ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ
ชื่อท้องถิ่น
藤子・F・不二雄
เกิดฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ (藤本 弘)
1 ธันวาคม พ.ศ. 2476
ทากาโอกะ จังหวัดโทยามะ จักรวรรดิญี่ปุ่น[1]
เสียชีวิต23 กันยายน พ.ศ. 2539 (62 ปี)[1][2] [3]
ชินจูกุ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น [4]
ที่ฝังศพสุสานมิโดริงาโอกะ เขตทากัตสึ จังหวัดคาวาซากิ ประเทศญี่ปุ่น[5]
อาชีพนักเขียนการ์ตูน
สัญชาติญี่ปุ่น
ผลงานที่สำคัญโดราเอมอน
นินจาฮาโตริ
ปาร์แมน
ผีน้อยคิวทาโร่
ดูรายชื่อผลงาน
รางวัลสำคัญรางวัลมังงะโชงากูกัง (ค.ศ. 1963, ค.ศ. 1982)
รางวัลวัฒนธรรมเทซูกะ โอซามุ (ค.ศ. 1997)
ช่วงปีที่ทำงานค.ศ. 1951–1996
ฟูจิโกะ เอ. ฟูจิโอะ
ชื่อท้องถิ่น
藤子不二雄Ⓐ
เกิดมาโตโอะ อาบิโกะ (安孫子 素雄)
10 มีนาคม พ.ศ. 2477
ฮิมิ จังหวัดโทยามะ, จักรวรรดิญี่ปุ่น
เสียชีวิต7 เมษายน พ.ศ. 2565 (88 ปี)
คาวาซากิ จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น
นามปากกาFujiko Fujio Ⓐ
อาชีพนักเขียนการ์ตูน
สัญชาติญี่ปุ่น
ผลงานที่สำคัญโดราเอมอน
นินจาฮาโตริ
The Monster Kid
ผีน้อยคิวทาโร่
ดูรายชื่อผลงาน
รางวัลสำคัญรางวัลมังงะโชงากูกัง (ค.ศ. 1963, ค.ศ. 1982)
ช่วงปีที่ทำงานค.ศ. 1951–2022

ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (ญี่ปุ่น: 藤子 不二雄โรมาจิFujiko Fujio) (1 ธันวาคม พ.ศ. 2476 - 23 กันยายน พ.ศ. 2539) เป็นนามปากกา ของคู่นักวาดการ์ตูนได้แก่

มีผลงานมากมาย โดยมีเรื่องที่โด่งดังคือโดราเอมอน เมื่อปี พ.ศ. 2530 ทั้งสองได้แยกกันโดยใช้ชื่อ นามปากกาใหม่ว่า ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ และ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (เอ.)

ประวัติ[แก้]

ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ และ อาบิโกะ โมโตโอะ ทั้งคู่ต่างก็เกิดในจังหวัดโทยามะ ที่ประเทศญี่ปุ่น ฮิโรชิได้มีโอกาสรู้จักกับอาบิโกะ ตอนที่อาบิโกะย้ายเข้ามาโรงเรียนประถมโจซูกะ ประจำ ในเมืองทากาโอกะ[6] และได้มาเรียนห้องเดียวกันกับฮิโรชิ ขณะเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ด้วยความที่ทั้งคู่ต่างก็ชอบในการวาดเขียนการ์ตูน และรู้สึกชื่นชอบหนังสือการ์ตูนเรื่อง เกาะมหาสมบัติ ภาคใหม่[6]ผลงานของเทซูกะ โอซามุเป็นอย่างมาก ถึงขนาดส่งจดหมายแฟนคลับไปถึงเทซูกะ ในระหว่างที่ทั้งสองคนร่ำเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นนั้น ก็ได้เริ่มออกนิตยสารการ์ตูนทำมือขึ้น ชื่อ "RING" [6]ต่อมาช่วงก่อนที่จะจบมัธยมศึกษา เขาทั้งสองก็เริ่มวาดการ์ตูนส่งไปตามคอลัมน์สำหรับผู้อ่านทางบ้านในหลายสำนักพิมพ์ และได้เปิดตัวครั้งแรกเรื่อง นางฟ้าทามะจัง (Tenshi no Tama-chan) ลงตีพิมพ์เป็นประจำในนิตยสาร "ไมนิจิ โชกักเซ" ซึ่งครั้งนั้นเขาทั้งสองก็ได้รับเงินค่าจ้างอีกด้วย หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมบ้านของเทซูกะในเมืองทาการาซูกะ จังหวัดเฮียวโงะ การเยี่ยมบ้านในครั้งนั้นได้จุดประกายในการเขียนการ์ตูนของทั้งสองเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุที่ว่าทั้งสองเป็นลูกชายคนโต ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ต้องรีบหางานทำหลังจากจบมัธยมศึกษา ในปี พ.ศ. 2495 ฮิโรชิได้เข้าไปทำงานในโรงงานลูกกวาด ส่วนอาบิโกะก็เข้าไปทำงานในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น แต่ภายหลังเนื่องจากฮิโรชิได้รับอุบัติเหตุระหว่างทำงาน จึงลาออกจากงานประจำและตัดสินใจเขียนการ์ตูนอย่างจริงจังอยู่ที่บ้าน โดยมีอาบิโกะคอยมาช่วยเหลืออยู่ตลอดหลังจากเวลาว่างหลังเลิกงาน และในปี พ.ศ. 2496 ทั้งคู่ก็ได้ออกการ์ตูนเรื่อง ล่องลอย 4 หมื่นปี ลงใน"โบเก็นโอ" [6]และมีผลงานการ์ตูนพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มแรกในนามปากการ่วมกันว่า "อาชิซึกะ ฟูจิโอะ" เรื่อง สงครามโลกครั้งสุดท้าย (ญี่ปุ่น: UTOPIA—最後の世界大戦โรมาจิUtopia: The Last World War) ในปีต่อมา พ.ศ. 2497 ทั้งคู่ได้ตัดสินใจย้ายไปอยู่โตเกียว เพื่อจะเป็นนักวาดการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว เมื่อย้ายมาอยู่ที่ห้องเช่าเล็ก ๆ ที่เรียวโกกุ แขวงซูมิดะ กรุงโตเกียวได้สักระยะหนึ่ง ฮิโรชิก็เกิดป่วยเป็นวัณโรค ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงยากต่อการรักษา แต่สุดท้ายแล้ว ฮิโรชิก็สามารถหายจากอาการป่วยได้ หลังจากนั้นทั้งคู่ได้รับความช่วยเหลือจากเทซูกะในการจัดหาห้องเช่าให้แถวโทกิวะ ในแขวงโทชิมะ กรุงโตเกียว ซึ่งบ้านเช่าแห่งนี้มีนักวาดการ์ตูนหน้าใหม่หลายคนอาศัยอยู่ จึงมีชื่อเรียกกันเล่น ๆ ว่า บ้านการ์ตูน และได้จัดตั้งชมรมการ์ตูนยุคใหม่ขึ้น (ญี่ปุ่น: 新漫画党โรมาจิShin Manga-to) ทั้งคู่ได้ตัดสินใจเปลี่ยนนามปากกาเป็น "ฟูจิโอะ ฟูจิโกะ" และมีผลงานออกมาเรื่อง สายแร่อวกาศ

หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ได้เขียนการ์ตูนส่งไปยังสำนักพิมพ์เรื่อยมา และเริ่มที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้น แต่ในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2498 จนถึงต้นปี พ.ศ. 2499 ทั้งคู่ต้องพักงานเนื่องจากเมื่อตอนกลับไปยังบ้านเกิดที่จังหวัดโทยามะช่วงเทศกาลปีใหม่ มีการฉลองกันหนักเกินไปจนทำให้เสียงาน ไม่สามารถส่งต้นฉบับการ์ตูนได้ทันตามกำหนด ความน่าเชื่อถือของทั้งคู่ลดลงไปในช่วงเวลานั้น ต่อมาทั้งสองคนจึงได้ตัดสินใจลงทุนจัดตั้งบริษัท "สตูดิโอซีโร" ขึ้นโดยได้เพื่อนเก่าอย่าง ซูซูกิ ชินอิจิ, อิจิโนโมริ โชตาโร ,สึโนดะ จิโร และสึโนดะ คิโยอิจิ ซึ่งเป็นเพื่อนจากกลุ่มนักวาดการ์ตูนหน้าใหม่ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในบ้านการ์ตูนมาเป็นทีมงาน

หลังจากก่อตั้งสตูดิโอก็มีผลงานทำภาพยนตร์เรื่องยาวให้กับเรื่อง เจ้าหนูอะตอม (Astro Boy) สตูดิโอก็มีผลงานเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2505 ฮิโรชิได้แต่งงานเมื่ออายุ 28 ปี และในปีถัดไปก็ได้รับรางวัลโชกักคังครั้งที่ 8 จากเรื่อง โรบ็อตลุย และเท็ตจังถุงมือ จนในปี พ.ศ. 2507 ผลงานในนาม ฟูจิโกะ ฟูจิโอกะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากนับจากเริ่มวาดการ์ตูน ด้วยการ์ตูนเรื่อง ผีน้อยคิวทาโร่ (Qtaro the Ghost) ได้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูน "โชเน็นซันเดย์" [6]มีคนติดตามโดยเฉพาะเด็ก ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้คิวทาโร่ได้ผลิตเป็นการ์ตูนแอนิเมชันจัดฉายทางโทรทัศน์ในเวลาต่อมา ส่งผลให้ชื่อเสียงโด่งดังขึ้นเป็นอย่างมาก และสตูดิโอซีโร ก็เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วจากทีมงานเริ่มต้นเพียง 7 - 8 คน ก็เพิ่มมาเป็น 80 คน ได้มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นไคบุซึ (Kaibutsu-kun), นินจาฮัตโตริ (Hattori the Ninja), ปาร์แมน (Pāman), 21 เอมอน (21-emon) และเจ้าชายจอมเปิ่น เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2509 อาบิโกะเข้าพิธีแต่งงานเมื่ออายุได้ 32 ปี ทว่าก็ต้องพบกับความไม่สมหวังในด้านการงาน สตูดิโอซีโรต้องปิดตัวลงเนื่องจาก เนื่องจากปัญหาทางด้านการเงินโดยมีผลงานเรื่องสุดท้ายคือ เจ้าชายจอมเปิ่น หรือ เจ้าชายลูกบ๊วย แต่ฮิโรชิไม่ได้ท้อแท้กับการปิดตัวลง กลับมองว่าแม้ต้องปิดตัวลงแต่เขาก็ได้รับประสบการณ์ที่มีค่ามากมาย และทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ ก็ต้องจบลงที่ศูนย์ตามชื่อของสตูดิโอ ซึ่งซีโร แปลได้ว่า "ศูนย์" (นิตยสาร aday, 2545)

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของการ์ตูนที่โด่งดังที่สุดในชีวิตของเขาทั้งสองคือเรื่อง โดราเอมอน ลงในโชกากุอิจิเน็นเซ-โยเน็นเซ โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้อ่านวัยเด็ก ในช่วงแรกนั้นโดราเอมอนยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่ต่อมาใน 3 ปีให้หลัง โดราเอมอนได้ผลิตเป็นการ์ตูนแอนิเมชันฉายทางโทรทัศน์ ซึ่งทำให้ได้รับความสนใจและนิยมไปอย่างแพร่หลาย ทำให้ฮิโรชิได้รับรางวัล Nihon Mangaka จากผลงานโดราเอมอน ในปี พ.ศ. 2516 ส่วนอาบิโกะที่มุ่งออกผลงานสำหรับวัยรุ่นก็ได้มีผลงานเอง Black Salesman (ภายหลังเปลี่ยนเป็น Warau Salesman) อัตชีวประวัติ Manga-michi

ในปี พ.ศ. 2530 ทั้งคู่ถึงจุดอิ่มตัวในวัย 54 ปีจึงได้ตัดสินใจแยกกันใช้นามปากกาจาก "ฟูจิโอะ ฟูจิโกะ" สำหรับฮิโรชิเป็น "ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ" ส่วนของอาบิโกะเป็น "ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (เอ.)" เพื่อแยกตัวทำผลงานของตัวเอง ฮิโรชิได้เขียนการ์ตูนเรื่อง โดราเอมอนต่อเรื่อยมา โดยเขาจะเป็นผู้วาดและแต่งเรื่องโดราเอมอนฉบับภาพยนตร์ เป็นประจำทุกปี เมื่อถึงปี พ.ศ. 2539 ฮิโรชิก็ได้ถึงแก่กรรมลงด้วยวัย 62 ปี ส่วนอาบิโกะมีผลงานเรื่องนินจาฮัตโตริ และโปรกอล์ฟซารุจัดฉายในโรงภาพยนตร์

ลำดับเวลา[แก้]

  • ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ (藤子・F・不二雄, 1 ธันวาคม พ.ศ. 2476 - 23 กันยายน พ.ศ. 2539)
    • พ.ศ. 2516 - รางวัลนักวาดการ์ตูนยอดเยี่ยมจากชมรมนักวาดการ์ตูนแห่งประเทศญี่ปุ่น จากเรื่อง โดราเอมอน (日本漫画家協会優秀賞)
    • พ.ศ. 2524 - รางวัลวัฒนธรรมประจำนครคาวาซากิ (川崎市文化賞)
    • พ.ศ. 2525 - รางวัลหนังสือการ์ตูนเด็กโชกาคุคันจากเรื่องโดราเอมอน (小学館漫画賞児童部門)
    • พ.ศ. 2535 - รางวัลนักวาดการ์ตูนจากกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น (日本漫画家協会文部大臣賞)
    • พ.ศ. 2541 - คนแรกที่ได้รับ รางวัลเทซึกะโอซามุมังงะ สำหรับเรื่อง โดราเอมอน (第1回手塚治虫文化賞マンガ大賞)
  • ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (เอ.) (藤子不二雄A, ก. 10 มีนาคม พ.ศ. 2477 - 7 เมษายน พ.ศ. 2565)
    • พ.ศ. 2533 - ได้รับรางวัลฟูจิโมโตะ มาซูมิ (藤本真澄賞) และ รางวัลพิเศษยามาจิ ฟูมิโกะ (山路ふみ子特別賞) สำหรับภาพยนตร์เรื่อง โชเน็นจิได (映画「少年時代」)
    • พ.ศ. 2548 - ได้รับรางวัลนักวาดการ์ตูนจากกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น(日本漫画家協会文部大臣賞)


ผลงาน[แก้]

ผลงานของฮิโรชิ และอาบิโกะมีไม่น้อยกว่า 29 เรื่องด้วยกัน บางเรื่องได้รับการตีพิมพ์เป็นฉบับรวมเล่ม ส่วนบางเรื่องนั้นอาจจะตีพิมพ์ลงในนิตยสารการ์ตูน โดยอาจจะแบ่งตามนามปากกา (ไม่ครบทุกเรื่อง) ได้ดังนี้

ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ[แก้]

ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ[แก้]

ผลงานที่มีการตีพิมพ์ในไทย

ฟูจิโกะ เอ. ฟูจิโอะ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 まんがseek・日外アソシエーツ共著『漫画家人名事典』日外アソシエーツ、2003年2月25日初版発行、ISBN 4-8169-1760-8、323–24頁
  2. "Doraemon Creator Dies". IGN. June 21, 2012. สืบค้นเมื่อ January 10, 2021.
  3. "'Doraemon' Cartoonist Fujio F. Fujiko Dies at 62". Associated Press.
  4. "Fujio F. Fujiko, Cartoonist, 62". The New York Times. September 24, 1996.
  5. "Doraemon's Grave". Thumbnail of Life. July 17, 2010. สืบค้นเมื่อ January 10, 2021.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-11. สืบค้นเมื่อ 2006-12-17.
  • สมประสงค์ เจียมบุญสม, นิตยสาร a day ปีที่ 2 ฉบับที่ 18, กุมภาพันธ์ 2545, หน้า 64

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]