย เมื่อบุรุษชุดดำกลับไป โนบิตะจึงตัดสินใจที่จะเอาตัวพีสุเกะกลับไปไว้ที่โลกดึกดำบรรพ์
หลายวันต่อมา โนบิตะก็สุดจะอดกลั้น เนื่องจากไม่มีใครยอมเชื่อว่าโนบิตะเลี้ยงไดโนเสาร์ไว้จริงๆ เขาเลยขอร้องให้โดราเอมอนเอาทีวีกาลเวลาออกมาให้พวกซึเนะโอะได้เห็นพีสุเกะที่อยู่ในโลกดึกดำบรรพ์ เมื่อได้ดูภาพจากทีวี ก็พบว่าพีสุเกะไม่สามารถเข้ากับไดโนเสาร์ตัวอื่นได้ ทำให้โดราเอมอนรู้ว่า พวกตนได้พาพีสุเกะไปส่งในแถบอเมริกาเหนือ ซึ่งที่นั่นไม่ใช่ถิ่นกำเนิดของไดโนเสาร์พันธุ์ฟุตาบะซึซึกิอย่างพีสุเกะ เมื่อได้ยินดังนั้น โนบิตะจึงรีบขอให้โดราเอมอนนั่งไทม์แมชชีนไปพาตัวพีสุเกะกลับมาทันที ส่วนชิซุกะ ไจแอนท์ และซึเนะโอะก็ได้ขอตามไปด้วย ส่งผลให้จำนวนบรรทุกเกินอัตรา แถมระหว่างทางยังถูกบุรุษชุดดำตามมายิงปืนใส่อีก 1 ที ทำให้ไทม์แมชชีนพังเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมให้ใช้การเหมือนเดิมได้ ด้วยเหตุนี้ พวกโนบิตะจึงต้องออกเดินทางผจญภัยในโลกดึกดำบรรพ์ ต่อสู้กับเหล่าวายร้ายบุรษชุดดำ ซึ่งเป็นนักล่าไดโนเสาร์ที่จ้องจะจับพีสุเกะไปเป็นสัตว์เลี้ยงของอัครมหาเศรษฐีในโลกอนาคต และพยายามหาทางกลับไปประเทศญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันให้ได้
ตัวละครพิเศษในภาคนี้
[แก้]- พีสุเกะ (ญี่ปุ่น
- ピー助; โรมาจิ: Pīsuke)
- ไดโนเสาร์คอยาว พันธุ์ฟุตาบะซึซึกิ จากยุคครีเตเชียส ที่โนบิตะเป็นผู้ฟักไข่และเลี้ยงดูจนเติบโต มีนิสัยขี้อ้อน และรักโนบิตะมากราวกับเป็นพ่อผู้ให้กำเนิดตนเอง
- คุณกาเคชิตะ (ญี่ปุ่น
- ガケシタさん; โรมาจิ: Gakeshita-san)
- ชายเจ้าของบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่โนบิตะขึ้นไปขุดหาฟอสซิลไดโนเสาร์ จนเศษหินเศษดินตกลงมาใส่หลังคาบ้าน เขาจึงใช้ให้โนบิตะขุดหลุมฝังขยะแทนคำขอโทษ เป็นเหตุให้โนบิตะขุดพบฟอสซิลไข่ของพีสุเกะเข้าโดยบังเอิญ
- ที่จริงแล้วชื่อ "กาเคชิตะ" เป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ในบทความ THE ENCYCLOPEDIA OF"DORAEMON"THE MOVIE ซึ่งลงตีพิมพ์ในหนังสือ โดราเอมอนฉบับภาพยนตร์อนิเมะ ตอน ตะลุยดาวต่างมิติ (โคโรโคโรคอมิก เดอลักซ์) เพราะในต้นฉบับเดิมไม่ได้มีการกล่าวถึงชื่อของเขาแต่อย่างใด
- บุรุษชุดดำ (ญี่ปุ่น
- 黒い男; โรมาจิ: Kuroiotoko)
- นักล่าไดโนเสาร์จากโลกอนาคต ที่คิดจะจับพีสุเกะไปขายให้กับดอลแมนสตัน อนึ่ง ไทม์แมชชีนของเขานั้นมีชื่อว่า "สกอร์เปี้ยน" เนื่องจากมันมีรูปร่างคล้ายกับแมงป่องนั่นเอง[6]
- ดอลแมนสตัน (ญี่ปุ่น
- ドルマンスタン; โรมาจิ: Dorumansutan)
- อัครมหาเศรษฐีที่อาศัยอยู่ในเมืองเมกาโรโปลิศ ศตวรรษที่ 24 (ค.ศ. 2314) มีงานอดิเรกชอบสะสมไดโนเสาร์ จึงตกลงว่าจ้างบุรุษชุดดำ เพื่อให้ไปเอาตัว "ไดโนเสาร์เชื่องคน" อย่างพีสุเกะมาให้ตนเอง สำหรับในภาคอนิเมะของ "โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ" "ปี 2112 กำเนิดโดราเอมอน" และ "ไดโนเสาร์ของโนบิตะ เดอะมูฟวี่ (2006)" ชื่อของเขาได้ถูกเปลี่ยนเป็น ดอลแมนสไตน์ (ドルマンスタイン)
- ตำรวจกาลเวลา (ญี่ปุ่น
- タイムパトロール隊; โรมาจิ: Taimupatorōru-tai)
- กองกำลังพิเศษแห่งกาลเวลา มีกองบัญชาการตั้งอยู่ในศตวรรษที่ 23 ใช้ยานลาดตระเวนที่ชื่อ "ไทม์มารีน"[7] ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายไปได้ทุกยุคทุกสมัย ออกปราบปรามและจับอาชญากรทั่วทุกกาลเวลา
เพลงประกอบ
[แก้]- ขับร้องโดย โนบูโยะ โอยามะ และโคโอโรกิ'73
- ขับร้องโดย โนบูโยะ โอยามะ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Jaeger, Eren. "Past Doraemon Films". Forums.BoxOffice.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-19. สืบค้นเมื่อ May 20, 2014.
- ↑ สมประสงค์ เจียมบุญสม, นิตยสาร a day ปีที่ 2 ฉบับที่ 18, กุมภาพันธ์ 2545
- ↑ "ลายกนก ย้อนหลัง 15 พฤศจิกายน 2558 ตอน บันไดชีวิต สมโพธิ แสงเดือนฉาย (2)". เนชั่นทีวี. 15 November 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 16 November 2015.
- ↑ 4.0 4.1 ข้อความจาก ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ ในปี 1989 เก็บถาวร 2006-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Yahoo! BB, เรียกข้อมูลเมื่อ 24 ต.ค. 2550
- ↑ 5.0 5.1 SF MOVIE DataBank:โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ, GeneralWorks, เรียกข้อมูลเมื่อ 24 ต.ค. 2550
- ↑ โดราเอมอนฉบับภาพยนตร์อนิเมะ ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ (โคโรโคโรคอมิก เดอลักซ์), สำนักพิมพ์โชงะกุกัง, 2523
- ↑ 石ころぼうし 15 - タイムマリン「のび太の恐竜」 เก็บถาวร 2007-12-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 藤子・F・不二雄FAN CLUB, เรียกข้อมูลเมื่อ 10 ธ.ค. 2550